เคยมือเย็นกันไหมครับ

เช่นตอนที่เจอใครที่แอบชอบ เราใจสั่น หน้าแดง พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ว่ามือกลับเย็นเฉียบสวนทางกับอุณหภูมิในร่างกายที่ร้อนกว่าอากาศเดือนเมษายน ทางวิทยาศาสตร์ได้ให้คำตอบอาการนี้ผ่าน Google เอาไว้ว่า เมื่อเราเขินใครคนนั้นแบบไม่ทันตั้งตัว สารอะดรีนาลีนจะถูกหลั่งออกมา ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป ทำให้มือของเราเย็น ถึงกระนั้นก็ตาม ความมือเย็นของชาวไทยหลายๆ คนกลับทำให้บ้านเมืองเราเย็นขึ้น

“บ้านหลังนี้เจ้าของมือเย็น” จะเป็นประโยคเบสิกที่เราจะได้ยินบ่อยๆ จากปากคำของชาวมือร้อน เวลาที่พวกเขา (เรา) เดินผ่านหน้าบ้านใครสักคน แล้วพบเจอกับความเขียวชอุ่มจากต้นไม้ที่เบ่งบานงอกเงยออกมาจากกระถางดินเผาลายมังกรที่มักเรียงรายสะเปะสะปะไม่ตรงแถว ผสมด้วยต้นไม้ในกระถางพลาสติกสีน้ำตาลสลับกับสีดำน้อยใหญ่ บ้างแซมด้วยตุ๊กตาดินเผาเด็กยิ้มที่ยืนหลบหลังเอาไว้ โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นมีความน่ารักอย่างบอกไม่ถูก แน่นอนครับ อาการมือเย็นที่เล่าขณะนี้ไม่ใช่เรื่องทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องคำเปรียบเปรยถึงคนที่ชอบปลูกต้นไม้ ชอบใส่ใจกับการดูแลพืชพรรณ ปลูกอะไรก็งอกงาม กลายเป็น ‘สวนต้นไม้กระถางหน้าบ้าน’ ให้คนที่ผ่านไปมาให้ผู้คนได้รื่นรมย์

ทุกวันนี้ บ่อยครั้งเรามักให้ Pinterest ช่วยในการจินตนาการถึงพื้นที่ในแบบต่างๆ แต่จากการที่ผมได้ลองสำรวจไถ่ถามผู้คนหลากหลาย ทั้งมือร้อนและมือเย็น ทุกคนต่างก็เห็นตรงกันว่า สวนกระถางหน้าบ้านดังที่ผมได้เกริ่นมาตอนแรก เป็นสเปซในเชิงภูมิสถาปัตยกรรมไทยๆ ที่เราสามารถจินตนาการพื้นที่เหล่านี้ออกได้ทันทีเมื่อเอ่ยถึงโดยไม่ต้องใช้ Pinterest ช่วยเหลือใดๆ ทว่าสวนแบบนี้กลับไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในโรงเรียนสถาปัตยกรรม และนี่ทำให้มือผมเหงื่อชุ่ม เพราะตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้ลองศึกษาเรื่องนี้มาเล่าในคอลัมน์ ‘อาคิเต็ก-เจอ’ ตอนนี้ครับ

กระถางต้นไม้ ต้นไม้

ย้อนไปสมัยตอนที่ผมยังเป็นนักศึกษาสถาปัตย์ มีวิชาดีไซน์ตัวหนึ่งที่บังคับให้เราต้องลงสำรวจชุมชนเก่าในเมือง เพื่อตั้งโจทย์ในการพัฒนาชุมชนนั้นๆ ในลักษณะการวางผังและภูมิสถาปัตย์ ซึ่งก่อนที่เราจะลงไปในพื้นที่ตรงนั้น อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งเดินมากำชับไว้ว่า “คุณต้องหา DNA ของสเปซตรงนั้นให้เจอก่อนนะ” ซึ่งพอเจอประโยคนี้ฟาดหน้าเข้าไป เพื่อนๆ หลายคนรวมทั้งผมเองนี่มึนหนักไปสองสามวัน เพราะไม่รู้ว่าเจ้าคำว่า DNA ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มันเกี่ยวอะไรตรงไหนกับสถาปัตยกรรม จนกระทั่งเมื่อผมได้เริ่มเอาเท้าลงไปเหยียบบนพื้นที่ในชุมชนจริงๆ และเดินผ่านทะลุตรอกซอกซอยเพื่อสำรวจพื้นที่อย่างเข้มข้นละเอียดถี่ถ้วน แล้วผมก็ค้นพบกับตัวว่า ผมไม่ได้เข้าใจสิ่งที่อาจารย์บอกให้หามากขึ้นแต่อย่างใดเลย (ซะงั้น)

จนกระทั่ง (อีกรอบ) เมื่อผมได้พรีเซนต์ข้อมูลวิชานี้แก่เหล่าคณะอาจารย์ แน่นอนว่าโดนเชือดไปตามระเบียบ แต่สุดท้ายแล้วอาจารย์ก็ยอมใบ้เรื่อง DNA แบบลูบหลังไว้ว่า “ก็เหมือนลักษณะที่คนเอาราวแขวนเสื้อมาไว้ตากผ้าหน้าบ้าน เพราะในบ้านไม่มีที่ตากผ้านั่นแหละ” เมื่อสิ้นสุดคำใบ้นั้นก็บรรลุผล เพราะมันทำให้ผมได้ร้องอ๋อและเก็ตไอเดียของ DNA ที่ว่า ก็คือ ‘ลักษณะของสเปซที่เกิดขึ้นเองโดยกลไกธรรมชาติของเมืองหรือชุมชนนั้นๆ’ และสวนกระถางต้นไม้หน้าบ้านก็เป็นหนึ่งใน DNA ของสเปซแบบไทยๆ ที่เกิดขึ้นจากในรูปแบบคล้ายๆ กัน

ในมุมของภูมิสถาปัตยกรรม การปรากฏของสวนกระถางเหล่านี้ที่เราเห็นในปัจจุบันค่อนข้างสะท้อนวัฒนธรรมสวนแบบไทยตั้งแต่ในอดีตได้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว เพราะรูปแบบสวนแบบนี้มีวิวัฒนาการจากการปลูกพรรณไม้ใส่กระถางไว้ที่ชานบ้านเรือนไทยในอดีต เหมือนที่เราเห็นในภพของละครออเจ้าอันเป็นฉากหลังของแม่การะเกด ซึ่งเราจะเห็นได้ตั้งแต่ไม้ดัด สวนไม้ดอก หรือไม้สวนครัวต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการทำครัวเรือน แถมสวนกระถางยังสะท้อนให้เห็นถึงการจัดสวนในลักษณะภูมิประเทศที่มีน้ำท่วมถึง เพราะการปลูกต้นไม้ในกระถางบนเรือนทำได้สะดวกกว่าปลูกในดินบนพื้นที่ต่ำและจมน้ำ

จวบจนปัจจุบันค่านิยมการปลูกสวนลงในกระถางก็ยังมีสืบต่อกันมาให้เห็นอยู่ในเมืองที่พื้นที่อาศัยนั้นแคบลง ทั้งฟอร์มที่เกิดจากรูปทรงกระถางรวมถึงพรรณไม้ต่างๆ แม้ว่าจะคนเมืองในปัจจุบันอาจจะไม่ได้มีความรู้ในเชิงการปลูกสวนเท่าในอดีต แต่การเริ่มปลูกต้นไม้ใครหลายคนมักเกิดจากความต้องการที่อยากมีสวนเป็นของตัวเอง ทำให้เกิดการพยายามที่จะสร้างพื้นที่สีเขียวขนาดย่อมในขนาดที่ดูแลง่ายๆ ไว้ที่หน้าบ้านตนเอง ซึ่งสวนกระถางเหล่านี้เราจะมักพบเจอได้อย่างชัดเจนในซอยขนาดเล็กๆ ในชุมชนเก่า หรือริมข้างทางที่มีพื้นที่เพียงพอให้เกิดการวางกระถางได้

และการดีไซน์สวนกระถางแบบนี้ก็เป็นค่านิยมเซอร์ๆ แบบไทยๆ ที่ทำตามกันมาโดยไม่ต้องพึ่ง Pinterest ด้วยวิธีการหยิบจับอะไรได้หรือซื้ออะไรได้แล้วนำมาประกอบเป็นสวน เช่น ถังสีเหลือใช้ ถังพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว กระถางดินเผา กระถางลายมังกรยอดนิยม พร็อพตุ๊กตาต่างๆ หรือบางคนก็นำชุดโต๊ะหินอ่อนวงกลมที่มีตารางหมากรุกมาวาง จนกลายเป็นห้องนั่งเล่นหน้าบ้าน ผสมปนเปจนกลายสวนที่ดูไม่เป็นทางการ ไม่เป็นกิจจะลักษณะ เป็นสวนแบบ Informal แต่ก็มีความน่ารักน่าหยิก มีความขี้เล่น คล้ายกับการโดนคนน่ารักๆ มาหยอกแบบ Informal ด้วยวิธีง่ายๆ บ้านๆ แต่ก็ทำให้อมยิ้มได้

ต้นไม้หน้าบ้าน กระถางต้นไม้

ซึ่งความ Informal น่ารักๆ ของสวนหน้าบ้านที่เกิดขึ้นกันเองแบบนี้ก็เกิดจากความชอบของใครของมัน ตามความคุ้นชินส่วนตัว นั่นทำให้เวลาเราเดินออกจากซอยเพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าตอนเช้า ระหว่างทางนั้นถ้าเราสังเกตหน้าบ้านแต่ละหลังดีๆ แล้ว เราก็จะพบกับความวาไรตี้ของรูปแบบของสวนกระถางมากมาย คล้ายฉากที่ช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับดนตรีในหูซึ่งฟังระหว่างไปทำงาน หรือแม้กระทั่งช่วยให้การนั่งวินมอเตอร์ไซค์จากหน้าหอมาปากซอยมีความสุนทรียะและมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น และนี่ยังเป็นอีกมิติงานดีไซน์พื้นที่ไทยๆ ที่น่าสนใจมากๆ เพราะว่าผู้คนต่างได้ใช้รสนิยมความชื่นชอบของตนเอง ช่วยกันสร้างพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศให้คนอื่นที่ผ่านได้ชื่นชม

ในขณะเดียวกัน สวนกระถางหน้าบ้านแบบนี้อาจจะไปเกะกะขวางทางผู้อื่น และการวางกระถางต้นไม้หรือเก้าอี้บนทางเท้าหน้าที่พักอาศัยนั้นผิดกฎหมายพื้นที่สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 แต่ด้วยคาแรกเตอร์ความไม่เป็นทางการของสวนกระถางเอง รวมถึงความที่คาแรกเตอร์นิสัยของคนไทยเองมีความไม่เป็นทางการเช่นจึงทำให้สเปซที่มีความอะลุ่มอล่วยกันเองๆ แบบนี้กระจายตัวไปทั่ว

ถึงแม้ว่าอาจจะดูย้อนแย้งในรูปแบบของการเกิดขึ้น และอาจทำให้บางคนไม่ชอบ แต่ถ้าเราเป็นผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่มีซอยลึกและเดินทางด้วยการเดินเท้า เราก็อาจจะสัมผัสได้ถึงประโยชน์ของมันโดยตรง และถ้าเราเป็นหนึ่งในเจ้าของสวนกระถาง เราก็จะเข้าใจได้ว่าการมีสวนแบบนี้ถือเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อทดแทนสวนขนาดใหญ่ตามกลไกธรรมชาติของผู้คนเมือง โดยไม่ต้องรอภาครัฐมาสร้างสวนใหญ่ๆ ให้ รวมทั้งผมแอบมีความเชื่อว่าบ้านเราไม่ได้มีวัฒนธรรมการใช้สวนขนาดใหญ่ ดังนั้น การเกิดขึ้นของสวนกระถางขนาดเล็กๆ เหล่านี้ด้วยตัวมันเอง คือคำตอบของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของบ้านเมืองเราในรูปแบบที่จิ๋วแต่แจ๋ว หากเราเข้าใจสมดุลของกลไกการออกแบบพื้นที่สาธารณะของคนไทยจริงๆ

ต้นไม้หน้าบ้าน ต้นไม้หน้าบ้าน

เพราะถ้าเรามีสวนเล็กๆ เหล่านี้ที่มีเชื่อมต่อกันมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ระบบนิเวศของธรรมชาติก็จะสามารถให้กลับมาในระบบของซอย ขยายไปเป็นระบบของย่าน กระทั่งขยายไปในระบบเมือง อีกทั้งข้อดีจากความเขียวสดชื่นของสวนกระถางเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นเหมือนเพื่อนที่แสนดีที่คอยเชิญชวนทำให้คนอยากออกมานอกบ้านมากขึ้น ทำให้เกิดการพบปะพูดคุยของคนในชุมชน กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนอยากออกมายืนเดินนั่งเล่น และแชร์เรื่องราวต่างๆ ให้แก่กัน เป็นการผ่าตัดรักษาชุมชนให้กลับมาอบอุ่นและมีชีวิตอีกครั้งได้ โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ตัวกระถางต้นไม้เองต้องไม่สร้างปัญหาให้ทางสัญจรจนเกินไป

ถ้าเพลง กระถางดอกไม้ให้คุณ ของคาราบาวมีความหมายว่าอยากโยนกระถางใส่ศิลปินเพราะร้องเพลงไม่เพราะ เพลงที่ไม่มีเสียงจากสวนกระถางเล็กๆ ที่คอยช่วยบรรเลงกล่อมแก่ผู้คนในเมืองรื่นรมย์ จึงอาจมีชื่อว่า ‘กระถางต้นไม้ให้คุณ’

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนมือร้อน คนมือเย็น หรือเป็นคนที่กำลังแอบชอบใครสักคนข้างบ้านจนมือเหงื่อออก ถ้าหน้าบ้านเรายังมีพื้นที่ว่างและไม่เกะกะใคร การเดินออกไปและแชร์กระถางต้นไม้ของเราเพิ่มไว้อีกสักต้นที่หน้าบ้าน เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านมาหรือคนข้างบ้านเห็นแล้วเกิดความรู้สึกสดชื่นขึ้นอีกนิดหนึ่งก็น่าจะเป็นอะไรที่น่ารักดี

ขอให้ทุกๆ ท่านมีความสุขกับการชื่นชมและรื่นรมย์สวนกระถางของเหล่าเพื่อนบ้านนะครับ

สวัสดีครับ

ต้นไม้ ต้นไม้

*สำหรับ อาคิเต็ก-เจอ ตอนนี้ได้รับเกียรติจาก พี่ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัทฉมา มาร่วมให้ลิสต์คำแนะนำพรรณไม้และวิธีการดูแลสวนกระถางหน้าบ้านของเราให้เหมาะสม ถือเป็นของขวัญในวันขึ้นปีใหม่ไทยนะครับ โดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้

 

พันธ์ไม้ที่เหมาะกับการปลูกหน้าบ้านได้แก่

  1. สมุนไพร ไม้กินได้ : สะระแหน่, กะเพรา, โหระพา, หญ้าหวาน  
  2. ไม้ดอกหอม : มะลิ, ราชาวดี, โมก, แก้ว  
  3. ไม้ดอกสีสัน : บานบุรี, พยับหมอก, ผกากรอง  
  4. ไม้เลื้อย : เล็บมือนาง, มะลิวัลย์, ลัดดาวัลย์  

 

วิธีการดูแลรักษาต้นไม้กระถาง  

  1. ควรตัดแต่งสม่ำเสมอเพื่อให้ดูสวยงามและยังคงออกดอก ช่วยไม่ให้ต้นโทรม  
  2. ควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน เพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้พืช ทำให้มีอายุนานขึ้น  
  3. เปลี่ยนวัสดุดินในการปลูก ควรทำทุกๆ 6 เดือน เนื่องจากสภาพดินปลูกในกระถางปริมาณแร่ธาตุจะน้อยลงเรื่อยๆจากการถูกน้ำชะล้าง  

 

*ขอขอบคุณข้อมูลทั้งในบทความและข้อแนะนำ – ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น