“คุณโยทกา! คุณจะหนีไปจากผมหรือ ไหนคุณสัญญากับผมว่าคุณจะยืนข้างผมตลอดไปไม่ไปไหน”

“คุณชัชรัณคะ ไม่มีอะไรที่คนเราอยากได้ แล้วจะได้ทุกอย่างหรอกนะคะ”

“ไม่คุณโยทกา ผมรักคุณจริงๆ ผมอยากจะแต่งงานกับคุณนะ”

“ไม่ได้หรอกค่ะคุณชัชรัณคุณทำไม่ได้หรอก ปล่อยฉันเดี๋ยวนี้!”

หลังจากบทสนทนาน้ำดีนี้ แม่นางเอกก็ปรากฏตัวเข้ามาดึงตัวนางเอกจากพระเอก ทำให้พระเอกถึงกับเข่าทรุดเล่นใหญ่รัชดาลัย ร้องอ้อนวอนขอความรักเคล้าน้ำตา ต่อนางเอกอย่างสุดสำเนียง เป็นเหตุให้ตัวละครแทบทุกตัวในเรื่องต่างวิ่งกรูออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของฉากสำคัญฉากนี้

เหตุการณ์ในละครฉากนี้เกิดขึ้นโดยมีแบ็กกราวนด์เป็นหน้าบ้านหลังใหญ่โต (หรือคฤหาสน์นั่นแหละ) ตกแต่งสไตล์ยุโรป โดดเด่นด้วยเสาโรมันเซาะร่องสีขาวต้นใหญ่ สมฐานะตระกูลของพระเอก

ฉากนี้ดำเนินไปโดยมีพ่อแม่ของเรานั่งจ้องอยู่หน้าจอโทรทัศน์อย่างไม่ละสายตา ส่วนเราก็นั่งกินข้าวเย็นด้วยความครุ่นคิดว่า บ้านเสาโรมันแบบในละครนี่เป็นรูปแบบบ้านพิมพ์นิยมของคนไทยในยุคหนึ่งนี่นา น่าจะถ้าเอามาเล่าเป็นตอนปฐมฤกษ์ของคอลัมน์ อาคิเต็ก-เจอ ที่เราชวนพูดคุยและตั้งคำถามเกี่ยวเรื่องสถาปัตย์แบบไทยๆ ที่อยู่ใกล้ตัว

บ้านเป็นของเรา ทำไมเสาเป็นของ (โร) มัน

www.infinitydesign.in.th

ย้อนกลับไปสมัยเรายังเป็นนักศึกษาสถาปัตย์หน้าใส ในความทรงจำอันเบาบางหลังคาบเรียนวิชาสถาปัตยกรรมไทย เพื่อนเราคนหนึ่งได้เอ่ยขึ้นมาว่า “บ้านคนไทยนี่โคตรแปลกเลย หน้าบ้านมีเสาโรมัน หลังคาเป็นจั่วทรงไทย แล้วก็เอารูปปั้นสิงห์จีนมาตั้งอีกต่างหาก” ถึงตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรมากนัก แต่ก็นึกภาพบ้านที่เพื่อนเล่าได้อย่างดี บ้านหรือตึกที่มีเสาโรมันนี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ แม้กระทั่งสถานบันเทิงเริงราตรี จนเหมือนเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทยยุคหนึ่งไปแล้ว

บ้านหรืออาคารรูปแบบนี้คงได้อิทธิพลมาจากศิลปะ ‘ยุคนีโอคลาสสิก’ ซึ่งถูกบิดมาตามยุคสมัย คำว่า ‘Neoclassic’ มาจาก ‘Neo’ ที่แปลว่า ‘ใหม่’ ผสมคำว่า ‘Classic’ กลายเป็น ‘คลาสสิกแบบใหม่’ เราระบุสถาปัตยกรรมยุคนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการดูเสาโรมัน หลังคาจั่วสามเหลี่ยม (หรือโดม) เป็นอาคารสมมาตร ดูเรียบๆ คลีนๆ และปูนปั้นประดับตกแต่งไม่รกตานัก ถ้าเริ่มเห็นว่าสถาปัตยกรรมดูเวิ่นเว้อแล้ว น่าจะเป็นศิลปะยุคอื่น

ศิลปะยุคนีโอคลาสสิกในประเทศไทยนั้นไม่ตรงกับยุคของสากล เพราะศิลปะนีโอคลาสสิกเดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับช่างชาวตะวันตกที่นั่งเรือมาแสวงโชคในสยาม ช่วงรอยต่อระหว่างรัชกาลที่ 3 และ นั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม สถาปัตยกรรมรูปแบบนีโอคลาสสิกจึงเกิดขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

งานนีโอคลาสสิกแรกของประเทศไทยคือ พระอภิเนาว์นิเวศน์ หรือ เรือนหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างในพระบรมมหาราชวัง สถาปัตยกรรมในไทยจึงเริ่มมีเสาเซาะร่องแบบตะวันตก จนกลายเป็นรูปแบบสถาปัตย์ราชนิยมที่ส่งต่อกันมา กลายเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคมในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6 รวมถึงอาคารทั้งอีกหลายแห่ง สถาปัตยกรรมราชนิยมเหล่านี้ไม่ได้ทำตามต้นฉบับเป๊ะ แต่มิกซ์แอนด์แมตช์ความเป็นแขกและจีนลงไปด้วยตามกลุ่มคนที่เข้ามาในสยาม จนกลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของพระราชวังแบบไทยๆ

ต่อมากระแสสถาปัตยกรรมยุคโพสต์โมเดิร์นในโลกสากลได้เข้ามาตอกย้ำสไตล์ความเป็นเสาโรมันในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปอีกระดับ เพราะสถาปัตยกรรมโพสต์โมเดิร์นคือการนำศิลปะยุคนีโอคลาสสิคมาประยุกต์ใช้กับอาคารที่มีการใช้งานที่ทันสมัยขึ้น เช่น ตึกสูงและอาคารสำนักงานทั่วไป โดยเฉพาะศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า (ห้างโซโก้) อันแสนหรูหราซึ่งสร้างในปี 2527 เมื่อตึกหน้าตานีโอคลาสสิกที่ออกแบบโดยอาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ แห่งนี้ขายโครงการได้หมดเกลี้ยง เหล่าอาเฮียอาซ้อเลยหยิบเอาเสาโรมันมาเป็นองค์ประกอบของตึกแถวที่ขายกันในช่วงเวลานั้น

บ้านเป็นของเรา ทำไมเสาเป็นของ (โร) มัน

เมื่อวันเวลาผ่านมาจนถึงยุคปัจจุบัน การที่บ้านสักหลังจะขอมีเสาโรมันแบบในละครจึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ออกจะเป็นความภูมิใจด้วยซ้ำที่เราจะได้โชว์รสนิยมแบบนีโอคลาสสิกให้เพื่อนบ้านได้เห็น แน่นอนว่าความภูมิใจเหล่านี้ก็คงได้รับอิทธิพลจากคฤหาสน์ในละครไทยหลายเรื่อง หากเราสังเกตให้ลึกลงไปอีกจะพบว่าบ้านเสาโรมันหลังใหญ่ที่ใช้ถ่ายละครนั้นมีบ้านยอดฮิตที่นิยมใช้ถ่ายละครอยู่ ชาวพันทิพเคยให้ข้อมูลไว้ว่า บ้านของคาวี (กรี๊ด) จากเรื่อง สวรรค์เบี่ยง เป็นบ้านหลังเดียวกับในละครอีกหลายเรื่อง อันได้แก่ ทะเลริษยา, เปลือกเสน่หา, อาทิตย์ชิงดวง และ เจ้าหญิงลำซิ่ง ซึ่งละครเหล่านี้ฮิตตราตึงใจผู้คนมากมาย จนทำให้หลายท่านที่มีกำลังทรัพย์ในการสร้างบ้านหลังใหญ่ติดภาพบ้านเสาโรมันแบบนี้อยู่ในหัวไม่มากก็น้อย

ตะขาบของนีโอคลาสสิกที่ถูกคายกลายเป็นมรดกเสาโรมันในเมืองไทยซึ่งเรายังเห็นได้ชัดเจนก็คือ โครงการบ้านจัดสรร หากเรานั่งรถออกไปชานเมือง มักจะเห็นป้ายโฆษณาบ้านทรงคล้ายในละครติดแฮชแท็กไว้ว่า ‘ขายบ้านหรูสไตล์โรมัน 2 ชั้น หมู่บ้านxxx ตกแต่งสไตล์คลาสสิก เฟอร์นิเจอร์บิลท์อินทั้งหลัง’ รวมถึงทางเข้าหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่งก็มีเสาโรมันและน้ำพุอลังการ แข่งกันดึงดูดให้เราเผลอขับรถวนเข้าไปดูบ้านตัวอย่าง

จากเทรนด์โคตรฮิตในการสร้างตึกสูงด้วยเสาโรมัน นำมาสู่ ตะขาบตัวที่สอง คือ อาคารตึกแถวพาณิชย์ซึ่งมักมีเสาโรมันปรากฏเป็นแนวค้ำกันสาดของอาคาร และทำหน้าที่เสมือนแบ่งแนวคูหาไปในตัว ในกรุงเทพฯ เราจะพบตึกพวกนี้ได้ในซอยสุขุมวิทต่างๆ ต่างจังหวัดก็มีสายรายงานว่าขอนแก่นก็มีอาคารตึกแถวแนวๆ นี้ค่อนข้างมากเลยทีเดียว ส่วนตึกสูงสไตล์นีโอคลาสสิกฝีมือการออกแบบของอาจารย์รังสรรค์ ก็ยังคงต่อเนื่องมาจนถึงตึกสเตททาวเวอร์ ย่านบางรัก ซึ่งเป็นตะขาบตัวใหญ่ 63 ชั้น ที่เราเห็นและสามารถชื่นชมสถาปัตยกรรมเสาโรมันได้เป็นอย่างดี รวมถึงตึกยูนิคทาวเวอร์ ย่านสาธร ซึ่งตอนนี้มีสถานะเป็นตึกร้างที่สูงที่สุดในประเทศ

 

บ้านเป็นของเรา ทำไมเสาเป็นของ (โร) มัน

ตะขาบเสาโรมันตัวสุดท้ายที่เราพอนึกออก คือเสาโรมันและกระถางโรมันที่ใช้จัดสวนแนวฝรั่ง สวนแบบนี้มีให้เห็นตามรายการทีวีอยู่บ้าง และเห็นในร้านขายเสาโรมันเพื่อเอาไว้จัดสวนตามข้างทาง เคยได้ยินว่าบางร้านพัฒนามาจากร้านขายโอ่งเครื่องปั้นดินเผา ยุคที่สวนโรมันมาแรงเลยหยิบมงกุฎใบมะกอกมาใส่ แล้วขายเสากับกระถางเหล่านี้ด้วย ความเป็นโรมันเหล่านี้เป็นแนวอุปกรณ์ตกแต่งสวน เนื่องด้วยแนวคิดในการจัดสวนแบบฝรั่งมักจะอิงจากตำนานกรีก-โรมัน จึงประดับไปด้วยรูปปั้นเทพีต่างๆ แต่สำหรับสวนฝรั่งของคนไทยที่มีความเชื่อแบบคนจีน ก็อาจจะมีสัตว์มงคลประจำปีเกิดไปตั้งแทนเหล่าทวยเทพกรีก (ซะงั้น)

ในขณะที่โลกหมุนเร็วขึ้นทุกวัน เทรนด์งานสถาปัตยกรรมก็หมุนเร็วขึ้นเช่นกัน สำหรับเมืองไทย ยุคหนึ่งเสาโรมันอาจจะมาแรงพอๆ กับละครหลังข่าว ในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่บ้าง บางคนอาจมองว่าเราไปติดภาพสถาปัตย์ต่างประเทศแล้วไปลอกเขามา แต่จริงๆ เราอาจจะแค่ยืมมาใช้ เหมือนได้แรงบันดาลใจมา เหมือนที่ต่างประเทศก็ยังยืมแนวคิดบางอย่างของสถาปัตยกรรมไทยไปใช้ อย่างเช่น การยกใต้ถุนสูง หรือเอาวัสดุธรรมชาติมามุงหลังคา

เราชอบมองงานสถาปัตย์ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมแบบไทยๆ  โดยไม่ได้มองผ่านแว่นของสถาปนิก เพราะเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีเอกลักษณ์ สะท้อนสภาพสังคมและวิธีคิดแบบคนไทยได้เป็นอย่างนี้ เสน่ห์แบบนี้เองที่มักแฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ซุกซ่อนอยู่ ซึ่งเราจะมาพูดคุยกันต่อในตอนถัดไป

สำหรับตอนแรก สวัสดีครับ

บ้านเป็นของเรา ทำไมเสาเป็นของ (โร) มัน

*ขอบคุณบทจากละคร เหมือนคนละฟากฟ้า

Writer & Photographer

Avatar

ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ ที่ยังมีสถาปนิกเป็นวิชาชีพ และมีงานเขียนเป็นวิชาเสริม ชอบปั่นจักรยานและทักทายกับคนแปลกหน้าโดยไม่จำเป็น