เชื่อว่าคุณคงเคยนั่งกินเฟรนช์ฟรายส์หรือแฮมเบอร์เกอร์ในร้านอาหารอย่างแมคโดนัลด์ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเหล่านี้คือธุรกิจที่ผลิตสินค้านับล้านชิ้นซึ่งมีคุณภาพระดับเดียวกัน ในราคาที่ลูกค้าอย่างเราเอื้อมถึง 

แล้วจะเป็นอย่างไร ถ้าคุณสมบัติเหล่านี้ได้ถูกหยิบมาอยู่ในธุรกิจโรงพยาบาล

คุณพบคำตอบของคำถามนี้ได้ที่ประเทศอินเดีย

Aravind คือโรงพยาบาลตาสัญชาติอินเดียซึ่งก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1976 โดยจักษุแพทย์ชื่อ Govindappa Venkataswamy คุณหมอท่านนี้พบร้านแมคโดนัลด์ที่สหรัฐอเมริกา แล้วเกิดคำถามน่าสนใจขึ้นว่า จะเป็นอย่างไรถ้าเขาหยิบโมเดลจากร้านฟาสต์ฟู้ดนี้มาต่อกรกับปัญหาโรคสายตาในบ้านเกิด

ที่อินเดียมีผู้ต้องการการรักษาตาเกือบ 200 ล้านคน มีผู้พิการทางสายตาคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้พิการทางสายตาทั้งหมดของโลก และ 80 เปอร์เซ็นต์ของความพิการทางสายตานี้เกิดจากปัจจัยที่รักษาได้

ให้บริการคนไข้จำนวนมาก ด้วยบริการคุณภาพสูง ในราคาจับต้องได้-คือหัวใจสำคัญของ Aravind

และด้านล่างนี้คือวิธีคิด วิธีการของโรงพยาบาลซึ่งออกแบบมาดีจนกลายเป็น Best Practice สำหรับเหล่าโรงพยาบาลทั่วโลก และเป็นทางออกให้ปัญหาสายตาของผู้ป่วยหลายสิบล้านคน 

ปริมาณเยอะ ต้นทุนน้อย

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โรงพยาบาล Aravind รักษาคนไข้ในราคาจับต้องได้สำเร็จ คือคนไข้จำนวนมาก 

ไม่ต่างจากที่แมคโดนัลด์ผลิตแฮมเบอร์เกอร์ทีละเยอะๆ โรงพยาบาล Aravind มุ่งรักษาคนไข้โรคสายตาให้ได้เยอะที่สุดเพื่อให้เกิด Economy of Scale หรือการที่ต้นทุนการผลิตสินค้าจะต่ำลงเมื่อเราผลิตในปริมาณสูง 

การเพิ่มปริมาณคนไข้นี้เป็นไปได้จริงได้ด้วย 2 วิธีการหลัก

Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล

วิธีการที่ 1 คือ การขยายโรงพยาบาลไปสู่ท้องถิ่นห่างไกล เพราะหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโรงพยาบาลคือผู้ป่วยโรคสายตาที่อยู่ในชนบท ข้อจำกัดของคนกลุ่มนี้คือเรื่องการเดินทาง ค่าครองชีพ และการต้องสูญเสียรายได้เมื่อต้องไปหาหมอ 

โรงพยาบาล Aravind จัด Eye Camp ในชุมชนที่เข้าไม่ถึงและไม่มีความรู้เรื่องบริการด้านสายตา โดยชวนชุมชนมาเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ Eye Camp แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น Comprehensive Eye Camps ซึ่งเป็นค่ายคัดกรองปัญหาสายตาทั่วไปโดยเฉพาะต้อกระจก โรคเล็กน้อยจะได้รับการรักษาที่ค่าย ส่วนผู้ที่เป็นต้อกระจกจะได้ขึ้นรถไปโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัด ซึ่งแน่นอนว่าฟรีทั้งหมด 

นอกจากนี้ ยังมี Vision Centre ที่เป็นศูนย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่ถาวรในชุมชนห่างไกล มีผู้ช่วยจักษุแพทย์เป็นคนดำเนินการ โดยมีหมอคอยช่วยแบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ศูนย์นี้ทำให้คนไข้ได้รักษากับแพทย์ในโรงพยาบาลหลักได้ ใครเป็นหนักค่อยไปโรงพยาบาล

Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล
Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล

ส่วนวิธีการที่ 2 คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ

โรงพยาบาล Aravind มีการวิเคราะห์ระบบและออกแบบให้ระบบทำงานได้ดีขึ้น อาทิ การจัดการระบบผ่าตัดด้วยการเพิ่มเครื่องมือ โดยในห้องผ่าตัดจะมีคุณหมอ 1 คน แต่มีโต๊ะ อุปกรณ์ และทีมผู้ช่วยพยาบาลมากกว่านั้น ระหว่างที่คุณหมอลงมือผ่าตัดคนไข้คนแรก ทีมพยาบาลก็ช่วยเตรียมตัวคนไข้รายถัดไป เมื่อคุณหมอจัดการคนไข้คนนั้นเสร็จก็หันมาผ่าตัดต่อได้เลย ผลลัพธ์คือหมอในโรงพยาบาล Aravind ผ่าตัดคนไข้ได้ถึง 6 – 8 รายต่อชั่วโมง นับว่าประสิทธิภาพสูงมากเมื่อเทียบกับอัตราปกติ นั่นคือ 1 รายต่อชั่วโมงเท่านั้น 

ด้วย 2 วิธีการนี้ โรงพยาบาลจึงรักษาคนไข้ได้มากสมความตั้งใจ เรียกได้ว่าใช้ปริมาณดวงตาที่รักษาได้ ต่อโอกาสในการรักษาตาคู่อื่นต่อไปยาวๆ

ถูกและดี

นอกจากใช้ปริมาณเข้าสู้ โรงพยาบาล Aravind ยังอยู่รอดทางธุรกิจได้ด้วยวิธีคิดน่าสนใจ 

คนไข้ของโรงพยาบาลนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือคนไข้ที่จ่ายเงินปกติ คนไข้ที่จ่ายราคาถูกเพราะได้รับการอุดหนุน และคนไข้รักษาฟรี แต่ทั้งที่คนไข้ 2 ประเภทสุดท้ายมีจำนวนถึง 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ทั้งหมด โรงพยาบาลกลับเลี้ยงตัวเองได้เพราะมีกำไรจากคนไข้ประเภทแรกมาช่วย โดยการจ่ายเงินค่ารักษาดวงตาของคนไข้ 1 คนจะช่วยให้คนไข้ไม่มีกำลังทรัพย์อีก 2 คนได้รักษาตาต่อไป 

ขอแถมเกร็ดดีต่อใจ 1 เรื่อง นั่นคือโรงพยาบาลนี้ให้คนไข้เลือกได้ว่าจะจ่ายเงิน จ่ายบางส่วน หรือไม่จ่ายเลย เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของคนที่ก้าวเข้ามาในโรงพยาบาล นั่นแปลว่าคุณลุงชาวนาอาจเลือกควักเงินจ่ายค่ารักษา ขณะที่นายกฯ อาจผ่าตัดต้อโดยไม่จ่ายเงินสักบาทก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการคนไข้อย่างแท้จริง

Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล
Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล

มากกว่านั้น โรงพยาบาลยังมีวิธีลดต้นทุนที่น่าศึกษาอีกหลายรูปแบบ อาทิ การคัดเลือกและฝึกผู้หญิงในท้องถิ่นให้กลายมาเป็น Technician รวมถึงการผลิตเลนส์ที่ใช้ในการผ่าตัดแบบ In-house ซึ่งช่วยให้เลนส์ราคาถูกลงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ 

ที่สำคัญ ทั้งที่แบ่งการรักษาเป็นแบบจ่ายเงินและไม่ต้องจ่าย แต่ Aravind มุ่งมั่นจะรักษาคุณภาพบริการอย่างเท่าเทียม ไม่ต่างจากแมคโดนัลด์ที่กินเบอร์เกอร์ร้านไหนก็คุณภาพดีเหมือนกัน ซึ่งในมิติการรักษา การให้บริการที่ดีนั้นมีประโยชน์หลากหลาย เช่นช่วยลดปัญหาจากการรักษาและจำนวนคนไข้ที่ต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกรอบ 

และแน่นอนว่าถ้ามองเรื่องความพอใจ การรักษาดีอย่างทั่วถึงย่อมทำให้คนไข้รู้สึกดีต่อโรงพยาบาลอย่างเท่าเทียม

สิ่งสำคัญที่เห็นได้ด้วยตา

จากโรงพยาบาลจิ๋วขนาด 11 เตียงในบ้านของคุณหมอผู้ก่อตั้ง โรงพยาบาล Aravind ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลในเครือ 13 แห่ง ศูนย์ตรวจคนไข้โรคตาแบบคนไข้ภายนอก 6 แห่ง และที่รักษาโรคตาขั้นต้นอีก 75 แห่งในส่วนอินเดียใต้ ไม่นับโรงพยาบาลเครือข่ายนอกประเทศอีกมากกว่า 300 แห่งที่รับโมเดลนี้ไปใช้

Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล

ในแง่รูปแบบการทำงาน Aravind มีทั้งบริการรักษาโรคทางสายตา สถานที่เทรนนิ่ง สถาบันวิจัย ที่ให้คำแนะนำและสร้างเสริมศักยภาพ จนถึงที่ผลิตอุปกรณ์ใช้รักษาโรคทางสายตาระดับส่งออก 

ส่วนในแง่ผลลัพธ์ที่เกี่ยวกับการรักษาโรคสายตา Aravind Model ช่วยให้การผ่าตัดมีราคาถูก เช่น การผ่าตัดต้อกระจกมีราคาแค่ 50 ดอลลาร์ฯ ขณะที่ในอเมริกานั้นราคาพุ่งได้ถึงประมาณ 3,000 ดอลลาร์ฯ และเรื่องคุณภาพการรักษาก็ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลในอังกฤษเกือบ 2 เท่า

ไม่หมดเท่านั้น โมเดลนี้ยังทำให้โรงพยาบาลรับผู้ป่วยนอกมาแล้วกว่า 65 ล้านคน และผ่าตัดตามาแล้วกว่า 7.8 ล้านครั้ง โดยหมอของ Aravind แต่ละคนผ่าตัดคนไข้ได้มากกว่า 2,000 ครั้งต่อปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยของแถบเอเชียอยู่ที่ 150 – 200 ครั้งเท่านั้น 

Aravind Hospital รพ.ตาที่รักษาคนไข้หลายล้านคนแบบถูกและดีด้วยวิธีคิดสไตล์ร้านแมคโดนัลด์, การออกแบบโรงพยาบาล

ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่า แม้วิธีออกแบบทางแก้ปัญหาอาจเป็นสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แต่หากวิธีนั้นถูกต้อง มันย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

ดังเช่นผลลัพธ์ยิ่งใหญ่ที่เห็นได้ด้วยตาของโรงพยาบาล Aravind นั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง 

  • aravind.org
  • didyouknowwebsite.com
  • digital.hbs.edu

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S