ไม่แปลกถ้าคุณไม่เคยได้ยินชื่อ อรช บุญ-หลง

เพราะนักกิจกรรมวัฒนธรรม-สิ่งแวดล้อมคนนี้ ไม่ค่อยออกหน้าออกตาตามสื่อสักเท่าไหร่ แม้ว่าเธอจะเป็นหนึ่งในหญิงแกร่งที่ผลักดันเรื่องความยั่งยืนหลากหลายมิติให้เมืองเชียงใหม่มาตลอด 10 ปี

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

ถ้าคุณเคยไปถนนคนเดินวัดพันอ้น ที่ร้านรวงขายข้าวของแบบปลอดโฟมมาหลายปี

เคยไป NAP เทศกาลศิลปะประจำปีที่ดีไซเนอร์แย่งกันมาออกร้าน ที่ถนนนิมมานเหมินทร์

เคยไปห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียงฯ พื้นที่วัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งสำคัญของเชียงใหม่

เคยได้ยินว่าเชียงใหม่จะมีรถไฟฟ้าใต้ดินใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เคยเห็นแคมเปญอนุรักษ์ดีๆ สุดครีเอทีฟจากภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวและกลุ่มเจียงใหม่ออร์แกนิก

หรือเคยไปกินขนมแสนอร่อยที่หอมปากหอมคอ ร้านเบเกอรี่ที่เสิร์ฟเมนูเดิมมาตั้งแต่เปิดร้าน

คุณเคยทำความรู้จักเธอคนนี้แล้วล่ะ เพราะทั้งหมดด้านบน (และอีกหลายสิ่งที่ไม่ได้เอ่ยถึง) คือผลงานการันตีความตั้งใจ ความใส่ใจ และความจริงใจ ที่เธอมีต่อเมืองเชียงใหม่ 

งานของเธอสนุก ขับเคลื่อน และเต็มไปด้วยพลัง พอๆ กับการใช้ชีวิตของเธอ 

เด็กสาวจากเชียงใหม่ จากบ้านไปเรียนสาขาการจัดการวัฒนธรรมที่ตอนนั้นใครๆ ก็ไม่รู้จัก ถึงประเทศฝรั่งเศส ได้ทำงานกับองค์กรระดับประเทศ ศิลปินระดับนานาชาติ ทำงานกับใครก็เป็นที่รักและเป็นที่ต้องการไปหมด แต่สุดท้ายสาวรุ่นใหม่ไฟแรงคนนี้ เลือกสละเส้นทางที่กำลังไปได้สวย และกลับบ้านที่เชียงใหม่มาค้นหาอิคิไก

เหมือนจะจบลงที่ตรงนี้ ชีวิตสุขสงบ ณ เมืองเหนือ

เปล่าเลย เรื่องราวหลังเธอค้นหาและค้นพบทางของตัวเอง กลายเป็นสนุกและมันยิ่งกว่า เธอกลายเป็นนักกิจกรรมที่ทำงานเชิงบวก เห็นปัญหา ไม่บ่นไม่ว่าแต่ชวนพรรคพวกมาร่วมลงมือแก้ไขเองอย่างจริงจัง เธอทั้งผลักดัน ขับเคลื่อน ท้าชน หรือบางทีเรียกว่าพุ่งชนก็ว่าได้

ไม่อยากสปอยล์ไปมากกว่านี้ ชวนอ่านการเดินทางที่บางจังหวะก็เรียบง่าย และบางจังหวะก็แสนผาดโผน ของหญิงแกร่งที่เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของการผลักดันเมืองเชียงใหม่ไปสู่ความยั่งยืน บนหน้าจอต่อไปนี้กันเลย

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

01 

เด็ก’ถาปัตย์ที่ลงเรียนวิชาปรัชญา

อรชเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนที่ยังเป็นคณะน้องใหม่เพิ่งเปิดทำการได้ 3 ปีเท่านั้น จากการได้ดูรายการ เพชฌฆาตความเครียด ของก๊วนพี่ๆ ซูโม่ทั้งหลาย ทำให้รู้สึกว่าความสถาปัตย์นั้นช่างครีเอทีฟ เต็มไปด้วยพลัง ฉีกออกจากบริบทสังคมสมัยนั้นได้อย่างน่าตื่นตา “ดูรายการพี่ๆ แล้วรู้สึกมีไอเดีย” เธอบอกพร้อมรอยยิ้ม

แม้จะเป็นเด็กสถาปัตย์ แต่อรชสนใจปรัชญาและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม เธอเลยถือโอกาสทองของการเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยลงเรียนวิชาเหล่านั้นจริงๆ จังๆ เสียเลย 

“การเรียนออกแบบอาคาร ทำให้เราเข้าใจว่าอาคารหนึ่งอาคารจะตั้งอยู่ได้ มันมีความเกี่ยวพันกับบริบทโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงวัฒนธรรม นั่นทำให้เรายิ่งสนใจลึกลงไปถึงงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ว่าอะไรเป็นเหตุและผล บริบทที่ทำให้มันเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ ในอดีตคืออะไรกันนะ”

อรชอธิบายว่า งานออกแบบทุกอย่างในโลกตั้งแต่อดีต ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง เมื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้แล้ว ที่เหลือก็เป็นความรุ่มรวย ที่อาจจะไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ จะตกแต่งให้งดงามอย่างไรก็ว่าไป อย่างที่เด็กดีไซน์รู้กันว่า Form Follows Function นั่นแหละ

ยุคสมัยก็เป็นหนึ่งในบริบทสำคัญที่ส่งผลต่องานออกแบบ ในประเทศที่ยังหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์เยอะๆ จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เช่น จากยุคสงบสุขเฟื่องฟูที่สถาปัตยกรรมงดงามวิจิตรพิสดาร เมื่อเข้าสู่ยุคสงคราม สถาปัตยกรรมจะเปลี่ยนไปเป็นป้อมปราการหนาทึบทันควัน 

แม้แต่แนวคิดเรื่องพระเจ้าก็สัมพันธ์กับงานออกแบบ สถาปัตยกรรมยุคโกธิกแหลมสูงพุ่งขึ้นสู่ฟ้า ต้องไต่ขึ้นไปหาพระเจ้า เพราะคนเชื่อจริงๆ ว่าพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ด้านบน จนยุคถัดมาอย่างเรเนซองส์ที่ผู้คนเริ่มเข้าใจว่าพระเจ้าเป็นสัญลักษณ์ และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มาจากฟ้าบันดาล จึงเกิดเป็นยุคแห่ง Enlightenment ที่คนเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ นำมาสู่แนวคิดมนุษยนิยมและการเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์ รูปแบบของสถาปัตยกรรมก็เปลี่ยนกลับมาเป็นสัดส่วน Rational แบบกรีกโรมัน และมีความเป็น Human Scale มากขึ้น

“มนุษย์เราไม่ได้ท้าทายหรือไม่เชื่อในพระเจ้านะ แต่นี่คือประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าผ่านงานออกแบบและสถาปัตยกรรม เป็นความจริงที่สนุกและน่าค้นหา ให้เราเห็นว่าบริบททุกอย่างมันเชื่อมโยงถึงกันจริงๆ มันคือวัฒนธรรม เราก็รู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่าเราอยากทำงานด้านนี้ เราอินเรื่องวัฒนธรรม”

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

02

นักเรียนนอกผู้เรียนสาขาที่ไม่มีใครรู้จัก

เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หากพูดคำว่าการจัดการวัฒนธรรมหรือ Cultural Management เชื่อว่าน้อยคนจะรู้จัก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจที่จะเรียนรู้ศาสตร์แห่งการจัดการวัฒนธรรมของอรชลดน้อยลง บัณฑิตสาวจากเชียงใหม่ลงมาแอ่วกรุงเทพฯ และฝึกงานที่เกอเธ่ สถาบันด้านภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเยอรมนีที่มีอยู่ทั่วโลกอยู่นานถึง 8 เดือน พร้อมๆ กับเรียนภาษาเยอรมันไปด้วย

“ทีแรกตั้งใจจะไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่ภาษายากเหลือเกิน ศัพท์แต่ละคำมีเพศที่ต้องจำเพิ่มอีกถึงสาม ไอ้เราก็ไม่เข้าใจทำไมโต๊ะเป็นเพศหญิง เซ้าซี้ถาม จนอาจารย์บอกว่าจำไปเถอะ อย่าคิดมาก” อรชเล่ากลั้วหัวเราะ

จนวันหนึ่งมีรุ่นพี่ที่จบจากฝรั่งเศสมาแนะนำว่า บุคลิกอย่างเธอน่าจะสนุกกับการใช้ชีวิตที่ประเทศฝรั่งเศส ด้วยความที่เป็นประเทศที่จริงจังกับงานด้านวัฒนธรรมมาก ยิ่งเธอสนใจเรื่องการจัดการวัฒนธรรมด้วยแล้ว ประเทศฝรั่งเศสก็เป็นตัวเลือกที่อาจจะเหมาะกับเธอมากกว่า อรชจึงลองไปค้นหาโรงเรียนที่มีหลักสูตรด้านนี้ ปรากฏว่าแค่เมืองเดียวในประเทศฝรั่งเศส ก็มีโรงเรียนด้านการจัดการวัฒนธรรมอยู่นับสิบแห่งสมคำร่ำลือเรื่องความจริงจัง

“สุดท้ายเราตัดสินใจไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศส เรื่องภาษาไม่ต้องห่วง ผ่านภาษาเยอรมันสุดโหดมาแล้ว ภาษาฝรั่งเศสที่เป็นรากละตินเหมือนกัน แต่กฎเกณฑ์น้อยกว่าเลยง่ายขึ้นทันตาเห็น เริ่มจากไปเรียนภาษาและปรับตัวที่เมืองตูร์ (Tours) เมืองที่เขาเคลมว่าสำเนียงดีที่สุดในประเทศฝรั่งเศส เจอครูและเพื่อนชาวญี่ปุ่น สเปน เกาหลี ที่ไม่มีใครพูดภาษาอังกฤษได้เลย ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เราจับทางภาษาฝรั่งเศสได้ไวขึ้น จนทุกวันนี้ที่ติดต่อกับเพื่อนๆ กลุ่มนี้ ก็ยังใช้ภาษาฝรั่งเศสกันเหมือนเดิม

“จากนั้นก็ได้เวลาเข้าปารีส เราเลือกเรียนโรงเรียนเทคนิคเกี่ยวกับการจัดการวัฒนธรรมโดยเฉพาะ เน้นภาคปฏิบัติและการนำไปประกอบอาชีพ เพราะถ้าเรียนมหาวิทยาลัยมันจะไปทางวิชาการมากกว่า แล้วเหมือนธรรมชาติจัดสรร เราเป็นคนชิลล์ ก็ได้ไปอยู่โรงเรียนที่ชิลล์มาก มีสอบแค่ปีละสองครั้ง เราก็เรียนได้ท็อปตลอดสมตำแหน่งเด็กเอเชีย เพราะเรามีแรงกดดันมากกว่าคนอื่น ภาษาต้องฟิต คอนเทนต์ก็ต้องได้”

อรชเล่าว่า โรงเรียนของเธอตั้งอยู่บนถนนโอเปรา หนึ่งในถนนสายเก่าแก่ของปารีส การเรียนที่นี่สนุกสนานมากเพราะไม่ว่าจะเรียนเรื่องอะไร ทางโรงเรียนจะเชิญตัวจริงเรื่องนั้นๆ มาถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องวัฒนธรรมกับนักเรียนในชั้นเสมอ อย่างชั้นเรียนเรื่องนิทรรศการและละครเวที แขกรับเชิญคือสถาบันระดับชาติอย่าง Pompidou หรือศูนย์วัฒนธรรมแห่งปารีส จะมาเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่ต้นจนจบงานวัฒนธรรมแต่ละครั้ง พวกเขามีขั้นตอนในการทำงานอย่างไร

“หลักสูตรปีเดียว แต่ไปๆ มา อยู่ประเทศฝรั่งเศสถึงสี่ปี หลังเรียนจบมีโอกาสฝึกงานหลายที่ ตั้งแต่แกลเลอรี่ครอบครัวเล็กๆ ที่ได้เรียนรู้และลงมือทำทุกขั้นตอน ไปจนถึงหน่วยงานวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัย และกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้”

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

03

เด็กฝึกงานกับโขนไทยในพระราชวังแวร์ซายส์

งานสุดท้ายก่อนกลับประเทศไทย อรชฝึกงานที่ France Culture หน่วยงานด้านวัฒนธรรมของกระทรวงการต่างประเทศแห่งฝรั่งเศส ที่มีภารกิจหลักในการแลกเปลี่ยนงานวัฒนธรรมดีๆ กับทั่วโลก โดยปีนั้นเป็นปีแรกของการจัดเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส Tout à fait Thaï 2006 ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวัฒนธรรมของสองประเทศ

“ที่ France Culture มีแผนกเอเชียอยู่แล้ว เขาก็ดีใจที่มีเด็กไทยมาฝึกงาน เพราะกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส มีอยู่วันหนึ่งต้องไปประชุมที่สถานทูตไทยประจำกรุงปารีส ในฐานะทีมฝรั่งเศสนะ ไปถึงทุกคนก็งงกันมาก ทำไมมีเด็กไทยอยู่ในทีมฝรั่งเศส พอฝึกงานครบกำหนด ทางสถานทูตไทยเลยชวนให้มาช่วยทำเทศกาลต่อ ไหนๆ ก็รู้เรื่องอยู่แล้ว เลยอยู่ต่ออีกแปดเดือนจนเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศสที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเสร็จสมบูรณ์

“เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ทรงคุณค่าของชีวิต เพราะได้เรียนรู้อะไรมากมาย โดยเฉพาะระบบการทำงานแบบการทูต แล้ววัฒนธรรมไทยที่นำไปจัดแสดงแต่ละอย่างไม่ใช่ธรรมดา มีทั้งโขน หุ่นละครเล็ก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯทรงดนตรีไทย เสด็จฯงานสัมมนาวิชาการ มีจัดดนตรีร่วมสมัย ตลาดไทย ไปจนถึงนิทรรศการศิลปะ และได้รู้จักพี่วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์, พี่โลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี), พี่ตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร) รวมถึงครูที่สอนวิชาชีวิตหลังจากนี้อีกมากมาย อย่างพี่หนูเล็ก (บุรณี รัชไชยบุญ) จากการทำงานนี้”

อรชเล่าว่าชีวิต 4 ปีทำให้รู้ว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่อีโก้เยอะและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมตัวเองอย่างที่สุด “การได้ไปอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น ทำให้เราตระหนักว่าถ้าอยากจะรักษาอะไรบางอย่างไว้ ก็ต้องมีความหัวเด็ดตีนขาดอย่างคนฝรั่งเศสหวงแหนวัฒนธรรม 

“และที่สำคัญ คือทุกอย่างรัฐล้วนสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นดนตรีคลาสสิก โอเปรา งานป็อปอาร์ต หรือคอนเสิร์ตฮิปฮอป รัฐต้องให้เงินสนับสนุนเท่าเทียมกัน อย่างพิพิธภัณฑ์ก็เหมือนกัน ถ้าไปพิพิธภัณฑ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละห้องจะมีป้ายเขียนไว้เลยว่าใครบริจาคเงิน แต่ที่ฝรั่งเศสไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นของรัฐบาลและประชาชน”

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

04

สุริโยทัย และ มนต์รักทรานซิสเตอร์

อรชเล่าต่อว่า นอกจากความเข้มงวดจริงจัง ภาครัฐบ้านเขายังสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คนได้สนุก น่าตื่นตา และน่าชื่นชม อย่าง White Night งานใหญ่ประจำปีที่ทั้งวันทั้งคืน ผู้คนต่างออกมาชื่นชมงานศิลปะ ดนตรี วัฒนธรรม กันอยากคึกคักทั่วกรุงปารีส ท้องถนนเต็มไปด้วยสีสันของศิลปะจัดวาง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำการรัฐ เปิดให้เข้าชมฟรี ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทุกประเภทก็ฟรีทั้งหมดและวิ่งตลอด 24 ชั่วโมงด้วย เพราะเขาคิดมาแล้วทั้งระบบว่าถ้าจัดงานใหญ่ ต้องมีอะไรมารองรับและสนับสนุนศิลปินรวมถึงผู้ชมงานบ้าง

วัฒนธรรมคือวิถีชีวิต (Way of Life) ดังนั้นเวลาพูดถึงวัฒนธรรม เราจึงต้องพูดถึงสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมด อรชยกตัวอย่างวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ว่า นอกจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างเรือนกาแลแล้ว เราต้องยอมรับว่าเรือนโคโลเนียลก็เป็นวัฒนธรรมหนึ่ง เพราะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของเชียงใหม่ที่ชาวตะวันตกเข้ามา

“ตอนอยู่ปารีส มีครูประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเจ๋งมาก เขาบอกว่าเรามองประวัติศาสตร์ผ่านสายตาของคนยุคปัจจุบัน เมื่อไม่ได้เกิดในยุคนั้น Perception หรือการตีความของเราจึงทำผ่านมุมมองของคนยุคนี้ หลายครั้งการนำเสนอวัฒนธรรมด้วยรูปแบบของคนในปัจจุบันจึงเป็นไปอย่างไม่เข้าใจคนในอดีต 

“มนุษย์ยุคปัจจุบันนำรูปภาพที่เคยอยู่ในโบสถ์มืดๆ สลัวๆ มาจัดแสดง สาดไฟจ้าอยู่ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ทั้งที่ในยุคโบราณไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้ตะเกียงส่องทาง ส่วนที่สว่างที่สุดคือแท่นบูชา รูปเหล่านี้จึงต้องอาศัยประกายวูบวาบของตะเกียงในการตีความ

“หรือการขุดพบถ้ำโบราณอายุหลายพันปีที่มีภาพวาดสัตว์ต่างๆ มนุษย์ยุคปัจจุบันเอาสปอตไลต์เข้าไปส่องจัดแสดง ภาพบนผนังถ้ำก็แบนไร้มิติไปเลย ถ้าลองนึกถึงบริบทของคนยุคนั้นที่ต้องใช้คบไฟเดินในถ้ำ เดินและดูภาพวาดแสงและเงาที่ตกกระทบทำให้ม้าบนผนังดูเหมือนมันวิ่ง มันเคลื่อนไหว นี่คือบริบทของยุคสมัยที่เราต้องคิดให้ลึกและหลายมิติเข้าไว้ ก่อนจะคิดรูปแบบการนำเสนอวัฒนธรรมนั้นๆ”

แล้ววัฒนธรรมความเป็นไทยอยู่ตรงไหน อรชเคยถามคำถามนี้กับนักศึกษาที่เธอสอนว่า “หนังเรื่อง สุริโยทัย กับ มนต์รักทรานซิสเตอร์ เรื่องไหนไทยกว่ากัน แน่นอนว่าต้อง มนต์รักทรานซิสเตอร์ เพราะมันเข้าถึงวิถีชีวิตคนส่วนใหญ่ แต่รากประวัติศาสตร์ก็เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้เช่นกัน

“ทุกวันนี้ เวลามองประวัติศาสตร์หรือมองปัจจุบัน เราจะมองในแง่คุณค่าวัฒนธรรม อย่างเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามองว่าคือการสืบทอดวัฒนธรรมอะไรบางอย่าง นึกถึงตอนงานถวายพระเพลิง หมดรุ่นนี้ ไม่มีใครทำเป็นแล้วนะ อย่างขบวนราชรถหรือพยุหยาตราทางชลมารค ล้วนเป็นศิลปะขั้นสูงที่ละเอียดอ่อนมาก มีมนุษย์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำศิลปะเหล่านี้ได้ มันคือองค์ความรู้

“ในขณะเดียวกันเราก็ให้คุณค่าศิลปะพื้นบ้าน พูดง่ายๆ คือตั้งแต่ในวังจนถึงคุณลุงสล่ากลางนา ทั้งหมดคือวัฒนธรรมความเป็นไทยที่สะท้อนวิถีชีวิต”

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

05

ชีวิตหลายภาษาหลังม่านการแสดง

กลับจากฝรั่งเศส พี่หนูเล็กก็ชวนอรชมาทำงานกับโอเวชั่น สตูดิโอ (Ovation Studio) เพราะเห็นความคล่องแคล่วในการทำงานจากเทศกาลวัฒนธรรมไทยในฝรั่งเศส โดยเริ่มแรกพี่หนูเล็กให้อรชมาช่วยประสานงานเวลา มีคณะศิลปินฝรั่งเศสมาเปิดการแสดงที่ประเทศไทย เพราะเธอพูดภาษาฝรั่งเศสได้ แต่ไปๆ มาๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเป็นชาติใด ก็มักจะเป็นเธอทุกครั้งที่ถูกเรียกมาช่วยงาน

“โอเวชั่น สตูดิโอ อยู่เบื้องหลังงานแสดงศิลปวัฒนธรรมมากมายในประเทศไทย เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากพี่หนูเล็กและทีมพี่ๆน้องๆ โดยเฉพาะเรื่องความเนี้ยบและความเอาอยู่ ที่จำได้ดีคือตอนจัดงาน La Fête เทศกาลวัฒนธรรมฝรั่งเศส-ไทย ที่มีศิลปินจากฝรั่งเศสมาเปิดการแสดงหลายสิบคน สมัยนั้นจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ เราเห็นในอีเมลแจ้งว่า ทุกคืนหลังการแสดงต้องส่งเสื้อผ้าศิลปินซักให้ทันใช้วันต่อไป เพราะต้องแสดงต่อเนื่องทุกคืน ทีมงานก็เตรียมหาเบอร์ติดต่อร้านซักรีดให้มารับเสื้อผ้าเป็นเรื่องเป็นราว

“ปรากฏว่าพอไปถึงศูนย์วัฒนธรรมฯ พี่หนูเล็กเตรียมทั้งเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ไว้เรียบร้อยหลังเวที และเตรียมทีมรีดผ้าเข้ามาตอนเที่ยงคืน เพื่อให้ตอนเช้าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย พร้อมใช้งานสำหรับการแสดงรอบต่อไปในช่วงค่ำ โอ้โห นี่คือวิธีคิดที่ทำให้เรารู้เลยว่า ถ้าทุกอย่างอยู่ในมือ มันควบคุมได้”

อรชเรียกความเนี้ยบแบบนี้ว่าความโอเวชั่น “แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่อาจจะโอเวชั่นไปหน่อย เทศกาลมายากลฝรั่งเศส แสดงรอบแรกจบ แม่บ้านก็ดูแลซักรีดเรียบร้อย จนการแสดงรอบต่อมา เอ๊ะ ทำไมอยู่ดีๆ นักแสดงทำท่าทางแปลกๆ ขัดๆ ปรากฏว่ากระเป๋าเสื้อที่เขาแอบเจาะช่องไว้ซ่อนทริกมายากล ถูกเย็บจนเรี่ยมเพราะแม่บ้านนึกว่าขาด เอาสิ จริงๆ แค่ซักรีดผ้าแต่ด้วยความเนี้ยบเจอรูก็จัดการต้องปะชุนให้เรียบร้อย ความโอเวชั่นยันแม่บ้าน กรณีแบบนี้ทีมงานเลยต้องทัน คิดรอบและคิดละเอียดพอที่จะดักคอเขาไว้ก่อน” อรชเล่ากลั้วหัวเราะ

Put the right man on the right job. คือหลักการทำงานกับคนที่อรชยึดถือมาตลอด “เราพิสูจน์เองมาแล้วว่า ถ้าถูกงานถูกคน ผลลัพธ์จะเวิร์ค การทำงานกับพี่หนูเล็ก ชัดเจนว่าเราไม่ต้องช่วยเตรียมงานใดๆ ในตอนต้น แต่พอศิลปินต่างชาติมาถึงปุ๊บ เราต้องเอาให้อยู่ หน้างานตรงนั้นไม่ใช่แค่ล่ามหรือประสานงาน แต่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย อีกเหตุการณ์ที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ศิลปินชาวฝรั่งเศสซ้อมการแสดงอยู่บอกว่าหนาว ช่วยปิดแอร์หน่อย ทีมงานไทยก็วุ่นวายกันเลยเพราะถ้าปิดแอร์ตอนนั้น มันจะเปิดและเย็นไม่ทันรอบการแสดงตอนเย็น

“เราก็ต้องหาวิธีสื่อสารกับเขาถึงปัญหาและทำไมเราทำให้ไม่ได้ คนฝรั่งเศสขี้บ่น ถ้าเคยไปอยู่จะรู้จักคำว่า It’s complicated ที่เขาใช้บ่นทุกเรื่อง รถเมล์เสีย ไฟฟ้าดับ เรื่องเล็กเรื่องน้อยหรือทุกอย่างที่ดูยากซับซ้อนเขาใช้คำนี้หมด สุดท้ายเราก็ไปบอกเขาว่าถ้าปิดแอร์มันจะ Complicated มากเลย กว่าจะปิดจะเปิดใหม่อีกที เธอจะให้ปิดจริงๆหรือ ศิลปินพยักหน้าเข้าใจ บอกไม่เป็นไรเดี๋ยวฉันไปหาเสื้อหนาวมาใส่ ที่เล่าเหตุการณ์นี้เพราะบางทีวิธีคิดมันมีนิดเดียว มันปรับได้ง่ายๆ แค่เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสาร”

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

06

กลับบ้านมาค้นพบอิคิไก

แม้จะสนุกกับงานแค่ไหน แต่เสียงข้างในใจมันเรียกร้องให้ปิ๊กบ้าน อรชจึงตัดสินใจกลับจังหวัดเชียงใหม่ และทำงานที่โรงแรมชื่อดังอยู่หนึ่งปีในตำแหน่งเซลล์ 

“เป็นงานที่สนุกไปอีกแบบ แต่สิ่งที่เราค้นพบกลับไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นเรื่องเฟมินิสต์ เพราะที่นี่เราทำงานกับพี่ๆ ทีมเซลล์หญิงล้วนแปดคนที่แข็งแกร่งมาก

“ชีวิตเราศรัทธาในความเป็นผู้หญิงทำงานมาก แล้วการทำงานที่ผ่านมา เจ้านายทุกคนเป็นผู้หญิงเก่งหมดเลย ตั้งแต่ที่สถาบันเกอเธ่ จนไปประเทศฝรั่งเศสกลับมากรุงเทพฯ และเชียงใหม่ แล้วที่บังเอิญคือเราได้ทำงานกับทุกคนในช่วงตั้งท้อง ทำงานไม่หยุดจนท้องเข้าเดือนที่เก้า อีกสองวันจะคลอดก็ยังทำงานอยู่ กลายเป็นภาพจำในหัวว่า Working Women ต้องเป็นแบบนี้แหละ ทำงานหนักตอนตั้งท้องไม่ใช่อุปสรรค แต่มันคือแพ็กเกจชีวิต จนกระทั่งตัวเองตั้งท้องลูกทั้งสองคนก็ทำงานจนหยดสุดท้าย” อรชเล่าอย่างติดตลก

ทำงานโรงแรมได้ปีเดียว อรชก็ลาออกมาเปิดร้านขนมฮาร์ทเมดชื่อ ‘หอมปากหอมคอ’ ที่ทั้งร้านมีเมนูอยู่ไม่กี่อย่าง เป็นเมนูที่เธอชอบทานเพราะพ่อทำให้ทาน และผ่านการคิด ทดลองทำอย่างละเอียดซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนมั่นใจว่าแบบนี้อร่อยที่สุด ลูกค้าติดหนึบเพราะติดใจรสชาติและความพิถีพิถัน จนตอนนี้ร้านอายุเข้าปีที่ 10 เมนูก็ยังเป็นเมนูเดียวกับวันแรกที่เปิดกิจการ

“ตอนนั้นเรามีคติประจำชีวิตอยู่สองสามอย่าง ที่เพิ่งมารู้ทีหลังว่ามันคือหลักอิคิไก หรือความหมายของการมีชีวิตอยู่แบบญี่ปุ่น อย่างแรกคือทำสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างที่สองคือทำสิ่งที่หาเลี้ยงชีพได้ และอย่างที่สามคือทำสิ่งที่โลกต้องการและเป็นสิ่งที่เราทำได้ดี ข้อสุดท้ายเนี่ย ญี่ปุ่นสุดๆ ถ้าเราชอบ เรารักแต่ทำได้ไม่ดี อย่าทำ เพราะมันอาจเป็นปัญหาให้คนอื่นด้วย ทำสิ่งที่รักและทำได้ดี ซึ่งก็คือหลัก Put the right man on the right job. นั่นเอง”

กิจการร้านหอมปากหอมคอไปได้ดี แต่อรชค้นพบว่ามันยังไม่ใช่สิ่งที่เธอตามหา “เราเห็นพ่อทำงานด้านวิจัยท้องถิ่นมาตลอด ดังนั้น แนวคิดในการทำงานที่ก้าวพ้นตัวเองออกไปจึงถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กโดยไม่รู้ตัว ทำงานวัฒนธรรมที่กรุงเทพฯ เป็นงานที่รักแต่ไม่ได้อยู่ในบ้านที่รัก ทำงานโรงแรมหาเลี้ยงชีพได้แต่ไม่ใช่งานที่รัก ทำร้านขนมเป็นงานที่รักหาเลี้ยงชีพได้แต่ไม่ได้คิดต่อไปถึงคนอื่น ชีวิตในโลกนี้ ถ้าเราคิดถึงคนอื่นบ้าง ไม่ใช่แค่ตัวเอง ทุกอย่างมันจะดีกว่านี้เยอะเลย

“ระหว่างขายขนม เราเลยเอาเงิน เอากำไรที่ได้ไปทำงานวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่” อรชเล่าอย่างกระตือรือร้น

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

07

ขับเคลื่อนเชียงใหม่ด้วยเครื่องหมายบวก

อรชบอกว่า เธอเชื่อในการทำงานเล็ก ลึก และเนี้ยบ เธอเริ่มทำโปรเจกต์ในนามกลุ่มคนเมืองเมือง ที่พูดถึงความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมเชียงใหม่ ซึ่งชวนกลุ่มเพื่อนสถาปัตย์กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง หลังต่างคนต่างแยกย้ายกันไปผจญภัยในเส้นทางของตัวเองอยู่หลายปี เพื่อร่วมกันทำโปรเจกต์ชุบชูใจที่สร้างแรงกระเพื่อมอะไรบางอย่างให้สังคม 

“เราไปจัดงานเมืองเมืองกันที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ใจกลางถนนคนเดินวันอาทิตย์ เป็นงานวัฒนธรรมเล็กๆ ที่ดึงคนเข้ามานั่งเสื่อทานลูกชิ้น ฟังดนตรีดีๆ ดูนิทรรศการเรื่องบ้านเมืองอย่างไม่ยัดเยียด เวลาไปทำงานจะเห็นว่าแต่ละอาทิตย์มีขยะเยอะมาก โดยเฉพาะภาชนะพลาสติกและโฟม เพื่อนคนที่ริเริ่มโปรเจ็คต์สิ่งแวดล้อม เคยไปเดินดูหลังเลิกงานตีหนึ่งถึงตีห้า โอ้โห ขยะเกลื่อน ทุกวันอาทิตย์เชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตโฟมที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ แล้วขยะพวกนั้นก็มีทางไปต่อแค่ทางเดียว คือขนไปเผาที่พิษณุโลก

“มันไม่สมเหตุสมผลเลยที่เราเดินรื่นรมย์กันแค่ห้านาที แต่ทิ้งขยะให้โลกไปอีกสองพันปี นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของโปรเจกต์ no foam for food ที่เราทำกันเอง เพื่อเปลี่ยนการใช้ภาชนะโฟมและพลาสติกมาเป็นวัสดุย่อยสลายได้ อย่างชานอ้อย ใบตอง และกระดาษ”

โปรเจกต์เริ่มต้นที่ถนนคนเดินวัดพันอ้นบนถนนคนเดิน ซึ่งเจ้าอาวาสท่านร่วมด้วยอย่างแข็งขัน ใครเปลี่ยนมาใช้วัสดุย่อยสลายไม่ได้ ก็ไม่ต้องมาขายในอาณาเขตวัด และทำระบบแยกขยะแต่ละประเภทออกจากกันอย่างจริงจัง เพื่อหาทางไปต่อให้ขยะทุกชนิด เศษอาหารกับเศษชานอ้อยเอาไปทำปุ๋ยหมัก ขวดพลาสติกก็นำไปรีไซเคิล 

“เราทำงานเชิงบวก คือแทนที่จะไปว่าคนที่ยังไม่เลิกใช้โฟม ก็มาสนับสนุนให้คนใช้ชานอ้อยแทน เขาไม่เปลี่ยนเพราะอะไร ตอนนั้นโฟมราคายี่สิบห้าสตางค์ แต่ชานอ้อยราคาห้าบาท ถ้าอยากให้เขาเปลี่ยน แทนที่จะไปตะโกนเย้วๆ หรือบีบบังคับกัน เราต้องจัดการกลไกราคาให้ถูกลง เพื่อนเราเลยติดต่อคุณหมอวีระฉัตร (นายแพทย์วีรฉัตร กิตติรัตน์ไพบูลย์) เจ้าของโรงงานผลิตภาชนะชานอ้อย สุดท้ายเขาลดราคาลงให้เกือบครึ่ง จนทุกวันนี้ผ่านมาจะสิบปี พ่อค้าแม่ค้าที่ถนนคนเดินวัดพันอ้นก็ยังซื้อภาชนะชานอ้อยในราคานี้ เค้าเรียกราคาโนโฟม”

เมื่อผลลัพธ์ปรากฏชัดเป็นรูปธรรม ผู้คนก็เห็นความเป็นไปได้ที่มากขึ้น จนวันหนึ่งรุ่นพี่นักกิจกรรมอย่างเครือข่ายเชียงใหม่เขียว สวย หอม และหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ก็จูงมืออรชไปพบนายกเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ เพื่อขยายโปรเจกต์นี้ให้ครอบคลุมถนนคนเดินเชียงใหม่ทั้งสาย ที่มีร้านค้าอยู่หลายร้อยร้าน

การทำงานกับคนกลุ่มใหญ่ขึ้น ทำให้อรชต้องงัดสารพัดเทคนิคที่ได้เรียนรู้ตลอดชีวิตการทำงานมาใช้ “ความเข้าใจในระบบงานราชการถูกงัดขึ้นมาใช้หมดเลย เราต้องทำให้เขาเห็นภาพใหญ่ให้ได้ว่า การเปลี่ยนภาชนะโฟม พลาสติก เป็นภาชนะย่อยสลายได้มันสร้างอิมแพ็กยังไง ชาวต่างชาติจะประทับใจในความใส่ใจ และเราจะได้นักท่องเที่ยวกลุ่มไหนเพิ่มเข้ามา 

“ท่านนายกฯ คะ ถ้าโครงการถนนคนเดินเชียงใหม่โนโฟมสำเร็จนี่ เราจะเป็นต้นแบบและส่งไปประกวดที่ไหนก็ได้ เทรนด์รักษ์โลกกำลังมานะคะ” นี่คือการทำงานกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในพื้นที่ถนนคนเดิน เหมือนเจ้าอาวาสในวัดพันอ้น

“วิธีทางการทูตก็ใช้ได้ผล เราผลิตป้ายเล็กๆ เขียนชัดเจนว่า ร้านนี้ No Foam เชิญให้นายกเทศมนตรีเดินแจกพ่อค้าแม่ค้าติดไว้หน้าร้าน ระหว่างเดินแจกก็ตามถ่ายรูปไว้เหมือนเป็นคำมั่นสัญญา ถือเป็นผลงานของเทศบาลนครเชียงใหม่ ในทางกติกา ถ้าจับได้ว่ามีการใช้โฟมหนึ่งครั้ง จะโดนใบเหลืองหนึ่งใบ ครบสามใบเมื่อไหร่โดนใบแดง หมายถึงห้ามขายอีกต่อไป ซึ่งเราก็ต้องทำงานกับพี่ๆเจ้าหน้าที่เทศกิจในการช่วยสอดส่องด้วย”

เช่นเดียวกับ Working Woman ที่อรชเคยทำงานด้วย เธออบขนมทุกวันไปพร้อมๆ กับทำโปรเจกต์ no foam for food เธอเล่าอย่างติดตลกว่า แม้จะท้องโย้ใกล้คลอด แต่เธอก็ยังสนุกกับการลงพื้นที่ไปดูแลความคืบหน้าของโปรเจกต์ที่กำลังเติบโตอย่างสม่ำเสมอทุกอาทิตย์

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

08

รถไฟฟ้าใต้ดินเชียงใหม่กับการสื่อสาร

อรช ยังเป็นหนึ่งในทีมประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ของโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคมที่ทำร่วมกับคณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งป็นจุดเริ่มต้นให้เชียงใหม่จะมีรถไฟฟ้าใต้ดินผสมบนดินใช้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

“เราต้องทำการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น จัดการประชุมกลุ่มย่อยที่ไม่ได้จัดใน มช. เหมือนที่เคยทำมา แต่เวียนไปจัดตามที่ที่ชุมชนใช้อยู่แล้ว ในศาลาวัด ในคริสตจักร ในที่ว่าการอำเภอ มันคือท่าทีของเรานะที่เข้าหาเค้า ทำให้มีคนเข้าร่วมมากเกินคาด และให้ความร่วมมือช่วยกันขีดเขียนเส้นทางรถไฟฟ้าที่พวกเขาอยากได้ และบอกข้อกังวลให้เราบันทึกไว้”

เพราะเป็นงานระดับเมือง คนทั้งเมืองเป็นผู้เกี่ยวข้อง อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกันของคนทั้งเมือง

“ความสนุกและท้าทายคือ ทีมเราต้องแปลภาษาวิศวะยากๆ ให้เป็นภาษาที่คนเข้าใจง่าย ทำเรื่องระบบรถต่างๆ เป็นการ์ตูน อธิบายให้เห็นภาพโครงการชัดเจนว่าตอนนี้อยู่ขั้นไหนจะไปที่ไหนต่อ ปิดท้ายด้วยการทำคลิปวีดีโอที่มีตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี นักวิชาการ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม กรมศิลป์ นักเรียน นักท่องเที่ยว คนทั่วไป เพื่อสื่อสารและสะท้อนเสียงของคนเชียงใหม่ไปยังส่วนกลาง”

09

วิถีชีวิตที่มีทางเลือก

วัฒนธรรมคือวิถีชีวิต และบทสนทนากับอรชที่ร้านหอมปากหอมคอในช่วงบ่ายใต้ร่มฉำฉา ทำให้เราเชื่อว่าวิถีชีวิตมีหลากทางเลือก เธอคือตัวตั้งตัวตีในการเชื่อมเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ กับผู้บริโภคในเมืองเชียงใหม่ที่ต้องการหาทางเลือกที่ดีกว่าในการกินเข้าด้วยกัน

“เราอยากอยู่ในโลกที่สิ่งแวดล้อมดีขึ้น อยากกินของดีที่ปลอดภัย เพราะเริ่มตั้งท้องลูกคนแรก แต่ด้วยความเป็นนักกิจกรรม กินอย่างเดียวไม่ได้ พอสนใจอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้ว สัญชาตญาณบอกให้เชื่อมเครือข่าย เพื่อขยับขยายให้แนวคิดที่เราคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีกับตัวเอง คนรอบข้าง และสังคมแข็งแรงขึ้น เลยไปจับมือกับเครือข่ายเขียว สวย หอมอีกครั้ง เพื่อผลักดันโปรเจกต์เกษตรอินทรีย์”

อรชร่วมก่อตั้งร้านฮักเวียงช็อป แพลตฟอร์มกิจการเพื่อสังคม ที่ขายผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษ จากร้านที่เปิดได้หนึ่งปีและปิดไป ต่อยอดจริงจังไปถึงตลาดนัดอินทรีย์เล็กๆ ที่เธอชวนเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์มาเปิดกันอย่างคึกคัก พร้อมกับกระแสเกษตรอินทรีย์เติบโตอย่างรวดเร็ว

“พืชที่ตลาดอินทรีย์ในเชียงใหม่ไม่ได้แพงอย่างที่กรุงเทพฯ ราคาเท่าผักทั่วไปในตลาดสด เพราะเกษตรกรอินทรีย์ที่เชียงใหม่ส่วนใหญ่ปลูกให้ตัวเองกินก่อน เหลือจึงค่อยขาย ทำจริงจังอยู่ร่วมปี ปรากฏว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มหลายหมื่นบาทต่อเดือน” อรชเล่ายิ้มๆ

วันหนึ่งอรชกับทีมฮักเวียงช็อปได้ไปดูงานที่สามพรานโมเดล ได้พบพี่โอ-อรุษ นวราช และโปรเจกต์ Farm to Fuction ที่ขยายเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และผู้บริโภคให้ใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการองค์การมหาชน (TCEB) นำผลผลิตอินทรีย์จากแปลงมาสู่งานฟังก์ชัน อย่างงานประชุมสัมมนา นิทรรศการ หรือประชุมวิชาการนานาชาติ

“พี่โอเป็นคนแรกๆ ที่เอาข้าวอินทรีย์จากอีสาน ผักผลไม้อินทรีย์ของคุณลุงคุณป้ามาเข้าโรงแรม มีป้ายบอกชื่อคนปลูกและสวน สร้างจุดขายใหม่ๆ ให้โรงแรม ดร.จุฑา ธาราไชย ผู้อำนวยการสำนักงานภาคเหนือของ TCEB ขณะนี้ เลยเสนอให้เราเชิญพี่โอมาคุยเรื่อง Farm to function ที่เชียงใหม่ เราได้เชิญโรงแรมร้านอาหารและเกษตรกรอินทรีย์มาคุยกัน มีจัดเลี้ยงอาหารอินทรีย์ใช้วัตถุดิบพื้นบ้าน รสชาติอร่อยและสวยงาม จากอาหารมื้อนั้น ทำให้ทางสามพรานโมเดล เห็นศักยภาพของเมืองเชียงใหม่ว่ามีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำครบ เลยเลือกเชียงใหม่เป็นพื้นที่นำร่อง กลายเป็นเจียงใหม่ออร์แกนิก

กลุ่มเจียงใหม่ออร์แกนิกขับเคลื่อนเรื่อง Organic Tourism กับสามพรานโมเดล โดยรวมผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้ผลิตหลายเครือข่ายเข้าไว้ด้วยกัน มันคือการท่องเที่ยวที่เกาะเกี่ยวไปกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด อรชยกตัวอย่างหนึ่งในทริปที่เธอจัด กับการพาเหล่าเชฟและผู้ประกอบการลงแปลงผัก เข้าป่าเชียงดาวเพื่อเสาะหาวัตถุดิบ จากนั้นมานำมาปรุงเป็นอาหาร Chef’s Table อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในปัจจุบัน ต้นแบบโมเดลมาจาก Organic Tourism นี่เอง

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

10

ความสำเร็จของภาคประชาชน 

อรชเป็นหนึ่งในสมาชิกของภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวที่ดูแลเพจ เรารักดอยหลวงเชียงดาว มีแฟนเพจเกือบหมื่นคน 

คนเล็กๆ กลุ่มนี้เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน เริ่มด้วยการทักท้วงโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นยอดดอยหลวง ซึ่งรับไม้ต่อมาจากลุงป้าน้าอารุ่นใหญ่ที่คัดค้านมาหลายปี โดยเคลื่อนไหวเชิงบวก รณรงค์ให้คนรักและหวงแหนดอยหลวงเชียงดาว ชูให้เห็นคุณค่าและความสำคัญของธรรมชาติ โดยมีการจัดนิทรรศการ การทำหนังสือ ทำเพลง จัดเวทีพูดคุยต่างๆ 

ปีที่แล้ว ดอยหลวงเชียงดาวประสบวิกฤตไฟป่ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าผืนป่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นที่ที่พิเศษมาก มีความหลากหลายทางธรรมชาติสูง เพราะเป็นภูเขาหินปูนปลายเทือกเขาหิมาลัยในเขตร้อน สภาพภูมิประเทศและอากาศเอื้อต่อความอุดมสมบูรณ์ พันธุ์พืชในไทย 20 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่นี่ และมีพืชเฉพาะถิ่น (Endemic) หมายถึงพืชที่พบได้ที่นี่และไม่มีที่อื่นในโลกอยู่ถึง 50 ชนิด 

ไฟป่าจึงไม่ได้แค่สร้างปัญหาฝุ่นพิษ แต่ที่ใหญ่โตพอกัน คือมันทำลายความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณที่ส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งระบบ

“พอรับรู้ถึงความรุนแรงของไฟป่า ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวก็รีบเปิดระดมทุนกับกลุ่มม่วนใจ๋ อย่างแรก ด่วนที่สุด เราก็เอาไปซื้ออุปกรณ์สนับสนุนการทำงาน หน้ากาก สายยาง เครื่องเป่าลมของเจ้าหน้าที่และชาวบ้านบนดอยที่อยู่หน้าไฟ เพื่อดับไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

“การทำงานหน้าไฟสำคัญ แต่ช่วงเวลาที่ไม่มีไฟสำคัญกว่า ภาคีทำงานระยะยาว ปีที่แล้วพอไฟไหม้หนักขึ้นไปถึงทุกยอดดอย กรมอุทยานเลยประกาศปิดดอยหลวงเชียงดาวให้ธรรมชาติฟื้นฟู ภาคีเลยอาศัยเวลาทองนี้ ทำงานกระบวนการกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ท้องถิ่น อาสาสมัครและชุมชน พยายามพูดคุยทำความเข้าใจเรื่องการดูแลป่า พื้นที่ป่าชุมชน การจัดการเชื้อเพลิง เปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เป็นปัญหา เพราะต้องเผาแล้วไฟลามไปในผืนป่าเป็นการปลูกพืชอินทรีย์ ทำกองทุนหมู่บ้านที่ดูแลป่าต้นน้ำ ภาคีทำงานขับเคลื่อนมากมายใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ในพื้นทีี่ทั้งปีและเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนของสถานการณ์ไฟป่าในปีนี้ ที่เกิดช้ากว่าปกติไปถึงสองเดือน และเกิดน้อยลงมาก” อรชเล่าอย่างภูมิใจ

ตอนนี้ภาคีได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และเป็นหนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่าร่วมกับภาคส่วนอื่นๆในเชียงใหม่ อรชบอกว่าสำหรับเธอ นี่คือความสำเร็จของภาคประชาชน 

และข่าวดีล่าสุด คือคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดอยหลวงเชียงดาวขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลหรือ Biosphere Reserve Area ที่อรชอธิบายว่า เป็นเหมือนมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่จะยิ่งทำให้ปราการดูแลดอยหลวงเชียงดาวแน่นหนาขึ้น 

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

11

เมืองที่ขับเคลื่อนด้วย MICE

บทบาทล่าสุดของอรช น่าสนใจและชวนตื่นเต้นถึงผลลัพธ์ในอนาคตมาก นั่นคือการเป็นผู้แทนสำนักภาคเหนือของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ที่เธอได้ใช้ประสบการณ์และเครือข่ายการทำงานทั้งชีวิต มาหลอมรวมเป็นงานขับเคลื่อนเมืองด้วย MICE (Meetings, Incentive, Conventions และ Exhibitions)

“หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าการจัดประชุมหรือนิทรรศการนั้นเคลื่อนเมืองได้ยังไง สำหรับเรา MICE คือเครื่องมือในการได้มาซึ่งคุณค่าบางอย่างให้กับคนและเมือง เช่น จัดประชุมวิชาการให้ได้องค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ๆ จัดประชุมองค์กรเพื่อพัฒนาศักยภาพคน จัดงานแสดงสินค้ายกระดับเศรษฐกิจ งานเทศกาลศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เชื่อมเครือข่ายให้เมืองมีภาพลักษณ์ที่ชัดเจนขึ้น

“และภายหลังนักเดินทาง MICE ก็จะได้ประโยชน์ในห่วงโซ่คุณค่านั้น เพราะเมืองมีต้นทุนที่ดีขึ้น มีกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม มีพื้นที่ทำกิจกรรม team building, CSR มากขึ้น มีแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่หลากหลาย มีเวิร์คช็อปดีๆ จากพ่อครูแม่ครูภูมิปัญญาตัวจริง ได้ใช้ผลผลิตจากเกษตรกรในโรงแรมร้านอาหาร

“เราไม่ศรัทธาในงานที่ทำปีละสามวัน ห้าวันแล้วจบ ดังนั้น งาน MICE ที่เราทำ จึงไม่ใช่แค่การจัดประชุมในห้องประชุม หรือจัดอีเวนท์ใหญ่ๆที่จัดเสร็จแล้วแยกย้าย แต่เรากำลังทำสิ่งที่ลึกและกว้างกว่านั้นมาก นั่นคือการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้คน ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดนวัตกรรมความรู้ใหม่ๆ และเกิดส่งต่อสืบทอดต่อไปให้คนรุ่นใหม่ ทั้งระหว่างบุคคล ชุมชน ประเทศและโลก แปลว่าในการทำงานทุกครั้ง จะต้องให้เกิดคุณค่าหรือมรดกบางอย่าง (Legacy) ให้กับเมืองอย่างถาวร”

“มากไปกว่านั้นคือทุกครั้งที่ TCEB หมายมั่นจะจัดงานระดับนานาชาติ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้พร้อมรองรับงานที่จะเกิดขึ้น เครือข่ายผู้คนก็ต้องเตรียมพร้อม พัฒนาเมืองจากต้นทุนที่มีอยู่ ทำงานอย่างต่อเนื่องและมีจุดหมาย สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อเมืองอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นสำหรับเรานี่คืออีกทางในการผลักดันเมืองอย่างยั่งยืน”

12

ส่งต่อโลกที่ดีให้คนรุ่นถัดไป

“เราเลี้ยงลูกแบบไม่ให้กินยาเลย บ้านเราเชื่อในพลังของธรรมชาติ เพราะเรากินอย่างมีสมดุล กินของอินทรีย์ ทุกครั้งที่ลูกป่วยเป็นไข้ เรารู้ว่าร่างกายเขากำลังสู้กับเชื้อโรคอยู่ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเพื่อทำให้เชื้อโรคตาย ไม่ต้องกินยาลดไข้ เพราะมันเป็นแค่การลดอุณหภูมิ ไม่ได้ทำให้เชื้อโรคตาย ตัวร้อนมากๆ มีโอกาสชัก ร่างกายมนุษย์จะชักเมื่อขาดน้ำ งั้นก็ดื่มน้ำบ่อยๆ กินผลไม้วิตามินซีสูง นอนเยอะๆ ออกกำลัง ลูกเราเคยเป็นไข้หวัดสายพันธุ์อะไรมาบ้างไหมไม่รู้ เพราะไม่เคยไปตรวจ ปล่อยให้ร่างกายเยียวยาตัวเอง อย่างมาก 3-4 วันก็หาย เป็นแม่ที่จิตแข็งเนอะ” อรชเล่าประสบการณ์​เลี้ยงลูกชาย​ 2 คนให้ฟังแบบสบายๆ

10 กว่าปีของการกลับบ้านมาทำงานผลักดันวัฒนธรรมและสิ่งล้อม บางโปรเจกต์เป็นผู้นำ บางโปรเจกต์เป็นผู้ตาม สิ่งสำคัญไม่ใช่การได้ออกหน้า อรชไม่เคยสนใจว่าใครจะรู้จักเธอหรือไม่ เงื่อนไขสำคัญของหญิงแกร่งคนนี้ ขอเพียงงานเห็นผลลัพธ์เป็นที่ประจักษ์ 

“เชียงใหม่มีกลุ่มคนตัวเล็กที่กำลังผลักดันเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่มากมาย ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมต่างคนต่างทำ ทำไมไม่มารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ในฐานะคนทำงาน เรื่องทางใจสำคัญมากสำหรับงานลักษณะนี้ที่เป็นงานกึ่งอาสาสมัคร บางคนก็ได้ค่าตอบแทนบ้าง แต่สำหรับเรา งานสิ่งแวดล้อมนี้เราทำฟรีไม่รับเงิน ตัวเราเองและคนอื่นๆ ล้วนทำด้วยใจที่อยากจะเห็นโลกใบนี้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคลิกกัน เคมีการทำงานตรงกันไปหมด แต่ละกลุ่มก็มีแนวคิด มีรูปแบบ และธรรมชาติของตัวเอง ถ้าต่างคนต่างทำแล้วได้ประสิทธิภาพมากกว่า ก็อาจจะเป็นผลดีในองค์รวมมากกว่า

“สำคัญคือต้องทำแล้วไม่เบียดเบียนตัวเอง รู้ว่าทางตันของการผลักดันนี้อยู่ตรงไหน ถึงจุดไหนที่ฉันอาจจะต้องปล่อยวาง เพื่อไม่ให้การทำงานมีผลกระทบกับชีวิตส่วนอื่น ทำเท่าที่ไหว สิ่งที่พาเรามาจนถึงทุกวันนี้ได้โดยไม่สติแตกไปเสียก่อน คือความเป็นคนคิดบวก คำพูดติดปากคือ ‘มันไม่ใช่ปัญหาหรอก’ อะไรแก้ได้ก็ทำ อะไรที่แก้ไม่ได้ก็ปล่อย แต่ก็ต้องระวัง เพราะการคิดบวก กับการหลอกตัวเอง มันใกล้กันนิดเดียว

“เราไม่เคยกลัวอะไรเลย ไม่กลัวการเริ่มต้นใหม่ ไม่กลัวการทำสิ่งที่ไม่เคยทำ และไม่คิดเคยว่าถ้ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องทำยังไงไปก่อน ลุยไปเลยสิ ถ้าทำไม่ได้ ก็ไม่ได้ แค่นั้นเอง แต่ต้องถามตัวเองว่าเต็มที่หรือยัง เราเป็นคนเชื่อในจังหวะชีวิตน่ะ และมั่นใจในทางที่เลือกเดิน เราเชื่อว่าชีวิตมันจะนำพาไปเอง” เธอเอ่ยยิ้มๆ

ทุกสิ่งที่ทำ ก็เพื่อส่งต่อโลกที่ดีให้คนรุ่นถัดไป “เราสอนลูกให้เข้าใจว่าธรรมชาติเชื่อมโยงกับชีวิตยังไง และสอนให้มีความสุขได้ง่ายๆ จากเรื่องง่ายๆ ตื่นเช้ามา เฮ้ย วันนี้อากาศดีแฮปปี้จังเลย ช่วงที่มีฝุ่นควัน ท้องฟ้าอึมครึมไม่สดใส แต่อย่างน้อยเราก็มีเครื่องฟอกอากาศ พูดคำว่า ‘อย่างน้อย’ ให้เยอะ และพูดคำว่า ‘รู้อย่างนี้’ ให้น้อย แล้วคุณจะ Appreciate กับการมีชีวิตมากขึ้น”

อรช บุญหลง นักเคลื่อนไหวผู้ทำให้วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่จับต้องได้และยั่งยืน

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล