ท้องฟ้าสลัวใกล้พลบค่ำแล้ว ที่มุมห้องรับแขกบนชั้นวางหนังสือ มีตู้ปลาตู้เล็กวางอยู่ แสงไฟจากโคมไฟด้านบนส่องให้เห็นน้ำใสเป็นประกาย สีเขียวสดของใบไม้สะท้อนออกมาเย็นตา เมื่อมองเข้าไปใกล้ ปลาซิวตัวน้อยกำลังแหวกว่ายไปตอดตะไคร่ทางโน้นทีทางนั้นที เวลามองนานๆ เข้าไปตู้กระจกที่บรรจุน้ำใสและต้นไม้เขียว
ในเมืองอันวุ่นวาย ท่ามกลางความยุ่งยากของงานที่ทำ หรือในอารมณ์ขุ่นมัวเพราะบางอย่างอาจไม่เป็นใจ ตู้ปลาตู้เล็กๆ บนโต๊ะทำงานอาจจะเป็นแสงสว่างที่ชวนให้ละสายตามามองเพื่อพักและวางไว้ซึ่งความอ่อนล้า หรือสำหรับบางคนที่เต็มไปด้วยความดีใจปลื้มปริ่มสดใส ตู้ปลาตู้น้อยบนชั้นหนังสือก็อาจช่วยทำให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่ไม่ยอมจะแลกกับใครอีกแล้ว

การปลูกต้นไม้ในตู้ปลาหรือที่เรียกว่า ‘ตู้ต้นไม้น้ำ’ อาจฟังดูเหมือนเป็น ‘งานอดิเรก’ สุดล้ำสำหรับคนที่ดื่มด่ำกับการเลี้ยงปลาเลี้ยงต้นไม้ แต่นั่นอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ใช่ เพราะตู้ต้นไม้น้ำตู้เล็กๆ ที่ใครอาจสนใจนำมาดูแลไว้ที่บ้านหรือบนโต๊ะทำงาน สามารถเป็น ‘วิถีชีวิต’ แบบง่ายๆ ที่ไม่ต้องคิดกังวลว่าจะต้องรับเป็นภาระดูแล หรือต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินหลายพันเพื่อแลกกับความสนุกเช่นนี้

จำลองธรรมชาติมาไว้ในตู้ปลา
จริงๆ แล้ว ตู้ต้นไม้น้ำคือการจำลองธรรมชาติในบ่อน้ำ ลำธาร หนอง คลอง บึงเล็กๆ มาไว้ในตู้ การทำตู้ต้นไม้น้ำที่ดีไม่ยาก แต่ต้องเข้าใจระบบนิเวศพื้นฐานของธรรมชาติในน้ำให้ดีเสียก่อน
ต้นไม้น้ำก็ไม่ต่างจากต้นไม้ที่เราเห็นอยู่ตามริมทาง อาจจะดูคล้ายกับวัชพืชต้นเล็กๆ หรือพงหญ้าข้างทางมากกว่าต้นไม้ต้นใหญ่ลำต้นแข็งแรง
ต้นไม้น้ำอยู่ในน้ำแทนที่จะเป็นอากาศเหมือนต้นไม้บนบก ต้นไม้บนบกไม่สามารถนำมาแช่น้ำนานๆ ได้เหมือนกัน อาจจะต้องระวังร้านขายปลาที่มักนำต้นไม้บนบกที่ทนน้ำได้นานมาขายเป็นต้นไม้น้ำ

ตู้สำหรับเลี้ยงต้นไม้น้ำควรเป็นตู้กระจก ขนาดประมาณ 16 – 20 นิ้ว ซึ่งมีขายเดี่ยวๆ ในราคาไม่ถึง 500 บาทในท้องตลาด สมัยนี้ก็ยังมีตู้ปลาที่มาพร้อมกับโคมไฟและเครื่องกรองน้ำ จะลองใช้แบบนั้นก็ได้ไม่ว่ากัน
ต้นไม้ในน้ำต้องการแสงสว่างและคาร์บอนไดออกไซด์ใช้สังเคราะห์แสงเพื่อเติบโต เราสามารถจำลองแสงแดดด้วยโคมไฟสมัยใหม่ที่มีแสงใกล้เคียงกับแสงธรรมชาติ โคมไฟตู้ปลาสมัยใหม่ทำเป็น LED ตัวเล็กและราคาหลักร้อยถึงพันบาท
ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 มีอยู่ในอากาศและซึมเข้าผ่านผิวน้ำลงไป เพียงแต่ต้องให้มีการหมุนเวียนของน้ำ แม้อาจจะมีจำนวนก๊าซ CO2 ไม่มากหากปลูกต้นไม้หนาแน่น แต่ผมก็ชอบวิธีง่ายๆ บ้านๆ เช่นนี้มากกว่าวิธีอื่นใด บางคนอาจลงทุนด้วยการซื้อก๊าซ CO2 อัดถังคล้ายถังดับเพลิงมาปล่อยเป็นฟองฝอย คนที่สนใจจะลองหมักยีสต์กับน้ำเชื่อมเพื่อให้คายก๊าซ CO2 ออกมาสำหรับต้นไม้ในตู้ก็ได้ วิธีการทำหาในอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายด้วยการค้นหาว่า ‘DIY yeast CO2’


ต้นไม้ต้องการน้ำที่ไหลเวียนและใสสะอาด ซึ่งเราสามารถจำลองด้วยการใช้อุปกรณ์สำหรับกรองน้ำ มีทั้งแบบแขวนอยู่ข้างตู้ แบบเป็นถังอยู่นอกตู้ หรือเป็นฟองน้ำพร้อมปั๊มอยู่ในตู้ อุปกรณ์กรองน้ำนอกจากทำให้น้ำสะอาดผ่านวัสดุกรองที่เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียชนิดดี ที่ช่วยกำจัดของเสียทั้งของปลาและเศษเน่าเปื่อยของใบไม้แล้ว ยังช่วยทำให้น้ำมีการไหลเวียน มีการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อประโยชน์ของสิ่งมีชีวิตและต้นไม้ด้วย
ต้นไม้น้ำต้องการดินหรือกรวดเพื่อให้รากชอนไชยึดลำต้นให้อยู่กับที่และเพื่อดูดหาอาหาร ดินสำหรับปลูกต้นไม้มีแบบสำเร็จรูปที่เป็นดินอัดเป็นก้อนเล็ก หรือหากจะใช้กรวดทรายหยาบสักหน่อยก็เป็นได้
ในตู้ต้นไม้น้ำของเราก็อาจจะมีกิ่งไม้แห้ง หิน หรือกรวดอื่นๆ เพื่อใช้ประดับประดาก็ได้
จัดตู้แบบง่ายๆ
ตู้ต้นไม้น้ำที่จัดง่ายที่สุดเห็นจะเป็นตู้ต้นไม้ที่พยายามเลียนแบบธรรมชาติให้ดีที่สุด
การเลือกใช้ต้นไม้น้ำ ก็อาจเลือกใช้ต้นไม้ที่พบในเมืองไทยหรือในเขตร้อนใกล้เคียง ที่ง่ายๆ เห็นจะเป็นต้นไม้จำพวกต้นอุตพิดหิน (Cryptocoryne) ที่มีหลากหลายชนิด ต่างรูปลักษณ์ สี และขนาดของใบ เฟิร์นน้ำหรือมอสที่ไม่ต้องการแสงและก๊าซ CO2 มาก

ผมขอให้ เพชร-ชลทรัพย์ วรวิชาน น้องรักผู้คร่ำหวอดในการจัดตู้ต้นไม้น้ำช่วยจัดตู้ให้แฟนๆ The Cloud โดยให้โจทย์ไปว่า ให้จัดตู้ต้นไม้น้ำเล็กๆ ดูแลง่ายๆ เหมือนธรรมชาติที่เห็นในลำธารหรือทุ่งน้ำท่วมของเมืองไทยให้มากที่สุด

1 – 5 ขั้นตอนการจัดตู้ต้นไม้น้ำมีดังนี้
1. ล้างตู้ให้สะอาด วางไว้บนชั้นที่มั่นใจว่าแข็งแรงพอ แล้วใส่ดินหรือกรวดที่พื้นตู้ ประดับด้วยกิ่งไม้และหิน


2. ใช้ปากคีบหนีบต้นไม้ที่รากและกดลงปลูกในดินหรือกรวด ในระหว่างปลูกต้นไม้ในตู้ อาจใช้สเปรย์พ่นละอองน้ำเพื่อไม่ให้ต้นไม้ใบไม้แห้ง


3. เมื่อเสร็จแล้ว ค่อยๆ เติมน้ำให้เต็มตู้ โดยอาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือถุงพลาสติกวางไว้บนตู้ เพื่อรองน้ำที่เท หรือใช้สายยางใส่ลงไป ป้องกันไม่ให้น้ำกวนฝุ่นขึ้นมา

4. วางโคมไฟและที่กรองน้ำ เราอาจใช้สวิตช์ตั้งเวลาเปิดโคมไฟวันหนึ่ง 6 – 8 ชั่วโมง เพื่อเลียนแบบเวลาพระอาทิตยขึ้นและพระอาทิตย์ตก
5. ปล่อยให้ตู้ผ่านไปสัก 3 – 4 วัน แล้วจึงใส่ปลาตัวเล็กๆ ลงไป
ในช่วงแรกน้ำอาจจะยังขุ่น ต้นไม้อาจจะใบเหี่ยวและใบหลุด แต่ยังไม่ต้องตกใจ เมื่อเวลาผ่านไป 1 – 2 สัปดาห์ น้ำก็จะใสขึ้น ต้นไม้ก็จะเริ่มแตกใบและเติบโต

ดูแลแบบไม่ต้องวุ่นวาย
การดูแลที่จำเป็นที่สุด คือการให้อาหารปลาอย่างพอดีและการเติมน้ำที่ระเหยออกไป
เมื่อเราจ้องมองตู้ต้นไม้น้ำของเราทุกวัน เราจะเห็นความแตกต่าง การเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่คนที่มีตู้ต้นไม้น้ำเล็กๆ ที่บ้านหรือที่ทำงานเช่นเราพึงจะมีแล้ว

บางคนนั่งอยู่หน้าตู้ต้นไม้น้ำได้เป็นชั่วโมงๆ สายตาจดจ้องดูใบไม้ที่พลิ้วไหวไปตามกระแสน้ำ หรือชมปลาตัวเล็กๆ กล้าๆ กลัวๆ ว่ายขึ้นฮุบกินอาหารปลา
เวลานิ่งๆ เงียบๆ แบบนี้แม้หาได้ไม่ง่าย แต่เชื่อขนมกินได้ว่า ถ้าอยู่หน้าตู้ต้นไม้น้ำแล้วล่ะก็ ไม่ยากเลย

รายชื่อต้นไม้ในตู้ที่จัดเป็นตัวอย่าง
- อุดพิตหินหรือคริป Cryptocoryne wendtii ‘Green’, Cryptocoryne wendtii ‘Tropica’ และ Cryptocoryne parva
- เฟิร์น Microsorum pteropus ‘narrow leaf’ และ Bolbitis heudelotii
- มอส Vesicularia montagnei
- ไม้บก Persicaria sp.
- เฟิร์นฟ้า Convolvulus sabatius
- ปลาข้าวสาร Oryzias javanicus
- กุ้ง Caridina babaulti