ด้วยคุณสมบัติ ทองเหลืองคือวัสดุอันแข็งกร้าว เป็นโลหะที่ได้ชื่อว่าแกร่งสุดในยุคสำริด

ด้วยการออกแบบ ทองเหลืองกลายเป็นเครื่องเรือนชิ้นงามที่โอนอ่อนพลิ้วไหว แต่ยังซ่อนความมั่นคงไว้ภายใน ผ่านฝีมือ วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design ผู้พลิกคุณสมบัติทางสายตาของวัสดุไปอย่างสิ้นเชิง แปรเปลี่ยนให้เหนือชั้นกว่าฟังก์ชันที่มี

ปัจจุบัน อภิวัฒน์เป็นที่รู้จักในฐานะดีไซเนอร์ประจำแบรนด์ MASAYA แต่ก่อนหน้านี้ เขาร่วมงานกับบริษัทต่างชาติอย่าง Alexander Lamont, Restrogen ทำงานตกแต่งผนังกับ Zen Forum ให้ Philips Collection ร่วมงานออกแบบกับแบรนด์ไทย ทั้ง Deesawat และ Prempracha รวมถึงกระโดดไปทำงานจิวเวลรี่กับ Nova Collection อีกด้วย

ตลอดเส้นทางดีไซเนอร์ อภิวัฒน์ยังพาผลงานไปอวดโฉมตามเทศกาลงานดีไซน์ทั่วโลก ตั้งแต่งาน Maison&Objet ที่ปารีส Bologna Design Week ประเทศอิตาลี Good Design Exhibition ณ กรุงโตเกียว London Design Festival ในอังกฤษ เป็นต้น กวาดรางวัลทั้งเวทีไทยและเทศมากมาย ชนิดที่ว่าถ้าหากให้ไล่เรียงทั้งหมดคงต้องใช้เนื้อที่อีกหลายบรรทัด

เขาหลอมรวมศิลปะเข้ากับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างแยบคายและเหนือชั้น ไม่ใช้เพียงทองเหลือง-วัสดุที่เจ้าตัวถนัด วัฒน์ยังจับสเตนเลส เหล็ก ไม้ ไปถึงเซรามิก มาสร้างสรรค์ศิลปะตกแต่งชิ้นงามด้วยแนวคิดเดียวกัน

ต่อไปนี้คือวิธีคิดวิธีทำงาน ที่หลอมรวมตัวตนเข้ากับการสร้างแบรนด์จากนักออกแบบแห่งปีคนนี้

วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

ศิลปะ + ประยุกต์

อภิวัฒน์เติบโตในครอบครัวศิลปินขนานแท้ มีพ่อเป็นครูสอนศิลปะคนแรกในชีวิต จึงไม่น่าประหลาดใจอะไรหากเขาจะมุ่งมั่นเอาดีบนถนนสายนี้อย่างเต็มตัวตั้งแต่เด็ก

หลังจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพจากวิทยาลัยช่างศิลป และได้เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่ภาควิชาวิจิตรศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนมาศึกษาด้านประยุกต์ศิลป์ในระดับปริญญาโท ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หล่อหลอมแนวคิดสำคัญในการทำงานศิลปะให้แก่เขา

วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“ถ้าเป็นศิลปิน การวาดรูปหนึ่งชิ้นเพื่อนำไปวางไว้ที่พิพิธภัณฑ์ อาจจะเพื่อตัวเอง คนจะชอบหรือไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง แต่งานมักออกมาจากตัวตน

“แนวคิดของประยุกต์ศิลป์คือการทำงานศิลปะ จะเป็นประติมากรรมหรือภาพพิมพ์ก็ได้ แต่ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่า ผลงานชิ้นนี้จะเอาไปไว้ที่ไหนนอกจากมิวเซียม อาจไปประดับสถานที่ใดที่หนึ่ง ฉะนั้น แทนที่เนื้อหาจะออกมาจากตัวเราอย่างเดียว ก็ต้องมีส่วนที่แชร์กันคนละครึ่งกับอาคาร สถานที่ หรือว่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมนั้นๆ”

วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

ช่วงสั้นๆ หลังเรียนจบ บัณฑิตหนุ่มก็ปั้นธุรกิจส่วนตัวขึ้น เป็นแบรนด์ของแต่งบ้านที่ฟังก์ชันการใช้งานและดีไซน์ออกมาจากตัวเขาขนานแท้ อภิวัฒน์ได้เก็บเกี่ยวคอนเนกชันและรู้จักผู้คนในแวดวงวิชาชีพอย่างโลดโผนตลอดอายุกิจการ 3 ปี ก่อนจำต้องพับโปรเจกต์ลงเพราะความไม่เจนตลาด

น้ำเสียงคู่สนทนาไม่เผยความผิดหวังที่ต้องเลิกกิจการแรกของตัวเองไปแม้แต่น้อย เพราะมีบริษัทต่างชาติมากมาย ทั้ง Alexander Lamont ผู้มาจ้างวานให้ทำงานตกแต่งผนัง เล่นสนุกกับ Restrogen ประสานมือกับ Zen Forum กรีดแผ่นเหล็กเป็นดอกประการังฟรีฟอร์ม ราวกับกระดาษ

ทั้งหมดส่งให้เขารื่นเริงอยู่กับงานตามแต่เส้นสายสัมพันธ์ของคนรู้จักที่จะพาไปเจอ

ศิลปะ + ตกแต่ง

MASAYA เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยที่เริ่มต้นจากธุรกิจทำรูปปั้นสัตว์-พระพุทธรูปหล่อ ส่งออกในชื่อ Asia Collection ต่อมาลูกค้าเริ่มนำแบบเฟอร์นิเจอร์ทองเหลืองแบบตะวันตกมาสั่งผลิต จึงค่อยๆ เปลี่ยนสถานะเป็นกึ่งผู้ขายกึ่งโรงงานรับทำตามออเดอร์ ก่อนต่อยอดไปเป็น MASAYA ที่ผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะอย่างเต็มตัว 

หลังจากวิ่งเล่นในวงการศิลปะตกแต่งอยู่พักหนึ่ง อภิวัฒน์ก็เข้ามาร่วมงานกับ MASAYA ในฐานะนักออกแบบหลัก ย้อนไปเมื่อ 6 ปีก่อน ผลงานชิ้นแรกที่สร้างชื่อให้เขาคือ ‘Feather’ งานสเตนเลสเชื่อมมือทีละเส้นที่แสดงความประณีตเหนือชั้นและใช้เวลาทำราว 2 เดือน จนคว้ารางวัล DEmark และ PE Award มาครอง

วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“ตอนเริ่มออกแบบเป็นงานทองเหลือง แต่เพราะทำกับ MASAYA ปีแรก ยังไม่รู้มือว่าช่างปั้นทำตามแบบได้ไหม การหล่อก็มีปัญหาเยอะ พอออกมาไม่ตรงกับที่ต้องการทีเดียวก็เลยถอดแบบมาเป็นอีกงานหนึ่ง ซึ่งเป็นการเชื่อมสเตนเลสจากลวดชิ้นเล็กๆ ประมาณสองมิลลิเมตร แล้วค่อยๆ เชื่อมกันแทน

“ช่วงแรกผมต้องทำเป็นต้นแบบไว้ก่อน แล้วถ่ายทอดให้ช่างอีกที แต่พอผ่านมาสองสามปี ก็เริ่มปรับเทคนิคต่างๆ ให้เข้ากันได้แล้ว งานก็ค่อนข้างเป็นอย่างที่หวังไว้ แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป”

จากเดิมตั้งต้นว่าจะทำของตกแต่งขาย เพราะปูนปั้นเหล่านั้นไม่ได้มีฟังก์ชันพิเศษอื่นใดนอกจากเป็นเครื่องประดับชิ้นเขื่อง อภิวัฒน์ค่อยๆ เขียนนิยามสิ่งที่เขาทำขึ้นใหม่ ว่าเป็นศิลปะตกแต่งซึ่งใช้รสนิยมความงามนำฟังก์ชันการใช้งาน โดยมีฐานลูกค้าเก่าของโรงงาน-กลุ่มคนที่อุดหนุนประติมากรรมและงานทองเหลือง ช่วยซัพพอร์ตให้แบรนด์ตั้งไข่ได้ ไม่นานจึงค่อยๆ มีลูกค้าหน้าใหม่เข้าหา

วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“ความต่อเนื่องสำคัญมาก” คู่สนทนาเล่าถึงแนวคิดในการทำงานช่วงนั้น

“มันทำให้คนเห็นภาพว่าแบรนด์นี้ทำงานแบบไหน ส่งผลโยงกันตั้งแต่ชิ้นแรกถึงชิ้นสุดท้าย ครั้งหนึ่งไปออกงาน Maison&Objet ลูกค้าทิ้งนามบัตรไว้แล้วก็ไม่ได้สนใจอะไร พออีกปีเขาถึงกลับมาซื้อสินค้าตัวแรกที่เราไปโชว์ ไม่ได้ซื้อตัวใหม่ด้วย เพราะเวลาศิลปินทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง คนจะเห็นและเชื่อมั่นว่ามันออกมาจากตัวตนจริงๆ งานมีคุณภาพ ไม่ได้ฉาบฉวย”

วัฒน์ อภิวัฒน์ นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

ศิลปะ + เฟอร์นิเจอร์

เพราะใช้สุนทรียะเป็นเข็มทิศในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ กระบวนการทำงานของวัฒน์จึงมักเริ่มต้นจากการนำองค์ประกอบทางศิลปะเป็นวัตถุดิบหลักแล้วค่อยคิดต่อยอดออกไป แต่ก็ไม่ลืมใส่ฟังก์ชันการใช้งานเข้าไปด้วยทุกครั้ง

“ผมมักรู้สึกว่างานเพนต์ที่มีแค่สีขาวดำนั้นแบน แต่หากเป็นขาว ดำ เทา ก็จะเริ่มมีมิติขึ้นมาบ้างแม้เป็นงานสองมิติ ผมเอาแนวคิดนี้มาใช้กับประติมากรรม ซึ่งเป็นสามมิติอยู่แล้ว แต่จะมีบางส่วนที่คนมองไม่เห็น อาจเพราะธรรมชาติของมนุษย์ จึงไม่ค่อยทำอะไรที่เป็นก้อนมวลมากนัก มีสามสเต็ปเป็นอย่างต่ำ อย่างทองเหลือง ก็ทำให้มีเส้นหนา เส้นกลาง เส้นเล็ก มีบางพื้นผิวที่ถูกแสงส่องเพื่อให้เกิดน้ำหนักและเงา ภาพที่ออกมาจึงค่อนข้างมีเอกภาพ

“ส่วนฟังก์ชันนั้นเป็นเรื่องรอง เพราะลูกค้ากลุ่มนี้มีของที่ใช้งานได้ดีมากเกินพอแล้ว เขาไม่ได้เอาไปใช้จริงแน่นอน ผมเลยเน้นองค์ประกอบทางศิลปะ ซึ่งเป็นรูปแบบและเทคนิคเฉพาะของตัวเองมากกว่า”

อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา ดีไซเนอร์ผู้พาศิลปะเข้าไปอยู่ในเฟอร์นิเจอร์และชีวิตประจำวัน

อภิวัฒน์ไม่ได้ใส่ฟังก์ชันลงไปเพื่อการใช้งานโดยตรง แต่มันมีหน้าที่เปลี่ยนงานศิลปะซึ่งอาจฟังดูสูงส่งเข้าใจยาก เป็นเครื่องใช้ไม้สอยที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคย และเป็นกลยุทธ์ลับในการการพาศิลปะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวัน

ดีไซเนอร์คู่สนทนาเผยไต๋ถึงแนวคิดในการทำศิลปะตกแต่งอย่างหมดเปลือก ก่อนเฉลยเทคนิคการเรียกความสนใจให้แบรนด์ผ่านสินค้าชิ้นโบว์แดง ที่แม้แพงจนไม่มีใครเอื้อมถึง แต่จำเป็นต้องมี

“การใช้วัสดุให้แตกต่างจากสามัญสำนึกของคนทั่วไป คือสิ่งที่จะทำให้งานแต่ละชิ้นอิมแพคขึ้น” เขาว่า

“เวลาไปออกงานแฟร์ จำเป็นต้องมีสินค้าที่อิมแพคเพื่อโชว์ศักยภาพโรงงาน อาจไม่มีคนซื้อตัวนั้นก็ได้ แต่ลูกค้าจะมาหยุดคุยกับเราและมองตัวอื่นต่อ ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ เราทำงานเพื่อขายอย่างเดียวไม่ได้ เหมือนเป็นการทำแบรนด์อย่างหนึ่ง หากมีสินค้าไฮไลต์สักชิ้น จะทำให้คนรู้จักเร็วขึ้นและติดตามแบรนด์เราต่อไปในภายหน้าว่าพัฒนาไปอย่างไร ต่อให้เขาไม่ซื้อ ก็อาจมาสั่งโรงงานเราผลิต มีรายได้เข้าอีกทางอยู่ดี” ดีไซเนอร์มากประสบการณ์อธิบายวิธีเรียกร้องความสนใจและสร้างความโดดเด่น เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในงานจัดแสดงขนาดใหญ่

อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา ดีไซเนอร์ผู้พาศิลปะเข้าไปอยู่ในเฟอร์นิเจอร์และชีวิตประจำวัน

ศิลปะ + ตัวตน

ปกติ ศิลปินหรือดีไซเนอร์ผู้เล่นกับวัสดุแต่ละคน มักเป็นที่รู้จักอย่างเฉพาะเจาะจง ว่าเชี่ยวชาญแมททีเรียลชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งนั่นมีส่วนทำให้ภาพจำเอกลักษณ์ในเชิงออกแบบเลือนรางลงไปไม่น้อย แต่อภิวัฒน์คือดีไซเนอร์ผู้ใช้วัสดุหลากหลาย จับทางยาก เราจึงต้องถามออกไปอย่างโจ่งแจ้งว่าสไตล์และตัวตนของเขาเป็นอย่างไร

“ผมไม่ได้มีสไตล์ เพราะทำหลายอย่างนอกจากทองเหลือง มีเซรามิก เหล็ก ไปจนถึงจิวเวลรี่ ผมว่าต้องให้คนนอกมองเข้ามา จะเห็นว่ามันไม่เกี่ยวกับวัสดุ แต่จะมีบุคลิกบางอย่างที่ผมถ่ายทอดลงไปมากกว่า”

อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา ดีไซเนอร์ผู้พาศิลปะเข้าไปอยู่ในเฟอร์นิเจอร์และชีวิตประจำวัน
รู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“อาจดูโบราณหน่อย แต่ผมถูกสอนว่าเวลาทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะออกแบบแพตเทิร์นได้สวยแค่ไหน แต่ถ้ามันซ้ำมากๆ มันสวย แต่น่าเบื่อหน่าย ดังนั้น ต้องทำอะไรให้มีความแตกต่างสักสิบถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ความสวยนั้นมีเสน่ห์ ผมจึงใส่ดีเทลเล็กๆ ซ่อนเอาไว้นิดหนึ่ง งานผมจึงมักไม่เสมอกัน ไม่ค่อยเท่ากัน”

วัฒน์โชว์ภาพผลงานชิ้นสำคัญประกอบบทสนทนาเพื่อให้เราเห็นภาพ เป็นคอลเลกชัน Ink ที่เขาทำขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2019 หลังจากเขาเริ่มรู้มือกับช่างในโรงงานแล้ว จึงใส่เทคนิคพิเศษมากมายซึ่งสะท้อนตัวตนของเขาลงไป

รู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“สังเกตว่างานผมจะไม่มีทองเหลืองสำเร็จรูป เราต้องการโชว์ศักยภาพโรงงานเพื่อให้รู้ว่าถ้าไม่ใช่โรงหล่อก็ทำไม่ได้ ดังนั้น เวลาขึ้นรูปจะมีมิติเป็นเส้นหนาเส้นบางอยู่ด้วยกัน เพื่อให้มองมุมกลับได้ว่า ทำทองเหลืองที่ดูหนักให้เบาได้ยังไง และทำสีพิเศษขึ้นด้วย ตัวนี้เป็นจุดแข็งที่ทำให้เรามีคู่แข่งน้อย มันออกมาสมบูรณ์ตามที่ผมตั้งใจไว้และค่อนข้างเป็นตัวผม

“เริ่มต้นจากเก้าอี้ก็จริง แต่สุดท้ายลูกค้าอยากได้คอนโซล โต๊ะข้าง หรือโต๊ะกินข้าว เราก็ต่อยอดออกมาเรื่อยๆ หลายอย่างก็มาจากลูกค้าแนะนำ” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี น้ำเสียงเปิดเผยว่าเจ้าตัวมีความสุขที่ได้ทำ

รู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“หรืออย่างชิ้น Peacock ที่ทำให้ Touchable” วัฒน์ชวนเราดูผลงานอีกชิ้น

“แพตเทิร์นไม่ชัดเจน ผมจึงต้องคิดไปทำไป โยนแบบจากกระดาษให้ช่างเลยไม่ได้ ต้องทำแพตเทิร์นต้นแบบให้เขาดูก่อน ดูช่องไฟและอธิบายให้เห็นภาพ งานนี้ใช้เทคนิคเดียวกัน แต่ปกติ Alexander Lamont ชอบใช้สีน้ำตาล เราจึงต้องเอาไปทำดำก่อน ซึ่งมีคนเชื่อมเป็นน้อยมาก”

รู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

“ถ้าวัสดุไม่ได้ต่างจากคนอื่นเท่าไหร่ ต้องหาความแตกต่างให้เจอ อาจเป็นความแตกต่างโดยรูปแบบ หรือความแตกต่างในรายละเอียด มันสร้างเอกลักษณ์ให้แบรนด์ได้” เขาชวนคิด

ศิลปะ + นวัตกรรม

แม้ว่าผลงานชิ้นหนึ่งๆ จะยืนระยะในตลาดได้พักใหญ่ แต่อภิวัฒน์ยังยืนยันว่าต้องหมั่นสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ออกมาให้เป็นที่รับรู้อยู่เสมอ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และพัฒนาการของแบรนด์ ลูกค้าอาจไม่ได้สนใจซื้อหรือเป็นที่ฮือฮาในตลาดเสียทุกครั้ง แต่สิ่งที่ได้กลับไปแน่ๆ คือคำแนะนำซึ่งมีประโยชน์มหาศาล

“กระบวนการมันพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยี แต่เครื่องมือเราไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น เพราะฉะนั้น ต้องใส่จินตนาการ คิดตีความใหม่ ใช้ศักยภาพของเครื่องมือนั้นมาทำให้แตกต่าง แม้จะใช้เวลาผลิตนานขึ้น แต่ผมว่าคุ้มค่า

อย่างงาน bark หรือตอไม้พวกนี้ จริงๆ คนทำเยอะแล้ว ทั้งเรซิ่น ทองเหลือง ผมเลยไปเลาะเปลือกไม้เก่า ซึ่งเป็น เท็กเจอร์ที่สวยแล้วออก เอากระดาษลูกฟูกแปะทับทำเป็นแบบหล่อใหม่ ตอไม้นี้ก็จะมีเฉพาะแบรนด์เรา

“บางอย่างที่มีอยู่แล้ว เพียงจัดการอะไรเพิ่มนิดหนึ่ง ก็ทำให้แบรนด์แตกต่างได้ ตอไม้เดิมก็สวย แต่คนจำไม่ได้หรอก ตอไม้แบบนี้ ถ้าคนจะไปหล่อตาม ก็ต้องซื้อของผมไปทำเป็นพิมพ์

รู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design
รู้จักตัวตน แนวคิด และกระบวนการทำงานของนักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

นวัตกรรม คือสิ่งที่ผู้ผลิตแต่ละเจ้ามีแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ศักยภาพในการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเอกลักษณ์ของดีไซเนอร์ต่างหาก คือตัวแปรที่จะทำให้แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งโดดเด่นขึ้นมาจากผู้เล่นอื่นในเกม

วัฒน์ค่อยๆ ชวนเราทำความรู้จักตัวตนเขาผ่านผลงาน ก่อนดึงเรากลับสู่โลกความจริงว่า ยังมีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งมีผลต่อการทำงานมากๆ คือช่างฝีมือ

“เขาไม่ใช่ช่างปั้นแบบอาร์ทิสต์ แต่เป็นช่างปั้นในโรงงาน แรกๆ ก็พยายามเคี่ยวเข็ญ ตอนหลังถึงรู้ว่าเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไม่ได้ ต้องค่อยๆ หยอดเข้าไป ผมจะขึ้นรูปทรงเองแล้วให้เขาไปปั้นตาม ขยับให้ยากขึ้นทีละนิดจนตอนนี้เขารับทำหมด ดีไม่ดีอีกเรื่องนะ แต่ไม่ปฏิเสธ อยากลองทำ แต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน เราต้องเรียนรู้คนไปด้วย

“แต่ตอนนี้โรงหล่อทองเหลืองก็ปิดตัวลงไปเยอะแล้ว เพราะวัสดุแพงมากและงานหล่อพระแบบเดิมๆ น้อยลงทุกที ต้องปรับตัวมาทำงานประเภทนี้กัน โรงงานที่ผมทำอยู่ก็อาจจะต้องปิดตัวลงไปสักวันถ้าไม่มีคนสืบทอด” 

หลังนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์บรรยายภาพการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เขาคลุกคลีด้วยน้ำเสียงห่วงใยเจือเสียดาย เขาก็ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดการทำงานข้อสำคัญว่า

“งานแบบนี้ไม่ควรเชื่อมั่นว่าต้องขายได้อย่างเดียว แต่ควรเชื่อมั่นในความชอบก่อน ผมเริ่มต้นจากความอยากเห็นงานตัวเองเป็นรูปเป็นร่าง ไม่ได้มองว่างานชิ้นนี้จะขายได้เสียทีเดียว ผมนั่งสเก็ตช์งานทุกวัน ไม่ทิ้งมันเพราะคือความชอบ ถ้าทิ้งไปเพราะไม่ได้เงินแปลว่าไม่ได้ชอบจริง”

วัฒน์-อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา นักออกแบบเจ้าของรางวัล Designer of the Year 2021 สาขา Furniture Design

5 คำแนะนำถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์รุ่นพี่มากประสบการณ์

01 บาลานซ์

“ต้องบาลานซ์งานขายกับงานส่วนตัวที่เราชอบให้ดี บางอย่างจำเป็นต้องทำเพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้า แต่ถ้ามีโอกาสก็ควรแทรกตัวตนของเราเข้าไปในสินค้า ไม่ต้องมาก เพราะบางทีถ้าใส่ตัวตนลงไปมากๆ แล้วอาจยืนระยะอยู่ได้ไม่ยาว”

02 แรงบันดาลใจ

“งานประเภทนี้ ถ้าไม่มีแรงบันดาลใจ โปรดักต์จะไม่มีพลัง โต๊ะจะเป็นแค่โต๊ะ เป็นเครื่องวางของ ไม่มีพลังงานเข้าไปอยู่ในนั้น ไม่สื่อสารระหว่างคนผลิตกับผู้ใช้งาน เหมือนผลิตจากเครื่องจักรในโรงงาน เพราะฉะนั้น ต้องมีแรงบันดาลใจของคนออกแบบด้วย”

03 จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์

“การใส่จิตนาการเข้าไปในชิ้นงานจะทำให้งานแตกต่าง เพราะจินตนาการมาจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า คนคนนั้นอ่านหนังสืออะไรมา จินตนาการทำให้โปรดักต์มีชีวิตอิสระและหลุดออกจากกรอบได้ งานที่หลุดกรอบอาจขายไม่ได้ แต่ถ้าไม่ใช้จินตนาการทำให้หลุดกรอบบ้าง ก็ต่อยอดออกไปไม่ได้จริงๆ”

04 วัสดุ

“ไม่ว่าเป็นวัสดุธรรมชาติหรือโลหะ พอมองจุดแข็งจุดอ่อนออกแล้ว ต้องพลิกกลับอีกทีหนึ่ง อย่าไปใช้วัสดุตรงๆ มองแบบนี้เราจะทำงานแตกต่างจากสามัญสำนึกคนทั่วไป”

05 ความต่อเนื่อง

“งานชิ้นแรกที่ออกมาดี ลูกค้าอาจแค่เฝ้ามอง แต่ถ้าเราทำต่อเนื่องจนมีสไตล์ ลูกค้าจะเห็นตัวตนประสบการณ์ และทักษะของนักออกแบบออกมานอกเหนือจากความสวยงาม ก็เหมือนการเล่าเรื่องที่เราอาจไม่ต้องเขียนเล่าให้เขาฟังโดยตรง แต่เขามองเห็นได้จากงานแต่ละชิ้นจนเกิดความเชื่อมันขึ้นเอง”

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล