กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เกิดจากการร่วมกิจการระหว่างธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัท หลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เมื่อ 8 ปีก่อน มีโจทย์สำคัญ คือการรวมความเชี่ยวชาญจากทั้งสองธุรกิจเพื่อสร้างบริการทางการเงินที่ดีแก่ ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบตลาดการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ

ความน่าสนใจคือ การบริหารองค์กรที่เกิดจากควบรวม 2 ธุรกิจที่มีธรรมชาติที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่สินค้าและบริการที่ต่าง ลูกค้าก็ต่าง วัฒนธรรมองค์กรและคนทำงานก็แตกต่างกัน

ฝั่งแรก เป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่เชี่ยวชาญเรื่องสินเชื่อรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์มายาวนาน มีหัวใจอยู่ที่การให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียว

อีกฝั่งเป็นธุรกิจตลาดทุน ที่เชี่ยวชาญในการพาบริษัทขนาดใหญ่เข้าไปจดทะเบียนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มีบริการ Tailor-made Solution ที่เหมาะกับความต้องการที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละรายเป็นจุดเด่น

นับเป็นตัวอย่างขององค์กรที่รวมกลุ่มคนที่ล้วนฝันอยากเห็นระบบการเงินที่ดี ซึ่งย่อมต้องมาจากผลิตภัณฑ์ บริการ ตลอดจนผู้เล่นในอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ

คนในแวดวงเรียกขานการรวมตัวนี้ว่า ‘1 + 1 = 3’ เพราะทั้งธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทรต่างฝ่ายต่างใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรของอีกองค์กร เช่นแทนที่ลูกค้าจะได้เพียงดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้นจากการลงทุนในตลาดทุน หรือหากกิจการมากู้เงินจากธนาคารแล้วยังต้องการระดมทุนจากตลาดทุนด้วย ก็ทำได้ผ่านบริการของบริษัทหลักทรัพย์

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แก่นธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรเพียงอย่างเดียว แต่ปลูกฝังกันในองค์กรว่า “อ้วนได้โดยไม่ต้องชั่ว” และจะไม่เป็นส่วนหนึ่งในสร้างของเสียหรือ Waste ในระบบการเงิน 

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

The Cloud มีนัดหมายพิเศษกับ คุณอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เพื่อพูดคุยถึงบทบาทการเป็นผู้นำองค์กรและภารกิจที่ไม่เหมือนใคร

ตั้งแต่การปรับแก่นภายในเพื่อให้ทุกคนทำงานอย่างมีความสุข โดยไม่ฝืนธรรมชาติใครเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น การสื่อสารผ่านจดหมายขนาด 20 – 30 หน้า ที่เจ้าตัวตั้งใจเขียนมาก บางครั้งถึงขนาดเปิดห้องพักที่โรงแรมแสนสงบ หรือบางปีก็ไปตกผลึกเนื้อหาที่จะเขียนในบาร์แจ๊สย่านบางลำพู เพื่อสื่อสารสิ่งที่อยากบอกพนักงาน ทั้งเรื่องดีและไม่ดีอย่างจริงใจ การเป็นผู้บริหารที่ไม่ชอบความเสี่ยงแต่ต้องอยู่กับความเสี่ยง ไปจนถึงเรื่องการเปิดร้านอาหารอิตาลีด้วยความบังเอิญ 

ขออภัยที่บทสนทนาเบื้องล่างนี้ จะไม่มีเรื่องความรู้การเงินการลงทุนยากๆ ให้ท่าน 

และใครที่กำลังเปลี่ยนสถานะจากคนทำงานไปเป็นหัวหน้า เป็นเจ้านาย เป็นผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งนายตัวเอง ยิ่งไม่ควรพลาดคอลัมน์ ‘กัปตันทีม’ ตอนนี้

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

คุณมีวิธีบริหารองค์กรอย่างไร ตอนที่รู้ว่าจะต้องรวมกันเป็นเกียรตินาคินภัทร 

เริ่มจากเรามองย้อนไปหาสิ่งที่ทำได้ดีและตกผลึกออกมาเป็นแก่นเพื่อยึดร่วมกันสี่หมวดใหญ่ ซึ่งคงทนไม่เสื่อมไปตามยุคสมัย ได้แก่ กระหายชัยชนะ ไม่ละความเพียร เรียนรู้สามัคคี และเชื่อเสรีระบบตลาด โดยแต่ละหมวดประกอบด้วยหลักการย่อยๆ อีกหลายข้อ เช่น “ทำเกินดีกว่าขาด” (อยู่ในหมวดกระหายชัยชนะ) “รีบลองผิดแล้วปรับให้ถูก” (อยู่ในหมวดไม่ละความเพียร) อยู่กันอย่างคนเท่ากัน” (อยู่ในหมวดเรียนรู้สามัคคี) หรือ “แข่งขันเพื่อเก่งขึ้น” (อยู่ในหมวดเชื่อเสรีระบบตลาด) เป็นต้น โดยทั้งสี่หมวดสำคัญ จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้ แล้วการตีความก็มักต้องขึ้นอยู่กับบริบทและสถานการณ์เป็นเรื่องๆ ความยากคือจะทำให้คนจำนวนมากในองค์กรรับรู้และเข้าใจแก่นเหล่านี้พร้อมกันได้อย่างไร

ขณะที่คนทำงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นคนเชิงตั้งรับ อยู่ในหลักการ อีกกลุ่มที่เป็นธุรกิจตลาดทุน เป็นคนเชิงรุก ที่ทำงานอิสระคล่องตัวมากกว่า คุณมีวิธีดูแลคนที่มีธรรมชาติแตกต่างกันนี้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องรู้ถึงความแตกต่างนี้ ความจริงเราไม่ได้พูดถึงแค่ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมการทำงานของธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์โดยทั่วไปเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความเป็นปัจเจกเลย ว่าคนแต่ละคนเขามีบทบาทอะไร เหมาะจะทำอะไร และควรจะดูแลยังไงเพื่อให้สอดคล้อง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันเป๊ะในทุกเรื่อง แต่เชื่อมโยงกันด้วยแก่นความเชื่อเดียวกัน

เช่นการกำหนดผลตอบแทนก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมยืนยันตั้งแต่ก่อนควบรวมกิจการว่าเป็นสิ่งที่ต้องรักษาความต่างไว้ คนฝั่งบริษัทหลักทรัพย์อาจมีสัดส่วนผลตอบแทนเป็นเงินเดือนน้อยกว่าโบนัส ขณะที่คนฝั่งธนาคาร มีสัดส่วนผลตอบแทนเป็นเงินเดือนมากกว่าโบนัส ตรงข้ามกัน สิ่งเหล่านี้มาจากลักษณะการทำงานที่แตกต่างการทำงานของฝั่งธนาคาร เป็นการร่วมมือของคนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียว ตั้งแต่ทีมสินเชื่อ ทีมอนุมัติสินเชื่อ ทีมทำเอกสาร ทีมติดตามหนี้ เวลางานสำเร็จ ยากจะชี้ว่าผลงานนั้นเป็นผลจากฝีมือของใครคนใดคนหนึ่ง ขณะที่ในตลาดทุนเป็นงานที่ใช้คนไม่กี่คน บางครั้งเป็นงานโซโล่ ดังนั้น เวลาทำให้เกิดธุรกรรมอย่าง IPOหรือ M&A ความสามารถของนาย ก. หรือนาย ข. จึงส่งผลต่อการเกิดหรือไม่เกิดขึ้นของงานแบบบอกได้ชัดเจน การตอบแทนจึงจำเป็นต้องสะท้อนสิ่งเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่สามารถรักษาเสน่ห์ของการทำงานทั้งสองแบบซึ่งเป็นจุดแข็งของธุรกิจเอาไว้ได้

อะไรคือวิธีที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานมีความสุข

ตอนนี้ก็ยังทำไม่สำเร็จหรอก ต้องอาศัยการทำอย่างต่อเนื่อง เรามักได้ยินบ่อยๆ เรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราต้องเข้าใจแล้วก็ดูว่าเราตอบโจทย์เขาได้แค่ไหน นอกนั้นเป็นเรื่องความเชื่อมั่นของทุกคนแล้วว่าเขาเห็นว่าเราทำดีที่สุดที่จะตอบโจทย์เขาแล้วหรือยัง บางคนเขาอาจจะยังไม่ได้พอใจที่สุดกับสิ่งที่เราให้ แต่ถ้าเขารู้สึกว่าเราพยายามทำมากที่สุดสำหรับเขา เท่าที่จะเป็นไปได้ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ แล้ว เขาก็อาจจะทุกข์น้อยลง

อะไรคือความสำคัญของการสร้างและหลอมรวมให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร

เวลาทำงานที่เป็นตัวเราโดยไม่หลอมรวมไปกับองค์กร มันก็จะต่างคนต่างทำ ต่างจากเวลามีความรู้สึกที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวโดยไม่ต้องฝืน เพราะมันจะไม่เพียงทำให้เกิดความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ แต่ยังทำให้เรายิ่งอยากทำงานให้ดี บางทีไม่ได้มองแค่รุ่นเรา แต่อยากทำสิ่งดีๆ ที่ส่งผลไปถึงคนรุ่นต่อไป เหมือนที่ตอนนี้ไม่ได้คิดเพื่อตัวเองอีกแล้ว แต่คิดเพื่อส่งต่อ คิดเพื่อทำให้ตรงนี้มีผลประกอบการที่ดีเติบโตยั่งยืน ดูแลคนที่อยู่ในองค์กรได้ดีตามศักยภาพของพวกเขา ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

ผมเป็นคนให้คุณค่าเรื่องการตัดสินใจ เพราะเคยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีการตัดสินใจแล้วมันเศร้านะ ดังนั้น เมื่อต้องตัดสินใจและผมไม่อยากตัดสินใจผิดบ่อยๆ ก็เลยต้องมีกรอบความคิดหรือมีวิธีลดความเสี่ยง ทั้งข้อมูลหรือองค์ความรู้ในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้ตัดสินใจได้ เวลาที่ผมจะบอกให้ใครทำอะไร ถ้าเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้ผมจะลังเล ทำให้หลายครั้งผมจะศึกษาให้รู้ก่อน รู้คร่าวๆ ก็ได้ ลองทำดูเองก่อน ถ้าเราทำเองยังไม่รู้เลยว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า แล้วจะเอาให้ได้ตั้ง KPI สูงๆ อย่างนี้ ผมก็ไม่ค่อยชอบ ผมจึงลงรายละเอียดในหลายๆ เรื่องที่อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เช่น ครั้งหนึ่งเพื่อให้คุยกับคนที่ทำงานด้านบริหารความเสี่ยงรู้เรื่อง และบอกความต้องการของตัวเองได้ ผมเลยทั้งสั่งหนังสือมาอ่านด้วยตัวเองและบินไปเรียนวิชานี้ที่ต่างประเทศก็เคย ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าดีนะ เพราะอาจจะทำให้มีข้อจำกัดตามศักยภาพเรา หรือใช้เวลามากเกินไป

คุณเป็นผู้บริหารที่ชอบหรือไม่ชอบความเสี่ยง

เรียกว่ายอมรับมันดีกว่า และคิดว่าจำเป็นต้องชอบในระดับที่เหมาะสม ถ้าไม่ชอบเลยก็คงไม่ทำอะไร ซึ่งจะเสี่ยงที่สุด

ทุกปี คุณจะเขียนจดหมายขนาดยาวถึงพนักงานทุกคน

เพราะรู้ตัวว่าตัวเองเป็นคนพูดไม่เก่ง จึงเลือกใช้การเขียนเป็นวิธีสื่อสาร เป็นจดหมายขนาดสิบถึงสามสิบหน้า ผมพยายามจะสื่อสารให้เข้าใจว่าใครในองค์กรกำลังทำอะไร เพราะเชื่อว่าคนเราจะทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับใครในบริบทไหน ถ้าเชื่อมโยงกันได้ เราก็ใช้ศักยภาพที่มีในตัวได้อย่างเต็มที่ รวมถึงยอมที่จะทำเพื่อคนอื่นเพื่อภาพรวมที่ใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ ยังเล่าภาพรวมอุตสาหกรรม ไปจนถึงทิศทางการทำงาน โดยเขียนอย่างน้อยหนึ่งฉบับสำหรับปีใหม่ และตามวาระโอกาสที่มีเหตุการณ์สำคัญในองค์กร บางปีเขียนสามถึงสี่ฉบับ และเขียนมาตั้งแต่เป็น CEO จนตอนนี้ก็สิบปีแล้วซึ่งคนสี่พันคน ถ้าอ่านสักสองร้อยคนผมก็ดีใจ

ได้ยินว่าต้องปลีกตัวไปที่สงบๆ บางทีก็เช่าโรงแรมจริงจังเพื่อเขียนจดหมายโดยเฉพาะ

ใช่ๆ ต้องการสมาธิ เพราะว่าใช้พลังเยอะมากและมันต้องเน้นแรกๆ คนอาจรู้สึกว่าเป็นจดหมายที่อ่านยากมาก มีเรื่องรายละเอียดธุรกิจเต็มไปหมด แต่พอทำไปหลายๆ ปี เขาจะพอจับแพตเทิร์นเนื้อหาที่เราเขียน หรือความจริงก็คือเข้าใจภาพรวมธุรกิจมากขึ้นไปเอง ไม่รู้สิ เขาอาจจะแค่รีบพลิกอ่านเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเขาหรือดูว่าจะมีชื่อตัวเองในนั้นไหมก่อนก็ได้ (หัวเราะ)

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ใส่ใจถึงขั้นเขียนชื่อแต่ละคน

มีบ้าง แต่ส่วนมากเป็นชื่อฝ่าย

แปลว่าถ้าอ่านเจอชื่อตัวเองในนั้น เขาควรจะดีใจหรือเสียใจ

ส่วนใหญ่ถ้าตำหนิจะไม่เขียนเป็นชื่อ ดังนั้น ถ้าเห็นชื่อควรจะดีใจ

จดหมายของคุณละเอียดมาก คุณไม่กลัวว่าพนักงานจะขายความลับบริษัทเหรอ

จริงๆ เรื่องพวกนี้ก็หาอ่านได้ทั่วไป ที่สำคัญ อยู่ที่รู้แล้วเอาไปทำได้หรือเปล่า นอกจากนั้น หลายคนเป็นห่วงก็จะบอกว่าให้พูดหรือเขียนแต่เรื่องดีๆ เชียร์อัพกัน ไม่ควรเขียนสิ่งที่ทำให้คนรู้สึกแย่

เชื่อที่เขาบอกแค่ไหน

ไม่เชื่อไง ถึงได้เขียนแบบนั้นลงไป หดหู่ก็บอกหดหู่ สมมติเราบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปองค์กรอาจจะล่มสลาย บางคนเขาก็หลีกเลี่ยงที่จะพูด แต่ถ้าความจริงมันเป็นแบบนั้น มันก็ต้องเขียนตามนั้น การเขียนถึงเรื่องดีๆ ในเชิงบวก ผมอาจจะควบคุมสภาพจิตใจทุกคนได้ชั่วคราว แต่ต่อจากนี้ผมจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือในสิ่งที่เขียนเลย

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ถ้าให้เลือกระหว่างเป็นเจ้านายที่ลูกน้องรัก กับเจ้านายที่ลูกน้องนับถือ

คงไม่ต้องรักหรอก แค่เชื่อใจก็พอ ซึ่งความเชื่อใจก็มีหลายมิติ เชื่อใจในความสามารถ เชื่อใจในเรื่องที่ให้คำมั่นสัญญา เชื่อใจในความพยายามที่จะทำให้มากที่สุดตามศักยภาพที่เรามี ไม่ใช่ผมคนเดียวแต่หมายรวมถึงพวกเราทั้งองค์กร ถ้าเรามีความเชื่อใจกันเราก็ต่างแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง อย่างรู้หน้าที่ของตัวเอง ไม่ต้องคอยระวังหลัง

คุณชอบตัวเองตอนเป็น CEO หรือวาณิชธนากร (Investment Banker) มากกว่ากัน

คนละแบบ บางทีผมก็อยากกลับไปทำ IB ใหม่ พูดแบบนี้ไม่ได้เกลียดงาน CEO นะ แต่มันเป็นธรรมดาที่เราจะโหยหาความสนุกในอดีตที่ผ่านมาแล้ว วาณิชธนากรเป็นงานที่เกี่ยวกับการคิดว่าลูกค้าควรต้องทำอะไร ต้องจัดโครงสร้างธุรกิจ ต้องระดมทุน ต้องโน้มน้าวให้เขาทำสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่เกินตัวเรามากๆ มีอะไรให้คิดเยอะ และเปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน แต่ก็ไม่ต้องยุ่งกับเรื่องคนเยอะเหมือนงานบริหาร เวลาได้รับโจทย์ให้ควบรวมกิจการขนาดหมื่นล้าน แสนล้าน เราจะสนุกมาก แม้ทำออกมาแล้วไม่มีใครรู้ก็ไม่เป็นไร แต่พอไม่ได้ทำนานเราก็จะทื่อลงเรื่อยๆ งาน IB หากอยากจะทำให้ดีต้องลับคมทุกวัน ฝึกตัวเองทุกวัน ดูงบการเงิน ดูข้อมูลผู้ถือหุ้น ติดตามความเปลี่ยนแปลงของบริษัทและอุตสาหกรรม คุยกับทุกฝ่ายจนรู้นัยที่ซ่อนอยู่ เพื่อนำเสนอคำตอบหรือทางออกที่เหมาะสม

การเป็นเจ้านายที่ลงมือทำให้ดูสำคัญอย่างไร

หนึ่ง จะได้ไม่ต้องสงสัยว่าเราเอาแต่พูดสั่ง สอง เป็นการตรวจสอบตัวเราเอง ว่าพอจะรู้หลักการคร่าวๆ แค่ไหน หลายเรื่องก็เฉพาะทางมากๆ ผมทำให้ดูไม่ได้ ผมก็จะใช้วิธีให้เขาเล่าให้เราฟัง จนพอรู้คอนเซปต์งานนั้นให้ได้ ไม่งั้นเราก็จะตัดสินใจแทนเขาไม่ได้

ใครๆ ก็บอกว่าคุณเป็นผู้บริหารที่มีศิลปะการล้วงลึกไม่เหมือนใคร มันคืออะไร และมีที่มาอย่างไร

คงมาจากการที่ผมชอบอ่านหนังสือประวัติคน แม้กระทั่งหนังสืองานศพดีๆ ที่เขียนถึงคนคนหนึ่งแบบจริงใจ เวลาอ่านเราจะเห็นความเชื่อมโยง นอกจากจะได้รู้ตัวตน ยังได้รู้สาแหรกว่าเขาเป็นใคร เกี่ยวดองกับใครยังไง เขาครองตัวมายังไงถึงได้ประสบความสำเร็จและเป็นที่รักของคนได้แบบนี้ ไปจนถึงทำไมหรืออะไรอยู่เบื้องหลังการกระทำและความคิดของเขา เป็นความสนใจที่สะสมในตัวเราอย่างไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้มันช่วยในเรื่องการตัดสินใจและการจัดการผู้คน ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นปัจเจกที่ไม่เหมือนกัน ผมเรียนรู้จากการอ่านชีวิตคนหรือนิยาย เช่น อ่าน พล นิกร กิมหงวน ทุกเล่ม เสือใบ เสือดำ  ผู้ชนะสิบทิศ เด็กๆ อ่านแม้กระทั่ง สกุลไทย ของแม่

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ในตำราการบริหาร มักเขียนว่าผู้บริหารที่ดีต้องเปิดกว้าง กว้างแค่ไหนจึงจะพอดี

ถ้าเป็นเรื่องเปิดกว้างทางความคิด เพื่อการเรียนรู้ทำได้ แต่ถ้าจะต้องนำไปปฏิบัติในเวลาที่เหมาะสม คงต้องหาจุดสมดุล เพราะถ้าเราเปิดกว้างรับฟังความเห็นหมด มันจะจบลงด้วยการไม่สามารถตัดสินใจได้ ข้อเสียผมที่กำลังแก้ไขอยู่คือ ผมใจร้อน ฟังไม่ค่อยจบ เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองทำงานได้มีประสิทธิผลหรือ Productive มากที่สุดเวลาได้ถกเถียง ดังนั้นหลายครั้งผมจะแสดงกิริยาท่าทางหรือน้ำเสียงแบบไม่เห็นด้วยอย่างมาก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าผมไม่เห็นด้วยจริง ผมแค่กำลังพยายามหยั่ง หรือทดสอบขอบเขต ข้อจำกัดของเรื่องนั้นๆ ว่ามันมีปัจจัย เงื่อนไข หรืออุปสรรคอะไร ต่อให้การถกเถียงจบลง ผมก็ยังกลับมาคิดซ้ำๆ หลายครั้งตามข้อมูลที่ได้มาจากการถกเถียง แล้วถ้าผมพบว่าบางความเห็นที่ผมเถียงจนตกไปถูกต้อง ผมก็จะยอมรับและกลับมาขอโทษ แต่ผมว่านี่ก็ถือเป็นข้อเสียที่ผมพยายามแก้เพื่อให้เกิดขึ้นน้อยลง

หากมีหนังสือหรือตำราการบริหารธุรกิจสไตล์คุณ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือจะพูดถึงอะไร

คงพูดเรื่องการไม่หยุดที่จะเข้าใจตัวเองและคนอื่น เข้าใจตัวเองเพื่อจะรู้ทั้งข้อจำกัด ทั้งศักยภาพ อะไรชอบและไม่ชอบ จะได้ไม่ไปฝืน สำคัญคือจะได้รู้วิธีบอกให้คนอื่นเข้าใจเรา ส่วนเรื่องการเข้าใจคนอื่น ซึ่งก็ยอมรับว่ายังทำได้ไม่ดีหรอก เวลาที่องค์กรเล็กมีคนน้อย เราก็มีเวลาที่จะคุยกัน รู้จักใจเขาใจเรา รู้จักรากเหง้า รู้จักปม รู้จักพื้นเพ แต่พอคนเยอะขึ้น ความเข้าอกเข้าใจนั้นก็ตื้นหรือลดน้อยลง ซึ่งผมคงต้องพยายาม เพราะมาวันนี้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ว่าตอนเด็กผมชอบคนฉลาด ตอนนี้ผมชอบคนที่ทัศนคติมากกว่า

อะไรคือเรื่องใหม่ล่าสุดที่ได้เรียนรู้

การทำร้านอาหารอิตาเลียน Mediterra เริ่มจากผมไปกินร้านอาหารอิตาเลียนร้านหนึ่งย่านอโศกช่วงดึกอยู่บ่อยๆ เพราะเงียบสงบ สะดวก และอาหารอร่อย วันหนึ่งเจ้าของร้านซึ่งเป็นเป็นอดีตวิศวกรที่ไม่เคยเรียนเป็นเชฟ แต่ตั้งใจทำร้านอาหารมากๆ จนมีร้านเล็กๆ 20 ที่นั่ง ก็เดินมาบอกว่าจะปิดร้านที่นี่และกลับไปใช้ชีวิตที่อิตาลี ผมก็บอกเขาว่าลองกลับไปคิดว่าอยากทำอะไรมานำเสนอไหม เผื่อจะได้ทำอะไรร่วมกัน เขาก็หายไปสามเดือนแล้ว กลับมาพร้อมพรีเซนเทชันเกี่ยวกับการเปิดร้านใหม่ขนาดแปดสิบหน้า ที่ลงรายละเอียดทุกอย่าง มีทั้งข้อมูลการวิเคราะห์ตลาด ช่องว่างของตลาด บอกอย่างละเอียดว่าร้านที่อยากทำมีคอนเซปต์อะไร เพราะอะไร จะเปิดในแหล่งไหน อย่างไร พร้อม Mood & Tone และ Corporate Identity แทบไม่แพ้สไลด์เวลาเราทำเสนอลูกค้าเลย ผมถึงขั้นส่งไฟล์ไปให้ลูกน้องที่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ดู แล้วบอกว่าพวกคุณจะตกงานก็เพราะแบบนี้ (หัวเราะ) การทำร้านจึงเป็นการตัดสินใจที่เร็วมาก ตัวผมไม่ได้มีแพสชันหรือตั้งใจจะทำร้านอาหารมาก่อน แค่ตอนเด็กๆ อ่านหนังสือมูราคามิแล้วอยากมีบาร์แจ๊สของตัวเอง

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ CEO บ้าพลังผู้เขียนจดหมาย 30 หน้าถึงพนักงานทุกคนทุกปี, กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

10 Questions answered by Chief Executive Officer of Kiatnakin Phatra Financial Group

1.ผลตอบแทนก้อนแรกในชีวิต : เงินเดือนเดือนแรก ในตำแหน่ง Financial Analyst ที่บริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง จากคนที่ได้ค่าขนมสัปดาห์ละ 500 บาท ทำงานที่แรกได้เงินเดือน 12,000 บาท ยังไม่รวม OT ถือว่าเป็นเงินเยอะมากในสมัยนั้น แต่สุดท้ายก็ไม่พอใช้เช่นกัน

2. จุดเปลี่ยนในชีวิต : จุดเปลี่ยนแรก ตอนที่ตัดสินไปเรียนต่อต่างประเทศคนเดียวในเมืองที่ไม่มีคนไทยเลย จากคนที่เรียนเพื่อสอบแล้วคืนอาจารย์หมด การอยู่ตัวคนเดียวทำให้ได้ค้นหาตัวเอง สนุกกับการลงลึก ได้รู้พื้นฐานและจัดระบบความคิดที่เกี่ยวกับงาน จนทำให้ตัวเองมีวันนี้ เรื่องที่สอง เคยเสียใจที่สมัครงานบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทรครั้งแรกไม่ได้ จนได้ไปทำงานอีกบริษัทได้เรียนรู้การเอาตัวรอด ภายหลังได้เข้าทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทรในเวลาที่เหมาะสม ถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตที่สุด

3. คำพูดติดปาก : เพราะ?

4. คุณชอบทำงานกับคนแบบไหน : เด็กๆ ชอบทำงานกับคนเก่ง แต่ตอนนี้ชอบทำงานกับคนที่มีทัศนคติดี ถ้าเก่งด้วยทัศนคติดีด้วยยิ่งดี

5. คำถามสัมภาษณ์พนักงานใหม่ : จริงๆ ถ้ามาถึงรอบสัมภาษณ์กับผมแล้ว จะไม่ใช่การสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกเข้าทำงาน แต่เป็นการพูดโน้มน้าวให้เขามาทำงาน คือไม่ใช่เราเลือกเขา แต่เป็นเขาเลือกเรา ส่วนใหญ่ในการสัมภาษณ์ผมจึงมักจะใช้เวลาเล่าเรื่ององค์กรของเราให้เขาฟัง เพื่อให้คนที่ถูกสัมภาษณ์เขาฟังแล้วพิจารณาเองว่าเขาเข้ามาแล้วจะเข้ากันดีกับพวกเราไหม ไม่ใช่แค่หยิบยื่นข้อเสนอที่จูงใจ เพราะหากเข้ามาแล้วเข้ากันไม่ได้ก็คงไม่มีความสุขทั้งคู่

6. ทริปเปลี่ยนชีวิต : ไม่ถึงกับเปลี่ยนแต่เป็นทริปในความทรงจำ ไปเที่ยวน่านกับกลุ่มเพื่อนที่สนิท (พ.ศ. 2530) ที่เกรียนมากเกินกว่าที่จะเล่าได้ในที่นี้

7. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน : กำลังอ่าน ไทปัน รอบที่ 2 เขียนโดย เจมส์ คลาเวลล์

8. ความสนใจในวัย 27, 38 และปัจจุบัน : ผมกลับมาจากต่างประเทศตอนอายุ 27 เป็นช่วงชีวิตที่ไม่รู้สึกเหนื่อยกับการทำงานเลย ผมไม่เคยลาพักร้อนไปเที่ยวไหนยาวๆ เลยในช่วง 5 ปีแรกของการทำงาน และไม่เคยรู้สึกเหนื่อยหรือเบื่อที่ต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์, 38 เป็น Head of Investment Banking ที่บล.เกียรตินาคินภัทร และเป็น CEO ตอนอายุ 40 เป็นช่วงที่ไม่ได้ดูงานเป็นชิ้นๆ แต่ดูเรื่องคนและภาพรวม ได้ทำอะไรที่เกินไปกว่างานที่เคยทำมา พบโอกาสจากฟังก์ชันอื่นของตลาดทุนและธนาคาร ส่วนปัจจุบัน ตอนนี้ไม่ได้คิดเพื่อตัวเองอีกแล้ว แต่คิดเพื่อส่งต่อ

9. บ่ายวันอาทิตย์จะบังเอิญเจอคุณที่ไหน : จะเจอผมเดินอยู่ถ่ายรูปอยู่ตามย่านเมืองเก่า

10. คุณไปแข่งรายการแฟนพันธุ์ตอนไหนได้บ้าง : นอกจากเรื่อง Banking and Capital Market ที่ผมมั่นใจว่าตอบได้กว้างกว่าใคร ผมก็ไม่ค่อยลงลึกกับอะไร มีตอนเด็กที่ฟังเพลงเยอะๆ ผมจะชอบอ่านปกอัลบั้มจนรู้ว่าใครแต่งเพลงไหน ใครชื่ออะไร เล่นเครื่องดนตรีอะไร พอโตขึ้นความสนใจก็เปลี่ยนไป เคยชอบจักรยาน กล้อง แต่คิดว่าไม่ถึงขนาดจะเรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ได้

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)