“ขอกินข้าวไปด้วยได้ไหมคะ พอดียังไม่ได้กินข้าวเที่ยง”

แขกของเราถามด้วยรอยยิ้มในเวลา 6 โมงเย็น แล้วค่อย ๆ เปิดฝากล่องข้าวที่ห่อมาจากบ้านด้วยความเกรงใจ จะบอกว่า เยล-อัญญา เมืองโคตร ผู้ก่อตั้ง ‘Regen Districts’ สตูดิโอออกแบบที่เน้นการนำขยะมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เป็นแขกของเราก็ไม่ถูกนัก เพราะเราต่างหากที่เป็นแขกเดินเข้าไปดูโปรเจกต์ Play (Coffee) Ground ที่เธอทำร่วมกับลุงรีย์ Uncleree farm ในบูท Coffee Sustainability ที่งาน Thailand Coffee Fest 2021

แล้วเราก็ควรเป็นฝ่ายเกรงใจ เพราะเราอยากคุยกับเธอตั้งแต่บ่าย แต่กว่าเธอจะว่างจากการรับแขกก็เย็นพอดี

เยลเป็นนักออกแบบที่เรียนจบปริญญาตรี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพิ่งจบปริญญาโทจากอังกฤษมาหมาด ๆ เธอไปเรียนที่ Royal College of Art (RCA) ภาควิชา Design Products โดยเน้นเรื่อง Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) นำวัตถุดิบใกล้ตัวจากครัว อย่างเปลือกไข่ เปลือกหอย และกากกาแฟ มาแปรรูป

เธอเอาไม่ได้เอาเศษอาหารเหล่านี้มาหมักเป็นปุ๋ย

แต่เอามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพดีพร้อมใช้งานและตกแต่งร้านได้สบาย

Regen Districts นักออกแบบที่เสกของเสียในครัวให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่

เมื่อสิ่งที่เราเคยคิดว่าโอเค จริง ๆ แล้วมันไม่โอเค

เยลเริ่มต้นจากการเรียนสถาปัตยกรรม แล้วเปลี่ยนมาเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ตอนปริญญาโท เพราะเมื่อเธอเริ่มสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็หันมามองวิชาชีพตัวเอง แล้วพบว่าวัสดุหลักของสถาปนิกอย่างซีเมนต์นั้นมีกระบวนการผลิตที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้น ๆ เธอจึงพยายามมองหาและใช้วัสดุที่ดีต่อเราและโลก ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงเมื่อกลายเป็นขยะ

“ถ้าใช้พลาสติก ก็ต้องขุดปิโตเลียมขึ้นมา พอใช้เสร็จของเสียอย่างไมโครพลาสติกก็ถูกปล่อยลงทะเล ปลากิน แล้วคนก็จับปลามากิน สุดท้ายก็เข้าตัวเอง” เยลเล่าต่อว่า ตอนที่เธอไปเรียนต่อ คำว่ายั่งยืน มีความหมายค่อนข้างคลุมเครือ คนจึงนิยมคำว่า Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนมากกว่า เพราะสื่อถึงการวนเป็นวัฏจักร เหมือนระบบนิเวศ เมื่อผลิตภัณฑ์กลายเป็นขยะก็ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย เป็นอาหารให้พืช หมุนวนเป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ

“คนเข้าใจผิดว่ารีไซเคิลคือทางออกที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ เราต้องย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้นของวัสดุ” เยลหยิบแก้วพลาสติกขึ้นมา “แก้วใบนี้รีไซเคิลได้แค่ 4 ครั้งก็ต้องเปลี่ยนเป็นเส้นใยอื่นแล้ว”

หลังจากที่เยลเริ่มศึกษาเรื่องที่มาของวัสดุ เมื่อมองรอบห้องเธอก็เริ่มรู้สึกว่า อันนั้นก็ไม่ได้ อันนี้ก็ไม่ได้

“ตอนเรียนปริญญาโทก็คิดตลอดว่าเรียนแล้วได้อะไร สุดท้ายก็ย้อนกลับไปที่ความตั้งใจแรกของเรา ถ้าให้กลับไปทำงานที่รู้ว่าเป็นมลพิษต่อโลก ยังอยากทำไหม คำตอบคือ ไม่อยากทำ มันก็มีตัวเลือกเดียวคือเราต้องทำสิ่งนี้ต่อไป ถึงจะเหนื่อยหรือรู้ว่ายาก แต่เราก็ต้องไปทางนี้ต่อ”

Regen Districts นักออกแบบที่เสกของเสียในครัวให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่
Regen Districts นักออกแบบที่เสกของเสียในครัวให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่
Regen Districts นักออกแบบที่เสกของเสียในครัวให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่

Regen Districts ชุมชนคนสนใจของเสีย

คุยกันไปได้สักพัก ลุงรีย์ จาก Uncleree farm ก็แวะเข้ามาทักทายพร้อมปล่อยมุกตลกให้ได้หัวเราะกันครืนใหญ่

โปรเจกต์ Play (Coffee) Ground เป็นการร่วมงานกันของผู้ที่สนใจสิ่งเดียวกัน คือ Regen District สนใจนำของเสียมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ กับฟาร์มลุงรีย์ที่สนใจสร้างดินดีจากขยะและมูลไส้เดือน

“เป็นการเจอกันแบบงง ๆ พี่รีย์เห็นผลงานของเพื่อนเราจากออนไลน์ Showcase เลยชวนมาร่วมบูท Coffee Sustainability เราก็เคยเห็นงานพี่รีย์มาก่อน ก็อยากมาร่วมงานด้วย พี่รีย์เป็นคนหาขยะมาให้ทดลองแล้วก็จัดเวิร์กชอปกันในงาน” เยลชี้ให้ดูวัสดุชีวภาพ (Biomaterials) อย่างเปลือกไข่ เปลือกหอย และเยื่อหุ้มเมล็ดกาแฟ

“เราจับพลัดจับผลูไปเจอเว็บไซต์ Materiom ที่คิดสูตรวัตถุดิบแบบ Online Library ส่วนผสมของแต่ละสูตรก็ต่างกันออกไป เป็นเหมือนตำราอาหารออนไลน์” เธอเล่าต่อว่า เนื้อหาใน Materiom สอนกระบวนการทำวัสดุทุกขั้นตอน ตั้งแต่สัดส่วนวัตถุดิบที่ใช้ จนถึงวิธีทำ วัตถุดิบส่วนใหญ่ก็คือของเสียจากในครัว ที่ควรนำมาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์ และหมุนเวียนเป็นวัฏจักร

Regen Districts นักออกแบบที่เสกของเสียในครัวให้กลายเป็นวัสดุและผลิตภัณฑ์ใหม่
อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่หยิบเปลือกไข่ เปลือกหอย และเปลือกกาแฟ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุแห่งอนาคตเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์

เยลลองนำสูตรที่ได้มาปรับให้เข้ากับวัตถุดิบในประเทศไทย แล้วทำให้หลากหลายขึ้น เพื่อให้มีทางเลือกในการออกแบบที่แตกต่างออกไป Regen Districts จึงเริ่มจากตรงนี้

Regen Districts เป็นชุมชนที่มีนักออกแบบและศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานจากของเสียให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า โดยมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าแค่การรวมตัวของนักสร้างสรรค์

“ในเว็บไซต์เราแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบ เช่น เปลือกไข่ เปลือกหอย เก็บได้ที่ไหน ร้านไหนเข้าร่วมบ้าง เราปักหมุดแผนที่ในเว็บไซต์ พร้อมให้ข้อมูลว่าแต่ละร้านมีอะไรให้เก็บ เข้าไปเก็บยังไง งานของเรามี 2 ส่วนคือ ทำเวิร์กชอปให้นักออกแบบมาเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับงานของเขา เพื่อให้คนเห็นว่าวัสดุในชีวิตเอาไปทำอะไรได้บ้าง

“ส่วนสอง คือการสร้างเครือข่ายเพื่อรวบรวมของเสีย แต่ต้องมีเวิร์กชอปปก่อน ไม่งั้นคนก็ไม่รู้ ทำไม่เป็น เราต้องเน้นเผยแพร่ความรู้ให้มากที่สุด พอเขารู้เขาก็จะเข้าไปเก็บ ซึ่งเราอยากให้ยั่งยืนในระยะยาว”

เครือข่ายร้านที่มาร่วมก็มีหลายรูปแบบ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร จนถึงบาร์ แต่ละร้านมีของเสียที่ต่างกัน อย่างบาร์จะมีตะไคร้และเปลือกส้ม ถ้าไม่รับมาก็จะถูกทิ้งอย่างเสียเปล่า เยลหยิบวัสดุใกล้มือชิ้นหนึ่งขึ้นมา

“วัสดุที่เห็นเป็นสีน้ำตาลเข้มคือ กากมะพร้าวที่เขาคั้นน้ำกะทิไปแล้ว พอเราเดินเข้าไปในร้านอาหารเก่าแก่เขาก็ดีใจมาก เพราะหาคนแบบเรามานานแล้ว เขาเอาทุกอย่างมาให้เลย เพราะอยากให้ใช้วัตถุดิบคุ้มค่าจนถึงหยดสุดท้าย” พูดจบเยลก็ตักข้าวเข้าปาก ซึ่งเราไม่แปลกใจเลยที่เธอไม่มีเวลากินข้าว เพราะระหว่างพูดคุยกัน ก็มีคนเดินเข้ามาในบูทแล้วหยิบจับวัสดุต่าง ๆ อยู่ตลอด

ไม่ใช่แค่ข้าวที่ทำให้เธอมีแรง ความสนใจของคนที่แวะเข้ามาดูก็ทำให้เธอมีพลังเช่นกัน

อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่หยิบเปลือกไข่ เปลือกหอย และเปลือกกาแฟ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุแห่งอนาคตเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์

โมเดลธุรกิจสีเขียว

“วันนี้มีนักออกแบบภายในถามเยอะมากว่า ทำเป็นแผ่นกันเสียงได้ไหม เราว่าทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ค่อนข้างยาก เพราะวัสดุพวกนี้เหมาะจะเป็นเส้นใยและสิ่งทอมากกว่า บางอย่างที่ยืดหยุ่นก็ทำเป็นกระเป๋าใบเล็ก ส่วนวัตถุดิบแข็งยังมีปัญหาเรื่องการรับน้ำหนักอยู่ แต่ถ้าทำเป็นแผ่นกระดานปักหมุดก็ได้ ขึ้นกับพื้นที่และกำลังที่มี”

นักออกแบบหญิงบอกให้เราดูหม้อใบใหญ่ในบูท

“หม้อนี้ใส่ได้ 700 มิลลิลิตร ถ้าทำเป็นแผ่นใหญ่ก็ต้องใช้หลายหม้อ หรือใช้หม้อที่ใหญ่ขึ้น แต่เราว่าทำเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาต่อกันจะดีกว่า เราเน้นความง่ายให้ทุกคนทำได้ เพราะหลักของเราคือ EVERYONE EVERYWHERE ใครทำที่ไหนก็ได้”

แม้จะเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ก็มีบริษัทเฟอร์นิเจอร์หลายแห่งติดต่อเข้ามา แต่สุดท้ายเธอก็ปฏิเสธไป เพราะอยากจะทำงานนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้

“ถ้าเราทำงานให้บริษัท เราต้องจดสิทธิบัตรและเซ็นสัญญา เพราะถ้าไม่จดสิทธิบัตรการลงทุนจะมีความเสี่ยงสูง ข้อมูลพวกนี้จึงต้องไม่ถูกเผยแพร่” เยลเล่าเรื่องนี้อย่างจริงจังจนต้องวางกล่องข้าวชั่วคราว เธอยืนยันว่ายังไม่พร้อมจะเป็นสตาร์ทอัพ “เราแค่อยากทำเวิร์กชอป เผยแพร่ข้อมูลให้คนหันมาสนใจวัสดุพวกนี้เยอะ ๆ มากกว่า”

แม้ว่าเยลไม่อยากทำงาน ‘ให้’ ภาคธุรกิจ แต่ก็อยากทำงาน ‘ร่วมกับ’ ภาคธุรกิจ

อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่หยิบเปลือกไข่ เปลือกหอย และเปลือกกาแฟ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุแห่งอนาคตเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์

“เราอยากทำงานกับคนที่เข้าใจเรื่อง Circular Economy ทำธุรกิจให้กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เราอยากทำเชิงธุรกิจเพราะเขามีเงินทุน เขาทำให้สิ่งที่เราคิดฝันเป็นจริงได้ บางอย่างเริ่มจากตัวเองไม่ได้เสมอไป ต้องเริ่มจากสิ่งใหญ่ ๆ อย่างกฎหมายและนโยบาย ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัญหาโครงสร้างใหญ่ สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้เป็นการแสดงออกมากกว่า เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและช่วยให้เกิดสิ่งใหม่กับสังคม เริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ แล้วขยายใหญ่ขึ้น

“ถ้าจับมือกับบริษัทก็ต้องลดของเสียได้มากขึ้นแน่นอน ภาคธุรกิจต้องมีพื้นที่ในการเก็บของเสียได้มหาศาล มีแรงงาน มีเครื่องจักร มีตลาด และเป็นการทำงานกับโรงงาน ถ้าทำให้ของเสียไม่ออกจากโรงงานไปสู่กองขยะได้ จะสร้างผลดีให้สิ่งแวดล้อมอย่างมาก ซึ่งเรายินดีมากที่จะทำ”

นักเรียนเก่าอังกฤษอธิบายว่า ทุนที่เธอใช้ทำโครงการทั้งหมดเริ่มต้นจากบริติช เคานซิล เพราะงานนี้เธอทำร่วมกับ Materiom จากอังกฤษ Materiom ให้ความรู้เธอ แล้วเธอก็นำมาปรับแต่งให้เข้ากับประเทศไทยแล้วเผยแพร่ต่อ ส่งกลับไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศอังกฤษบ้าง

“ช่วงที่ไม่มีทุนก็จัดเวิร์กชอปไม่ได้ แต่งานนี้เรามีโอกาสเพราะพี่รีย์ชวนมา ก็ได้มาพบปะและได้สอนผู้คนจริง ๆ เรารู้สึกดีมากที่มีคนสนใจเยอะ” เธอตอบพร้อมรอยยิ้มกว้าง

อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่หยิบเปลือกไข่ เปลือกหอย และเปลือกกาแฟ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุแห่งอนาคตเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์

เยลเล่าโมเลการหารายได้ของ Regen Districts ให้ฟังว่า มาจากการจัดเวิร์กชอปและคิดค่าที่ปรึกษาเรื่องการจัดหาวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งเป็นนักออกแบบที่ไม่ใช่แค่ออกแบบของแต่งร้านกาแฟ แต่ยังเลือกวัสดุและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ร้านด้วย อย่างเช่น ทำวัสดุจากเปลือกกาแฟสำหรับร้านอาหาร หรือวัสดุจากเปลือกไข่สำหรับร้านอาหาร

“มีหลายประตูให้เราเลือก อยู่ที่ว่าจะเลือกประตูไหน เราต้องเลือกทางที่เรายังเห็นคุณค่าของงานนี้ และทำให้คนอื่นเห็นคุณค่าไปพร้อมกับเราด้วย”

ฟังแล้วก็นึกถึงคำพูดที่นักออกแบบคนนี้บอกเราในช่วงแรกของการพูดคุย เมื่อเธอรู้ว่าไม่อยากทำงานที่ต้องใช้วัสดุที่ทำร้ายโลก

“มันก็มีตัวเลือกเดียวคือเราต้องทำสิ่งนี้ต่อไป ถึงจะเหนื่อยหรือรู้ว่ายาก แต่เราก็ต้องไปทางนี้ต่อ”

ข้าวของเยลยังพร่องไปไม่ถึงครึ่ง เธอทำท่าว่ากำลังจะวางกล่องข้าวเพื่อลุกขึ้นไปคุยกับผู้สนใจกลุ่มใหม่

ดูก็รู้ว่าเธอเหนื่อย แต่ก็มีความสุข และได้รับพลังจากผู้คนมากมายที่แวะเวียนมาแสดงความสนใจ เอ่ยคำชื่นชม ไปจนถึงชวนทำอะไรสนุก ๆ ร่วมกัน เป็นแรงบันดาลใจและพลังที่ส่งถึง สะท้อน และหมุนเวียนระหว่างกัน แบบไม่สิ้นสุด

อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่หยิบเปลือกไข่ เปลือกหอย และเปลือกกาแฟ มาเปลี่ยนเป็นวัสดุแห่งอนาคตเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์

Writer

Avatar

กชกร ด่านกระโทก

มนุษย์แมนนวล ผู้หลงใหลในกลิ่นและสัมผัสของหนังสือ ใช้เวลาว่างไปกับการอ่านนิยาย/มังงะ สนุกไปกับการเดินทาง และชื่นชอบในการเรียนรู้โลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ