“ได้…ได้เลย” เป็นคำขานรับที่ได้ยินบ่อยที่สุดในบ่ายวันนั้น

เมื่อเราได้นัดพูดคุยกับ หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง ผู้ประกาศข่าวช่อง 7HD เจ้าของคอลัมน์ข่าว อนุวัต จัดให้ ที่ไม่ว่าเราจะขอให้เขาทำอะไร เขาก็จัดให้ได้หมด จนอดแซวไม่ได้ว่า คาแรกเตอร์ตัวจริงของอนุวัต ช่างเหมาะสมกับชื่อคอลัมน์ข่าวนี้เสียจริง

ขอเล่าก่อนว่า การนัดพบกับอนุวัตครั้งนี้ เราได้รับคำชวนให้ไปเยี่ยมเยือนบ้านสวนของเขาแถวลำลูกกา ปทุมธานี ในวันที่เขามีเวลาว่างในช่วงบ่าย ซึ่งนับเป็นเวลาทองอันหาได้ยากยิ่งของชีวิตผู้ประกาศข่าวที่มีคิวงานรัดตัวมากมายจนฟังแล้วเหนื่อยแทน

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

เพราะตารางงานคร่าวๆ ของเขาคือ

วันจันทร์ถึงวันพุธช่วงเช้า จัดรายการข่าวที่สถานี พร้อมเตรียมงานของคอลัมน์ข่าว อนุวัต จัดให้

วันพุธช่วงบ่ายถึงวันศุกร์ (อาจคาบเกี่ยวถึงวันเสาร์) เดินทางไปถ่ายทำคอลัมน์ข่าวที่ต่างจังหวัด

วันอาทิตย์ เป็นเวลาเขียนสคริปต์งานสำหรับออกอากาศในสัปดาห์ต่อไป

แม้ว่าตลอด 20 ปีของการเป็นคนข่าว เขาจะคุ้นเคยกับภารกิจงานข่าวที่รัดตัวเช่นนี้เป็นอย่างดี

แต่ 2 ปีที่ผ่านมา บ้านสวนของเขากลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คนบ้างานต้องหาเวลากลับมาพักใจและใช้ชีวิตกับครอบครัวทุกสุดสัปดาห์ และทุกเวลาว่างที่มี

ตลอดช่วงบ่ายนั้น เราได้พูดคุยกับเขาอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ความมุ่งมั่นพยายามของเขาในเส้นทางสายข่าวที่น้อยคนจะก้าวเข้ามาได้ เบื้องหลังความสนุกของ อนุวัต จัดให้ ที่ครบรอบ 10 ปีแล้ว ไปจนถึงความหวังความฝันในอนาคต และที่สำคัญคือการชมบ้านและเดินชมสวนที่ต้นไม้แต่ละต้นล้วนมีเรื่องราวที่มาที่ไปที่เจ้าของบ้านจำได้ทั้งหมด

ช่วงที่ 1

บ้านลอฟต์กลางน้ำ

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

เมื่อรถแล่นผ่านตลาดที่มีความจอแจเข้าสู่ประตูเหล็กของบ้านสวนที่อยู่ไม่ห่างกันนั้น บรรยากาศความวุ่นวายของชุมชนก็หายลับไป กลายเป็นความสงบเย็นร่มรื่นของต้นไม้เข้ามาโอบรับเส้นทางแคบๆ ที่พาให้รถของเรามุ่งสู่เข้าสู่ลานกว้างเบื้องหน้า อันเป็นที่ตั้งของบ้านไม้สักและบ้านปูนรุ่นเก่าที่เห็นได้ในแถบชานเมือง

เมื่อรถหยุดจอด เจ้าสี่ขาตัวโตทั้งสี่ก็วิ่งกระดิกหางกรูเข้ามาหา ก่อนที่เจ้าของบ้านรีบเดินออกมาทักทายด้วยเสียงดังฟังชัดที่เราคุ้นเคยจากทีวีมานาน

“กินอะไรกันมาหรือยัง เตรียมของกินไว้ให้แล้ว เชิญเลยๆ ” อนุวัตรีบออกมาต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง

จากการบอกเล่าคือ เขามาถึงก่อนเราสักครึ่งชั่วโมง หลังจากเข้าไปคุยกับแม่ และกินก๋วยเตี๋ยวไปได้แค่สองคำ เราก็มาถึงบ้านของเขาเสียแล้ว

“ฝนเพิ่งหยุดตกไป อากาศเลยจะอ้าวหน่อย บ้านสวนก็เป็นอย่างนี้แหละ” เขาว่าขณะพาเราเดินจากบ้านหลังใหญ่ซึ่งอยู่อาศัยมาตั้งแต่เด็ก เข้าสู่อาณาเขตบ้านหลังเล็กที่ซ่อนตัวอยู่ในแมกไม้ ที่เมื่อเดินไปใกล้ก็ค่อยๆ เผยให้เห็นบ้านสไตล์ลอฟต์ชั้นเดียว ตั้งอยู่ในสระบัวที่มีบัวกระด้งเบ่งบานต้อนรับหน้าชานบ้าน นี่คือหนึ่งความฝันที่เป็นจริงของเขา

“บ้านหลังนี้เป็นความฝันมาตั้งแต่เด็ก ว่าฉันอยากมีบ้านริมน้ำ ตอนที่สร้างมีแต่คนถามว่า สร้างแล้วจะได้มาอยู่เหรอ แต่เราไม่ใช่คนที่จะตายแล้วค่อยกลับมาสร้างบ้าน เราเป็นคนที่อยากฝันแล้วทำ ใช้ชีวิตเลย เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะอยู่ไหม เราจะเสียดายนะถ้าตายไปโดยไม่ได้ทำอย่างที่ฝัน”

สุดท้ายบ้านในฝันสำเร็จด้วยน้ำพักน้ำแรงเมื่อสองปีที่แล้วนี้เอง “ก็รู้กันอยู่ว่าเงินเดือนนักข่าวไม่เยอะ ถ้าอยากได้อย่างที่ฝันก็ต้องทำงานเยอะหน่อย แล้วค่อยๆ เก็บค่อยๆ ทำไป” เขาเล่าเปิดประตูกระจกเข้ามาในบ้าน ซึ่งเราก็ต่างขอเดินชมมุมนั้นมุมนี้ และอดที่จะเอ่ยปากเป็นเสียงเดียวกันไม่ได้ว่า น่าอยู่มาก

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง
ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

“แต่สร้างบ้านบนน้ำยากมากนะ” เจ้าของบ้านขอเล่าเบื้องหลัง “เพราะโครงสร้างดินมันเหลว แต่บ้านเราเรียกว่าดินโคตรเหลว เพราะฝั่งหนึ่งเป็นบ่อน้ำ อีกฝั่งหนึ่งเป็นคลอง ต้องใช้เสาเข็มสองต้นตอกลงไปจนตอกไม่ลง ยี่สิบกว่าเมตรได้ แล้วบ้านหลังนี้ใช้เสาไปสามสิบต้น คนสร้างบอกว่า ถ้าคุณหนุ่มยกเสามาอยู่บนดิน แล้วทำเป็นเทอเรสยื่นลงน้ำไป จะลดค่าใช้จ่ายได้ครึ่งหนึ่งเลยนะ แต่ความฝันมันค้ำคอ หมดตัวบานเลยจ้า” เจ้าของบ้านจบประโยคพร้อมเสียงหัวเราะร่วน

สองปีที่ผ่านมา บ้านน้อยหลังนี้กลายเป็นที่พักพิงใจ ที่ว่างจากงานอันรัดตัวเมื่อไหร่ เขาต้องกลับมาเสมอ

“จากที่ไม่ค่อยได้กลับมา กลายเป็นว่าตอนนี้ได้กลับบ้านทุกอาทิตย์ ว่างชั่วโมงสองชั่วโมงก็มา ขอให้ได้มาเห็นแม่ มาดูบ้าน ดูต้นไม้ มาเห็นหมา มันก็อบอุ่นใจ การกลับบ้านกลายเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเอง บางทีทำงานทุกวันเหนื่อยมาก พอกลับมาแค่ขาเหยียบถึงพื้นก็มีความสุขแล้ว

“แม่ก็มีความสุขมากขึ้นเพราะเรากลับมาหาบ่อย ตอนนี้แม่อายุแปดสิบกว่าแล้ว ก็เหมือนกลับไปเป็นเด็ก ชอบเห็นลูกหลานอยู่กันเยอะๆ แล้วปกติเสาร์อาทิตย์พี่น้องกลับมาหาแม่กันหมด พาหลานมาบ้าง พอเรากลับมาอีกคนก็ได้มาเจอกันคุยกัน มันก็อบอุ่นดี”

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ช่วงที่ 2

สกู๊ปชีวิต

เมื่อเข้ามาพักหลบร้อนในบ้าน เราก็ปล่อยให้เจ้าของบ้านได้พักกินอาหารกลางวันเสียก่อน ขณะเดียวกันเราก็ได้อิ่มหนำกับอาหารมากมายที่เขาจัดเตรียมไว้ต้อนรับ พร้อมด้วยมะม่วงน้ำปลาหวาน ที่ช่างภาพของเราอาสาไปสอยมาจากสวนหน้าบ้านและปอกให้กินด้วยตัวเอง

กินกันไปคุยกันไป เราก็ได้ฟังเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กและเส้นทางงานอาชีพของอนุวัตที่ช่างโลดโผน บางช่วงรันทด แต่เจ้าของเรื่องเล่าอย่างติดตลกให้คนนั่งขำเสมอ

ซึ่งหากพูดถึงชีวิตวัยเยาว์ เราขอสรุปสั้นๆ ว่า อนุวัตเป็นลูกชายคนเล็กที่ทั้งดื้อและแสบมากทีเดียว

สมัยเรียน อนุวัตคือเด็กดื้อที่ไม่ตั้งใจเรียน ติดเที่ยวเล่น สอบเอนทรานซ์ไม่ติด เกือบไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยไม่ทัน นี่คือวีรกรรมเบื้องต้น หลังจากที่เลือกเรียนสายนิเทศศาสตร์ เพราะคิดว่าตัวเองพูดเก่ง อยากเป็นดีเจ และฝังหัวมากับความคิดที่ว่า ‘นักข่าวไส้แห้ง’

ไม่น่าแปลกใจที่เด็กนิเทศศาสตร์คนนี้แทบไม่สนใจวิชาการเขียนข่าวเลย ขนาดที่เคยติด F และแม้จะลองชิมลางกับการทำสกู๊ปข่าวส่งประกวดไอทีวี แต่ก็เป็นการทำเพราะต้องการเงินรางวัล 3 หมื่นบาทเพื่อใช้ไปเที่ยว สกู๊ปข่าวชิ้นนั้นแม้จะได้ฟุตเทจที่ดีมาก มีความมั่นใจในการทำสูง แต่การนำเสนอโดยไม่มีความรู้ใดๆ ก็ทำให้ผลงานถูกคัดทิ้งไปตามระเบียบ และถึงสกู๊ปข่าวนั้นจะถูกพัฒนาเป็นวิทยานิพนธ์ที่ดีด้วยการติดต่อขอคำแนะนำจาก จอม เพชรประดับ บ.ก. ข่าวสังคมไอทีวีในขณะนั้น แต่เขาก็ยังไม่ได้สนใจเส้นทางสายข่าวแต่อย่างใด

หลังเรียนจบ อนุวัตได้รับรู้ว่าที่บ้านติดหนี้เป็นสิบล้านจากการกู้เงินมาทำตลาดแล้วเจอช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง จากเด็กใช้เงินมือเติบที่พ่อแม่ให้เงินใช้เดือนละหนึ่งหมื่นบาท เริ่มได้สติและพยายามหางานทำ ท่ามกลางความกังวลทั้งหลาย โอกาสก็เข้ามาได้ถูกเวลาพอดี เพราะพี่ในบริษัทแปซิฟิกที่เขาได้ไปฝึกงานติดต่อมาให้ไปทำงานสารคดีเกษตร ซึ่งเขาตกปากรับคำทันที แม้จะมีเงินเดือนเพียง 7,500 บาท

“ตั้งแต่วันที่มีงานทำ เราตัดสินใจไม่ขอเงินที่บ้านอีกเลย ทุกอย่างสอนให้เรารู้ว่าถ้าฟุ่มเฟือยจะอยู่ไม่ได้ เราต้องจัดการว่าจะใช้จ่ายยังไง แบ่งเก็บสำหรับเที่ยวยังไง ต้องจัดสรรเงินเจ็ดพันห้าร้อยบาทของเราให้ได้ แต่โชคดีที่อยู่ที่แปซิฟิกอยู่กันอย่างครอบครัว ใครเอาอะไรมาก็แบ่งกันกิน ข้าวแถวนั้นก็ไม่แพง เสียค่าใช้จ่ายไม่เยอะ” เขาเล่าย้อนถึงวันที่เริ่มเติบโตและต้องดูแลตัวเอง

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ช่วงที่ 3

สู่เส้นทางข่าวด้วยความมั่นใจ ไร้สติ

“พอทำงานสารคดีได้สองปี ก็เกิดความมั่นใจไร้สติขึ้นมาอีก” เขาว่าอย่างนั้น เพราะเมื่อวันหนึ่งนึกอยากทำงานข่าว ก็เดินไปหาผู้จัดการศูนย์ข่าวแปซิฟิกที่อยู่ตึกเดียวกัน และขอมาทำงานโดยที่ก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ซึ่งการเข้ามาทำงานข่าวที่ตัวเองคิดไปเองว่าต้องสนุก ได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ กลับตรงข้ามกับความคิดอย่างสิ้นเชิง

“พอมาอยู่ที่ศูนย์ข่าวฯ ร้องไห้ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย เพราะเราไม่มีทักษะ ไม่มีพื้นฐานใดๆ เลย เราเป็นเด็กแย่ๆ คนหนึ่งที่มีแต่ความมั่นใจไร้สติ มาอยู่ก็เหมือนเป็นเด็กหลังห้องเอ๋อๆ เขาคุยอะไรกันก็ไม่รู้เรื่อง จับประเด็นข่าวก็ไม่เป็น เขียนข่าวก็ช้า เคยมีวันหนึ่งทำข่าวสัมภาษณ์ในสถานี บ.ก. ถามว่า อีกสิบห้านาทีออกข่าวต้นชั่วโมงเขียนทันไหม เราตอบไปว่า ไม่ทัน บ.ก. ก็บอกว่า ถ้าไม่ทันก็ออกไป

“เราทั้งโง่ พัฒนาการช้า อายุเยอะกว่าใครแต่ทำได้น้อยกว่าเขา กดดันมาก ทำพลาดก็เยอะ ผิดก็แยะ สิ่งที่คิดตอนนั้นคือ หายใจยังผิดเลย สุดท้ายก็ต้องมานั่งทบทวนว่าจะไปต่อดีไหม จำได้ว่าวันนั้นนั่งถามตอบกับตัวเองที่หน้ากระจกอยู่นาน แล้วก็ได้คำตอบว่า ไปต่อสิ คนอื่นเขาหนึ่งสมอง สองมือสองเท้าเหมือนกันยังทำได้เลย”

ศูนย์ข่าวแปซิฟิกเป็นเหมือนโรงเรียนนักข่าวที่ฝึกให้นักข่าวหนึ่งคนทำข่าวได้ทุกประเภท ตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ การคลัง อาชญากรรม สังคม ไปจนถึงบันเทิง ซึ่งอนุวัตก็พยายามพัฒนาตัวเองอย่างที่สุด เก็บหนังสือพิมพ์ไปอ่านทุกวัน ตั้งใจทำงานเต็มที่ จนทำได้ดีและสนุกกับทุกงานที่ได้รับมา หลังจากทำงานได้สักพัก ก็ได้ข่าวจากรุ่นพี่ว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวีเปิดรับนักข่าว

“สมัยนั้นไอทีวีดังมาก ใครก็อยากไป ที่สำคัญเงินเดือนดีด้วย” เขาเล่าอย่างจริงใจ

การสอบเข้าไอทีวีเรียกว่าโหดหินอย่างมาก เพราะมีการสอบหลายรอบด้วยกัน รอบแรกเป็นสอบข้อเขียน ซึ่งวันสอบตรงกับวันทำงานที่เขาต้องสแตนด์บายรายงานข่าวที่สภา เขาต้องหาวิธีเอาตัวรอดด้วยการรีบไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวแต่เช้า แล้ววิ่งมาสอบ ก่อนให้เพื่อนๆ ที่สภาช่วยส่งข่าวเพิ่มเติม แล้วเขาก็แอบรายงานข่าวจากในห้องสอบ

“เพื่อนนักข่าวก็น่ารักมาก ช่วยเหลือทุกอย่าง เรานั่งสอบอยู่ ต้นชั่วโมงก็ต้องแอบรายงานข่าวที่เพื่อนช่วยกันส่งมา ข่าวต้นชั่วโมงจะได้ยินว่า ‘อนุวัต เฟื่องทองแดง รายงานจากรัฐสภา’ ทั้งที่ตัวนั่งสอบอยู่ที่อาคารไทยพาณิชย์’”

แม้จะทุลักทุเลแต่เขาก็สอบผ่านข้อเขียน ผ่านการสอบรายงานข่าวเปิดหน้า และผ่านสอบสัมภาษณ์ จากบุคลิกลักษณะที่ไม่เหมือนใคร แต่เหมาะกับการเป็นนักข่าวที่น่าจะเอาตัวรอดในภาคสนามได้มากที่สุด เขากลายเป็นนักข่าวน้องใหม่ไอทีวีคู่กับ ฐปนีย์ เอียดศรีไชย งานที่นี่ทำให้ได้รายงานข่าวออกหน้าจอเป็นครั้งแรก

“เพราะไอทีวีเป็นช่องที่ไม่สนใจหน้าตา ขอแค่มีความสามารถ คุณก็เปิดหน้ารายงานข่าวได้”

นอกเหนือจากการเป็นนักข่าวภาคสนามที่ต้องลุยไหนลุยกันทุกสถานการณ์แล้ว การทำงานที่ไอทีวีทำให้อนุวัตได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศข่าวด้วย เขาเรียนรู้การทำงานทุกอย่างจากที่นี่อย่างเต็มที่ ไม่ว่าใครทำอะไรก็ขอเข้าไปช่วยไปดู สไตล์ครูพักลักจำ กลายเป็นคนข่าวตัวจริงที่น่าจับตามอง แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน ไอทีวีต้องปิดตัวลง

“ตอนนั้นกลายเป็นคนตกงาน พี่ๆ นักข่าวที่เรารู้จักก็เอ็นดูสงสาร ชวนไปทำงานด้วยหลายแห่ง ทางพี่ที่ช่องเจ็ดก็เรียกเข้าไปคุยว่า เขาอยากทำรูปแบบข่าวของช่องให้เข้มข้นขึ้น แต่หนุ่มอาจจะเหนื่อยหน่อยนะ ต้องอ่านข่าวตีห้า แล้วก็วิ่งไปทำข่าวการเมือง แล้วกลับมาอ่านข่าวต่อ ซึ่งจริงๆ งานก็เหมือนที่เคยทำตอนไอทีวีนั่นแหละ แต่เราก็คิดสะระตะแล้วว่า ช่องเจ็ดอยู่ใกล้บ้านที่ซื้อไว้ที่ดอนเมืองที่สุด เดินทางสะดวกที่สุดแล้ว ก็ตกลงทำที่นี่” เหตุผลการเลือกที่ทำงานของเขาเสียงหัวเราะได้ครืน

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง
ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ช่วงที่ 4

10 ปีของ อนุวัต จัดให้

จุดเริ่มต้นของรายการ อนุวัต จัดให้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2554 ที่วันหนึ่งอนุวัต และ ศรีสุภางค์ ธรรมาวุธ ได้รับหน้าที่ไปแจกของชาวบ้านที่ลพบุรี ขากลับเกิดน้ำท่วมถนนขาด ทำให้กลับมาอ่านข่าวที่สถานีไม่ทัน

อนุวัตจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการจัดรายการจากลพบุรี โดยที่เขาอาสาพาทีมงานไปเก็บภาพน้ำท่วมเพิ่มเติมในหมู่บ้านไกลๆ ในสไตล์ของเขาเองมาประกอบในข่าว หลังจากออกอากาศ ปรากฏว่าผู้ใหญ่ของช่องชอบ เขาจึงได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวน้ำท่วมในที่ไกลๆ เพื่อนำมาออกอากาศทุกวัน

หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย เขาก็ได้รับมอบหมายให้ทำรายงานข่าวพิเศษในสไตล์ที่เขาถนัด ซึ่งจะเป็นคอลัมน์ข่าวประจำของเขาเอง เวลานั้น ตะวัน เขียววิจิตร ซึ่งเป็นหัวหน้างานจึงคิดชื่อให้ว่า ‘อนุวัต จัดให้’ จากที่มาคือ ไม่ว่าใครส่งเรื่องอะไรมา อนุวัตทำได้หมด

อนุวัต จัดให้ เป็นการทำงานในสไตล์ของเราเลย อยากรู้เรื่องอะไรที่ไหนก็ไป แต่พยายามเดาใจว่าคนชอบอะไร ความรู้สึกคือ คนไทยโหยหาอดีต โหยหาธรรมชาติ อยากกลับบ้าน กลับสวน กลับไปหาพ่อแม่ แต่ทำไม่ได้เพราะมีภาระหน้าที่การงาน บางครั้งก็อยากกลับไปดูวิถีชีวิตเก่าๆ ที่ไม่มีแล้ว บางคนได้ดูแล้วก็นึกถึงชีวิตสมัยก่อน คนอยู่ต่างประเทศก็ส่งข้อความมาบอกว่า เห็นแล้วคิดถึงบ้านมากเลย”

ที่ผ่านมาผู้ชมจึงเห็นอนุวัตเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ขึ้นเขาลงห้วย ท่องไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำของไทย เพื่อพาผู้ชมไปดูวิถีชีวิตผู้คน วัฒนธรรมท้องถิ่น ไกลแค่ไหนก็ต้องไปให้ถึง เสี่ยงแค่ไหนก็สู้ ผู้ชมจะได้ลุ้นตลอดว่า วันนี้รายการอนุวัตจะไปที่ไหน หรือทำอะไร

แต่ที่เห็นบ่อยมากคือ การลงน้ำจับปลา ที่เราอดที่เอามาแซวเขาไม่ได้

“คิดอะไรไม่ออกก็หาปลานะ” เขาว่าแล้วหัวเราะ “การหาปลามีวิถีที่แตกต่างหลากหลาย ปลาพันธุ์นี้ใช้ภูมิปัญญาแบบนี้ หรือไปอีกจังหวัดเขาใช้วิธีอีกแบบ เราก็ลงไปหากับเขาด้วย แต่คนชอบนะ มันเหมือนกับวิธีชีวิตที่เขาเห็นกันตอนเด็ก ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยเห็นกันแล้ว เช่น ดักปลาด้วยไม้ไผ่ เรือผีหลอก เราจึงแตกประเด็นออกมาได้”

นอกเหนือจากการมอบความสนุกแฝงสาระในรูปแบบของข่าวแล้ว จุดประสงค์สำคัญที่แฝงไว้ของ อนุวัต จัดให้ คือการอาสาเป็นตัวแทนพาผู้ชมทุกคนที่อาจมีข้อจำกัดบางอย่างในชีวิตออกไปเปิดโลกกว้างด้วยกัน

“ผู้ชมบางท่านอายุเยอะแล้ว หรือบางท่านอาจจะร่างกายไม่อำนวย เขาบอกว่า ‘ไปแบบคุณอนุวัตไม่ได้หรอก แต่ดูแล้วมีความสุข เกิดมาก็เพิ่งจะเห็นอะไรแบบนี้’ บางคนอยู่ภาคเหนือไม่เคยเห็นวิถีชีวิตคนภาคใต้ หรือโอกาสของคนคนหนึ่ง เขาคงไม่สามารถเดินทางเจ็ดสิบหกจังหวัดก็ไม่เป็นไร เราขอทำหน้าที่เป็นตัวแทน ไปดูแทน ไปทำเที่ยวแทน ไปลำบากแทนให้ได้  สิ่งสำคัญจากการดูรายการนี้คือ เราอยากเห็นรอยยิ้มจากทุกคนก่อน จากนั้นจึงเป็นสาระต่างๆ ที่แฝงไป เบาบ้าง หนักบ้าง แต่คนดูต้องมีความสุข”

อีกหนึ่งเสน่ห์ที่โดดเด่นของรายการคงหนีไม้พ้นความเป็นกันเองของอนุวัต ที่หน้าจอเป็นอย่างไรตัวจริงก็เป็นเช่นนั้น ด้วยคาแรกเตอร์ที่ว่านี้เอง ทำให้อนุวัตกลายเป็นขวัญใจชาวบ้านอย่างง่ายดาย ขนาดที่โชเฟอร์ผู้ที่ทำงานร่วมกับเขาเล่าว่า ‘บางงานพอรถตู้มาถึง มีคนกรี๊ดรอรับเลยนะ’

“ความเป็นนักข่าวของเราทำให้คนเข้าถึงได้” เขาเล่าบ้าง “เหมือนกับเป็นลูกหลานมาเยี่ยมบ้าน พอเจอกันเขาก็จะทักว่า ‘โอ๊ย ตัวจริงดำกว่าทีวีเนอะ’ หรือ ‘ตัวเล็กไป ป้าคิดว่าตัวใหญ่กว่านี้’ บางคนก็แซวว่า ‘เห็นอ่านข่าวอยู่ทุกวัน ขอกอดได้ไหม’ เราก็จะแซวกลับไป ‘มีที่ดินไหมป้า มรดกมอบให้ใครหรือยัง’ เราไม่เคอะเขินที่จะคุยกับเขา

“แต่บางทีเราก็มีง่วงเนอะ เขาทักว่า ‘ไม่เห็นยิ้มเลย’ เราคิดในใจ นี่ร่างกายจะถอดวิญญาณอยู่แล้ว แต่ก็บอกไปตรงๆ ว่า ‘ป้า ผมขอโทษนะ ผมกำลังมึน ขอเวลาตั้งสติสิบนาทีนะ’ หรือบางทีเขาทัก เป็นอะไรวันนี้หน้าเครียดจัง เราก็ ป้า ไม่อยากจะบอกเลย ขอขี้ได้ไหม ปวดท้อง ก็บอกเขาตรงๆ”

จนถึงวันนี้ อนุวัต จัดให้ ออกอากาศมาครบ 10 ปีแล้ว เบื้องหลังตั้งแต่วันแรกเป็นอย่างไร วันนี้ก็เป็นเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นความทุ่มเทในการทำงาน และความสนุกที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับทีมงานทุกคน

“เราทำเองหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่หาประเด็น โทรติดต่อแหล่งข่าว ประสานงาน เขียนสคริปต์ ดูภาพ วางคิวภาพ คุมตัดต่อเอง ทำแบบนี้มาตั้งแต่วันแรก ถึงแม้จะดูเป็นงานหนัก แต่เบื้องหลังคือการทำงานที่สนุก สนุกที่ได้ไปกับทีมงาน ไปเจอชาวบ้านที่มีความน่ารักแตกต่างกันไป บางตอนเหนื่อยใจจะขาด เดินไม่ไหวแล้ว แต่พอเห็นคนเดินนำก็ไม่ไหว ช่างภาพด้านหลังก็ไม่ไหว ก็ไม่เป็น ค่อยๆ ไปกัน

“เรื่องเสี่ยงอันตรายด้วยกันก็เยอะนะ ด้วยเวลาที่จำกัดบางทีเราก็บีบคั้นทีมงานมาก เส้นทางที่ปกติใช้เวลาเดินสามวัน ก็ต้องเดินให้ได้สองวัน ทุกคนอัดฝีเท้ากันเต็มที่ แล้วช่างภาพกับทีมงานโดนทิ้งประจำ เพราะเราต้องรีบกลับมาขึ้นเครื่องให้ทันก่อน แต่พอผ่านเหตุการณ์โหดๆ มาแล้วก็มานั่งเล่านั่งขำกับทีมงานได้”

ทำงานหนักขนาดเป็นสิบปี ปีนี้อายุก็เข้าหลักสี่แล้ว ร่างกายยังไหวไหม – เราแอบถาม

“วืดต่างจังหวัดก็มีนะ แต่เราไม่อยากเอามาบอกใคร มีแต่ทีมงานที่รู้ว่าเราเคยน็อกเข้าโรงพยาบาลกะทันหัน ต้องไปฉีดยา นอนพัก แล้วก็ตื่นไปทำข่าวที่อื่นต่อ”

พักชมสิ่งที่น่าสนใจในสวน

มาถึงตรงนี้ เราอยากให้พักเรื่องงานหนักๆ ไว้ก่อน ด้วยการขอให้เจ้าของบ้านพาไปเดินชมสวนพร้อมเก็บภาพในยามแดดร่มลมตก ซึ่งเขาก็ยินดีอย่างยิ่ง

“ก่อนสร้างบ้าน เราวางแผนการใช้ที่ดินทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์มากที่สุด” เจ้าของบ้านเริ่มเล่าขณะที่พาเดินลัดเลาะชมสวน “เราแบ่งไว้หมดว่าตรงนี้เป็นโซนบ้านตรงนี้เป็นโซนสวน จุดเชื่อมต่อสวนกับบ้านต้องมีต้นไม้อะไร ตอนยังไม่มีเงินทำบ้านก็ถางดินก่อน แล้วก็เอาไม้ใหญ่มาลงไว้ เพื่อที่วันที่สร้างบ้านเสร็จ ไม้จะโตให้ร่มเงาพอดี

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

“ดังนั้นไม้ที่ปลูกที่นี่ถึงจะเป็นไม้ล้อม แต่ไม่ใช่ไม้ใหญ่ เพราะเราสู้ราคาไม่ไหว เวลาไปซื้อก็จะบอกเขาว่าเอาไม้ขนาดสองนิ้วนะ เป็นไม้หน้าสอง ราคาไม่แพง การปลูกไม้เล็กมันทนกว่า ปรับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า”

จากหน้าบ้าน เราเห็นบอนต้นใหญ่สะดุดตา เขาเล่าว่าต้นนี้เพื่อนให้มาและปลูกไว้ตั้งแต่ต้นเล็กจนสูงโตท่วมหัว เลี้ยวมาด้านข้างบ้านก็เจอต้นพริกสูงเกือบ 2 เมตรที่มีเม็ดพริกเต็มต้น ข้างๆ กันคือต้นพุดพุ่มใหญ่สะพรั่ง และต้นกุหลาบเถาต้นสูงที่เลื้อยขึ้นไปโตอยู่บนระแนงสูง ที่เขาบอกว่าเป็นคนปีนเอาเถาขึ้นไปพันกับเหล็กด้านบนเอง

ตรงข้ามกับหน้าต่างบานใหญ่ของบ้าน เป็นแนวปลูกผักสวนครัวแปลงเล็ก ที่ทำไว้ให้คุณแม่มาดูแล เขาบอกว่าเป็นกุศโลบายให้แม่มาอยู่ใกล้กันเสมอในวันที่เขากลับมาอยู่บ้าน

“แปลงผักทำไว้ตรงนี้ แม่จะได้ไม่ต้องเข้าไปตรงสวนผักอีกด้านหนึ่งที่อยู่ไกล คนในบ้านจะได้เห็นว่าแม่อยู่ตรงนี้นะ เราก็ทำสวน ตัดต้นไม้อยู่ใกล้ๆ บ่ายๆ ก็เห็นแม่เข็นรถมาปลูกผัก มาคุยกับไก่บ้าง ผักของแม่ก็งามจนตัดไปขายได้แล้วนะ ที่เหลือต้นเล็กต้นน้อยก็เด็ดให้ไก่กิน”

ลัดเลาะไปด้านหลังบ้าน เราได้เห็นศาลาริมคลอง ซึ่งเป็นที่พักกายใจรับลมเย็นสบาย ใกล้กันนั้นมีต้นไม้เล็กใหญ่หลายต้น เขาเน้นเสมอว่า ต้นไม้ในสวนเป็นต้นไม้ราคาไม่แพง และส่วนมากได้มาฟรี

“ลีลาวดีต้นใหญ่พวกนี้ สมัยที่พ่ออยู่เขาปลูกไว้เยอะมากจนต้องล้อมไปปลูกที่อื่น เราก็เลือกต้นฟอร์มสวยๆ มาไว้ตรงนี้ ไม่ต้องซื้อ เพราะซื้อก็ราคาเป็นหมื่น ส่วนจำปีต้นนี้ซื้อมาจากร้านประจำที่คลอง 15 ราคาไม่กี่สิบบาท เราไม่เอาต้นสวย เอาต้นแข็งแรงที่เขาขายราคาถูกมาปลูก ส่วนกล้วยไม้ก็เอามาจากกระเช้าปีใหม่ พอมันเหี่ยวก็ไม่มีคนเอา เราก็เอามาปลูกต่อ ส่วนแคคตัสคนให้มาเยอะ เลี้ยงที่คอนโดฯ ก็ไม่ได้แดด เลยเอามาไว้ที่นี่”

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง
ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

แค่ได้ฟังประวัติของต้นไม้ส่วนหนึ่งที่ปลูกไว้รอบบ้านก็เริ่มสนุกแล้ว แต่ต้นไม้ในส่วนสวนผลไม้สนุกกว่า เพราะแต่ละต้นมีที่มาจาก 4 ภาคของประเทศไทย เรียกว่าไปจังหวัดไหนก็มีคนใจดีฝากต้นไม้ติดไม้ติดมือมาให้เสมอ

“นี่น้อยหน่าลูกใหญ่มาจากโคราช” เขาเล่าเมื่อเริ่มเดินย้อนกลับมาแปลงผักและเข้าสู่ฝั่งสวนผลไม้ “นี่ทับทิมสยามมาจากปากพนัง เพื่อนแบกมาให้ ชมพู่ต้นนี้มาจากเมืองเพชร แก้วมังกรเอาจากจังหวัดเลย เอามาปักไว้ตามธรรมชาติจนโตและเก็บผลไปแล้วรุ่นหนึ่งแล้ว มะพร้าวต้นนี้มาจากนครศรีธรรมราช เขาบอกว่าเป็นมะพร้าวออกลูกเมื่อสูงหนึ่งเมตร นี่ดูสิ สามเมตรแล้ว” เขาเล่าพลางชี้ให้ดูมะพร้าวต้นสูง

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ดูเหมือนว่าสวนผลไม้ผสมแห่งนี้มีไม้ผลแทบทุกประเภท ทั้งกระท้อน มะม่วง ชมพู่ มะละกอ มังคุด ฝรั่ง ที่ให้ผลงามขนาดที่กินไม่ไหวจนต้องนำไปขาย มีเพียงต้นไม้ชนิดเดียวเท่านั้นที่เขาปลูกอย่างไรก็ไม่รอด

“ทุเรียนเอามาปลูกสามรอบก็ตาย ล่าสุดไปซื้อต้นมะนาวที่ร้านต้นไม้ประจำที่คลอง 15 ป้าก็ให้ต้นทุเรียนหมอนทองมาสองต้น ต้นละตั้งร้อยแปดสิบบาท เราก็บอกว่า ‘ป้า ไม่เอาหรอกครับ ผมปลูกสามรอบตายสามรอบ’ แกก็ไม่ยอม พอเอามาแล้วก็ตายจริง คิดว่าให้ป้าปลูกแล้วเรามากินบ้านป้าน่าจะง่ายกว่า” เขาว่าแล้วเราต่างก็หัวเราะ “จริงๆ ถ้าจะปลูกให้รอดเราต้องสู้กับมัน ต้องทำเยอะหน่อย เดี๋ยวต้องหาวิธีก่อน”

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อนุวัตไม่สามารถเดินทางไปทำข่าวภาคสนามในต่างจังหวัดเช่นเคย วันเสาร์อาทิตย์เขาจึงทุ่มเทกับการทำสวนของเขาอย่างเต็มที่ มีเวลาคิดและทำมากขึ้นจนเนรมิตเล้าไก่ขนาดย่อมขึ้นมาในฉับพลันได้

“พอเราปิ๊งไอเดียว่าต้องมีเล้าไก่ ก็วาดแปลนแบบชาวบ้านนี่แหละ แล้วก็ไปเดินดูในโรงเก็บของว่ามีเศษเหล็ก เศษไม้อะไรที่มีอยู่ เราก็จับนั่นผสมนี่ หลังคาเก่าก็มี แล้ววาดไว้ให้เขาหมด วงเล็บด้วยว่า ขอไม่แพง แล้วก็ให้พี่สาวช่วยคุมคนงานมาทำ มูลค่าเล้าไก่ก็ห้าพันบาท ซึ่งเป็นค่าแรงคนงาน”

ช่วงเวลาที่อนุวัตได้เดินชมต้นไม้ เก็บสาหร่ายในบ่อปลาหานกยูงเล็กๆ ข้างบ้าน เข้าเล้าไปดูแลไก่และเก็บไข่ไก่ ช่างดูเป็นห้วงเวลาของความสุขสงบอีกแบบที่เขาพอใจ ตรงข้ามกับหน้าที่การงานที่ต้องเร่งแข่งกับเวลาเสมอ

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง
ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ช่วงที่ 6

มาไกลเกินฝัน

การที่เด็กคนหนึ่งซึ่งไม่เคยคิดอยากเป็นนักข่าว ได้กลายเป็นตัวจริงในสายอาชีพและเป็นที่รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตาของคนทั้งประเทศได้ อนุวัตยอมรับว่า เขามาไกลเกินฝัน

“ไม่เคยคิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ นี่คือเกินฝันแล้ว ถามพี่น้องได้ เขายังไม่คิดเลยว่าเราจะมีวันนี้ สมัยก่อนแม่ยังคิดว่าเราจะติดยาเลยนะ เราเองก็ยังเคยคุยกับเพื่อนนักข่าวที่สนิทกันอยู่เลยว่า กูต้องสายมูแน่ๆ ต้องมีอะไรคอยโอบอุ้ม อุ้มชูอยู่ตลอด” เขาพูดติดตลกตามสไตล์ ก่อนที่จะบอกความรู้สึกอย่างจริงจัง

“เราไม่เคยคิดเลยว่าจะได้มานั่งอยู่หน้าจอ เคยมีผู้ใหญ่ที่เคารพท่านหนึ่งบอกว่า ‘ขอร้องนะ อย่าออกทีวี แกผอมซะขนาดนี้ ออกทีวีมันไม่น่าดู’ เราก็บอกไปว่า ‘ผมไม่เคยคิดที่จะออกเลยพี่’ เรารู้ว่าที่เขาพูดเพราะสอนนั่นแหละ พอวันหนึ่งทำงานที่ต้องออกหน้าจอทีวี เราก็ต้องพัฒนาตัวเอง

“มีน้องๆ เคยมาถามว่า หนูไม่สวย ผมไม่หล่อเลย จะทำงานนี้ได้ไหม เราบอกเลย ไปดูรูปกูสมัยก่อนไป กูมาไกลจะตาย แต่ไม่ได้ศัลยกรรมนะ ทำฟันอย่างเดียว” ดูเหมือนจะจริงจังได้ไม่เท่าไหร่ มุกตลกก็กลับมาอีกแล้ว

“หลังจากได้เป็นผู้สื่อข่าวได้ออกทีวี ก็ไม่เคยคิดที่จะได้มานั่งจัดรายการยาวๆ จากนั้นก็ได้เป็นคอมเมนเตเตอร์อีก มีงานอีเวนต์อีก และที่ไม่เคยคิดคือ จะได้ไปยืนแจกเงินกับ พี่เอ (วราวุธ เจนธนากุล) ในรายการ The Money Drop ไทยแลนด์ ซึ่งยิ่งใหญ่อลังการมาก ถึงบอกว่าเรามาไกลมากจริงๆ”

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เด็กไม่เอาไหนคนนั้น กลายเป็นมาเป็นอนุวัตในวันนี้ได้ – เราถาม

“หนึ่งคือโอกาส อย่างที่บอกไปแล้ว เพราะคนเก่งมีเยอะมาก เก่งกว่าเราทุกคน เป็นเหมือนเด็กที่ไม่มีความรู้ บอกตรงๆ ว่าเก่งอย่างเดียวคือการคุย แต่ผู้ใหญ่ให้โอกาส ทั้งที่คนเก่งบางคนไม่ได้รับโอกาสนั้น คิดดูว่าผู้ประกาศช่องเจ็ดเป๊ะกันทุกคน เราเหมือนเป็นผู้ประกาศนอกคอกเลย เราไม่เป๊ะ เพราะเราไม่มีความเป็นตัวเอง แต่ไม่ใช่ความเป็นตัวเองจะดีนะ คือคนอื่นเหมือนเราไม่ได้” เขาพูดแล้วก็หัวเราะ

“สองคือ ตัวเราที่มีความพยายาม มีความอดทนมุ่งมั่น และบอกตัวเองเสมอว่า สู้ได้อีก อีกนิดหนึ่งน่า สู้หน่อย เพราะเชื่อว่าโอกาสมาหาคนที่พร้อมเสมอ พอทั้งสองอย่างผนวกกัน โอกาสมา ความมุ่งมั่นอดทนมี และยิ่งได้ทำสิ่งที่รักด้วย เราก็เต็มที่และสนุก เหนื่อยแค่ไหนก็สนุกนะ ยิ่งได้ตังค์ยิ่งชอบ” ทุกคนต่างหัวเราะเมื่อเขากลับมาย้ำจุดยืนอีกครั้ง

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

ช่วงสุดท้าย

เจ้าของร้านกาแฟในอนาคต

หากมองจากความสนุกและทุ่มเทในการทำงานแล้ว เราไม่เห็นทีท่าว่าอนุวัตจะมองไปถึงวันเกษียณ

“มองไว้แล้วนะ” เขาบอกโดยทันที “เราวางแผนไว้แล้วว่า อีกกี่ปีฉันต้องใช้ชีวิตแบบสโลว์ลงแล้วนะ ฉันควรมีอะไรบ้าง ถ้าต่อไปร่างกายเราทำงานหนักอย่างเดิมไม่ได้ หรือกลยุทธ์อย่างเราสู้คู่แข่งไม่ไหว เราก็ต้องยอมรับในวันนั้น และต้องมองหาอะไรมารองรับไว้ด้วย”

เมื่อเราถามประเด็นนี้ต่อ เขาก็แย้มถึงแผนที่วางไว้ว่า “พอกลับมามองตัวเองแล้วก็คิดว่า ฉันต้องมีเงินไว้สักนิดหนึ่งนะ และควรต้องมีร้านกาแฟเล็กๆ สักร้าน อยากให้เป็นร้านกาแฟนี้เป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่เปิดต้อนรับให้คนมาเจอได้ จุดขายคือความเป็นกันเอง เราจะได้ใช้ชีวิตแบบไม่เหงา ส่วนพวกเครื่องดื่ม ถึงเราไม่ได้เป็นคนกินกาแฟ แต่ก็ไปหาเรียนได้”

ที่น่าตื่นเต้นคือ แผนที่เขาเล่าให้ฟังนี้ไม่ใช่เพียงแค่ความฝัน แต่เป็นแผนที่กำลังลงมือทำให้สำเร็จ

“ที่ดินทำร้านกาแฟซื้อไว้แล้วที่จังหวัดนครนายก ที่ผ่านมาก็เข้าอบรมโครงการโคก หนอง นา โมเดล เพื่อไปเรียนรู้การจัดการพื้นที่ทำเกษตร แปลนร้านก็เขียนไว้หมดแล้วว่าเป็นยังไง ปลูกต้นไม้อะไรตรงไหนบ้าง สัตว์อะไรที่ต้องเลี้ยง ปีหน้าคงเริ่มขุดโคก ทำโน่นทำนี่ กว่าร้านจะเป็นรูปร่างคงสักสองปี เพราะรอต้นไม้ให้โตด้วย”

ท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตของอนุวัตคงมีเป้าหมายคล้ายกับหลายคนเช่นกัน คือไล่ตามความฝันและทำให้เป็นจริง

“ตอนนี้พยายามเก็บความฝันที่มี เพราะไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ เราไม่อยากตายโดยที่ยังไม่ได้ทำอะไร เมื่อบ้านสำเร็จไปแล้ว ก็เหลืออีกหนึ่งความฝัน คือการมีร้านกาแฟเล็กๆ เป็นของตัวเอง” เขาทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มกว้างอย่างที่เราเคยเห็นกันชินตา           

ก่อนจากกัน เราต่างเป็นกำลังใจให้เขาทำความฝันนี้ให้สำเร็จในเร็ววัน และหวังว่าอีกไม่นานเราจะได้ไปเยี่ยมเยือนเขาที่ร้านกาแฟในฝันแห่งนี้สักครั้งเช่นกัน

ชีวิตนอกจอในบ้านสวนของ ‘อนุวัต จัดให้’ ผู้จัดได้ทุกข่าว มาเล่าเรื่องต้นไม้ได้ทุกต้น, หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)