สุพรรณหงส์ 3 ตัวยืนเด่นบนโต๊ะทำงานของ นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ไม่นับรวมรางวัลอื่น ๆ ที่เรียงรายอยู่ในห้องทำงานในสตูดิโอย่านลาดพร้าว แต่ถ้าลองเพ่งพินิจออฟฟิศของเธอดูดี ๆ จะเห็นได้ว่าหิ้งเหนือศีรษะ ชั้นวางของข้างตัว และสารพัดกล่องบนโต๊ะมุมห้อง อัดแน่นด้วยขวดน้ำหอมนับร้อย ๆ ขวด ซึ่งตัวนุชี่เองก็ไม่ได้นับจำนวนไปนานแล้วว่ามีทั้งหมดเท่าไหร่ 

คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาคือ ทำไมน้ำหอมถึงไม่อยู่บนโต๊ะเครื่องแป้งที่บ้าน แต่ไพล่มาจัดแสดงเป็นมิวเซียมน้อย ๆ ในออฟฟิศผู้กำกับภาพยนตร์

“เราเก็บน้ำหอมไว้ที่ทำงาน เพราะว่าถ้าไว้ที่บ้าน ห้องนอนอยู่ชั้นสอง มันร้อน ที่นี่อยู่ชั้นล่าง มันเย็นกว่า แล้วก็เอาไว้ดมตอนทำงานด้วย” นักสะสมน้ำหอมวินเทจตอบตรงไปตรงมา 

นิยามของ Vintage คือของที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ในปัจจุบันคือยุคโบราณถึงปี 1970 แต่นุชี่เลือกเก็บตั้งแต่น้ำหอมอายุ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งเปลี่ยนวัตถุดิบหรือปรับปรุงกลิ่นไปจนหาแบบเดิมไม่ได้แล้ว หรือน้ำหอมที่เลิกผลิต อนุชาตระเวนสะสมน้ำหอมตามตลาดมือสอง ทั้งตลาดน้ำหอมและตลาดทั่วไปทั้งที่ญี่ปุ่น อินเดีย และยุโรป ห้างสรรพสินค้าเก่า ๆ (บางขวดได้จากห้างไนติงเกล พาหุรัด) บางทีคนก็มาขายให้ หรือส่วนมากไปประมูลจากอเมริกาทางอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นแหล่งน้ำหอมวินเทจสำคัญ ธุรกิจน้ำหอมไหน ๆ ต้องมาเปิดในประเทศใหญ่นี้ น้ำหอมวินเทจตกค้างที่อเมริกาเยอะมาก จนเลือกซื้อได้หลากหลาย

ความอุตสาหะเสาะหาของหอมนี้มีที่มาอย่างไร ทำไมน้ำหอมวินเทจถึงน่าหลงใหลจนต้องค้นหาไปทั่วโลก มาฟังคำตอบจากอนุชา

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

Blow my mind

“จุดเริ่มต้นเกิดจากความสงสัยใคร่รู้ค่ะ เวลาไปดมน้ำหอมตามเคาน์เตอร์ เราก็สงสัยว่ากลิ่นอะไร พอเขาบอกกลิ่นหญ้าแฝก กลิ่นซีดาร์วูด กลิ่นมัสก์ กลิ่น Ambergris ดมไปก็แยกไม่ออก ของเหล่านี้จริง ๆ กลิ่นเป็นยังไงกันแน่ ก็เลยเริ่มซื้อวัตถุดิบกลิ่นเดี่ยวต่าง ๆ มาดม กลิ่นมะนาว กลิ่นมะกรูดแคริบเบียน กลิ่น Bitter Orange ต่างจากส้มอื่นยังไง เริ่มไปตามหมวดไม้ ดอกไม้ ผลไม้ต่าง ๆ พอเราเริ่มเรียนปรุงน้ำหอม ก็คิดว่าน้ำหอมวินเทจน่าจะเป็นแหล่งความรู้ที่ดี กลิ่นคลาสสิกที่ได้รับการยกย่องว่ามี Composition ดียอดเยี่ยมเป็นอย่างไร เราก็เริ่มหาน้ำหอมที่ใกล้เคียงปีที่ผลิตตอนแรกมากที่สุด หาจากอีเบย์ก่อน สั่งมา 2 กลิ่นก่อน คือ Joy by Jean Patou (1930) และ Shalimar by Jacques Guerlain (1921)

“พอเขาส่งของมา เราเปิดกล่องแล้วกลิ่นมันหอมฟุ้งไปทั้งบ้าน ไม่เคยดมน้ำหอมเคาน์เตอร์แบรนด์ที่มีกลิ่นยอดเยี่ยมเช่นนี้ มีวัตถุดิบที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ มันมีความสมบูรณ์”

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

นุชี่อธิบายว่าคอมโพสิชันของกลิ่นไม่ต่างจากดนตรีที่มีเสียงเครื่องสาย เสียงเครื่องเป่า เสียงกลอง ซึ่งฟังแล้วอาจไม่ได้ชอบที่สุด แต่รับรู้ได้ว่าการสอดประสานของดนตรีซับซ้อน ยอดเยี่ยม มีคุณภาพ น้ำหอมก็เหมือนกัน ฝึกดมแล้วก็เริ่มรู้ว่าอะไรดีไม่ดี

“กลิ่นชาลิมาร์มัน Blow my mind เป็นศิลปะการปรุงน้ำหอมที่ยอดเยี่ยม คุณภาพวัตถุดิบก็หาไม่ได้ในปัจจุบัน หลังจากนั้นเราก็เริ่มซื้อน้ำหอมวินเทจเลย เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เลอค่า เริ่มจากกลิ่นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นกลิ่นแนวต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยม หรือเป็นน้ำหอมมีชื่อ เหมือนสะสมแผ่นเสียงของนักร้อง หรือภาพวาดศิลปิน เราก็สะสมงานของนักทำน้ำหอมบางคน อย่าง Edmond Roudnistka, Jean Carles, Guy Robert เพื่อศึกษาผลงานชิ้นเอกของเขา แล้วหากลิ่นที่ใกล้เคียงต้นกำเนิดในยุคนั้นที่สุด คุณภาพดีที่สุด เราเลือกสะสม Extrait de Parfum หรือน้ำหอมประเภทที่เข้มข้นที่สุดเสมอ เพราะจะได้วัตถุดิบที่ดีที่สุดมากที่สุด เพื่อจะได้รู้ว่าคุณภาพที่ดีเป็นยังไง

“หลังจากนั้นก็หยุดไม่ได้ เก็บน้ำหอมสำคัญ ๆ ทั้งหลายไว้ ซึ่งน้ำหอมก็ไม่ค่อยกลิ่นเพี้ยนนะ ถึงเสื่อมไปบ้าง น้ำหอมอายุเป็นร้อยปีก็ยังหอม บางคนเขาใช้ขี้ผึ้งอุดไว้ กลิ่นก็แทบไม่เปลี่ยนเลย สิ่งที่จะเปลี่ยนกลิ่นน้ำหอมคือแสงแดด อากาศ ความชื้น ความร้อน 

“Top Note เป็นกลิ่นแรกที่ไปก่อน แต่ Heart Note และ Base Note แทบไม่หายไป โดยเฉพาะ Base Note ที่ยากจะถูกทำลาย อย่างมากคือกลิ่นแปร่งในช่วง 15 นาทีแรก แต่หลังจากนั้นเมื่อกลิ่น Heart Note และ Base Note ทำงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญจากวัตถุดิบที่ไม่มีแล้ว ก็ยังทำให้เราศึกษาคอมโพสิชันของน้ำหอมได้อยู่ดี โดยเราจะใช้วิธีอ่านเอาว่า Top Note เป็นอย่างไร ส่วนมากก็คือกลิ่นตระกูลซิตรัส อัลดีไฮด์ กลิ่น Floral หรือ Fruity”

นุชี่แถมเกร็ดว่า Jean Carles ผู้เป็นเสมือนอาจารย์ใหญ่ในสถาบันการทำน้ำหอม เป็นคนสอนเรื่องพีระมิดกลิ่นโน้ตต่าง ๆ ที่ทำให้ทั้งผู้ปรุงและผู้ใช้น้ำหอมเข้าใจลักษณะน้ำหอมฝรั่งเศสที่ซับซ้อน ซึ่งตั้งแต่ยุค 90 เป็นต้นมา คอนเซ็ปต์การปรุงน้ำหอมก็เปลี่ยนไป น้ำหอมบางกลิ่นอาจเสถียรถาวร กลิ่นแทบไม่เปลี่ยนเลยตั้งแต่ฉีดครั้งแรกก็มี

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

ศิลปะความทรงจำ

เมื่อถามว่ากลิ่นแบบไหนที่ชอบ นุชี่ตอบอย่างมั่นใจว่าชอบกลิ่นทุกตระกูล สะสมน้ำหอมวินเทจทุกแบบ ความทรงจำกลิ่น Olfactory Memory มีพลังมากอย่างน่าทึ่ง

“กลิ่นอะไรหอมหรือเหม็นขึ้นอยู่กับความทรงจำของเรา และเป็นผัสสะที่กระตุ้นความทรงจำได้มากที่สุด เวลาได้กลิ่นหอประชุมจุฬาฯ ทีไร เราจะเห็นฉากละครที่เราทำขึ้นมาชัด เพราะเราอยู่ในนั้นเป็นเดือน ๆ ได้กลิ่นแล้วเห็นภาพก่อนเห็นหอประชุมจุฬาฯ จริงๆ ซะอีก ส่วนกลิ่นดิน Earthy Aroma คือกลิ่นแรกที่ทำให้เราสนใจว่า เราจะผลิตกลิ่นนี้ออกมาได้อย่างไร แต่พอศึกษาก็พบว่าเราเอาดินมาสกัดกลิ่นไม่ได้ แต่มีสารที่ให้กลิ่นเหมือนดินหลังฝนตกได้ เอากลิ่นไม้ กลิ่นเครื่องเทศต่าง ๆ มาผสมได้ 

“เราเก็บเพื่อศึกษากลิ่น ไม่ได้เก็บเพื่อสะสมขวด ดังนั้นกลิ่นที่ได้มาจะถูกเปิดและดมเพื่อเรียน แล้วก็ให้คำปรึกษา สอน ทำเป็นงานอดิเรกได้ งานปรุงน้ำหอมต้องเข้าใจเคมี เข้าใจวิทยาศาสตร์ด้วย ดังนั้นจึงเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่หาคนเข้าใจได้ยากเหมือนกัน ไม่เหมือนภาพวาดที่เรามองเห็นสีแต่ละสี ดนตรีที่เราได้ยินเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น พอบอกวัตถุดิบกลิ่นน้ำหอม บางมีมันยากที่จะแยกแยะ มันขึ้นอยู่กับ Olfactory Memory ถ้าเราไม่เคยดมหญ้าแฝก ดอกเจอราเนียม หรือไม้กฤษณา ก็แยกไม่ออก ไม่เข้าใจว่านี่คือกลิ่นอะไร 

“กลิ่นเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากไม่แพ้ศิลปะอื่น ๆ และเป็นเรื่องน่าค้นหา ถึงจะยาก แต่มันน่าทำความรู้จัก เสียดายที่ในเมืองไทย น้ำอบน้ำปรุงมีองค์ประกอบหลักเป็นน้ำ ไม่ใช่แอลกอฮออล์ อายุของน้ำหอมอยู่ได้ไม่นานเท่า การศึกษากลิ่นน้ำหอมไทยจากตัวอย่างจริงในอดีตจึงทำได้ยาก ทั้งที่น่าสนใจและน่านำมาพัฒนาได้อยู่”

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง
กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

เสน่ห์วินเทจ

“ยิ่งอายุมากขึ้น จะชอบกลิ่นหลากหลายมากขึ้น สมัยก่อนก็ไม่ค่อยชอบกลิ่นสังเคราะห์ แต่เดี๋ยวนี้ก็เห็นคุณค่ามันมากขึ้น สิ่งที่เราสนใจควบคู่กับน้ำหอม คือแต่ละกลิ่นสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร สะท้อนความนิยมหรืออะไรในสังคมยุคนั้น”

เธอขยายความรู้ประวัติศาสตร์น้ำหอมให้ฟังว่า น้ำหอมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 – ต้นศตวรรษที่ 20 เริ่มใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ และเป็นต้นกำเนิด Modern Perfumery น้ำหอมที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันกุหลาบ เป็นน้ำหอมออร์แกนิกที่มีกลิ่นซับซ้อนตามธรรมชาติ กลิ่นไม่ชัดเหมือนน้ำหอมสังเคราะห์ แต่ใช้เป็นวัตถุดิบให้เกิดความกลมกลืน นุ่มนวล หรือความลึกมากขึ้น 

เนื่องจากวัตถุดิบธรรมชาติมีต้นทุนสูงมาก ทั้งพื้นที่เกษตร เวลา แรงงาน และทรัพยากรต่าง ๆ ผู้ผลิตและผู้บริโภคส่วนใหญ่รับต้นทุนไม่ไหว ปัจจุบันโครงกระดูกของน้ำหอมส่วนใหญ่จึงเป็นกลิ่นสังเคราะห์ซึ่งอยู่ได้นาน และปรับใช้เฉดต่าง ๆ ได้ดั่งใจ 

ขณะที่น้ำหอมยุคเก่าที่ผลิตจำนวนน้อย ผู้บริโภคจำนวนไม่มาก ไม่ได้แพร่หลายอย่างปัจจุบัน การทำน้ำหอมไม่มีการประนีประนอมคุณภาพ วัตถุดิบที่ใช้จึงดีกว่าโดยธรรมชาติ ไม่มีข้อจำกัดแบบยุคนี้ 

“ไม่ได้หมายความว่าน้ำหอมสังเคราะห์ไม่มีคุณภาพ เหมือนดนตรี เครื่องดนตรีสังเคราะห์อย่างซินธิไซเซอร์ก็มีคุณค่าแบบของมัน ไม่ได้แปลว่าไวโอลินดีกว่าเสมอไป มันใช้งานต่างกันมากกว่า เราเองก็เป็นทั้งคนใช้น้ำหอมและคนปรุงน้ำหอมเองด้วย เลยเห็นคุณค่าของวัตถุดิบทุกอย่างไม่ว่าถูกหรือแพง หาง่ายหรือหายาก มันมีหน้าที่ที่ต่างกันออกไป

“อีกเหตุผลที่เราชอบน้ำหอมวินเทจมาก เพราะมันมีความซับซ้อนสูง มีสเตทเมนต์ของผู้ทำ มีคาแรกเตอร์จัด คนที่ใช้น้ำหอมก็ต้องมีคาแรกเตอร์แบบนี้ บางกลิ่นก้ำกึ่งว่าจะหอมหรือเหม็นกันแน่ แนวทางมันสุดโต่งชัดเจน แต่ยุคปัจจุบันน้ำหอมเป็นสิ่งที่คนใช้กันทั่วไป จะทำกลิ่นแปลก ๆ ยาก ๆ มีสเตทเมนต์มาก ๆ บางทีก็ไม่ตอบโจทย์ตลาด แบรนด์ใหญ่ ๆ ก็ต้องทำกลิ่นที่คนส่วนใหญ่จะชอบได้ กลิ่นอ่อนหวาน กลิ่นเย้ายวน แต่ความตื่นเต้นหวือหวาน้อยกว่าสมัยก่อน ยกเว้นพวกแบรนด์ Niche ที่กลิ่นแปลกพิสดาร ถ้าลองสังเกตดูจะเห็นว่าน้ำหอมยุคนี้ส่วนผสมน้อยลง เข้าใจง่ายมากขึ้นกว่ายุคก่อน”

จากน้ำหอมกลิ่นแรกที่ใช้คือ CHANEL Allure Homme (1999) นุชี่ขึ้นไทม์แมชชีนแห่งกลิ่น ศึกษาย้อนดมลึกขึ้นไปเรื่อย ๆ 

“Allure Homme เป็นกลิ่นแนว Oriental ของผู้ชาย โดยมากน้ำหอมผู้ชายในยุค 90 ไม่ได้มีตัวเลือกเยอะมาก เป็นกลิ่น Fougère หรือที่คนไทยเรียกว่ากลิ่นสปอร์ต กลิ่นมอส กลิ่นที่ให้ความรู้สึกสะอาด เย็น ความเป็นผู้ชาย เราไม่ชอบ อยากได้กลิ่นที่มีความหวาน กลิ่นนี้เปิดด้วยซิตรัส มีวานิลลา เป็นกลิ่นที่ซับซ้อน หวาน ๆ แรด ๆ น่ะ”

เธอเริ่มผจญภัยเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาเจอน้ำหอมวินเทจแล้วใช้มายาว ๆ นุชี่เลือกใช้น้ำหอมโดยไม่ได้สนใจว่าเป็นกลิ่นของผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ส่วนมากเลือกน้ำหอมผู้หญิงเพราะมีความลุ่มลึกซับซ้อนมากกว่า ขณะที่น้ำหอมผู้ชายจะเน้นความคลาสสิก 

หอมกลิ่นไทม์ไลน์

นุชี่หยิบน้ำหอมมาบรรจงวางเรียงทีละขวด ไล่ตามขวบปีที่พวกมันถูกรังสรรค์ขึ้นในแต่ละทศวรรษ บางกลิ่นมาจากปีนั้น ๆ และบางกลิ่นก็ซื้อในเวลาไล่เลี่ยกับปีที่ออกจำหน่ายไม่นาน ความรู้จักความรักคลั่งไคล้น้ำหอมของเธอลอยอ้อยอิ่งอยู่บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์น้ำหอม

อย่าแปลกใจที่มีสัดส่วนแบรนด์ Guerlain อยู่ในคอลเลกชันมากเป็นพิเศษ เพราะเธอมองว่าแบรนด์นี้สร้างตำนานสุดยอดน้ำหอมในประวัติศาสตร์หลายต่อหลายกลิ่น

ดึกดำบรรพ์ – 1910

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

Fougère Royale by Houbigant (1882) ซึ่งนุชี่บอกว่าเป็นกลิ่นแรกของ Modern Perfume เนื่องจากใช้กลิ่นสังเคราะห์ ขวดนี้ได้จากมุมไบ ประเทศอินเดีย 

นอกจากนี้ยังมี Jicky by Aimé Guerlain (1889) ที่ได้ชื่อว่าเป็นน้ำหอมยูนิเซ็กซ์แรกในประวัติศาสตร์ 

Idéal by Houbigant (1900), Après L’Ondée by Jacques Guerlain (1906), Pompeia by L.t. Piver (1907),

Narcisse Noir by Caron (1911), Chypre by Coty (1917) และ Émeraude by Coty (1921) 

หมวดนี้เรียกได้ว่า Ancient เพราะหลายขวดอายุนับร้อยปีแล้ว 

1920 ยุค Art Deco

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

ในยุคสาว ๆ แฟลปเปอร์เฉิดฉาย ศิลปะ Art Deco รุ่งเรือง น้ำหอมแห่งยุคนี้คือ Chanel N°5 ที่ยังเป็นตำนานขายดีตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน ชาแนลเป็นห้องเสื้อแรกที่ผลิตน้ำหอม ขวดใหญ่นุชี่ได้จากญี่ปุ่น ส่วนขวดเล็กเก่ากว่ามาก ดูได้จากฉลากและจุกฝาแก้ว ซึ่งแตกต่างจากยุคหลัง ๆ นอกจากนี้ยังมี Mitsouko by Jaques Guerlain (1919), Tabac Blond by Caron (1919), Shalimar by Jacques Guerlain (1921) ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความคลั่งไคล้กลิ่นวินเทจของเธอ และ Bellodgia by Caron (1927)

1930 ยุค The Great Depression

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

น้ำหอมที่โด่งดังที่สุดคือ Joy by Jean Patou (1930) เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงนี้ ของชุบชูใจสีชมพู Shocking Pink และกลิ่นดอกไม้หรูหราเป็นสิ่งปลอบประโลมใจชั้นยอด นอกจากนี้ยังมี Vol de Nuit by Jacques Guerlain (1933), Fleur de Rocaille by Caron (1934) และ Shocking (1937) กับ Sleeping (1940) by Schiaparelli ที่ขวดอลังการพิสดารพันลึกตามเอกลักษณ์ของห้องเสื้อที่เปิดในยุค 30 และหายไปนานก่อนกลับมาเปิดใหม่ในปัจจุบัน

1940 ยุคสงครามโลก

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

ยุคนี้เริ่มมีนักทำน้ำหอมหญิงอย่าง Germaine Cellier รุ่นบุกเบิก ผู้ออกแบบน้ำหอมให้แบรนด์ต่าง ๆ ทั้ง Bandit by Robert Piguet (1944) และ Vent Vert by Pierre Balmain (1947) นอกจากนี้ยังมี Femme by Marcel Rochas (1948) ทรวดทรงขวดโค้งเว้า ขับเน้นความเฟมินีนตามสมัยนิยม แบบ Mae West ดาราหนังชื่อดัง และ Ma Griffe by Carven (1946)

1950 ยุคกระโปรงบาน 

กรุน้ำหอมวินเทจของ นุชชี่ อนุชา บุญยวรรธนะ ผกก. ที่มีมิวเซียมน้ำหอมย่อม ๆ ของตัวเอง

ยุคหลังสงคราม กระโปรง New Look ฮิตไปทั่ว น้ำหอมกลับไปมีความเป็นหญิงจ๋า ๆ แต่คงคงามสง่างาม อิทธิพลของทศวรรษที่แล้วยังมีอยู่ ทั้ง Miss Dior by Christian Dior (1947) และขวดสำคัญรูปนก L’Air du Temps by Nina Ricci (1948) ที่สื่อถึงสันติภาพ

“L’Air du Temps คือกลิ่นที่แม่เราใช้ เป็นกลิ่น Floral ที่ดมแล้วนึกตอนที่แม่จะไปเมืองนอก ได้กลิ่นนี้ทีไรจะเห็นภาพแม่ใส่สูทสีน้ำตาล ผูกผ้าพันคอ เตรียมจะไปเมืองนอก จำความรู้สึกได้ว่าเราจะไม่ได้เจอแม่แล้ว ทั้งเสียใจแล้วก็กลัว”

ตัวอย่างสำคัญในยุคนี้ยังมี Youth-Dew by Estée Lauder (1953) และ Diorissimo by Christian Dior (1956) ที่ออกแบบโดย Edmond Roudnistka

1960 ยุคบุปผาชน

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

ยุคนี้แม้แฟชั่นจะเปลี่ยนไป แต่คาแรกเตอร์หญิงหวาน ๆ สง่างามยังคงมีอยู่ในน้ำหอม ทั้ง Madame Rochas by Rochas (1960), Bal à Versailles by Jean Desprez (1962), Chant d’Aromes by Jean-Paul Guerlain (1962), Chamade by Jean-Paul Guerlain (1969) 

1970 ยุคปลดแอก

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

นุชี่นิยามน้ำหอมยุคนี้ว่า “หญิงใส่สูท มั่นใจ Cold-heart Business Women” กลิ่นต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไปจากยุคหกศูนย์ จากความสง่างามไปเป็นความมั่นใจ และอิสระเสรีมากขึ้น ทั้ง Ô de Lancôme by Lancôme (1969) ที่มีความหวาน แต่ไม่ได้หวานจ๋า ไปจนถึงความก๋ากั่นแบบ Rive Gauche by Yves Saint Laurent (1969) ที่สะท้อนความเฟมินิสต์เต็มขั้น น้ำหอมผู้หญิงต่าง ๆ แสดงความมั่นใจของหญิงยุคใหม่ ทั้ง Chanel N°19 by Chanel (1970) และ Amazone by Hermès (1974)

จุดสังเกตน้ำหอมยุคเก่าคือหัวสเปรย์ ถ้าเป็นจุกสแปลชคือของเก่าแท้ และถ้าเป็นหัวสเปรย์อัดแก๊สก็เป็นของเก่าเช่นกัน เพราะใส่สาร CFC ทำลายชั้นบรรยากาศ เดี๋ยวนี้กฎหมายห้ามจึงเลิกใช้แล้ว

1980 ยุค Big Perfume

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

“ยุคนี้น้ำหอม Flamboyant ใส่แล้วฟุ้งกระจายกระจุย หอมไปสามบ้านแปดบ้าน ระเบิดเถิดเทิง” 

ทศวรรษนี้นักสะสมน้ำหอมเลือกตัวหลักแห่งยุคมา 3 ตัว 

Opium by Yves Saint Laurent (1977) “เปิดมาแล้วเปรี้ยวมาก โอ๊ย เว่อร์มาก” 

Poison by Dior (1985) “กลิ่นเหมือนดอกไม้ผสมแอปเปิ้ลเน่า ๆ เหมือนขยะเปียก แต่หอมนะ” 

และ Obsession by Calvin Klein (1985) กลิ่น Amber Spicy ของผู้หญิงที่มีแท็กไลน์โด่งดังว่า Between love and madness lies Obsession

1990 ยุคสะอาดสังเคราะห์

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

แม้ Cool Water by Davidoff (1988) ผลิตก่อน แต่นุชี่มองว่านี่คือกลิ่นที่เป็นนิยามของยุค 90 เป็นกลิ่นแรก ๆ ที่เป็นกลิ่นแนว Aquatic ของน้ำหอมผู้ชาย ยุคนี้น้ำหอมผู้ชายเน้นกลิ่นเหมือนเพิ่งอาบน้ำมาใหม่ ให้ความรู้สึกสะอาด 

“ภาพ Interior Design ยุคนี้คือความโมเดิร์น ขาว ๆ คลีน ๆ กริบ เอาอะไรรก ๆ ไปวางคือเสียเลย น้ำหอมยุคนี้เลยสะท้อนออกมาเช่นกัน หลายกลิ่นไม่ใส่วัตถุดิบธรรมชาติอะไรเลย เพราะธรรมชาติจะตุ ๆ หน่อย กลิ่นต่าง ๆ น่ะโคตรไม่ธรรมชาติเลยคุณ”

นุชี่ฉีดตัวอย่างให้ลองดม ทั้ง Trésor by Lancôme (1990) CK one by Calvin Klein (1994) และ Pleasures by Estée Lauder (1995) กลิ่นดอกไม้ขาวจั๊วะที่สะอาดเนี้ยบ ไม่มีกลิ่นอับ กลิ่นสาบตามธรรมชาติ ซึ่งยุคนั้นถือว่าทันสมัย 

นอกจากนี้ยังมี Angel by Mugler (1992) น้ำหอมขวดรูปดาวที่ดังถึงยุค 2000 เป็นกลิ่นที่ช็อกฮือฮาทั้งวงการ อาจหาญด้วยความหวานเหมือนขนมหวาน ซึ่งต่างจากน้ำหอมเดิม ๆ ที่ไม่มีกลิ่นแบบอาหาร ตามมาด้วยกลิ่นหวานน้ำตาลคาราเมลอีกหลายกลิ่น กลายเป็นน้ำหอมกลิ่น Oriental ในยุคใหม่ เมื่อย้อนกลับไปดมกลิ่นตระกูลเดียวกันอย่าง Shalimar by Jacques Guerlain (1921) จะเห็นการเดินทางของกลิ่นน้ำหอมที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน 

5 กลิ่นน้ำหอมสำคัญของ อนุชา บุญยวรรธนะ

Joy by Jean Patou (1930)

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

“เป็นกลิ่น Floral ที่ใช้วัตถุดิบธรรมชาติเยอะมาก ทั้งกุหลาบ มะลิ และดอกไม้อื่น ๆ แพงมาก และเป็นกลิ่นที่ได้รับการโหวตว่าเป็นน้ำหอมแห่งศตวรรษ ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 กลิ่นนี้คือกลิ่นที่ปลอบประโลมลูกค้าชนชั้นสูงที่เสียทรัพย์สินมหาศาล ดมแล้วนึกถึงยุคที่ดีงาม ร่ำรวย ทุกวันนี้การออกแบบกลิ่นปัจจุบันก็พยายามสร้างสัดส่วนให้ใกล้เคียงเดิม”

Shalimar by Jacques Guerlain (1921) 

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

“เป็นน้ำหอมกลิ่น Oriental ที่หวานแบบโบราณ รุ่มรวย มีการใช้วานิลลาเยอะมาก แต่ตัดด้วยกลิ่นเครื่องหนัง”

L’heure bleue by Jacques Guerlain (1912) 

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

“มันเป็นน้ำหอมที่สร้างก่อนช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 สภาวะตอนนั้นคนวิตกกังวล ลังเล ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต น้ำหอมนี้เลยสร้างมาเพื่อพูดถึงความรู้สึก In Between ระหว่างความรุ่งโรจน์ในอดีตและความไม่มั่นใจต่ออนาคต เป็นกลิ่นแนว Floral-Oriental มีดอกไม้ในยุคนั้นและความหวาน เป็นกลิ่นที่อาจดมแล้วเชยนะ แต่มันมีเอกลักษณ์มาก ไม่เหมือนใคร อาจจะสื่อถึงปารีสในช่วงเวลานั้น

“เราหยิบทั้งชื่อและคอนเซ็ปต์ของน้ำหอม มาเป็นแรงบันดาลใจของหนังเรื่อง อนธการ หรือ The Blue Hour (2015) ที่พูดเรื่องกึ่ง ๆ ความดีงามกับความชั่ว เรื่องของเด็กที่อยากฆ่าพ่อแม่ตัวเอง มีลักษณะกึ่งจริงกึ่งฝัน

Vol de Nuit by Jacques Guerlain (1933) 

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

กลิ่นเขียว ๆ ชวนให้นึกถึงป่ารกชัฏ และมีความซับซ้อนในตัว ตัวขวดเป็นรูปใบพัด สื่อถึงชื่อ Vol de Nuit (Night Flight) เป็นแรงบันดาลใจให้นุชี่ทำหนังเรื่อง มะลิลา หรือ Malila: The Farewell Flower (2017) ซึ่งตัวน้ำหอมเอง ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายอีกทีหนึ่ง Jacques Guerlain อุทิศน้ำหอมกลิ่นนี้ให้หญิงที่กล้าผจญภัย อย่างนักบินหญิง Hélène Boucher ที่มีที่หยัดยืนในโลกของผู้ชาย แต่ก็ไม่เสียตัวตนความเป็นผู้หญิงไป 

“กลิ่นมันดาร์ก ๆ หน่อย ทำให้เราคิดออกว่าองค์ประกอบภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ควรประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เรายังขาดอะไร ควรใส่อะไรลงไป แต่ไม่ใช่ดมแล้วออกมาเป็นหนังเลยนะคะ น้ำหอมมันเป็นนามธรรมมาก ๆ แต่บางคนเขาก็บอกว่าดูหนังเราแล้วก็รู้สึกถึงกลิ่นได้เหมือนกันนะ”

Opium by Yves Saint Laurent (1977) 

เยี่ยมสตูดิโอของ ผกก.ภาพยนตร์ นุชชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้มีน้ำหอมเป็นแรงบันดาลใจ และสะสมน้ำหอมเก่าแก่ระดับร้อยปี

เราชอบความเว่อร์ องค์ประกอบดี เป็นกลิ่นที่ชอบมากเลยเก็บมาหลายรุ่นและหลายขนาดด้วย ขวดที่ใหญ่ที่สุดเป็นขวดสำหรับตั้งโชว์นะคะ ไม่มีน้ำหอมอยู่ในนั้น เอามาถือเป็นกระเป๋าเล่น ๆ เฉย ๆ ค่ะ” (หัวเราะ) 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ