ก่อนหน้าจะมาออกทริปมอเตอร์ไซค์เราดื่มกาแฟไม่เป็นเลยค่ะ เพิ่งจะมาฝึกดื่มเป็นเรื่องเป็นราวก็หลังจากที่เกิดอาการ ‘หงายเงิบ’ เพราะเผลอหลับในระหว่างนั่งซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์ที่กำลังวิ่งอยู่บนไฮเวย์

ครั้งแรกที่เผลอหลับใน ยังพอปลอบใจตัวเองได้ว่าวันนั้นง่วงมากจริงๆ ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย แต่พอมีครั้งที่สองก็ต้องยอมหันไปพึ่งพาพลังของคาเฟอีน เพราะกลัวจะไม่แคล้วคลาดอย่างที่ผ่านมาอีก และด้วยความที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ 2 สัปดาห์แรกของทริปนี้ เมื่อการเดินทางยืดยาวออกไปเป็นปี มารู้ตัวอีกที เราก็กลายเป็นคนติดกาแฟอย่างถอนตัวไม่ขึ้นไปเสียแล้ว

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

แน่นอนว่าคนที่ถูกอกถูกใจกับเรื่องนี้มากที่สุดก็คือคริสเตียน เพื่อนร่วมทางของเราค่ะ เพราะเจ้าตัวดื่มกาแฟเหมือนเป็นอายุวัฒนะ เช้า 2 แก้ว บ่าย 2 แก้ว หลังมื้อค่ำอีก 1 แก้ว แม้แต่ที่มาออกทริปมอเตอร์ไซค์ด้วยกันคราวนี้ก็ยังเสียสละพื้นที่ 1 ส่วน 4 ของกระเป๋า ให้กับอุปกรณ์การทำกาแฟและเมล็ดกาแฟที่พกติดไปไหนๆ เพื่อความอุ่นใจอย่างน้อยหนึ่งถุง

ตอนที่เราสองคนเดินทางมาถึงประเทศกัวเตมาลา เป็นช่วงที่เราเริ่มสนุกกับการชิมกาแฟหลากหลายรสพอดี เมื่อคริสเตียนเอ่ยปากชวนไปทัวร์ไร่กาแฟ เราจึงตกปากรับคำแบบไม่ลังเลยค่ะ

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

-1-

แอนติกัว, ประเทศกัวเตมาลา (Antigua, Guatemala) 

จุดเริ่มต้นของการทัวร์ไร่กาแฟในวันนี้อยู่ที่เมืองซานมิเกล เอสโคบาร์ (San Miguel Escobar) ซึ่งห่างจากเมืองแอนติกัว (Antigua) ที่เราพักอยู่ประมาณ 15 นาทีค่ะ เรากับคริสเตียนเลยถือโอกาสทิ้งมอเตอร์ไซค์ไว้ที่โรงแรม และชวนกันไปเรียกหารถตุ๊กตุ๊กที่จอดเรียงรายอยู่แถวนั้น

“จะไปดูไร่กาแฟเหรอครับ” ยังไม่ทันบอกชื่อสถานที่ปลายทางจบ คุณพี่ตุ๊กตุ๊กก็พยักหน้าให้ขึ้นรถอย่างรวดเร็ว

“มาเลย เดี๋ยวลดราคาให้ อยู่แถวบ้านผมเอง” เสียงเพลงจากลำโพงวิทยุเครื่องเล็กที่ติดอยู่ใกล้ที่นั่งคนขับถูกเร่งให้ดังขึ้น พอเราสองคนขึ้นไปนั่งเรียบร้อยดีแล้ว รถสามล้อขนาดเล็กก็วิ่งฉิวไปบนถนนที่ปูพื้นด้วยก้อนหิน เรายกกล้องขึ้นจะเก็บภาพบรรยากาศรอบๆ แต่ก็หาจังหวะที่มือนิ่งพอแทบไม่ได้เลย

“ดีนะที่คุณใส่หมวก ใส่รองเท้าผ้าใบกันมา ไม่งั้นเดินขึ้นไปดูไร่ไม่ไหวหรอก” คุณพี่คนขับตะโกนคุยแข่งกับเสียงเพลงที่ดังจนแตกพร่า “นู่น อยู่บนเขาลูกนู้น” เจ้าตัวชี้ไปทางภูเขาลูกใหญ่ที่โดดเด่นเห็นชัดแต่ไกล 

เราไปถึงที่จุดนัดในเวลาไม่ถึง 10 นาที แม้จะหัวสั่นหัวคลอนกันตลอดทางแต่ก็ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ

“คุณยืนรอตรงหน้าโบสถ์นี่แหละ เดี๋ยวก็มีคนมารับ มองหาคนที่ใส่เสื้อ De La Gente ไว้นะ” คุณพี่ชี้มือไปที่โบสถ์ใกล้ๆ ฉีกยิ้มกว้างก่อนจะขับรถจากไปพร้อมผิวปากประสานเสียงเพลงจากวิทยุอย่างอารมณ์ดี

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

-2-

กุสตาโว กอนซาเลซ

“สวัสดีครับ ผมชื่อกุสตาโว กอนซาเลซ เป็นเจ้าของไร่กาแฟจากกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟแห่งซานมิเกล เอสโคบาร์ (San Miguel Escobar Cooperative) ครับ” กุสตาโวยื่นมือมาทักทายด้วยท่าทางคล่องแคล่ว วันนี้นอกจากเรากับคริสเตียนแล้ว ก็ยังมีล่ามภาษาอังกฤษของกุสตาโว กับเพื่อนใหม่จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อีกสองคนที่จะมาเปิดโลกกาแฟด้วยกัน

“ไร่กาแฟของผมอยู่ตรงทางขึ้นภูเขาไฟอากัว (Agua) ใช้เวลาเดินประมาณสี่สิบนาที ถ้าไม่ชินกับระดับความสูงอาจจะเหนื่อยนิดหน่อย ค่อยๆ เดินไปคุยกันไปแบบสบายๆ แล้วกันนะครับ”

กุสตาโวเป็นลูกชายของหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟแห่งซานมิเกล เอสโคบาร์ เจ้าตัวบอกว่าเดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะสานต่อกิจการครอบครัว และหันไปทำอาชีพเพนต์ลายรถประจำทางเป็นงานหลักอยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งแต่งงานและได้รับมรดกเป็นที่ดินขนาดหนึ่งไร่จากฝั่งภรรยา จึงตัดสินใจกลับมาปลูกกาแฟอีกครั้ง

“สมัยก่อนแถวนี้มีแต่ไร่กาแฟใหญ่ๆ เป็นของนายทุนไม่กี่เจ้า ชาวบ้านรวมทั้งพ่อผมทำงานเป็นคนงานในไร่ คอยดูแลต้นกาแฟและเก็บผลกาแฟสด พอทำไปนานๆ เลยกลับมาลองปลูกต้นกาแฟในที่ดินของตัวเองดูบ้าง ปรากฏว่าติดดอกออกผลดี แต่เราไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องการแปรรูปกาแฟเลย ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ต้องไปช่วยพ่อเก็บผลกาแฟสดใส่กระสอบไปขายให้พ่อค้ารับเหมา ถ้าเหลือก็เอาไปขายที่ตลาด ได้กิโลกรัมละสี่บาทบ้าง หกบาทบ้าง บางทีเก็บได้น้อยเขาก็ไม่รับซื้อ หรือถ้ามันเน่าก่อนจะขายได้ก็ต้องทิ้ง

“ตอนนั้นผมไม่อยากทำเพราะมันเป็นงานที่ทั้งหนักทั้งเหนื่อยแต่ค่าตอบแทนไม่คุ้มเลย”

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

เรา 6 คนเดินเท้าห่างออกมาจากจตุรัสเรื่อยๆ ผ่านย่านตลาดร้านค้า ย่านชุมชนที่อยู่อาศัย บ้านหลายหลังเกาะกลุ่มกันหนาแน่นและค่อยๆ บางตาลงจนเหลือแค่แนวต้นไม้สีเขียวสดทั้งเล็กใหญ่ตลอดริมข้างทาง

“ทางลัดไปไร่ผมอยู่ตรงนี้ครับ”

กุสตาโวชี้ให้ดูทางเดินเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในแนวต้นไม้ข้างทางก่อนจะเลี้ยวนำเข้าไป จากพื้นราบเปลี่ยนเป็นทางลาดชันที่ดูด้วยสายตาแล้วไม่น่าจะเดินลำบากสักเท่าไหร่ แต่ด้วยแสงแดดที่ร้อนแรงและอากาศที่เบาบางลงทำให้ขาเริ่มหนักขึ้นทุกที หันไปมองคนอื่นๆ ก็อยู่ในสภาพเดียวกัน กุสตาโวที่ยังเดิน ‘คุยสบายๆ’ เหมือนจะรู้ใจ เลยเลือกร่มไม้ให้ทุกคนได้หยุดพัก

“บริเวณที่เรายืนกันอยู่ตรงนี้มีภูเขาไฟล้อมรอบเราอยู่ถึงสามลูก ลูกที่เรากำลังเดินขึ้นไปคือภูเขาไฟอากัว (Agua) อีกสองลูกข้างๆ คือภูเขาไฟอาคาเตนังโก (Acatenango) กับภูเขาไฟฟูเอโก (Fuego) ซึ่งเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ปะทุบ่อยและรุนแรงที่สุดในกัวเตมาลา”

จากที่เหนื่อยๆ เรารู้สึกมีแรงเดินขึ้นมาทันที แต่ก็ยังอดถามต่อไม่ได้ว่าแล้วภูเขาไฟอากัวที่อยู่ใกล้เราที่สุดในตอนนั้น ปะทุครั้งล่าสุดเมื่อไหร่

กุสตาโวที่น่าจะยิ้มเป็นครั้งแรกของวันนี้ตอบเราทันทีว่า “ล่าสุดเมื่อเกือบห้าร้อยปีที่แล้วครับ ไม่ได้ปะทุแบบมีลาวา มีแต่โคลนถล่มลงมา ว่ากันว่าไหลเชี่ยวและแรงเหมือนน้ำจนบ้านเมืองเสียหาย คนตายเยอะ เลยได้ชื่อว่าภูเขาไฟ ‘อากัว’ (Agua) ที่แปลว่าน้ำครับ”

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

จากเส้นทางที่แทบจะต้องต่อเดินแถวเรียงหนึ่งมาสู่ทางที่กว้างขึ้น ร้อนขึ้น ส่วนระดับความชันยังคงที่ ระหว่างทางเราเจอชาวบ้านที่ขี่ม้าขึ้นและลงเขาเพื่อขนข้าวของจากไร่ กุสตาโวหยุดแวะทักทายกับหนึ่งในนั้นสักครู่ ก่อนจะเดินยิ้มแป้นกลับมาบอกพวกเราว่า

“เดี่ยวเราเดินไปดูไร่ของเพื่อนผมแทนก็ได้ อยู่ใกล้ๆ นี่เลย จะได้ไม่ต้องเดินขึ้นไปถึงข้างบนนู้น วันนี้แดดแรงมากจริงๆ”

เพื่อนชาวนิวซีแลนด์ที่ตอนนี้โดนแดดเผาจนหน้าแดงก่ำค่อยยิ้มออกบ้าง

 ต้นกาแฟของเพื่อนกุสตาโวในส่วนที่เราไปดูกัน มีอายุประมาณ 4 ปีกว่าแล้วค่ะ สูงพอสมควรเลย เรานึกว่าต้นกาแฟจะมีความสูงไม่มาก แต่กุสตาโวบอกว่ายังสูงได้อีกเยอะและปกติจะต้องคอยตัดยอดอยู่เรื่อยๆ ไม่งั้นจะสูงจนเก็บลูกไม่ได้

“พันธ์ุกาแฟที่เราปลูกในบริเวณนี้ทั้งหมดคือกาแฟอาราบิก้า ผลอ่อนของมันจะเป็นสีเขียว เมื่อสุกเต็มที่จะกลายเป็นสีแดง เราเรียกผลของกาแฟสดว่า เชอรี่กาแฟ (Coffee Cherry)”

เราหันมองรอบๆ ก็เจอแต่ลูกเชอรี่กาแฟอ่อนที่เป็นสีเขียว กุสตาโวเดินหายไปในพุ่มไม้ด้านหลังก่อนจะกลับมาพร้อมกับผลเชอรี่กาแฟสีแดงสดสองสามลูกในมือ

“ถ้ามันสุก เราจะใช้มือบีบให้เมล็ดออกมาได้ง่ายๆ แบบนี้”

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

เราลองรับมาบีบดูบ้าง เมล็ดกาแฟสีเหลืองอ่อนสองเมล็ดหลุดออกมาพร้อมกับเมือกเหนียวๆ กุสตาโวทำท่าให้ลองชิมเนื้อเชอรี่ ทุกคนก็ทำตามอย่างว่าง่าย ผลที่เราชิมเปลือกนอกติดขมนิดหน่อยแต่เนื้อข้างในหวานฉ่ำ

“ลูกเชอรี่ที่ให้กาแฟรสดีที่สุดคือลูกที่สุกเต็มที่ เพราะฉะนั้นเราจะใช้มือเก็บเฉพาะลูกสีแดงสด โดยเลือกเก็บต้นที่มีสีแดงมากกว่าครึ่ง ปล่อยลูกสีเขียวไว้ให้สุกก่อนแล้วค่อยๆ ทยอยกลับมาเก็บจนกว่าจะสุกครบทั้งต้น ใช้เวลาทั้งหมดประมาณสามสี่วัน ไร่ใหญ่หน่อยก็อาจจะถึงสิบวัน ถ้าคนในครอบครัวช่วยกันเก็บไม่ทัน ก็ได้เพื่อนๆ จากสหกรณ์มาช่วยเก็บด้วย ถึงเวลาไร่ของเขาพร้อมเก็บ เราก็กลับไปช่วยเขา ลูกเชอรี่กาแฟที่ได้จะต้องรีบเอากลับไปเริ่มกระบวนการแปรรูปภายในวันเดียวกัน ถ้าปล่อยไว้รสชาติจะไม่ดี”

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

การปลูกกาแฟมีหลายปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ทั้งระดับความสูงจากน้ำทะเล ระดับอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ แร่ธาตุจากดิน ปริมาณแสงแดดและน้ำฝนในระหว่างที่รอให้ผลเชอรี่สุก

“ไร่กาแฟกาแฟที่ปลูกอยู่แถบนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณหนึ่งพันสี่ร้อยถึงหนึ่งพันเจ็ดร้อยเมตร อุณหภูมิคงที่ประมาณสิบเก้าถึงยี่สิบสององศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอากาศค่อนข้างเย็น ผลเชอรี่จึงต้องใช้เวลานานกว่าจะสุก ทำให้มีเวลาที่จะดูดซับแร่ธาตุและสารอาหารจากดินภูเขาไฟได้มากกว่ากาแฟที่ปลูกในสภาพอากาศอบอุ่น รสชาติของกาแฟที่ได้จึงมีความเข้มข้นและซับซ้อนกว่ากาแฟของที่อื่น”

ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวประจำปีของที่นี่จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมค่ะ แล้วแต่ระดับความสูงของแต่ละไร่ ในระหว่างที่รอกาแฟผลิดอกออกผล ชาวบ้านก็นิยมปลูกข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว กล้วยและแครอทแทรกระหว่างแปลงไป ไม้ผลขนาดใหญ่หลายต้นบนนั้นก็ถูกปลูกขึ้นเพื่อทำหน้าที่บังแดดให้กับต้นกาแฟด้วยเช่นกัน

“ปัจจัยทางธรรมชาติที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว ทำให้กาแฟจากภูมิภาคแอนติกัวมีรสและมีกลิ่นรสเฉพาะตัว จึงเป็นที่ชื่นชอบอันดับต้นๆ ของคนดื่มกาแฟทั่วโลก”

เราทุกคนพยักหน้าเห็นด้วยกับกุสตาโวอย่างไม่มีข้อแม้

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

เราใช้เวลาอยู่บนไร่ของเพื่อนกุสตาโวประมาณ 2 ชั่วโมงค่ะ ในระหว่างที่คุยเรื่องกาแฟ ก็ยังได้ชิมผลไม้แปลกๆ จากในสวน และได้เห็นนกหลากหลายสายพันธ์ุที่อาศัยอยู่ในไร่ด้วย กุสตาโวน่าจะมีความชื่นชอบนกเป็นพิเศษ เพราะเล่าถึงนกตัวนู้นตัวนี้ได้อย่างละเอียดพอๆ กับเรื่องกาแฟ

หลังทำความรู้จักกับนกในไร่จนคิดว่าน่าจะครบหมดแล้ว เราก็พากันออกไปขอบคุณเจ้าของไร่ที่ใจดีให้ใช้สถานที่และมุ่งหน้าไปที่บ้านของกุสตาโว ซึ่งเราจะได้เห็นกระบวนการแปรรูปกาแฟหลังจากที่ได้ผลเชอรี่กาแฟสดๆ มาจากไร่ ขาเดินลงเขาคราวนี้ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาทีค่ะ บ้านของกุสตาโวอยู่ในชุมชนที่เราเดินผ่านกันมาตั้งแต่ตอนแรกนั่นเอง

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

-3-

De la Gente

จากมือเราถึงมือคุณ

ยังจำที่พี่ตุ๊กตุ๊กบอกให้มองหาคนใส่เสื้อที่มีคำว่า De la Gente ได้ไหมคะ พอเรามาถึงบ้านขอกุสตาโวก็เห็นกระสอบที่มีข้อความเดียวกันนี้แขวนอยู่ที่หน้าบ้าน

กุสตาโวเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่า ประมาณ 15 ปีก่อน คุณพ่อกับเพื่อนๆ เกษตรกรชาวไร่กาแฟในหมู่บ้าน รวมตัวกันตั้งกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟแห่งซานมิเกล เอสโคบาร์ (San Miguel Escobar Cooperative) ตอนนั้นทุกคนเอาผลเชอรี่กาแฟมารวมกัน ทำให้ขายได้ปริมาณมากขึ้นและไม่ถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาต่ำกว่ามาตรฐานมากเกินไป แต่ก็ยังแปรรูปกาแฟเองไม่ได้ และในระหว่างที่พยายามหาช่องทางและตลาดใหม่ๆ ก็ได้เจอกับนักอาสาพัฒนาชุมชนชาวสหรัฐฯ คนหนึ่ง ที่เข้ามาทำงานในกัวเตมาลาช่วงนั้นพอดี

“เขามาให้ความรู้เรื่องการแปรรูปกาแฟ มาช่วยคิด ช่วยหาวิธี ว่าจะเอาเครื่องมือแบบไหนมาใช้ในแต่ละขั้นตอนด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก ทุกบ้านที่ปลูกกาแฟจะได้แปรรูปเชอรี่กาแฟเองที่บ้าน ก่อนจะเอามารวมกันที่สหกรณ์”

กุสตาโวชี้ให้เราดูเครื่องมือต่างๆ ที่วางเรียงรายอยู่ในรั้วบ้าน เช่น เครื่องสีเปลือกกาแฟขนาดเล็ก ตะแกรงสำหรับแยกขนาดของเมล็ดกาแฟ ฯลฯ หลายอย่างเห็นชัดว่าเป็นของที่ประยุกต์เอาจากเครื่องใช้ภายในบ้าน

“ลองผิดลองถูกกันอยู่หลายปีจนเริ่มเข้าที่เข้าทาง พอเราแปรรูปกาแฟเองได้สำเร็จ ก็ขายเมล็ดกาแฟดิบ (กาแฟสาร, Green Coffee) ให้กับร้านกาแฟและลูกค้ารายย่อยได้โดยตรง ตอนแรกเรามีสมาชิกสหกรณ์ตั้งต้นแค่เจ็ดคน ถึงตอนนี้มีเพิ่มมารวมแล้วเกือบสามสิบคน ผมก็เป็นหนึ่งในคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้ไม่นานครับ” 

เมื่อสหกรณ์เริ่มอยู่ตัว องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เด ลา เกนเต้ (De la Gente) ก็ถือกำเนิดขึ้นโดยกลุ่มสมาชิกก่อตั้งสหกรณ์ดั้งเดิม เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟในภูมิภาคอื่นๆ ของกัวเตมาลาในรูปแบบเดียวกัน กุสตาโวบอกว่าตอนนี้มีสหกรณ์ 5 กลุ่มจากภูมิภาคที่ขึ้นชื่อเรื่องกาแฟในกัวเตมาลาที่มาร่วมงานกับ เด ลา เกนเต้ และมีชาวเกษตรกรเป็นสมาชิกรวมทั้งหมดเกือบ 300 คนแล้ว

“เด ลา เกนเต้ คอยดูแลเรื่องมาตรฐานของกาแฟที่มาจากทุกบ้าน ดูแลเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันอย่างโปร่งใส ช่วยวางแผนด้านการตลาดและเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างลูกค้าที่อยู่ต่างประเทศกับสมาชิกในสหกรณ์ นอกจากนี้ก็ยังมีกองทุนสนับสนุนและกองทุนเงินกู้ให้ ถ้าหากมีครอบครัวไหนที่อยากปลูกกาแฟแต่ไม่มีที่ดิน ก็สามารถไปกู้เงินจาก เด ลา เกนเต้ และขอเรียนรู้วิธีการปลูกต้นกาแฟ การแปรรูปกาแฟจากกลุ่มสหกรณ์ได้ด้วยครับ” 

เราเองก็ติดต่อเรื่องการทัวร์ไร่กาแฟผ่าน เด ลา เกนเต้ เหมือนกันค่ะ ตอนแรกเรานึกว่าเป็นชื่อบริษัทนำเที่ยวทั่วไปและมีไกด์นำเที่ยวพาไปดูไร่กาแฟ แต่วันนั้นพอรู้ว่าการมาครั้งนี้ได้มีส่วนในการช่วยสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นโดยตรงแม้จะเล็กน้อย แต่ก็ทำให้รู้สึกประทับใจและชื่นชมมากกว่าเดิมอีก

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

-4-

ไม่ใช่แค่กาแฟแต่เป็นวิถีชีวิต

บ้านของกุสตาโวมีคุณยาย ภรรยา และลูกชายหนึ่งคน ทุกคนออกมาให้การต้อนรับพวกเราทั้งหมดเป็นอย่างดี แม้แต่ตอนที่กุสตาโวเล่าเรื่องขั้นตอนการแปรรูปกาแฟให้ฟัง ทั้งครอบครัวก็ออกมานั่งฟังอย่างตั้งใจด้วย 

“ลูกเชอรี่ที่ได้มาจากสวน ต้องเอาไปล้าง แยกใบไม้ แยกขยะ เลือกเอาลูกที่ลอยน้ำออก แล้วใส่ลงเครื่องสีที่จะทำหน้าที่แยกเปลือกกับเมล็ดออกจากกัน”

‘เครื่องสี’ ที่ว่า ครึ่งหนึ่งหน้าตาไม่แปลกประหลาดเท่าไหร่ แต่อีกครึ่งที่มีส่วนของจักรยานดูน่าสนใจ กุสตาโวลองให้เราสลับกันขึ้นไปปั่น เจ้าหนูน้อยลูกชายที่นั่งมองอยู่มุมห้องแอบหัวเราะคิกคัก จะว่าไปท่าทางของเราแต่ละคนก็ดูเก้ๆ กังๆ จนน่าขำจริงๆ สมแล้วที่โดนเด็กหัวเราะใส่

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

“เมล็ดกาแฟที่ได้จากตรงนี้จะยังมีส่วนของเปลือกแข็งและเมือกติดอยู่ เราต้องเอาไปแช่น้ำประมาณยี่สิบสี่ถึงสามสิบหกชั่วโมงแล้วใช้มือช่วยทำความสะอาดเมือกออก ถ้าล้างเมือกพวกนี้ไม่หมด เมล็ดกาแฟจะมีกลิ่นเหม็น เมื่อล้างสะอาดดีแล้วก็เอาไปตากแห้งแดดอีกห้าถึงสิบสี่วัน และต้องคอยเกลี่ยกองกาแฟอยู่เรื่อยๆ เพราะความชื้นจะทำให้เริ่มกระบวนการหมัก ซึ่งจะทำลายกลิ่นและรสชาติของเมล็ดกาแฟได้”

กุสตาโวหันไปหยิบตะกร้าที่เต็มไปด้วยเมล็ดกาแฟที่มีเปลือกแข็งมายื่นให้เรา

“แบบนี้เรียกว่ากาแฟกะลา คือเมล็ดกาแฟที่ล้างเมือกออกจนสะอาดแล้ว ตากแห้งสนิทดีแล้ว แต่ยังมีเปลือกแข็งข้างนอกอยู่ เราจะเอากาแฟกะลาแบบนี้ไปสีกะลาออกด้วยเครื่องสีพลังงานแสงอาทิตย์ที่สหกรณ์ แล้วก็เอากลับมาเลือกเมล็ดที่มีตำหนิทิ้งไป เสร็จแล้วจะคัดแยกขนาดด้วยตะแกรง ก่อนจะบรรจุใส่ถุงหรือลงกระสอบส่งขาย หรือถ้าจะขายให้กับร้านกาแฟในเมืองหรือลูกค้าตามบ้าน ก็เอาไปคั่วกับเครื่องที่สหกรณ์ก็ได้”

กุสตาโวเอาเมล็ดกาแฟเมล็ดกาแฟดิบที่กะเทาะกะลาออกแล้วมาเทลงบนโต๊ะให้ดู ก่อนจะบอกให้เราลองใช้เวลาประมาณ 5 นาทีกับการนั่งเลือกเมล็ดกาแฟที่มีตำหนิออกจากกองบนโต๊ะ เป็น 5 นาทีที่ยาวนานมากจริงๆ ค่ะ ถ้านานกว่านั้นอีกหน่อยอาจจะต้องหาแว่นใส่

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

นั่งเลือกเมล็ดกาแฟกันไปพอหอมปากหอมคอ แอนโตเนียตา ภรรยาของกุสตาโวก็เดินออกมาจากครัวและชวนให้เราไปลองคั่วเมล็ดกาแฟดิบ ทันทีที่เมล็ดกาแฟสัมผัสกับความร้อน กลิ่นกาแฟก็ฟุ้งไปทั่วบ้าน เราไม่เคยได้กลิ่นกาแฟที่หอมขนาดนี้มาก่อนเลยค่ะ เรารับไม้พายมาเกลี่ยเมล็ดกาแฟอย่างที่แอนโตเนียตาสอน “กวนไปเรื่อยๆ นะคะ ถ้าหยุดมันจะไหม้”

เมื่อมีน้ำมันกาแฟออกมาได้ที่แล้ว แอนโตเนียตาก็ยกถาดลงมาวางใกล้ๆ กับแท่นหินภูเขาไฟในครัว และใช้ช้อนตักเมล็ดกาแฟสีดำที่คั่วแล้วมาวางบนแท่นหินแบนครั้งละหนึ่งช้อน ก่อนจะลงมือบดด้วยการหมุนก้อนหินด้านบนขึ้นลงซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งกลมคล้ายสากหินแต่ขนาดใหญ่กว่ามาก

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

ตอนดูเขาทำก็ไม่น่าจะยากค่ะ แต่พอมือสมัครเล่นอย่างพวกเราทำ ก็ได้รู้ซึ้งว่าต้องใช้พลังแขนและหลังมากกว่าที่คิด ที่สำคัญถ้าบดไม่ระวังก็จะโดนหนีบนิ้วเอาได้ง่ายๆ เรา 4 คนวนเวียนกันอยู่ 2 – 3 รอบ เมล็ดกาแฟแตกกระจัดกระจาย หล่นพื้นบ้าง กระเด็นบาง กว่าจะได้ผงกาแฟแต่ละช้อนชาก็เหงื่อตกกันไปเบาๆ แอนโตเนียตาคงจะรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วถึงได้คั่วแบบเผื่อเหลือซะเยอะเลย

เจ้าหนูน้อยที่ยืนยิ้มกริ่มอยู่ข้างประตูรอจนเราทุกคนยอมแพ้ แล้วก็เดินเข้ามาหยิบสากไปบดเมล็ดกาแฟอย่างคล่องแคล่วไม่แพ้คุณแม่ ปริมาณเมล็ดกาแฟใกล้เคียงกันแต่ผงกาแฟที่ได้ต่างกันเกินครึ่ง ทุกคนปรบมือให้หนูน้อยด้วยความชื่นชม

แอนโตเนียตาหยิบแก้วกาแฟใบเล็กๆ มาแจกจ่าย เราตักผงกาแฟแบ่งกันคนละนิดคนละหน่อย ก่อนจะเทน้ำร้อนลงไปผสม หนูน้อยยื่นแก้วตัวเองเข้ามาด้วยอีกคน เราถามกุสตาโวด้วยความทึ่งว่าน้องดื่มกาแฟรสจัดขนาดนี้ไหวจริงๆ หรือ

“กินเก่งพอๆ กับกินนม แถมกินแล้วหลับสนิทด้วย”

เจ้าตัวแสบทำหน้าทะเล้นใส่เราแล้วก็เดินประคองแก้วกาแฟตัวเองไปนั่งอีกมุม

แอนโตเนียตา ยกถาดที่มีทั้งนม ทั้งน้ำผึ้งและน้ำตาลมาให้ แต่ไม่มีใครหยิบอะไรมาใส่เพิ่มเลย น่าจะเป็นเพราะทุกคนก็อยากจะดื่มด่ำกับกาแฟที่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ แม้จะเป็นการจับตรงนั้นนิด หยิบตรงนั้นหน่อย แต่ก็มากกว่าที่เคยคิดว่าจะได้ลองทำจริงๆ

เราจำไม่ได้เหมือนกันค่ะว่ามันขมซ่อนเปรี้ยว หอมช็อกโกแลต มีกลิ่นอัลมอนต์ หรือมีรสเข้มข้นขนาดไหน แต่ที่จำไม่ลืมคือความรู้สึกที่ว่ากาแฟแก้วนั้นเป็นกาแฟที่อร่อยที่สุดในชีวิตของเราเลยค่ะ 🙂

ตามกลิ่นกาแฟแอนติกัว กัวเตมาลา หาเบื้องหลังรสและกลิ่นเข้มข้นที่คอกาแฟทั่วโลกยอมรับ, antigua coffee

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก