21 ธันวาคม 2021
28 K

‘ไปเชียงใหม่เที่ยวไหนดี?’

นี่คือคำถามยอดฮิตที่โดนถามมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าจนล่วงมาจะ 30 ในฐานะตัวแทนหมู่บ้านฝ่ายเหนือ ที่ผ่านมาแนะนำเพื่อนไปก็หลายที่ เปลี่ยนไปตามความสนใจในแต่ละขวบปี แต่พอนึกดี ๆ มีที่เดียวที่ไม่เคยห่างหายไปจากลิสต์เลยคือ ‘อ่างแก้ว’ อ่างเก็บน้ำขนาด 400,000 ลบ.ม. อยู่ชิดมาทางด้านหน้าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะเป็นที่ที่เรียบง่ายและผ่อนคลายที่สุด ในการนั่งดูพระอาทิตย์ลาลับเหลี่ยมเขา

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

แรกเริ่มเดิมที อ่างแก้วสร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำจาก 5 ลำห้วยที่ไหลลงมาตามแนวร่องของภูเขา 2 ใน 5 ของลำห้วยที่มีปริมาณน้ำเยอะที่สุดคือ ‘ห้วยแก้ว’ และ ‘ห้วยกู่ขาว’ มหาวิทยาลัยเลยขอให้กรมชลประทานสร้างเขื่อนตรงที่ลำห้วยทั้งสองสายไหลมาบรรจบกัน เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ใช้สำหรับการประปาภายในมหาวิทยาลัย โดยใช้ชื่อว่า ‘อ่างแก้ว’ ตั้งแต่ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา 

ภาพจำติดตาคือสันอ่างโค้งครึ่งวงกลมจรดแนวป่า กับผืนน้ำนิ่งสะท้อนภาพท้องฟ้าและดอยสุเทพ 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

จากนกเป็ดน้ำถึงเจ้านายสี่ขา

“เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ชวนกันไปดูหมา แต่ยุคก่อนหน้าเขาพากันไปดูนกเป็ดน้ำ”

ใช่แล้ว ฟังไม่ผิด นกเป็ดน้ำ ศิษย์เก่ารุ่นดึกดำบรรพ์ท่านหนึ่ง (เรียกสั้น ๆ ว่าแม่) เล่าให้เราฟังว่าสมัยก่อน ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์ จะมีนกเป็ดน้ำอพยพหนีหนาวจากทางตอนเหนือ บินมาอวดโฉม ลอยคอกันเป็นฝูงอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ เป็นอีกกิจกรรมที่นักศึกษาหนุ่มสาวชักชวนกันมาดู นอกเหนือจากการพักผ่อนหย่อนใจปกติที่ปรากฏแทรกอยู่ในเนื้อเพลงประจำมหาวิทยาลัย ในสมัยที่ยังสามารถขับรถเลียบขอบอ่างได้

“ผ่อนอารมณ์ สุขสมยามเคียงคู่ ทุกแห่งชวนพิศดูชมเล่น รอบวารีนี้เพลินตา สายลมมาพาให้เย็นแสนสบาย จึงหมายเป็นศูนย์หย่อนใจไว้ชื่นทรวง…”

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก
ภาพ : ภก.กำชัย ทวีทรัพย์
ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

เกือบสิบปีให้หลัง จากครั้งแรกที่แม่พามาดูนกเป็ดน้ำ ชีวิตก็วนกลับมาให้ได้ใกล้ชิดอ่างแก้วอีกครั้งในฐานะนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นึกอะไรไม่ออกบอกอ่างแก้วไว้ก่อน เพราะเป็นทั้งที่วิ่งตอนเช้า ที่เดินเล่น หัดถ่ายรูป เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ซื้ออาหารมานั่งทานรับลม พร้อมชมพระอาทิตย์ตกกับเพื่อน ๆ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นประสบการณ์ร่วมของใครอีกหลายคน โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ขยายวงต้อนรับทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว พร้อมรูปแบบกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น โดยล่าสุดที่ทำให้อ่างแก้วกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตขึ้นมาคือสมาคมสี่ขายามเย็น บริเวณลานสังคีตหรือลานควายยิ้ม ซึ่งทาสหมาทั้งหลายพร้อมใจกันพาเจ้านายมาเดินเล่น พบปะทำความรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นหมากับหมา คนกับหมา พัฒนาไปจนคนกับคน ผ่านการทักทายกันของเจ้าของ นั่นเปลี่ยนให้คนแปลกหน้าทั้งหลายกลายมาเป็นมิตร

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

พื้นที่สาธารณะที่ดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน 

จริง ๆ แล้วไม่ถึง 10 เพราะ คุณลุงญาน เกห์ล (Jan Gehl) สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการออกแบบเมืองจากเดนมาร์ก บอกเอาไว้ว่าพื้นที่สาธารณะที่ดีมักมีกิจกรรม 3 รูปแบบเอาไว้เป็นตัวชี้วัด

หนึ่ง กิจกรรมจำเป็น เป็นกิจวัตรปกติที่ทุกคนต้องทำเป็นประจำ โดยสภาพแวดล้อมของพื้นที่ไม่มีผลต่อการตัดสินใจทำ เช่น การไปทำงานหรือการไปเรียน 

สอง กิจกรรมทางเลือก เป็นกิจกรรมที่คนจะทำก็ต่อเมื่อเวลาและสภาพแวดล้อมเหมาะสม ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมพักผ่อน อย่างการออกไปเดินเล่น นั่งดูวิว ไปจนถึงการอาบแดด 

สาม กิจกรรมเชิงสังคม เป็นกิจกรรมที่ต่อยอดมาจากทั้ง 2 ข้อ ส่วนนี้เป็นสิ่งที่วัดให้เราเห็นคุณภาพของพื้นที่สาธารณะได้ชัด เพราะพื้นที่สาธารณะที่ดีจะเปิดโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมากขึ้น ไม่ว่าทางเดียว อย่างการนั่งมองผู้คนที่เดินผ่าน หรือสองทางอย่างการรวมกลุ่มเล่นของเด็ก หรือการเริ่มบทสนทนาของผู้คน

ซึ่งจากการสำรวจพื้นที่ในฐานะผู้ใช้งานมาร่วมสิบกว่าปี เราพบว่าอ่างแก้วที่ดูเหมือนเป็นพื้นที่สาธารณะธรรมดา น่าสนใจตรงที่นำพาให้ผู้คนไปสู่กิจกรรมเชิงสังคมได้อย่างง่ายดาย

แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญ ตามเรามา จะพาไปไขความลับ

ความลับข้อที่ 1 เข้าถึงได้ง่าย 

ปัจจัยแรกที่ทำให้อ่างแก้วเป็นที่นิยม คือการเข้าถึงง่าย เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองนัก พอนึกอยากเดินเล่นปุ๊บ ก็หักพวงมาลัยเลี้ยวรถมาปั๊บ ขับรถถึงได้ภายในไม่เกิน 20 นาที 

นอกจากนั้น การมีลานจอดรถที่ขนาบอยู่สองฝั่งทั้งบริเวณศาลาอ่างแก้วและบริเวณหน้าคณะมนุษยศาสตร์ ช่วยทำให้ระยะการเดินจากที่จอดรถไปถึงส่วนที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ไกลจนเกินไป สะดวกสบายทั้งการย้ายคน สัตว์ สิ่งของ ทำให้ใคร ๆ ก็เลือกมาพักผ่อนหย่อนใจที่นี่

ความลับข้อที่ 2 เดินต่อไปได้เรื่อยๆ

 นอกจากเรื่องกิจกรรม 3 แบบแล้ว หนังสือของคุณลุง Jan Gehl ยังเล่าให้เราฟังอีกว่า ปกติแล้ว ผู้ใหญ่มักจะเดินในระยะเฉลี่ย 500 เมตรต่อวัน ซึ่งถ้าอยากทำให้ได้มากกว่านั้น การจัดเส้นทางการเดินมีส่วนสำคัญมาก ทางเดินที่ดีควรค่อย ๆ เผยให้เห็นเส้นทางทีละนิด เพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความอยากรู้อยากเห็น จูงใจให้ออกแรงเดินไปต่อ 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ความเป็นเนินและความโค้งของสันอ่างได้ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี เพราะทฤษฎีกล่าวไว้ว่า ผู้คนรับรู้ระยะทางผ่านการเปลี่ยนผ่านพื้นที่มากกว่าชี้จากการวัดเป๊ะ ๆ การเดินเลาะไปตามขอบถนนโค้ง ผ่านที่โล่งสลับต้นไม้ใหญ่ จึงทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์หลากหลายในเส้นทางที่เลือกเดิน ไม่ว่าจะเป็นทางสั้นที่เดินไปถึงแค่บริเวณสะพาน และทางยาวที่เดินข้ามเพื่อมุ่งหน้าไปยังอ่างเก็บน้ำตาดชมพูที่อยู่ไม่ไกลกัน และเดินวนกลับมาบรรจบครบรอบใหญ่ได้

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก
ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

นอกจากนั้น ระดับความชันก็เป็นอีกเรื่องที่มีผลต่อการจูงใจให้น่าเดิน เพราะการเปลี่ยนระดับโดยเน้นการใช้เนิน เป็นอะไรที่ทำให้เดินได้เพลิดเพลินกว่าบันได

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ความลับข้อที่ 3 ลุกนั่งสบาย

จากงานสำรวจของ จอห์น ไบบ์ ในสวนทิโวลี เมืองโคเปนเฮเกน เขาพบว่าม้านั่งซึ่งได้รับความนิยมที่สุด คือม้านั่งที่วางไว้ตามแนวทางเดินสายหลัก มีวิวให้มองเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ และจะให้ดีควรมีทุก 100 เมตร 

 อ่างแก้วเองก็ทำแบบเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย ที่นั่งจัดวางไว้ตามขอบทางเดินของสันอ่าง ห่างบ้างชิดบ้างตามจังหวะที่ว่างอย่างเหมาะสม ม้านั่งออกแบบอย่างเรียบง่ายให้ใช้งานได้ทั้งสองฝั่ง ไม่ว่าจะหันหน้ามองผืนน้ำและยอดดอย หรือจะมองการแสดงสี่ขาที่ลานด้านล่างก็ทำได้อย่างสะดวก ถือเป็นที่นั่งหลักที่ออกแบบมาให้เหมาะกับผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ในขณะที่ที่นั่งรองจะอยู่ในรูปแบบขององค์ประกอบที่มีระยะเหมาะสมกับการนั่ง เช่น ขอบทาง หรือเนินหญ้า ซึ่งเป็นที่ฮอตฮิตในหมู่วัยรุ่นมากกว่า เพราะว่าจับกลุ่มทำกิจกรรมได้หลากหลาย โดยไม่มีอะไรมาคั่นกลางระหว่างที่นั่งกับวิวผืนน้ำกว้างข้างหน้า 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก
ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

นอกจากนั้น เนินหญ้าบริเวณลานสังคีตที่ทุกคนชอบ ก็เอื้อให้เกิดลักษณะการนั่งเหมือนกันกับจัตุรัสเก่าของยุโรป สโลปของเนินทำหน้าที่คล้ายผนัง ทำให้รู้สึกว่าหลังได้รับการปกป้อง ส่วนด้านหน้าก็นั่งมองกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั่วทั้งลานสนามหญ้าได้อย่างชัดเจน

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ความลับข้อที่ 4 พื้นที่ริมขอบ

“พื้นที่ริมขอบสำคัญ ถ้าหากพื้นที่ริมขอบล้มเหลวเสียแล้ว พื้นที่ว่างทั้งผืนก็ไม่มีทางมีชีวิตชีวาได้เลย” 

จากหนังสือ A Pattern Language โดย Christopher Alexander ทำให้เราเห็นอีกข้อสำคัญที่ทำให้อ่างแก้วกลายมาเป็นพื้นที่ที่คนนิยมกัน โดยเฉพาะส่วนของลานสังคีตที่มีพื้นที่ริมขอบให้ผู้คนได้เลือกจับจองตามความสมัครใจ

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก
ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

 เพราะมีทั้งคนที่เกาะกลุ่มอยู่ใต้ต้นไม้ บ้างผูกเปลนอน บางคนก็เลือกที่จะเอาเก้าอี้สนามมากาง นั่งสังเกตการณ์อยู่เงียบ ๆ เลียบขอบทางเดิน บางคนเลือกนั่งบนเนิน เพื่อจะได้เห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมุมสูง 

และกลุ่มสุดท้าย เจ้านายสี่ขาที่มักจะจับจองพื้นที่บริเวณกลางลานในการวิ่งเล่นออกกำลังกาย ทำให้พื้นที่ลานสนามหญ้าแห่งนี้เกิดความเคลื่อนไหว มีชีวิตชีวาตลอดเวลา โดยที่ผู้ชมริมขอบเองก็มีอิสระ เลือกที่จะนั่งดูหรือเข้าไปร่วมกิจกรรม ทักทายกันทั้งหมาทั้งคนตรงกลางลานได้อย่างไม่เคอะเขิน 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ความลับข้อที่ 5 เป็นสัญญาณบอกวันเวลา

นอกจากเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมหลากหลายแล้ว อ่างแก้วยังทำอีกหน้าที่หนึ่งในฐานะพื้นที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลา ผ่านองค์ประกอบธรรมชาติร่วมกับกิจกรรมตลอดปีด้วยเช่นกัน

ก้าวแรกของนักศึกษามาพร้อมหน้าฝน ต้นไม้พากันผลิใบสีเขียวชอุ่ม พ่วงด้วยหมอกตอนเช้าเป็นครั้งคราวตามความเบาแรงของฝน กิจกรรมรับน้อง ร้องเพลงเชียร์ เตรียมตัวขึ้นขึ้นดอย เกิดขึ้นในช่วงนี้ โดยมีม่านฝนเป็นฉากหลัง

ท้องฟ้าใสทาบทับด้วยกิ่งไม้แห้ง เป็นภาพจำของฤดูหนาว ต้นไม้เริ่มทิ้งใบและสีสันของตัวเองออกไป ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของดอกทองกวาวสีแสด และแดดยามเย็นสีส้มอมชมพู 

ในฤดูที่ผู้คนมักมาปรากฏตัวพร้อมเสื้อกันหนาว ซึ่งอุณหภูมิจะต่ำจะสูงไม่รู้ แต่ชาวเหนืออย่างเราถือเป็นช่วงแฟชั่นโอกูร์ตูร์ที่จะงัดทั้งตู้ออกมาประชันกันอย่างไม่มีใครยอมใคร นอกจากนั้นยังมีแก๊งชุดครุยดำคละแถบสี ที่มีนัยยะสำคัญเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่าน จากอดีตเฟรชชี่หน้าใหม่สู่บัณฑิตที่ตั้งใจมาบันทึกภาพคู่กับอ่างแก้ว ไว้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำและความสำเร็จ 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

เสียงของจั๊กจั่นร่วมกับเสียงฝีเท้าย่ำลงบนใบสักแห้ง ที่แปลงจากสีเขียวเป็นเหลืองอมสีน้ำตาล หล่นกองอยู่เกลื่อนพื้น เป็นสัญญาณเริ่มต้นของปิดเทอมฤดูร้อน ที่นักศึกษาอาจบางตาลงไปบ้าง เพราะลงเรียนกันเพียงบางส่วน และบางคนก็เน้นหลบแดดตอนกลางวัน รอเวลาออกมาเดินเล่นคลายร้อนตอนแดดร่มลมตก

การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่คู่ขนานไปกับกิจกรรมที่แตกต่างกันในแต่ละฤดูนี้ ทำให้หากเห็นอะไรคล้ายกับที่นี่ จะมีภาพความทรงจำฉายชัดขึ้นมา เป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนอ่างแก้วจากพื้นที่สาธารณะธรรมดา ให้กลายเป็นถิ่นที่อยากกลับมาในทุก ๆ ปี

พื้นที่ที่ดี คือพื้นที่ ‘ที่มี สำหรับทุกคน

จากการไขความลับในวันนี้ ทำให้เราเชื่อว่าทุกจังหวัดในประเทศไทยมีและควรมีพื้นที่สาธารณะที่ดีได้ โดยไม่จำเป็นต้องเน้นความหวือหวาหรือการทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่ เพราะสุดท้ายสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากอ่างแก้วที่เริ่มต้นจากการเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมดา ๆ ก่อนจะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครมาก็ตกหลุมรัก สิ่งสำคัญคือความใส่ใจในการร้อยเรียงพื้นที่ให้มีความหลากหลายมากพอที่จะรองรับการใช้งานในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปของสาธารณชน และเปิดโอกาสให้คนได้มีปฏิสัมพันธ์กันจากกิจกรรมทั้งสามประเภทอย่างที่คุณลุง Jan Gehl ได้กล่าวเอาไว้ 

ความลับของลานควายยิ้ม-อ่างแก้ว มช. พื้นที่สาธารณะที่ใคร ๆ ก็ตกหลุมรัก

ข้อมูลอ้างอิง :

หนังสือเมืองมีชีวิต การใช้พื้นที่สาธารณะ ผู้เขียน Jan Gehl

www.chiangmainews.com

www.library.cmu.ac.th 

Writer & Photographer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่