“มหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างแต่นักศึกษา แต่สร้างคนอื่นที่อยู่รอบนอกด้วย”

ไม่ต้องแปลกใจ หากคุณไม่เคยรู้มาก่อนว่า นอกจากผลิตครูและบัณฑิตสู่สังคมแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต มีปฏิญญาในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมากว่า 50 ปี เราเองก็เพิ่งทราบ หลังได้เดินทางไปคุยกับ ผศ. ดร.หิรัญ ประสารการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ถึงโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นอันดามัน 3 จังหวัดที่นำของดีประจำจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ อย่างสับปะรด ขมิ้น นมแพะ ผ้าพื้นเมือง เช่น ซาโอริ ผ้าบาติก งานจักสานจากพืชท้องถิ่น ไปจนถึงลูกปัดมโนราห์ หรือภูมิปัญญาเก่าแก่ทั้งที่ยังมีอยู่และเลือนหายไปแล้ว มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นสินค้าน่าใช้ ซ่อนแนวคิดใหม่ๆ ปรี่ล้น ผสานนวัตกรรมที่คิดค้น ทดลอง โดยทีมสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ ที่ทั้งสร้างคุณค่า เพิ่มมูลค่า และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้

“โครงการนี้ไปไกลกว่าการเป็นหลักสูตรให้นักศึกษาได้เรียนรู้ เพราะวัตถุประสงค์หลักๆ คือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นที่บูรณาการไปกับหลักสูตรการเรียนการสอนรายวิชานั้นๆ เราไม่ได้ลงไปในลักษณะ Top Down ว่าเราอยากทำอะไร แต่ต้องลงไปสำรวจว่าเขาอยากทำอะไรมากกว่า ไปเห็นปัญหาจริงๆ ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ไปเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเราไปช่วยเขา และอยากให้ความรู้นี้ติดตัวเขา ไม่ใช่ลงทุนไปเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ แต่ว่าชุมชนไม่ได้มีการพัฒนา”

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

ผศ. ดร.หิรัญ ยังเล่าต่ออีกว่า การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น จึงอยากให้นักวิชาการ นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา และเครือข่ายที่มีลงไปช่วยชุมชนด้วย และที่นี่ยังมีศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร AIC (Agritech and Innovation Center) มีสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ ที่จะนำผลิตภัณฑ์ชุมชนไปแปรรูปและพัฒนาได้อีกมาก รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายองค์กรในจังหวัด อย่างเช่น พัฒนาชุมชน (พช.) หอการค้าจังหวัดภูเก็ต ประชารัฐ สถานประกอบการต่างๆ เพื่อพัฒนาสินค้าท้องถิ่นหลายมิติ เขาคาดหวังให้ของท้องถิ่นทั้ง 3 จังหวัดจะไปสู่ระดับโลกและส่งออกได้ ที่สำคัญ ภูเก็ตเองเป็น World Class Destination เมื่อคนมาเที่ยวจะได้จับจ่ายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ติดมือกลับไปด้วย

“เราพยายามให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และถ้าอยากทำให้ยั่งยืนต้องสร้างความเข้าใจ ให้ความรู้คนที่เกี่ยวข้องว่าเราไม่ได้พัฒนาแต่ผลิตภัณฑ์ เราพัฒนาองค์ความรู้ จริงๆ รากมันคือสิ่งนี้ เราทำเรื่องการวิจัยชุมชน และพยายามให้ชุมชนทำงานเป็นนักวิจัยมากขึ้น

“เราอยากให้ทุกคนได้เห็นศักยภาพของมหาวิทยาลัย ที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบ Lifelong Learning ทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโรงเรียนผู้สูงอายุ รวมถึงการวิจัย การบริการวิชาการ ซึ่งทุกภารกิจเราตอบสนองความต้องการของทุกพื้นที่ในท้องถิ่นจริงๆ” อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยสร้างคนเพื่อท้องถิ่นเล่าด้วยท่าทีอบอุ่น แต่ทว่าสายตานั้น แหลมคม มุ่งมั่น และสะท้อนความตั้งใจให้เกิดขึ้นจริงอย่างเขาว่า

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

และเร็วๆ นี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จะมี ‘มโหฬาร เฟสติวัล’ เทศกาลเล็กๆ ของคนหัวใจใหญ่ๆ ซึ่งรวบรวมทุกแรงบันดาลใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตตลอด 50 ปีที่ผ่านมา รวมถึงตลาดนัดผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอันดามันทั้งหมดที่ทีมสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ เข้าไปช่วยต่อยอด การแข่งขันทักษะวิชาการ และคอนเสิร์ตจากศิลปินดัง ทั้ง Big Ass, Num Kala, POP Pongkool และ Joey Phuwasit

ก่อนตามไปเที่ยวงานนี้ เราขอหยิบ 10 สินค้าที่ได้รับการแปลงโฉม-เติมไอเดียสร้างสรรค์ให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น กลายเป็นของที่เก๋ทั้งดีไซน์และแนวคิดการต่อยอดเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง มาแนะนำ

ภูเก็ต

01

นมแพะข้นหวาน

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

แพะ เป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันมากในตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 

เพราะไม่อยากให้นมแพะที่ผลิตได้ถึงวันละ 30 ลิตรของฟาร์มแพะมณีรัตน์ต้องเสียเปล่าและเททิ้ง โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอท็อปของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงอาสาคิดค้นวิธีที่จะทำอย่างไรให้ยืดอายุเก็บนมแพะไว้ได้นานขึ้น เกิดปิ๊งไอเดียแปรรูปเป็นนมแพะข้นหวาน เก็บสารอาหารและคุณประโยชน์ด้วยกรรมวิธีที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เติมส่วนผสมอย่างน้ำตาลเพื่อให้มีรสหวานละมุน เคี่ยวจนน้ำในนมระเหยด้วยอุณหภูมิคงที่ 80 – 90 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง ก่อนเติมน้ำมันรำข้าวเพื่อให้เงางามและบรรจุในหลอดบีบที่ทั้งใช้ง่าย พกพาก็ง่าย

นอกจากนมแพะข้นหวาน มัน อร่อย แล้ว มณีรัตน์ บัวศรี เจ้าของฟาร์มยังสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากแพะอีกหลายชนิด เช่น นมแพะพาสเจอไรซ์ โยเกิร์ตนมแพะ สบู่นมแพะ และที่ฟาร์มแพะมณีรัตน์ ยังมีโฮมสเตย์ เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ฟาร์มแบบเต็มรูปแบบ ให้ความรู้ด้านเบเกอรี่และการทำสวนด้วยนะ 

02

Pineapple Jelly

เจลลี่สับปะรดภูเก็ต

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

“สับปะรดพันธุ์ภูเก็ตต้องปลูกที่ภูเก็ต เวลาสุกรสชาติจะหวานกรอบ กลิ่นหอม เนื้อแน่นสีเหลืองฉ่ำ แกนกลางเคี้ยวได้”

กินสดว่าอร่อยแล้ว ได้ลองชิมเจลลี่สับปะรดพร้อมดื่ม เราว่ารสชาติเหมือนกันเปี๊ยบ เพราะทำจากสับปะรดแท้ รับมาจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ตโดยตรง นำมาคั้นสดๆ แยกน้ำและกาก จากนั้นตั้งไฟเคี่ยวจนได้อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เติมเกลือ น้ำตาล และแซนแทนกัม (สารให้ความหนืด) เล็กน้อย คนต่อจนได้ที่ ก่อนบรรจุลงแพ็กเกจจิ้งทิ้งไว้ในน้ำอุณหภูมิห้อง 10 นาที ก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ที่สำคัญปราศจากสารกันบูดด้วยนะ

นี่เป็นการเพิ่มมูลค่าโดยไม่ทิ้งคุณค่าของดั้งเดิมทั้งรสชาติและเอกลักษณ์เปี่ยมเสน่ห์ของสับปะรดพันธุ์ภูเก็ต ที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างน่ารัก น่าสนใจ และเราว่าคนภูเก็ตน่าจะภูมิใจมาก

คำแนะนำสุดท้าย ควรแช่เย็น เพราะยิ่งเย็นเจี๊ยบ ยิ่งอร่อย ชื่นใจเป็นที่สุด

03

ANANA

เวชสำอางจากสับปะรดภูเก็ต

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

ต่อจากเจลลี่ ยังมี ANANA (เอนาน่า) เวชสำอางจากสับปะรดภูเก็ตอีกอย่างที่หยิบผลไม้ของดีประจำถิ่น อันอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์มาปรุงเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งฟังแล้วคนรักของประทินผิวสายออร์แกนิกอย่างเราตาลุกวาว 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ตร่วมกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ตจำกัด และได้สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องการแปรรูปเป็นเวชสำอางต่างๆ ตั้งแต่การศึกษาคุณสมบัติของสับปะรด ทดลอง คิดค้นสูตรเพื่อใช้ได้จริง และพัฒนาให้ผ่านมาตรฐาน อย. โดยไม่ลืมทดสอบจนมั่นใจว่าเป็นมิตรกับผู้ใช้

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

สับปะรดที่ดูแลอย่างทะนุถนอมตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ต่อยอดเป็นเจลแต้มสิว สบู่ก้อน สบู่เหลว มาสก์ และโลชั่นทาผิว สารพัดคุณสมบัติ พร้อมเซอร์ไพรส์ในแพ็กเกจจิ้งแสนสวย ยิ่งทำให้น่าคบและหามาลองใช้ทั้งหมด!

พังงา

04

Preeda Cubed Curry

เครื่องแกงอัดก้อนแม่ปรีดา

เขาตำหนอน หมู่บ้านชื่อแปลกแห่งจังหวัดพังงา ดังเรื่อง ขี้หมิ้น หรือ ขมิ้น ที่กลายเป็นของดีประจำจังหวัด

บ้านเขาตำหนอน อยู่ในอำเภอทับปุด ว่ากันว่าเป็นพื้นที่ที่ขมิ้นงอกงาม มีสีส้มแดงสดสวย คุณภาพสูง มีสารเคอร์คูมินอยด์ มากกว่าปกติถึง 5 เท่า เพราะปลูกในดินสีแดงดินข้างเชิงเขาหินปูนซึ่งมีแร่ธาตุมากชนิด ห้อมล้อมด้วยมีต้นขี้หนอนสูงใหญ่ 

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

แบรนด์เครื่องแกงแม่ปรีดานำขมิ้นมาเป็นวัตถุดิบทำเครื่องแกงมานานจนติดตลาด เกิดอยากพัฒนาเครื่องแกงเก็บให้ได้นานโดยไม่ใส่สารกันบูด (ซึ่งเดิมไม่ใส่อยู่แล้ว) เพื่อส่งออกต่างประเทศได้ ในขณะเดียวกันก็อยากรักษาฐานลูกค้าเดิม ปลอดภัยต่อสุขภาพกายคนกิน และดีต่อใจคนทำด้วย

เมื่อคนในกลุ่มเครื่องแกงเขาตำหนอนถนัดคัดสรรขมิ้นที่จะนำมาใช้ทำเครื่องแกง ส่วนสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ถนัดแปรรูป การมาเจอกันครั้งนี้ จึงเกิดการคิดค้นพัฒนาสูตรเครื่องแกงเปียกกลายเป็นเครื่องแกงแห้งอัดก้อนที่เก็บไว้ได้นานกว่า 3 เดือน กระบวนการแปรรูปไม่ซับซ้อนแต่ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดี จับเครื่องแกงเปียกอัดลงบล็อก นำเข้าตู้อบลมร้อนหรือโรงตากพลังงานแสงอาทิตย์ของชุมชนประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาตัดเป็นก้อนแล้วเพิ่มระยะเวลาตากเป็น 6 ชั่วโมงก่อนบรรจุลงถุง

ไปทั้งที อย่าลืมติดไม่ติดมือกลับมาด้วย ทั้งเครื่องแกงพริก แกงกะทิ และแกงส้ม รับรองว่าจะหายคิดถึงพังงาไปอีกวัน

05

Nortong

สครับและน้ำมันเหลืองจากขี้หมิ้น

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

เมืองในหุบเขาซึ่งซ่อนอัญมณีสีส้มแดงไว้นี้ ยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดและฟื้นคุณค่าสมุนไพรไทยขึ้นมาอีกครั้ง

ขมิ้น ของดีแห่งบ้านเขาตำหนอน ได้รับการแปรรูปบรรจุลงขวดดีไซน์เก๋ ไซส์เหมาะมือ เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในชื่อ Nortong (หน่อทอง) อย่างสครับขมิ้นชันและน้ำมันเหลือง ที่มหาลัยวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเข้าไปร่วมพัฒนาสินค้าท้องถิ่นนี้ โดยใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ ผสมผสาน ดึงสรรพคุณทางยาและเวชสำอางของขี้หมิ้นออกมาแบบไม่ลดคุณประโยชน์ พร้อมเสริมวัตถุดิบจากธรรมชาติคุณสมบัติพิเศษ เช่น เติมเมล็ดวอลนัทเพื่อช่วยในเรื่องการผลัดเซลล์ผิวสำหรับตัวสครับ ส่วนน้ำมันเหลืองสกัดจากขมิ้นล้วน ใช้ถูนวดบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามตัว 

ในอนาคตพวกเขายังมีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากธรรมชาตินี้เป็นโลชั่นบำรุงผิว แชมพู สบู่ ด้วยนะ

แต่ตอนนี้ ฟังความตั้งใจทั้งหมดแล้วเลือกไม่ถูก เลยจัดมาให้ทั้ง 2 ชิ้นให้ตามไปตำ!

06

ผ้าทอซาโอริ

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

โอริ แปลว่าอิสระ ส่วน ซา คือการทอ รวมกันแล้ว ‘ซาโอริ’ จึงมีความหมายว่าการทออย่างอิสระ

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ผ้าทอซาโอริที่ริเริ่มโดย มิสึโอะ โจ (ผู้อำนวยการมูลนิธิมายา โคตมี) เมื่อครั้งประสบภัยสึนามิ ไม่ได้อยู่ที่ให้ช่างทอสร้างสรรค์ลวดลายตามใจเสรี มีเอกลักษณ์การทอโดยให้เส้นพุ่งเป็นตัวกำหนดลายแสนแพรวพราว จนออกมาเป็นผ้าทอที่ไม่ซ้ำกันสักผืน แต่คราวนี้ได้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เข้ามาดีไซน์ให้เป็นสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เก๋ไก๋ ผ่านเทคนิคทอไปแต้มไป ซึ่งเป็นการผสาน 2 วัฒนธรรม อีสาน-ใต้ เข้าไว้ด้วยกัน

เทคนิคที่ว่า คือการแต้มสีจากการทอผ้าแบบอีสาน วิธีนี้ยังทำให้ง่ายต่อการครีเอตลายผ้า เพราะลดขั้นตอนการสลับสีเส้นด้าย ส่วนสี ใช้สีบาติกในงานผ้าพื้นเมืองของภาคใต้มาแต่งแต้ม

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

บอกเลย ซาโอริโฉมใหม่กลิ่นอายบาติกนี้ ทำให้เห็นว่าผ้าไทยใส่ไม่ยากอย่างที่คิด และใส่เป็นไลฟ์แวร์ทุกวันก็ยังได้ ไม่เชื่อดูจากนางแบบได้

กระบี่

07

กระเป๋าสานเตยปาหนัน

งานหัตถกรรมจากใบเตยปาหนัน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบสานกันมาจากช่างฝีมือพื้นบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดตรัง กระบี่ ระนอง ยะลา และนราธิวาส

กลุ่มหัตถกรรมเตยปาหนันบ้านวังหิน 29 หมู่ 6 ตำบลคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ก็สืบทอดวิธีการทำจากรุ่นผู้เฒ่าผู้แก่ ทั้งการปลูก เก็บ เตรียมเส้นใย ย้อมสี ไปจนถึงเทคนิคการสาน

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

เดิมทีเตยปาหนันมักสานเป็นหมอน กระเป๋า เสื่อสำหรับปูนั่ง ปูนอน ซึ่งเป็นสิ่งสําคัญที่ใช้ในพิธีแต่งงานของชาวไทยมุสลิมที่คู่บ่าวสาวมาต้องช่วยกันสาน เมื่อโลกหันมาสนใจความยั่งยืน โลกแฟชั่นเองก็ต้องปรับตัว สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงลุกขึ้นมาชวนเหล่า ‘จ๊ะ’ ช่างทอรุ่นลูกหลาน เพิ่มลูกเล่นในการดีไซน์ลวดลายการสานเตยปาหนัน และดัดแปลงรูปทรงกระเป๋าอย่างประณีต ทันสมัย ทนทาน แต่ไม่ทิ้งกลิ่นอายความคราฟต์ดั้งเดิม กระเป๋าจากธรรมชาติใบใหม่เลยตอบโจทย์ความยั่งยืนหลากหลายมิติ

และเตยปาหนันที่เราได้รู้จักวันนี้ ได้เล่าศิลปะวัฒนธรรม ธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวใต้ออกมาได้งดงามไม่แพ้กระเป๋าใบสวยนี้ที่คนท้องถิ่นภูมิใจ

08

ตะกร้าจักสานไม้ไผ่

บ้านวังน้ำเขียว – สิคราม

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

แค่ได้เห็นการเลือกคู่สี ก็รู้เลยว่าตะกร้าสานไม้ไผ่ใบนี้ไม่ธรรมดา

ความพิเศษแรก ตะกร้าใบนี้กลายเป็นสินค้าโอท็อป สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านวังน้ำเขียว ตำบลเขาคราม จังหวัดกระบี่ จากการลงพื้นที่เข้าไปถามความต้องการของคนในชุมชนอย่างแท้จริง โดยสาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต พร้อมทั้งทีมการตลาดทีมบัญชีและสถาบันวิจัย ก่อนกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ซึ่งประกอบด้วยเชือกกล้วยเป็นหลัก และหาวิธีถ่ายทอดเทคนิคการสานจากนักสานสูงวัยผู้ชำนาญสู่นักสานหน้าใหม่อีกทอด

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

ความพิเศษที่ 2 ตระกร้าใบนี้มีขายในช่องทางออนไลน์ Facebook กลุ่มจักสานไม้ไผ่ วังน้ำเขียว – สิคราม ด้วย

และความพิเศษอย่างสุดท้าย ตระกร้าใบนี้ทำให้เห็นว่า การสร้างองค์ความรู้ให้กับคนท้องถิ่นนั้นเป็นการพัฒนาที่ดีที่สุด เพราะมันงอกงามเช่นเดียวกับไม้ไผ่ที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว

09

ไฑบาติก

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

ไฑบาติก อยู่คู่กระบี่มาแล้ว 25 ปี ก่อตั้งโดย บรรเทา กูลหลัง ชาวตำบลเขาคราม

เอกลักษณ์ของไฑบาติก อยู่ที่การนำเทคนิคมัดย้อมมาผสานการวาดลวยลายของผ้าบาติก โดยหยิบยืมทัศนียภาพอันสวยงาม อารยธรรม ตลอดจนเรื่องราวรอบตัวของจังหวัดกระบี่ มาจรดลงบนผืนผ้า

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

โฉมใหม่ของไฑบาติกเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่เลือกใช้แต่สีเขียว เขาเปลี่ยนจากสีเคมี เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ รวมถึงเปลี่ยนมาเทียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้ความร้อนจากไฟฟ้า ซึ่งได้นักวิชาการของสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เข้าไปช่วยให้ความรู้และต่อยอดกระบวนการผลิต สนับสนุนการออกแบบลวดลายและบรรจุภัณฑ์จากมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดกระบี่ เช่น ลายผนังถ้ำผีหัวโต ลายลูกปัดสุริยะเทพ เขาขนาบน้ำคนโบราณ พร้อมพาไฑบาติกได้ประดับ 4 ดาวโอท็อปมาแล้ว

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

ที่น่ารักน่าภูมิใจแทนชาวเขาครามอีกเรื่อง วชิระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH พาไฑบาติกโฉมใหม่นี้ ไปเฉิดฉายบนรันเวย์ Elle Fashion Week Fall/Winter 2019 มาด้วย

10

ของเล่นฝึกสมาธิ

จากลูกปัดมโนราห์

นอกจากได้เห็นลูกปัดมโนราห์สีแสบทรวงประดับประดาบนเครื่องแต่งกาย ย้ายมาเป็นสินค้าร่วมสมัย อาทิ โคมไฟ กระเป๋า จิวเวลรี่ชิ้นน้อยใหญ่ว่าตื่นเต้นแล้ว ล่าสุดเป็นของเล่นฝึกสมาธิที่คิดค้นและออกแบบผ่านโครงการบริการวิชาการ โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตยิ่งอยากอุดหนุน

10 สินค้าท้องถิ่นอันดามันที่ต่อยอดของดีชุมชน จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ เป็นของใหม่ที่ดีต่อใจทั้งคนใช้และคนทำ

ด้วยแนวคิดที่อยากคงเอกลักษณ์ของลวดลายลูกปัดมโนราห์ สืบทอดภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า และทำให้เห็นว่าหัตถศิลป์พื้นบ้านต่อยอดเป็นอะไรได้ไม่จำกัด จึงนำผลิตภัณฑ์ชุมชนกลุ่มลูกปัดโนราห์ปัญญารักษ์ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก มาทำเป็นของเล่นฝึกสมาธิที่ยังไม่มีในท้องตลาด และชวนนักศึกษาที่มีฝีมือในงานไม้ นำกรงนกมาดัดแปลงเป็นตัวฐาน

ลูกปัดสารพัดสี ต่อประกอบตามแบบเพื่อฝึกสมาธิ หรือจะต่อตามจินตนาการก็ไม่ห้าม แถมยังได้กระตุ้นสมองฝั่งความคิดสร้างสรรค์ เสริมทักษะเพิ่มความครีเอต สนุกเพลิดเพลิน ซึ่งความอะเมซิ่งที่พวกเขาค้นพบอีกเรื่อง คือเด็กกลุ่มเด็กออทิสติกก็เล่นได้ โดยไม่ต้องดูแบบหรือทำตามลวดลายเดิมที่ออกแบบไว้

เตรียมพบกับงานฉลองครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต “มโหฬาร เฟสติวัล ‘50 พลัส’” เทศกาลเล็ก ๆ ที่รวบรวมทุกแรงบันดาลใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตตลอด 50 ปี ในระหว่างวันที่ 15 – 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ : 50th PKRU มโหฬาร เฟสติวัล

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ธาม โรจนอุดมวุฒิกุล

อดีตช่างภาพอิสระ คิดว่าการเล่าเรื่องด้วยภาพสำคัญไม่แพ้ตัวอักษร ชอบกินกาแฟในวันที่นอนเยอะ และกินโกโก้ในวันที่นอนน้อย แพ้แมวเวลาทำเสียงกรน ในอนาคตอยากทำเพลงของตัวเองสักเพลง (ถ้าเป็นไปได้)