27 พฤศจิกายน 2020
4 K

หลายคนคงจะรู้จัก ‘หิ่งห้อย’ แมลงตัวน้อยที่เรืองแสงเป็นอย่างดี แต่หากถามว่า หิ่งห้อยกินอะไรเป็นอาหาร หรือมีวงจรชีวิตอย่างไร เราอาจจะจนคำตอบอย่างรวดเร็ว คำถามง่ายๆ ที่ยังไม่มีใครรู้ ชวนให้ ก้อย-ผศ. ดร. อัญชนา ท่านเจริญ ใช้เวลากว่า 20 ปีในการศึกษาวิจัยหิ่งห้อยในมุมมองที่น้อยคนจะรู้จัก

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

นิทานหิ่งห้อย

ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ค่ายรักษ์หิ่งห้อยที่อัมพวาเป็นค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติค่ายแรกที่ฉันเคยเข้าร่วม และเป็นประตูบานแรกให้ฉันเริ่มทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฉันแทบจะจำกิจกรรมสันทนาการหรือเพื่อนๆ ในค่ายไม่ได้เลย แต่ที่แจ่มชัดคือกิจกรรมล่องเรือชมหิ่งห้อยในคืนนั้น

หลังอาหารเย็นเมื่อความมืดมาเยือน เราตั้งแถวทายากันยุงและถูกต้อนลงเรือหางยาว ก่อนที่เรือจะแล่นไปตามลำคลองอัมพวาผ่านแสงไฟของบ้านเรือนที่อยู่สองข้างทาง

เมื่อสุดเขตชุมชน เรือก็ดับเครื่องปล่อยให้แรงเฉื่อยพาเราเคลื่อนตัวไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ไม่นานนักแสงระยิบระยับของหิ่งห้อยก็ค่อยๆ สว่างไสวอยู่รอบตัวเรา เด็กน้อยในวันนั้นเอากล้องฟิล์มตัวเก่ามาถ่ายภาพหิ่งห้อยจนหมดม้วน แต่แสงหิ่งห้อยเลือนรางกว่าที่จะบันทึกภาพได้ พอล้างฟิล์มมาจึงเหลือแต่ภาพดำมืดไว้เป็นที่ระลึก ส่วนแสงระยิบระยับได้ถูกบันทึกไว้ในภาพจำ

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

พี่ก้อย คือพี่เลี้ยงค่ายในวันนั้น ซึ่งกลายเป็นดอกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญหิ่งห้อยในเมืองไทย และปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“อะไรที่ทำให้เธอยืนหยัดทำงานวิจัยได้นานขนาดนี้” ฉันอดตั้งคำถามไม่ได้เมื่อเราได้เจอกันอีกครั้ง

“เราเป็นคนชอบแมลง มีวิชาอะไรเกี่ยวกับแมลงเราก็เลือกเรียนหมด แต่พอเจอคำถามเกี่ยวกับหิ่งห้อยว่ามันกินอะไร หรือวงจรชีวิตเป็นอย่างไร เราแทบไม่รู้จักมันเลย ยิ่งเราเกิดที่บางกะเจ้าด้วย เห็นมันมาตั้งแต่เด็ก แต่ตอบคำถามไม่ได้ก็ยิ่งอยากรู้” อาจารย์ก้อยเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของความสงสัยสมัยเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ 

ยิ่งค้นหาก็ยิ่งพบว่าหิ่งห้อยเป็นแมลงที่ลึกลับและน่ามหัศจรรย์ แต่การศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก จึงทำให้เธอตัดสินใจทำวิทยานิพนธ์เรื่องหิ่งห้อย

“มันท้าทายมากนะ ข้อมูลก็ไม่ค่อยมี อาจารย์ที่เชี่ยวชาญก็ไม่มีเลย แต่โชคดีที่ อาจารย์สังวรณ์ กิจทวี ให้โอกาสทำวิจัยและยอมเป็นที่ปรึกษา เพราะอาจารย์เองก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจารย์บอกทำนองว่าให้เธอว่ายน้ำไป ถ้าเธอจะจม ครูจะช่วยเธอเอง ทำให้เราอุ่นใจว่ายังมีคนคอยให้คำปรึกษาอยู่ตลอด”

แม้หิ่งห้อยจะเป็นแมลงเรืองแสงที่ชวนให้คนหลงรัก แต่การทำงานวิจัยไม่ได้ง่ายเลย นักวิจัยสาวต้องออกสำรวจยามค่ำคืนตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็นจนถึงเวลา 6 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น เนื่องจากหิ่งห้อยแต่ละชนิดก็มีช่วงเวลาออกหากินที่แตกต่างกัน 

เธอไม่ได้จับหิ่งห้อยมานอนคอยฝันดี แต่ต้องทั้งนับจำนวนและจำแนกชนิดตลอดคืนจนรุ่งเช้า บางพื้นที่ก็ต้องจับหิ่งห้อยทั้งที่นั่งอยู่บนเรือ โดยมีครอบครัวและเพื่อนๆ เป็นผู้ช่วยวิจัย

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

การค้นพบชนิดใหม่ของโลก

“หลายคนบอกว่าเราค้นพบหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลก แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย มันมีตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราแค่เป็นคนแรกที่พบว่าข้อมูลผิด” ก้อยออกตัวเมื่อฉันถามถึงการค้นพบหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลกในประเทศไทย

“หิ่งห้อยน้ำจืดชนิดนี้เป็นชนิดที่พบเยอะมากในไทย ตอนทำวิจัยเราอ้างอิงจากหนังสือและใช้ชื่อ Luciola brahmina มาตลอด แล้ววันหนึ่งก็มีเพื่อนต่างชาติส่งรูปมาบอกว่าเจอหิ่งห้อยที่หน้าตาคล้ายกับของเรา แต่ว่าไม่เหมือนกัน แล้วถามว่าเราจัดจำแนกจากอะไร เพราะแตกต่างจากตัวอย่างหิ่งห้อยต้นแบบ เลยส่งตัวอย่างให้ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศตรวจสอบอีกครั้ง และเขาก็ยืนยันว่าเป็นชนิดใหม่ของโลกจริงๆ”

เธอจึงได้ตั้งชื่อชนิดใหม่ด้วยตัวเอง

“ทำไมถึงไม่ตั้งชื่อเป็น Siamensis หรือ Thailandica” ฉันถามในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เรามักตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบ และอีกนัยหนึ่งคืออวยประเทศตัวเองในทางอ้อมไปด้วย

“ตอนแรกก็อยากตั้งชื่อแบบนั้น” ก้อยตอบพร้อมเสียงหัวเราะ ก่อนจะอธิบายต่อว่า “อาจารย์ที่ปรึกษาร่วมที่เป็นนักอนุกรมวิธานไม่ยอม เขาให้เหตุผลว่า การตั้งชื่อแบบนี้ไม่ได้บ่งบอกลักษณะของสิ่งมีชีวิตเลยและอาจจะจำกัดเกินไป และอาจารย์ให้คิดลักษณะเด่นอื่นของหิ่งห้อยชนิดนี้ ซึ่งก็คือตัวอ่อนมันอยู่ในน้ำจืด เราเลยตั้งชื่อว่า Luciola aquatilis คำว่า Aqua ที่แปลว่าน้ำนั้นเอง”

ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อสกุล หิ่งห้อยชนิดนี้จึงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sclerotia aquatilis Thancharoen ในปัจจุบัน

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

ไร้ประโยชน์ สำหรับใคร

งานวิจัยเหมือนจะลุล่วงไปได้ด้วยดี จนเธอเจอกับคำถามสะกิดใจครั้งใหญ่ที่ทำให้นักวิจัยสาวผู้มุ่งมั่นถึงกับไขว้เขว

“ตอนใกล้จบปริญญาโท มีคนถามว่า ทำไมเราถึงต้องทำวิจัยหิ่งห้อย มันเป็นแมลงที่มีโทษหรือมีประโยชน์หรือ ถ้ามันไม่มีทั้งประโยชน์และไม่มีโทษ เราไม่เห็นจำเป็นต้องรู้ใช่ไหม

“ตอนนั้นเราศึกษาเพราะตอบสนองความอยากรู้ของเราเอง แต่พอเจอคำถามนี้ เราตั้งคำถามกับตัวเองเยอะมากเลยว่าที่เราทำ ที่เราทุ่มเทมาทั้งหมดหลายปี เพื่ออะไร หรือว่าเราเดินผิดทาง”

ถ้ามีคนสักคนถามคุณแบบนี้กับสิ่งที่คุณพยายามมาตลอดหลายปี คุณจะตอบคำถามเหล่านี้อย่างไร

หลังจากที่ถกเถียงกับความคิดของตัวเอง เธอก็ได้ก้าวผ่านภูเขาหนักอกลูกใหญ่ไปได้

“ต้องถามว่าประโยชน์ในมุมไหน ประโยชน์สำหรับมนุษย์ใช่ไหม หรือประโยชน์สำหรับระบบนิเวศ หรือประโยชน์สำหรับใคร ถ้าเรามองตัวเราเป็นที่ตั้ง เราก็จะหาประโยชน์ในมุมของมนุษย์เท่านั้น เราพบว่าสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีประโยชน์ เพียงแต่เรายังไม่ได้ศึกษามากพอ หรือหามุมที่มีประโยชน์มาใช้

“การอนุรักษ์หิ่งห้อยในปัจจุบันเป็นความรู้สึกไปแล้ว คือคนอยากรักษาหิ่งห้อยไว้ไม่ให้หายไป เหมือนกับคนลืมมองหาประโยชน์ทางตรง เราเห็นว่าหิ่งห้อยกลายเป็นแมลงเศรษฐกิจไปแล้วในแง่ของการท่องเที่ยว ตอนที่ตลาดน้ำอัมพวามีการท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย ตอนนั้นเราก็เริ่มเป็นที่รู้จักและมีงานบรรยายมากขึ้น คนก็ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่า ทำไมต้องศึกษาสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ มันเริ่มจุดประกายเป็นการท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย หลังจากนั้นกระแสการอนุรักษ์หิ่งห้อยก็มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไหนที่มีหิ่งห้อยก็เริ่มพัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยวมากขึ้น

“จากคำถามว่าทำไมต้องทำวิจัยหิ่งห้อยเปลี่ยนเป็นว่า ทำไมหิ่งห้อยถึงทำอย่างนั้น ถึงทำอย่างนี้มากขึ้น มันกินอะไรหรือมันเรืองแสงได้ยังไง”

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

เพาะพันธุ์หิ่งห้อยสู่ธรรมชาติ

เมื่อความมืดมาเยือน ก็ได้เวลาที่นักวิจัยจะต้องเริ่มทำงาน อาจารย์ก้อยและทีมนักศึกษาเปลี่ยนชุดเตรียมพร้อม ทั้งเสื้อตาข่ายกันยุง กางเขงขายาว รองเท้าบูตยาง หมวกปีกกว้าง และที่สำคัญคือ สวิงด้ามยาวไว้จับหิ่งห้อย แม้ฉันจะไม่พร้อมมากนักแต่ก็ขอตามไปลงภาคสนามด้วย

“แสงไฟถนนทำให้หิ่งห้อยไม่ข้ามมา” อาจารย์บอก เราจึงต้องข้ามฝั่งไปยังพื้นที่รกร้างที่อยู่อีกฟากหนึ่ง พอเดินห่างจากถนนไม่เท่าไหร่ เราก็เห็นแสงกะพริบบินผ่านตาเราไป มือถือสวิงเตรียมวิ่งไล่หิ่งห้อย คลาดไปเพียงนิดเดียวพื้นที่ก็มืดสนิทอีกครั้ง หิ่งห้อยจะหยุดกะพริบแสงเมื่อมีการรบกวน

เราเดินลึกเข้าไปอย่างช้าๆ ภายใต้ความมืด มีแสงไฟฉายสีแดงคอยนำทาง เพราะเป็นแสงสีที่ไม่รบกวนสิ่งมีชีวิต ยังดีที่คืนนี้พระจันทร์สว่างเต็มดวง ทำให้การทำงานไม่ยากเกินไปนัก พอเราอยู่นิ่งๆ อีกสักอึดใจก็มีแสงกะพริบบินผ่านไปอีก ก้อยใช้สวิงจับหิ่งห้อยตัวน้อยแล้วใส่ในขวดโหลพลาสติก หิ่งห้อยราว 30 ตัวบรรจุอยู่เต็มกล่องสลับกันกะพริบแสงราวกับไฟประดับต้นคริสมาสต์ พวกมันจะถูกนำไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ในการเพาะเลี้ยง

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

“หลักการของการเพาะเลี้ยงและปล่อย คือต้องจับพ่อแม่พันธุ์มาจากธรรมชาติหรือบริเวณใกล้เคียง การจับหิ่งห้อยจากธรรมชาติเมื่อก่อนเราจะรู้สึกไม่ค่อยดีเพราะว่าทำลายธรรมชาติ แต่ปัจจุบันพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ ถูกรุกรานมาก สถานการณ์ในตอนนี้คือการไปช่วยเขาให้มาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เราจะจับในช่วงที่มีหิ่งห้อยจำนวนมากและจับมาในจำนวนมาก เพื่อให้ได้พันธุกรรมที่หลากหลายด้วย

“การเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยน้ำจืดเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเพราะเราต้องเข้าใจวงจรชีวิตของมันทั้งหมด อย่างหิ่งห้อยเป็นแมลงที่มีวัฏจักรชีวิตคล้ายๆ กับผีเสื้อ ประกอบด้วยสี่ระยะ คือ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ในกรณีของหิ่งห้อยน้ำจืด เขาวางไข่ใต้ใบพืชน้ำ แล้วพอประมาณสิบถึงสิบสองวัน เขาจะฟักออกมาเป็นตัวหนอนตัวเล็กๆ และเป็นผู้ล่าทันทีเลย 

“เขาต้องการอาหารก็คือหอย ถ้าเกิดมาใหม่ๆ ตัวหนอนจะกินหอยขนาดเล็ก พอลอกคราบแล้วตัวใหญ่ขึ้น ระยะท้ายก็จะเริ่มกินหอยที่ตัวโตขึ้นได้ เมื่อเป็นตัวหนอนวัยสุดท้ายเขาจะไต่ขึ้นตามตลิ่ง เป็นที่แห้งแล้วไปเข้าระยะดักแด้ ต่อจากนั้นก็ลอกคราบอีกครั้งเป็นตัวเต็มวัย แล้วก็บินออกมากะพริบแสงหาคู่เพื่อผสมพันธุ์”

ก้อยใช้เวลาถึง 5 ปีพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงหิ่งห้อยน้ำจืดจนสำเร็จ และเพิ่มจำนวนหิ่งห้อยเป็นหลักพันถึงหมื่นตัว (Mass Rearing) งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญา และเธอก็ตั้งใจว่าจะใช้งานวิจัยนี้ช่วยอนุรักษ์หิ่งห้อยต่อไป

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

มลภาวะแสง สัญญารบกวนภาษารัก

ปัจจุบันการเจอหิ่งห้อยถือเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่เหมือนกับสมัยก่อนที่หิ่งห้อยพบเห็นได้ทุกที่แม้กระทั่งในกรุงเทพฯ สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้พื้นที่ พื้นที่รกร้างถูกเปลี่ยนเป็นอาคารบ้านเรือน ทำให้หิ่งห้อยขาดที่อยู่อาศัย พื้นที่มืดมิดถูกมองเป็นที่อันตราย ทำให้หิ่งห้อยสื่อรักกันไม่สำเร็จ

“แสงจะรบกวนภาษารักของหิ่งห้อย เพราะหิ่งห้อยใช้แสงคุยกัน พอมีแสงเยอะ เหมือนว่าเขาคุยกันไม่รู้เรื่อง เหมือนกับคนที่เราใช้การพูดเป็นการจีบกัน ที่ไหนมีเสียงดังคุยกันไม่รู้เรื่องเราก็ไม่อยากคุย หาคู่ไม่ได้ หิ่งห้อยก็เหมือนกัน” ก้อยอธิบายขณะที่เราเดินไปบนทางเดินริมบ่อน้ำ แสงจากอาคารส่องสว่างดูงามตาสำหรับเรา แต่ไม่ใช่สำหรับหิ่งห้อย

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

เราเดินสำรวจพื้นที่ที่จะนำหิ่งห้อยจากเพาะเลี้ยงมาปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติ ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย คุณภาพน้ำ หอยน้ำจืดที่เป็นอาหาร หรือปริมาณแสงรบกวนโดยรอบ ซึ่งเธอเน้นย้ำว่า การเพาะเลี้ยงไม่ใช่การอนุรักษ์ที่สมบูรณ์ หากหิ่งห้อยขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม

“การอนุรักษ์หิ่งห้อยทำโดยนักวิจัยฝ่ายเดียวไม่สำเร็จ ต่อให้เราวิจัยไปเท่าไหร่ก็อาจจะทำไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน ชาวบ้านนี่แหละเป็นผู้ที่สนใจมากว่า หิ่งห้อยอยู่ยังไง ต้องการบ้านแบบไหน เขาต้องการรู้และอนุรักษ์หิ่งห้อยได้ เขาอนุรักษ์หิ่งห้อยได้โดยตรงเพราะหิ่งห้อยอยู่รอบบ้านเขา และเขายังสื่อเรื่องราวสู่นักท่องเที่ยวในชุมชนได้ด้วย”

หิ่งห้อยที่เราจับในวันนี้ รอวันที่จะเพาะขยายพันธุ์ออกลูกออกหลาน ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง

“การคืนประชากรหิ่งห้อยสู่พื้นที่ที่ไม่ว่าจะเคยมีหรือไม่มีหิ่งห้อยมาก่อนก็เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากๆ เพราะมันเป็นการรวมองค์ความรู้ของศาสตร์หิ่งห้อย ทั้งชีววิทยา นิเวศวิทยา ต้องรู้พฤติกรรมของแต่ละระยะในวงจรชีวิต เหมือนเอาความรู้ที่สั่งสมมากว่ายี่สิบปีมาบูรณาการ มันพิสูจน์ว่า เรารู้จักหิ่งห้อยชนิดนี้มากพอแล้วหรือยัง

“อีกมุมหนึ่ง นี่เป็นก้าวแรกของการอนุรักษ์หิ่งห้อยในธรรมชาติของประเทศไทย เราทำกับชนิดนี้ได้ เราอนุรักษ์ชนิดอื่นได้ด้วยไหม การปล่อยหิ่งห้อยคืนสู่ธรรมชาติจึงเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่ก้าวถัดไป”

อัญชนา ท่านเจริญ นักวิจัยผู้เพาะพันธุ์หิ่งห้อยเพื่อให้ยามค่ำคืนกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง

Writer

Avatar

สุภัชญา เตชะชูเชิด

นักชีววิทยาติดกาแฟที่สนใจการเปลี่ยนไปของโลกและหลงรักนมคาราเมลเป็นชีวิตจิตใจ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)