8 มิถุนายน 2021
5 K

รถราทั้งชนิดมากล้อน้อยล้อเคลื่อนตัวขวักไขว่ไปมา ส่งเสียงเครื่องยนต์กึ่งดังกึ่งเบาเข้าหูเราอย่างไม่ทิ้งช่วง ป้ายสีฟ้าบอกว่านี่คือหัวถนนทรงสวัสดิ์ บริเวณแยกจุดตัดกับถนนทรงวาด

ความพลุกพล่านของผู้คน สัญลักษณ์แห่งความเรืองรองในอดีตของย่านการค้าสำคัญ ตอนนี้บางตาลงมากจนน่าใจหาย ย่ำเท้าไม่นานก็พาตัวเองมาอยู่ตรงข้ามตึกแถวสูงสามชั้นกว้างหนึ่งคูหา ฟอนต์โลหะคำว่า ‘จิรวัฒน์’ สะท้อนพรายแดดวับทันทีที่เงยคอชม ราวกระซิบให้รู้ว่า Google Maps พาเรามาถึงร้านรับทำฉลุแผ่นป้ายโลหะสำหรับพ่นสีทาสีเจ้าเก่าได้อย่างไร้ข้อบกพร่อง

เถ้าแก่อนันต์ ทายาท ‘จิรวัฒน์’ ร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุงที่ยังไม่มีใครสานต่อ
เถ้าแก่อนันต์ ทายาท ‘จิรวัฒน์’ ร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุงที่ยังไม่มีใครสานต่อ

ประตูเหล็กบานเลื่อนเอกลักษณ์ของร้านค้ายุคเก่าเปิดกว้างออก เผยให้เห็นผืนสังกะสีฉลุอักษรหลากภาษาหลายสิบแผ่น ห้อยเรียงรายเป็นจังหวะตลอดสองฟากผนัง โต๊ะกลางร้านมีกลุ่มชายวัยกลางคนสวมแว่นตา มือขวาจับค้อน มือซ้ายถือสิ่ว สายตาเล็งไปที่สังกะสีแผ่นบาง แล้วตอกค้อนลงบนสิ่วอย่างไม่ปรานีปราศรัย ไม่นานก็เกิดเป็นแบบอักษรช่องว่างบนโลหะดั่งใจหมาย

เถ้าแก่อนันต์ ทายาท ‘จิรวัฒน์’ ร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุงที่ยังไม่มีใครสานต่อ

เรามีนัดกับ อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทรุ่นสองวัย 59 ผู้สืบทอดเทคนิคการฉลุลายบนโลหะแห่งร้านจิรวัฒน์ เจ้าสุดท้ายแห่งเจริญกรุง ที่ทำตั้งแต่แผ่นฉลุโลหะ สังกะสี สำหรับทาสีหรือพ่น เพื่อบอกข้อความบนวัสดุต่างๆ ทั้งกระสอบข้าว ผืนผ้าใบ ลังไม้ โลงศพ ไปจนถึงรถเมล์ รถแท็กซี่ รถของหน่วยงานราชการ และมีลูกค้าอยู่เกือบทั่วทั้งประเทศ

ยิ่งเมื่อได้รู้ว่าร้านจิรวัฒน์กำลังมีโปรเจกต์สนุกๆ ร่วมกับ Lohameka Studio แบรนด์เครื่องประดับสุดเก๋ ในงาน Made in Charoenkrung 2 จัดขึ้นโดย Creative Economy Agency (CEA) ก็ยิ่งเร้าให้เรารีบมาคุยกับทายาทรุ่นสองท่านนี้

เถ้าแก่อนันต์ยิ้มรับคำโอภาปราศรัยจากผู้มาเยือนด้วยอารมณ์แจ่มชื่นเหมือนพระอาทิตย์ตอนบ่ายวันนั้น เขาเชื้อเชิญให้ทิ้งตัวนั่งลงบนเก้าอี้ทรงกลมสุดคลาสสิกสมกับเป็นเจ้าบ้านมืออาชีพ พร้อมต่อบทสนทนาเคล้าเสียงฉลุโลหะอย่างฉะฉานชัดเจน

จากบางแคสู่เจริญกรุง

“ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2510”

นายช่างมากฝีมือคู่สนทนารีบอธิบายรับทันควันเมื่อเราเริ่มซักไซ้ที่มาที่ไป

ร้านจิรวัฒน์เริ่มต้นจากความคิดก้าวหน้าของพ่อเถ้าแก่อนันต์ ชัยวัฒน์ จิรกิตตยากร เจ้าของรุ่นแรก หนุ่มชาวบางแคผู้ข้ามฟากมายังฝั่งพระนครเพื่อทำงานเลี้ยงตัวด้วยอาชีพช่างฉลุในร้านของพี่สาวและพี่เขย ย่านตลาดน้อย เมื่อสะสมทักษะและทุนรอนมากพอ จึงขยับขยายออกมาเปิดกิจการของตัวเองในย่านเจริญกรุง บนหัวถนนทรงสวัสดิ์ หยิบเอา ‘จิร’ พยางค์แรกของนามสกุลมาผสมกับ ‘วัฒน์’ พยางค์สุดท้ายของชื่อตัว ได้ ‘จิรวัฒน์’ ชื่อร้านความหมายมงคล เดิมตั้งอยู่ห้องคูหาถัดไปทางสี่แยก แต่ด้วยพื้นที่คับแคบ เลยย้ายมาที่นี่แทน

“พ่อคงเห็นว่าตรงนี้เป็นแหล่งค้าข้าวและผลผลิตทางการเกษตร ถ้ามาเปิดร้านยังไงก็มีงานจ้างทำแผ่นโลหะไว้พ่นสีตีกระสอบแน่ๆ

“แล้วก็เป็นตามคาด” เขาเฉลยพลางยิ้มกริ่ม ส่งแววตาภาคภูมิใจในตัวพ่อ

“สมัยนั้นงานชุกมาก พวกโรงสีมาสั่งกันทีสามสิบห้าสิบแผ่นสำรองเผื่อไว้เยอะ เพราะใช้บ่อยเลยพังง่าย เมื่อก่อนใช้กระสอบป่าน ไม่ใช่กระสอบพลาสติก เขาต้องให้เราฉลุแผ่นเหล็กไว้ทาสีบนกระสอบอยู่แล้ว งานอีกชนิดที่เข้ามาบ่อยคือสำหรับใช้พ่นบนผ้าใบและท่อแป๊บ แม้กระทั่งบริษัท Bangkok Cable ก็ทำงานให้เขามาตลอด”

เปลี่ยนมือ

เถ้าแก่อนันต์เติบโตท่ามกลางเหล่าช่างลูกจ้างมากฝีมือ ใช้ชีวิตวัยเด็กวิ่งซนในหมู่แผ่นสังกะสีแกะลายนับสิบนับร้อยอย่างไม่ประสา ว่าสิ่งเหล่านั้นคือขุมทรัพย์ทางปัญญาอันมีค่ายิ่ง พอเป็นวัยรุ่นก็ไม่ได้สนใจฝึกฝนวิชาเอาไว้แม้แต่น้อย

“จนกระทั่งช่วง มศ.1 – 2 อายุประมาณสิบหก สิบเจ็ด ผมเกเรมาก ชนิดที่ว่าโดดเรียนไปกับเพื่อนแบบถึงไหนถึงกัน พ่อเลยบังคับให้เรามาฝึกทำที่ร้าน เอามาไว้ใกล้หูใกล้ตา เดี๋ยวเถลไถลไปไหนต่อไหน พอได้มาลองทำจริงถึงเริ่มมีความคิดอยากเรียนรู้ทักษะนี้ติดตัวและสืบทอดเอาไว้เหมือนกัน”

เถ้าแก่อนันต์ ทายาท ‘จิรวัฒน์’ ร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุงที่ยังไม่มีใครสานต่อ

ช่างฉลุวัยหนุ่มเริ่มฝึกทักษะโดยใช้วิชาครูพักลักจำ มีแบบอักษร แผ่นสังกะสี ค้อน และสิ่ว หลากไซส์ เป็นอาจารย์คอยสั่งสอน ตามวิถีช่างฝีมือที่ต้องตั้งต้นเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ไม่มีใครมาจับมือทำเป็นหลักสูตรตายตัว

หลังหัดทำได้คล่องแคล่ว ทายาทช่างยังไม่ได้รับช่วงกิจการต่อในทันที เขาทำงานที่ร้านและไปช่วยงานเพื่อนที่เป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน หลังคุณพ่อเสีย จึงมารับช่วงต่อเต็มตัว 10 กว่าปีนี้เอง

ร้านจิรวัฒน์หลังเปลี่ยนผ่านสู่มือทายาทรุ่นสอง ยังคงเป็นแหล่งรวมความชำนิชำนาญเช่นเดิม แถมเถ้าแก่อนันต์เพิ่มพูนทักษะใช้คอมพิวเตอร์ช่วยเขียนแบบตัวอักษร จึงพอจะทำงานได้สะดวกโยธินขึ้นมา

อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์

ไม่มีงานไหนยากเป็นพิเศษหรอก

4 ทศวรรษ คือช่วงเวลาที่เถ้าแก่อนันต์ลับเหลี่ยมลับคมวิชาฉลุเรื่อยมาตั้งแต่สมัยเป็นกามนิตหนุ่ม แม้ไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพจริงจังแต่เริ่ม แต่ทักษะที่เขามีก็ไม่เป็นสองรองใคร

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีการพิมพ์ก็พัฒนารุดหน้ารวดเร็วชนิดที่ว่าไม่มีช่างฝีมือคนใดตามทัน เครื่องฉลุเลเซอร์ อำนวยความสะดวกได้เต็มประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่ง แต่ไม่มีเทคโนโลยีใดใส่กลิ่นอายของงานคราฟต์ทำมือ ผสมความพิถีพิถันลงไปในผลงานทุกชิ้น เหมือนร้านฉลุเจ้าเก่านี้ได้เลย

อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์

“สมัยที่รถเมล์ยังใช้เอกชนวิ่ง เขามาให้ผมฉลุแผ่นโลหะไว้พ่นบอกสายข้างตัวรถทั้งนั้น รถแท็กซี่ผมก็ทำให้ตั้งแต่สมัยเริ่มมีการจดทะเบียนรถแท็กซี่ ไปจนถึงตราหน่วยงานราชการที่เอาไว้พ่นติดรถหลวงของหน่วยงานต่างๆ เทศบาลท้องถิ่นนี่ลูกค้าเราแทบจะเกือบทั้งประเทศ แม้กระทั่งฉลุเป็นลายมังกรไว้พ่นข้างโลงศพคนจีนผมก็รับทำด้วยนะ” ช่างใหญ่ประจำย่านเล่าเรื่องราวอย่างฉะฉาน ชี้มือชี้ไม้ให้ดูบรรดาผลงานรอบด้าน ประหนึ่งเป็นถ้วยรางวัลแห่งชีวิต

“แต่ไม่มีจุดไหนที่เรียกว่าเป็นยุคทองอย่างจริงจังหรอก” เขาเปลี่ยนอิริยาบถพร้อมขยายความ

“ผมก็ทำมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนงานเยอะหน่อยเพราะว่าเขายังต้องใช้วิธีการพ่นแบบดั้งเดิม แต่ทุกวันนี้ซบเซาลงไปเยอะเหมือนกัน ตอน พ.ศ. 2540 โดนไปทีหนึ่งเพราะล้มกันหมด มาโควิดช่วงนี้ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมอีกทีหนึ่ง พอธุรกิจลูกค้าเขาไม่มีงาน ก็ไม่มาจ้างเรา”

อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์
อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์

เหล่าช่างฉลุแห่งจิรวัฒน์ยังคงนั่งโหมงานตลอดบ่ายวันนั้น ส่งเสียงระงมเติมรสให้บทสนทนาดังขึ้น ดังขึ้น แสงแดดเริ่มพาดตัวเข้าสู่ด้านในของร้านเรื่อยๆ บ่งบอกเข็มชั่วโมงที่กำลังเดินทางลงไป

งานที่ภายนอกดูตรงไปตรงมามากที่สุด ย่อมต้องมีจุดที่เวลาและประสบการณ์เท่านั้นจะอำนวยเคล็ดลับและทักษะให้คนทำได้

“ไม่มีงานไหนยากเป็นพิเศษหรอก มีแต่ความละเอียด” เขาปฏิเสธอย่างถ้อยที 

ไม่ใช่เพราะว่างานฉลุโลหะแบบนี้ง่ายดายปานกับปอกกล้วย แต่เป็นเพราะฝึกฝนจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ต่างอะไรกับการกินข้าวอาบน้ำ ที่ทำให้เถ้าแก่อนันต์เห็นพื้นฐานอันซับซ้อนในงานฝีมือแขนงนี้

อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์
อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์

“พิมพ์แบบใส่กระดาษมาแปะทับบนแผ่นสังกะสี ฉลุตามลายแล้วไสให้เรียบเป็นอันเสร็จ มีแต่ใช้เวลามากหรือน้อยก็เท่านั้น” เถ้าแก่อธิบายขั้นตอนที่ดูเหมือนง่ายในประโยคเดียว 

“อย่างตราพระปรมาภิไธยหรือตราหน่วยงานราชการ มีรายละเอียดเยอะมาก ต้องนั่งทำเป็นวันๆ ลุกไม่ได้เลย มีของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลที่คิดว่าท้าทายหน่อย เขาจ้างให้แกะลายของกรมเพื่อไปทาสีบนแทงก์น้ำใหญ่ๆ เราต้องไปฉลุลาย ดัดโค้ง ทำงานที่ตรงไซต์นั้น”

คงต้องจบไป ผมปล่อยแบบธรรมชาตินี่แหละ

“งานนี้สอนให้อดทน มีความมานะ เพราะเราใช้เทคนิคอย่างคนรุ่นเก่ามาตลอด แทบไม่ใช่เทคโนโลยีมาช่วยเลย บางครั้งช่างต้องโหมทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่แปดโมงเช้ายันสี่ทุ่ม” ช่างฉลุผู้ช่ำชองเผยแง่งามอีกด้านของอาชีพ

“แต่ถ้าหมดผมก็คงต้องจบไป ปล่อยไปตามธรรมชาติแบบนี้แหละ มีงานเข้ามาก็ทำ ไม่มีงานเดี๋ยวก็นั่งมองหน้ากับช่างกันไปก่อน”

ระหว่างที่คู่สนทนาใช้น้ำเสียงเรียบนิ่ง สิ้นหวังปนเศร้า ก่อนเปลี่ยนเป็นเสียงเจือหัวเราะในลำคอเบาๆ พอให้บทสนทนาไม่แห้งแล้ง เรารู้สึกเสียดายอย่างจับใจ เมื่อได้รู้ว่าเถ้าแก่ไม่มีแผนส่งต่อทักษะอันน่าทึ่งแขนงนี้ให้ใคร อีกใจก็ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ได้เช่นเดียวกัน

ลึกๆ เราเชื่อว่ายังมีกลุ่มคนที่หลงใหลในเสน่ห์ และเห็นคุณค่าของงานคราฟต์ทำมืออย่างการฉลุแผ่นป้ายโลหะของร้านจิรวัฒน์เสมอ และเชื่อยิ่งกว่าว่าคนเหล่านี้พร้อมช่วยเหลืออุดหนุนผู้ประกอบการรายย่อยมากฝีมือเจ้านี้ให้คงอยู่ เป็นหลักฐานแสดงความเรืองรองของงานช่างโลหะไทยได้อีกนาน

หวังว่าพวกเขาคงจะเดินทางมาพบกันในเร็ววัน

เข็มนาฬิกาบอกเวลาบ่ายคล้อยเต็มที บทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงท้าย เราชิงรบเร้าให้เถ้าแก่โชว์เหนือฉลุสังกะสีให้เห็นก่อนคราวอำลามาถึง

“ได้ มาสิ” นายช่างตอบรับ แล้วลุกขึ้นเดินฉับไปคว้าเก้าอี้ตัวกลม วางลงท่ามกลางหมู่ช่าง นั่งลงจัดท่าทางทะมัดทะแมง สวมแว่นตาเติมความแม่นยำ มือขวากำค้อนแม่นมั่น ยกขึ้นกระแทกเข้ากับแท่งสิ่วไซส์จิ๋วที่ประจำอยู่บนร่องรอยแนวฉลุ เสียงโลหะกระทบกันดังทีแล้วทีเล่า จนออกมาเป็นตัวอักษรตามแบบ

สองมือของเขาจับผลงานขึ้นมาใกล้หน้าเพื่อตรวจทานความเรียบร้อยอีกครั้ง ก่อนบ่ายหน้าไปหาเพื่อนร่วมงานแล้วหัวเราะออกมาพร้อมกันอย่างมีความสุขโดยไม่ได้นัดหมาย

อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์
อนันต์ จิรกิตตยากร ทายาทร้านฉลุโลหะเจ้าสุดท้ายในเจริญกรุง เจ้าของผลงานแผ่นทาสีกระสอบข้าวยันข้อความบอกทางข้างรถเมล์

ร้านจิรวัฒน์

รับฉลุป้ายโลหะสำหรับใช้ทาสีหรือพ่นสีทับลงบนพื้นผิววัสดุเจ้าสุดท้ายแห่งเจริญกรุง 

ที่ตั้ง : เลขที่ 363 ถนนทรงสวัสดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ (แผนที่)

วัน-เวลาทำการ : วันจันทร์-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น.

โทรศัพท์ : 0 2266 8669

วันนี้เทคนิคระดับเซียนจากร้านจิรวัฒน์ได้โคจรมาเจอกับกลเม็ดการดีไซน์เครื่องประดับสุดเก๋จากแบรนด์นักออกแบบรุ่นใหม่ Lohameka Studio ร่วมกันต่อยอดของดีสุดเก๋าประจำย่านเจริญกรุงให้คงอยู่ต่อไปในโครงการ Made in Charoenkrung 2 โดย Creative Economy Agency (CEA) ทำผลิตภัณฑ์ที่ระลึกเฉพาะผู้เขาร่วมงาน Bangkok Design Week 2021 ติดตามงานออกแบบทั้งหมดของโครงการเมดอินเจริญกรุงได้ที่ madein.myneighbour

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน