หากกลับมาทบทวนดู การถ่ายภาพดูจะเป็นกิจกรรมสามัญที่ทำได้ง่ายจากการเข้าถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพ แม้ไม่มีกล้องตัวโก้ แต่อย่างน้อยก็มีสมาร์ทโฟนที่จะหยิบขึ้นมาบันทึกความทรงจำ ทั้งตอนจะกิน ตอนจะนอน ตอนจะเที่ยว ฯลฯ

ถ้าลองคิดเล่นๆ ว่า ภาพที่ทุกคนถ่ายวันนี้จะกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในอีกร้อยหรือสองร้อยปีข้างหน้า คนรุ่นเหลน ลื่อ ลืบ และลืด คงตกตะลึงจนแอบหัวร่อกับภาพของเราในวันนี้ไม่น้อย ซึ่งในอำเภอเบตง (บ้านเกิดของผม) มีผู้มองเห็นความจริงข้อนี้อย่างถ่องแท้ถึงคุณค่าของภาพถ่าย ที่มีจำนวนอายุเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา โกไข่-ชาญ นกแก้ว ชายผู้ใช้เวลากว่า 30 ปีรวบรวมภาพถ่ายเก่าของอำเภอเบตงมากกว่า 300 ภาพ บางภาพอายุเกือบ 200 ปี

ด้วยความตั้งใจบันทึกประวัติศาสตร์ของบ้านเกิด ทำให้โกไข่ได้รับรางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น (พ.ศ. 2558) จากกรมศิลปากร และมีโอกาสเดินทางบรรยายตามหน่วยงานและมหาวิทยาลัยในฐานะ ‘นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’ 

หากคุณได้ทำความรู้จักชายผู้นี้มากขึ้น ผมรับรองว่าคุณจะมองภาพถ่ายในมือเปลี่ยนไปทันที 

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

ณ บริเวณซอบแคบๆ หลังตลาดสดของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีร้านโกปี๊ขนาดเล็กที่มีโต๊ะพร้อมนั่งอยู่เพียง 2 – 3 โต๊ะ มีเมนูสามัญอย่างชาและกาแฟเป็นหลัก แต่สิ่งที่เรียกความสนใจของผมคงเป็นป้ายที่แขวนหน้าร้านว่า ‘อำเพอเบตง’ เจ้าของร้านบอกว่าตั้งตามภาพถ่ายป้ายอำเภอเบตงสมัยยังไม่มีการปรับตามตัวสะกดภาษาไทย

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

ผมกวาดสายตามองภายในร้าน ล้วนประดับด้วยของสะสมของโกมาดเข้ม แต่ที่เห็นมีมากคงเป็นภาพถ่าย ทั้งที่ใส่กรอบแขวนติดผนัง บางก็วางบนชั้น ในตู้ก็มี ลิ้นชักก็ด้วย มากมายจนผมมองไม่เห็นว่าตรงไหนบ้างที่ไม่มีภาพถ่าย

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว
อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

“ภาพมีเสน่ห์นะ คุณลองดูสิ คนสมัยก่อนเขาแต่งตัวแบบนี้ ต้องใส่น้ำมันผมแบบนั้น รถเอย บ้านเอย เหมือนเราได้กลับเข้าไปอยู่ตรงนั้นเลย คุณว่ามั้ย” ผมพยักหน้าแทนคำตอบ ชายวัยหกสิบสนทนากับผมพลางชงกาแฟผ่านถุงกรองอย่างอารมณ์ดี แถมทักทายลูกค้าด้วยท่าทีแจ่มใส ภายใต้มาดคนขายกาแฟ เขาได้ซ่อนอีกบทบาทหนึ่งไว้อย่างแนบเนียน

ชายผู้พบรักกับภาพถ่าย

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

“ผมเป็นคนเบตงแต่กำเนิด ช่วงมอปลายไปเรียนในกรุงเทพฯ แล้วก็จบศิลปกรรมมา ผมกลับมาบ้านก็เปิดร้านขายของโชห่วยอยู่ในตลาดสด ตอนนั้นผมไม่มีความสุขเลย เพราะวันทั้งวันก็นั่งขายของ ไม่ได้สร้างคุณค่าอะไร รู้สึกว่ามันไม่ใช่ชีวิตแล้ว เลยเซ้งร้านให้เขาเช่า แล้วมาเปิดร้านตรงนี้แทน” 

ย้อนกลับไปตอนโกไข่เปิดร้านกาแฟขนาดเล็กหน้าบ้านเพื่อตามหาความหมายของชีวิต ตอนนั้นแกกำลังง่วนกับการรื้อลิ้นชักและตู้ใบเก่า จนได้เจอภาพถ่ายวัยเด็กและภาพเก่าของครอบครัว ในสายตาของเด็กหนุ่มที่จากบ้านเกิดไปอยู่เมืองกรุงเสียนาน ทำให้ชายคนนี้ค้นพบว่า ตัวเขามีความสุขมากขนาดไหนเมื่อได้นั่งมองภาพเหล่านั้น แล้วหวนกลับไปคิดถึงความทรงจำวันเก่าเมื่อวัยเยาว์

“ผมมีภาพครอบครัวเยอะกว่านี้นะ พอดีมีน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ. 2535 ภาพบ้านผมเลยหายไป ทำให้ผมรู้สึกว่าภาพพวกนั้นสำคัญนะ ถ้าเงินหายยังทำงานหาใหม่ได้ แต่ภาพหายไปแล้วจะหาใหม่จากไหน ผมเลยเริ่มต้นสะสมภาพตั้งแต่ พ.ศ. 2540”

หลังจบประโยค คงพอเดาได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโกไข่กับภาพถ่ายกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ผมคิดว่าเป็นความชอบของแกเป็นทุนเดิม ทำให้เห็นคุณค่าของภาพถ่ายเก่า ผมขอย้ำว่า ทุกภาพที่ขวางหน้า! โกไข่เป็นคนทำอะไรทำจริงนะ 

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว
อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

“ช่วงปีใหม่ ตรุษจีน ผมไปเห็นคนจีนที่เขากำลังจัดบ้านแล้วเอาภาพเก่าๆ ไปทิ้ง เห็นแล้วผมก็รู้สึกเสียดาย นึกไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานว่าคงไม่ได้เห็นแล้ว ผมเลยเริ่มขอภาพของคนอื่นมาเก็บไว้ แต่ทีนี้ดันโดนด่ากลับมาครับ โดนไล่ก็มี

“เขาบอกไม่ใช่รูปของเธอ จะเอาไปทำไม จะเอาไปทำไสยศาสตร์หรือเปล่า ผมตื๊อครับ ไปจนเขาใจอ่อน บางทีถ้าเขายังไม่ให้ ผมก็ไปคุยเล่นกับเขาแล้วค่อยถามถึงเรื่องภาพ ไม่ใช่ขอแล้วจะได้เลยนะ ใช้เวลานานมาก” โกไข่ย้อนความ

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว
อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

ภาพเก่าที่สะสมเลยหลากหลายมาก ทั้งภาพเมืองเก่า ภาพแต่งงาน ภาพไฟไหม้ ภาพน้ำท่วม แกมีหมด

“เวลาสะสมภาพ ผมไม่ได้มีเกณฑ์จะเลือกรูปคน รูปสถานที่ รูปบ้านเมือง ผมมีวิธีเลือกแค่เป็นภาพในอำเภอเบตงก็พอ ต่อให้ภาพสวยขนาดไหนแต่ถ่ายที่อื่นผมก็ไม่ได้เก็บไว้ ถึงใครจะว่าเป็นรูปธรรมดา แต่มันมีค่าสำหรับผม”

ของบางอย่างยิ่งใหม่ก็ยิ่งมีคุณค่า แต่สำหรับบางคนของยิ่งเก่าแต่กลับยิ่งมีเสน่ห์

สิ่งนั้นทำให้โกไข่พบว่า ความสุขของชีวิตคือการสะสมภาพเก่าของอำเภอเบตง อำเภอที่เป็นบ้านเกิดของเขา 

ผู้ส่งมอบความหลัง

“ช่วงสิบกว่าปีผมเก็บภาพได้ประมาณห้าสิบภาพ ตอนนั้นคิดว่าเยอะแล้วนะ ผมมีความคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องเอาภาพพวกนี้ไปโชว์ให้คนเห็น ผมหอบภาพที่ผมมีไปเทศบาลเลย ไปเล่าให้เขาฟังว่าผมจะเอาภาพไปจัดแสดง”

การจัดแสดงภาพถ่ายครั้งแรกของโกไข่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร แต่นั่นกลับทำให้คนในชุมชนเข้าใจสิ่งที่ชายคนนี้กำลังทำมากกว่าเดิม คล้ายเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าสิ่งที่เขาทำไม่ได้ทำเอาสนุก เป็นผลให้การเยือนตามบ้านเพื่อขอภาพมาเก็บไว้เป็นไปได้ง่าย แกมีภาพสะสมเยอะขึ้น จนกระทั่งได้จัดแสดงภาพถ่ายอีกครั้งในงานแสดงสินค้าโอทอป

“ครั้งนั้นคนมาดูเยอะมาก” แกเล่าด้วยรอยยิ้มดีใจ “บางคนเห็นภาพอากง อาม่าของเขา บางคนก็บอกว่ารู้จักคนนั้น คนนี้ในภาพ เขามาดูกันว่าเมื่อก่อนเบตงมีอะไร บางคนก็ลืมไปแล้ว มีครั้งหนึ่ง ลูกหลานของคนในภาพเข้ามากอดผมแล้วก็ร้องไห้ เขาบอกว่าขอบคุณมากที่ทำสิ่งนี้ บอกว่าผมเก็บภาพไว้ได้ดีกว่าที่บ้านเขาเก็บเสียอีก ผมประทับใจมาก”

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว
อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

หลังจากวันนั้น โกไข่แทบจะไม่ต้องเดินไปเคาะประตูหน้าบ้านให้ใครไล่ตะเพิด เพื่อนบ้านต่างตั้งใจค้นภาพเก่าแล้วเอามามอบให้โกไข่ด้วยมือตัวเอง “เขาบอกว่าเก็บไว้ที่ผมมีประโยชน์มากกว่า” จนทำให้โกไข่มีภาพหายากหลายใบ

ทั้งภาพคนจีนคนแรกที่อพยพมาอำเภอเบตงใน พ.ศ. 2443 ภาพข้าราชการยุคแรกที่เข้ารับราชการตั้งแต่กิ่งอำเภอโกร๊ะห์ยังไม่เสียดินแดนให้กับอังกฤษ ภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เมืองเบตงครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2519 และภาพสารพัดเหตุการณ์ในอำเภอเบตง เช่น ภาพถนนหน้าเบตงพลาซ่า พ.ศ. 2475 ภาพชนเผ่าซาไกที่ถ่ายไว้ในสวนยางคนจีน พ.ศ. 2497 ภาพเหตุการณ์ไฟไหม้อาคาร พ.ศ. 2503 ภาพร้านตัดเสื้อของช่างชาวจีนใน พ.ศ. 2506 ไปจนถึงภาพชีวิตประจำวันอย่างงานประชุมกำนัน ขบวนขันหมาก งานบวชนาค และอีกมากมาย จนนิ้วมือผมและโกไข่รวมกันก็ยังนับไม่ถ้วน 

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

ถ้าจำนวนภาพถ่ายคือความสุขของโกไข่ในตอนนั้น ผมว่าแกคงมีความสุขเป็นล้นพ้น

หากคุณคิดว่าเรื่องราวของโกไข่กับภาพถ่ายเก่ากำลังจะจบลง ผมขอบอกว่าทั้งหมดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเมื่อใครสักคนหลงใหลอะไรจนหัวปักหัวปำเข้าแล้ว นับว่ายากที่จะคาดเดาว่ามันจะสิ้นสุดลงตรงไหน

ร้านโกปี๊ที่แถมความทรงจำ

“ผมได้ดูภาพพวกนี้ทุกวันเข้า ก็ชักอยากจะรู้ว่าคนในภาพเป็นใครหรือเป็นเหตุการณ์อะไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ อยู่ๆ มันก็อยากรู้ขึ้นมาเองนะ ผมเลยลองค้นหาข้อมูล เริ่มจากถามลูกหลานคนในภาพ ศึกษาประวัติศาสตร์ของเบตง 

“จนตอนนี้ผมเล่าได้ทุกภาพเลยว่ามีใครบ้าง ถ่ายตรงไหน คาดเดา พ.ศ. ที่ถ่ายได้ แต่ไม่ใช่ค้นข้อมูลแล้วจะรู้หมดเลย ผมก็ค่อยๆ เก็บข้อมูลทีละนิด ทีละหน่อย จนมันซึบซาบเข้ามาให้หัวของผม” โกไข่เล่าวิธีการสืบประวัติภาพเก่า

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

การไม่ได้เรียบจบประวัติศาสตร์มาโดยตรง ไม่ใช่ข้อจำกัดของโกไข่ กลับเป็นข้อดีเสียอีก เพราะเขาเลือกวิธีค้นคว้าข้อมูลที่เป็นไปตามสัญชาตญาณ ตามหาเบาะแสทีละจุด เสมือนการต่อจิ๊กซอว์ที่ปะติดปะต่อเรื่องราวทีละน้อยเข้าด้วยกัน จากคำบอกเล่าของเพื่อนบ้าน หนังสือ และบันทึกของข้าราชการในพื้นที่สมัยก่อนที่จดบันทึกประจำวันเอาไว้

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว
อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

แกยังมุ่งมั่นข้ามไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อค้นข้อมูลที่บันทึกไว้จากพิพิธภัณฑ์และการพูดคุยกับชาวไทยที่มีรกรากอยู่ที่นั่น เพราะเบตงเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียก่อนจะเสียดินแดนให้กับประเทศอังกฤษ แถมโกไข่ยังเล่าด้วยความภูมิใจว่า ประวัติศาสตร์ของอำเภอเบตงได้บันทึกลงในสมองของแกเรียบร้อยแล้ว

ในทุกวัน เวลาว่างของชายนักค้นคว้าจะนั่งเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นหลัง ทำให้ปัจจุบันแกตีพิมพ์หนังสือแบบง่ายๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เบตงครั้งละ 100 – 200 เล่ม รวมที่พิมพ์มาแล้วทั้งหมดก็พันเล่มได้ เพื่อส่งมอบความหลังของเมืองเบตงให้คนทั่วไปได้รู้จัก

“ที่ผมเขียนเป็นแค่ส่วนน้อย ผมคงต้องเขียนต่อไปเรื่อยๆ คุณลองไปดูบ้านเกิดของคุณดูสิ มันต้องมีแง่มุมไหนบ้างแหละที่น่าสนใจและมีคุณค่า อยู่ที่ว่าคุณจะมองเห็นมันมั้ย” ชายขายกาแฟที่มองเห็นคุณค่าและความงามของบ้านเกิดบอกกับผม

 หากร้านกาแฟมีการสะสมแต้มเป็นแสตมป์ ผมว่า ‘อำเพอเบตง’ ของโกไข่ก็มี ‘ความทรงจำ’ เป็นของแถม

นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

จากความพยายามและตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของเบตงให้เป็นที่รู้จัก ใน พ.ศ. 2558 โกไข่หรือชาญ นกแก้ว ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานรางวัลผู้อนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น หนังสือและหลักฐานหลายชิ้นของเขาได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ และโกไข่ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายตามหน่วยงานและมหาวิทยาลัย ในฐานะนักสะสมภาพเก่าบ้าง และบางครั้งชายผู้รักและหวงแหนบ้านเกิดก็ไปในฐานะ ‘นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น’

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว
อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

“เคยมีคนถามผมเหมือนกันนะ ทำไมไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ เหมือนที่คนเขานิยมกัน ผมกลับรู้สึกว่าเรื่องพวกนั้นมีคนศึกษาเยอะแล้ว มีข้อมูลมากแล้ว หลักฐานถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี ไม่สูญหายแน่นอน แต่เรื่องบ้านเกิดและท้องถิ่นของผมน่ะสิ ถ้าผมไม่ทำ คงไม่มีคนทำต่อแล้วนะ ผมยังโชคดีได้คุยกับคนอายุเจ็ดสิบ แปดสิบหลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เขายังเล่าได้ว่าสมัยพ่อแม่เขาเป็นยังไง อากง อาม่าของเขาเคยเล่าอะไรให้ฟังบ้าง

“บางทีผมเอาภาพถ่ายไปให้เขาดู เขาตกใจว่าผมไปเอาภาพพวกนี้มาจากไหน ผมก็ขอให้เขาเล่าให้ฟัง เล่าอะไรก็ได้ คุณเชื่อมั้ย เขาน้ำตาไหลเลยนะ พูดเสียงสั่นบอกกับผมว่า ขอบคุณนะอาตี๋ ขอบคุณที่ทำมัน ขอบคุณที่เก็บเรื่องราวของคนรุ่นเขาให้ลูกหลานได้รับรู้ ผมเลยค้นพบว่าคุณค่าของผมอยู่ตรงนี้ ถ้าผมศึกษาประวัติศาสตร์ที่ไกลตัว ผมจะไม่ได้รับความรู้สึกแบบนี้เลย ผมมีความสุขนะที่ได้ทำมัน” หลังสิ้นประโยคบอกเล่าความสุข แกเงียบอยู่ครู่จนได้ยินเสียงลมหายใจ

อำเพอเบตง ร้านโกปี๊หลังตลาดที่เก็บภาพเก่าและเล่าประวัติศาสตร์เบตงเมื่อสองร้อยปีก่อน, โกไข่-ชาญ นกแก้ว

“มันกลายเป็นความผูกพันไปแล้ว ถ้าวันไหนผมไม่ได้หยิบภาพขึ้นมาดูก็เหมือนขาดอะไรบางอย่าง คุณจะว่าผมเพ้อเจ้อก็ได้นะ แต่บางทีผมรู้สึกเหมือนกำลังคุยกับคนในภาพด้วยซ้ำ ผมคงทำสิ่งนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผมทำได้อีกเยอะ ทำจนผมหมดแรงนั่นแหละ แต่ไม่ต้องห่วงนะ คนอย่างผมตายยาก” แกหัวเราะตามสไตล์คนใต้อารมณ์ดี

จะว่าไปผมนึกไม่ออกเลยว่าสมัยโกไข่ห่อเหี่ยวใจจากการขายของในร้านโชห่วยเป็นยังไง เพราะตอนนี้แกมีความสุขมาก ผมเผลอมองเวลาแกขายชา กาแฟ แล้วชักชวนลูกค้าไปดูภาพถ่ายเก่าภายในร้าน แถมเล่าเรื่องเบตงอย่างสนุกสนาน หากคุณได้มาเยือน ‘อำเพอเบตง’ ลองมาลองภูมิชายคนนี้ได้อย่างไม่ต้องกั๊ก เป็นต้นว่า คนจีนคนแรกที่อพยพมาเบตงคนแรกชื่ออะไร เบตงมีรถยนต์ครั้งแรกเมื่อไหร่ ศาลจังหวัด ตลาดสด หอนาฬิกา ที่ว่าการอำเภอสร้างขึ้นตอนไหน

ผมรับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวัง และความรู้สึกหลังจากคุณมองภาพถ่ายในมือจะเปลี่ยนไปทันที

“เฮ้ย นี่มันคือบันทึกประวัติศาสตร์ของยุคสมัยเราเลยนะ”

อำเพอเบตง

ที่อยู่ ซอยหลังตลาดสดเทศบาลเบตง ถนนเทศจินดา ตำบลเบตง จังหวัดยะลา 95110

เปิดบริการทุกวัน เวลาเช้าตรู่ – 22.00 น.

Writer & Photographer

Avatar

ศฤงคาร แซ่โฮ่

ปัจจุบันอยู่บ้านที่ยะลาทำเกษตร ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและหมาหลายตัว เพื่อทบทวนชีวิตสักปีสองปี