“พี่ ๆ ขอแลกเหรียญหน่อย”

“ร้านเรางดแลกเหรียญ เอาบัตรโทรศัพท์ไปใช้แทนไหม เสียบได้เลยตู้สีเขียว”

เราจำลองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญถูกขนาบข้างด้วยตู้โทรศัพท์ที่ใช้ ‘บัตรโทรศัพท์’ หรือ ‘Phone Card’ ซึ่งเริ่มใช้อย่างเป็นทางการที่กรุงเทพมหานครใน พ.ศ. 2534 จากนั้นจึงกระจายไปทั่วประเทศ ก่อนที่อีกหลายปีให้หลังจะค่อย ๆ หายไป เหลือไว้เพียงความทรงจำ

เพื่อพูดคุยกับ คิ้ม-อัมพวัน ภัทรผลิน อดีตพยาบาล นักสืบ และผู้สะสมบัตรโทรศัพท์ที่ไม่นิยามตัวเองว่าเป็นนักสะสม แต่เป็นคนที่ ‘เก็บด้วยใจรัก’ มาตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2535 The Cloud จึงต่อสายตรงไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมขอชมคอลเลกชันบัตรโทรศัพท์ที่เพิ่งมีโอกาสออกมาสูดอากาศนอกตู้เก็บของได้ไม่นาน แถมกว่า 250 ใบยังเป็นบัตรใหม่ที่มีเงินอยู่ในนั้น โดยที่เจ้าของยังไม่ได้ใช้สักบาท

“เกือบลืมไปแล้วว่ามีลายพวกนี้ ถ้าไม่มีคนสนใจก็คงไม่มีโอกาสได้เอาออกมาดู”

อัมพวันกล่าวว่า เราช่วยจุดประกายความคิดถึงและความทรงจำของเธอขึ้นมาอีกครั้ง เช้าวันนี้ เจ้าของบ้านวัย 55 ปี จึงดูกระชุ่มกระชวยเป็นพิเศษ พร้อมพาเรานั่งไทม์แมชชีนกลับไปเป็นวัยรุ่นยุค 80 เผื่อโอกาสในครั้งนี้จะพาเธอไปเจอกับเพื่อนที่เคยใช้หรือสะสมบัตรโทรศัพท์เหมือนกัน

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท
อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

จดหมาย > ตู้หยอดเหรียญ > ตู้การ์ดโฟน

“สมัยเราใช้จดหมายเป็นสิ่งแรก ต่อมาก็มีตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญแบบหมุน หลังจากนั้นโทรศัพท์บ้านก็มา ใช้แบบหมุนนานมากกว่าจะมาเป็นแบบกด ตอนนั้นถ้าเบอร์มีเลข 0 เยอะก็ไม่ดี เพราะต้องรอมันหมุนกลับมาจนสุดก่อนถึงจะหมุนเลขต่อไปได้

“ที่เล่าไปไม่แน่ใจว่ารู้จักไหม (หัวเราะ) แต่ละจังหวัดจะขึ้นต้นด้วยเลข 0 อย่างบ้านที่สุราษฎร์ธานีเป็น 077 กรุงเทพฯ เป็น 02 เชียงใหม่ เป็น 053 แล้วช่วงนั้นคนที่มีโทรศัพท์บ้าน เขาก็ทำมาหากินด้วยการเปิดให้คนใช้พร้อมคิดค่าบริการ เช่น นาทีละ 6 บาท”

เธอเล่าว่าธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจากคิวที่ยาวเหยียดของตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ ยิ่งคนไหนจีบสาว ยิ่งแลกเหรียญไว้เยอะและคุยนาน

“คนข้างหลังถ้ามีเรื่องด่วนก็พากันชะเง้อหน้าดูว่าเมื่อไหร่จะวางสาย แล้วยุคนั้นเก่งมากนะ มือหนึ่งหยอดเหรียญ อีกมือเอาไว้คุย การติดตั้งโทรศัพท์บ้านเลยมีประโยชน์สำหรับคนรีบและเป็นการสร้างรายได้”

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท
อัมพวันขณะเป็นนักเรียนพยาบาล

บ้านของอัมพวันเองก็มีโทรศัพท์บ้านไว้ใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร โดยคุณยาย (แม่ของอัมพวัน) จะใช้รับและโทรหาลูกที่แยกย้ายไปศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ เพราะนั่นคือหนึ่งในไม่กี่วิธีที่ทำให้คนไกลเหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน

“สมัยนั้น คนต้องแลกเหรียญเอาไว้เยอะมาก ใครไม่มีเหรียญก็ต้องไปแลกตามร้านค้า ซึ่งบางทีเขาก็หงุดหงิด เพราะการขายของจำเป็นต้องใช้เหรียญในการทอนเงิน ก็จะมีป้าย ‘งดแลกเหรียญ’ พอเกิดเรื่องแบบนี้ ประกอบกับเทคโนโลยีที่พัฒนาและกำลังเข้ามาจึงเกิดเป็นการ์ดโฟนให้ลองใช้”

ในต่างประเทศ การใช้บัตรโทรศัพท์ถูกพัฒนามาก่อนหน้าประเทศไทยหลายสิบปี และมีคุณภาพที่ดีกว่า โดยปลายสายเทียบให้ฟังว่า ลวดลายของต่างประเทศจะพิมพ์อยู่ในบัตรและติดแน่น ขณะที่ของประเทศไทยมีโอกาสหลุดลอกได้มากกว่า โดยเฉพาะผู้ที่เก็บไว้ในแฟ้มสะสม เมื่อพลาสติกละลายเพราะอากาศร้อนจะทำให้บัตรเหนียว และหากรีบดึงออกมาลายจะหลุดติดกับพลาสติกจนเสียหาย เช่นเดียวกับแฟ้มของเธอที่ใช้มาเกือบ 30 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2535

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท
อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

 การ์ดโฟนของอัมพวันทั้งหมดเป็นบัตรระบบแสงที่อยู่ในยุค ‘องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย’ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น ‘TOT’ หรือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 

วิธีการใช้นั้นง่ายดาย เริ่มจากไปเลือกซื้อตามราคาที่ต้องการได้แก่ 25 บาท 50 บาท 100 บาท 200 บาท และ 240 บาท จากนั้นนำไปเสียบตู้โทรศัพท์สีเขียวซึ่งเป็นตู้สำหรับการ์ดโฟน ส่วนตู้สีน้ำเงินเป็นตู้หยอดเหรียญ เมื่อเสียบแล้วจะขึ้นหน้าจอบอกจำนวนเงิน หลังจากวางสาย บัตรโทรศัพท์จะเด้งออก

“ถ้าเราคุยไป 25 บาท ครั้งต่อไปมาใช้บัตรเดิมมันจะขึ้นว่าเหลือ 75 บาท ถ้ารู้ว่าคุยนานก็จะไม่ใช้ใบเดิม เพราะเงินไม่พอ อาจใช้ใบ 200 บาทไปเลย พอเงินหมดจะได้ไม่ต้องวางสาย เพื่อโทรใหม่ มันเสียเวลาและไม่ต่อเนื่อง”

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

ความทรงจำกับบัตรโทรศัพท์

อัมพวันเรียนจบจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ตอนอายุ 22 ปี ทำงานพยาบาล 3 ปี ก่อนจะมีรุ่นพี่พยาบาลมาเห็นแพสชันในการท่องเที่ยวของเธอ จึงชวนมาทำงานที่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานด้านการพยาบาล ทั้งยังได้ออกเดินทางไปยังสถานที่แปลกใหม่ นั่นก็คืออาชีพ ‘นักสืบ’

“เป็นนักสืบให้กับบริษัทประกัน จริง ๆ คือนักสืบ Investigator แต่บริษัทประกันเรียก Insurance Appraiser เป็นคนไปเยี่ยมลูกค้า หาข้อมูล ซึ่งเครื่องมือที่ใช้มีตั้งแต่โฟนลิงก์ แพ็กลิงก์ โทรศัพท์มือถือ เกิดจากการที่เราต้องไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งเวียงป่าเป้า สุไหงปาดี สุไหงโก-ลก เดินทางทั่วประเทศ ส่วนการ์ดโฟนก็ใช้ติดต่องาน ไม่เคยใช้โทรจีบใครนะสมัยนั้น แต่อาจจะมีคนใช้โทรจีบเรา (หัวเราะ)”

เธอมีความทรงจำเรื่องการรับโทรศัพท์ที่หอพักตอนทำงานพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ทุกชั้นของหอพักจะมีเครื่องโทรศัพท์ตั้งอยู่ที่ส่วนกลาง หากจะให้เพื่อนหรือแฟนติดต่อมาต้องนัดเวลากันก่อนและไปยืนรอรับ เพื่อไม่ให้ฝ่ายที่ติดต่อมาต้องเสียเงินมากเกินไประหว่างรอสาย

“บางครั้งช่วงที่รอรับสายของตัวเองอยู่กลับมีสายของห้องอื่นโทรเข้ามาพอดี จึงต้องวิ่งไปเคาะห้องเรียกให้มารับ ถ้าอยู่ เราก็ต้องรอจนกว่าจะคุยเสร็จ ตอนวิ่งไปเคาะห้องได้แต่ภาวนาว่า ขอให้ไม่อยู่ห้องนะ (หัวเราะ) ส่วนตอนที่เป็นนักเรียนพยาบาล เราก็มีใช้ตู้หยอดเหรียญโทรกลับบ้าน จะไปช่วงประมาณ 3 ทุ่ม เพราะคนเริ่มซาแล้ว”

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท
อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

ก่อนที่การ์ดโฟนจะออกมาให้ประชาชนใช้อย่างเป็นทางการ องค์การโทรศัพท์เริ่มโครงการทดลองตั้งแต่ พ.ศ. 2530 โดยมีบัตรสีทองเป็นบัตรทดลองใช้ชุดแรก ผลิตหลังจากนั้น 1 ปี มีจำนวนไม่ถึง 100 ใบ และไม่มีจำหน่าย ซึ่งอัมพวันเองก็ไม่มีบัตรใบนี้

“ช่วงปลาย ๆ พ.ศ. 2535 เริ่มสะสมจากที่เขาใช้แล้ว โดยคนในองค์กรที่ทำงานต้องใช้การ์ดโฟน เราก็ไปบอกทุกคนว่า ถ้าใครใช้หมดแล้ว เราขอนะ ตอนนั้นก็เริ่มดูลาย ชอบลายบนนั้นมาก โดยเฉพาะลายที่เกี่ยวกับความเป็นไทย พอหนักเข้า เราเริ่มรู้สึกว่าอยากได้แบบที่ครบเซ็ตจึงเกิดเป็นการตามล่า เช่น เซ็ตวัด เซ็ตสัตว์ ตามหากัน 2 คนกับเพื่อนที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ สมมติเราออกทริป เพื่อนอยู่กรุงเทพฯ ก็จะบอกให้เขาซื้อให้เราด้วย 1 ชุด เพราะฉะนั้นตอนนี้ เพื่อนคนนั้นก็มีแบบเราเป๊ะเลย 1 ชุด”

เธอพูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นราวกับได้กลับไปเป็นวัยรุ่นอีกครั้ง

ลวดลายที่สวยงาม ไม่ซ้ำ หรือถึงซ้ำก็ไม่น่าเบื่อ คือเสน่ห์ที่ทำให้อัมพวันหลงใหลในตัวบัตรโทรศัพท์ที่อายุอานามเกือบ 30 ปี แม้เธอจะไม่ทราบล่วงหน้าว่า ทางองค์การโทรศัพท์จะออกคอลเลกชันอะไรมา และมีจำนวนกี่ใบต่อชุด แต่เธอก็ตื่นเต้นกับการไปเดินตามหาพวกมันที่องค์การโทรศัพท์ สี่พระยา และร้านค้าทั่วไป

“ลายมันสวยมากจริง ๆ กรุงเทพฯ ในอดีต ปะการัง ประเพณี เครื่องดนตรี สมัยนั้นมีชมรมพระเครื่อง ชมรมแสตมป์ เราว่าบัตรโทรศัพท์ก็ก่อให้เกิดมูลค่าได้ โดยที่เราไม่ได้คิดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนกับเรา เราก็สะสมไปเรื่อย ๆ พลาสติกน่าจะสะสมง่าย ไม่หาย

“บางอันก็หาได้ไม่ครบ เสียดายมาก อย่างลาย Pepsi Blue Club ออกมา 4 ลาย แต่เราเก็บได้แค่ 3 ลาย ขาดไป 1 ใบ หาไม่ได้จริง ๆ ในตอนนั้นนะ เขาออกมา พ.ศ.2539 ราคาหน้าบัตร 50 บาททั้งหมด”

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

ถึงแม้จะขาดไป 1 ใบ แต่ของสะสมของเธอกลับอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก อัมพวันดึงถุงพลาสติกออกมาให้เราชม ในนั้นมีใบคูปองยาวเหยียดที่เขียนส่วนลดของร้านค้ายอดนิยม เช่น สวนสยาม แมงป่อง เป็นต้น

“องค์การโทรศัพท์ไปผูกกับบริษัทอื่น ๆ เช่น Pepsi เพื่อให้เขามาใช้การ์ดโฟนในการโฆษณา แต่หาก Pepsi เองซื้อไม่ไหวหรือต้องการผู้ร่วมลงทุน ก็จะเห็นว่ามีเจ้าอื่นด้วยที่หลังบัตรอย่าง โรบินสัน, AIIZ, KFC, Dunkin’ Donut และ Pizza Hut

“แล้วบางทีเขาไม่ได้ออกมา 25 บาท 50 บาท 100 หรือ 200 บาท แต่เขาออกมาเป็นบัตร 100 บาท หมดเลย 4 ลาย อย่างตัวที่เป็นจิ๊กซอว์เอามาประกอบกัน 4 ใบ ลายปะการัง แบบนั้นก็ต้องเก็บเงินถึง 400 เพื่อซื้อให้ครบ ซึ่งเขาไม่ได้ออกแบบนี้แค่ครั้งเดียว ก็ต้องเก็บเงินกันไป”

ความพิเศษของบัตรที่อัมพวันเก็บไม่ใช่แค่ลวดลายที่สวยงามสมบูรณ์ แต่มันคือการที่เธอซื้อมาเก็บแบบเรียลไทม์โดยไม่ใช้เงินในบัตรสักบาท หากตู้โทรศัพท์การ์ดโฟนยังอยู่ เธอก็ใช้เงินเหล่านั้นต่อได้ แต่เรื่องไม่คาดฝันกลับเกิดขึ้น เมื่อรู้อีกที ตู้ก็ถูกยกออกไปเรื่อย ๆ

“เราซื้อแยกกันระหว่างการ์ดโฟนที่เอาไว้เก็บ กับที่เอาไว้ใช้ การ์ดโฟนที่ใช้เป็นลายอะไรก็ได้ แต่ที่เก็บจะเน้นลายที่ชอบและสวย พอเราไม่ได้ใช้ เงินก็อยู่ในบัตรกว่า 250 ใบ มูลค่าประมาณ 5 หมื่นบาทเห็นจะได้”

“ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องการลงทุน เรารู้แค่ว่าชอบ และมีรายได้พอซื้อมาสะสม เราสุขใจเมื่อได้ลายที่ต้องการ ไม่รู้อนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไร พอถึงตอนนี้ มันไม่มีมูลค่าทางเงิน เพราะไม่มีตู้ให้เราใช้แล้ว แต่คุณค่าทางใจของมันกลับเต็มเปี่ยมและมากกว่าเดิม รู้สึกดีที่ได้ย้อนเล่าเรื่องในอดีต และรู้สึกดีที่ได้เห็นว่าเรามีลายเหล่านี้ด้วย”

เธอเริ่มหยิบของสะสมแสนรักออกมาโชว์ผ่านหน้าจอ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราจึงขอให้เธอแนะนำบัตรโทรศัพท์ให้ฟัง

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

เปิดแฟ้มบัตรสะสม

อัมพวันบอกว่า การ์ดโฟนเหล่านี้เป็นสิ่งที่เธอซื้อในตอนนั้น และไม่ได้ตามสะสมอีกเลยหลังจากที่ตู้เริ่มหายไป

สำหรับเธอ ระยะเวลาที่ใช้สะสมนั้นแสนสั้น แต่ความทรงจำกลับยาวนาน

“ที่ยังไม่ได้ใช้มีเยอะมาก พอตู้ถูกยก ที่สะสมมาหลายหมื่นหายไป ถ้ารวมบัตรที่ใช้แล้วน่าจะประมาณ 400 ใบ ตอนหมดยุคการ์ดโฟน เรามองหน้าเพื่อนที่สะสมมาคู่กัน เอาไปทำอะไรดี แต่เพื่อนบอกว่าไม่เป็นไรหรอก เพราะเราชอบลายของมันไง พวกเราก็ตกลงกันตามนั้น”

หลังทำงานนักสืบ 4 – 5 ปี เธอแต่งงานและขอย้ายจากตำแหน่งนักสืบมานั่งโต๊ะทำงานประจำฝ่ายสินไหม เมื่อมีลูก ความบ้าบิ่นในการเก็บบัตรโทรศัพท์ก็ซาลง ส่วนตู้โทรศัพท์ก็กลายเป็นที่แขวนโอเลี้ยง เพราะไม่ค่อยมีคนใช้บริการ

01 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

“4 ใบนี้เป็นลายเดียวกัน แต่คนละราคา ด้านหลังมีคำอธิบายด้วยว่า ทับหลังนารายณ์บรรทมศิลป์ (Narai Stone Carving) มีที่มาอย่างไร เป็นศิลปะสมัยไหน ลักษณะเป็นอย่างไร ชุดนี้ออกใน พ.ศ. 2536 ทั้งหมด”

02 ดนตรีไทย

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

“ชุดนี้เก็บครบ มี 4 ลาย คือระนาดเอก กลองตะโพน ฆ้องวงใหญ่ และปี่ ขลุ่ย ฉิ่ง ใบราคา 240 บาท พิเศษหน่อยที่มีแถบขาวอยู่ทั้งบนและล่าง ถ้าเป็นบัตรใช้แล้วก็จะมีรอยขีด ๆ เหมือนโดนตอก”

ลักษณะของบัตรโทรศัพท์ในยุคนั้นจะมีเครื่องหมายองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และลูกศรชี้ขึ้น หากเป็นตัวอักษร CH แปลว่าผลิตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนรอยเว้าด้านข้างเป็นตัวบอกทิศทางการเสียบบัตรในที่มืด หรือสำหรับคนตาบอด (อ้างอิงจากหนังสือ คู่มือสะสมบัตรโทรศัพท์ พิมพ์ครั้งที่4 เขียนโดย ชวน สุนทรานันท์ จัดจำหน่ายโดย บริษัท งานดี จำกัด ในเครือมติชน)

03 สัตว์สงวน

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

ชุดสัตว์สงวน (Wild Life) ออกมา 4 ลาย ได้แก่ เก้งหม้อ กวางผา เลียงผา และควายป่า โดยทั้งหมดจำหน่ายใน พ.ศ. 2536

04 อาหารไทย

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

“อันนี้เก็บครบ แล้วก็สวยมาก รู้สึกว่าไม่ได้แบ่งภาค แต่จะมีอาหารไทยแล้วก็ของหวาน ซึ่งของหวานราคา 200 บาท ส่วนที่เหลือเป็นห่อหมก ต้มยำ มีทั้งหมด 4 ลาย”

05 หุ่นกระบอก

อัมพวัน ภัทรผลิน วัยรุ่น 80 ผู้สะสมความทรงจำในบัตรโทรศัพท์ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สักบาท

“หยิบมาดูแล้วก็ขนลุก เราน่าจะเป็นคนที่ชอบอะไรไทย ๆ พวกนี้เห็นแล้วชอบ ชุดนี้ออก พ.ศ. 2536”

06 รำไทย

“ชุดรำไทยสวยงาม ครบ 4 ลาย ออก พ.ศ. 2536 เหมือนกัน เป็นช่วงแรก ๆ ที่เก็บ มีพิธีบายศรีสู่ขวัญ ฟ้อนเล็บ รำพื้นเมืองภาคอีสาน และระบำศรีวิชัย”

07 ปลาทะเล

“4 ลายนี้เป็นของ พ.ศ. 2537 ถ้าจับบัตรโทรศัพท์ไทยกับของประเทศมาเลเซียที่เป็นรูปปลาเหมือนกันมาวางเทียบจะเห็นเลยว่า คุณภาพของบัตรแตกต่าง เพราะมาเลเซียเหมือนเขาพิมพ์ภาพลงในบัตร แต่ของเราถ้าโดนอะไรลายจะหลุดออกมาได้เลย”

08 ดอกไม้

“อันนี้ครบ แต่เราไม่ได้ชอบดอกไม้เท่าไหร่ (หัวเราะ) มีอันอื่นที่เป็นดอกไม้วันวาเลนไทน์ นก และผีเสื้อด้วย”

09 ซีเกมส์ครั้งที่ 18

“เวลาที่เมืองไทยมีเกมส์หรือมีวาระ เขาจะทำออกมาเป็นบัตร อันนี้คือซีเกมส์ครั้งที่ 18 ที่เชียงใหม่ จริง ๆ ลายเดียวกัน เปลี่ยนแค่ราคา แต่เราเก็บครบหมด”

10 ประเภทวันครอบรอบ 

“อันนี้ไม่ใช่คอลเลกชันเดียวกัน แต่เอามาจัดหมวดเองเป็นประเภทวันครบรอบต่าง ๆ ที่เห็นเครื่องบินคือ 50 ปี องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ อันนี้ 30 ปี เดลินิวส์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 120 ปี กรมศุลกากร ส่วนอันนี้ 40 ปี ท.ศ.ท. (T.O.T 40th Anniversary) ผู้นำบริการโทรคมนาคมของประเทศ ด้านหลังก็จะอธิบายว่า บริการสื่อสารร่วมระบบดิจิตัล ISDN คืออะไร ไม่ใช่ทุกใบที่มีหลังบัตร

“อีกอันที่ชอบคือ 80 ปี เภสัชกรรมไทย เห็นว่าเป็นสีดำ แต่เก๋นะ จริง ๆ แล้วมีลาย เขียนว่าครบรอบ 80 ปี เภสัชศาสตร์ แห่งประเทศไทย อาจจะต้องส่องไฟหน่อยถึงจะเห็น”

11 ลายไทย

“ลายไทยออกบ่อยแต่ไม่เคยช้ำ แล้วเราชอบมาก ลายอื่นมีช้ำบ้าง พวกนี้ออกมา พ.ศ. 2535 เก็บไว้เป็น 10 ใบ ทั้งที่ใช้และยังไม่ใช้ ก็จะซ้ำกันหน่อย”

ถึงแม้จะมีไม่ครบ แต่ก็เป็นลายที่อัมพวันชื่นชอบ โดยลายไทย (Thai Art Pattern) ออกมา 3 ชุด ใน พ.ศ. 2535 ชุดที่ 1 เป็นลายทแยงมุม มี 2 ราคาที่หน้าตาเหมือนกัน คือ 50 บาท และ 100 บาท ชุดที่ 2 เป็นลายลักษณะขดเป็นวงกลม มี 2 ราคาที่หน้าตาเหมือนกัน คือ 50 บาท และ 100 บาท ส่วนชุดที่ 3 ลักษณะลายแผ่ออกจากตรงกลาง มี 4 ราคา คือ 25 บาท 50 บาท 100 บาท และ 240 บาท ชุด พ.ศ. 2536 ออกมาเพียงใบเดียวราคา 240 บาท

12 ไทยในอดีต

“ความชอบที่มีต่อการ์ดโฟนมันสูงมาก กรุงเทพฯ ในอดีตเป็นชุดที่ภาพสวย จริง ๆ รูปพวกนี้หาได้จากอินเทอร์เน็ตเยอะแยะ แต่จะบ่อยแค่ไหนที่เขาเอามาใส่บนบัตร และมาอยู่ในมือเรา”

คอลเลกชัน ไทยในอดีต (Thailand in the Past) ออกมาทั้งหมด 4 ใบ ได้แก่ กรุงเทพฯ ในอดีต 2 ใบ ราคา 25 บาท และ 100 บาท และ ไทยในอดีต 2 ใบ ราคา 50 บาท และ 200 บาท ซึ่งอัมพวันขาดไปเพียง 1 ใบ

13 บัตรโทรศัพท์ต่างประเทศ

“ไม่ใช่แค่ของไทย แต่เราเก็บของต่างประเทศด้วย ไม่เยอะมาก แถวสีลมมีคนขายแบกะดิน พอเราเดินผ่านก็เก็บมา ลายปลา ทะเลทราย ดอกไม้ มีของมาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น แล้วก็ประเทศที่ไม่รู้จัก ซื้อมาประมาณ 20 – 30 บาท จะเห็นว่าบางประเทศก็ใช้วิธีเจาะรู เพื่อบอกมูลค่าที่ยังเหลือ”

เธอหยิบของในกรุออกมาโชว์อย่างต่อเนื่องด้วยความสุขใจ นานแล้วที่ไม่ได้เจอกัน

สบายดีหรือเปล่า (ของสะสมเพื่อนเก่า)

เราเชื่อว่าหลายท่านที่กำลังอ่านเรื่องราวของอัมพวันในตอนนี้ คงมีความทรงจำที่เชื่อมโยงกับเธอไม่มากก็น้อย สิ่งหนึ่งที่นักรักบัตรโทรศัพท์คนนี้อยากกล่าวหลังจากไม่ได้เจอเพื่อนเก่าในวันวานมาเนิ่นนาน คือเธออยากแนะนำให้คนที่มีเวลาว่าง ลองเปิดกรุเปิดตู้ในบ้านดูบ้าง เผื่อจะเจอเรื่องราวน่ารักที่คุณเกือบลืม

“คุณค่าตอนแรกเริ่มจากความชอบ กิเลสล้วน แต่พลาสติกธรรมดา ๆ กลับกลายเป็นอดีตที่ทำให้คนแก่แบบเรามีพลัง คุณค่าทางใจตอนนี้คือความทรงจำที่อยู่ในบัตร”

เธอมองของสะสมในมือด้วยแววตาเป็นประกายเหมือนได้เจอคนรู้ใจ เราถามเธอว่า หากมีคนมาขอซื้อบัตรบางใบในราคาที่สูงกว่าหน้าบัตร เธอจะขายหรือไม่

“คิดหนักมากเลย เพราะรักไปแล้ว ความรู้สึกในใจมันฟูออกมา ถ้าไม่ได้ร้อนเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นความทรงจำที่ดี เช่นเดียวกับคนที่เก็บของอย่างอื่น เมื่อเวลาผ่านไป บางทีสิ่งเหล่านั้นอาจไม่ได้ให้เงินเพิ่ม แต่คุณค่าทางจิตใจมันเกินประเมิน เราก็เพิ่งซึ้งกับมันเหมือนกัน เก็บเถอะค่ะ วันหนึ่งทุกคนจะเห็นเองว่ามันคือเรื่องที่ดี”

ทั้งหมดคือเรื่องราวในความทรงจำที่เก่าแต่ไม่เคยแก่ หากมีเวลาว่าง เราขอชวนคุณเปิดตู้สำรวจดู ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเจอ ‘วัยรุ่น’ ที่หลับใหลอยู่ในนั้น เช่นเดียวกับบัตรโทรศัพท์ของอัมพวันที่ได้ออกมาทำให้ใจของเธอกระชุ่มกระชวยอีกครั้ง

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ธิฆัมพร ช่วยชนะ

ฟรีแลนซ์ที่ชอบอยู่บ้าน ชอบเสน่ห์ของความธรรมดาในทุกเรื่องราว ใฝ่ฝันอยากเลี้ยงหมาตอนอายุ สามสิบ :)