16 มิถุนายน 2020
18 K

เป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่พี่น้องชาวไทยร่วมใจกัน ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ จนประเทศควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนสื่อต่างชาติให้การชื่นชม

ในภาวะที่ปล่อยได้เพียงใจให้ล่องลอยไปไกล แต่กายยังต้องอยู่ติดบ้านกักตัว หลายคนคงเผชิญกับทั้งความเครียด ความวิตกกังวล และความหวาดกลัวกับอนาคตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราอยู่ก็ยังได้อยู่ใน ‘บ้าน’ ที่คุ้นเคย กับคนที่คุ้นหน้า และพูดจาภาษาเดียวกัน

อีกฟากฝั่งหนึ่งที่ตะวันตกไกล ไวรัสเจ้ากรรมกำลังทำหน้าที่ของมันอย่างแข็งขันในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากเป็นประเทศมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกแล้ว ได้ควบตำแหน่งประเทศอันดับหนึ่งทั้งเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปด้วย มาตรการปิดเมืองและเว้นระยะห่างทางสังคมถูกนำมาบังคับใช้ การเดินทางและการท่องเที่ยวในประเทศหยุดนิ่ง เช่นเดียวกับการเดินทางระหว่างประเทศ

ด้วยสภาพสังคมที่ส่งเสริมความเป็นปัจเจกบุคคลของประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ในแต่ละปี ประเทศนี้ส่งออกนักเดินทางแบกเป้จำนวนมากสู่โลกกว้าง ระยะเวลาการเดินทางยาวนานนับกันที่หลักเดือนถึงหลักปีไม่ใช่แค่หลักวัน มีทั้งความตั้งใจและโชคชะตาที่พาพวกเขาไปพบเจอประสบการณ์แปลกใหม่ อันอาจเปลี่ยนความคิดที่มีต่อชีวิตไปตลอดกาล รวมถึงประสบการณ์การติดค้างในต่างแดนระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 

พรีทอเรีย, แอฟริกาใต้

“นอกจากเวลาไปซื้อของ ผมก็ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มาสองเดือนแล้ว”

ที่เกสเฮาส์เล็กๆ ในเมืองพรีทอเรีย (Pretoria) ไม่ไกลจากโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) จัสตินเป็นผู้พักอาศัยเพียงคนเดียวระหว่างการปิดเมืองในประเทศแอฟริกาใต้ น้ำตกวิกตอเรียเป็นจุดหมายสุดท้ายก่อนสิ้นสุดการเดินทางรอบโลกเป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่งของจัสติน ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ภายในเดือนเมษายนเขาจะได้ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ของฤดูใบไม้ผลิในบ้านเกิดที่เมืองทางตอนใต้ของอะแลสกา (Alaska) พร้อมกับครอบครัวที่ไม่ได้เจอหน้ามานานแสนนาน

จัสตินเคยทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศจีน ทำให้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บ่อยครั้ง สำหรับชาวอเมริกันที่อาหารเอเชียออกจะแปลกลิ้นและเสียดท้องเกินไป เขายกเว้นให้แค่อาหารไทย ซึ่งเขาว่าอร่อยถูกปากจนยอมรับประทานอาหารข้างทางที่ปกติไม่กล้ากินในประเทศอื่นๆ

หลังออกจากงาน จัสตินได้เดินทางท่องเที่ยวจากเอเชีย สู่ยุโรป และแอฟริกา ในสัปดาห์ที่ 6 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เขาก็รับวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศแซมเบีย ตามปกติแล้วการรับวัคซีนนี้จะต้องรอให้วัคซีนมีผลก่อนเป็นระยะเวลา 10 วัน จึงเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดได้ ระหว่างนั้นเขาจึงแวะพักที่เมืองพรีทอเรียทางตอนเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ แต่หลังจากวันแรกในเมืองใหม่ไม่นาน การเดินทางระหว่างประเทศก็หยุดนิ่ง พร้อมๆ กับที่โลกทั้งโลกหยุดการเคลื่อนไหว

แม้ COVID-19 จะไม่มีรายงานการแพร่ระบาดมากนักในทวีปแอฟริกาหากเปรียบเทียบกับทวีปอื่นๆ แต่ประเทศแอฟริกาใต้ก็เป็นดินแดนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการสูงที่สุดในทวีป ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศปิดประเทศห้ามออกจากเคหสถานหากไม่มีเหตุจำเป็นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2020 ซึ่งเดิมมีกำหนดเพียง 21 วัน แต่แล้วก็ต้องขยายระยะเวลาออกไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงมากขึ้น 

ประธานาธิบดีไซริล รามาโฟซา (Cyril Ramaphosa) ปรากฏตัวออกโทรทัศน์เป็นครั้งคราวเพื่ออัปเดตถานการณ์แก่ประชาชน มีการตรวจหาเชื้อไวรัสทั่วประเทศ กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบถูกจัดตั้งขึ้น แต่สำหรับชาวต่างชาติอย่างจัสตินแล้ว คนที่เขาพึ่งพาได้ขณะนี้คงมีแต่ตัวเอง

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

โอกาสการปิดทริประยะยาวที่น้ำตกวิกตอเรียของจัสตินเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับโอกาสในการเดินทางกลับบ้านเกิดที่อะแลสกาในเร็ววัน หลังพลาดเที่ยวบินสุดท้ายไปอย่างน่าเสียดาย บางคนอาจบอกว่าเขาโชคดีที่หลีกหนีจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงที่สุดในโลกได้ แต่ด้วยสภาพอากาศหนาวที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนต่างถิ่น และขนาดพื้นที่กว้างขวางหากเทียบกับจำนวนผู้อยู่อาศัย ทำให้ในเมืองเล็กๆ ของเขามีจำนวนผู้ติดเชื้อถึงปัจจุบันรวมแล้วไม่ถึงร้อยคน และนี่คือประเทศแอฟริกาใต้ ถึงแม้รัฐบาลจะควบคุมสถานการณ์ได้ดีเพียงใด แต่พื้นฐานของที่นี่คือหนึ่งในประเทศยากจนที่มีระบบสาธารณสุขอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“สิ่งบันเทิงใจอย่างเดียวที่ผมมีตอนนี้คือการได้ฝึกหมักไวน์ด้วยน้ำผลไม้ ชอบไวน์สตรอว์เบอร์รี่ที่สุดเลยล่ะ”

โรคระบาดทำให้ทางรัฐบาลสั่งห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่นเดียวกับบุหรี่ ร้านอาหาร และ Uber จะว่าไปแล้วก็เกือบทุกอย่าง ยกเว้นร้านขายของชำและร้านขายยา ในวันที่วิสกี้และเบียร์เป็นสิ่งต้องห้าม ทางเลือกเดียวที่อเมริกันชนจากโลกเสรีเช่นเขาจะหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาบรรเทาความเครียดเมื่อตัดขาดจากโลกภายนอกเช่นนี้ คือทำมันขึ้นมาเอง

จัสตินเล่าขั้นตอนการหมักไวน์ที่เขาฝึกฝนมาหลายหลักสูตรจากคลิปใน YouTube และบทความทางอินเทอร์เน็ต หลักการง่ายๆ แค่ใส่ยีสต์และน้ำตาลลงในของเหลว กระบวนการยีสต์ย่อยน้ำตาลก็จะผลิตแอลกฮอล์และคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดังนั้นต้องมีอุปกรณ์กันไม่ให้แก๊สออกไป ในขณะเดียวกันก็ต้องกันไม่ให้ออกซิเจนเข้ามาด้วย

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

“หาอะไรไม่ได้เลย ก็เลยเอาถุงยางอนามัยมาครอบฝาขวดหมักแล้วเจาะรูตรงปลายเอาน่ะ”

เขาเล่าพร้อมหัวเราะ เรื่องขำขันแม้กับสิ่งเล็กน้อยคงดีต่อสุขภาพจิตของเขาไม่น้อยในภาวะนี้ ในช่วงแรกของการปิดเมือง นักเดินทางที่ท่องเที่ยวมาอย่างหนักแทบทุกวันอย่างเขารู้สึกผ่อนคลาย เพราะได้มีเหตุผลพักผ่อนอย่างจริงจัง แต่ผ่านไปไม่นาน ความเงียบงันของโรคระบาดก็สร้างความหวาดกลัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เดือนพฤษภาคมในประเทศแอฟริกาใต้เป็นช่วงต้นฤดูหนาว อากาศเริ่มเย็นลงแต่ไม่ถึงกับหนาว เหมาะสมอย่างยิ่งกับการเดินทางท่องเที่ยวทุ่งซาฟารี เพราะอากาศแห้งจะพาสัตว์ต่างๆ มารวมตัวกันริมฝั่งน้ำ ภาพสัตว์ป่าน้อยใหญ่ใช้ชีวิตอย่างเสรีไม่มีพันธนาการ ดึงดูดนักเดินทางจากทั่วโลกมาเยือนประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพนี้ปีละกว่า 16 ล้านคน มาดูสัตว์ป่าในทุ่งซาฟารีใช้ชีวิตที่ไม่ถูกจำกัดในกรงแคบๆ

“ผมรู้สึกเหมือนถูกจองจำเลย แค่สภาพแวดล้อมดีกว่าในคุก”

ในย่านพักอาศัยของคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรปอาจดูปลอดภัย หากเทียบกับชุมชนแออัด ถิ่นที่อยู่ของผู้มีรายได้น้อยอันเป็นภาพจำของประเทศแอฟริกาใต้ รั้วบ้านสูงราว 2 – 4 เมตร ด้านบนขึงลวดหนามป้องกันการบุกรุกแม้ในยามสถานการณ์ปกติ คือสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ที่จัสตินไม่เคยสัมผัส เพราะสังคมที่อะแลสกา แม้เสียบกุญแจรถคาไว้ก็ไม่ต้องกังวลว่ารถจะหาย แต่ ณ ที่นี้ ประตูและหน้าต่างติดตั้งแผงเหล็กแน่นหนา จนเขานึกจินตนาการไปว่ากำลังอยู่ในคุก แม้ว่าประเทศนี้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม แต่ใช่ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจในภาพลักษณ์ที่แตกต่างจะเกิดขึ้นกับทุกคน

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19
เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19
เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

จัสตินโชคดีที่เจ้าของเกสเฮาส์ปล่อยห้องเช่าให้เขาในราคาถูกมาก แม้ค่าครองชีพในแอฟริกาใต้จะถูกมากๆ อยู่แล้ว การได้ครอบครองที่พักเพียงคนเดียวพร้อมสวนส่วนตัวในราคาย่อมเยาคงหาไม่ได้ในภาวะปกติ แต่ถ้าเลือกได้ เขาก็ขอให้มีใครสักคนหรือสัตว์เลี้ยงสักตัวอยู่เป็นเพื่อน ให้ผ่านวันเวลาเงียบเหงาอ้างว้างนี้ไปด้วยกัน 

แม้พนักงานทำความสะอาดพักอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย แต่ก็เห็นหน้ากันเพียงนานๆ ครั้ง และแลกเปลี่ยนบทสนทนาแค่เมื่อถึงคราวจำเป็น เพื่อนบ้านในละแวกข้างเคียงต่างก็เก็บตัวอยู่กับบ้านไม่ออกไปไหน ด้วยทั้งเหตุผลทางสุขอนามัยและความเกรงกลัวต่อกำลังทหารและตำรวจ ซึ่งคอยลาดตระเวนตามท้องถนนเพื่อควบคุมสถานการณ์ หากฝ่าฝืนคำสั่งออกมาเดินตามท้องถนนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่รักษาระยะห่างระหว่างผู้คน หรือไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย ก็อาจเจอค่าปรับที่สูงถึงราว 80 ยูโร

“แต่หน้ากากอนามัยที่นี่ไม่ได้หายากหรอกนะ”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

หน้ากากอนามัยหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในราคา 10 แรนด์ (ราว 18 บาท) แต่หน้าตาไม่ใช่รูปแบบที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยเท่าไร แผ่นผ้าแบบเดียวที่ใช้ในการผลิตถุงใช้แล้วไม่ทิ้ง กรีดเป็นรอยสองข้างซ้ายขวาสำหรับเกี่ยวกับหู มีหลายรอยสำหรับปรับให้รับกับขนาดใบหน้าหลายระดับ ไม่แน่ใจว่าป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดีแค่ไหน แต่ใส่ไว้แล้วตำรวจไม่จับหากออกข้างนอก ในช่วงแรกของการปิดเมือง จัสตินไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปซื้อหน้ากากในร้านค้า แค่ยืนรออยู่ภายนอกแล้วพนักงานจะนำสินค้าออกมาให้เอง

สำหรับชายหนุ่มสุขภาพดีเช่นจัสตินแล้ว เหตุผลเดียวที่เขาจะได้ออกไปไหนก็เพื่อซื้อของกินของใช้ประจำวันที่ร้านค้าที่ใกล้ที่สุดซึ่งอยู่ไกลออกไป

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

“ไปกลับก็ร่วมสองชั่วโมงที่ต้องเดินเท้าเอา ผมไม่มีรถและขนส่งสาธารณะก็ไม่มีบริการ เลยแบกของได้ไม่มาก ทำให้ต้องออกไปซื้อของทุกสี่ห้าวันเลย แถมต้องออกไปก่อนบ่ายสอง เพราะที่นี่ฟ้ามืดแล้วอันตรายมาก แต่ถ้าคิดในแง่ดี อย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกาย”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

ในที่พักมีครัวให้ เขาปรุงเอาหารเมนูง่ายๆ ไว้รับประทานคู่กับไวน์หมักเอง และผ่านแต่ละวันไปกับการดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ และอยู่ดึกเพื่อรอเวลาโทรคุยกับครอบครัวที่อะแลสกา ในช่วงเวลาที่น่าเบื่อหน่ายนี้บางทีก็มีเรื่องให้ตื่นเต้น เมื่อมีตำรวจถือไฟฉายแวะเวียนมาละแวกบ้านในยามวิกาล เพราะมีเหตุโจรกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง หรือพบเหตุการณ์ปล้นกันระหว่างทางหากออกไปซื้อของหลังตะวันตกดิน

ประเทศแอฟริกาใต้เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่นำมาตรการการปิดประเทศโดยแบ่งเป็น 5 ระดับมาบังคับใช้ และตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม รัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองสู่ระดับ 4 แต่ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนักต่อจัสติน สายการบินระหว่างประเทศยังคงปิดบริการ ธุรกิจเกือบทุกอย่างยังคงหยุดนิ่ง ชีวิตแต่ละวันยังผ่านไปอย่างเดียวดาย เขาต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างมากเพื่อรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แข็งแรง

ผ่านพ้นมาอีกหนึ่งเดือนกับชีวิตประจำวันของจัสตินที่ยังคงหมดไปกับการตื่นนอน ซักผ้า ซื้อของ ทำอาหาร หมักไวน์ ดูหนัง ฟังเสียงนกร้อง และชื่นชมต้นไม้ใบหญ้าหลังกำแพงสูงในที่พักของเขาอย่างลำพัง จนถึงตอนนี้ เวลาก็ล่วงเลยมาเกินกว่าร้อยวันแล้วที่จัสตินติดอยู่ที่นี่ ความหวังของเขาฝากไว้กับการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองสู่ระดับ 3 ในวันที่ 1 มิถุนายน

“ผมหวังแค่ว่าพอคลายมาตรการแล้วจะบินกลับบ้านได้”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

เซาเปาโล, บราซิล

เสียงเพลงดังสนั่นจากภายนอก บ่งบอกให้รู้ถึงการรวมกลุ่มกันเพื่อความบันเทิง ในสังคมละตินอเมริกาที่ความสนุกสนานและกิจกรรมรื่นเริงเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม การเปิดเพลงให้ดังและมารวมตัวกันสรวลเสเฮฮาก็เป็นเรื่องปกติแต่นี่มันยิ่งกว่าตอนปกติอีก

หากเป็นสถานการณ์ปกติในเมืองเซาเปาโล (São Paulo) เขาคงเดินออกไปร่วมวงกับผู้คนข้างนอกนั้นแล้ว แต่นี่คือระหว่างการปิดเมืองในประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สูงเป็นอันดับสองของโลก

หลังการเดินทางตะลอนทัวร์เอเชียมาครึ่งปี มาร์โก้เดินทางต่อมายังบราซิล ซึ่งเขาตั้งใจจะใช้เวลาราว 3 เดือน เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตในดินแดนแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และธรรมชาติ แต่ผ่านไปเพียงเดือนเดียว เขาก็ได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ไม่เหมือนที่เคยเจอมาจริงๆ

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19
เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

มาร์โก้โชคดีที่เดินทางออกจากเอเชียก่อนการแพร่ระบาดของโรคเข้าขั้นวิกฤต และเที่ยวบินระหว่างประเทศถูกยกเลิก แม้ตรวจพบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการแล้ว แต่บราซิลในปลายเดือนกุมภาพันธ์ยังคงปลอดภัยและดูเหมือนจะห่างไกลจากการแพร่ระบาด ในวันแรกของงานเทศกาลใหญ่ประจำปี สิ่งต่างๆ ที่นี่ทำให้ชายชาวอเมริกันเชื้อสายโคลอมเบียเช่นเขารู้สึกคุ้นเคยและตกหลุมรักประเทศนี้โดยไม่ยาก แต่หลังจากนั้นไม่นานจำนวนผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้นแบบเท่าทวี โดยเฉพาะในเมืองเซาเปาโลที่เขามาอาศัยอยู่กับครอบครัวของเพื่อน นอกจากเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในประเทศแล้ว ตอนนี้ยังรั้งตำแหน่งศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคไปด้วย จนประกาศปิดเมืองตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2020

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19
เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

ในครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มีปัญหาทางเดินหายใจ ผู้อาศัยและคนต่างถิ่นอย่างเขาจึงควรจำกัดการสัมผัสสภาพแวดล้อมภายนอกให้น้อยที่สุด ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา เขาได้แต่เฝ้าสังเกตสถานการณ์จากภายในบ้าน ที่ซึ่งเขาได้ยินเสียงดนตรีจากภายนอกดังขึ้นบ่อยและถี่กว่าเมื่อครั้งก่อนการปิดเมือง

“พอคนไม่ต้องไปทำงานก็ว่าง ก็มาตั้งวงปาร์ตี้ พวกเขารัก Caipirinha กันมากเลย”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

ชาวบราซิลชอบเข้าสังคมอยู่แล้ว แม้เป็นช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด หลายคนก็ไม่อาจฝืนธรรมชาติและความต้องการของตัวเอง เสียงเพลงบรรเลงตามท้องถนนบ่งบอกถึงความล้มเหลวของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ผู้คนไม่ถึงครึ่งที่ยอมทำตาม แม้ว่าร้านอาหาร ผับ บาร์ ไม่เปิดให้บริการ แต่ชาวบ้านหลายคนยังคงจับกลุ่มกันสังสรรค์ตามข้างทาง ร่วมวงกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังมีจำหน่ายตามปกติ  โดยเฉพาะ Caipirinha ค็อกเทลประจำชาติที่เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่าง Cachaça (บรั่นดีจากอ้อย) น้ำมะนาว และน้ำตาล ขาดเพียงกัญชาที่ถึงแม้เป็นของต้องห้ามผิดกฎหมาย แต่ก็ยังคงหาได้ง่ายในภาวะปกติ แต่เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศถูกระงับ การลักลอบนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างปารากวัยจึงลดลงไปด้วย

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

“จะว่าไป ก็เหมือนพวกเขารับเลี้ยงฉันน่ะ”

มาร์โก้และเพื่อนชาวบราซิลรู้จักกันมานานแล้ว เดิมทีเขาก็ตั้งใจมาพักกับครอบครัวนี้แค่ชั่วคราว ก่อนตระเวนไปตามทางของตัวเองตามส่วนต่างๆ ของประเทศ แต่เมื่อการเดินทางถูกจำกัด ก็อาจเป็นความโชคดีในความโชคร้ายของเขาที่มีที่อาศัย พร้อมสหายคนสนิทอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกัน

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

“ฉันกินข้าวกับถั่วทุกวันเลย”

แม้ในสภาวะโรคระบาด แต่ประเทศที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอย่างบราซิลก็ไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร อาหารหลักอย่าง Arroz e feijão หรือข้าวกับซุปถั่วก็ไม่ได้มีราคาสูง ร้านขายของและซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงเปิดให้บริการ ถึงจะต้องรัดเข็มขัดบ้าง แต่ตราบใดที่ยังมีเงินก็ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีกินที่นี่

“แต่ปัญหาคือคนเขาไม่มีเงินกันน่ะ”

เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ ประชาชนจำนวนมากคือแรงงานนอกระบบที่ต้องกังวลเรื่องปากท้องมากกว่าโรคระบาด เมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ คือไม่มีงาน ไม่มีเงิน และไม่มีกิน แม้รัฐให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบเป็นเงิน 600 เรอัล (3,200 บาท) แต่ก็ไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง เป็นอีกเหตุหนึ่งที่คนไม่ทำตามมาตรการรัฐ และรัฐก็ไม่ได้จัดการอะไรกับคนที่ฝ่าฝืนเหล่านั้น ยังดีที่การสวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นข้อบังคับ รัฐจับกุมผู้ไม่ปฏิบัติตามได้ รถสาธารณะก็ไม่อนุญาตให้เข้าใช้บริการหากไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งแม้จะไม่ได้หายาก แต่ราคาก็แพงขึ้นกว่าปกติถึง 3 เท่า 

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

“รัฐบาลระดับรัฐต้องการทำทุกอย่างเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค แต่รัฐบาลระดับชาติต้องการทำยังไงก็ได้ไม่ให้เศรษฐกิจต้องสะดุด มันก็เลยขัดๆ กัน”

มาร์โก้ลงความเห็น ส่วนหนึ่งที่ประชาชนทำตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้ เพราะที่พักอาศัยของพวกเขาคือชุมชนแออัด 

“เวลาส่วนใหญ่ของฉันหมดไปกับการเรียน นี่ฉันเรียนหนักมากเลยนะ”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

อินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตภายใต้ภาวะที่ถูกจำกัด แต่ความเสถียรของสัญญาณก็แย่เต็มทีเพราะปริมาณการใช้งานที่มากขึ้น บางทีสัญญาณก็ขาดหายไปเป็นวันๆ กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อคนที่ทำงานผ่านจอจากบ้าน รวมถึงคนที่เรียนหลักสูตรออนไลน์อย่างมาร์โก้ แน่นอนว่ามันอยู่นอกเหนือแผนการเดินทางของเขา ซึ่งตอนนี้ควรกำลังนั่งตกปลาปิรันย่าอยู่ในป่าอะเมซอน แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่เขาทำได้ และควรจะต้องทำในภาวะเช่นนี้ 

เขาวางแผนจะเข้ามหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายน แต่ในประเทศบ้านเกิดที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงมากที่สุดในโลก ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมย่อมหนักหนาเช่นกัน เมื่อความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สิ่งที่ทำได้คือแค่ต้องพยายามพัฒนาตนเองให้มากกว่าคนอื่น

ผู้คนในทวีปยุโรปกำลังเฝ้ารอฤดูร้อนที่จะมาถึงในเร็ววัน แม้ว่ายังไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างอุณหภูมิและการกระจายของเชื้อไวรัส แต่ประเทศทางซีกโลกใต้อย่างบราซิลกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว อุณภูมิภายในอาคารที่ไม่มีระบบทำความร้อนลดต่ำลงเหลือเพียง 15 องศาเซลเซียส ทำให้มาร์โก้ต้องเพิ่มความอดทนมากขึ้นกับประสบการณ์การกักตัวในต่างแดน

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

ว่าวตัวใหญ่ลอยไปไกลตามสายลม ต้นทางอยู่ที่ดาดฟ้าอาคารพักอาศัยที่มาร์โก้และครอบครัวของเพื่อนอาศัยอยู่ หากอิสรภาพที่โหยหายังไม่อาจถูกเติมเต็มทางกายภาพ อย่างน้อยการได้ปล่อยว่าวให้ล่องลอยออกจากที่พักคับแคบระหว่างกักตัว ก็เป็นความบันเทิงที่ช่วยเติมเต็มความต้องการทางใจเพียงไม่กี่อย่างที่ทำได้

มาร์โก้วางแผนจะบินไปหาครอบครัวที่โคลอมเบีย ในวันแรกที่มีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศตอนต้นเดือนมิถุนายน แต่ในระหว่างช่วงเวลาที่หลายประเทศต่างระแวงคนจากต่างแดน ลูกหลานชาวโคลอมเบียที่ถือหนังสือเดินทางของสหรัฐอเมริกาเช่นเขา ถือว่าเป็นชาวต่างชาติตามกฎหมายและเข้าประเทศของครอบครัวไม่ได้ ทำให้แผนการในอนาคตของเขาต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ทั้งในบราซิล ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับสองของโลก และสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก 

“และตอนนี้ฉันก็ต้องอยู่ที่นี่อย่างน้อยถึงเดือนกรกฎาคม”

เกาะลันตา, ประเทศไทย

หากเป็นหน้าร้อนของปีอื่น ที่มีนักท่องเที่ยวมากหน้าหลายตาเข้ามาเยี่ยมหนึ่งในเกาะชื่อดังที่สุดในทะเลอันดามัน ก็คงไม่มีใครสนใจจดจำชาวต่างชาติชายหญิงสองคนที่ขี่สกู๊ตเตอร์ไปมาจนเริ่มเป็นที่คุ้นตาของชาวบ้าน

“ตอนนี้เกาะลันตาก็เหมือนเป็นบ้านอีกหลังของพวกเรา บ้านที่ไกลจากบ้านจริงๆ”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

ประเทศไทยเป็นจุดหมายที่ 5 ในทริปการเดินทางรอบโลกของทอมและแอนนา กรุงเทพมหานครที่พวกเขาสัมผัสช่างต่างจากคำร่ำลือ การจราจรไม่ติดขัด สถานที่ท่องเที่ยวก็มีคนไม่หนาแน่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่แทบไม่มีให้เห็น หลังจากใช้เวลาราวครึ่งเดือนในเมืองหลวง พวกเขาก็บินลงใต้เพื่อไปสัมผัสกับทะเลสีฟ้าและท้องฟ้าสีคราม พร้อมๆ กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

แม้สภาพอากาศปลายเดือนมีนาคมจะคู่ควรแก่การออกไปดำน้ำดูปลาการ์ตูน แต่ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้การท่องเที่ยวบนเกาะน้อยใหญ่ทั้งหลายต่างถูกระงับ เช่นเดียวกับการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อรู้แน่ชัดแล้วว่าการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเวลาเช่นนี้คงเป็นไปไม่ได้ ทั้งสองคนจึงจำเป็นต้องลงหลักปักฐานสักแห่งเพื่อรอเวลา

“แต่พวกเราก็คงรอต่อไปอีกสักพักใหญ่ๆ ถึงยังไง หากจะกลับไปนิวยอร์กช่วงนี้อาจไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก”

ในวันที่ศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโรคเปลี่ยนทิศจากอู่ฮั่น (Wuhan) สู่มิลาน (Milan) และนิวยอร์ก (New York) อาจเป็นความโชคดีของทั้งสองคนที่ไม่ต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่สีแดงเช่นบ้านที่พวกเขาจากมา แม้ว่าแผนการเดินทางรอบโลกจะต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่การได้ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติบนเกาะเขตร้อนก็ถือว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อ

ทอมและแอนนาตั้งใจเดินทางมายังเกาะลันตาอยู่แล้ว เพราะกิตติศัพท์ด้านความสวยงามและความเงียบสงบ พวกเขาเดินทางเข้ามาก่อนมาตรการปิดเกาะตัดขาดการสัญจรระหว่างอำเภอได้ไม่นาน จากแผนเดิมที่ตั้งใจจะอยู่ที่นี่เพียงชั่วคราว จึงกลับกลายเป็นการพำนักระยะยาว

“แต่พวกเราก็มีช่วงเวลาที่ดีที่นี่นะ” คู่รักยืนยัน 

“และที่สำคัญคือเรามีกันและกัน”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

ที่พักของทอมและแอนนาอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเกาะซึ่งเป็นย่านที่ค่อนข้างเจริญ มีผู้อาศัยทั้งถาวรและสัญจรผสมปนเปกันระหว่างคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ  แต่ในเวลาเช่นนี้ ชาวต่างชาติที่พบเจอคือกลุ่มคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับพวกเขา เป็นเรื่องง่ายที่มิตรภาพที่ดีจะเกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ทุกคนต่างโหยหากำลังใจ เมื่อต้องมาติดอยู่แดนไกล

บนเกาะใหญ่ห่างไกลจากบ้านเกิดของพวกเขาที่อีกซีกโลกคือสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นตา แม้สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่มาก แต่หากว่ากันที่การปกครองระดับย่อย กว่า 500 ปีแล้วที่กลุ่มชาวเลอูรักลาโว้ยอพยพเข้ามาเป็นชนกลุ่มแรก ตามมาด้วยชาวมุสลิมกับชาวจีนเมื่อราว 200 ปีก่อน และชาวไทยพุทธเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้ามาตั้งรกรากบนเกาะแห่งนี้เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว พื้นเพที่แตกต่างไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แม้กาลผันผ่านไป แต่วัฒนธรรมที่หลากหลายได้หล่อหลอมให้เกิดเสน่ห์เฉพาะตัว เป็นความสวยงามของชุมชนท้องถิ่นที่พวกเขาไม่เคยสัมผัสมาก่อนจากที่แห่งไหน

เมื่อปราศจากเสียงเซ็งแซ่ของเหล่าผู้มาเยือน ก็เงี่ยหูฟังเสียงของธรรมชาติได้ชัดขึ้น ไม่เพียงแต่สายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่ลงเรือลำเดียวกัน แต่ความเงียบงันย้ำเตือนว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน ผืนน้ำ สายลม แสงแดด เสียงนกร้องบ่งบอกการมีอยู่ของเพื่อนร่วมโลกที่เรามองข้าม เสียงคลื่นซัดกัดเซาะหินผาบ่งบอกว่ามนุษย์เราช่างบอบบางและเล็กจ้อยเมื่อเทียบกับโลกใหญ่ใบโต ราวกับความเงียบงันนั้นคือสัญญาณที่ธรรมชาติปรารถนาให้เราเงี่ยหูฟังเสียงจากธรรมชาติ และสายสัมพันธ์ที่เราหลงลืม

หาดทรายสีขาวทอดยาวร้างผู้คน คือภาพที่ไม่อาจหาชมได้ง่ายหลังการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวที่นำพาเม็ดเงินมหาศาลมาสู่เกาะลันตา พร้อมกับการพัฒนาของอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนท้องถิ่น การมาถึงของทอมและแอนนาในวันนี้อาจเป็นเรื่องดีที่พวกเขาได้เห็นความงดงามของสถานที่แห่งนี้ในแบบที่มันเป็นจริงๆ

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19
เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

“เกาะนี้น่าอยู่จริงๆ แอนนาวาดรูปไว้เยอะมาก และตอนนี้ก็กำลังเรียนรู้ที่จะเป็นทนายความ ส่วนผมก็มีเวลาได้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน”

แม้เข็มนาฬิกายังคงหมุนที่จังหวะเดิม แต่เมื่อความเร่งรีบกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น ชีวิตบนเกาะลันตาจึงผ่านไปอย่างเนิบช้า ช้าจนทั้งสองคนมีเวลาพิจารณาถึงชีวิต ทำความเข้าใจในตัวเอง มองหาความสนใจและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกับชื่นชมในความงดงามและคุณค่าของการมีชีวิต

“คุณป้าเจ้าของเกสเฮาส์จะเตรียมของบริจาคและทำอาหารไปแจกชาวบ้านที่เดือดร้อน พวกเราก็ไปช่วยเขาด้วย”

ในความเป็นจริงแล้ว ช่วงเวลานี้ของทุกปีคือฤดูท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติคลาคล่ำ แต่สภาวการณ์ของโรคระบาดที่หยุดยั้งการท่องเที่ยวทั่วโลก หมายถึงการหายไปของแหล่งรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนบนเกาะ ผู้คนมากมายที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบ คนกลุ่มเล็กๆ ที่ยังพอมีกำลังทรัพย์ลุกขึ้นมาทำบางอย่างเพื่อต่อลมหายใจให้กับชุมชนของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือเจ้าของที่พักที่ทอมและแอนนากำลังอาศัยอยู่ ทำให้ทั้งสองคนได้มีโอกาสเข้าไปทำงานอาสาสมัครและเรียนรู้วัฒนธรรมไทยผ่านการช่วยเตรียมอาหาร ได้รู้จักสถานที่แปลกใหม่ในซอกหลืบของชุมชนผ่านการนำข้าวของบริจาคไปส่ง และได้มิตรภาพกลับมาจากการแบ่งปันแรงกายและแรงใจโดยไม่หวังผลตอบแทน

“พวกเราไปช่วยทำอาหารที่วัดด้วยนะ อาหารร้อนๆ ร้อยเก้าสิบชุดเพื่อคนในชุมชน”

ทอมและแอนนามีความสุขที่ได้ทำอะไรตอบแทนเกาะแห่งนี้และผู้คนรอบตัวที่สร้างช่วงเวลาที่ดีแก่พวกเขา ในวันที่โลกภายนอกว้าวุ่นไปด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

“ฉันเคยอ่านเจอว่าส่วนใหญ่แล้วคนท้องถิ่นจะไม่ค่อยเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเท่าไร แต่ที่นี่มันไม่ใช่เลย พวกเขาดีกับพวกเรามากๆ”

“เป็นเรื่องน่าสนุกที่ได้ทดลองทำอาหารที่เราไม่เคยทำกัน แต่ก่อนอื่นเราต้องทำตัวให้ชินกับวัตถุดิบที่นี่ก่อน ตอนนี้พวกเราลองทำส้มตำไก่ย่างแบบไทย ผัดผักบุ้งไฟแดง ก๋วยเตี๋ยวแกงกะหรี่แบบสิงคโปร์ ราเมน แล้วก็พุดดิ้งมะม่วง”

ในช่วงแรกของการติดเกาะ ที่พักของทอมและแอนนาไม่มีห้องครัว ทำให้พวกเขาต้องฝากท้องกับร้านอาหาร แต่หลังจากย้ายเข้ามาที่พักใหม่ตามคำแนะนำของสหายนักเดินทางที่ติดเกาะเช่นกัน พวกเขาก็ได้ใช้เวลาหาประสบการณ์ใหม่ๆ กับตำรับอาหารที่ไม่คุ้นเคย และการสืบเสาะหาแหล่งวัตถุดิบจากร้านค้าท้องถิ่นบนเกาะลันตา หากรู้ว่าชาวบ้านไปซื้อของจากที่ไหน พวกเขาก็จะตามไปซื้อจากที่นั่น

“พวกเราขี่สกู๊ตเตอร์ไปทุกที่ ชีวิตเลยไม่ได้ลำบากอะไร ยกเว้นแต่ตอนที่มีคำสั่งห้ามฝรั่งขี่สกู๊ตเตอร์ แต่พวกเราก็พอเข้าใจเหตุผล”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

มีอยู่ช่วงหนึ่งราว 2 – 3 สัปดาห์ของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค บนเกาะมีกฎห้ามชาวต่างชาติขี่รถจักรยานยนต์ แต่ไม่ได้บังคับใช้กับคนท้องถิ่น ทำให้ช่วงนั้นพวกเขาต้องไปไหนมาไหนด้วยการเดินเท้า จะว่าไปก็เป็นช่วงที่ลำบากที่สุดแล้วในชีวิตการติดเกาะลันตาของทั้งสองคน แต่หลังจากนั้นเมื่อมาตรการผ่อนคลาย สกู๊ตเตอร์ก็กลับมาเป็นเท้าพาพวกเขาสำรวจดินแดนแห่งนี้ต่อไป

“ฉันอัปเดตข่าวสารมาตรการต่างๆ จากคุณป้าเจ้าของเกสเฮาส์น่ะ เธอทั้งส่งข่าวทั้งแปลให้”

หากสำหรับคนไทยว่ายากแล้วที่จะหาแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด สำหรับชาวต่างชาติก็คงเป็นเรื่องยากลำบากกว่าหลายเท่า แม้ข่าวสารบนกลุ่มเฟซบุ๊กจะมีอัปเดตอยู่ตลอด แต่เพราะการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลที่ทั้งถี่ ทั้งมาจากหลายแหล่ง บางทีก็เป็นเรื่องยากที่จะเลือกปฏิบัติตาม

“มีสองสามครั้งที่เราเห็นปรากฏการณ์ทะเลเรืองแสงจากแพลงก์ตอน พระอาทิตย์ตกที่เส้นขอบฟ้าก็สวยงามในทุกวัน ทั้งป่าเขาทั้งธรรมชาติ เราควรขอบคุณด้วยซ้ำที่ได้มาติดอยู่ที่นี่”

เรื่องเล่าจากชาวอเมริกันที่ติดค้างใน 3 มุมโลก แอฟริกาใต้ บราซิล และเมืองไทย, covid-19

สำหรับทอมและแอนนาแล้ว ชีวิตบนเกาะลันตาเป็นดั่งบรรณาการมากกว่าพันธนาการ ณ ที่แห่งนี้ เขาทั้งสองได้สัมผัสประสบการณ์ที่หาได้ยากยิ่งทั้งจากตนเอง คนข้างกาย และสิ่งรอบตัว แม้ว่าในตอนนี้พวกเขายังไม่อาจวางแผนอนาคตอันใกล้ได้ แต่ทั้งสถานการณ์รอบโลกที่ยังไม่น่าไว้วางใจ และวีซ่าของพวกเขาที่ได้รับการขยายระยะเวลาไปจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม พวกเขาจึงขอดื่มด่ำกับชีวิตเนิบช้าและเงียบสงบบนดินแดนในอีกซีกโลกนี้ต่อไปอีกสักระยะ

“พวกเราก็จะกลับมายังบ้านหลังนี้อีกแน่นอน”

Writer

Avatar

นิธิตา เฉิน

นักเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรและภาพถ่าย มีความสุขกับการคุยกับคนแปลกหน้าในที่แปลกถิ่น หลงใหลทุกสิ่งที่ exotic จนเปิดเพจอยากเล่า ชื่อ Exotique Geek