ครั้นนกเหล็กโผลงจากฟากฟ้า หมู่เมฆซึ่งดูหนาตาจึงถูกกลบกลืนด้วยผืนน้ำสีฟ้าครามของทะเลอันดามัน เกาะภูเก็ตอวดความเขียวขจีของแมกไม้อันอุดมสมบูรณ์ให้เห็นจากบานหน้าต่าง ชวนใจเต้นทุกคราวที่เครื่องบินร่อนลงจอดบนรันเวย์ของท่าอากาศยานนานาชาติ ณ ตำบลไม้ขาว
จะไม่ให้ตื่นเต้นอย่างไรไหว ในเมื่อจุดหมายของทริปนี้คือเมืองท่องเที่ยวชื่อดังที่สุดของไทย แม้นข้อมูลทางภูมิศาสตร์จะระบุว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่น้อยเกือบที่สุดในประเทศ แต่จำนวนสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวของที่นี่ดันสวนทางกับขนาด มิเช่นนั้นจะมีเหตุผลอันใดที่สนามบินประจำจังหวัดเล็ก ๆ แห่งนี้จะต้องสร้างให้ใหญ่เพื่อรองรับไฟลต์บินทั้งไทยและเทศ
คนกรุงอย่างผมได้มาเที่ยวจังหวัดเจ้าของสมญา ‘ไข่มุกอันดามัน’ หลายต่อหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ยังรู้สึกเหมือนได้เที่ยวชมของดีประจำเมืองนี้ได้ไม่ครบทุกแนวสักที เพราะทริปไหนที่เจาะจงมาเที่ยวทะเลก็มักไม่ได้ไปเมืองเก่า ส่วนทริปไหนที่ตั้งใจชมเมืองเก่า เท้าก็แทบไม่ได้สัมผัสทราย ยังไม่ต้องพูดถึงวิถีชาวบ้านชาวเลที่อยู่ไกลออกไปในชนบทนอกแหล่งท่องเที่ยวซึ่งยากต่อการหาโอกาสไปเยี่ยมเยือน

จนกระทั่งวันนี้ที่ผมได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคนหนึ่งใน ‘Amazing Organic Trip ภูเก็ต’ ทริปพิเศษที่พาผมมาทำความรู้จักภูเก็ตในมุมใหม่ ด้วยการเยือนและยลของดีประจำชุมชนตัวอย่าง ทดลองกินแบบพวกเขา ทำตามวิถีชุมชนของพวกเขา ละเลียดเล็มความสุขเล็ก ๆ ในแบบชาวบ้านร้านถิ่น พร้อมเสริมสร้างความใส่ใจต่อธรรมชาติให้เติบโตในจิตใต้สำนึกของตัวเอง
เพราะความสุขกายสบายใจที่ผมได้รับจากทริป Amazing Organic 2 วัน 1 คืนนี้ มีมากเกินจะเก็บไว้อ่านเองคนเดียว จึงอยากใช้โอกาสนี้กางสมุดจดบันทึกส่วนตัวมาเล่าสู่กันฟัง เริ่มกันเลยนะครับ
ชุมชนบางโรง อำเภอถลาง
ลงจากเครื่องบินรอบนี้ แทนที่จะได้บึ่งรถจากสนามบินเข้าตัวอำเภอเมืองเหมือนทุกครั้ง รถตู้กลับนำผมและผู้ร่วมทริปทั้งหมดไปยังบ้านบางโรง ชุมชนชาวไทยมุสลิมทางตะวันออกของอำเภอถลาง คนท้องถิ่นหลายคนรู้จักในฐานะจุดขึ้นเรือที่จะออกไปยังเกาะยาวใหญ่-ยาวน้อยอันลือชื่อ

แต่ทริปนี้ไม่ได้จะพาเราออกทะเลไปถึงเกาะยาวที่ต้องใช้เวลานานนับชั่วโมง เพราะลำพังชุมชนบางโรงก็มีสิ่งน่าสนใจให้ลองสัมผัสมากพอตัว ด้วยในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของ ‘เมืองถลาง’ หรือตัวเมืองเดิมของภูเก็ตก่อนที่จะย้ายลงใต้ไปยังที่ตั้งปัจจุบัน ถึงแม้ในยุคหลังความเจริญจะโบกมือลาบางโรงไปไกลจนกลายเป็นย่านบ้านนอกคอกนา แต่ชาวบ้านในแถบนี้ก็เรียนรู้ที่จะเผยแพร่วิถีชีวิตของตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก จนได้รับรางวัลและคำชื่นชมมากมายในระยะหลัง
บรรดา บัง (พี่ชาย) จ๊ะ (พี่สาว) ตลอดจนเยาวชนชาวบางโรงต้อนรับผมด้วยน้ำชาสับปะรดอุ่น ๆ และของกินพื้นบ้านอย่างขนมห่อและขนมกล้วยที่พวกเขานิยมทานกับกาแฟ ทั้งหมดบรรจุลงในภาชนะที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งสิ้น

ประเสริฐ ฤทธิ์รักษา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบางโรง สาธยายความเป็นมาอันน่าทึ่งของชุมชนบางโรงหลายอย่าง ไล่มาตั้งแต่อดีตยุคไม่กี่สิบปีก่อนที่หมู่บ้านนี้เคยขาดความศิวิไลซ์ถึงขั้นไม่มีโทรศัพท์และไฟฟ้าใช้ การรักษามาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ได้ผลจนไม่มีผู้ติดเชื้อแม้แต่รายเดียว รวมถึงการที่บ้านของพวกเขาได้รับเลือกเป็นชุมชนท่องเที่ยวตัวอย่าง นำมาซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากที่แวะเวียนกันมาเยือน เพราะต้องการรู้จักความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่
กิจกรรมแรกที่ผมได้ทดลองทำคือการลงสีผ้าปาเต๊ะ มรดกทางวัฒนธรรมที่พี่น้องไทยมุสลิมในคาบสมุทรภาคใต้ต่างภูมิใจนำเสนอ ทุกคนได้รับแจกสีอะคริลิกผสมกากเพชรต่างกันออกไป เมื่อนำมาระบายลงในลายเส้นผ้าปาเต๊ะก็จะให้ความแวววาวเพิ่มจากลวดลายที่งดงามอยู่แล้ว หลายคนงัดทักษะทางศิลปะออกมาใช้เต็มที่ สลับสีบนถุงผ้าเสียจนงดงามพราวตาในแบบของตนเอง

แต่กว่าจะให้สีผสมกากเพชรแนบเนื้อผ้าได้สนิทนั้นก็ต้องใช้เวลานานเอาการ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มัคคุเทศก์ประจำชุมชนจึงเสนอให้พวกเราเดินทางไปไร่สับปะรดก่อน ทางชุมชนได้เรียก ‘รถโพถ้อง’ ซึ่งเป็นคำที่ชาวภูเก็ตเรียกรถสองแถว ให้มารับชาวคณะสัญจรไปยังที่ต่าง ๆ ภายในบ้านบางโรง
ชาวบางโรงส่วนใหญ่ทำประมงและเกษตร หนึ่งในรายได้หลักของพวกเขาคือการทำสวนสับปะรด ที่ร่ำลือกันว่าเจ้าเมืองภูเก็ตในอดีตได้รับสับปะรดชั้นดีมาจากเกาะปีนัง ก่อนนำมาเพาะพันธุ์ใหม่เป็นสายพันธุ์เฉพาะของเกาะภูเก็ต
แม้สับปะรดที่นี่จะลูกไม่ใหญ่ แต่ก็เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดภูเก็ต (GI) มีลักษณะเด่นตรงที่กินได้ทุกส่วนไม่เว้นแม้กระทั่งแกน ให้รสชาติหวานฉ่ำชื่นใจ ผมเพิ่งทราบจากไกด์ท้องถิ่นด้วยว่าสับปะรดสายพันธุ์ดังอย่างภูแลที่มีแหล่งปลูกอยู่ในจังหวัดเชียงราย แท้จริงก็มีต้นกำเนิดมาจากสับปะรดภูเก็ตนี่เอง

ท่ามกลางสวนสับปะรดที่ปลูกยาวเป็นทิวแถว ชาวบ้านได้มอบน้ำสับปะรดและเนื้อสับปะรดปอกใหม่ให้พวกเราได้รับประทาน พร้อมกันนั้นก็ได้ยกเครื่องมือตัดให้ผู้มาเยือนได้ทดลองตัดสับปะรดออกจากต้น ซึ่งต้องคอยระมัดระวังให้ดีหากไม่ต้องการให้ถูกหนามแหลมคมของใบสับปะรดบาดมือ

เสร็จจากสวนสับปะรด รถโพถ้องก็นำเราไปยังสวนยางพาราที่อยู่ไม่ไกลจากกัน ไกด์เล่าว่าการทำสวนยางพาราเป็นรายได้หลักของชาวสวนในจังหวัดภูเก็ต กว่ายาง 1 ต้นจะโตจนกรีดเอาน้ำนมยางมาใช้งานได้ ต้องรอให้ต้นยางมีอายุอย่างน้อย 4 ปีเสียก่อน ระหว่างที่รอยางโต หลายคนจึงปลูกสับปะรดรอเวลา เมื่อเก็บสับปะรดแล้วก็จะได้รับรายได้จากยางพาราต่อทันที

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมและผู้ร่วมทริปหลายคนได้ลองสวมบทบาทเป็นชาวสวนยางกับเขาบ้าง มีดที่ใช้เป็นอาวุธรีดน้ำนมยางมีความคมมาก ขูดไปก็หวาดเสียวไปพลาง กว่าจะไล่ลงคมมีดตามแนวเฉียง เลี้ยงน้ำนมยางให้ไหลลงกะลาได้ก็ต้องเกร็งแขนออกแรงจนเมื่อยเลยล่ะ

เล่นเป็นชาวสวนยางกันแล้ว ชาวบ้านยังอยากให้พวกเราลองเป็นชาวสวนมะพร้าวกันอีกด้วย จริงอยู่ที่มะพร้าวในจังหวัดภูเก็ตมีไม่มาก และไม่ได้เป็นพืชชนิดสำคัญเหมือนจังหวัดอื่นในภาคใต้ แต่สวนมะพร้าวน้อยแห่งก็มีอยู่ที่บางโรง ที่นี่แตกต่างจากบางจังหวัดตรงที่ไม่ได้ใช้ลิงกังขึ้นต้นไปเก็บ หากใช้ไม้ไผ่ 2 ท่อนต่อกันให้มีความยาวพอจะสอยลงจากก้าน ซึ่งชาวบ้านก็ไม่รังเกียจจะให้พวกเราลองสอยกันดู
พอมะพร้าวหล่นตุ้บจากต้นแล้ว หากลูกใดยังอ่อน สีออกเหลือง ชาวบ้านจะนำไปทำขนม ส่วนลูกไหนที่สุกได้ที่แล้ว พวกเขาจะนำไปแกงหรือทำน้ำมันมะพร้าว วันนี้เป็นวันแรกที่ผมได้เห็นคนสวนมะพร้าวนำมะพร้าวมาปอกสด ๆ ด้วยเหล็กปอก ไม่พอแค่นั้น พวกเขายังสาธิตวิธีขูดมะพร้าว แล้วนำเศษเนื้อมะพร้าวเหล่านั้นไปทำ ‘ขนมโค’ อร่อย ๆ ให้พวกเราได้ชิมกันถึงที่


หลังพักเที่ยงรับประทานอาหารทะเลที่ครัวชุมชนบ้านบางโรง ไกด์ท้องถิ่นรอให้กุ้งหอยปูปลาในกระเพาะลูกทัวร์ได้ย่อยเสียก่อน ค่อยพาพวกเราขึ้นเรือล่องออกจากฝั่งไปตามคลองบางโรงที่รายล้อมด้วยแนวป่าโกงกางเขียวชอุ่ม บ่ายหน้าไปที่เกาะแพในลำดับต่อมา
ในสายตาผม เกาะแพเป็นเกาะเล็กมาก มีสภาพหน้าตาเหมือนเกาะร้างที่พบได้ในหนังหรือการ์ตูนแนวติดเกาะ แต่มีจุดเด่นอยู่ที่สะพานสันทราย ซึ่งจะผุดพ้นหรือจมใต้น้ำทะเลก็ขึ้นอยู่ที่ภาวะน้ำขึ้น-น้ำลง เนื่องจากเกาะนี้อยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งภูเก็ตนัก ผู้คนจึงนิยมออกเรือมาเยือนอยู่บ่อยครั้ง ชาวบ้านชอบมางมหาหอยแครง ในขณะที่นักท่องเที่ยวชอบขี่เจ็ตสกีมาจอดบนสันทรายแล้วถ่ายรูปกับทะเลแหวก

ที่ใดก็ตามที่มีคนมาใช้พื้นที่ ปัญหาที่มักจะเกิดตามมาก็คือขยะ ประธานกลุ่มท่องเที่ยววอนขอให้ผู้ร่วมทริปเช่นผมได้มีส่วนช่วยเก็บเศษของเหลือทิ้งคนละไม้คนละมือ ในไม่ช้าเศษขยะที่ดูรกตาตามหาดทรายก็อันตรธานหายไปสิ้น ทำให้พวกเรามีเวลาว่างพอจะลงเล่นน้ำทะเล หรือนอนกินลมชมวิวสันทรายที่โผล่ขึ้นจากท้องน้ำ ใต้แสงอาทิตย์ที่อ่อนลงทุกขณะ


เมื่อถึงเวลาขึ้นกลับสู่ฝั่ง ชาวเรือบอกเราว่าอาหารเย็นวันนี้จะได้กินสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง ซึ่งคนที่นี่เรียกพวกมันว่า ‘ตัวโวยวาย’ ให้สมกับที่มันชอบชักดิ้นชักงอเหมือนเด็กจอมโวยวายอยู่เรื่อย
ยังไม่ทันได้ไถ่ถามว่าตัวโวยวายมีหน้าตาเป็นอย่างไร ชาวบ้านที่ออกเรือมาด้วยกันก็โยนกระป๋องผูกเชือกที่ใช้จับตัวโวยวายโดยเฉพาะลงไปในน้ำทะเลที่ไหลเชี่ยว ฉับพลันก็ได้ ‘หมึกสาย’ สีขาวขุ่นติดขึ้นมา มือไม้ของคนต่างถิ่นผู้ไม่สันทัดในการจับสัตว์ชนิดนี้ถึงกับสั่นสะท้านด้วยความตกใจปนขยะแขยงเมื่อหนวดยั้วเยี้ยของมันป่ายปัดไปมา จึงเป็นสาเหตุที่พวกเขาต้องใช้วิธีช้อนมันขึ้นมาในกระป๋อง เหวี่ยงแหจับไม่ได้เหมือนสัตว์น้ำอื่น ๆ

คงเป็นเพราะตากแดดตากลมมาตลอดบ่าย ประสมกับการนั่งเรือมาไกล ท้องของทุกคนจึงร่ำร้องหาอาหารในปริมาณมากกว่ามื้อที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งเมื่อกลับถึงชุมชนบ้านบางโรงครั้งนี้ เราทุกคนไม่ได้พบแค่ถุงผ้าปาเต๊ะที่ผ่านการลงสีโดยมือทุกคนเมื่อเช้านี้ แต่บนโต๊ะตัวเดิมที่เคยนั่งยังละลานตาไปด้วยจาน ชาม ช้อน ส้อม และเชิงเทียนรูปสับปะรดที่ให้บรรยากาศเตรียมพร้อมสำหรับดินเนอร์

มื้อเย็นวันนี้จัดขึ้นในรูปแบบ Chef’s Table โดยได้รับเกียรติจาก เชฟมอนด์-สุวิจักขณ์ กังแฮ เชฟหนุ่มคนดังประจำเมืองภูเก็ต ที่ตั้งใจนำอาหารทั้งของว่าง ของคาว และของหวาน มาปรุงและเสิร์ฟให้ทานกันสด ๆ ร้อน ๆ ถึงที่บ้านบางโรง โดยทุกเมนูมีรสชาติจัดจ้านไม่ผิดหวัง ขอบอกว่า ‘ตัวโวยวาย’ ฝีมือเชฟมอนด์นั้นอร่อยอย่าบอกใครทีเดียวเชียวล่ะครับ

พอท้องเริ่มจะแน่น ความมืดก็โรยตัวคลุมบรรยากาศรอบตัวพอดี ผมส่งท้าย Chef’s Table มื้อนี้ด้วยไอศกรีมจำปาดะที่ให้รสชาติหวานละมุนในแบบผลไม้เมืองใต้ ก่อนเอ่ยคำอำลาเชฟมอนด์และเพื่อนร่วมทางบางคน แล้วขึ้นรถตู้มุ่งหน้าสู่อำเภอเมือง ที่ซึ่งบันทึกการเดินทางหน้าที่ 2 ของผมจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้
ชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต อำเภอเมือง
เช้าตรู่วันที่ 2 ผมมีนัดที่ซอยรมณีย์ ใจกลางย่านท่องเที่ยวสำคัญอันเป็นหน้าเป็นตาของตัวเมืองภูเก็ต และเป็นส่วนหนึ่งของย่านที่ชาวต่างชาติรู้จักในนาม ‘Phuket Old Town’
รอบตัวของผมในตอนนี้คือตึกแถวลูกผสมที่เกิดจากการรวมร่างกันระหว่างสถาปัตยกรรมของตะวันตกและจีน เมื่อก่อนสถาปนิกนอกพื้นที่เคยตั้งชื่อตึกแถวสไตล์นี้ว่า ‘ชิโน-โปรตุกีส’ ตราบจนนักวิชาการรุ่นหลังได้ศึกษาพบว่ารูปแบบทางศิลปะตะวันตกที่ปรากฏบนตึกเหล่านี้มิได้มีเพียงศิลปะโปรตุเกสชาติเดียว แต่มาจากยุโรปหลาย ๆ ชาติรวมกัน ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ให้เปลี่ยนชื่อเรียกตึกเหล่านี้ใหม่เป็น ‘ชิโน-ยูโรเปียน’ หรือ ‘ชิโน-โคโลเนียล’

เมื่อสมาชิกในทริปมากันพร้อมหน้า ก็ได้เวลาเดินชมย่านเมืองเก่าของภูเก็ตให้ทั่ว ทว่าเราทุกคนจะไม่ได้แค่ยกกล้องถ่ายรูปตึกสวยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเรามีตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตมานำทัวร์พลางให้ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับย่านนี้ ชนิดผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมทุกคนต้องอิ่มเอมกับความรู้ที่ได้รับอย่างจุใจ
ที่ตั้งของ Phuket Old Town ในทุกวันนี้ สมัยโบราณเคยถูกเรียกว่า ‘ทุ่งคา’ ด้วยเป็นทุ่งนาและป่าหญ้าคามาก่อน แต่เพราะมีการขุดพบแร่ดีบุกอันล้ำค่า บวกกับการมีคลองบางใหญ่ที่ไหลเชื่อมสะพานหินเข้ากับอำเภอกะทู้ซึ่งเต็มไปด้วยเหมืองแร่ เอื้อให้ขนส่งดีบุกสู่ท่าเรือได้ง่าย พระยาวิชิตสงคราม (ทัต) เจ้าเมืองถลางในตอนนั้นจึงย้ายที่ตั้งของเมืองจากถลางมาอยู่ที่นี่ ตัวเมืองภูเก็ตจึงย้ายจากถลางทางด้านเหนือมาอยู่ทางตอนใต้ของเกาะสืบต่อมาจนปัจจุบัน
มูลค่ามหาศาลของแร่ดีบุกได้โน้มนำผู้คนหลากหลายสัญชาติเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองภูเก็ต ที่โดดเด่นที่สุดคงจะเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งมาใช้แรงงานในเหมืองแร่ หลายคนสมรสข้ามชาติพันธุ์กับคนในท้องถิ่น ลูกหลานที่เกิดมาจะถูกเรียกว่า ‘บ้าบ๋า’ หรือ ‘เปอรานากัน’

ความที่ภูเก็ตเป็นแหล่งรวมชาวจีนฮกเกี้ยนเหมือนกันและอยู่ไม่ไกลจากเกาะปีนัง ส่งผลให้ภูเก็ตมีสัมพันธ์เหนียวแน่นกับปีนัง เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกันมากมาย หนึ่งในนั้นคือการที่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตได้รับเอารูปแบบการสร้างตึกชิโน-ยูโรเปียน ซึ่งนิยมสร้างในปีนัง มาสร้างตามในตัวเมืองภูเก็ต ที่เห็นตึกแถวลักษณะนี้กระจายอยู่ตามแนวถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนระนอง ถนนรัษฎา และถนนกระบี่ ก็เป็นเพราะเหตุนี้
ผู้แทนจากวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าภูเก็ตพากลุ่มของผมเข้าเยี่ยมชมตึกเก่าหลายหลังบนถนนถลาง เริ่มที่ร้าน China Inn Café & Garden Restaurant ของตระกูลตัณฑวณิช เมื่อก่อนเคยเป็นร้านส่งจดหมายและเงินในรูปแบบ ‘โพยก๊วน’ ไปถึงเมืองจีน แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นคาเฟ่และร้านอาหารขึ้นชื่อของเมืองเก่าภูเก็ต ที่ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กษัตริย์แห่งประเทศสวีเดนเคยเสด็จฯ มาทรงทำขนมพื้นเมือง

เมื่อเราย่างเท้าเข้าสู่บริเวณพื้นที่โล่งกลางบ้าน ซึ่งภาษาจีนเรียกว่า ‘ฉิ่มแจ้’ นั้น โสตประสาทของเราทุกคนก็กังวานด้วยเสียงดนตรีจีนใสแจ๋ว บรรเลงโดย แอนนี่ นางฟ้ากู่เจิง สาวภูเก็ตผู้โด่งดังจากการบรรเลงเครื่องดนตรีกู่เจิงแม้ว่าดวงตาของเธอจะมองไม่เห็น ได้ฟังเพลงจีนเพราะ ๆ พร้อมกับกินขนมท้องถิ่นภูเก็ตที่จัดใส่ใบตองในขนาดพอดีคำ ไม่ว่าจะเป็น ขนมเหนียวหีบ ขนมเปียกขี้มัน ขนมโก้ยตาล้าม และขนมโก้ยเบ่งก๊า ล้วนแต่เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่สุขใจอย่างบอกไม่ถูก

ต่อกันที่ หม่อเส้งมิวเซียม อดีตร้านนาฬิกาของตระกูลวุฒิชาญ (แซ่หงอ) ที่ปัจจุบันได้ฟื้นฟูใหม่เป็นโรงแรมบูทีกและพิพิธภัณฑ์อนุรักษ์มรดกเมืองเก่าภูเก็ต จนได้ชื่อว่าเป็นอาคารชิโน-ยูโรเปียนที่งามที่สุดหลังหนึ่งใน Phuket Old Town

บรรยากาศของที่นี่ดูงดงามตระการตาราวกับจะพาผู้เข้าชมได้ย้อนวันวานไปสู่ยุคดีบุกเฟื่องฟู ที่ชาวฮกเกี้ยนหรือบ้าบ๋าภูเก็ตร่ำรวยจากการขุดและการค้าแร่ เจ้าของบ้านอย่าง คุณนวพร วุฒิชาญ รับอาสาพาชมสถานที่ด้วยตัวเอง นอกจากจะได้เพลิดเพลินตาไปกับถ้วยชาม เครื่องแก้ว เครื่องเล่นแผ่นเสียง และของสะสมอีกหลายอย่างแล้ว ที่นี่ยังมีลูกเล่นเล็ก ๆ อย่างการนำเยาวชนในจังหวัดภูเก็ต แต่งกายด้วยชุดย้อนยุคของบ้าบ๋า นำขนมท้องถิ่นใส่ ‘เสี่ยหนา’ หรือตะกร้าปิ่นโตแบบโบราณมาให้ชม เรียกรอยยิ้มจากผู้ร่วมทริปทุกคนตลอดเวลาที่ได้เห็นน้อง ๆ เยื้องกรายออกมาด้วยจริตนายแบบ-นางแบบเต็มที่

ออกจากหม่อเส้งมิวเซียม พวกเรามุ่งหน้าต่อไปที่ Baan92 ซึ่งเปิดโอกาสให้เราได้แบ่งกลุ่มเวิร์กช็อป ทำอาหารท้องถิ่นของภูเก็ตอย่างผัดหมี่ฮกเกี้ยนและขนมอังกู๊ (ขนมเต่าแดง) ซึ่งทั้ง 2 อย่างกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของมื้อกลางวันที่จัดขึ้นในสวนหลังร้านนี้

เมื่อผมได้นั่งประจำที่ของตัวเอง วินาทีนั้นถึงได้ทราบว่าผัดหมี่ที่ตัวเองได้ลองผัดไปเมื่อครู่เป็นเพียงเมนูเรียกน้ำย่อยเท่านั้น เพราะตรงหน้าเราแต่ละคนยังมีปิ่นโตจีนตั้งอยู่คนละเถา เมื่อจัดการหมี่ฮกเกี้ยนเสร็จแล้ว ทุกคนก็ต้องตื่นตากับเมนูอาหารพื้นเมืองภูเก็ตที่ยากจะหาทานได้จากที่อื่น ทุกเมนูผ่านการชั่งตวงมาในปริมาณที่ทุกคนจะกินได้อย่างพอเหมาะ ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะรกโลก โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับมื้อนี้ก็ไม่ลืมที่จะถามความเห็นจากผู้ร่วมทริปถึงความเหมาะสมของอาหารเหล่านี้ด้วย

ยังไม่พอแค่นั้น ก่อนจะลาย่านเมืองเก่าภูเก็ตไป พวกเรายังได้แวะร้าน Torry’s Ice cream ในซอยรมณีย์ที่ตกแต่งร้านได้สวยสง่าจนเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทุกชาติ ด้วยแนวคิดที่จะนำเสนอความเป็นภูเก็ตให้โลกได้รู้ ผสมกับความต้องการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรของโลก ทางร้านจึงได้ผลิตหีบห่อบรรจุภัณฑ์แบบพิเศษที่สร้างขยะน้อยที่สุด นำขนมพื้นเมืองภูเก็ตหรือ ‘ปุ๊นเตโก้ย’ มาผสมผสานกับไอศกรีมแสนอร่อย เล่นเอาผู้ร่วมทริปที่ดื่มกินมาตั้งแต่เช้าอิ่มจนพุงกางไปตาม ๆ กัน

ชุมชนไม้ขาว
ป้ายบอกทางไปสนามบินภูเก็ตปรากฏขึ้นตามรายทาง พานให้ตระหนักได้ว่าช่วงเวลาสุดสนุกนี้ใกล้สิ้นสุดลงเต็มที แต่ก่อนที่รถตู้พาหนะของพวกเราจะตรงดิ่งไปตามป้ายที่มีรูปเครื่องบินกำกับ พี่คนขับอัธยาศัยดีกลับหันหัวรถตรงไปในซอยแคบแห่งหนึ่ง ซึ่งสุดทางเป็นชายหาดกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตา
ที่นี่คือหาดไม้ขาว ชายหาดติดท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตที่ชื่อเสียงพูนทวีขึ้นมาในยุคหลัง จากกระแสความนิยมของผู้มาเที่ยวที่มักเก็บภาพถ่ายของตนเองกับเครื่องบินที่ขึ้นลงในบริเวณนี้ได้เนือง ๆ จึงไม่แปลกอะไรหากว่าพื้นที่โดยรอบชายหาดนี้จะถูกจับจองโดยผู้ประกอบการที่พักรีสอร์ตที่ต้องการอำนวยความสะดวกแก่ผู้คนที่เดินทางมาเก็บภาพเครื่องบินลำยักษ์

แต่สิ่งที่น้อยคนจะรับรู้เกี่ยวกับหาดไม้ขาว คือที่นี่เป็นชายหาดที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในเกาะภูเก็ต มีชุมชนเล็ก ๆ ของคนท้องที่ซึ่งยังเก็บรักษาวิถีชีวิตริมทะเลแบบดั้งเดิมด้วยการทำประมงชายฝั่งและปลูกผักที่ขึ้นได้ตามธรรมชาติอย่าง ‘ผักลิ้นห่าน’ อีกด้วย
พลันที่ผมก้าวลงจากรถ สองเท้าของผมก็เหยียบย่ำไปบนต้นหญ้าที่มีใบใหญ่กว่าหญ้าทั่วไป ไวเกินกว่าที่จะได้ซักถาม คุณป้าชาวบ้านก็ร้องขอให้ผมเดินเลี่ยงไปบนผืนดินที่เป็นทรายเปล่า เพราะที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของผมไม่ใช่หญ้า แต่เป็นผักลิ้นห่านที่ชาวบ้านเพาะปลูกกันต่างหาก!

แม้รูปทรงของมันจะดูเหมือนหญ้าหรือวัชพืชที่ขึ้นระดะระดาได้ทุกหนแห่ง แต่ถึงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าพืชชนิดนี้ชาวชุมชนไม้ขาวนำมาปลูกขายเป็นรายได้หลัก เพราะพวกมันมีราคาสูงถึง 200 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม จะปลูกขายก็ได้ราคา จะปลูกไว้ใช้เองก็คุ้มค่า เพราะนำมาใช้ทำอาหารทั้งคาวทั้งหวานได้ จะตัดแบ่งเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดไก่ก็ได้เหมือนกัน
คุณป้าเจ้าของแปลงผักลิ้นห่านบอกกับผมว่าผักพวกนี้ขึ้นเองตามหาดได้ แต่ถ้าจะปลูกเองต้องปลูกในที่ร่ม ไม่ร้อนจัด ใช้เวลาเพียงแค่เดือนเดียวก็เติบโตจนตัดขายได้แล้ว ในระหว่างเพาะพันธุ์ก็ดูแลได้ง่ายดาย ใช้วิธีรดน้ำเอาอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยพรวนดิน ผักลิ้นห่านก็งอกเงยขึ้นเองได้ และยังช่วยรักษาหน้าดินได้อีกต่างหาก
เมื่อรู้ประโยชน์อันอเนกอนันต์ของผักชนิดนี้แล้ว ผมกับเพื่อนร่วมทางอีกหลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะลองเก็บผักลิ้นห่านดูบ้าง วิธีเก็บก็ง่ายนิดเดียว เพียงแค่เด็ดเบา ๆ ก็ได้ต้นออกมาเก็บใส่กระบุง

พวกเราเก็บผักอยู่ได้สักพัก เมื่อผายหน้าไปยังชายหาดที่อยู่เพียงไม่กี่ก้าวข้างหน้า ก็เห็นคุณลุงคนหนึ่งกำลังเดินท่อม ๆ คล้ายจะมองหาอะไรบางอย่างที่ลอยมากับเกลียวคลื่น มีคนบอกว่าแกกำลังเฟ้นหา ‘จักจั่นทะเล’ ซึ่งเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง มีเปลือกแข็งละม้ายปูหรือกุ้ง แต่ตัวเล็กนิดเดียว เอามาทำอาหารกินได้ ผมเพิ่งนึกออกเดี๋ยวนั้นว่าบนโต๊ะอาหารของเชฟมอนด์เมื่อวานมีสัตว์ชนิดนี้อยู่ พอเคี้ยวกินแล้วกรุบ ๆ กรอบ ๆ ดี ไม่ยักรู้มาก่อนว่าคนภูเก็ตเขามีวิธีจับอย่างนี้เอง

คุณลุงบอกว่าจักจั่นทะเลไม่ได้มีทั่วไปในหาดอื่น ต้องเป็นหาดที่สะอาด สภาพแวดล้อมดี จึงจะมีเจ้าพวกนี้โผล่มาให้จับ นี่เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดว่าหาดไม้ขาวแห่งนี้มีระบบนิเวศที่ดีเพียงใด นอกจากจะเต็มไปด้วยตัวจักจั่นทะเลแล้ว แม่เต่าทะเลยังชอบมาวางไข่ ส่วนทรายละเอียดนุ่มนิ่มที่ฝ่าเท้าเปล่าเปลือยของผมก้าวเดินอยู่นี้ก็เป็นหาดทราย 1 ใน 2 แห่งทั่วประเทศไทยที่ทำสปาทรายได้
ผมรับเครื่องมือจับจักจั่นทะเลที่คุณลุงออกชื่อมันว่า ‘หยอง’ จุ่มลงในน้ำทะเลเพื่อล่อเหยื่อให้ติดกับ บางครั้งนอกจากเสียงคลื่นซัดกระทบหาดทรายก็มีเสียงเครื่องยนต์บนอากาศดังแข่ง พร้อมด้วยเครื่องบินหลากหลายสายการบินที่บินขึ้นบินลงจากรันเวย์ไม่ไกล
อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ผมก็จะเป็นผู้โดยสารคนหนึ่งในเครื่องบินน้อยใหญ่ที่มุ่งออกจากเกาะภูเก็ต…และแล้วห้วงเวลา 2 วัน 1 คืนบนสวรรค์กลางทะเลอันดามันของผมก็ดำเนินมาถึงบทสรุป

หลังจบทริป ผมทำเหมือนทุกครั้งคือนั่งเงียบ ๆ ไล่เลียงความรู้สึกที่ตัวเองได้รับตั้งแต่ต้นจนจบ มันเป็น 2 วันที่ยาวนานในความคิดของผม เป็นไม่ถึง 48 ชั่วโมงที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและประสบการณ์แปลกใหม่ซึ่งไม่เคยได้รับจากการมาภูเก็ตครั้งก่อน ๆ เหนืออื่นใด คือทริปนี้ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผมได้เห็นภูเก็ตในแบบที่คนท้องถิ่นเห็น ทำในสิ่งที่ชาวบ้านทำ เรียนรู้วิธีการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติและชุมชนเจ้าของพื้นที่ให้ได้รับความสุขกันทั้งฝ่ายเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน
หากใครเบื่อหน่ายกับการท่องเที่ยวภูเก็ตแบบนักท่องเที่ยวทั่วไป ลองเปิดใจเที่ยวแบบออร์แกนิกดูบ้าง บางทีคุณอาจได้รับความสุขรูปแบบใหม่ ๆ อย่างที่ไม่เคยได้รับจากทริปไหน ๆ เลยก็ได้นะครับ

หากสนใจออกไปตามหาภูเก็ตในมุมใหม่ เรียนรู้วิถีการท่องเที่ยวที่ใกล้ชิดธรรมชาติและชุมชนแบบในทริป ‘Amazing Organic Trip เที่ยววิถีออร์แกนิก ของดีไม่ต้องพ’ยาม’ ซึ่ง ททท. ร่วมกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) SiamRise Travel, golfdigg และ V&A Travellers ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Amazing Green Thailand