เส้นทางเดินเท้าที่ผมกำลังเดินเข้าไปในป่า แคบแบบต้องเดินเรียงแถวยาวต่อกันกับเพื่อนร่วมทางเกือบ 20 คน เลาะริมลำธารไปตามทางดินเรื่อย ๆ จนเส้นทางที่เหมือนสร้างด้วยรอยเท้าสัญจรของคนเดินป่าค่อย ๆ หายไป เริ่มกลายเป็นเดินบนหญ้า หิน และลุยลงไปในแอ่งน้ำ

ดูเหมือนว่าเราจะเข้ามาในป่าธรรมชาติจริง ๆ แล้ว 

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

เส้นทางที่ผมกับผู้ร่วมทางกำลังเดิน คือเส้นทางในทริป ‘Amazing Organic’ ที่พามาอยู่กับธรรมชาติ 1 วัน เดินป่าในระยะสั้น ๆ ศึกษาธรรมชาติด้วยการเดิน สัมผัสทุกอย่างจากทุกโสตประสาท และพอเดาได้ว่าจะเจออะไรข้างหน้า

ผมเพิ่งทราบว่าเส้นทางที่เรากำลังเดินอยู่นี้ เป็นเส้นทางที่ทีมนำทางเพิ่งเปลี่ยนใหม่วันนี้เอง เพราะเมื่อคืนก่อนฝนตกหนัก เส้นทางที่วางไว้เป็นทริปสำรวจป่าแบบสั้น ๆ เละเทะเกินจะเดิน เลยเปลี่ยนเส้นทางใหม่ที่ไม่มีโคลนเละ ๆ แต่ก็มีจุดที่ต้องเดินลุยน้ำกันบ้าง เป็นการผจญภัยเล็ก ๆ สำหรับลูกทริปทุกคน

เชียงใหม่ที่ฝนไม่ตกมาหลายวัน กลับมีฝนตกลงมาเมื่อวาน แต่วันที่เดินป่ากลับมีแดดจ้า ทำให้ป่ากลับมาดูเป็นมิตรกับทริปเราอีกครั้ง แต่การเปลี่ยนเส้นทางทริปดูไม่ใช่ปัญหาของชาวบ้านเลย เหมือนว่าธรรมชาติว่าอย่างไรก็ว่าไปตามนั้น  

ผมเดินตามหลัง ลุงเหรียญทอง ปราชญ์ชาวบ้านแห่งแม่ทาที่รับบทหัวขบวน สืบเท้าตามก้าวต่อก้าวให้ระยะไม่ใกล้มาก แต่ก็ไม่ไกลจนไม่ได้ยินเสียงเล่าเรื่องตลอดทาง

เรื่องที่ว่ามีตั้งแต่ป่าแห่งนี้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้านหมู่บ้านแม่ทา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ตกลงกันว่าจะรักษาเอาไว้ มีกฎที่ตกลงกันเองว่าถ้าใครตัดต้นไม้จะต้องถูกลงโทษตามที่ตกลงกันไว้ ไปจนถึงเรื่องพืชพรรณแต่ละชนิดที่เราพบขณะเดินผ่าน

ผมนึกไปถึงหมู่บ้านแม่ทาที่ผ่านมาตอนกำลังยืนโขยกเขยกอยู่บนกระบะหลังรถโฟร์วีล ก่อนจะถูกมาหย่อนไว้ที่อ่างเก็บน้ำปากทางเข้าป่า ตัวหมู่บ้านแม่ทาไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ ตามต่างอำเภอของเชียงใหม่เท่าไหร่นัก มีบ้านไม้ปลูกติด ๆ กันหลายหลัง มีวัดอยู่กลางหมู่บ้าน มีทุ่งนา ไร่ สวนของชาวบ้าน แต่ที่นี่มีต้นไม้เยอะ และสัดส่วนของสีเขียวค่อนข้างหนาตา แต่ก็ไม่รู้ว่าต้นอะไรบ้างตามประสาคนที่สัมผัสธรรมชาติน้อยมากอย่างผม 

เช่นกัน ทางที่กำลังเดินลึกขึ้นเรื่อย ๆ ในป่ามีแต่สีเขียวของต้นไม้ ซึ่งผมแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว
เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

“นี่ผักเผ็ดช้าง ส่วนนี่ชื่อหัวกำเป้า อันนี้ดีกระรอก” เสียงปราชญ์หัวขบวนบอกเรา พร้อมหยุดเดิน พลางเด็ดใบจากต้นนั้นต้นนี้อย่างชำนาญ 

เราล้อมวงดูใบไม้ บางต้นขยี้ด้วยนิ้วมือเอามาดมได้กลิ่นหอมเย็น บางต้นเด็ดชิมได้ และฟังว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้าง คำตอบส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องเอาไปทำอาหารและยาสมุนไพรบ้าง ถ้าคนไม่รู้ก็คงมองว่ามันเป็นวัชพืชหรือหญ้าทั่วไป

ลุงเหรียญทองเดินต่อและหยุดเป็นพัก ๆ เมื่อเจอต้นไม้หรือสมุนไพรที่ชาวบ้านใช้กัน ต้องยอมรับว่าผมแยกไม่ออกและจำเรื่องที่เล่าได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็เห็นภูมิปัญญาในการใช้สิ่งที่ธรรมชาติให้มาตลอดทาง

เดินลุยลำธารอีกไม่นานก็เจอลานกว้างตามธรรมชาติ มีกองไฟที่มีไม้ไผ่ตัดเป็นกระบอกลำใหญ่ตั้งอยู่ เราเริ่มได้กลิ่นข้าวเหนียวที่หุงใหม่ ๆ ฟุ้งออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ ส่วนอีก 1 กระบอกข้าง ๆ กันเป็นน้ำที่กำลังเดือดปุด 

มีชาวบ้านส่วนหนึ่งล่วงหน้าเข้ามาก่อนแล้ว เพื่อจะทำอาหารมื้อสาย ๆ กิน โดยมีพวกเราเป็นผู้สังเกตการณ์ นั่งเกาะขอบครัวชั่วคราวกลางธรรมชาติ กระบอกไม้ไผ่ที่น้ำเพิ่งเดือดจุแน่นไปด้วยปลาจากแหล่งธรรมชาติใกล้หมู่บ้าน ใส่พริกตำพอหยาบ ๆ ลงไป ตามด้วยเกลือเพื่อปรุงรสเล็กน้อย ตามแบบพรานป่าคนหนึ่งที่ผมเคยรู้จัก เขาบอกมาว่าเวลาเข้าป่าจะพกแค่มีดกับเกลือไว้ติดตัวเท่านั้น นอกนั้นหาเอาตามธรรมชาติ และความรู้จากพรานคนเดียวกันก็สอนว่า จักจั่นที่ร้องระงมอยู่รอบ ๆ เรา บอกได้เหมือนกันว่าฝนอาจตกอีกครั้งในวันนี้ แต่ดูแดดแล้วเหมือนไม่มีวี่แววสักเท่าไหร่

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว
เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

ไม่มีใครแบกช้อนแบกจานเข้ามาในป่าด้วย จานชามตามธรรมชาติคือใบตองและกระบอกไม้ไผ่ผ่าตามแนวยาวให้พอใส่น้ำแกงได้ ข้าวเหนียวถูกเทลงบนใบตอง มีควันระอุ พอโดนกับใบตองยิ่งดูเหมือนส่งกลิ่นหอมขึ้นอีก ต้มยำปลาถูกเทลงในไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ต้มยำปรุงง่าย ๆ น้ำขลุกขลิก เนื้อปลาดูนุ่มเด้ง เราตักแบ่งปลากับข้าวเหนียวใส่ใบตองสำหรับถือง่าย ๆ 

มันเป็นต้มยำปลาที่อร่อยด้วยรสของปลาและการปรุงนิดหน่อย แต่มันอร่อยขึ้นอีกนิดเพราะวิธีกินและบรรยากาศกลางป่า กลิ่นและเสียงของป่ากลายเป็นเครื่องปรุงไปด้วยในตัว

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

เราเดินออกจากป่ากันทางเดิม ทั้งที่เป็นทางเดียวกัน แต่ขากลับมักรู้สึกว่าเร็วกว่าเดิม และป่าก็ดูเปลี่ยนไปในอีกทาง

รถกลับมาส่งเราในหมู่บ้านแม่ทา ระหว่างทางผ่านไร่มันหวานและไร่ข้าวโพดปลูกแบบไร้สารพิษที่ชาวบ้านแม่ทาปลูก ซึ่งเราได้ลองขุดและเด็ดกันด้วยมือเมื่อเช้า 

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

แม่ทาเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงเรื่องแหล่งวัตถุดิบอาหารชั้นดี เชฟหลายคนเลือกนำไปใช้ในร้านอาหาร ตั้งแต่ร้านอาหารครอบครัวไปจนถึงร้าน Fine Dining ที่นี่มีทั้งข้าว ข้าวโพด มัน ผักหลายชนิด รวมถึงนมวัวที่คนทั้งหมู่บ้านตั้งใจปลูก ตั้งใจเลี้ยงแบบปลอดภัย จนได้ชื่อว่า ‘ชุมชนแม่ทาออร์แกนิก’  

หลาย ๆ ครั้ง เชฟทั้งไทยและต่างชาติก็มา Foraging หรือเก็บพืชผักในป่าแม่ทาไปใช้ ผมก็เคยมาเดินเก็บผักป่ากับเหล่าเชฟที่นี่เหมือนกัน ครั้งนั้นป่าชุ่มไปด้วยฝน และพืชพรรณก็ต่างไปจากที่เดินในครั้งนี้มากทีเดียว 

รอบนี้ชาวทริปก็ได้ Foraging เช่นกัน แต่เป็นการเดินเก็บผักพื้นบ้านริมรั้วในหมู่บ้าน ซึ่งไม่ต้องตีตรารับรองใด ๆ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นผักออร์แกนิก

ผักริมรั้วมีชื่อและหน้าตาที่น่าทำความรู้จักไม่แพ้ในป่า และหลายชนิดมีเฉพาะช่วงที่ทริปเรามาเท่านั้น เป็นช่วงที่พืชบางชนิดเริ่มออกดอกหรือเริ่มแตกยอด เราปีนเก็บยอดผักเฮือด เอาไม้สอยดอกต้าง เพื่อเก็บไปให้เชฟทำอาหารที่โรงนาของหมู่บ้าน

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว
เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

มื้อกลางวันมีอาหารที่ทำโดยฝีมือ เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ เจ้าของร้าน Blackitch Artisan Kitchen ที่เชียงใหม่ เชฟแบล็กเป็นหนึ่งในผู้ใช้วัตถุดิบของแม่ทาทำอาหารที่ร้านสไตล์ Chef’s Table แต่ครั้งนี้เขาออกแบบมื้ออาหารกลางวันเป็นสำรับใหญ่ ใช้วัตถุดิบจากแม่ทาเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น สลัดผักออร์แกนิกจากหมู่บ้านแม่ทา คลุกกับน้ำพริกโอ๊ะโละ เป็นน้ำพริกที่ทำจากปลาที่ได้จากแหล่งน้ำ คลุกกินแทนน้ำสลัด ในสำรับมีข้าวโพดอ่อนและมันหวานที่นำมาคลุกข้าวดอยแล้วทอดเป็นเฟรนช์ฟรายส์ จิ้มกับน้ำจิ้มบ๊วยและครีมเปรี้ยวสูตรพิเศษจากเชฟแบล็ก มียำผักเฮือด ได้จากยอดเฮือดที่เพิ่งแตกยอดในช่วงนี้พอดี และอีกหลายจานที่ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นนี้

อาหารในสำรับเหล่านี้ เชฟคิดเพื่อให้คนในหมู่บ้านนำมาทำต่อเองได้ด้วย เผื่อว่าในทริปหลังจากนี้และต่อ ๆ ไป คนที่มาร่วมทริปจะได้ชิมอาหารอร่อย ๆ ของแม่ทาได้ทุกเมื่อ

เข้าป่าหาผักมาทำ Chef’s Table เด็ดวัชพืชมาทำเกี๊ยว และอีกหลายกิจกรรมน่าทำ ในทริปที่ออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ
เข้าป่าหาผักมาทำ Chef’s Table เด็ดวัชพืชมาทำเกี๊ยว และอีกหลายกิจกรรมน่าทำ ในทริปที่ออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ

อย่างที่เล่าแต่แรก ทริปนี้ชื่อ Amazing Organic ไม่ว่าจะกินหรือหยิบจับอะไรเข้าปาก ก็รู้สึกอุ่นใจว่าปลอดภัยและอร่อยแน่นอน แล้วดูเหมือนว่าทริปที่ให้เราอยู่กับธรรมชาตินี้จะเป็นทัวร์กินกลาย ๆ เสียด้วย

พวกเราขอบคุณและร่ำลาคนในหมู่บ้านแม่ทา แล้วเดินทางต่อไปยัง Studio Horjhama (อ่านว่า ห่อจย่ามา) ร้านขายของชำ ร้านอาหาร สตูดิโอสอนเรื่องการกินเพื่อเปลี่ยนโลก ในบ้านดินที่อำเภอแม่ริมของ แอน-ศศิธร คำฤทธิ์ 

พี่แอนต้อนรับเราด้วยน้ำสดชื่น ๆ จากการหมักผลไม้ท้องถิ่นหลายชนิด เธอยกโหลหมักขึ้นมาจากใต้เคาน์เตอร์ได้เรื่อย ๆ ราวกับมีตุนไว้อีกเพียบอย่างไม่ซ้ำแบบกัน มีผลไม้ชื่อแปลก ๆ อย่างมะแฟน หรือส่วนผสมสุดเซอร์ไพรส์อย่างกล้วยหมักกับใบมะกรูด จะจดออเดอร์กันแต่ละที ก็ต้องทวนชื่อเมนูให้แน่ใจทุกครั้ง

เข้าป่าหาผักมาทำ Chef’s Table เด็ดวัชพืชมาทำเกี๊ยว และอีกหลายกิจกรรมน่าทำ ในทริปที่ออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ
เข้าป่าหาผักมาทำ Chef’s Table เด็ดวัชพืชมาทำเกี๊ยว และอีกหลายกิจกรรมน่าทำ ในทริปที่ออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ

ในความคิดของผม พี่แอนเป็นเหมือนนักขับเคลื่อนเรื่องอาหารเรื่องการกินดี เป็นนักคิดค้นอาหารจากวัตถุดิบปลอดภัย และวัตถุดิบที่ดูไร้ประโยชน์ในสายตาคนทั่วไป

อย่างเช่นเกี๊ยวจากวัชพืชแสนอร่อย ที่เปลี่ยนมุมมองของผมที่มีต่อวัชพืชไปมาก พี่แอนมักพูดว่า “วัชพืชไม่มีในโลก มีแต่พืชที่เราแค่ไม่รู้จักประโยชน์ของมัน” เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น พี่แอนเลยเตรียมครัวให้พวกเราห่อเกี๊ยวต้มกินกัน โดยใช้ไส้เป็น ‘ปืนนกไส้’ พืชที่มักขึ้นอยู่ตามริมทาง พูดชื่อแล้วอาจมีหลายคนเกาหัวสงสัย แต่ถ้าเห็นรูปแล้วร้องอ๋อกันแน่นอน 

เข้าป่าที่แม่ทา เชียงใหม่ กินข้าวริมธาร หลามข้าวและปลา แล้วเด็ดวัชพืชริมนามาทำเกี๊ยว

สตูดิโอห่อจย่ามาของพี่แอนมีครัวเล็ก ๆ อยู่ในบ้านดิน มีทุ่งนาและดอยเป็นวิวด้านหลัง จู่ ๆ จากที่มีแดด รู้ตัวอีกทีเสียงจักจั่นก็เงียบไป ฝนก็เริ่มเทลงมา เหมือนต้อนชาวทริปมาให้รวมตัวกันอยู่ในครัวเล็ก ๆ

ไส้เกี๊ยวทำจากก้านและใบของปืนนกไส้ เอาไปลวกแล้วผสมกับหมูบด ปรุงเล็กน้อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใช้แป้งเกี๊ยวห่อเป็นจับจีบ 3 จีบ แต่พี่แอนบอกว่า ใครจะทำรูปทรงไหนก็ได้ เพราะเวลาต้มก็สุกพร้อมกันหมด

แต่ละคนสาละวนกับการห่อเกี๊ยว เป็นทรงบ้าง ไม่เป็นบ้าง แค่ระวังไม่ให้ไส้แตกตอนนำไปต้มก็พอ 

เข้าป่าหาผักมาทำ Chef’s Table เด็ดวัชพืชมาทำเกี๊ยว และอีกหลายกิจกรรมน่าทำ ในทริปที่ออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ
เข้าป่าหาผักมาทำ Chef’s Table เด็ดวัชพืชมาทำเกี๊ยว และอีกหลายกิจกรรมน่าทำ ในทริปที่ออกแบบอย่างเข้าใจธรรมชาติ

ก่อนจะหมดวัน เรานั่งคุยกันแบบมีจานเกี๊ยวในมือ คุยถึงเรื่องที่ได้เจอตั้งแต่เช้า ได้ชิมอาหารที่ดี อร่อย ได้เจอคนที่ตั้งใจรักษาวัตถุดิบและอาหารให้ปลอดภัย ที่สำคัญ เหมือนว่าชาวทริปทุกคนรวมถึงผมนั้นได้ปล่อยตัวเองให้ธรรมชาติพาไปให้มากที่สุด และยินดีกับสิ่งที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ (ถึงแม้จะรู้สึกเซอร์ไพรส์บ้างก็ตาม) 

ทริปที่เกิดขึ้นในวันนี้อาจเกิดแค่ครั้งเดียว ไม่ได้หมายถึงว่าทริป Amazing Organic จะไม่มีรอบต่อไป แต่หมายถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้าก็คงเป็นการเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ต่างออกไปจากครั้งนี้ 

ถ้ามีโอกาส อยากชวนให้ไปลองอยู่กับธรรมชาติสัก 1 วัน แบบไม่ต้องเร่งรีบ เปิดใจกับสิ่งที่กำลังจะเจอและให้ธรรมชาติพาไปกันนะครับ 

ภาพ : Amazing Organic Trip

หากสนใจออกไปตามหาวัตถุดิบชั้นเลิศจากทริปตามใจธรรมชาติ และได้กินของอร่อยแบบออร์แกนิกอย่างในทริป ‘Amazing Organic Trip เที่ยววิถีออร์แกนิก ของดีไม่ต้องพ’ยาม’ ซึ่ง ททท. ร่วมกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) SiamRise Travel, golfdigg, FindFolk และ P Smile Travel ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Amazing Green Thailand

Writer & Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2