เราเพิ่งรู้จักเธอ อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ (Amanda Phingbodhipakkiya) หรือ @alonglastname ครั้งแรกที่งานเปิดตัว Bangkok Art Biennale 2022 เมื่อเดือนกันยายน ในฐานะหนึ่งในศิลปินผู้แสดงงานปีนี้ ผ่านมาไม่นาน ตอนนี้ด้านหน้าของหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ก็มีงานศิลปะสวย ๆ ที่มีคำว่า ‘สันติสุข’ ปรากฎด้านหน้าของอาคารแล้ว นั่นคือผลงานของเธอ

เธอเป็นศิลปินรุ่นใหม่ เชื้อสายไทย-อินโดนีเซีย ที่เติบโตในนอร์ครอส เมืองเล็ก ๆ ในรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และย้ายมาอยู่บรูกลิน นิวยอร์ก ในปัจจุบัน

ผลงานของอแมนด้าเป็นผลงานศิลปะที่สื่อถึงประเด็นสำคัญต่าง ๆ ทางสังคม โดยเธอต้องการให้งานศิลปะของเธอกระตุ้นให้เกิดการถกเถียง และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หนึ่งในประเด็นหลักที่เธอให้ความสนใจ คือความรู้สึกในการมีตัวตน หรือ Sense of Belonging ของคนกลุ่มน้อยหรือผู้คนที่ไม่มีกระบอกเสียง รวมถึงการเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิง เยาวชน ผู้มีความหลากหลายทางเพศ Asian Americans และกลุ่มคนชายขอบมากมาย

อแมนด้ามีชื่อเสียงในระดับอินเตอร์ ผลงานอันมีเอกลักษณ์และเต็มไปด้วยดอกไม้ของเธอปรากฎอยู่ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายพื้นที่ในโลก ทั้งงานเพนต์กำแพง ประติมากรรม หรือสื่อสิ่งพิมพ์อย่างปก TIME

การพูดคุยคราวนี้ พิเศษตรงที่อแมนด้าเพิ่งมีผลงานเพนต์กำแพงหน้าสถานทูตอเมริกา ริมถนนวิทยุ ชื่อว่า ‘We Are Tomorrow’ คอลัมน์ Studio Visit จะพาทุกคนบุกเยี่ยมสตูดิโอของอแมนด้าที่นิวยอร์คผ่านคำบอกเล่าของเธอ พาไปส่องแนวคิดเบื้องหลังผลงานล่าสุดที่เพิ่งสีเพิ่งแห้งหมาด ๆ

‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ

ผู้หญิงเอเชีย คนที่นามสกุลยาว ๆ

“สวัสดีค่า”

อแมนด้าเดินเข้ามาหาเรา เอ่ยทักทายด้วยสำเนียงภาษาไทยที่ชัดเจน และยกมือไหว้อย่างเป็นธรรมชาติ พ่อของเธอเป็นคนไทยและแม่ของเธอเป็นคนอินโดนีเซีย ทำให้เธอเติบโตมากับครอบครัวที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก อแมนด้าฟังภาษาไทยออก แต่พูดไทยไม่คล่อง (ฉะนั้นประโยคต่าง ๆ ในบทความนี้จึงเป็นการให้เสียงภาษาไทยโดยผู้เขียน)

“การจากครอบครัวเพื่อย้ายมาอยู่ต่างประเทศเป็นสิ่งท้าทายมาก ๆ เราทุกคนพยายามจะมีชีวิตที่ดีที่สุด” เธอกล่าวถึงการเติบโตขึ้นในฐานะคนเอเชียในอเมริกา

คุณรู้สึกแตกต่าง แปลกแยกจากเด็กคนอื่น ๆ ไหม – เราถาม

“เราว่าทุกคนคงรู้สึกแตกต่าง แปลกแยกหมดแหละ แต่สำหรับเรา ในที่ที่เราโตขึ้นมา เราไม่ได้แค่ ‘รู้สึก’ แตกต่าง แต่เราแตกต่างจริง ๆ มันเป็นความจริงอันเรียบง่ายว่าเราไม่เหมือนคนอื่น” อแมนด้าเปิดใจอย่างเป็นกันเองถึงชีวิตวัยเด็กในเมืองเล็ก ๆ ทางใต้ของอเมริกา “ประสบการณ์ของเรามันต่างจากคนที่โตมาในเมืองใหญ่ ในพื้นที่ที่มีคนเอเชียเยอะ ๆ เข้าเรียนโรงเรียนที่มีคนเอเชียเยอะ ๆ มากเลย”

‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ

เมื่อเห็นว่าชื่อนักวาดของอแมนด้าคือ ‘alonglastname’ หรือ ‘นามสกุลยาว’ ก็ทำให้เรานึกขึ้นมาได้ว่า ความเป็นเอเชียนหลาย ๆ อย่างของเธอคงแปลก โดดเด่นออกมาจากหมู่คนขาว แม้กระทั่งนามสกุล ‘พึ่งโพธิปักขิยะ’ ซึ่งสำหรับคนไทยก็ไม่ได้ยาวเป็นพิเศษ ยังเป็นที่สังเกตจนนำมาตั้งชื่อได้

“เราเลือกไม่ได้ว่าคนจะมองเรายังไง เราปรากฎตัวในร่างกายแบบนี้ หน้าตาแบบนี้ เคลื่อนไหวอยู่ในโลกด้วยร่างนี้ แต่เราเลือกได้ว่าเราจะโต้ตอบยังไง และส่งเสียงออกมาได้

“ยิ่งเป็นผู้หญิงยิ่งยาก” เธอเอ่ย “ในอเมริกามีการเหยียด Asian-American Women อย่างจริงจังมาก แค่คุณรูปร่างหน้าตาแบบนี้ คนก็จะดูถูกคุณทันที และจะยิ่งหนักกว่านั้นเมื่อคุณตัดสินใจจะส่งเสียง เพราะมันไม่เหมือนกับที่เขาคาดหวัง

“เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอจะไปรู้อะไรได้” เป็นถ้อยคำตัดสินที่อแมนด้า สตรีเพศ-เอเชียน-อายุน้อย-ไม่สงบปากสงบคำ ต้องทนฟังอยู่เสมอ

‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ

เธอเติบโตมากับวัฒนธรรมหลากหลาย ทั้งไทย อินโด จีน อเมริกัน และภูมิใจกับความสวยงามในอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยวัฒนธรรมต่าง ๆ ผสมปนเปกันนั้นก็ส่งผลกับทั้งวิธีการมองโลก รวมถึงงานศิลปะที่เธอทำเป็นอย่างมาก ซึ่งนั่นก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสนใจในตัวเธอตั้งแต่แรก

“การใช้ชีวิตก้ำกึ่งระหว่างวัฒนธรรม มันให้มุมมองที่คนอื่นไม่มีนะ เราอยากรู้สึกว่าเราเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนโดยรอบ กับพื้นที่ เราดิ้นรนกับการตามหาพื้นที่ของตัวเองมาก”

หากจะไปอยู่ชุมชนคนไทย คนไทยก็คิดว่าเธอเป็นแค่ลูกครึ่ง ยังไม่ไทยพอ จะไปอยู่ชุมชนคนอินโด คนอินโดก็คิดว่าเธอเป็นแค่ลูกครึ่งเหมือนกัน มิหนำซ้ำ พอจะไปอยู่ชุมชนคนจีน คนจีนก็คิดว่าเธอเป็นคนไทย-อินโด แม้ว่าบรรพบุรุษเธอจะเป็นคนจีนก็ตาม

“สิ่งที่หนักหนาที่สุดคือการมองหา Sense of Belonging เนี่ยแหละ พ่อแม่เราก็เป็นพวกไม่แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษ เราก็เลยไม่มี Sense of Rootedness, Sense of Grounding หรือรู้สึกถึงรากของตัวเองอะไรเลย เราต้องค่อย ๆ ไปรู้จักประวัติศาสตร์หรือมรดกที่ส่งต่อมาด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องพวกนั้นมันสำคัญกับวิธีที่เราจะมองโลก หรือการที่เราจะก้าวไปข้างหน้าได้

“งานของเราก็เลยโฟกัสกับเรื่อง Belonging เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับ Well-being หรือความเป็นอยู่ที่ดี”

‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ

ไม่ได้วนรอบตัวเองอย่างเดียว งานของอแมนด้าเผื่อแผ่ไปยังคนอื่น ๆ ในสังคมที่ไม่เคยรู้สึกถึง Sense of Belonging ด้วย เธอทำงานกับเยาวชนและชุมชนชายขอบมากมาย ให้ความสำคัญกับเรื่องราว ประสบการณ์ของทุกคน และ ‘เฉลิมฉลอง’ ให้กับสิ่งเหล่านั้นด้วยความภูมิใจ

แม้เราจะไม่ได้เป็นคนต่างเชื้อชาติในพื้นที่ที่เราเติบโตมา ไม่ได้เผชิญหน้ากับสายตาที่ตัดสินจากคนในสังคมอย่างที่อแมนด้าเจอ แต่ก็เป็นอีกคนที่ดิ้นรนกับการหาพื้นที่ที่จะเป็นตัวเองได้อย่างเต็มปอดมาตลอดเช่นกัน เราจึงเข้าใจดีว่างานศิลปะของอแมนด้าจะมีความหมายกับผู้คนที่ได้มาเห็นมากแค่ไหน

“การเป็นศิลปินหญิงเอเชียน-อเมริกันมันไม่ง่ายก็จริง แต่เราภูมิใจนะที่เราเป็นแบบนี้ มันทำให้เรามีอภิสิทธิในการเป็นนักเล่าเรื่อง เป็นกวี สำหรับเรานั่นเป็นเกียรติอย่างสูง”

บางครั้งความลำบากในชีวิตก็ทำให้เราได้พลังพิเศษมาอย่างไม่น่าเชื่อ

ศิลปินและนักเคลื่อนไหวในร่างเดียว

พ่อของอแมนด้าเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย ส่วนแม่เป็น Stay-at-home Mom ที่อยู่บ้านเป็นหลักและช่วยงานพ่อบ้าง ตั้งแต่เด็ก แม่ตั้งกฎขึ้นมาว่าหากเธออยากให้ของขวัญแม่ เธอจะต้องทำขึ้นมาเอง ถ้าซื้อมาแม่จะไม่รับ อแมนด้าคิดว่ากระบวนการในการทำของขวัญให้แม่ตอนเด็ก ๆ นั้น ทำให้เธอได้เรียนรู้การแสดงออกถึงความรักผ่านงานศิลปะ อย่างที่เธอทำให้ชุมชนทุกวันนี้

“เราวาดรูปมาตลอด อยากเป็นศิลปินมาตลอดชีวิตเลย” เธอบอกกับเรา

“แต่เราจบ Neuroscience เรียนเกี่ยวกับสมองมานะ” นึกว่าเธอจะเรียนศิลปะซะอีก “การเติบโตมาแบบ Asian Americans หมายความว่าพ่อแม่คุณมาจากที่อื่น เขาโดนดูถูกดูแคลนจนต้องพยายามเพื่อเอาชีวิตรอด ฉะนั้นสิ่งที่เขาต้องการจากลูก ๆ ก็คือ เขาอยากมั่นใจว่าลูกจะปลอดภัยและประสบความสำเร็จ เขาก็เลยจะไม่สนับสนุนให้ลูกทำอะไรแหวก ๆ หรือคาดเดาไม่ได้อย่างการเป็นศิลปิน เขาอยากได้อะไรที่มันชัวร์ ๆ อย่างการเป็นหมอ ซึ่งรายได้ดี แถมไม่มีใครไม่เคารพ หรือไม่ก็เป็นนักธุรกิจ เป็น CEO ที่ทำเงินได้เยอะ ๆ”

แต่จนแล้วจนรอด อแมนด้าก็เป็นศิลปินอยู่ดี

“เราไปบอกเขาว่า ที่นี่คือที่ที่หนูจะสร้างอิมแพ็กได้มากที่สุด ที่นี่คือที่ที่หนูควรจะอยู่” แม้พ่อแม่จะไม่ชอบใจและไม่อยากสนับสนุนนัก แต่เธอก็ยืนหยัดทำในสิ่งที่เธอมีแพสชันล้นอก

“เราสื่อสารทั้งประเด็นเฟมินิสต์ วิทยาศาสตร์ เรื่อง Belonging เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเรื่องราวของผู้คนที่ดิ้นรนจะมีชีวิตรอด เพราะเราคิดว่าประสบการณ์ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน”

‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ

องค์ประกอบหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในงานของอแมนด้าบ่อย ๆ จนกลายเป็นภาพจำคือดอกไม้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เห็นหน้าคนล้อมด้วยดอกไม้นานาพันธุ์ ผู้คนที่ติดตามก็จะจำได้ว่านี่คืองานของ alonglastname เธอใช้ดอกไม้เป็นสัญญะของหลาย ๆ อย่าง เช่น ดอกบัวที่เคยอยู่ในตม แต่สุดท้ายก็ผุดขึ้นมาเหนือน้ำได้ หมายความว่า แม้ว่าเราจะผ่านอะไรมามาก เราก็เติบโตและแบ่งบานได้ ส่วนดอกอื่น ๆ ก็มีความหมายแตกต่างกันออกไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เธออินทั้งนั้น

“ความเป็นตัวตนของเรามันหยั่งลึกอยู่ในงานศิลปะที่ทำออกมามากเลย” เธอเผย ดูเป็นจริงเช่นนั้นมาก ๆ 

“หลัง ๆ มานี่เราชอบคิดถึงเรื่องการสืบทอด เราทุกคนต่างเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา ทั้งผ่านเลือด ทั้งผ่านเรื่องราว ประวัติศาสตร์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผสมกันระหว่างสิ่งสวยงามอย่างเรื่องประเพณี หรือการที่เราหัวเราะเหมือน ๆ กัน กับเรื่องที่เจ็บปวดทรมาน ซึ่งบางทีเราก็ต้องปล่อยมันไปให้ได้

“ยกตัวอย่างเช่น การที่คุณค่าในตัวเองของเราผูกติดอยู่กับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เอเชียนมาก ๆ แต่ความจริงแล้ว เราคือมนุษย์ เราคู่ควรกับความรัก และสิ่งสำคัญไม่ใช่ความสำเร็จ”

แล้วคุณใส่เรื่องวิทยาศาสตร์ลงไปในงานศิลปะยังไงบ้าง?

“Neuroscience ส่งผลกับการทำงานศิลปะของเรา” บัณฑิตวิทยาศาสตร์ตอบทันที “วิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานของทุกอย่าง เรานั่งอยู่ตรงนี้ มองหน้ากันและกัน หายใจเอาอากาศเข้าไป นี่ก็วิทยาศาสตร์ ความรู้สึกเชื่อมโยงที่ระหว่างเราสองคน นั่นก็วิทยาศาสตร์ แม้กระทั่งการแสดงออกถึงความรัก หรือ Belonging นั่นก็วิทยาศาสตร์”

อแมนด้าบอกว่าความเหงาส่งผลต่อร่างกายได้ หากเราเหงาทุกวัน ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่ความเหงานั้นจะไม่เข้ามาควบคุมร่างกายและจิตใจของเรา

“เราคิดว่านั่นคือส่วนที่ชัดเจนที่สุดที่วิทยาศาสตร์ส่งผลกับงานศิลปะของเรา เราพยายามที่จะสร้าง Sense of Belonging มาตลอด ไม่ใช่แค่ผ่านงานศิลปะบนกำแพง แต่ผ่านงานประติมากรรม ผ่านประสบการณ์ หรือพิธีกรรมด้วย” เธอให้นิยามงานตัวเองว่าเป็นงาน Multidimensional เธอมีเป้าหมายแน่ชัด และต้องการสร้างสรรค์สื่อหรือวิธีการที่จะเล่าเรื่องให้ดีที่สุดในแต่ละครั้ง

“More dimensional, deeper experience” ศิลปินกล่าว

พูดจบเธอก็เปิดคลิปงาน GATHER ซึ่งเป็นการแสดงประติมากรรมทั่วแคมปัสสถาบันศิลปะที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์กอย่าง Lincoln Center ให้เราดู นั่นเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดของเธอในปีนี้ก่อนที่เธอจะมาเมืองไทย 

ในงานนั้นเธอได้แสดงออกถึงรากความเป็นคนไทยอย่างเต็มที่ กระทั่งมีการจัดงานลอยกระทง (แบบดัดแปลง) ให้นักเรียนที่นั่นได้เข้าร่วม เธอทำกระทงเป็นลักษณะวง ๆ เรียบ ๆ ให้ผู้คนเขียนความทุกข์ที่อยากปลดปล่อยลงบนกระทง แล้วลอยออกไปในบ่อของแคมปัส ทุกคนที่ได้เข้าร่วมก็จะได้เรียนรู้ว่านี่คือประเพณีไทย และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของศิลปินผู้จัดงาน

“มีนักเรียนคนไทยที่เรียนอยู่ที่นั่นเดินมาหาเราแล้วบอกว่า รู้มั้ย ฉันไม่เคยเห็นคนไทยทำอะไรแบบนี้ ไม่เคยเห็นคนไทยมีพื้นที่แสดงออกเยอะขนาดนี้มาก่อน งานของคุณทำให้ฉันรู้สึกว่า งานของฉันก็คงอยู่ที่นี่ได้เหมือนกัน” เธอเล่าให้เราฟังด้วยแววตาประทับใจ นอกจากงานศิลปะของเธอจะสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนคนนั้นได้แล้ว นักเรียนคนนั้นก็สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินอย่างเธอทำงานต่อได้มากมายเช่นกัน

เราถามเธอว่า งานไหนที่เธอรู้สึกภูมิใจ เป็นเกียรติที่ได้ทำที่สุด แต่เธอเลือกไม่ได้ เธอบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เธอหวังก็คือการที่ผู้คนเห็นงานแล้วเข้าใจสารที่เธออยากส่งต่อ และการได้เข้าถึงคนล้านคนนั้นดีกว่าขายงานได้เงินพันล้านดอลล่าร์ 

“เราอยากให้ผู้คนรู้สึกเป็นเจ้าของงาน แล้วใช้มันสื่อสารในสิ่งที่พวกเขาอยากจะพูด” อแมนด้าบอกว่า หลายคนใช้งานของเธอในขบวนประท้วงด้วย

หากไปดูในเว็บไซต์ของเธอ จะเห็นว่าเธอเรียกตัวเองว่า Activist ด้วย ซึ่งบทบาท Activist ของเธอนั้นก็ไม่ได้แยกจากการเป็นศิลปิน เพราะเธอทำงานศิลปะเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสังคมโดยแท้

“ทุกคนจะมีเสียงเรียกบางอย่างให้เป็นนักเคลื่อนไหว สำหรับเรา การได้สัมผัสความเกลียดทำให้อยากเราจะยืนข้าง ๆ Asian Americans ทั้งหลาย และทำให้ทุกคนไม่สามารถเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้”

ศิลปะอนุญาตให้เราจินตนาการถึงอนาคตที่สวยที่สุด อนุญาตให้เราท้าทายโลกในปัญหาที่ยากที่สุดได้ ถ้าไม่มีศิลปะ เราจะหลงทางกันหมด – Artivist กล่าว

‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ
‘อแมนด้า’ Artivist ลูกครึ่งไทยดังระดับโลก ที่ใช้ศิลปะสร้างพื้นที่ในสังคมให้คนชายขอบ

ครั้งนี้ เราได้มาพูดคุยอแมนด้า เนื่องในโอกาสที่เธอเสกภาพ ‘We are Tomorrow’ อันสวยสดขึ้นมาบนกำแพงสถานทูต ล่าสุดเธอได้เสกภาพ ‘We are Tomorrow’ อันสวยสดขึ้นมาบนกำแพงสถานทูตอเมริกาด้วย

“เราได้แรงบันดาลใจมากจากการที่เราได้ไปคุยผู้หญิงชาวไทยและเยาวชน Non-Binary สิ่งที่ทำให้เราประทับใจมากที่สุดในการพูดคุยกับคนเหล่านี้ คือแม้จะมีข้อจำกัดมากมาย แต่พวกเขาก็สามารถที่จะสร้างพื้นที่ของตัวเอง และสร้างความรู้สึก Belong ขึ้นมาได้ เราว่านั่นเป็นเรื่องสวยงามมาก ๆ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ ‘ลุกขึ้นยืน’ แม้แต่ในที่ที่ดูเป็นไปไม่ได้เลย

“We are Tomorrow เป็นการ Manifest สิ่งที่เราหวังเกี่ยวกับผู้หญิงชาวไทยและเหล่าเยาวชน” เธอพูดอย่างแน่วแน่ “ความหวัง ความฝันของเยาวชนสำคัญมากสำหรับสังคม”

คุณคิดยังไงกับเยาวชนไทยทุกวันนี้ – เราถาม ด้วยช่วงปีหลังมานี้เยาวชนไทยลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์

“เยาวชนไทยฉลาดและมีส่วนร่วมดีมาก เราได้แรงบันดาลใจมาจากพวกเขาเยอะเลย คนเรามักเสียความเป็นนักเคลื่อนไหวในตัวเองไปทุกขณะที่อายุมากขึ้น เราก็เลยเชื่อว่าเยาวชนจะเป็นผู้นำสู่การพัฒนา พวกเขาอายุน้อย ไม่กลัว มีแพสชัน สร้างสรรค์ และมีพลัง”

คุยกับ อแมนด้า พึ่งโพธิปักขิยะ ศิลปินเชื้อไทย-อินโด เรื่องการใช้งานศิลปะตามหา Sense of Belonging ให้ผู้อพยพ ผู้หญิง เยาวชน และ LGBTQIA+

“ศิลปะที่เราทำคือการแลกของขวัญ” อแมนด้าพูด “ชุมชนให้เรื่องราวกับเรา แล้วเราก็หวังว่างานศิลปะจะให้อะไรกับเขาเช่นกัน ให้เขาเห็นเรื่องราวของตัวเอง หน้าของตัวเอง ความฝันของตัวเองบนกำแพงในเมือง”

เธอบอกว่าการได้มาเที่ยวเมืองไทยตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้เธอได้ซึมซับบรรยากาศ สีสัน แสงไฟ ความรู้สึก สิ่งเหล่านั้นเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทำงานศิลปะที่ผ่านมามากมายหลายชิ้น การได้กลับมาที่นี่และได้ทำงานศิลปะจึงมีความหมายมาก

“ถ้ามีใครกำลังอ่านบทความนี้อยู่ เราอยากให้ทุกคนรู้ว่าเสียงของทุกคนสำคัญมาก ๆ กับการเปลี่ยนแปลง เราอยากจะผลักดันให้ทุกคนส่งเสียงออกมา”

เรายกมือไหว้กันอีกครั้งที่หน้าภาพ We are Tomorrow เพื่อบอกลา

“สวัสดีค่ะ” อแมนด้าเอ่ยคำเดิม

ภาพ : alonglastname.com, IG : @alonglastname

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล