21 กันยายน 2021
10 K

21 กันยายนของทุกปี เป็นวันอัลไซเมอร์โลก

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั่วโลกมีมากกว่า 55 ล้านคน 

ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทยมีประมาณ 400,000 – 600,000 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 1.1 ล้านคนภายใน พ.ศ. 2573 ยังไม่นับรวมผู้ดูแลที่ต้องคอยดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่โดยเฉลี่ยแล้วต้องมีประมาณ 1 – 2 คนต่อผู้ป่วย 1 คน

 “อัลไซเมอร์เป็นโรคที่พอเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุหนึ่งคนแล้ว ไม่ได้เป็นเฉพาะตัวเขา เขาต้องการผู้ดูแล และบางทีก็ดูแลคนเดียวไม่ได้ เพราะว่าอยู่ดูแลตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง เกิดภาวะเครียด ก็ต้องการผู้ช่วย” รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าว

แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์

เมื่อก้าวเข้าสู่วัย 65 ปี มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม รวมถึงความเสื่อมถอยทางระบบประสาท ก่อเกิดอาการที่พบได้บ่อยคือ โรคอัลไซเมอร์ และรองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง 

โรคอัลไซเมอร์ จัดอยู่ในกลุ่มโรคสมองเสื่อม มีอาการเสื่อมถอยของการรู้คิด (Cognition) ซึ่งเป็นสมรรถภาพของสมองที่จะรับรู้ จัดการข้อมูล และตอบสนองข้อมูลนั้นได้อย่างเหมาะสม เป็นแล้วรักษาไม่หาย มีแต่ชะลอการเสื่อมถอยของโรคให้เข้าสู่ระยะสุดท้ายช้าที่สุด

“การรักษาจึงมุ่งเน้นได้แค่การประคับประคอง ให้การดูแลคนไข้กับครอบครัว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายแพทย์สุขเจริญกล่าวเสริม หากแต่การดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ปกตินั้นเป็นไปได้ยากแล้ว การบำบัดรักษาในสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลต้องเผชิญกับความท้าทายไม่แพ้กัน 

KCG หรือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทดำเนินธุรกิจด้านการนำเข้าและผลิตภัณฑ์อาหาร ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงจับมือร่วมกับศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เกิดกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อเผยแพร่ความรู้ และสร้างความตระหนักในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม

วันนี้ The Cloud ชวน รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หนึ่งในผู้ก่อตั้งศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม มาเล่าถึงอาการ รวมทั้งแนวทางบำบัดดูแลรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ถึงแม้จะดูแลยากแต่ก็ดูแลได้ เพื่อทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้มากยิ่งขึ้น

แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์

เด็กผู้อาวุโส

“คนไข้จะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ดังนั้น การกระตุ้นสิ่งที่ใหม่มากๆ คนไข้ก็รับไม่ได้ เช่น เวลาคนไข้ถามข้อมูล ให้ข้อมูลไปแป๊บเดียวก็ลืม จะมีลักษณะถามซ้ำ ทำอะไรซ้ำ เพราะจำไม่ได้” คุณหมอสุขเจริญเล่าถึงอาการเริ่มแรกของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่มักหลงลืมเรื่องราวใหม่ๆ ในชีวิต ขณะที่เรื่องราวเก่าๆ ยังคงจำได้อย่างแม่นยำ หรือเรียกว่า ความเสื่อมถอยของความสามารถในการจำและเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ (Learning and Memory) 

“ผู้สูงอายุจะถดถอยเป็นเด็กลงเรื่อยๆ” คุณหมอย้ำว่า หลังจากความสามารถข้างต้นลดลงแล้ว ความบกพร่องในด้านอื่นๆ ก็จะตามมา จนกลายเป็นเด็กในร่างสูงวัยอีกครั้ง การจดจ่อสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานหรือสมาธิเชิงซ้อน (Complex Attention), ความสามารถในการบริหารจัดการ (Executive Function), การใช้ภาษา (Language), การรับรู้ทักษะการเคลื่อนไหว (Perceptual Motor Skills) และการรู้คิดด้านสังคม (Social Cognition) ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลงเช่นกัน 

ความเสื่อมถอยที่กล่าวมามีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามลำดับ ระยะแรกมีผลต่อทักษะในกิจวัตรที่ซับซ้อน (Instrumental Attitude of Daily Living) ผู้ป่วยจะทำกิจวัตรได้ลดน้อยลง เช่น การใช้โทรศัพท์ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การออกไปซื้อของ และการร่วมกิจกรรมสังคม แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยจะมีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐาน (Basic Activity of Daily Living) เช่น การกินข้าว การแปรงฟัน การอาบน้ำ และการแต่งตัว คนไข้ทำกิจวัตรตามขั้นตอนไม่ได้ทั้งที่เคยคุ้นชิน อาการเสื่อมถอยจะเพิ่มระดับถึงขั้นผู้ป่วยเดินไปหน้ากระจก เห็นเงาตัวเองในกระจก แต่บอกไม่ได้ว่าเงาที่สะท้อนอยู่ในกระจกคือใคร จนเข้าสู่ระยะสุดท้าย และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด 

แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์

ประคับประคองสู่คุณภาพชีวิตที่ดี

โรคอัลไซเมอร์รักษาให้หายขาดไม่ได้ แต่สามารถชะลออัตราการเสื่อมถอย โดยการดูแลประคับประคองผู้ป่วยตลอดจนผู้ดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 

แนวทางการรักษาของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มต้นจากการทำคลินิกโรคสมองเสื่อม ทั้งตรวจวินิจฉัย ให้คำแนะนำแก่ผู้ดูแล และจ่ายยาเพื่อปรับเรื่องความจำและการรู้คิด

“พอทำคลินิกไปสักระยะหนึ่ง ก็พยายามคิดว่ามีแง่มุมอื่นในการรักษาพยาบาล ที่ไม่ใช่เฉพาะการตรวจวินิจฉัย การจ่ายยา และให้คำแนะนำแก่ญาติ เพราะบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่ญาติจะเข้าใจ เนื่องจากการรักษาแบบคนไข้นอกมีข้อจำกัดในการทำสิ่งต่างๆ” ด้วยเหตุนี้ คุณหมอสุขเจริญจึงจัดตั้งศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม (Dementia Day Center) หรือ DDC เพื่อดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจรมากยิ่งขึ้น ด้วยแนวคิดการเยียวยาแบบไม่ใช้ยา (Non Pharmacologic Intervention) ทำให้มีการกระตุ้นของผู้ป่วยจากการลงมือทำกิจกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านคอยดูแล ร่วมกับการให้ความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยกับผู้ดูแล

“สมองก็เหมือนอวัยวะส่วนอื่นๆ ถ้าได้รับการกระตุ้นก็จะเสื่อมช้าลง ขณะเดียวกัน เราไม่ได้กระตุ้นคนไข้อย่างเดียว แต่เราต้องการสอนญาติ สอนผู้ดูแล ให้เรียนรู้วิธีที่จะกระตุ้นคนไข้ สอนวิธีจัดการแก้ปัญหาพฤติกรรม เช่น ถ้าคนไข้ถามซ้ำๆ มากๆ ผู้ดูแลจะทำอย่างไร” 

แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์
แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์

กิจกรรมมีทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ แบ่งเป็น 3 คลาส แต่ละคลาสใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที แต่ละช่วงจะมีกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระตุ้นความจำ ร้องเพลง ทำงานศิลปะ ฝึกกิจวัตรประจำวัน สอนทำอาหาร โดยจัดกิจกรรมเป็นกลุ่ม ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้เข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ แต่คนไข้จะต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ก่อน และเข้าร่วมกิจกรรมพร้อมกับผู้ดูแลเท่านั้น

กิจกรรมหนึ่งที่ทางบริษัท KCG ร่วมมือกับสมาคมเชฟประเทศไทย และฝ่ายโภชนาการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดกิจกรรม Cooking Class โดยมีคุณครูเป็นเชฟชื่อดัง สอนผู้ป่วยสมองเสื่อมและผู้ดูแลทำอาหาร โดยเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รับประทานได้ง่าย และสามารถนำสูตรกลับไปทำเองที่บ้านได้ เช่น ซุป สปาเกตตี้ เครื่องดื่มสมูทตี้ เพื่อกระตุ้นการรู้คิด ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดความรู้ด้านโภชนาการทางอาหาร 

แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์

“คนที่มาประจำจะบอกว่าเหมือนมาโรงเรียน” คุณหมอเล่า นอกจากได้เรียนรู้วิธีการรับมือกับคนไข้ผ่านกิจกรรมแล้ว สิ่งที่ได้มากกว่าคือเกิดการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งไม่ใช่แค่สังคมของคนไข้สมองเสื่อม แต่เกิดสังคมในกลุ่มผู้ดูแลด้วย

แนวทางเยียวยาผู้ป่วยอัลไซเมอร์โดยไม่ใช้ยา โดยหัวหน้าศูนย์ฝึกสมอง รพ.จุฬาลงกรณ์
คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

อีกทั้งมีการสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้าง คลอบคลุมถึงผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงและผู้สนใจ ชมรมสมองใสใจสบาย จึงถือกำเนิดขึ้น มุ่งเน้นดูแลสุขภาพสมองพร้อมสุขภาพจิต เพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นภาวะสมองเสื่อม เช่น ภาวะซึมเศร้า (Depression) ปัจจัยเสี่ยงด้านหลอดเลือด ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น ที่มีทั้งพอดแคสต์สมองใส ใจสบาย เสวนา เวิร์กชอป กิจกรรมรับชมภาพยนตร์และเสวนากับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งชมรมได้รับการสนับสุนจาก KCG ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมวางแผนสื่อสารประชาสัมพันธ์อีกด้วย

รู้สู้โควิด 

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลอย่างไรบ้างกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์-เราถามคุณหมอสุขเจริญ 

“ต้องเฝ้าระวังมากขึ้น เพราะกลุ่มผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยง หากติดโควิด มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตสูง เราพบว่าคนไข้ที่เราดูแล เมื่อมาไม่ได้ เวลากลับไปอยู่ที่บ้านและกลับมาหาเรา คนไข้ก็เสื่อมถอยลงเยอะ เนื่องจากช่วงที่อยู่บ้านออกไปไหนไม่ได้ ทำให้มีข้อจำกัดที่จะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม คนไข้ก็ถูกกระตุ้นทางสมองน้อยลง” 

เมื่อผู้ป่วยอาจลืมว่าต้องกักตัวอยู่แต่บ้าน ผู้ดูแลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญมากกว่าเก่า เนื่องด้วยต้องคอยระวังอย่างใกล้ชิด ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุในช่วงโควิด-19 ทั้งงดหรือเว้นการเข้าเยี่ยมจากญาติโดยไม่จำเป็น รักษาระยะห่างเกิน 2 เมตร สวมใส่หน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ สำหรับผู้สูงอายุกลุ่มโรคสมองเสื่อม นอกจากปฏิบัติตามข้างต้นแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม

คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19
คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

แน่นอนว่าสถานการณ์โรคระบาดทำให้การพบปะผู้คนเป็นไปได้ยาก การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านทางสื่อออนไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างวิดีโอคอลหรือโทรศัพท์พูดคุยกับญาติสนิทมิตรสหาย อีกทั้งทางศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรม เพื่อลดอัตราการเสื่อมถอยของสมอง 

คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

“เราเคยพยายามทำคลิปสอนทำกิจกรรมส่งไปให้คนไข้ แล้วติดตามว่ากิจกรรมกระตุ้นได้หรือเปล่า ปรากฏว่าไม่ค่อยสำเร็จ เพราะไม่เหมือนการมาเจอหน้า กิจกรรมที่จัดส่วนใหญ่ต้องเป็นเสวนา ถ้าสอนทำอะไรสักอย่างก็จะยุ่งยาก เพราะว่าผู้สูงวัยมีปัญหาการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ บางอย่างต้องจับมือสอน ถ้าเรียนออนไลน์ก็จะทำไม่ค่อยได้

“เราจึงพยายามพัฒนากิจกรรมผ่านทางแอปพลิเคชัน Zoom คนไข้ทำกิจกรรมกับเราได้นั้นได้ผลดีกว่าการที่ส่งคลิปไปให้ การมีปฏิสัมพันธ์ การโต้ตอบ คนนี้เป็นผู้นำกลุ่ม ครูแพรว ครูปาล์ม พอเห็นหน้าก็จำได้แล้วก็ให้ความร่วมมือดีขึ้น” 

แม้ว่าการจัดกิจกรรมออนไลน์ยังมีข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ความสามารถในการเข้าถึง อีกทั้งการให้ความร่วมมือ แต่ก็ถือว่าช่วยบรรเทาอาการผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ได้บ้าง

คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19
คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

ยังคงพยายามต่อ

“ผู้ดูแลสำคัญมาก สำคัญมากๆ ทั้งเรื่องการชะลอระดับในการเสื่อมถอย กับคุณภาพชีวิตของคนไข้ว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อภาวะสมองเสื่อมรุนแรงมากยิ่งขึ้น ครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องยาที่รักษา อีกครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับการดูแลของผู้ดูแลว่าเป็นอย่างไร” 

รศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย เล่าว่าเราให้ความสำคัญกับผู้ดูแลคนไข้อัลไซเมอร์ จึงจัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม สำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยและคนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้การดูแลคนไข้สมองเสื่อม เพื่อเป็นแนวทางในการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และขยายการรักษาออกไปยังวงกว้างยิ่งขึ้น 

คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19
คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

นอกจากนี้ กิจกรรมของศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อมและชมรมสมองใส ใจสบาย ยังมีรูปแบบกิจกรรม รวมทั้งแพลตฟอร์มการเข้าถึงที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย พร้อมกับมีแนวคิดนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบำบัด

“เราพยายามอย่างมากที่จะหาวิธีเยียวยารักษาและเอาชนะโรคอัลไซเมอร์ให้ได้มาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่ว่าผลของการศึกษาวิจัยก็ยังห่างไกลจากความสำเร็จ” คุณหมอสุขเจริญทิ้งท้าย 

อาจจะยังไม่ถึงหมุดหมายสำเร็จที่จะรักษาให้หายขาด แต่ก็พยายามหาวิธีการบำบัดอาการโรคอย่างดีที่สุด ป้องกันกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคหรือเกิดโรคให้ช้าลง มากที่สุดที่เราจะทำได้

และเราจะยังคงพยายามต่อและยังไม่หยุดคิด

คุยกับแพทย์ด้านสมองเรื่องแนวทางดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม และกิจกรรมบำบัดโดยไม่ใช้ยาฉบับ KCG โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19

Writer

Avatar

จิตาภา ทวีหันต์

ตอนนี้เป็นนักฝึกหัดเขียน ตอนหน้ายังสงสัย ชาติก่อน (คาดว่า) เป็นคนเชียงใหม่ แต่ชาตินี้อยากเป็นคนธรรมดาที่มีบ้านเล็กๆ อยู่ต่างจังหวัด

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ