ก่อนอื่น ช่วยบอกหน่อยว่าอาการที่เป็นอยู่ตอนนี้เรากำลังหลงทางหรือหลงเธอกันแน่ ถึงยิ้มตามตลอดที่ฟังเขาพูดอธิบายสิ่งที่พบเห็น ตลอดจนเสียงพากย์ตลกๆ แกล้งกลุ่มน้องนักเรียนที่กำลังเซลฟี่กลางฮงแดที่โซล ประเทศเกาหลีใต้

หลังจากติดตามมาปีกว่าๆ ก็ถึงเวลานัดพบ ว่านไฉ-อคิร วงษ์เซ็ง ที่ Mero Studio บนชั้นสูงสุดของอาคารสูงใจกลางเมือง

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

ไม่ว่าจะคุณจะรู้จักเขาในฐานะนักแต่งเพลงบ้าเที่ยว หรือนักท่องเที่ยวบ้าแต่งเพลง คุณคงยอมรับเหมือนกันกับเราว่าเพลงของเขาในอาสาพาไปหลงนั้นติดหูทุกทริป

มาดูกันว่า ท่ามกลางเพจท่องเที่ยวนับพันเพจในตลาด อะไรทำให้ ‘อาสาพาไปหลง’ โดดเด่นและเติบโตแบบก้าวกระโดดภายใน 1 ปีแบบนี้

ขอโทษจริงๆ ที่ตัวอักษรจากเราบรรเลงเพลงอินโทรอย่างในรายการไม่ได้

แต่ถ้าอ่านแล้วชอบ อย่าลืมกดแชร์และ Subscribe The Cloud ด้วยนะคะ

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

หวั่นใจว่าคงไม่แคล้ว หลงรักเข้าแล้วจนได้

จากศิลปินเบื้องหน้า ว่านไฉผันตัวมาเป็นมิวสิกโปรดิวเซอร์ อยู่เบื้องหลังงานเพลงหลายร้อยเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงโฆษณา ละครและภาพยนตร์

ชีวิตที่อยู่กับงานในฝันสลับกับการออกเดินทางหามุมมองใหม่ๆ เพื่อใช้กับการทำเพลง วันหนึ่งว่านไฉก็เกิดความคิดว่าจะเปลี่ยนการเดินทางที่ชอบให้เป็นงานที่ใช่ จึงเริ่มต้นจากการทำเพจท่องเที่ยว

“เนื้อหาในเพจอาสาพาไปหลงช่วงแรก ยังเป็นแค่รูปและตัวอักษรที่บอกเล่าเรื่องราวซึ่งไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีเท่าไหร่” ว่านไฉบอกเรา ก่อนจะเล่าย้อนกลับไปสมัยทำงานเพลง ด้วยหน้าที่ของผู้ทำเพลงประกอบภาพทำให้เขาพอจะรู้วิธีและขั้นตอนผลิตภาพเคลื่อนไหว แล้วค่อยๆ ประกอบร่างรายการ

จากที่มีเพียงภาพถ่ายลองทำเป็นวิดีโอ ลองทำเพลงประกอบใช้เอง ลองพากย์เสียงใส่ เกิดเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำขึ้นมา

อาสาพาไปหลงแบบเต็มรูปแบบตอนแรกคือ มัลดีฟส์ ซึ่งนับถึงวันนี้ มีจำนวนคนดูอาสาพาไปหลงตอนมัลดีฟส์เกือบ 5 ล้านครั้ง และจำนวนครั้งที่แชร์กว่า 83,000 ครั้ง

ยังไม่นับจำนวนผู้ชม ‘เมาดิบ’ มิวสิกวิดีโอเพลงประกอบมัลดีฟส์กว่า 5 ล้านคนใน YouTube

เมื่อค้นพบสูตรสำเร็จที่คนชอบ เขาก็เริ่มต่อยอดจนกลายเป็นทริปครั้งต่อๆ มา

ที่น่าสนใจคือ ว่านไฉมีวิธีคิดอย่างไร จึงทำให้รายการอาสาพาไปหลงของเขาสนุกและน่าติดตามทุกตอนขนาดนี้

“ก่อนจะทำรายการหรืออะไรก็ตาม เราจำเป็นต้องรู้ว่าใครเป็นคนดูของเรา หรือคนแบบไหนที่เราอยากให้ดู” ว่านไฉเล่าหลักการข้อที่หนึ่ง ของการทำอาสาพาไปหลง อย่างไม่หลง ก่อนจะเล่าเสริมว่า เขาเป็น Perfectionist ที่มักจะคิดหาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นเสมอแม้ปล่อยรายการออกอากาศไปแล้ว

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

หลงทางยังหาเจอ หลงเธอสิเหลือทน

หลงทาง ในความหมายของคนทั่วไปอาจจะหมายถึงแผนที่ผิดไปจากสิ่งที่ตั้งใจ

แต่สำหรับว่านไฉ เขาชอบจนถึงขั้นหลงใหลการหลงทางไปพบเจอสิ่งที่ชาวบ้านเขาไม่เจอกัน เช่นตั้งใจเบี่ยงซ้ายไปจากอาซากุสะ เพื่อไปเจอร้านอิซากายะที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก

“เวลานั้นเราอาจจะนั่งเครียด แต่พอเพื่อนถามว่าทริปเป็นยังไงบ้าง ‘เชี่ย กูไปเจอยากูซ่ามาเว้ย นั่งกินทาโกะยากิกับแม่งทั้งคืน’ มันก็ได้เรื่องราวใหม่ๆ” ช่างเป็นการหลงทางที่น่าสนุก ยิ่งเมื่อรวมกับความตั้งใจของเขาที่ไม่อยากให้การทำงานและการท่องเที่ยวเป็นเรื่องเดียวกัน จึงเลือกที่จะใช้วิธีพากย์เสียงเล่าเรื่องมากกว่าการอยู่หน้ากล้องตลอดเวลา และมากกว่าภาพของสถานที่และบรรยากาศสวยๆ เขาตั้งใจทำรายการท่องเที่ยวที่มีรายละเอียด เห็นวิถีชีวิตจริงๆ ของคนที่นั่น

“ไม่ใช่แค่บอกว่าภูเขาไฟมีความสูงเท่าไหร่จากระดับน้ำทะเล แต่มีเรื่องราวของป้าที่ขายดังโงะอยู่แถวๆ นั้น ซึ่งผมชอบพูดคุยกับคนแปลกหน้าแล้วหยิบเรื่องเหล่านั้นมาเล่า” ว่านไฉเล่าที่มาของฟุตเทจที่เล่าเรื่องผู้คนแถวนั้นที่เขามักจะพากย์เสียงแกล้งใส่ลงไปเสมอจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของรายการ ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับมุมมองนักแต่งเพลงของเขา

ทำรายการในกรอบวิธีคิดอย่างเพลงป๊อป ‘เปิดหัวแรง ปิดหัวโดน’

ว่านไฉเล่าถึงวิธีการเล่าเรื่องที่ใช้ในรายการให้ฟังว่า เขาใช้กรอบความคิดเดียวกันกับที่ใช้สร้างสรรค์งานเพลง เริ่มจากความสนุก คิดถึงความวาไรตี้ทั้งภาพและเสียง คล้ายกับกราฟของเพลง ซึ่งประกอบด้วยท่อน Verse ท่อน Pre ท่อน Hook บางทีก็มีท่อน Bridge

“การจะทำรายการในโลกออนไลน์ในยุคนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งถ้าคนดูรู้สึกไม่สนุกเขาก็จะเปลี่ยนทันที ไม่ดูต่อแล้ว เพราะฉะนั้น จำเป็นมากที่จะต้องคิดและอย่างอย่างถี่ถ้วน ตัวอย่างของการคิดอย่างไม่ถี่ถ้วน เช่น สมมติเราดูสถิติแล้วพบว่าคนชอบดูตอนที่เกี่ยวกับกิน แล้วเราก็มุ่งเป้าจะทำแต่รายการกินๆๆ กินอีกแล้ว สุดท้ายจะเป็นการบีบตัวเอง สิ่งที่ผมคิดซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่กล้าได้กล้าเสียและฟังดูเสี่ยง แต่ผมก็อยากที่จะทำให้รายการสนุก ดังนั้น เรามาคนละครึ่งทาง ทำแบบที่คนดูชอบด้วยและเราก็อยากทำด้วย

“ความสนุกเป็นเรื่องของกราฟ ในวงการเพลงป๊อปเราจะเรียกว่า ‘เปิดหัวแรง ปิดหัวโดน’ ยกตัวอย่างเพลง เพื่อนไม่จริง ของวง Polycat ‘ถ้าแอบรักและเราบอกออกไป การแอบรักจะดูหมดความหมาย…’ หรือท่อน ‘ชอบมองสายตาเธอตอนไม่รู้ ว่าตัวฉันชอบมองมันมากเท่าไร…’ เออ เท่ดีว่ะ แล้วท่อนฮุกก็มาเฉลยว่าแอบรักเพื่อนในมุมที่ฉีกออกไป มันน่าแชร์ มันช่างละมุนเหลือเกิน เราก็หยิบมาใช้กับการทำคอนเทนต์ การเลือกเปิด-จบต้องมีความหมาย เรื่องระหว่างก็มีความหมาย เราจะทำอย่างไรให้คนดูดูจนจบได้ นี่คือกราฟ ซึ่งจริงๆ มันไม่มีสูตรตายตัวนะ เพลงป๊อปที่คิดไว้อาจจะกลายเป็นเพลงเชยก็ได้ กับงานคอนเทนต์ก็เช่นกัน บางทีไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ที่เราคาดหวังว่าคนจะชอบ คนจะแชร์ เขาก็อาจจะไม่ได้สนใจเรื่องเดียวกับเรา” ว่านไฉเล่าวิธีคิดเบื้องหลังรายการทั้งหมด

“ผมเชื่อเสมอว่าเราทำงานให้ดังไม่ได้ แต่เราทำงานให้ดีได้” ว่านไฉรีบตอบ เมื่อเราถามถึงวิธีแก้มือ หากสิ่งที่ทำไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง พร้อมเล่าว่า เขายอมไม่ได้เลยหากจะต้องปล่อยงานที่ไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจ แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมากๆ อย่างเสียงเบี้ยวนิดๆ เขาก็จะขอแก้ไขก่อน

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

ถ้าบอกว่าเพลงนี้แต่งให้เมือง เมืองจะเชื่อไหม

“ในการทำงานเราไม่คิด Script (บทพูด) แต่เราคิด Scope (ขอบเขต) ของเรื่องที่จะเล่า” ว่านไฉตอบ เมื่อเราถามที่มาของบทพูดในรายการ ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า เขาหมายรวมคำว่า ขอบเขต ถึงข้อมูลและการออกเสียงที่ต้องถูกต้องครบถ้วน ขณะที่บทพูดพร้อมเสียงพากย์ของเขาจะเกิดขึ้นพร้อมกันเมื่อภาพรายการทั้งหมดตัดต่อภาพพร้อมรอใส่เสียง

ไม่พูดถึงเพลงประกอบในรายการเลยคงไม่ได้

เราถามว่านไฉถึงวิธีจัดการคลังเพลงและการเลือกหยิบมาใช้ให้เข้ากับเรื่องที่เล่า

“ยอมรับว่าเดือดร้อนมาก เพราะเราเล่นใหญ่ไปแล้วตั้งแต่ตอนแรก อย่างเดือนนี้มี 6 – 7 เทปที่รออยู่ ตายแล้ว ทุกเทปต้องมีเพลง จะไม่มีก็ไม่ได้ ซึ่งเราก็รู้สึกภูมิใจที่คนรอฟัง” ว่านไฉ่ตอบก่อนชวนคุยถึงที่มาของเสียงเพลงในหัว

“เคยเป็นไหมเวลาไปเที่ยว แล้วเรารู้สึกได้ยินเสียงเสียงหนึ่งขึ้นมาเอง ทำหน้าที่เป็นเพลงประจำทริป ของคุณอาจจะเป็นเพลย์ลิสต์ แต่ของผมเป็นเสียง อยู่ๆ มันก็ดังขึ้นมาเอง โชคดีที่ความรู้ทางดนตรีที่มีพอจะทำให้รู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร เล่าให้เห็นภาพไม่ถูก บอกได้แค่ว่าเป็นสเกลที่ใช่เลย แบบนี้เลย เมื่อตัดต่อเข้ากับภาพค่อยใส่เนื้อลงไป”

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

แต่ก็ไม่แปลว่าเพลงของทริปเกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น จะแตกต่างกันหรือมีเอกลักษณ์อะไรซ่อนอยู่

“ขึ้นกับเนื้อหาที่เล่าในรายการด้วย เช่น ทริปไต้หวันพาไปกิน ซึ่งผมมีความสุขกับการกินมา อยู่ดีๆ เพลงชูชกก็เข้ามาในหัว ‘ตำนานชูชกนั้นโกหกทั้งเพ หาว่าตะกละตะกลาม ผิดเหรอฉันแค่ตามใจปากอะไรอย่างเนี้ย กินแค่ไหนมันไม่หนักหัวใคร ก่อนตายต้องเป็นตำนาน นอนตายข้างๆ กองจานเปล่า’ เกิดจากการด้นสด ผมไม่ได้เก่ง ผมแค่ทำอาชีพนั้นมานาน”

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

วิธีคิดที่เปลี่ยนรายการท่องเที่ยวให้เป็นมากกว่าซีรีส์เที่ยวเมือง

ในยุคที่ความสนใจของคนมีสั้นเหลือเกิน ลำพังการทำรายการออนไลน์ให้คนดูจนจบในตอนก็ยากแล้ว แต่ว่านไฉและอาสาพาไปหลงทำสิ่งที่ยากกว่า นั่นคือเล่าเรื่องเมืองเป็นซีรีส์ให้คนติดตามดูตอนต่อไป

“ถ้าเมืองหนึ่งเมืองซึ่งมีหลายตอนจะทำออกมาเป็นเพลงรักไปทั้งหมดก็คงไม่สนุก คอนเซปต์หนึ่งที่ผมชอบมาก คือคอนเซปต์อาสาพาไปลืมที่เกาหลี ของน้องเพื่อน หนึ่งในทีมงานอาสาพาไปหลง ขั้นตอนการทำงานเริ่มจากโจทย์ว่า อกหักไปไหน และทำไมต้องไปเกาหลี หลังจากหาข้อมูลอย่างเข้มข้น เขียนกระดานหาความเชื่อมโยงจนเละเทะไปหมด เราก็พบหลักจิตวิทยา 5 ขั้นเพื่อลืมใครสักคน ขั้นแรกปฏิเสธความจริง ตามมาด้วยโกรธ ซึ่งเราพาไประบายความโกรธด้วยการกิน จากนั้นเมา กลับมารู้สึกเศร้า และจบลงด้วยการทำความเข้าใจ จากนั้นหาสถานที่และกิจกรรมมาใส่ ก็กลายเป็นซีรีส์ที่ครบถ้วนทุกอารมณ์” มากกว่ารายการท่องเที่ยวที่มีเพลงประกอบสนุก ติดหู และน่าติดตามไปทุกตอน ยังมีมิวสิกวิดีโอเพลงประกอบภาพสวยระดับจริงจังไปอีก

อาจจะไม่ได้ถูกพูดถึงในวงกว้าง แต่สำหรับเราผู้ติดตามอยู่ ยอมรับตรงนี้เลยว่า เราและแฟนๆ ไม่ได้สนใจจุดหมายปลายที่อาสาพาไปหลง กำลังพาไป มากไปกว่าความบันเทิงทั้งจากเนื้อหาและเพลงที่เขาและทีมงานตั้งใจถ่ายทอดออกมา

และไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวต่างประเทศ อาสาพาไปหลงยังมี อาสาพาไปหลง Domestic

“อะไรคือวิธีคิดหาสมดุลของการทำเนื้อหาในช่วงที่รายการเติบโต ซึ่งมีทั้งความคาดหวังจากคนดูหรือแม้แต่ลูกค้าที่เข้ามาสนับสนุนรายการ” เราถาม

“ผมจะมีสามเหลี่ยมอันหนึ่ง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะดูก่อนว่าครบทั้งสามเหลี่ยมนี้มั้ย ลูกค้าจะต้องขายได้ คนดูจะต้องสนุก และผมจะต้องทำรายการรอย่างมีความสุข ในเงื่อนไขที่เป็นไปได้ด้วยนะ” ว่านไฉตอบ

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ

จากการเดินทางที่รับบท ยาใจ

จนเข้าขั้นหลงใหล ว่านไฉตัดสินใจลาออกจากงานโปรดิวเซอร์ที่มั่นคง ออกเดินทางทำรายการท่องเที่ยวที่ชวนเราเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการหลงทางไปตลอดกาล

“อะไรในตัวคุณที่ยังคงเหมือนเดิม และเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้าง” เราถาม

“เมื่อก่อนเราอาจจะมีจุดหมายในเส้นทางดนตรี เป็นนักแต่งเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ทำงานเบื้องหลัง ทำจนสุดทาง ซึ่งเราจะสิ้นสุดอยู่ในความฝันนั้นความฝันเดียวไม่ได้ ระยะเวลาของความรู้สึกที่สำเร็จมันสั้นมากเลยนะ อยากอยู่ในเส้นชัยนั้นมันแป๊บเดียวเอง มันอาจจะเท่เมื่อได้บอกใครเมื่อเราไปถึงจุดหมายนั้นแล้ว ตัวผมเองในวันนี้ก็เช่นกัน อะไรคือความสำเร็จของอาสาพาไปหลง ปลายปีนี้คนอาจจะลืมแล้ว ไม่ดูเราแล้วก็ได้ รายการอาจจะหายไป แต่ความสำเร็จมันคือวิธีคิดของผมและทีมที่ยังรู้สึกสนุกและมีความสุขที่ได้ทำสิ่งนี้ออกมา เท่านั้นเอง ถ้าถามถึงตัวตนที่เหมือนเดิม ผมก็จะตอบว่า ผมจะเป็นตะกร้าใส่ผลไม้แห่งความสุข ที่รับและมอบความสุขให้ทุกคน นี่คือสิ่งที่เป็นตัวตนของผมและตั้งใจจะเป็นอย่างนี้ตลอดไป สิ่งที่เปลี่ยนไปนอกจากอายุที่มากขึ้น คือ มุมมอง ความสนใจใหม่ๆ ที่ไหลเข้ามาและรอการถ่ายทอดออกไป” ว่านไฉยิ้ม

อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง อาสาพาไปหลง, ว่านไฉ อคิร วงษ์เซ็ง

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan