The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ครูกตของเด็กๆ คือชายวัยกลางคนท่าทางใจดีที่มักมาพร้อมเรื่องเล่าแสนสนุกในผืนป่าและท้องทะเล ห้องเรียนของครูกตไม่มีโต๊ะ เก้าอี้ หรือแม้แต่ผนังกั้น เพราะเขามักพาเด็กๆ ออกไปผจญภัยในธรรมชาติกว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาเกินกว่าจินตนาการของเด็กๆ จะพาไปถึง

20 ปีที่ผ่านมา ครูกตเดินทางขึ้นเหนือลงใต้ นำความรู้และความรักในธรรมชาติไปปลูกเป็นกล้าต้นน้อย ที่พร้อมจะผลิบานเติบโตไว้ในจิตใจของเด็กหลายหมื่นคนทั่วประเทศ ตั้งแต่เด็กที่เพียบพร้อมทางฐานะ เด็กด้อยโอกาสในชนบทห่างไกล เด็กพิการทางร่างกาย ไปจนถึงเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ 

เพราะเขาเชื่อว่าการมอบความรู้คือกระบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ยั่งยืนที่สุด และมนุษย์ทุกคนควรได้รับความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษา ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือขาดอวัยวะใดในร่างกายไปก็ตาม

ครูกตหรือ ดร.อลงกต ชูแก้ว ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย นักอนุรักษ์ผู้ทำงานวิจัยเรื่องช้างไทยมายาวนาน และเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่นำศาสตร์สิ่งแวดล้อมศึกษา (Enironmental Education) มาปรับใช้อย่างบูรณาการเข้ากับการสอนบทเรียนธรรมชาติให้เด็กทั่วไป รวมถึงปรับพฤติกรรมและอารมณ์ให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยนำช้างบ้านที่ถูกฝึกฝนแล้วมาเป็น ‘ครู’ เชื่อมเด็กๆ กับธรรมชาติเข้าหากัน

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย
อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

เพราะรักดนตรีและเป็นนักไวโอลินฝีมือดี ครูกตจึงสอนดนตรีให้เด็กๆ อยู่เสมอ แต่ก็ตระหนักดีว่ายังมีกำแพงที่มองไม่เห็นกั้นเด็กตาบอดไว้จากความสามารถทางดนตรี ครูกตพยายามทลายกำแพงนั้นด้วยการคิดค้นการเขียนโน้ตเพลงด้วยอักษรเบรลล์ และก่อตั้งวงออร์เคสตราที่สมาชิกทุกคนเป็นเด็กที่บกพร่องทางการมองเห็นและพิการซ้ำซ้อนได้สำเร็จ 

วันนี้เราเดินทางมาพบครูกตที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ ที่ทำการของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาหรือ EEC Thailand (Environmental Education Center) ซึ่งครูกตดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโดยไม่รับค่าตอบแทนมาตั้งแต่ก่อตั้ง

‘แม่คำมูล’ ครูช้างที่ผ่านร้อนหนาวมากว่า 60 ปี และ ‘ขวัญเมือง’ ลูกช้างวัยไม่เกิน 10 ขวบยืนยิ้มเผล่ให้เห็นอยู่ไกลๆ ขวัญเมืองเติบโตมาท่ามกลางเด็กๆ มากมายที่แวะเวียนกันมาเข้าห้องเรียนที่นี่ และในอนาคตไม่ไกล มันจะกลายเป็นครูช้างเชือกต่อไปที่สอนให้เด็กๆ เข้าใจตัวเองและโลกรอบตัว

ครูกตพาเราเดินไปยังลานกิจกรรมของศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาที่โอบล้อมไปด้วยป่าตะแบกโบราณร่มรื่น ก่อนจะนั่งลงเล่าเรื่องราวชีวิตที่อุทิศให้งานอนุรักษ์และการศึกษาให้ฟัง

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

01

รั้วมนุษย์ที่แข็งแรงที่สุดในโลก

“เริ่มแรกผมทำงานเป็นนักวิจัย ศึกษาเรื่องช้าง ผืนป่าคือห้องทำงานของผม ทำวิจัยอยู่นาน หลายคนก็มาเตือนว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ผมจะเหมือนอาจารย์หลายๆ คน หัวหงอกแล้วก็ตายอยู่ใต้โคนไม้ ไม่ได้ส่งต่อองค์ความรู้สู่สังคมและชุมชน” ครูกตเริ่มเล่าถึงชีวิตอย่างติดตลก

“จริงๆ ผมชอบเล่าเรื่องช้างป่า ช้างบ้าน ให้คนฟังอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กๆ ผมคิดเสมอว่างานอนุรักษ์ที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนมีความรู้ ความเข้าใจ ที่สำคัญคือคนทุกกลุ่มในสังคมจะต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่จะเป็นอนาคตในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในรุ่นต่อไปให้ยืนยาว

“เพราะผมเชื่อว่าสิ่งที่แข็งแรงที่สุดที่จะปกป้องช้างและธรรมชาติได้คือ Human Fence หรือรั้วมนุษย์ ผมเลยทำควบคู่กันมาระหว่างการเป็นนักวิจัย ทำงานเพื่อช้างอยู่ในป่าและสร้างห้องเรียน ทำค่ายเยาวชนที่เราได้นำความรู้จากในป่าออกมาบอกเล่าให้คนรุ่นต่อไปฟัง”

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

วันหนึ่งเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ‘พังตุ๊กตา’ ช้างเพศเมียเชือกหนึ่งเกิดไปทำนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พัทยาหัวแตก ครูกตอธิบายว่าที่มันทำแบบนั้น เพราะทุกครั้งที่ฝรั่งหัวทองเดินมา พังตุ๊กตาจะถูกคนดูแลเอาไม้ทิ่ม บังคับให้ทำท่าสวัสดีเสมอ มันจึงจำฝังใจว่าคนหัวทองทำมันเจ็บตัว ครั้งนี้จึงเผลอฟาดทำพวกเขาบาดเจ็บ เมื่อเป็นเช่นนั้น ตุ๊กตาจึงถูกส่งไปอยุธยา และเจ้าหน้าที่ที่นั่นก็เสนอให้ครูกตรับตุ๊กตาไปเลี้ยง

“ตอนนั้นผมคิดในใจ เอาก็เอา ปัญหาคือช้างตัวเบ้อเริ่ม จะเอากลับบ้านที่เขาใหญ่ยังไง ผมเลยไปเช่ารถสิบล้อสมัยปี 60 ที่ตัวถังเป็นไม้มา ทั้งเก่าทั้งคลาสสิกสุดๆ เจ้าของคิดค่าเช่าสามเดือนแค่เจ็ดพันบาท ราคาถูกแต่ต้องซ่อมเองนะถ้าเกิดเสียขึ้นมา (หัวเราะ) สุดท้ายผมก็พาตุ๊กตากลับบ้านมาได้สำเร็จ

“ช่วงนั้นเวลาผมไปสอนเรื่องระบบนิเวศ ผืนป่า และสัตว์ป่าตามโรงเรียนต่างๆ ผมก็พาตุ๊กตาไปด้วย ขึ้นรถสิบล้อบุโรทั่งคันนั้นแหละ ไปเป็นวิทยากรรับเชิญเวลาผมเล่าเรื่องช้าง โอ้โห เด็กๆ ตื่นตาตื่นใจกันมาก” 

“มีอยู่วันหนึ่ง เราจะพาตุ๊กตาไปออกค่ายกับเด็กๆ สามวัน ก็ต้องมีพิธีเซ่นปะกำ โดยใช้ไข่ไก่ ข้าว เหล้า น้ำหวาน และเหล้า เพื่อบอกครูบาปะกำว่าจะเอาช้างไปสอนหนังสือเด็กๆ ควาญก็เอาเหล้าขาวขวดเล็กๆ ไปวางไว้ข้างหลักช้างเพื่อเตรียมทำพิธี ปรากฏเดินไปอีกทีตุ๊กตาเรอดังเอิ๊ก ขวดเหล้าขาวร่วงออกจากปาก ตุ๊กตาดื่มเหล้าจนหมดขวด เมาหัวทิ่มเลย ดูสิ ความฉลาดของช้าง” ครูกตเล่าถึงเหตุการณ์ในอดีตพร้อมรอยยิ้ม

“สุดท้ายต้องช่วยกันอาบน้ำให้ตุ๊กตาสร่างเมา วันนั้นมีเด็กมาเข้าค่ายถึงสี่โรงเรียน พอตุ๊กตาเดินลงจากรถเท่านั้น เด็กๆ ก็เฮกันลั่น ตอนบ่ายพออธิบายเรื่องช้างเสร็จ ก็ให้เด็กๆ เล่นน้ำกับช้าง ตุ๊กตาเล่นน้ำไปเรอเอิ๊กอ๊ากไป ยังเมาอยู่นิดๆ (หัวเราะ) ตุ๊กตาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านผมเหมือนสมาชิกคนหนึ่ง ฝนตก โซ่ขาด มันก็วิ่งตามผมเข้ามาในบ้านด้วย มันนึกว่ามันเป็นคนเหมือนเรา

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย
อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“สิ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับสัตว์คือความเมตตา เมื่อฝ่ายหนึ่งแสดงออกถึงเจตนาแห่งความเมตตา อีกฝ่ายก็จะรับรู้ได้ หากถือขวานเข้าไปจะจามงาของช้างที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาก็จะตอบสนองอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่ถ้าเราหยิบยื่นอาหารให้ช้างตัวเดียวกัน การตอบสนองก็จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นี่คือตัวกำหนดสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับสัตว์” 

ครูกตเล่าว่าจากไปสอนตามโรงเรียน ก็เริ่มมีเด็กมาเรียนกับครูกตและครูช้างที่บ้าน บางทีมากันเป็นร้อยคน เป็นแบบนี้อยู่หลายปี “ช่วงหลังผมเริ่มรับอาสาสมัคร ก็มีชาวต่างชาติมาอยู่กันเต็มบ้าน อยู่ครั้งละหลายเดือนเพื่อศึกษางานสิ่งแวดล้อมศึกษาและเรื่องช้าง ช่วงนั้นผมทำงานไม่รับเงินเดือนแล้ว เพราะรู้ว่านี่คือสิ่งที่เรารัก เชื่อ และศรัทธา”

02

เรื่องราวของน้ำใจและความไร้เดียงสา

เรื่องราวของครูกตถูกเล่าต่อกันไป มีโรงเรียนมากมายอยากเข้าร่วมกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา ลำพังครูกตขับรถพาช้างไปสอนตามโรงเรียนก็ไม่ทัน หรือจะให้เด็กๆ มาที่บ้านก็ไม่มีพื้นที่เพียงพอ แนวคิดในการสร้างพื้นที่สำหรับตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาและศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ จึงเกิดขึ้น

“ตลอดเวลานับสิบปีนั้น เวลาไปสอนในโรงเรียนตามชนบท ผมพบว่าในเด็กปกติร้อยคน จะมีเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้สักคน เด็กที่มีปัญหาทางสายตาอีกคน และเจอเด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ภาวะออทิสซึม และ Multiple Disabilities หรือพิการซ้ำซ้อน

“เนื่องจากการทำงานของร่างกายและสมองที่แตกต่าง ทำให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษไม่สามารถร่วมกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างเต็มสมรรถภาพ เพราะมักจะตามบทเรียนของเด็กปกติไม่ทัน สื่อสารกับครูและเพื่อนๆ ไม่เข้าใจ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กๆ กลุ่มนี้เข้ากันได้ดีกับผมทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน คุณครูเขาบอกว่าปกติน้องๆ เหล่านี้ไม่เอาใคร พูดอะไรก็ไม่ฟัง ไม่รับรู้ แต่ไม่รู้ทุกครั้งเวลาผมไป ผมขอให้เขาช่วยรับผิดชอบอะไร เขาก็ทำได้ดีเสมอ เวลาไปสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมจะมีกีตาร์ตัวหนึ่ง ช้างอีกสองตัว ถึงโรงเรียนปั๊บ สายตาจะกวาดหาเด็กกลุ่มนี้ก่อนเลย เพื่อดึงมาอยู่กับผมเลยตลอดทั้งวันของการสอน 

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“มีเด็กคนนึงชื่อบุ้งกี๋ ไม่เคยพูดคุย ยิ้ม หรือหัวเราะกับใครที่โรงเรียนเลย ผมบอกให้บุ้งกี๋ไปตักน้ำมานะ ใส่ขันมาสาดช้าง บุ้งกี๋ก็ทำตามอย่างว่าง่าย พอสาดน้ำใส่ช้าง ช้างก็สาดน้ำกลับ เล่นกันสนุกสนาน บุ้งกี๋หัวเราะร่าเริง มีน้องที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมอีกสองคนปรบมือเชียร์อยู่ข้างๆ ครูอึ้งทั้งโรงเรียน เพราะเขาไม่เคยทำพฤติกรรมแบบนี้มาก่อน

“มีอยู่วันหนึ่งผมไปสอนเด็กมัธยมโรงเรียนเดียวกัน เนื้อหาที่สอนลึกขึ้น ผมก็เริ่มเอางานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมไปให้เด็กอ่าน สอนเด็กโตอยู่ หันมาเจอบุ้งกี๋ ซึ่งเป็นเด็กเล็ก ยื่นข้าวต้มมัดมาให้ เมื่อวานเขาได้ยินประกาศในโรงเรียนว่าพรุ่งนี้ครูกตจะมาสอนพี่มัธยม เขาเลยเตรียมขนมจากบ้านมามอบให้ ผมตระหนักเลยว่าเขารู้จักคิดและวางแผนได้”

น้ำใจและความไร้เดียงสาของเด็กพิการและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ยิ่งตอกย้ำให้ครูกตรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จึงเริ่มคิดหลักสูตรการศึกษาสำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ

03

ห้องเรียนในโลกกว้างของเด็กพิเศษ

“หัวใจของการทำกิจกรรมคือคำว่าทักษะชีวิต หมายถึงพัฒนาการทางด้านสติอารมณ์ สังคม ปัญญา และร่างกาย โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีความบกพร่องด้านต่างๆ สิ่งสำคัญในฐานะครู ผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ คือต้องรู้ว่าเด็กที่จะทำกิจกรรมด้วยเขามีพื้นฐานอย่างไร ยิ่งถ้าเป็นเด็กที่เพิ่งเจอครั้งแรก ก่อนจะสอนหรือทำกิจกรรมอะไร ต้องผ่านการคิด ใคร่ครวญมาแล้วเป็นอย่างดี

“เวลาสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ สารที่ส่งออกไปจริงๆ แล้วก็เท่ากับเด็กทั่วไป วิธีการสื่อสารต่างหากที่แตกต่าง มันต้องแยบยลกว่า ผมจะสมมติว่าถ้าตัวเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขาจะรู้สึกอย่างไร ถ้าจะสอนเรื่องนี้ ต้องสื่อสารแบบไหน ที่ผ่านมาผลเลยใช้การสื่อสารด้วยคำพูดกระชับสั้นๆ เพื่อดึงความสนใจ บอกเลยว่าอยากให้เขาทำอะไร เมื่อสารที่ส่งออกไปชัดเจนและมีพลัง เขาก็ทำได้เหมือนเด็กปกติ ที่สำคัญคือต้องเป็นการสื่อสารสองทาง ส่งสารออกไปและต้องได้รับสารกลับมาด้วย จึงจะถือว่าคุยกันรู้เรื่อง” ครูกตอธิบายยิ้มๆ

หลายปีก่อน ครูกตลงใต้ไปภูเก็ตเพื่อสอนเด็กที่มีภาวะออทิสติกและดาวน์ซินโดรม มีเด็กมาเรียนหลายร้อยคน ครูกตจึงไปฝึก ‘ยอดชาย’ ช้างเชือกหนึ่งที่รู้จักและอยู่ที่ภูเก็ตให้มาช่วยสอนด้วย 

ครูกตบอกว่าเด็กๆ เหล่านี้กล้ามเนื้อมัดเล็กไม่ค่อยแข็งแรง ทำให้ใช้มือได้ไม่คล่องแคล่ว หนึ่งในกิจกรรมที่ทำคือใช้สีทามือเด็กๆ จากนั้นให้เอามือไปแปะตัวช้าง จนสีจากฝ่ามือน้อยๆ นั้นประทับอยู่ทั่วตัวยอดชาย และสุดท้ายให้นำกระดาษไปประทับรอยสีจากฝ่ามือตัวเองที่ตัวช้าง เพื่อเป็นของที่ระลึกกลับบ้าน 

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“วันนั้นหลังกินข้าวเสร็จ ผมพาเด็กๆ ลงทะเล ถือขันคนละใบ สาดน้ำเล่นกับยอดชาย เด็กๆ ทุกคนสนุกกันมาก ช้างเป็นครูจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นตัวกลางในการสอนเรื่องสรีระสัตว์ใหญ่ แต่ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ ปรับอารมณ์ และพฤติกรรมให้เด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษ การเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพคือความเสมอภาคที่ทุกคนควรได้รับ ถ้าผมไม่ทำแล้วใครจะทำให้พวกเขา”

หลังจากนั้น ค่าย Nature, You & I สำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะ ก็เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง โดยมีอาสาสมัครมาช่วยงานหลายร้อยคน

“ค่ายนี้มีเด็กมาเข้าร่วมเป็นร้อยๆ คน กางเต็นท์นอนกันอยู่ในศูนย์อนุรักษ์ช้างนี่แหละ ช้างก็เดินไปเดินมา กลางวันเราเรียนเรื่องธรรมชาติ ขึ้นเขาเขียวผ่านผืนป่าไปดูเมฆบนท้องฟ้า กลางคืนฉายหนังกลางแปลง ด้วยความที่ค่ายเรามีเด็กตาบอดด้วย คนตาบอดดูหนังยังไง ช่วงที่ตัวละครคุยกันก็ปล่อยหนังเล่นไป แต่ช่วงที่มีแค่ภาพกับดนตรี ต้องมีคนพากษ์ ผมนี่แหละพากษ์หนัง (หัวเราะ)

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“อย่างหนังเรื่อง Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ผมพากษ์มาไม่รู้กี่รอบแล้ว ฉากที่นางเอกเขวี้ยงฉาบนี่ต้องบรรยายให้ละเอียดนะ เด็กตาบอดเขาถึงจะเห็นภาพ (ยิ้ม) เขวี้ยงไปทางไหน โดนใครไหม คนรอบๆ นางเอกมีท่าทียังไง ฉาบกระเด็นยังไง ระหว่างดูก็ย่างลูกชิ้นกินกัน นี่คือห้องดูทีวีห้องใหญ่ของพวกเรา แม้ว่าจะต้องนั่งบนพื้นดินแข็งๆ แต่มันคือความสุขใจอย่างที่โรงหนังทั่วไปให้ไม่ได้

“ผมเชื่อในกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างปัญญา แน่นอนว่าครูคือผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้นั้นให้เกิด แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเข้าใจอยู่คนเดียว เราต้องสร้างโครงข่ายให้คนอื่นๆ มาเข้าใจกระบวนการเหล่านั้นด้วย อาสาสมัครที่มาอยู่กับผมเป็นร้อยๆ คน ผมถ่ายทอดให้หมด วิธีคิดและเป้าประสงค์ต่อการจัดการศึกษา ไปจนถึงความเอาจริงเอาจังต่อสิ่งที่เราจะทำ”

04

มหาสมุทรไม่ใช่อุปสรรคในโลกที่มืดบอด

“ช้างในจินตนาการของเด็กตาบอด ตัวเท่าช้างปูนปั้นที่สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน พอได้มาเจอครูช้างตัวจริง เขาได้สัมผัสส่วนต่างๆ ได้ไปขี่บนคอ โลกของการเรียนรู้เกิดขึ้น สำนวนตาบอดคลำช้างที่มีมายาวนานจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าวันหนึ่งคนตาบอดได้คลำมันอย่างเป็นระบบ คลำอย่างมีเนื้อหา มีวิธีการ ที่สุดแล้วเขาจะรู้ว่าช้างเป็นอย่างไร 

ครูกตเล่าว่า เมื่อกิจกรรมการเรียนรู้สิ้นสุดลง เด็กๆ ตาบอดปั้นดินออกมาเป็นช้างได้ โดยย่อสเกลจากช้างตัวใหญ่ที่ได้สัมผัสส่วนต่างๆ มาเป็นดินปั้นที่มีรูปทรง คล้ายกับรูปปั้นของคนตาดีที่เห็นช้าง สิ่งที่ครูกตตระหนักคือ เมื่อคนขาดโอกาสได้รับโอกาส เขาจะใช้โอกาสนั้นสร้างผลลัพธ์ได้ดี ไม่ต่างจากคนที่มีโอกาสอยู่ในมือเลย 

“วันหนึ่งผมสอนเด็กตาบอดว่ายน้ำและดำน้ำ ไม่ใช่ว่าอยากทำเรื่องเสี่ยงหรือท้าทายอะไรหรอก การสอนเด็กทุกประเภท รวมถึงเด็กตาบอด เรามุ่งที่การพัฒนาทักษะชีวิตอย่างที่เล่าไปข้างต้น การว่ายน้ำเป็นทักษะที่จะทำให้คนตาบอดช่วยตัวเองได้ในยามคับขับ วันหนึ่งเขาอาจไปขึ้นแพข้ามแม่น้ำ แพล่ม โป๊ะล่มขึ้นมา เขาก็เอาตัวรอดได้ ทักษะแบบนี้มันฝึกกันได้ เพียงแค่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสอน”

เริ่มจากฝึกลอยตัว ฝึกว่ายน้ำ น้องๆ ผู้พิการทางสายตาและพิการซ้ำซ้อนทุกคนทำได้ มีครูกตและพี่ๆ อาสาสมัครที่เชี่ยวชาญการว่ายน้ำและดำน้ำเป็นผู้ฝึกสอนอย่างใกล้ชิด เป็นบทเรียนล้ำค่าที่พวกเขามีโอกาสได้ลงมือทำจริง จากที่เคยรับรู้แต่ไม่เคยมองเห็นหรือสัมผัส

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“หลังจากนั้นผมก็สอนเด็กทำ Scuba Diving เลย ปกตินักดำน้ำจะมีภาษามือสากลไว้ใช้สื่อสารกันใต้น้ำ แล้วคนตาบอดจะสื่อสารกันยังไงในเมื่อมองไม่เห็น ผมจึงคิดสัญลักษณ์ใหม่ขึ้นมา ให้นักดำน้ำตาบอดไว้ใช้สื่อสารกับบัดดี้ที่เป็นคนตาดี โดยอาศัยการสัมผัส บีบมือแบบนี้คือการสอบถามว่ายังโอเคไหม หยิบมือตั้งขึ้นหมายถึงเปลี่ยนระดับดำน้ำให้สูงขึ้น พอฝึกฝนจนมั่นใจในสระน้ำแล้ว เราก็ไปวางปะการังเทียมในทะเลกันเลย”

ครูกตเล่าว่าหนึ่งใน Instructure ที่มาช่วยฝึกเด็กๆ ตาบอดดำน้ำคือ ไก่ต๊อก (ณฐพล คงมาลัย) น้องชายของตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย) ที่เป็นคนฝึกดำน้ำให้ตูนในการถ่ายทำโฆษณารณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกด้วย 

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย
อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน เวลาว่างจากการทำงาน ครูกตจะหิ้วลำโพงเล็กๆ เครื่องหนึ่ง ขับรถไปโรงเรียนสอนคนตาบอด เพื่อไปเล่าเรื่องผืนป่าและมหาสมุทรให้เด็กพิการทางสายตาฟัง ทุกคนนั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ แม้จะไม่มีวันมองเห็น แต่เรื่องราวเหล่านี้ก็ทำให้เขารู้ว่าตัวเองคือหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของสิ่งแวดล้อม 

“พอคนคนหนึ่งได้เข้าใจเรื่องอะไรบางอย่างละเอียด เขาก็จะให้ความสำคัญกับมันไปโดยปริยาย สิ่งแวดล้อมศึกษาเชิงระบบที่ผมสอนอยู่เนี่ย มันเข้าไปแตะกับหลายเรื่อง อย่างการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ก็เป็นอีกศาสตร์ที่ผมสนใจ และผมเชื่อไม่เหมือนคนอื่น ผมเชื่อว่าไม่มีข้อจำกัดใดกีดขวางพัฒนาการของมนุษย์ได้ ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนา หากได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม”

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

05

โลกที่กว้างกว่าแค่ตัวเอง

5 ปีที่แล้ว ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาหรือ EEC Thailand (Environmental Education Center) ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อต่อยอดแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาของครูกตออกไปยังเยาวชนอีกหลายๆ กลุ่ม ทั้งในเมืองและชนบท เพราะวันหนึ่งข้างหน้าเด็กๆ เหล่านี้ จะเติบโตขึ้นเป็นกลไกในการขับเคลื่อนสังคม ทุกสิ่งที่เขาทำจะตั้งอยู่บนความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“หลายครั้งที่ผมพาเด็กเมืองไปนอนบนดอย ในหมู่บ้านมูเซอ ที่อมก๋อย ไปแต่ละปีผมก็จะไปเล่าเรื่องทะเลให้เด็กดอยฟัง พอเย็นๆ ผมเริ่มทำกับข้าว ผู้ใหญ่ประกาศผ่านเสียงตามสาย ‘ครูกตมาแล้ว วันนี้จะมาเล่าเรื่องทะเลอีก’ ปรากฏว่าคนมากันทั้งหมู่บ้าน เด็กๆ คนเฒ่าคนแก่ ผมก็ฉายรูปขึ้นจอกลางหมู่บ้านเลยตอนกลางคืน ปลาปักเป้าคืออะไร ฉลามเอยวาฬเอย เล่าหมด โอ้โห ฟังกันมันยิ่งกว่าหนังกลางแปลง (หัวเราะ)

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“มีอยู่ปีหนึ่ง พอฟังเรื่องจบ เด็กๆ มูเซอห้าคนยกมือบอกว่า ‘พวกหนูประชุมกันแล้ว เราจะขอให้ครูพาพวกเราไปทะเล ไปดำน้ำแบบที่ครูมาเล่าทุกปีค่ะ’ ผมก็ถามว่าใครว่ายน้ำเป็นบ้าง เด็กบอก ‘ครูพละเป็นคนแม่ริม ว่ายน้ำได้คนหนึ่งค่ะ’ อ้าวแล้วที่เหลือล่ะ ‘ครูขา หมู่บ้านเราเวลาน้ำท่วม มันแค่ตาตุ่มเท่านั้น เราไม่เคยว่ายน้ำกันหรอกค่ะ แต่ครูไม่ต้องห่วงนะคะ เพื่อนหนูหลายคนเคยลงจากดอยไปเมืองเชียงใหม่มาแล้ว เมารถกันทุกคนค่ะ’ นาทีนั้นผมคิดในใจ เอาไงดีวะ นี่ไปไกลถึงภาคใต้เลยนะ

“สุดท้ายเราก็มีผู้ใหญ่หลายท่านมาช่วยสนับสนุนค่าเดินทาง อาหารและที่พักให้เด็กๆ ได้สำเร็จ วันเดินทางเด็กๆ แต่งตัวเต็มยศด้วยชุดประจำเผ่าที่เขาภาคภูมิใจ บินลงไปถึงกระบี่ เริ่มเรียนลอยตัวและหัดดำน้ำในสระก่อน กระบวนการเหมือนตอนสอนเด็กตาบอดดำน้ำนั่นแหละ จากนั้นจึงลงไป Scuba Diving กันในทะเล ลงไปประมาณหกเมตรจากระดับน้ำทะเล 

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย
อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“เด็กดอยยี่สิบกว่าคนมาทะเลครั้งแรก และดำน้ำลงไปดูโลกใต้ทะเลที่เคยเห็นแต่ในรูปภาพ ส่วนครูพละชาวแม่ริมนั้น ไม่ได้ลงทะเลนะ กลัว” ครูกตเล่าไปหัวเราะไป

“กิจกรรมแบบนี้เป็นหนึ่งในหัวใจของ EEC ที่ได้รับการสานต่อทุกปี เราพาเด็กดอยไปดูโลกใต้ทะเล เราพาลูกทะเลขึ้นดอยไปเรียนเรื่องผืนป่า เขาต้องทำความรู้จักโลกที่กว้างกว่าแค่ตัวเอง เมื่อเขาเข้าใจ เขาจะรู้ว่าตัวเองสำคัญต่อระบบโครงสร้างสิ่งมีชีวิตอย่างไร”

06

เสียงดนตรีที่ไร้พรมแดน

“ในขณะเดียวกัน ดนตรีก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือชิ้นสำคัญ พื้นเพผมเป็นคนชอบเล่นดนตรี ดังนั้นเวลาผมสอนหรือจัดการบรรยาย ผมจะมีกีตาร์ เมาท์ออแกน ไวโอลิน มาเล่นให้เด็กๆ ฟังด้วย ดนตรีมันเข้าไปสนับสนุนกระบวนการต่างๆ ให้ไหลลื่นกลมกลืน และกระตุ้นพัฒนาการบางอย่างไปด้วยพร้อมๆ กัน”

แรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีของครูกต เกิดขึ้นสมัยที่ยังเป็นนักเรียนที่ยะลา “โรงเรียนของผมอยู่ในชนบทไกลมาก วันหนึ่งมีพี่คนหนึ่งมาเล่นดนตรีที่โรงอาหารตอนพักเที่ยง แกเล่นสนุกมาก ทั้งภาพและเสียงติดอยู่ในใจผมตั้งแต่เด็ก ขนาดเป็นโรงเรียนปกติ ยังไม่มีครูดนตรีเลย ไม่ต้องพูดถึงโรงเรียนคนตาบอดจำนวนมากในประเทศไทยที่ขาดบุคลากรทางด้านดนตรี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กตาบอดสักคนจะได้เรียนดนตรี โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้มาจากครอบครัวที่เพียบพร้อม”

ครูกตบอกว่าเด็กที่พิการทางการมองเห็นส่วนใหญ่มีดนตรีในใจอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังเครื่องดนตรีชนิดนั้นชนิดนี้บ่อยเข้า ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะอยากเล่นได้บ้าง เด็กๆ จึงมาขอให้ครูกตสอนเล่นไวโอลิน 

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

เครื่องสายตะวันตก ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีชิ้นหลัก 4 ชิ้น คือ ไวโอลิน วิโอลา ดับเบิลเบส และเชลโล

“ทั้งชีวิตผมสอนคนเล่นไวโอลินมามาก แต่คราวนี้ผมจุก ให้ทดลองสอนน่ะสอนได้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะสอนให้พวกเขาเล่นได้หรือเปล่า อุปสรรคใหญ่คือการอ่านโน้ตดนตรี ผมขอเวลาเด็กๆ หนึ่งเดือนทำการบ้านเรื่องนี้ ผมศึกษาอักษรเบรลล์ก่อนอย่างแรก โลกสร้างอักษรเบรลล์มานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่ไม่มีใครเอาเบรลล์มาทำ Essential เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับเครื่องสายตะวันตกมาก่อน 

“ผมเลยเอาเบรลล์มาเขียนเป็นโน้ต ออกมาเป็นบทเรียนดนตรี และสอนให้เด็กตาบอดหัดอ่านโน้ตเพลง จุดแบบนี้คือโด เร มี จุดแบบนี้แทนเครื่องหมายกั้นห้อง หนึ่งห้องมีสี่จังหวะ เรียกว่าสอนกันตั้งแต่พื้นฐานเลย ชีตเพลงระดับกลาง ปกติใช้กระดาษประมาณสี่แผ่น ในขณะที่โน้ตเบรลล์ต้องใช้กระดาษมากถึงเก้าแผ่นทีเดียว”

สิ่งน่าทึ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อสอนไปเรื่อยๆ แม้จะมองไม่เห็นแต่น้องๆ ก็จำท่าล็อกมือ ท่าขึ้นคันชัก และเล่นได้อย่างแม่นยำ จากไวโอลินส่วนตัว ครูกตเริ่มไปหยิบยืมเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ มาให้น้องๆ ลองเล่น รวมถึงรับบริจาคเครื่องดนตรีจากทั่วประเทศ บางตัวส่งมาชำรุด ครูกตซ่อมแซมจนเด็กๆ นำไปเล่นได้ จากเล่นคนเดียว ก็เริ่มมาล้อมวงเล่น 4 ชิ้น 8 ชิ้น ใหญ่ขึ้นเป็น 36 ชิ้นและกลายเป็นวงออร์เคสตราเด็กตาบอดและเด็กพิการซ้ำซ้อน ที่มีเครื่องดนตรีถึง 53 ชิ้นในที่สุด

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“แต่ผมไม่ได้ทำคนเดียวนะครับ เรามีน้องๆ หลายคนที่เรียนจบเอกดนตรีมาเป็นครูดนตรีอาสา ที่ทำให้เครื่องดนตรีในมือน้อยๆ ของเด็กตาบอดและพิการซ้ำซ้อน กลายเป็นเครื่องดนตรีที่มีลมหายใจจากความพยายามและตั้งใจจริง แม้โลกมืดบอด” ครูกตเอ่ยขึ้น

07

แบ่งปันโอกาสคือหัวใจของการศึกษา

นวัตกรรมอีกอย่างที่ต้องคิดค้นขึ้นคือการ Conduct วงออร์เคสตรา ที่ปกติวาทยากร (Conductor) สื่อสารกับสมาชิกในวงด้วยสัญญาณมือ เมื่อสมาชิกวงมีความบกพร่องทางการมองเห็น คำถามคือจะ Conduct วงอย่างไร 

“เวลาพาเด็กไปเล่นที่ไหน เริ่มจากสมาชิกวงเข้านั่งประจำที่ ผมจะขึ้นเวลาไปทักทายผู้ชมในฐานะวาทยากร จากนั้นจะมีเด็กคนหนึ่ง เดินก็อกแก๊กๆ ถือไม้เท้านำทางไปนั่งที่ตำแหน่ง First Violin ทันทีที่เขานั่งเรียบร้อย ผมจะคำนับแล้วลงจากเวทีไปเลย

“จากนั้นเด็กคนนั้นจะหายใจ ‘ฟุดฟุด’ เป็นสัญญาณบอกสมาชิกในวงให้ขึ้นเครื่องดนตรี ‘ฟืด’ เป็นสัญญาณตั้งเสียง เขา Conduct วงด้วยลมหายใจ คนตาบอดหูดี จาก First Violin เด็กเล่นดับเบิลเบสที่อยู่ห่างออกไปเกือบเจ็ดเมตร จะได้ยินเสียงลมหายใจนี้อย่างชัดเจน ดังนั้นเวลาคุณนั่งฟังวงออร์เคสตราเด็กตาบอด ระหว่านท่องเพลงต่างๆ จะมีเสียงลมหายใจเข้ามาประกอบ น่าจะเป็นครั้งแรกในโลกที่วาทยากรกินน้ำแข็งไสอยู่หลังเวทีระหว่างการแสดง” ครูกตเล่าอย่างอารมณ์ดี

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

ครูกตบอกว่าสิ่งยิ่งใหญ่และภาคภูมิใจที่สุดของตัวเองและเด็กๆ คือการได้ไปเล่นดนตรีถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสี่วันก่อนพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่สวนสันติชัยปราการ เด็กๆ เล่นเพลง ในหลวงของแผ่นดิน และมีโอกาสได้กราบพระบรมศพกันทุกคน

หลังก่อร่างสร้าง Thai Blind Orchestra จนสำเร็จ ครูกตปล่อยให้เด็กๆ นำวงของพวกเขาไปเล่นดนตรีตามที่ต้องการ และเปลี่ยนชื่อเป็น Thai Blind Symphony Orchestra เนื่องจากครูกตหาเครื่องเป่าเข้ามาเสริมวงได้ ทั้งทรัมเป็ต แซกโซโฟน ทอมโบน คาลิเนต ฟรุ๊ต

“ผมยังจำวันแรกๆ ที่สอนให้เด็กๆ เล่นเครื่องสายได้ เขาคุยกันว่าวันหนึ่งที่เล่นเครื่องดนตรีเหล่านี้ได้ เขาอยากทำการแสดงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และอยากไปสอนคนตาบอดที่อื่นๆ อย่างที่ครูกตและครูดนตรีอาสาทำ ผมชื่นใจในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไกลๆ เมื่อได้รับโอกาส เขาก็อยากจะแบ่งปันโอกาสนี้ไปสู่คนรุ่นอื่นๆ อีก นี่คือหัวใจของการศึกษา เราอยากเห็นกระบวนทัศน์นี้เกิดขึ้นในการศึกษาหลายๆ แขนงในประเทศไทย

อลงกต ชูแก้ว ผู้ก่อร่างศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาและก่อตั้งออเคสตราเด็กตาบอดวงแรกของประเทศไทย

“ปรัชญาเหนือกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำอยู่ คือการมุ่งไปสู่การทำประโยชน์ให้สังคม ที่ลูกศิษย์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเมืองฐานะดีหรือเด็กด้อยโอกาสได้ซึมซับอยู่ตลอดเวลา เขารู้ว่าครูทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อสร้างโน้ตเพลงอักษรเบรลล์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนมาให้เขาเรียน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เด็กจะสัมผัสและซึมซับจากบุคคลใกล้ๆ ตัวอย่างคุณครู และวันหนึ่งเขาจะขยายสิ่งที่ได้รับเหล่านี้ออกไปในสังคม”

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู