แอลลี่ (ALLY)-อชิรญา นิติพน คือ ศิลปินวัย 16 ที่ทำได้ดีทั้งร้อง เต้น และเอนเตอร์เทน

เธอเป็นศิลปินคนแรกของค่าย 411 Music แจ้งเกิดในเพลง How To Love ซึ่งทำงานร่วมกับ GRAY ศิลปินและโปรดิวเซอร์ชื่อดังชาวเกาหลี

แอลลี่เป็นที่จับตามาตั้งแต่เด็ก ในฐานะทายาทศิลปินผู้เต็มไปด้วยความมั่นใจ ความเป็นเด็กกล้าพูด กล้าแสดงออก ทำให้เธอได้รับความรักมากมายจากมหาชน จนถึงวัยที่พอจะรู้ความ เธอพบความเห็นมากมายที่พูดถึงเธอในโลกอินเทอร์เน็ต และคำตัดสินนั้นทำให้เธอเปลี่ยนไป 

เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี

ด้วยต้นทุนชีวิตที่มี แอลลี่สามารถเลือกเป็นศิลปินด้วยวิธีการที่ง่ายกว่านี้ แต่เธอเลือกที่จะเก็บกระเป๋าไปฝึกฝนตัวเองอย่างหนักที่เกาหลีด้วยตัวคนเดียวเป็นเวลากว่า 1 ปี

ทั้งเรียนร้อง เรียนเต้น เรียนภาษาเกาหลี และยังไม่ทิ้งการเรียนภาคปกติ เรียนออนไลน์กับโรงเรียนที่อเมริกาข้ามคืนทุกวัน

แม้จะพอรู้มาบ้างว่าการเป็นศิลปินฝึกหัดที่เกาหลีนั้นจริงจังยิ่งกว่าฝึกนักกีฬา ไลฟ์โค้ชของแอลลี่ไม่ใช่ครูผู้สอนคนใดคนหนึ่ง แต่นับรวมชาวเน็ตด้วย แม้จะอยากเก็บกระเป๋ากลับบ้านวันละหลายๆ รอบ แอลลี่ก็อดทนจนเดบิวต์เป็นศิลปินสมที่ตั้งใจ

The Cloud สนใจวิธีคิดของแอลลี่ จึงขอแทรกคิวช่วงที่เธอกำลังโปรโมตเพลงใหม่ ก่อนเปิดเครื่องบันทึกเสียง เราแลกเปลี่ยนเพลงของวงไอดอลเกาหลีกัน แม้วัยจะห่างกันเกินรอบ แต่จักรวาลเคป๊อปก็เชื่อมเราเข้าด้วยกัน ถ้าไม่ต้องคุยเรื่องจริงจังจนหมดแรงไปเสียก่อน เราคงขอให้แอลลี่สอนท่าเต้นเพลง No Matter What I Do เพลงใหม่ของเธอให้

ถ้าคุณเคยคิดว่าแอลลี่คนนี้ดูโตกว่าวัย ลองฟังสิ่งที่เธอคิดและได้เรียนรู้ผ่านบทสนทนานี้

เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี

แอลลี่ในวัยเด็ก เป็นเด็กแบบไหน

ถ้าไม่นับเรื่องแสบและซน หนูเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองมาก ไม่ค่อยสนใจว่าใครคิดกับเรายังไง ป๊ะป๋ากับแม่อยากให้แอลลี่เรียนรู้จากประสบการณ์ เขาไม่เคยห้ามหรือทำให้แอลลี่รู้สึกอยู่ในกรอบ ซึ่งทำให้หนูได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง จนเมื่อโตขึ้น หนูได้อ่านความเห็นในอินเทอร์เน็ตที่บอกว่าเราเป็นเด็กที่ดูโตกว่าวัย เรารู้สึกแย่ที่คนที่ไม่ได้รู้จักหรือเคยเจอเรากลับพูดถึงเราแบบนี้ ตอนนั้นหนูไม่กล้ากลับไปดูคลิปวิดีโอตอนเด็กเลยเพราะอาย มันทำให้หนูอยากเปลี่ยนตัวเอง มีช่วงหนึ่งที่ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าพูดกับใคร เพราะกลัวว่าเขาจะตัดสินเราจากคำพูดเหล่านั้น

หลังจากวันนั้นแอลลี่เปลี่ยนไปอย่างไร

หนูกลายเป็นคนไม่ยึดติดกับอดีต ถ้าใครคนหนึ่งเคยทำบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ แล้วเขาขอโทษ เราพร้อมที่จะให้อภัยแล้วเริ่มต้นใหม่ หนูก็หวังว่าคนจะไม่ยึดติดกับสิ่งที่หนูเคยเป็นตอนหกขวบ

เริ่มรู้ตัวว่าอยากเป็นนักร้องตั้งแต่เมื่อไหร่

ตอนเด็กๆ หนูไม่ค่อยกล้าบอกใครว่าอยากเป็นนักร้อง เพราะพอรู้สึกว่าคนจะเป็นนักร้องต้องร้องเพลงเก่งที่สุด คนจึงจะยอมรับ เวลาใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร หนูก็มักจะตอบว่าแฟชั่นดีไซเนอร์บ้าง หมอบ้าง ครูบ้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วอยากเป็นนักร้องมากที่สุด หนูเก็บไว้เพราะกลัวจะมีคนบอกว่า ไม่เห็นจะร้องเพลงเพราะเลย 

คุณฝันอยากจะเป็นศิลปินแบบไหน

หนูอยากเป็นศิลปินที่เป็นตัวของตัวเอง ได้แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมา หนูไม่อยากเป็นใครอีกคนที่ไม่ใช่ตัวเรา

ด้วยต้นทุนชีวิตที่มี คุณเริ่มต้นเป็นศิลปินด้วยวิธีการที่ง่ายกว่านี้ได้ ทำไมเลือกเส้นทางที่ใช้เวลาฝึกฝนนานนับปีแบบนี้

เพราะหนูไม่อยากให้คนติดภาพว่าพ่อหนูเป็นใคร หรือหนูได้อะไรมาง่ายๆ หนูอยากไปอีกทาง ทางที่ไม่มีใครช่วยหนูได้นอกจากตัวหนูเอง ตอนนั้นแค่อยากลองดู คิดว่าถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หนูเข้าไปออดิชันทั้งที่ไม่เคยเรียนร้องเพลงจริงจังมาก่อน ไม่รู้เทคนิคขึ้นเสียงสูงลงเสียงต่ำ แค่ร้องเพลงไปตามอารมณ์ และเต้นไปตามความรู้สึก เมื่อผ่านคัดเลือก หนูก็รู้สึกว่านี่เป็นโอกาสที่หนูจะได้พิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็น

นอกจากไปเพื่อพิสูจน์ตัวเอง โจทย์ของการไปเกาหลีคืออะไร

หนูอยากลองใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ตอนอยู่บ้านกับแม่ แม่จะช่วยทำให้ทุกอย่าง ที่เกาหลีหนูต้องทำเองทุกอย่าง ซักผ้า ถูพื้น ล้างห้องน้ำ ทำอาหาร ดูแลที่นอน และตื่นให้ทันเวลา ตอนแรกแม่ก็ไม่ยอมหรอก แม่ถามว่าถ้าแอลลี่อยากออกมากลางคันแล้วจะทำยังไง เมื่อตัดสินใจแล้วเปลี่ยนใจร้องกลับบ้านไม่ได้นะ ตอนแรกหนูไม่คิดเลยว่าหนูจะท้อ หนูว่าหนูทำได้

แล้วทำได้อย่างที่คิดไหม ของจริงต่างจากที่จินตนาการไว้แค่ไหน

ก่อนไปหนูหาข้อมูลแล้วเบื้องต้น อ่านที่มีคนเขียนเล่าประสบการณ์ก็พอจะรู้ว่ายากเย็นและท้อแน่นอน แต่ของจริงคนละความรู้สึกเลย ตอนอ่านเรื่องคนอื่น เรารู้สึกสงสารและเห็นใจเขา แต่พอเป็นตัวเอง ไม่ใช่แค่เศร้าแต่มันท้อมาก

ตารางการฝึกฝนในแต่ละวันเป็นอย่างไร

ตื่นเก้าโมงเช้า วิ่งที่ยิมหนึ่งชั่วโมง ซึ่งบางวันก็สลับกับทำพิลาทิส จากนั้นกลับมาอาบน้ำ ทานข้าว เดินทางไปที่ตึก เพื่อเรียนร้องเพลง เรียนเต้น เรียนการแสดง และเรียนภาษาเกาหลี จากนั้นซ้อมเพื่อทำการแสดง แล้วถ่ายวิดีโอส่งการบ้านถึงสี่ทุ่ม ตอนกลางคืนเป็นเวลาชั้นเรียนออนไลน์ไฮสคูลของหนูที่อเมริกา เรียนจนถึงเวลาตีหนึ่งตีสอง บางวันที่ยังไม่ง่วงนอนก็จะดูหนังฟังเพลงต่อ 

สามเดือนแรกที่ไป มีหนูเป็นเด็กฝึกคนเดียวในค่าย ก่อนที่เพื่อนๆ จะทยอยตามมา ซึ่งทุกคนไม่ได้มาเพื่อแข่งกัน แต่มาเพื่อแข่งกับตัวเอง ครูฝึกจะคอยให้คะแนนพัฒนาการด้านที่เกี่ยวกับการร้องและเต้น การออกกำลังกาย การฝึกซ้อม

เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี
ภาพ : 411 Music
เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี
ภาพ : 411 Music

อะไรคือเรื่องยากๆ ที่เจอระหว่างเป็นเด็กฝึก

คำพูดของครู ซึ่งไม่คิดมาก่อนว่าจะแรงขนาดนี้ ตอนแรกหนูฟังไม่ออกก็พยายามเรียนภาษาเกาหลีให้เก่งเพื่อจะได้เข้าใจ ซึ่งตอนแรกนึกว่าจะมีคำชมเป็นรางวัลว่าวันนี้ทำดี แต่กลับเจอคอมเมนต์เจ็บๆ เยอะ มันแรงจนหนูงงว่ามันแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ ซึ่งหนูก็รู้ว่าครูพูดเพื่อผลักดันและดึงศักยภาพที่มีออกมา

มีชั้นเรียนไหนไหมที่ทำให้อยากกลับบ้านบ้าง

ทุกชั้นเรียนเลย ยกเว้นวิ่ง พิลาทิส และภาษาเกาหลี 

สามเดือนแรกยังไหวเพราะทุกอย่างยังใหม่ แต่หลังจากที่มันเริ่มซ้ำกันทุกวัน หนูเริ่มไม่มีความสุข เริ่มคิดว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ อยากกลับบ้าน ช่วงที่อยากกลับบ้านมากที่สุดคือช่วงที่กำลังจะเดบิวต์ เพราะซ้อมหนักมากๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับเดบิวต์ และครูก็ยิ่งพูดผลักดันเรา เขาบอกเสมอว่าถ้าแค่นี้รับไม่ได้ วันข้างหน้าหนูจะรับไม่ได้มากกว่านี้ เพราะจะมีคอมเมนต์จากใครมากมายที่เราไม่รู้จัก แล้วเราต้องรับให้ได้ ตอนนั้นเคว้งคว้างมาก คิดว่าเราอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ นี่อาจจะเป็นแค่บทเรียนชีวิตบทหนึ่ง

ภูมิคุ้มกันสมัยเด็ก ช่วยให้รับมือกับความกดดันจากคำพูดง่ายขึ้นบ้างไหม

ตอนเป็นเด็ก ที่เจอความเห็นในอินเทอร์เน็ตแล้วทำให้รู้สึกไม่ดี หนูก็แค่เดินไปหาแม่ ให้แม่อธิบายว่าทำไมเขาถึงพูดถึงหนูแบบนั้น เมื่อเข้าใจก็รู้ว่าทำยังไงถึงเลิกรู้สึกไม่ดี แต่การไปอยู่เกาหลีคนเดียว หนูไม่กล้าบอกทีมงานว่าหนูท้อแค่ไหน เพราะไม่อยากให้เขารู้สึกแย่ เมื่อไม่มีใครให้เดินไปหา ก็ต้องเก็บทุกอย่างไว้และรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลก ตอนหลังเรามักจะหาอะไรดึงความสนใจเราไปที่อื่น ถึงแม้จะชอบร้องเพลงและเต้นมาก แต่ถ้าทำเยอะเกินไปก็จะเริ่มไม่ไหว ถ้าไม่เล่นเกม หนูก็จะทำขนม ไปเที่ยว ไปเดินเล่น เพื่อให้ความคิดนั้นหายไป

เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี
ภาพ : 411 Music

จริงๆ แล้วข้ามภูเขาลูกนั้นมาได้อย่างไร

หนูใช้วิธีกดดันตัวเองในทางที่ไม่ดี เพื่อให้ตัวเองพัฒนาขึ้น

กดดันตัวเองในทางที่ไม่ดี?

ฟังแล้วอาจจะเศร้านิดหนึ่ง คือการคิดกับตัวเองว่า เรายังไม่ดีพอ ยังแย่มาก ทำไมทำได้แค่นี้ หรือคิดว่า ถ้าครูพูดแค่นี้ ในใจเขาต้องคิดมากกว่านี้แน่นอน เพียงแค่ไม่ได้พูดออกมา เพราะมันอาจจะทำร้ายจิตใจเกินไป ตอนนั้นหนูชอบจินตนาการ แต่ตอนนี้ไม่เป็นแล้วนะคะ สมมตินั่งคุยกับใคร หนูจะชอบคิดในใจว่าเขารำคาญเราหรือเปล่า หรือหนูไม่เก่งพอหรือเปล่า ที่หนูเต้นไม่ได้ซะที เขาจะโกรธหนูไหม แล้วมันยิ่งทำให้รู้สึกทนไม่ได้ ต้องการที่จะเก่งขึ้น มันเครียดมากๆ เครียดจนทนไม่ไหว เพราะมีความรู้สึกว่าไม่มีใครชอบหนู แต่เขาต้องทำเป็นว่าชอบเพราะต้องฝึกฝนหนู

คิดเพื่อจะผลักตัวเอง?

ใช่ค่ะ ตอนแรกไม่ได้ทำขนาดนี้ แต่พอทุกอย่างเริ่มวนเป็นลูปทุกวันเหมือนเดิม ครูสอนท่าเต้นเดิม การร้องเหมือน ทุกอย่างเหมือนเดิม เพราะว่าหนูยังทำไม่ได้ หนูก็เริ่มคิดว่าทำไมมันไม่ได้ซะที เขาคงรำคาญแล้ว ก็เกิดเป็นความเครียด

คุ้มค่าแค่ไหน

อย่างน้อยเป็นบทเรียนที่สอนเรื่องการจัดการกับอารมณ์ ตอนนั้นรู้สึกลบกับทุกอย่าง มีความรู้สึกว่าทุกคนคิดลบเรื่องหนูมากๆ แต่เมื่อผ่านไปได้ พอได้บอกความรู้สึกของตัวเองกับแม่ พ่อ และเพื่อนๆ ทุกคนก็บอกว่า ที่แอลลี่คิดนั้นไม่จริง ทุกคนทำเพื่อให้แอลลี่พัฒนาเพราะแอลลี่เป็นคนของบริษัท และยังเป็นคนแรกของบริษัท เขาก็อยากให้แอลลี่เก่ง ไม่ได้ทำเพื่อตำหนิอย่างเดียว

มีไหมสักครั้งที่ได้รับคำชม

มีค่ะ 

เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี
ภาพ : 411 Music

คำแรกที่ได้ยินคือคำว่าอะไร และเมื่อไหร่

คำว่า It’s ok. ของครูสอนเต้น ซึ่งถือว่าโหดที่สุด เขาเป็นคนที่เก็บรายละเอียดทุกอย่างเก่งมาก หนูนับถือเขา เพราะมันช่วยให้หนูใส่ใจรายละเอียดในท่าเต้น อาทิตย์แรกที่เรียน หนูเจอแต่คำว่า ‘ยังไม่ดีพอ’ ‘คุณได้ซ้อมมาหรือเปล่า’ จนวันศุกร์ได้ยินคำว่า It’s ok. รู้สึกชีวิตเปลี่ยนเลย แค่คำว่าโอเค ก็รู้สึกว่ามันโอเคแล้ว รอบแรกมันแย่มาก แต่รอบนี้มันโอเคแล้ว ต่อไปคงจะดีขึ้นมั้ง

ซึ่งจริงๆ คำนี้ไม่ใช่คำชม

ครั้งสุดท้ายที่ลากันก่อนกลับไทย เขาบอกว่า ‘วันนี้ทำดี’ แค่ได้ยินก็รู้สึกสดใสขึ้นมา

หนูได้เรียนรู้ว่า คำพูดดีๆ แม้จะเล็กๆ แต่มีความหมายมากนะ ทำให้คนคนหนึ่งมีวันที่ดีหรือแย่ได้เลยจากคำพูดนั้น หลายคนอาจจะไม่เคยคิดว่าคำพูด เช่น วันนี้แต่งตัวสวยจัง ชอบอายไลน์เนอร์จัง วันนี้ทำได้ดีมาก นั้นช่วยใครบางคนได้จริงๆ

ฝึกหนักขนาดนี้ คาดหวังอะไรจากการเดบิวต์

หนูไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนฟังเพลงกี่คน หนูมีความสุขที่มีผลงานออกมา บางคนอาจจะไม่ชอบ ก็ไม่เป็นไร หนูแค่อยากให้เขาเห็นงานที่หนูภูมิใจ วันนั้นก็เลยเป็นวันที่มีแต่ความดีใจ ไม่หวังอะไรมากเลย

เดบิวต์แล้วก็ไม่ได้แปลว่าความยากลำบากที่เคยเจอจะจบลงใช่ไหม

พอเดบิวต์แล้ว เจอกับข้อความที่ทำให้รู้สึกเป๋ๆ ไม่ว่าเราทำอะไร ทำไมถึงมีคนดูไม่พอใจอะไรเลย เขาไม่เห็นความพยายามของเรา หรือเราทำอะไรผิด คอมเมนต์ที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุด คือการพูดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก โดยไม่พูดถึงทักษะหรือความพยายามอะไรเลย หนูเข้าใจว่าเราไม่อาจทำให้ทุกคนถูกใจ หนูขอทำส่วนของเราให้ดีดีกว่า หนูไม่อาจเปลี่ยนความคิดของใครได้ แค่รู้ว่าหนูจะไม่ทำแบบเขา เราจะไม่ตัดสินใครด้วยภาพภายนอก

การเป็นแอลลี่ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง

เยอะมาก ชีวิตหนูได้บทเรียนจากอินเทอร์เน็ตเยอะเลย เพราะที่โรงเรียน เวลาที่ใครมีปัญหาผิดใจกับใคร เราคุยปรับความเข้าใจกันได้ตรงนั้น มีครู มีเพื่อนมานั่งคิดหาทางออกกันร่วมกัน แต่ในโลกอินเทอร์เน็ต หนูไม่สามารถตอบข้อความนับร้อยนับพันที่ไม่ชอบหนู บางทีก็รู้สึกนะว่าทำไมเราไม่มีเสียงของเราบ้างเลย เมื่อเรียนรู้ว่าโลกนี้มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเรา หนูก็อยากจะเป็นตัวอย่างที่ดี วันหนึ่งเขาอาจจะเปลี่ยนความคิดก็ได้ เราก็แค่ทำตัวของเราให้ดี

กระแสตอบรับจากแพลตฟอร์มไหนแรงที่สุด

ทวิตเตอร์ค่ะ แฮชแท็กขึ้นเลย มีทั้งคนที่ชื่นชมซึ่งหนูรู้สึกขอบคุณเขา และคนที่ไม่ชอบซึ่งเขามีภาพจำถึงเราไม่ดี หนูก็ได้แต่ปล่อยเขา ไม่อาจเข้าไปตอบทุกข้อความว่าหนูไม่ได้เป็นแบบนั้น 

และยังมีความกดดันที่อยากทำงานใหม่ๆ ให้ออกมาดีขึ้นทุกรอบ เพราะไม่อยากทำให้ใครต้องผิดหวังในตัวหนู และหวังว่าในอนาคตคนจะเห็นพัฒนาการของหนู และกลับมาคิดใหม่ว่าเราก็โอเค ไม่ได้แย่เท่าไหร่

แอลลี่ในวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

โตขึ้นค่ะ ถ้าพี่สัมภาษณ์หนูเมื่อก่อน หนูตอบคำถามแบบนี้ไม่ได้แน่ๆ หนูคงจะตอบแค่ ‘ก็ดีค่ะ’ ก่อนหน้านี้หนูไม่ได้คิดลึกขนาดนี้ว่า ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ตอนนั้นหนูคิดแค่ตัวเอง ไม่ได้คิดถึงคนอื่นเท่าไหร่ แต่ตอนนี้หนูได้เรียนรู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร และอาจจะเป็นเพราะว่าอะไร หนูต้องพูดอย่างไรจึงจะช่วยเหลือเขาได้ หรือถ้าเจอเรื่องเข้าใจผิด หนูต้องพูดอย่างไรให้เข้าใจกัน

คิดว่าเราโตเร็วเกินคนอื่นไปไหม หรือรู้สึกสูญเสียชีวิตวัยเด็กไปบ้างหรือเปล่า

เราก็ยังทำสิ่งที่เพื่อนๆ ทำกัน หนูแค่มีอีกอย่างที่กำลังให้ความสำคัญ เพื่อนที่โรงเรียนคนอื่นก็ทำแบบเดียวกัน เพื่อนที่อยากเป็นหมอ ก็เรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบ ทุกคนต่างมีเรื่องที่กำลังสนใจและมุ่งมั่นทั้งนั้น เราก็แค่หาเวลาตรงกลางที่ว่างตรงกันมาเจอกัน คุยเรื่องไร้สาระไปด้วยกัน หนูอาจจะดูเป็นคนคิดมาก ตอนที่ไม่ได้ทำงาน หนูพูดเรื่องไร้สาระค่ะ ไปเรื่อยๆ เป็นตัวของตัวเอง

ขอตัวอย่างเรื่องไร้สาระที่พูดถึงบ่อยที่สุด

ดูอะไรดีในยูทูบ

ดูคลิปบีบสิวไหม

เคยดูค่ะ บอกไม่ถูกว่าชอบหรือไม่ชอบ มันแย่แต่ดี เพลิน และทำให้หนูกินอะไรไม่ได้หลังจากนั้น กว่าจะลืมว่าเคยดู

ดูจนจบเลยไหม

แน่นอนค่ะ อีกประเภทที่ชอบดูคือ ASMR ผ่อนคลายมาก กลับมาที่เรื่องไร้สาระ เรื่องอะไรที่เล่าลอยๆ เช่น บอกเพื่อนว่าถ้าวันหนึ่งสมมติอาบน้ำอยู่ แล้วอยู่ดีๆ เราก็ไหลลงท่อน้ำไปเราจะทำยังไง ไร้สาระมาก มันคงไม่มีวันเกิดขึ้น แต่ก็คุยไว้ก่อนเผื่อมันเกิดขึ้น จะได้รู้ว่าต้องทำอะไรดี

เส้นทางการศิลปินที่โรยไปด้วยความกดดัน ของแอลลี่ (ALLY) อชิรญา นิติพน ในวัย 16 ปี

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan