The Cloud x TOYOTA

ปลายฝนต้นหนาว คือช่วงเวลาที่ภูเขาในเชียงใหม่กำลังกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง ต้นไม้ใบหญ้ากำลังลู่ลมและยืนต้นรับน้ำฝนด้วยความเบิกบาน และเป็นช่วงเวลาเหมาะเจาะกับที่เราชาว Alive Trip กำลังเดินทางไปเรียนรู้ธรรมชาติและทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมปกาเกอะญอที่ Lazy Man Collage อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

Alive Trip 01 : Yong Volks คือทริปที่ The Cloud ร่วมกับ TOYOTA และมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ชวนหนุ่มสาวออกเดินทางไปใช้ชีวิต ออกไปค้นหาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่กับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย ในทริปนี้เราเดินมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Gap Year Program ของมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาเคลื่อนที่ที่พาคนหนุ่มสาวออกเดินทางไปเรียนรู้กับผู้รู้ตัวจริงในด้านต่างๆ ทั่วประเทศไทยตลอด 9 เดือน

ปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

ทริปนี้เราเดินทางมาพบกับกลุ่มคนขี้เกียจที่ขยันเล่าเรื่องวิถีของชนเผ่าปาเกอะญอในแบบของตัวเอง ได้แก่ พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปกาเกอะญอผู้สืบทอดภูมิปัญญาการดูแลป่าและเป็นเจ้าของสวนคนขี้เกียจ โอชิ-ชินดนัย จ่อวาลู เจ้าของ Lazy Man Collage พื้นที่ที่เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีของชาวปกาเกอะญอ แซวะ-ศิวกร โอ่โดเชา เจ้าของ Lazy Man Coffee กาแฟที่เป็นผลผลิตจากสวนคนขี้เกียจ และ คลี-ณัฐพล ธุระวร นักดนตรีร่วมสมัยจากวง Klee Bho ที่ใช้ ‘เตหน่ากู’ เครื่องดนตรีปกาเกอะญอเพื่อถ่ายทอดคติความเชื่อและบท ‘ธา’ ซึ่งเป็นบทกวีของชนเผ่า

ปกาเกอะญอ

เราจะพาไปเรียนรู้วิถีชีวิตและแนวคิดในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอ และฟังแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่กลับมาพัฒนาบ้านเกิด

มนุษย์ = ธรรมชาติ

กาแฟแก้วแรกของเราในวันนั้นเริ่มต้นกันที่ Lazy Man Collage และมีบาริสต้าเป็น โอชิ-ชินดนัย จ่อวาลู นอกจากเขาจะเป็นลูกเขยของพะตีจอนิ เป็นเจ้าของที่นี่ เขายังรับเป็นนักการภารโรงที่คอยทำทุกอย่างเมื่อมีแขกเข้ามาเยี่ยมเยียน

เราล้อมวงสนทนากันในบ่ายวันนั้นเพื่อฟังโลกทัศน์ของปกาเกอะญอจาก พะตีจอนิ โอ่โดเชา (พะตี แปลว่า ลุง ในภาษาปกาเกอะญอ) และโอชิ

ปกาเกอะญอ

ในวัยหนุ่มพะตีจอนิเคยเป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในการอยู่ร่วมกับป่าของคนปกาเกอะญอ เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหนองเต่าที่ปฏิรูปที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน เป็นคนปกาเกอะญอที่รักในรากเหง้าและวิถีของตัวชนเผ่า เป็นปราชญ์ที่สืบทอดวิธีการดูแลป่าตามวิถีของปกาเกอะญอ และเป็นนักสื่อสารที่บอกเล่าเรื่องราวของคนปกาเกอะญอเพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน

ในวันนี้พะตีจอนิอายุ 74 ปีแล้ว แต่ยังขยันเดินเข้าออกป่าในหมู่บ้านคราวละหลายกิโล และกระตือรือร้นที่จะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟังเช่นเคย

พะตีจอนินำประสบการณ์ในชีวิตมาเปรียบเทียบกับคำสอนของปกาเกอะญอเพื่อทำความเข้าใจความเป็นไปของโลกให้มากขึ้น และพบว่าหลายๆ คำสอนของปกาเกอะญอคือสิ่งที่เป็นสากลสำหรับทุกชาติและศาสนา ใครที่ได้เรียนรู้ก็สามารถนำกลับไปทบทวนชีวิตของตัวเองได้เช่นกัน

คนปกาเกอะญอเรียก ‘โลก’ ว่า ‘ห่อโข่’  ห่อ แปลว่า โลก และโข่ แปลว่า ร้องไห้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Crying Land เพราะภาษาแรกที่มนุษย์ทุกคนต้องพูดคือร้องไห้ เราต้องร้องไห้ 3 ครั้ง เกิด มีชีวิต และตาย การร้องไห้ทำให้เรามีชีวิต เป็นกฎธรรมชาติที่เราไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น และการร้องไห้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือสิ่งที่เราต้องหลบหลีก การร้องไห้จึงเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ปุถุชนทุกคนกระทำได้โดยไม่ต้องละลายใจ

พะตีจอนิบอกกับเราว่า ปกาเกอะญอ แปลว่า ความเรียบง่าย มุมมองของปกาเกอะญอที่อธิบายโลกและชีวิตจึงไม่ซับซ้อนเกินจะเข้าใจ และสัมพันธ์ไปกับวิถีธรรมชาติที่พวกเขาต้องพึ่งพ

ปกาเกอะญอ

หลักการหนึ่งในการจดจำปรัชญาชีวิตของคนปกาเกอะญอคือการใช้เลข 5 เพื่ออธิบายชีวิตที่เกี่ยวข้องกับวิถีธรรมชาติ

เลข 5 ตัวที่ 1 คือขวัญที่อยู่กับร่างกายของเรา ซึ่งแต่ละส่วนก็หมายถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

ขวัญที่ 1 อยู่ที่กระหม่อม หมายถึงคนที่เราให้ความเคารพ เช่น พ่อแม่ของเรา สามีภรรยา พี่น้อง

ขวัญที่ 2 อยู่ที่มือซ้าย และขวัญที่ 3 อยู่ที่มือขวา หมายถึงชุมชนที่อยู่รอบๆ ตัวเรา

ขวัญที่ 4 อยู่ที่หัวใจ หมายถึงการคิดถึงตัวเอง ใคร่ครวญกับตัวเอง

ขวัญที่ 5 อยู่ที่เท้า หมายถึงโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่ จึงต้องดูแลเอาใจใส่ด้วยเช่นกัน

5 ตัวที่ 2 ก็คือการดำรงชีวิตเป็นมนุษย์ ในชีวิตของเรามักจะประกอบอยู่ด้วย 5 มิติอยู่เสมอๆ คือ โลก สวรรค์ นรก วิญญาณ และความตาย ขณะที่เราอยุู่กับโลกใบนี้คือเรากำลังมีชีวิต แต่ขณะเดียวกันก็มีโลกของวิญญาณที่เรามองไม่เห็น เวลาที่เรารู้สึกดี มีความสุข เราก็เหมือนอยู่ในโลกของสวรรค์ แต่เวลาที่เราเครียด เราหลงลืมตัวเอง หรือถูกอะไรบางอย่างครบงำ เราก็เหมือนตกอยู่ในนรก อีกโลกหนึ่งคือโลกของผี หมายถึงชีวิตหลังความตาย

ทั้งห้าอย่างนี้คือสิ่งที่อยู่กับเราตลอดเวลา และมีการเกิดดับเสมอ หน้าที่ของเราคือต้องมีสติรู้ตัวอยู่และระลึกให้ได้ว่าเราจะดูแลแต่ละมิติในตัวเราอย่างไร

ปกาเกอะญอ

และ 5 ตัวที่ 3 คือการอธิบายเกี่ยวกับปัญหาบนโลกใบนี้ ซึ่งเกิดมาจากเราไม่หลุดพ้นไปจากความขัดแย้ง 5 อย่างคือ ความเชื่อ ผลประโยชน์ ทรัพยากร สิทธิ และเงินทอง เมื่อเรามีความเชื่อในเรื่องบางเรื่องแล้วเราก็ไม่ยอมรับความเชื่อของคนอื่น หรือเมื่อเรามีเท่านี้ เราก็อยากมีมากขึ้น หรืออาจจะไม่อยากให้คนอื่นมีเท่าเรา

บทเรียนในบ่ายวันนั้นทำให้เราเห็นว่าโลกทัศน์ของคนปกาเกอะญอนั้นเคารพธรรมชาติมาก ไม่ว่าจะมองในมิติไหน พวกเขาก็จะคิดถึงธรรมชาติไปพร้อมๆ กับคิดถึงตัวเองเสมอ

ทางเลือกที่ยั่งยืน

หลังมื้อเย็นเรามารวมตัวกันอีกครั้งรอบกองไฟ ท้องฟ้าในคืนนั้นมืดสนิทจนเราเห็นพระจันทร์ดวงโตที่ลอยเด่นได้อย่างชัดเจน คืนนี้เราพบกับ แซวะ-ศิวกร โอ่โดเชา ลูกชายของพะตีจอนิที่กลับมาทำการเกษตรที่บ้าน เขาเคยเป็นคนที่เรียนในระบบ แต่เลือกที่จะกลับมาเรียนรู้วิถีชีวิตและศึกษาภูมิปัญญาปกาเกอะญอเพื่อตามหาความสุขที่ยั่งยืนในแบบของตัวเอง

ปกาเกอะญอ

แซวะเล่าให้ฟังว่า หลังจากจบ ม.6 พ่อก็ให้หาเงินเรียนต่อด้วยตัวเอง แต่เขาไม่รู้จะหาเงินไปเรียนได้อย่างไรเลยตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน และพบว่าชีวิตที่บ้านคือการเริ่มใหม่ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่เขาเรียนมาในห้องเรียนกับชีวิตจริงคือคนละเรื่องกัน เขาทำนาไม่เป็นจนพี่ๆ ต้องมาคอยบอกคอยสอนจนกว่าจะทำได้

ปกาเกอะญอ

“การที่ผมกลับมาอยู่บ้านมันทำให้ผมได้เรียน 2 อย่างไปพร้อมๆ กัน ด้านหนึ่งคือเรียนรู้เรื่องการเกษตร เรียนรู้วิธีการทำนา ทำไร่ อีกด้านหนึ่งคือการเรียนรู้วิชาการไปพร้อมๆ กัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องเลือกว่าจะสมัครงานในเมือง หรือจะทำการเกษตร ผมคิดว่าถ้าผมไปทำงานก็คงต้องเป็นลูกน้องเขา แต่ถ้ากลับมาอยู่บ้าน ผมคิดว่าผมได้อิสระอย่างที่ผมต้องการ ผมเคยลองไปสมัครงานเหมือนกันแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ไป เพราะผมชอบชีวิตแบบนี้ และค้นพบทางสายกลางระหว่างโลกปัจจุบันและวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเอง ผมจะกลับไปเป็นเกษตรกรอย่างเดียวโดยไม่สนใจโลกเลยก็คงไม่ได้ เพราะเรายังต้องติดต่อกับโลกภายนอก ต้องใช้เทคโนโลยี ต้องพบเจอคนต่างถิ่น เราคงอยู่แบบดั้งเดิมไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเราจะไปอยู่ในเมือง ทำงานบริษัท เราก็คงทำไม่ได้เช่นกัน ตอนนี้ชีวิตผมเลยอยู่กลางๆ ต้องมีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วย และต้องพึ่งพาตัวเองได้ด้วย”

แซวะบอกว่า เขาจดจำที่ผู้ใหญ่สอนเขาเสมอว่า “อย่าไปหวังแต่น้ำบ่อหน้า จะต้องไม่ลืมน้ำบ่อที่เคยมีอยู่ อย่าลืมวิถีของบรรพบุรุษที่อยู่กับดิน น้ำ ป่า และภูเขา”

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เขาเลือกชีวิตกลางๆ แบบนี้ และมีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่

ตามปราชญ์ไปฟังเสียงธรรมชาติ

เมื่อรู้ว่าวันนี้จะได้เดินป่ากับพะตีจอนิทุกคนก็รีบมารวมตัวแต่เช้า พะตีพกมีดคู่ใจและเดินนำขบวนพวกเราไปอย่างชำนาญ เป้าหมายของวันนี้คือเราจะเดินขึ้นไปยังจุดบวชป่า 50 ล้านต้นและกินข้าวกันที่นั่น ป่าแห่งนี้คือป่าหมู่บ้านหนองเต่า ป่าที่ถูกแบ่งให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์กว่า 4,000 ไร่

การบวชป่าคือการใช้หลักทางศาสนาเพื่อเป็นกุศโลบายไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่า ต้นไม้ต้นไหนที่ผูกจีวรแล้วชาวบ้านจะไม่กล้าตัด เพราะหากตัดก็เหมือนทำบาปนั่นเอง

ปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

ระหว่างทางเราผ่านทุ่งนาของชาวบ้านที่กำลังเจริญเติบโตใกล้เวลาเก็บเกี่ยว เราเดินผ่านแหล่งน้ำธรรมชาติ เดินขึ้นบนทางที่สูงชัน และหยุดฟังพะตีจอนิเล่าเรื่องพืชพรรณแปลกตาที่เราเดินผ่านกันเป็นระยะ เดินไปสักพักฝนก็ปรอยลงมาและลงเม็ดหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่พวกเรายังคงเดินตามพะตีจอนิกันต่อไป แม้ระหว่างทางจะไร้บทสนทนา แต่เสียงฝน เสียงน้ำ และเสียงธรรมชาติ ก็ทำให้การเดินป่าในครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำมากที่สุดเวลาหนึ่งในชีวิต

ปกาเกอะญอ

เรามองลงไปข้างล่างเห็นนาขั้นบันไดของชาวบ้าน เห็นสันเขาอีกฝากที่อยู่ตรงข้าม และเป็นครั้งแรกที่เรารู้ตัวว่าเราตัวเล็กมากแค่ไหนเมื่ออยู่ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของขุนเขา

ปกาเกอะญอ

ยิ่งเดินลึกเข้าไปเราก็เห็นผ้าเหลืองผูกอยู่กับต้นไม้เป็นระยะ แต่หลายต้นก็ไม่มีผ้าผูกแล้ว ที่เป็นแบบนี้เป็นเพราะว่าพะตีจอนิได้ทำการสึกป่า เป็นการเอาผ้าจีวรออกเพื่อให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตไปตามอายุขัยของมัน

เราเดินขึ้นไปถึงที่หมายพร้อมกับฝนที่หยุดตกพอดี จุดสังเกตุของจุดบวชป่าจะมีกระท่อมที่มีจีวรขึงอยู่ ที่นี่คือที่พักของพระป่าที่เข้ามาปฏิบัติธรรมภายในป่า และเป็นจุดบวชป่า 50 ล้านต้น เป็นหนึ่งในโครงการบวชป่าชุมชน 50 ล้านต้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ครบ 50 ปีเมื่อ พ.ศ. 2539

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

ซึ่งคนที่เดินทางไปรับต้นไม้ต้นที่ 50 ล้าน (ต้นพะโล้) พระราชทานจากรัชกาลที่ 9 ก็คือ พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ปะกาเกอะญอผู้สืบทอดวิธีการบวชป่า และมีความเชื่อว่าคนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ถ้าได้รับการปลูกฝังให้ดูแลป่าอย่างถูกวิธี

เรานั่งพักและกินข้าวที่ห่อมาจากบ้านกันหน้าจุดบวชป่าใต้ร่มไม้ใหญ่ พะตีจอนิแบ่งอะโวคาโดที่เก็บมาจากสวนหลังบ้านให้เรากิน และเอาเมล็ดที่เหลือไปฝังลงดินใกล้ๆ กับกระท่อม และทำสัญลักษณ์ไว้เพื่อรอวันกลับมาดูการเจริญเติบโตอีกครั้ง

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

เราออกจากป่าพร้อมกับขยะทั้งหมดที่เอาเข้าไป และเก็บขยะรายทางที่มีคนทิ้งไว้ออกจากป่าด้วย ตามคำสอนที่พะตีจอนิบอกกับเราว่า “คนกินน้ำก็ต้องรักษาน้ำ คนกินข้าว ต้องรู้จักต้นข้าว คนอยู่ป่าก็ต้องดูแลป่า คนเราใช้ประโยชน์จากสรรพสิ่ง ก็ต้องดูแลสรรพสิ่งด้วยเช่นกัน”

ปกาเกอะญอ

ขี้เกียจอย่างถูกวิธี

หลังจากลุยป่าและเดินเขาด้วยความชุ่มฉ่ำกันมาครึ่งค่อนวัน ลงจากเขามาแล้วเรายังมีพลังเหลือและไปต่อกันที่ ‘สวนคนขี้เกียจ’ หรือ ‘สวนจอเกอะโดะ’ (จอเกอะโดะ แปลว่า ขี้เกียจ) สวนที่มีชื่อมาจากนิทานเรื่องคนขี้เกียจที่คนปกาเกอะญอเล่าต่อกันจนกลายเป็นปรัชญาชีวิตส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น

ปกาเกอะญอ

หลักการของคนขี้เกียจมีอยู่ว่า ‘ใจเย็น มีสติ และรอได้’ แม้ว่าคนขี้เกียจในนิทานเรื่องนี้จะขี้เกียจมากถึงขนาดนี้ที่ต้องไปนอนรอใต้ต้นไม้เพื่อให้ผลไม้หล่นใส่ปาก ไม่ยอมไปเก็บกินด้วยตัวเอง แต่ก่อนที่เขาจะนอนรอแบบนี้ได้นั้น เขาได้ทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ผลผลิตงอกเงยมาล่วงหน้าแล้ว จึงสามารถนอนรอได้อย่างสบายใจ

ปกาเกอะญอ

นิทานเรื่องคนขี้เกียจไม่ใช่แค่คำสอน แต่กลายมาเป็นเป็นวิถีชีวิต ชื่อสวน ชื่อกาแฟ ชื่อสถานที่ หลักการทำการเกษตร และเป็นคำที่ครอบครัวโอ่โดเชาใช้เรียกตัวเองอย่างภาคภูมิใจว่าพวกเขานี่แหละคือคนขี้เกียจตัวจริง

พะตีจอนิเล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นสวนคนขี้เกียจอย่างทุกวันนี้ เขาเคยทำการเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการขายเพราะหวังทำรายได้และทำติดต่อกันอยู่เกือบ 10 ปี แต่กลับมีหนี้สินจากค่าปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ทำให้พะตีจอนิยอมแพ้ต่อการทำเกษตร ปล่อยสวนให้หญ้ารกร้างจนภรรยาด่าอยู่นาน 17 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผืนดินได้ฟื้นฟูตัวเองและพืชผลขึ้นเองตามธรรมชาติ สวนที่ถูกปล่อยทิ้งไม่มีการดูแลเพราะความขี้เกียจก็ได้ผลิดอกออกผล และทำให้พะตีได้อีกบทเรียนหนึ่งว่า ‘การทำสวนที่ดีที่สุดคือปล่อยให้สวนได้เติบโตเองตามธรรมชาติ’ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘สวนคนขี้เกียจ’ เช่นทุกวันนี้

ปกาเกอะญอ

ในพื้นที่ 7 ไร่แห่งนี้ถูกแบ่งเป็นป่า 4 ไร่ ปลูกพืชผสมผสานอีก 3 ไร่ และมีพื้นที่เลี้ยงสัตว์ที่ปล่อยสัตว์เดินเล่นและหากินได้อย่างสบายใจ ซึ่งในพื้นที่ 3 ไร่นี้ก็ประกอบด้วยพืชที่ใช้ประโยชน์ได้กว่า 100 ชนิด ไม่ว่าจะหยิบจับต้นไหนขึ้นมาพะตีจอนิก็สามารถบอกกับเราได้หมดว่าต้นไหน ส่วนไหน สามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง

ปกาเกอะญอ

ต้นไม้ในสวนของคนขี้เกียจจะมี ‘ขวัญ’ ของเด็กเกิดใหม่ผูกอยู่กับต้นไม้ เด็กที่เกิดในครอบครัวของพะตีจอนิทุกคนจะต้องไปขอสายสะดือที่โรงพยาบาลมาผูกกับต้นไม้เพื่อเป็นกุศโลบายในการดูแลรักษาป่า เพื่อทำให้คนไม่กล้าตัดต้นไม้ทำลายป่า เพราะเชื่อว่าเป็นการทำลายชีวิตของคนคนหนึ่งไปด้วย เมื่อเด็กไม่สบายก็ต้องทำพิธีและดูแลต้นไม้ต้นนั้นเป็นอย่างดีเพื่อให้เด็กกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม

ปกาเกอะญอ

ฟังเสียงเพลงจากบทธา

หลังจากผ่านกลางวันที่ยาวนาน ในคืนนี้โอชิได้พาเพื่อนใหม่พร้อมกับเครื่องดนตรีคู่ใจมาให้เราได้รู้จัก เราพบกับ คลี-ณัฐวุฒิ ธุระวร นักดนตรีร่วมสมัยจากวง Klee Bho ที่ใช้ ‘เตหน่ากู’ เครื่องดนตรีปกาเกอะญอเพื่อถ่ายทอดคติความเชื่อและบท ‘ธา’ บทกวีของชนเผ่า เป็นเครื่องมือในการบอกเล่าชีวิตของเขาและความเป็นปกาเกอะญอ เขาเดินทางมาจากอําเภอกัลยาณิวัฒนาเพื่อมาพบกับเราในค่ำคืนสุดพิเศษนี้

ปกาเกอะญอ

คลีเป็นคนปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่เข้าไปเรียนในเมืองจนถึงปริญญาโท เขาเป็นเด็กที่เติบโตมากับการเล่นดนตรีในโบสถ์และมีโอากาสเรียนต่อด้านดนตรี และเล่นดนตรีเป็นอาชีพมาหลายชนิด จนหันกลับมาเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านคือ ‘เตหน่ากู’ ที่เห็นพ่อเล่นมาตั้งแต่วัยเด็ก

เตหน่ากูของเขาเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่ถูกพัฒนาให้ทันสมัยทั้งรูปแบบและวิธีการเล่น เครื่องดนตรีเครื่องสายรูปร่างเหมือนไก่ตัวนี้มีชื่อว่า ‘ไก่กลัวเมีย’ ไก่ตัวผู้จะอยู่ข้างล่าง ส่วนตัวเมียอยู่ข้างบน ซึ่งมีแนวคิดมาจาก วัฒนธรรมปกาเกอะญอ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสายแม่และให้เกียรติผู้หญิง

เหตุผลที่คนปกาเกอะญอมีบทเพลงและบทกวีเพื่อบอกเล่าสิ่งต่างๆ มากมายนั้นเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้บันทึกเรื่องราวเป็นตัวหนังสือ แต่ใช้การร้องสืบทอดเรื่องราวต่อๆ กันมา คลีบอกว่าทุกวันนี้กระบวนการสืบทอดน้อยลงแล้ว คนรุ่นใหม่ก็สนใจวัฒนธรรมกระแสหลักมากกว่า และคิดว่าวิถีปกาเกอะญออาจจะไม่จำเป็นกับยุคสมัยนี้ เขาจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวและสืบทอดวิถีนี้ให้คงอยู่ต่อไป

นอกจากดนตรีแล้วคลียังเป็นคนปกาเกอะญอรุ่นใหม่อีกคนที่เดินทางกลับบ้านมาเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาและทำสิ่งใหม่ในแนวทางของตัวเอง เขากลับไปทำโฮมสเตย์โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากที่บ้าน เพราะเขาเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ทำเป็นธุรกิจได้ เชื่อว่ามีคนมากมายอยากเข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติ และเรียนรู้จากเจ้าบ้านซึ่งเป็นเจ้าของวัฒนธรรม เขาใช้เวลาทำตามความเชื่อของเขาไม่นานครอบครัวก็เห็นภาพตามที่เขาฝันไว้และยอมรับในที่สุด

ปกาเกอะญอ

หลายๆ เพลงที่คลีและโอชิเล่นให้เราฟังในคืนนั้นเป็นเพลงที่อธิบายชีวิตและเรื่องราวของชนเผ่าได้อย่างไพเราะ ภายใต้เสียงที่กังวาลของเตหน่ากูมีทั้งเรื่องคติความเชื่อ ภูมิปัญญา ธรรมชาติ ความฝัน การเดินทาง และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเขา

เสียงเพลงจากเตหน่ากูในวันนี้เป็นวิธีการบอกเล่าเรื่องราวของชนเผ่าที่เรียบง่าย แต่เข้าไปถึงหัวใจของทุกๆ คน

ปลูกกาแฟเพื่อดูแลป่า

ปกาเกอะญอ

เช้านี้เราเรียนรู้เรื่องกาแฟตั้งแต่ต้นจนจิบกับ แซวะ เจ้าของ Lazy Man Coffee นอกจากทำการเกษตรแบบคนขี้เกียจแล้ว เขายังทำ Specialty Coffee และทำแบบโฮมเมดด้วยตัวเองทุกขั้นตอนที่นี่ เราจะมาเรียนรู้กันว่า คนขี้เกียจเขาทำกาแฟกันอย่างไร และทำไมเขาถึงบอกว่าการปลูกกาแฟสามารถช่วยดูแลป่าได้

ตั้งแต่วันแรกที่มาถึง เราสังเกตว่าสวนในรั้วบ้านของครอบครัวโอ่โอเชา มีต้นกาแฟปลูกแซมอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ให้เห็นเป็นหย่อมๆ แต่กว่าจะทำกาแฟกันจริงจังจนถึงขั้นทำขายกันเช่นทุกวันนี้แซวะบอกว่า เขาเองไม่เคยคิดจะกินกาแฟด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากเขาไม่อยากถางป่าเพื่อทำเกษตร ไม่อยากทำลายหน้าดิน ไม่อยากทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ไม่อยากใช้สารเคมี และไม่อยากเป็นหนี้เพราะการปลูกข้าวโพด เขาจึงปลูกกาแฟเพื่อต่อต้านการทำไร่ข้าวโพดในขณะนั้น และชวนเพื่อนๆ กลุ่มเกษตรกรลุ่มน้ำวางมาเป็นแนวร่วมในการปลูกกาแฟด้วยกัน

ปกาเกอะญอ

แซวะเชื่อว่าความขยันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ความขี้เกียจยากกว่า เพราะการทำให้ไปช้าๆ แต่ไปได้อย่างยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

นอกจากจะปลูกเองแล้ว แซวะยังรับซื้อกาแฟจากชาวบ้านเพื่อมาแปรรูปอีกด้วย เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกกาแฟ แม้ว่าตัวเองจะต้องใช้ทุนเยอะมาก แต่เขากลับมองว่านี่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนและดีกว่าการปลูกข้าวโพด

กาแฟของเขามีชื่อแบรนด์ว่า Lazy Man Coffee : Slow down for the earth และมีจุดเริ่มต้นของแนวคิดคือ ปลูกกาแฟเพื่อต้านไร่ข้าวโพด

“เราพยายามแนะนำลูกค้าว่า การจิบกาแฟของเขามีส่วนช่วยในการดูแลป่าได้นะ และสบับสนุนให้ชาวบ้านที่นี่เขามีทางเลือกอื่นนอกจากการปลูกข้าวโพด ส่วนคำว่า Slow down for the earth คือเรื่องของคนขี้เกียจ นิทานของคนปกาเกอะญอที่ผมเล่าให้ฟังบ้างแล้วว่า หลักของคนขี้เกียจคือไม่ต้องทำอะไรเลย เราเป็นแค่คนเล็กๆ คนหนึ่ง พอธรรมชาติมันเติบโตได้ที่มันก็ดูแลเราได้ ถ้าเราไว้ใจธรรมชาติ ธรรมชาติก็ดูแลเรากลับคืนเช่นกัน”

ปกาเกอะญอ

ปกาเกอะญอ

ก่อนจากกันฉันนึกย้อนกลับไปถึงวันก่อนที่พวกเราจะเดินทางมาที่บ้านหนองเต่าแห่งนี้ด้วยกัน ต่างคนต่างก็มีความคาดหวัง หรือมีภาพในจิตนาการที่แตกต่างกันไป แต่วันสุดท้ายก่อนที่เราจะร่ำลาและจากกันไป เราพบว่าภาพความเป็นคนชายขอบ หรือความล้าหลัง เป็นเพียงภาพมายาที่สื่อผลิตซ้ำให้เราเสพเท่านั้น

ความเป็นปกาเกอะญอที่พวกเราได้สัมผัสคือชนเผ่าที่มีวัฒนธรรม มีหลักความเชื่อที่เป็นสากล มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแต่งดงาม และเคารพในธรรมชาติมากพอๆ กับความเป็นมนุษย์

ปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอ

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท