12 ธันวาคม 2018
13 K

โตขึ้นมีใครอยากเป็นชาวนาบ้าง

เราเชื่อว่าคำถามนี้คงหาได้ยากในระบบการศึกษาไทย หรือแม้แต่ในครอบครัวของชาวนาที่ทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพมาหลายชั่วอายุคนก็แทบไม่มีใครอยากให้คนรุ่นใหม่เลือกเส้นทางนี้ ทุกครอบครัวล้วนอยากส่งเสริมให้ลูกหลานได้เรียนสูงๆ เพื่อเป็นเจ้าคนนายคนเพื่อที่จะได้หลุดพ้นจากการเป็นชาวนา จึงทำให้อายุเฉลี่ยของคนเป็นชาวนายิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ชาวนาเป็นอาชีพที่ยากจน ไร้เกียรติ และลำบากมาก จนไม่มีใครอยากให้คนรุ่นใหม่เป็นจริงๆ หรือเป็นเพราะระบบอุตสาหกรรมในบ้านเราที่ปิดกั้นทางเลือกทางอาหาร และทำให้วิถีการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมต้องพ่ายแพ้ไป และถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่มาเป็นชาวนา อนาคตของการผลิตข้าวในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อ

Alive Trip, ชาวนา

นี่คือคำถามที่พวกเราสงสัย จนต้องเดินทางมาหาคำตอบด้วยกันกับ Alive Trip 03 : Harvest Time ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี หมู่บ้านลุงม่วง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งในช่วงที่เราเดินทางมาที่นี่ก็ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวพอดี เราจึงได้เรียนรู้เรื่องข้าวตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเมล็ดเล็กจิ๋ว ไปจนถึงกระบวนการเกี่ยวและนวดข้าวที่ออกรวงชูช่อสีทองอยู่กลางทุ่งนากับ อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม และกลุ่มชาวนาไทอีสาน

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

ทริปนี้เป็นที่ The Cloud ร่วมกับ TOYOTA และมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ ชวนหนุ่มสาวออกเดินทางไปใช้ชีวิต ออกไปค้นหาตัวเอง เรียนรู้สิ่งใหม่กับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั่วประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้ก็เป็นทริปสุดท้ายแล้วที่เราร่วมเรียนรู้และเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Gap Year Program ของมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ

รู้จักกับชาวนารุ่นใหม่

ภาพคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาเป็นชาวนาหรือทำการเกษตรเป็นภาพที่หาได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะสิ่งที่เรารู้มาจากสมาชิกในกลุ่มชาวนาไทอีสานที่เคยทำวิจัยเรื่องข้าวพบว่า ชาวนาส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ปี เราอาจจะเคยเห็นคนรุ่นใหม่รับจ้างทำนา หรือรับจ้างเกี่ยวข้าวกันอยู่บ้าง แต่เชื่อเถอะว่าน้อยคนนักที่จะลุกขึ้นมาทำนาด้วยตัวเอง และสืบทอดภูมิปัญญาในการปลูกข้าวแบบโบราณตามที่บรรพบุรุษเคยทำมา

Alive Trip, ชาวนา

กลุ่มชาวนาไทอีสาน คือกลุ่มชาวนารุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจอยากอนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านไทยด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม เพื่อความมั่นคงทางอาหารและความยั่งยืนของทรัพยากรท้องถิ่น

คนหนุ่มสาวเหล่านี้เลือกที่จะกลับบ้านมาเพื่อพึ่งพาตัวเองด้วยการทำการเกษตรอินทรีย์ บางคนอยากเป็นชาวนา บางคนอยากทำสวน บางคนอยากทำเกษตรทั้งๆ ที่เป็นคนเมือง ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย นอกจากจะต้องเรียนรู้ทักษะที่ต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้ในชีวิตจริง ทักษะในการทำเกษตรกรรมที่มีธรรมชาติเป็นตัวแปร และยังต้องอดทนต่อแรงเสียดทานจากคนรอบข้างที่ไม่เชื่อในสิ่งที่พวกเขาทำ

Alive Trip, ชาวนา

อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มชาวนาไทอีสาน เจ้าบ้านใจดีที่เปิดบ้านพาเราไปเรียนรู้เรื่องข้าวๆ ในครั้งนี้ คือชาวนารุ่นใหม่จากจังหวัดบุรีรัมย์ที่กลับมาทำการเกษตรที่ถิ่นฐานบ้านเกิด ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙d) เและอยากเปลี่ยนมุมมองให้ทุกคนเห็นว่าชาวนาไทยไม่ใช่คน ‘รากหญ้า’ แต่เป็น ‘รากเหง้า’ ที่เราต้องให้ความสำคัญ

เราอาจจะไม่ตื่นเต้นกับการทำนาของอุ้มเลย ถ้าเธอไม่ได้เล่าให้เราฟังว่าก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นหนึ่งคนที่หลงระเริงกับชีวิตในเมืองมาก่อน

เธอเคยเป็นเด็กสาวจากต่างจังหวัดที่อยากเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ จึงใช้การเรียนมหาวิทยาลัยเป็นข้ออ้างในการออกจากบ้านเข้ามาใช้ชีวิตในเมือง ในตอนนั้นเธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องการอะไร จึงหนีชีวิตการเป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ไปเรียนศิลปะกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพราะอยากเป็นศิลปินอยู่เกือบ 2 ปี และกลับมาเรียนต่อได้ทันก่อนจะพ้นสภาพนักศึกษา พอพ้นพันธะชีวิตจากช่วงมหาวิทยาลัย อุ้มก็ไม่ได้ทำงานตามที่เธอถนัดแต่จับพลัดจับผลูไปเป็นเซลส์ขายรถยนต์ในช่วงที่มีการให้สิทธิ์รถยนต์คันแรก ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงยุคทองของการเป็นเซลส์ขายรถเลยทีเดียว

Alive Trip, ชาวนา

“ตอนเป็นเซลส์ขายรถเราขายไม่เป็นเลย แต่ว่าทุกคนอยากได้รถมาก เราก็ขายได้ทุกวัน ช่วงนั้นขายดีมาก และมีเงินเหลือใช้เลยทีเดียว พอเราได้เงินเยอะ เราก็กิน ใช้ เที่ยว ช้อปปิ้ง แบบไม่คิดมาก อะไรที่ต้องมีเราก็ซื้อหมด ของกินที่ว่าดีว่าแพงเราก็ไปทุกร้าน ไปคอนเสิร์ตก็ต้องนั่งแถวหน้า ไอโฟนออกใหม่เราก็จ้างคนไปต่อคิว ตอนนั้นเราเป็นถึงขนาดนั้นเลย เราทำอย่างนั้นจนจะหมดช่วงสิทธิ์รถคันแรก เรามีเงินเก็บอยู่ประมาณหนึ่งแล้ว แต่เราไม่ได้คิดอะไร ก็ใช้จ่ายไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีจิตสำนึกหรือคิดอะไรมาก”

เธอบอกว่า เธอสนุกกับชีวิตช่วงนั้นมาก เพราะเงินเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายและซื้อความสุขให้ตัวเองได้เร็ว แต่พอกลับมาคิดทีหลังเธอกลับไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองเลย และกว่าจะรู้สึกตัวชีวิตก็เจอจุดเปลี่ยนเข้าอย่างจัง

“ช่วงก่อนที่จะหมดสิทธิ์รถคันแรกแม่ก็โทรมาบอกเราว่าแม่ป่วยนะ แม่เป็นลิ้นหัวใจรั่ว รั่วทั้งข้างบนและข้างล่าง วันนั้นเรารู้สึกว่าเราสะเทือนใจมาก ทำไมเราถึงเพิ่งมารู้สึกตัวอีกทีตอนที่เราจะไม่มีแม่แล้ว เราก็นอนคิดอยู่ทั้งคืนว่าเราจะทำยังไงดี เราอยากดูแลแม่ แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้อยากกลับบ้านเลยทันที เราจัดแจงให้แม่ไปหาหมอที่กรุงเทพฯ พยายามพาแม่ไปกินของดีๆ ให้เงินแม่เยอะๆ แต่แม่ก็ไม่ได้รู้สึกดีกับสิ่งที่เราให้เลย เขาแค่อยากกลับบ้านไปกินผัก มากินน้ำพริกที่เขาชอบ เราถึงฉุกคิดได้ว่าเราหาเงินเยอะๆ มาทำไม ที่เราคิดว่าเราหามาปรนเปรอความสุขของตัวเอง จริงๆ แล้วมันใช่ความสุขที่แท้จริงไหม เราเลยตัดสินใจกลับบ้านมาทบทวนตัวเองอยู่หลายเดือน”

Alive Trip, ชาวนา

เมื่อกลับถึงบ้านชีวิตไม่ได้จบบริบูรณ์ มีสายรุ้งพาดผ่านบนท้องฟ้า และชีวิตต่อจากนั้นมีแต่ความสุขเหมือนในละคร เพราะในชีวิตจริงอุ้มยังต้องเจอกับอุปสรรคมากมายที่อาจทำให้ถอดใจจากการเป็นเกษตรกร เธอเริ่มต้นทำทั้งๆ ที่คนรอบข้างไม่เห็นด้วย หลายคนมองว่าสิ่งที่เธอทำอยู่คือการเล่นขายของแบบเด็กๆ ไม่มีทางเปลี่ยนให้คนในหมู่บ้านเข้าใจเกษตรอินทรีย์ได้

“เราค่อยๆ คิดว่าพื้นฐานบ้านเรามีอะไร เรามีที่นางั้นก็ลองทำนาไหม เราเลยลองทำในปีแรกโดยที่หาความรู้จากอินเทอร์เน็ตก่อน เราไปอบรมกับเครือข่ายฅนกินข้าว เกื้อกูลชาวนา ตรงนี้เป็นอีกจุดเปลี่ยนของเราเหมือนกันที่ทำให้เราได้รับข้อมูลชุดใหม่จากครูบาอาจารย์ที่เขาทำเรื่องข้าวมานานอย่าง อาจารย์ตุ๊หล่าง-แก่นคําหล้า พิลาน้อย และ พี่โจน จันได ซึ่งคนเหล่านี้ก็อุทิศตนทำอะไรเพื่อสังคม ทำให้เรากลับมาพร้อมพลังและเปลี่ยนแปลงชีวิตเรามาก”

Alive Trip, ชาวนา

ปัจจุบันอุ้มยังคงทำนาตามวิถีที่เธอเชื่อ นาของเธอเป็นนาดำและเป็นนาอินทรีย์ผืนเดียวในหมู่บ้าน เธอรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ชาวนารุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานที่มีความเชื่อเดียวกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์ และสื่อสารให้คนกินข้าวได้รู้จักทางเลือกใหม่ๆ ในการกินข้าว และยังทำให้พื้นที่ริมหนองน้ำในหมู่บ้านกลายเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ๙ ดี (0๙d) พื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านกว่า 40 ครอบครัว ทำให้คนในชุมชนได้รู้จักกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้นอย่างที่ตั้งใจไว้

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

นอกจากอุ้มแล้ว ในทริปนี้เรายังได้รู้จักกับเพื่อนๆ ของเธออีกหลายคนในกลุ่มชาวนาไทอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ก็อบ-ว่าที่ ร.ต.เฉลิมศักดิ์ พรำนัก, แน้น-นภัส ตุลยาพิศิษฐ์, ธีร์-ธีร์ธวัช วงศ์ศิริชัยสกุล, มล-กมลชัย ภาคเดียว และ ติ๋ว-นพมาศ เขียวอ่อน ซึ่งก่อนหน้านี้หลายคนในกลุ่มไม่เคยทำนาหรือทำเกษตรมามาก่อนเลย สมาชิกกลุ่มจึงมีทั้งอดีตครู, อบต., วิศวกร, คนทำคอนเทนท์ที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร

พวกเขาให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ ร่วมกันพัฒนาผลผลิต หาวิธีแปรรูปใหม่ๆ และนำความรู้ความถนัดที่แต่ละคนมีมาแบ่งปันเพื่อให้การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Alive Trip, ชาวนา

หนึ่งในสมาชิกกลุ่มที่ให้ความรู้เรื่องข้าวกับเราตลอดทริปนี้คือ ก็อบ-ว่าที่ ร.ต.เฉลิมศักดิ์ พรำนัก อดีตวิศวกรและคุณครูที่ผันตัวมาเป็นชาวนา เขาคือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่จากครอบครัวชาวนาที่ถูกผลักดันให้เรียนสูงๆ ตามค่านิยมของสังคม และเคยมีฝันในวัยเด็กคืออยากจบปริญญาโทคนแรกของหมู่บ้าน เพราะคิดว่าการเรียนให้สูงที่สุดคือสิ่งที่น่าจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขาและคนรอบข้างได้ แต่เมื่ออยู่ในระบบการศึกษาจริงๆ เขากลับพบว่าทางเลือกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ

ก็อบวางแผนไว้ว่าหลังเรียนจบจะทำงานสัก 2 – 3 ปีแล้วค่อยกลับบ้านไปทำนา แต่เมื่อถึงเวลา มักชีวิตไม่ได้มีแบบแผนอย่างที่เราคิดไว้เสมอ ในช่วงปีสุดท้ายของการเรียนมหาวิทยาลัย รุ่นพี่ที่ก็อบสนิทด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เหตุการณ์นี้สะเทือนความรู้สึกจนทำให้เขากลับมาทบทวนชีวิตอีกครั้งว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไร จึงทำให้เขาสินใจกลับบ้านมาเป็นชาวนาทันทีหลังเรียนจบ

Alive Trip, ชาวนา

ความตั้งใจของก็อบคือเขาอยากอนุรักษ์พันธุ์ข้าวและพืชผักให้มีความหลากหลายเหมือนที่เคยเป็นมา และสนใจการพัฒนาพันธุ์พืชเป็นพิเศษ จึงได้ไปช่วยงานอาจารย์ตุ๊หล่าง-แก่นคําหล้า พิลาน้อย นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เขาเองก็เคยทิ้งชีวิตที่ตัวเองเลือกกลับไปเป็นวิศวกรตามที่เรียนมาและไปเป็นครูอยู่สักพักแต่ก็ยังไม่ใช่อาชีพที่เขาต้องการ จึงมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ชาวนาไทอีสานในที่สุด

“เมื่อก่อนผมก็คิดว่ากลับไปจะพาชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์ แต่ที่จริงแล้วชาวบ้านเขาไม่เคยทำแบบนั้นกัน ถ้าเราไม่ทำให้เขาเห็นก่อนว่าเราทำเกษตรอินทรีย์ได้จริงๆ เขาก็จะไม่เชื่อ หรือแม้ว่าเราทำให้เขาเห็นแล้ว บางคนเขายังไม่ทำตามเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ดีและยั่งยืนกว่า วันที่เราไปบอกให้เขาปรับปรุงพื้นที่ ปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อรับมือกับภัยพิบัติไม่มีคนเชื่อเราเลย แต่วันหนึ่งที่ภัยแล้งมาถึงแล้วเขาไม่มีข้าวกิน เขาจะรู้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้คิดอะไรมากแล้ว เราทำตามที่เราเชื่อ และเริ่มมีคนจำนวนหนึ่งเห็นว่าสิ่งที่เราอยู่ทำมันดี เขาก็มาเข้าร่วมกับเรา”

รู้จักวิถีชาวนา

ขั้นตอนแรกของการทำข้าวให้มีคุณภาพ คือการมีสายพันธุ์ข้าวที่ดี และการจะมีสายพันธุ์ข้าวที่ดีได้นั้นต้องมาจากการคัดเมล็ดพันธุ์ด้วยตัวเอง

ธีร์-ธีร์ธวัช วงศ์ศิริชัยสกุล บอกว่า ชาวนาทั่วๆ ไปไม่ค่อยคัดพันธุ์ข้าว เพราะกรมการข้าวแนะนำให้ชาวนาเปลี่ยนพันธุ์ข้าวทุกๆ 2 – 3 ปี แต่สำหรับกลุ่มชาวนาไทอีสานไม่เคยเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเลยสักครั้ง และไม่เคยต้องซื้อพันธุ์ข้าวใหม่เพราะพวกเขาคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

“อาจารย์ตุ๊หล่างสอนว่า การทำนาที่ดีและยั่งยืนคือต้องรู้จักวิธีคัดพันธุ์ข้าวด้วยตัวเอง นอกจากเราจะต้องดำนาเป็น ปลูกข้าวเป็น ขายข้าวเป็นแล้ว จะต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าวด้วย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวจึงเป็นเหมือนวิชาขั้นแอดวานซ์ของการเป็นชาวนา แต่ถ้าทำเป็นแล้วจะไม่ต้องเสียเงินซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านค้าอีกเลย”

การคัดพันธุ์ข้าว

เหตุผลที่ต้องมีการคัดพันธุ์ข้าวเป็นเพราะว่า ข้าวจะมีการกลายพันธุ์ทุกปี สังเกตไหมว่าคนชอบบ่นว่า ข้าวหอมมะลิเดี๋ยวนี้ทำไมไม่หอมเหมือนเมื่อก่อน เหตุผลเป็นเพราะว่า

Alive Trip, ชาวนา

  1. ข้าวเคมีจะไม่หอมเท่าข้าวอินทรีย์ นี่คือสิ่งที่พิสูจน์กันได้เลยทันทีที่เปิดฝาหม้อหุงข้าว
  2. ข้าวจะมีการกลายพันธุ์ตามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ น้ำเปลี่ยน ดินเปลี่ยน อากาศเปลี่ยน ข้าวก็จะปรับตัวไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่คัดพันธุ์ทุกปี ข้าวของเราก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ

ขั้นตอนการคัดพันธุ์ข้าว

Alive Trip, ชาวนา

  1. เริ่มจากเดินในแปลงนา ค้นหาว่ารวงข้าวของเรารวงใหญ่ไหม ทรงกอดีไหม ถ้ารวงใหญ่แต่ทรงกอไม่ดีเราก็ไม่เอา หรือถ้ารวงใหญ่ ทรงกอดี ทนโรค แตกกอได้ดี แต่สุดท้ายเมื่อก็แกะชิมแล้วไม่หอม เราก็ไม่เอา ถ้าเมล็ดข้าวของเราหอม เอามาปลูกต่อไปข้าวก็จะหอม (ถ้าเป็นข้าวขาวจะคัดง่ายหน่อย คัดแค่ความหอมก็ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นข้าวสีจะยากกว่าเพราะสีต้องดำสนิททั้งเมล็ด)
  2. พอถึงฤดูลกาลคัดเมล็ดพันธุ์เราจะเอากอที่เก็บไว้มาคัดดูโคนรวง กลางรวง ปลายรวง
  3. คัดเมล็ดแกะดูว่าดำสนิทไหม ถ้าดำสนิทแสดงว่าเป็นพันธุ์ที่ดี เอาไปขยายต่อได้ ถ้าไม่ดำสนิทเราก็เอาไปสีกิน แต่จะไม่ปลูกต่อ
  4. การชิมข้าวเป็นทักษะพิเศษที่ต้องฝึกฝน ต้องเคี้ยวแล้วสูดลมหายใจขึ้น เพื่อให้รับรู้ถึงความหอมของข้าวให้ได้ ซึ่งเราสามารถแกะชิมกันดิบๆ จากรวงได้เลย
  5. ถ้าเราคัดไปแล้วพบว่าเมล็ดข้าวไม่เต็มฝัก อาจจะหมายถึงข้าวได้น้ำไม่เพียงพอ ข้าวเมล็ดเล็กมาก เมล็ดฝ่อ เมล็ดลีบ ถ้าข้าวขาดน้ำจะได้เมล็ดข้าวที่ไม่เต็มฝัก น้ำหนักไม่ได้ที่ และสีไม่ดำสนิท สารอาหารไม่ครบถ้วน แต่ข้าวขาดน้ำจะมีจุดเด่นคือหอมกว่าข้าวที่มีน้ำมาก 

วิธีการคัดเมล็ดพันธุ์

การคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวกล้องเพื่อเอาไปปลูกในแปลงพิเศษ สามารถแกะจากฝักแล้วเอาไปเพาะเป็นต้นได้เลย วิธีการนี้จะทำให้ข้าวที่เรานำไปเพาะต่อได้คุณสมบัติเดิมอย่างที่เราต้องการ เช่น ถ้าเราพบว่าข้าวที่เราปลูกทนต่อโรค ปลูกง่าย และรสชาติดี เราอยากปลูกข้าวแบบนี้ต่อไป ก็ให้เก็บเมล็ดข้าวพันธุ์นี้ไว้ แล้วนำไปเพาะเพื่อขยายพันธุ์ในแปลงนาต่อไป

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

โจทย์ของเราในวันนี้จึงเป็นการคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวกล้องคนละ 10 เมล็ด เพื่อเฟ้นหาเมล็ดที่ดีที่สุดที่จะนำไปปลูกต่อ ซึ่งคนที่เป็นคนกำหนดลักษณะพันธุ์ข้าวก็คือชาวนาเอง

  1. เลือกข้าวเปลือก ข้าวเปลือกที่เราเลือกออกมาต้องมีรูปร่างสมบูรณ์ ไม่เว้าแว่ง ไม่ยุบ เลือกเมล็ดที่เต็มฝัก และอ้วน
  2. แกะเมล็ดข้าว เมื่อแกะออกมาแล้ว คุณสมบัติของเมล็ดข้าวสีขาวที่เราต้องการ คือ อ้วน เต็ม เต่ง ไม่บิดเบี้ยว ไม่เป็นท้องไข่ ไม่เป็นท้องปลาซิว และไม่มีสีอื่นแทรกอยู่ในข้าว ส่วนข้าวสีดำจะต้องดำทั้งจมูกข้าว ดำทั้งเมล็ด เมล็ดเรียวยาว และอ้วนสมบูรณ์
  3. ใช้แสงส่องดูความสมบูรณ์ของเมล็ด เมื่อแกะออกมาแล้วให้ส่องดูดีๆ ถ้าไม่บิดเบี้ยวเราก็เลือกไว้ปลูกต่อ เพื่อความละเอียดควรวางข้าวบนกระดาษสีขาว ใช้ไฟส่องหรือใช้แว่นขยายเพื่อหาจุดเว้าแหว่ง ขั้นตอนนี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูงมาก ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ในการคัดเมล็ดพันธุ์จึงไม่เป็นที่นิยมของชาวนาทั่วๆ ไป แต่เมื่อเทียบผลที่ได้คือการได้พันธุ์ข้าวที่ดี มีคุณภาพ และไม่ต้องซื้อพันธุ์ใหม่ทุกๆ ปี ชาวนาไทอีสานบอกว่านี่คือทางที่ยั่งยืนกว่า

หลังจากนั่งคัดกันจนหลังขดหลังแข็งเราก็พบว่าการค้นหาเมล็ดพันธุ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องง่ายเลย จากที่ส่งไปคนละ 10 เมล็ด แม้ว่าจะตรวจด้วยเกณฑ์มือสมัครเล่นแล้วก็ยังผ่านกันแค่คนละ 1 เมล็ดเท่านั้น (หรือบางคนก็ไม่ผ่านสักเมล็ดเลย) จึงทำให้เราเข้าใจแล้วว่าการปลูกข้าวก็เป็นงานคราฟต์ได้จริงๆ

การเก็บเกี่ยว

เมื่อติวเข้มเรื่องข้าวกันเสร็จแล้ว เราก็ถือเคียวเกี่ยวข้าวไปยังแปลงนาด้วยกัน เราแอบสงสัยว่าทำไมกลุ่มชาวนาไทอีสานจึงไม่ใส่รองเท้าบู๊ตไปเกี่ยวข้าว แต่เมื่อถึงทุ่งนาเราก็พบว่าที่นาแห้งสนิท

ก็อบ-ว่าที่ ร.ต. เฉลิมศักดิ์ พรำนัก บอกว่า ช่วงก่อนเก็บเกี่ยวจะต้องปล่อยน้ำออกเพื่อให้ข้าวหอม เพราะข้าวที่ขาดน้ำจะมีกลิ่นหอมมากกว่าข้าวที่ได้น้ำมาก แต่ก็ต้องไม่ปล่อยน้ำออกเร็วเกินไป ไม่เช่นนั้นข้าวจะแข็ง การรักษาความหอมของข้าวจึงต้องรักษาระดับน้ำให้พอดี และปล่อยให้ถูกเวลาด้วย

Alive Trip, ชาวนา

ก็อบอธิบบายตามหลักวิทยาศาสตร์ให้พวกเราเข้าใจง่ายๆ ว่า การที่ดินแห้ง โพแทสเซียมที่อยู่ในดินมีโอกาสที่จะระเหยขึ้นมา เหตุผลที่ในทุ่งกุลาร้องไห้ปลูกข้าวหอมมะลิได้หอมมากก็เป็นเพราะว่าบริเวณใต้พื้นดินของทุ่งกุลาฯ มีเกลือเยอะ การระเหยของเกลือจะทำให้ข้าวได้สารอาหารมากขึ้น ชาวนาไทอีสานจึงมีการหว่านเกลือลงในนาหลังจากปล่อยน้ำออกให้หมดก่อนเก็บเกี่ยว เพื่อให้ข้าวได้โพแทสเซียมมากขึ้นจึงได้ข้าวที่หอมมากกว่าปกติ

เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนวดข้าวหรือตีข้าวด้วยแรงงานคน เพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงได้โดยง่าย สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากขั้นตอนนี้คือ การตีให้ถูกท่าและทำให้ถูกวิธี จะช่วยให้เราไม่เจ็บตัวจากการทำงาน และงานเสร็จไวขึ้นอีกด้วย และขั้นตอนนี้มักจะทำในช่วงบ่ายคล้อย ไปจนถึงมืดค่ำจะได้นวดกันสบายๆ ไม่ต้องตากแดด ถ้าอยากสนุกควรชวนเพื่อนๆ มาเอามื้อเอาแรง (ลงแขก) ด้วยกัน นวดไปร้องเพลงกันไปเพลินๆ ไม่นานก็นวดข้าวได้หมดทุ่ง

ก็อบบอกว่าเมื่อเราเริ่มทำและได้ผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตัวเองแล้ว เราจะรู้ว่าวิธีไหนที่เหมาะกับเรา และทำให้เราทำนาได้อย่างดีที่สุด

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

รู้จักข้าว 7 สายพันธุ์

ทุกวันนี้ นอกจากข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวเจ้า กข15 ฯลฯ เรารู้จักชื่อพันธุ์ข้าวกี่สายพันธุ์ และรู้หรือไม่ว่าข้าวที่เรากินแต่ละวันมีรสชาติที่แตกต่างกันอย่างไร

ในทริปนี้นอกจากเปิดโลกของการทำนา เจ้าบ้านยังพาเรามาเปิดโลกการกินข้าวอีกด้วย เพราะข้าวที่กลุ่มชาวนาไทอีสานกำลังช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์กับอาจารย์ตุ๊หล่าง-แก่นคําหล้า พิลาน้อย มีมากกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งในตอนนี้มี 7 สายพันธุ์ที่พวกเขาทดลองปลูกในหลายพื้นที่ภาคอีสานและภูมิใจนำเสนอให้เราได้ชิมกันตลอดทริป

Alive Trip, ชาวนา

อุ้ม-คนึงนิตย์ ชะนะโม บอกว่า “เจตนาของอาจารย์ตุ๊หล่างคือต้องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อสาธารณะประโยชน์ จึงเป็นภารกิจของกลุ่มชาวนาไทอีสานที่ต้องปลูกเพื่อทดลองไปในตัวด้วยเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้เราต้องใช้ทุนของตัวเองในการทดลอง คนอื่นอาจจะกลับมาบ้านเพื่อทำนาเป็นธุรกิจ ทำเพื่อขาย แต่เราขายเพื่อเอาเงินมาสานต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าว มาทำการทดลองปรับปรุงพันธุ์

“บางทีทำแล้วก็เสียหายเพราะธรรมชาติ เพราะมันมีความเสี่ยงสูงในการปลูกข้าวแบบนี้ เราก็ต้องทำใจเหมือนกันที่ใน 1 ไร่เราอาจจะไม่ได้ผลผลิตเท่ากับข้าวพันธุ์อื่นๆ นี่คือการทดลองที่พวกเราต้องทำร่วมกัน แต่ละคนในกลุ่มก็อยู่หลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสกลนคร ศรีษะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ แต่ละพื้นที่จะมีสภาพอากาศและสภาพดินที่ต่างๆ กัน ข้าวที่ได้ก็จะคุณภาพต่างกัน ความหอมต่างกัน เมื่อข้าวทั้งหมดนี้ถูกพัฒนาจนได้ที่แล้วเราก็ได้เอาไปให้คนภายนอกได้ชิมเพื่อให้คะแนนด้วย”

แต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและความหอมที่แตกต่างกันออกไป บางสายพันธุ์เหมาะที่จะทำเป็นขนมหวาน บางสายพันธุ์เหมาะที่จะกินกับแกง บางสายพันธุ์เหมาะที่จะทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ปัญหาคือข้าวคุณภาพสูงเหล่านี้มีกระบวนการผลิตที่ใช้เวลาและความละเอียดสูงมาก จึงยากที่จะติดตลาดเหมือนกับข้าวถุงจากโรงงานที่ผลิตแบบอุตสาหกรรม หลายพันธุ์ที่กินแล้วติดใจก็ไม่สามารถหาซื้อได้ที่ไหน ต้องรอผลผลิตจากที่นี่ที่เดียว เราจึงอยากชวนทุกคนมารู้จักข้าวของกลุ่มชาวนาไทอีสานกันแบบคร่าวๆ ก่อนที่จะไปตามหากับข้าวมากินคู่กัน

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

ข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ ผสมมาจากข้าวเหนียวเล้าแตก และข้าวเจ้าหอมมะลิ 105 อายุ 170 วัน เป็นพ่อพันธุ์ของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกับข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดใหญ่ เรียวยาว ข้าวสารสีขาวใสและวาว ข้าวพันธุ์นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพราะข้าวหอมมะลิทุกวันนี้ไม่ได้หอมอร่อยเหมือนเมื่อก่อน จึงปรับปรุงสัมผัสให้นุ่ม อร่อย และมีกลิ่นหอมของใบเตยมากขึ้น

ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร ผสมมาจากข้าวเจ้าปทุมธานีและข้าวเจ้าหอมนิลอายุ 120 วัน เป็นแม่พันธุ์ของข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการผสมกับข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ ข้าวเปลือกสีฟางอมเทา เมล็ดเรียวยาว ข้าวกล้องสีม่วงดำ เมื่อขัดขาวให้สีขาวใสอมม่วง หุงสุกมีความเหนียวและนุ่ม

ข้าวเจ้าหอมเวชวิสุทธิ์ ผสมมาจากข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระรุ่นที่ 5 กับข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร รุ่นที่ 5 เช่นเดียวกัน อายุ 175 วัน ข้าวเปลือกสีฟาง เมล็ดเรียวยาว น้ำหนักเบากว่าข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระ ซึ่งเป็นพ่อพันธุ์ เมื่อขัดเป็นข้าวสารมีความขาวใสน่ากิน หุงขึ้นหม้อ และมีความเหนียวนุ่ม

ข้าวเจ้าหอมเพชรราตรี ผสมมาจากข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระรุ่นที่ 5 กับข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5 เช่นเดียวกัน อายุ 175 วัน มีเมล็ดเรียวยาวคล้ายกับข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร ข้าวกล้องมีสีม่วงถึงดำสนิท เมื่อขัดขาวได้สีขาวใสอมม่วง เมื่อนำมาหุงให้กลิ่นหอมเหมือนข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์

ข้าวเหนียวดำอสิตะ ผสมมาจากข้าวเจ้าหอมเวสสันตะระรุ่นที่ 5 กับข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตรรุ่นที่ 5 เช่นเดียวกัน อายุ 180 วัน ให้รวงข้าวเล็กกว่าและมีน้ำหนักมากกว่า ลักษณะของข้าวกล้องและข้าวขัดขาวเหมือนกับข้าวเหนียวดำสีลาภรณ์ แต่กลิ่นเหมือนมีข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวดำไปในคราวเดียวกัน

นอกจากเราจะได้รู้เรื่องข้าวอย่างละเอียดแล้ว ในทริปนี้เรายังชวน เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ คนทำ ‘กับข้าว’ ที่เคยใช้ข้าวของกลุ่มชาวนาไทอีสานเดินทางมาร่วมทริปด้วยกัน

Alive Trip, ชาวนา

มื้อเย็นหลังจากการนวดข้าวจนหมดแรงคืออาหารอีสานที่เชฟแวนบอกว่าเพิ่งเคยทำเป็นครั้งแรก (แต่เราขอยืนยันด้วยเกียรติของนักกินประจำ The Cloud ว่าอร่อยจริง) ไม่ว่าจะเป็นเนียนบ่าเขือ น้ำพริกมะเขือเผาใส่กุ้งจ่อม หมกปลาส้ม ต้มยำขาหมูใส่หางหมู ปลาเนื้ออ่อนทอด ลาบเนื้อใส่เพี้ยและดีขม กินกับข้าวข้าวเจ้าหอมเวชวิสุทธิ์และข้าวเจ้าหอมเพชรราตรีเข้ากันดีจริงๆ

Alive Trip, ชาวนา Alive Trip, ชาวนา

เชฟแวนบอกว่า ในมุมของคนทำอาหารข้าวถูกดีไซน์มาให้ลดทอนรสชาติอื่นๆ ของอาหาร ข้อดีของข้าวคือมันมีรสชาติในตัวเอง แต่มันไม่ได้ถูกสร้างมาให้เด่นกว่าใคร นี่คือฟังก์ชันของข้าวที่ทำให้คนเราบริโภคได้ทุกวัน

อาหารทุกอย่างในมื้อนี้จึงเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันกับเราว่าการมีข้าวคุณภาพที่ทั้งหอมและรสชาติดีสำคัญกับมื้ออาหารอย่างไร

Alive Trip, ชาวนา

เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนให้เกษตรกรทั้งประเทศหันมาทำข้าวอินทรีย์แบบนี้ได้ในเร็ววัน หรือเรียกร้องให้ระบบอุสาหกรรมทำร้ายชาวนาน้อยลง แต่ในฐานะผู้บริโภคถ้าหากเรามีทางเลือกหรือมีโอกาสได้เลือก ทางเลือกของเราจะเป็นการสนับสนุนให้ชาวนารุ่นใหม่เหล่านี้มีพลังที่จะทำงานของพวกเขาต่อไป

Writer

Avatar

ธนาวดี แทนเพชร

ครีเอทีฟประจำ The Cloud ชอบใช้หลายทักษะในเวลาเดียวกัน จึงพ่วงตำแหน่งนักเขียนมาด้วยเป็นบางครั้ง ออกกองตามฤดูกาล จัดทริปและเดินทางเป็นงานอดิเรก

Photographers

Avatar

ลักษิกา จิรดารากุล

ช่างภาพที่ชอบกินบะหมี่ ถูกชะตากับอาหารสีส้ม และรักกะเพราไก่ใส่แครอท

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2