30 ธันวาคม 2019
2 K

หลายคนอาจเคยได้ยินหรือได้อ่าน  Alice’s Adventures in Wonderland ของ Lewis Carroll วรรณกรรมเยาวชนชิ้นเอกของโลกและเป็นที่รู้จักในนาม Alice in Wonderland ตามชื่อภาพยนตร์ การผจญภัยของอลิซ สาวน้อยตัวเอกของเรื่องในแดนมหัศจรรย์ เป็นที่ประทับใจของเด็กๆ ในทุกยุคสมัย จึงทำให้นิยายเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1865[1] และได้ฝากการบ้านให้ผู้อ่านเชื่อในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 6 เรื่องก่อนรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่ถ้าใครไม่ได้รับโจทย์หรือลืมจดการบ้านจากเจ้าหนูกระโปรงฟ้า หน้าหนาวนี้ Blenheim Palace ได้เนรมิตแดนมหัศจรรย์ฉบับคริสต์มาสขึ้น ในนิทรรศการ Alice in the Palace เพื่อพากลุ่มเพื่อนๆ และครอบครัวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ และร่วมเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้กับอลิซ ในบรรยากาศเทศกาลชวนฝันที่สุดแห่งปี

ลัดเลาะใน Wonderland

นิทรรศการ Alice in the Palace เป็นการออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) ที่แบ่งออกเป็นห้อง โดยแต่ละห้องมีอรรถบทหรือธีมหลักตามเรื่องราวในหนังสือ Alice’s Adventures in Wonderland โดยบางห้องออกแบบเพื่อเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในนิยาย เช่น ห้องโถงใหญ่ที่มีโต๊ะกระจกสูงตระหง่าน เมื่อแหงนหน้าขึ้นจะเห็นกุญแจดอกยักษ์วางอยู่บนโต๊ะ ถ้าเหลียวซ้ายขวาจะเห็นขวดสีชมพูใหญ่กว่าตัว บนขวดเขียนว่า ‘Drink Me’ เป็นอันว่าเราได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศเสียจนเผลอดื่มน้ำยาหดตัวเข้าไปแล้ว!

นอกจากห้องที่พาเราเข้าไปอยู่ในเรื่อง ยังมีบางห้องที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนบุคลิกของตัวละคร เช่น ‘บ้านคุณกระต่าย’ ตกแต่งด้วยการนำแครอทมาวางเกลื่อนกลาดเต็มห้องรับรองของพระราชวัง เคล้าไปกับเพลงสนุกสนานชวนตื่นตัวที่ดังมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่แอบซ่อนตัวอยู่บนโต๊ะด้านหลัง

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี
ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี
ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

“Curiouser and curiouser!”

นอกจากจะอยู่บ้านแล้ว คุณกระต่ายยังหลบซ่อนอยู่ในทุกห้องของนิทรรศการ ทำให้เราได้ตามรอยอลิซอีกครั้งในภารกิจตามหาเจ้ากระต่ายตัวนี้ ซึ่งไม่ง่ายเลยท่ามกลางเครื่องตกแต่งตระการตา ทั้งโคมไฟระย้า เตาผิง แจกัน ภาพวาดน่าอัศจรรย์ของพระราชวังที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อเพิ่มการพรางตัวด้วยต้นคริสต์มาส รุ้งฟู ริบบิ้น ตัวประดับ และไฟสีฉูดฉาดชวนละลานตาของนิทรรศการอีกหลายชั้น แต่ถ้าใครหาคุณกระต่ายเจอไม่ครบทุกห้อง อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยร้อยเรียงเรื่องราวของแต่ละห้องคือป้ายบอกทางที่มากับหน้าคู่หนังสือแบบ Pop-up ที่เล่าถึงบรรยากาศในห้องนั้นๆ

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี
ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

เมื่อนึกย้อนดูแล้ว การดื่มน้ำยาหดตัวอาจแฝงนัยให้เราสนใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และใส่ใจในรายละเอียดรอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างผีเสื้อ Absolem ที่ซ่อนอยู่ในกิ่งต้นคริต์มาสหรือทหารไพ่ตัวจิ๋วที่ต้องก้มลงไปดูถึงจะเห็น 

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี
ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

…แต่บางรายละเอียดก็ไม่จำเป็นต้องก้มลง เพียงใช้สายตาอันแหลมคมก็เห็นได้ เอ๊ะ! อลิซ นั่นใช่เธอหรือเปล่า?

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี
ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

(เว่อร์) วัง อลังการ

สถานที่จัดนิทรรศการ Alice in the Palace ครั้งนี้คือพระราชวังเบลนิม (Blenheim Palace) ซึ่งห่างจากตัวเมืองและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ Charles Lutwidge Dodgson เจ้าของนามปากกา Lewis Carroll ผู้เขียนเรื่อง Alice’s Adventures in Wonderland เคยศึกษาและเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ [2] แถมเมืองออกซ์ฟอร์ดยังเป็นที่เดียวกันกับที่เขาพบ Alice Liddell ลูกสาวของเพื่อนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครเอกของเรื่องครั้งแรก [1]

Blenheim Palace เริ่มก่อสร้างในปี 1705 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก ออกแบบโดย Sir John Vanbrugh และเป็นของขวัญที่สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์มอบให้แก่ John Churchill ผู้นำทัพชนะฝรั่งเศสใน Battle of Blenheim 

แม้จะมีชื่อเรียกว่าพระราชวัง แท้จริงแล้วคฤหาสน์หลังนี้มิได้เป็นของสมาชิกราชวงศ์ใด และเป็นคฤหาสน์เพียงหลังเดียวในสหราชอาณาจักรที่ได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังโดยมิได้เป็นของราชวงศ์ นอกจากนี้ Blenheim Palace ยังเป็นที่กำเนิดและบ้านของ Sir Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการแต่งตั้งเป็น UNESCO World Heritage Site ในปี 1987[2]

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

แม้พระราชวังแห่งนี้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี นิทรรศการ Alice in the Palace ก็ยังผสานความใหม่เข้ากับบรรยากาศสุดขลังได้อย่างน่าประทับใจ เช่น การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality และ Facial Recognition ที่เปิดโอกาสให้เราได้สวมบทเป็นแมวล่องหน Cheshire หรือ Mad Hatter ในเกมเก็บไพ่ที่ร่วงลงมาบนหน้าจอขนาดใหญ่

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

ได้เวลาจิบชาแล้ว!

โต๊ะยาวในโถงใหญ่ของพระราชวังตกแต่งด้วยเค้ก ขนมนานาชนิด กาน้ำชาหลากทรง ถ้วยชาหลากสี เพดานมีภาพไพ่หลากหลายสีฉายสลับกับท้องฟ้าครามเคล้าดนตรีรื่นเริง รายล้อมด้วยกุหลาบสาวดอกใหญ่ ใบหน้าขาวนวลอวบอิ่ม และทหารไพ่ที่กำลังจัดเตรียมปาร์ตี้อย่างแข็งขัน หัวโต๊ะสองด้านมีป้ายชื่อบอกที่นั่งของสองตัวละครคุ้นเคย Mad Hatter และอลิซ แสงสีและการตกแต่งในห้องนี้มีสเน่ห์สะกดสายตาจนทำให้ลืมเวลาที่ล่วงไป 

น่าเสียดายที่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แต่ปาร์ตี้น้ำชาก็เป็นฉากปิดนิทรรศการที่งดงามประทับใจ

ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี
ท่องพระราชวังอังกฤษกับ Alice in the Palace นิทรรศการที่จับคู่ประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยี

Travel Tips

  • นิทรรศการ Alice in the Palace จัดแสดงถึงวันที่ 5 มกราคม 2020
  • ข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่
  • ตั๋วเข้าชมงานมีหลายราคา ซื้อร่วมกับตั๋วเข้าชมงานอื่นๆ ที่จัดในช่วงเวลาเดียวกันได้
    มีราคาพิเศษสำหรับครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่)
  • ใช้เวลาเดินทางโดยรถประจำทางจากตัวเมืองออกซ์ฟอร์ดราว 30 นาที ตั๋วไป-กลับคนละประมาณ £5 (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.blenheimpalace.com/visitus/getting-here)

ข้อมูลอ้างอิง

[1] www.theguardian.com/books/2014/jan/20/100-best-novels-alice-wonderland

[2] www.britannica.com/biography/Lewis-Carroll

[3] theculturetrip.com/europe/united-kingdom/england/articles/a-brief-history-of-blenheim-palace/

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

นัชชา ยงพิพัฒน์วงศ์

นักเพ้อฝันที่อยากผันตัวมาเป็นนักปฏิบัติ สนุกกับการเรียนรู้เรื่องต่างๆ จากมุมมองใหม่ๆ ปัจจุบันเรียนอยู่คณะปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์