หลายคนอาจเคยได้ยินหรือได้อ่าน Alice’s Adventures in Wonderland ของ Lewis Carroll วรรณกรรมเยาวชนชิ้นเอกของโลกและเป็นที่รู้จักในนาม Alice in Wonderland ตามชื่อภาพยนตร์ การผจญภัยของอลิซ สาวน้อยตัวเอกของเรื่องในแดนมหัศจรรย์ เป็นที่ประทับใจของเด็กๆ ในทุกยุคสมัย จึงทำให้นิยายเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 1865[1] และได้ฝากการบ้านให้ผู้อ่านเชื่อในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 6 เรื่องก่อนรับประทานอาหารเช้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แต่ถ้าใครไม่ได้รับโจทย์หรือลืมจดการบ้านจากเจ้าหนูกระโปรงฟ้า หน้าหนาวนี้ Blenheim Palace ได้เนรมิตแดนมหัศจรรย์ฉบับคริสต์มาสขึ้น ในนิทรรศการ Alice in the Palace เพื่อพากลุ่มเพื่อนๆ และครอบครัวเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ และร่วมเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้กับอลิซ ในบรรยากาศเทศกาลชวนฝันที่สุดแห่งปี
ลัดเลาะใน Wonderland
นิทรรศการ Alice in the Palace เป็นการออกแบบประสบการณ์ (Experience Design) ที่แบ่งออกเป็นห้อง โดยแต่ละห้องมีอรรถบทหรือธีมหลักตามเรื่องราวในหนังสือ Alice’s Adventures in Wonderland โดยบางห้องออกแบบเพื่อเล่าเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในนิยาย เช่น ห้องโถงใหญ่ที่มีโต๊ะกระจกสูงตระหง่าน เมื่อแหงนหน้าขึ้นจะเห็นกุญแจดอกยักษ์วางอยู่บนโต๊ะ ถ้าเหลียวซ้ายขวาจะเห็นขวดสีชมพูใหญ่กว่าตัว บนขวดเขียนว่า ‘Drink Me’ เป็นอันว่าเราได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศเสียจนเผลอดื่มน้ำยาหดตัวเข้าไปแล้ว!
นอกจากห้องที่พาเราเข้าไปอยู่ในเรื่อง ยังมีบางห้องที่ออกแบบมาเพื่อสะท้อนบุคลิกของตัวละคร เช่น ‘บ้านคุณกระต่าย’ ตกแต่งด้วยการนำแครอทมาวางเกลื่อนกลาดเต็มห้องรับรองของพระราชวัง เคล้าไปกับเพลงสนุกสนานชวนตื่นตัวที่ดังมาจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่แอบซ่อนตัวอยู่บนโต๊ะด้านหลัง



“Curiouser and curiouser!”
นอกจากจะอยู่บ้านแล้ว คุณกระต่ายยังหลบซ่อนอยู่ในทุกห้องของนิทรรศการ ทำให้เราได้ตามรอยอลิซอีกครั้งในภารกิจตามหาเจ้ากระต่ายตัวนี้ ซึ่งไม่ง่ายเลยท่ามกลางเครื่องตกแต่งตระการตา ทั้งโคมไฟระย้า เตาผิง แจกัน ภาพวาดน่าอัศจรรย์ของพระราชวังที่มีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อเพิ่มการพรางตัวด้วยต้นคริสต์มาส รุ้งฟู ริบบิ้น ตัวประดับ และไฟสีฉูดฉาดชวนละลานตาของนิทรรศการอีกหลายชั้น แต่ถ้าใครหาคุณกระต่ายเจอไม่ครบทุกห้อง อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยร้อยเรียงเรื่องราวของแต่ละห้องคือป้ายบอกทางที่มากับหน้าคู่หนังสือแบบ Pop-up ที่เล่าถึงบรรยากาศในห้องนั้นๆ


เมื่อนึกย้อนดูแล้ว การดื่มน้ำยาหดตัวอาจแฝงนัยให้เราสนใจสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และใส่ใจในรายละเอียดรอบตัวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างผีเสื้อ Absolem ที่ซ่อนอยู่ในกิ่งต้นคริต์มาสหรือทหารไพ่ตัวจิ๋วที่ต้องก้มลงไปดูถึงจะเห็น


…แต่บางรายละเอียดก็ไม่จำเป็นต้องก้มลง เพียงใช้สายตาอันแหลมคมก็เห็นได้ เอ๊ะ! อลิซ นั่นใช่เธอหรือเปล่า?


(เว่อร์) วัง อลังการ
สถานที่จัดนิทรรศการ Alice in the Palace ครั้งนี้คือพระราชวังเบลนิม (Blenheim Palace) ซึ่งห่างจากตัวเมืองและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ Charles Lutwidge Dodgson เจ้าของนามปากกา Lewis Carroll ผู้เขียนเรื่อง Alice’s Adventures in Wonderland เคยศึกษาและเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ [2] แถมเมืองออกซ์ฟอร์ดยังเป็นที่เดียวกันกับที่เขาพบ Alice Liddell ลูกสาวของเพื่อนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวละครเอกของเรื่องครั้งแรก [1]
Blenheim Palace เริ่มก่อสร้างในปี 1705 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรก ออกแบบโดย Sir John Vanbrugh และเป็นของขวัญที่สมเด็จพระราชินีนาถแอนน์มอบให้แก่ John Churchill ผู้นำทัพชนะฝรั่งเศสใน Battle of Blenheim
แม้จะมีชื่อเรียกว่าพระราชวัง แท้จริงแล้วคฤหาสน์หลังนี้มิได้เป็นของสมาชิกราชวงศ์ใด และเป็นคฤหาสน์เพียงหลังเดียวในสหราชอาณาจักรที่ได้ชื่อว่าเป็นพระราชวังโดยมิได้เป็นของราชวงศ์ นอกจากนี้ Blenheim Palace ยังเป็นที่กำเนิดและบ้านของ Sir Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับการแต่งตั้งเป็น UNESCO World Heritage Site ในปี 1987[2]


แม้พระราชวังแห่งนี้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปี นิทรรศการ Alice in the Palace ก็ยังผสานความใหม่เข้ากับบรรยากาศสุดขลังได้อย่างน่าประทับใจ เช่น การใช้เทคโนโลยี Augmented Reality และ Facial Recognition ที่เปิดโอกาสให้เราได้สวมบทเป็นแมวล่องหน Cheshire หรือ Mad Hatter ในเกมเก็บไพ่ที่ร่วงลงมาบนหน้าจอขนาดใหญ่

ได้เวลาจิบชาแล้ว!
โต๊ะยาวในโถงใหญ่ของพระราชวังตกแต่งด้วยเค้ก ขนมนานาชนิด กาน้ำชาหลากทรง ถ้วยชาหลากสี เพดานมีภาพไพ่หลากหลายสีฉายสลับกับท้องฟ้าครามเคล้าดนตรีรื่นเริง รายล้อมด้วยกุหลาบสาวดอกใหญ่ ใบหน้าขาวนวลอวบอิ่ม และทหารไพ่ที่กำลังจัดเตรียมปาร์ตี้อย่างแข็งขัน หัวโต๊ะสองด้านมีป้ายชื่อบอกที่นั่งของสองตัวละครคุ้นเคย Mad Hatter และอลิซ แสงสีและการตกแต่งในห้องนี้มีสเน่ห์สะกดสายตาจนทำให้ลืมเวลาที่ล่วงไป
น่าเสียดายที่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แต่ปาร์ตี้น้ำชาก็เป็นฉากปิดนิทรรศการที่งดงามประทับใจ


Travel Tips
- นิทรรศการ Alice in the Palace จัดแสดงถึงวันที่ 5 มกราคม 2020
- ข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่
- ตั๋วเข้าชมงานมีหลายราคา ซื้อร่วมกับตั๋วเข้าชมงานอื่นๆ ที่จัดในช่วงเวลาเดียวกันได้
มีราคาพิเศษสำหรับครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุ (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่) - ใช้เวลาเดินทางโดยรถประจำทางจากตัวเมืองออกซ์ฟอร์ดราว 30 นาที ตั๋วไป-กลับคนละประมาณ £5 (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.blenheimpalace.com/visitus/getting-here)
ข้อมูลอ้างอิง
[1] www.theguardian.com/books/2014/jan/20/100-best-novels-alice-wonderland
[2] www.britannica.com/biography/Lewis-Carroll
[3] theculturetrip.com/europe/united-kingdom/england/articles/a-brief-history-of-blenheim-palace/
Write on The Cloud
Trevlogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ