ไม่มีใครอยากจะเป็นซีอีโอของ ดีแทค ในวันที่ อเล็กซานดรา ไรช์ (Alexandra Reich) ขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างแน่นอน 

วันที่มีแต่ปัญหา แรงกดดัน และสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ของธุรกิจโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่รายนี้

เดือนมิถุนายน 2561 คณะกรรมการของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประกาศแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่เพื่อมาบริหารงาน และเป็นแม่ทัพผู้รับโจทย์หนักเรื่องการหมดอายุสัมปทานของคลื่น 850 MHz ที่ถูกขีดเส้นตายไว้ในวันที่ 15 กันยายนปีเดียวกัน โดยดีแทคต้องเร่งย้ายลูกค้าบนคลื่นความถี่เดิมไปบนคลื่นความถี่ใหม่ให้ทัน ซึ่งทุกฝ่ายประเมินว่าเป็นไปได้ยากมาก จนเมื่อใกล้ถึงกำหนด สถานการณ์ก็จวนตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ดีแทคทำเรื่องขอเยียวยาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เนื่องจากย้ายเบอร์ของลูกค้าราว 90,000 หมายเลขไม่ทันและอาจเกิดภาวะ ‘ซิมดับ’ ได้ แต่เพียง 2 วันก่อนถึงกำหนด กสทช. ประกาศไม่เยียวยาดีแทค ยืนยันยุติคลื่นตามกำหนดเดิม ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากที่สุดครั้งหนึ่งของวงการโทรคมนาคมไทย

แต่สุดท้ายศาลปกครองก็มีคำสั่งทุเลามติดังกล่าวอย่างเฉียดฉิว โดยยืดเวลาให้อีก 3 เดือน เพื่อถ่ายโอนลูกค้าให้เสร็จ และสุดท้ายก็จบเกมกันได้เมื่อดีแทคตกลงตามเกม กสทช. เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ในเดือนตุลาคมด้วยวงเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท อายุสัมปทาน 15 ปี และปิดบัญชีสิ้นปีด้วยตัวเลขขาดทุนกว่า 4.3 พันล้านบาท

แค่เริ่มต้นก็เหนื่อยแล้ว

และเมื่อผ่านเรื่องยากมาได้ เรื่องต่อๆ ไปก็ไม่ลำบากนัก

มอง อเล็กซานดรา ไรช์ อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอเล็กซานดราเป็นซีอีโอที่โดดเด่นมากที่สุดคนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้ ไม่ใช่เพียงแค่โฆษณาเปิดตัวที่ทำให้ประโยค “ไม่หยุดค่ะ” เป็นที่พูดถึงไปทั่วจากภาพของ ‘ฝรั่งพูดไทย’ ที่มักได้ใจคนไทยเสมอ ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรกที่ดีแทคทำ 

เธอยังเดินหน้าปรับวัฒนธรรมองค์กรของดีแทคครั้งใหญ่ กระตุ้นให้คนในองค์กรเชื่อในศักยภาพของตนเอง ปลุก ‘ยักษ์’ ที่มีอยู่ในตัวให้ตื่นขึ้นและลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อแข่งขันในธุรกิจที่ต่อสู้กันรุนแรงที่สุดนี้ ประกอบกับภาพลักษณ์เรื่องความเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย ทำให้เธอกลายเป็นที่รักของคนในองค์กรในเวลาไม่นานหลังจากที่เข้ามาทำงาน

อดีตซีอีโอของเทเลนอร์ ฮังการี และหัวหน้ากลุ่มเทเลนอร์ ยุโรปกลาง คนนี้ไม่ได้มาเล่นๆ ที่ดีแทคเป็นแน่ ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจโทรคมนาคมมากกว่า 20 ปี ทำให้เธอกล้าตัดสินใจเดินทางข้ามมาอีกฟากโลก และรับหน้าที่ ‘กัปตันทีม’ ขององค์กรใหม่ที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต่างวัฒนธรรมและวิถีชีวิตมาเกือบปีครึ่งแล้ว ไม่เพียงแค่สอบผ่านในสายตาของบอร์ดบริษัทและคนในองค์กร แต่เธอกำลังเล่นบทบาทสำคัญในฐานะผู้เปลี่ยนเกมเทคโนโลยี 5G ของประเทศด้วย

การพูดคุยกันครั้งนี้ The Cloud มอง อเล็กซานดรา ไรช์ ไกลกว่าความเป็นผู้บริหารหญิงเหล็ก เรามองเข้าไปในหัวใจของเธอในฐานะคนคนหนึ่ง แม่ของลูกทั้งสอง ภรรยาที่น่ารัก ผู้หญิงที่หลงรักการเดินบนรองเท้าส้นสูง และซีอีโอที่ฝันว่าสักวันเธอจะสร้างคนให้เข้มแข็ง เพื่อพาองค์กรไปข้างหน้าโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีซีอีโอเลยก็ได้

เรามาคุยกับเธอกันเถอะ

มอง อเล็กซานดรา ไรช์ อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

คุณประเมินธุรกิจโทรคมนาคมในสิ้นปีนี้อย่างไร

ปีนี้ถือว่าแข่งขันกันรุนแรงมาก แต่ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าปี 2561 ปีนั้นโหดมากจริงๆ โดยเฉพาะการเข้าประมูลคลื่นความถี่ใหม่ ซึ่งเราเองก็ช่วยกันทำงานเพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด ผลตอบรับค่อนข้างดี น่าภูมิใจค่ะ คิดว่าคงไม่ใช่แค่ดีแทค แบรนด์อื่นๆ ในอุตสาหกรรมก็น่าจะปิดสิ้นปีได้ดีเหมือนกัน 

คุณผ่านช่วงที่ยากที่สุดของการทำธุรกิจโทรคมนาคมในไทยไปแล้วหรือยัง

เราผ่านเรื่องการประมูลคลื่นซึ่งถือว่าเหนื่อยกันมาก การที่บริษัทก้าวผ่านช่วงที่ยากลำบากจะทำให้เราได้กลับมาคิดถึงลูกค้ามากขึ้น เราอยากจะตอบสนองพวกเขาให้ดีที่สุด ด้วยบริการที่ดีที่สุด ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนแปลงนะคะ พวกเราจับมือทำงานร่วมกัน สู้ด้วยกัน แม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราได้พัฒนาตนเอง ทุกวันสำหรับฉันมันก็ยากและท้าทายเสมอ เพราะความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อผู้ให้บริการเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เราก็ต้องเร่งปรับปรุง เรียนรู้ไปด้วยกัน และท้าทายตัวเองเสมอ ถือเป็นเรื่องที่ดี

คุณวางแผนธุรกิจเรื่อง 5G อย่างไร

เอาจริงๆ ฉันคิดว่าเรื่อง 5G น่าจะให้บริการในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 ค่ะ ส่วนปี 2563 น่าจะเป็นปีที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อมเข้าประมูลคลื่นความถี่ เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่มีให้พร้อมที่สุด 5G เป็นเรื่องของเทคโนโลยีไม่ใช่แค่เรื่องคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียว เราต้องทำความเข้าใจระบบนิเวศของมัน เรียนรู้ตัวอย่างการใช้งานจริง ซึ่งเราก็มีองค์ความรู้จากเทเลนอร์ที่เป็นบริษัทแม่ที่จะช่วยสนับสนุนตรงนี้ได้ อย่างในประเทศไทย เราก็นำ 5G มาใช้กับเรื่อง Smart Farming และเราก็คิดต่อยอดไปอีกว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้สตาร์ทอัพทั้งหลายได้อย่างไร

มอง อเล็กซานดรา ไรช์ อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

ได้คุยเรื่อง 5G กับซีอีโอคนอื่นๆ ของเทเลนอร์ในต่างประเทศบ้างไหม

มีบ้างค่ะ อย่างที่เห็นในเกาหลีใต้ตอนนี้ กว่าที่การใช้งานจะพัฒนาไปถึงจุดที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีจริงก็อาจจะเป็นปี 2568 โน่นเลย ถึงตอนนั้นการใช้งานเทคโนโลยีเสมือนอย่าง Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) ก็จะทำได้เต็มที่ มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าดูสิ่งที่เป็นอยู่ในตอนนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีอะไรพร้อมเลย ความหนาแน่นของคลื่น 5G ก็ยังต่ำอยู่ ฉันได้คุยกับผู้บริหารที่มาเลเซีย เวียดนาม และหลายๆ ประเทศ ทุกที่เขาก็ยังเรียนรู้และทดสอบกันอยู่ สิ่งที่สำคัญคือ เราจะทำเงิน (Monetize) จากมันได้อย่างไร พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน เราจะใช้ประโยชน์ของ 5G ในยุคดิจิทัลนี้ได้แค่ไหน นี่เป็นเรื่องสำคัญ

คุณเรียนรู้อะไรจากธุรกิจโทรคมนาคมและเอามาปรับใช้ที่ดีแทคอย่างไรบ้าง

ฉันอยู่กับธุรกิจนี้มายี่สิบปีแล้วค่ะ ทุกตลาดแตกต่างกันหมดเลย สิ่งที่ฉันสังเกตเห็นที่ประเทศไทยคือ ผู้คนติดมือถือ ใช้งานกันเยอะมาก มากกว่าตลาดในยุโรปเสียอีก แต่ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อความบันเทิง การใช้งานที่เป็นประโยชน์สำหรับกลุ่มองค์กรยังน้อยอยู่ 

สิ่งที่ฉันเรียนรู้จากที่ฮังการีหรือสวิตเซอร์แลนด์นำมาใช้กับที่นี่ได้เยอะเลย ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเข้าใจลูกค้า รู้ให้ได้ว่าเขาคิดอย่างไร ฉันจึงใช้เวลาในการพูดคุยกับคนข้างในองค์กร คุยกับลูกค้า ประกอบกับวิเคราะห์ตลาดประเทศไทยจากฐานข้อมูลที่มีไปพร้อมกัน

คิดว่าคนไทยติดมือถือกันเกินไปไหม

เราเป็นห่วงเรื่องนี้นะคะ จึงออกแคมเปญ ‘Disconnect to Connect’ เมื่อปีที่แล้ว และตัวฉันก็ชอบมาก ลองสังเกตดูเวลาเราไปไหนมาไหน ขึ้นลิฟต์ ไปร้านอาหาร ก็เห็นคนเล่นแต่มือถือ เวลาขึ้นลิฟต์นี่ฉันจะไม่ใช้มือถือและหันไปคุยกับคนรอบข้างแทน นี่เป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องคุยกับคนอื่นๆ ถ้าเอาแต่เล่นมือถือก็จะเสียโอกาสที่จะเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ควรมีขอบเขตให้ตัวเองบ้าง เราทำธุรกิจโทรคมนาคมก็จริง แต่ก็มีหน้าที่ในการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ซึ่งทุกอุตสาหกรรมก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ถ้าดีแทคไม่ชี้ให้เห็นความสำคัญเรื่องนี้ แล้วใครจะทำกัน

มอง อเล็กซานดรา ไรช์ อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

อะไรคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตและคุณเรียนรู้อะไรบ้าง

ตอนอายุสามสิบปี ฉันเลิกกับสามีคนแรก เป็นเรื่องที่หนักที่สุดเลย ไม่ได้อยากทำแบบนั้น แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้ได้ ไม่นานจากนั้นก็เจอสามีคนปัจจุบัน เขาเป็นคนดีมาก เราแชร์สิ่งต่างๆ ในชีวิตด้วยกัน เขาอยู่เคียงข้างฉัน เชื่อในตัวฉัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยได้รับมาก่อน นี่ล่ะจุดเปลี่ยนของจริงเลย 

ตอนที่แต่งงานครั้งแรกฉันยังเด็กเกินไป ไม่รู้จริงๆ ว่าฉันเป็นใคร ต้องการอะไรกันแน่ ความรักในตอนนั้นมันมีเงื่อนไขเยอะมาก เขา (สามีคนแรก) รักฉันในสิ่งที่เขาอยากจะให้ฉันเป็น แต่สามีคนปัจจุบันไม่มีเรื่องแบบนั้น ไม่มีเงื่อนไขที่จะรักฉันเลย เขาชอบสิ่งที่ฉันเป็น ไม่ต้องการเปลี่ยนอะไรในตัวฉัน คอยสนับสนุนตลอด เราสนุกและหัวเราะในเรื่องเดียวกันได้ นั่นล่ะคือสิ่งที่ต้องการจริงๆ สำหรับการทำงานที่หนักแบบนี้ ถ้าชีวิตส่วนตัวของคุณไม่เข้มแข็ง ก็คงผ่านไปได้ยาก

*ระหว่างที่ The Cloud พูดคุยกับซีอีโอของดีแทคอยู่นั้น ทีมงานก็พาลูกสาวคนเล็กของเธอเข้ามา เพื่อรอไปรับประทานอาหารด้วยกันหลังสัมภาษณ์เสร็จ เธอนั่งลงข้างๆ อเล็กซานดรา และคอยตั้งใจฟังคำตอบของแม่ ที่ดูเหมือนจะประหม่าขึ้นเล็กน้อย

มอง Alexandra Reich อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

ลูกสาวคุณอยู่ในช่วงวัยรุ่น น่าจะติดมือถือเหมือนคนอื่นๆ ในฐานะแม่ คุณจัดการเรื่องนี้อย่างไร

เอาจริงๆ ลูกสาวของฉันนี่ล่ะค่ะที่เป็นคนคอยเก็บมือถือฉันไป เวลาเราไปไหนมาไหน เธอก็จะบ่นว่าฉันติดมือถือมากเกินไป ฉันทำงานเป็นผู้บริหาร ก็ต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา มันเลี่ยงได้ยาก ลูกก็บอกว่า “พอเถอะแม่ พักผ่อนได้แล้ว” ส่วนลูกสาวคนเล็กเขาใช้มือถือเยอะเหมือนกัน ใช้ฟังเพลง ฟังพอดแคสต์ รวมถึงใช้ทำงานด้วย

อะไรคือบทบาทที่สำคัญที่สุดของคุณ ซีอีโอ แม่ มนุษย์คนหนึ่ง หรือบทบาทไหนกันแน่

ไม่ได้มีบทบาทไหนที่ฉันต้องแสดงหรอกค่ะ ฉันก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทำงานที่ดีแทคต้องรับผิดชอบชีวิตของคนมากมาย ฉันรู้ว่าการจัดการโดยเน้นสั่งการอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ เราต้องเชื่อในศักยภาพของคนและพัฒนาพวกเขาขึ้นมา ฉันไม่อยากเป็นซีอีโอที่เข้าถึงไม่ได้และเล่นบทบาทนั้นไปวันๆ ส่วนครอบครัว ฉันเป็นแม่ ต้องหาเงินเลี้ยงลูก ให้ในสิ่งที่พวกเขาชอบเหมือนกับแม่คนอื่นๆ ฉันพยายามแชร์ทุกอย่างกับลูกและเป็นเพื่อนกับเขาให้ได้มากที่สุด 

มอง Alexandra Reich อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเป็นผู้นำในยุคนี้

ความอ่อนน้อมเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้บริหารยุคนี้ไม่จำเป็นต้องรู้ดีหมดทุกเรื่อง ถ้าคุณเชื่อตัวเองว่ารู้ทุกอย่างหมดแล้ว คุณอาจมองข้ามบางเรื่องไป อย่างเช่นการใช้ฐานข้อมูลให้เป็นประโยชน์เพื่อนำไปวิเคราะห์ลูกค้าและตลาด ผู้นำต้องตื่นตัวที่จะรับฟัง เรียนรู้ และใกล้ชิดกับคนมากขึ้น ต้องตามตลาดให้ทันเสมอ

ทำงานกับคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง

การทำงานกับคนไทยที่นี่เป็นเรื่องที่เยี่ยมมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่าเราทำให้ดีขึ้นได้คือการทำให้เสียงของคุณดังขึ้น กล้าพูดออกมา ถ้าเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เป็นทีมมากขึ้น พูดคุย โต้แย้ง กันบ้าง แสดงความเห็น เรื่องนี้อาจจะยากสักหน่อยสำหรับสังคมไทย แต่ตอนนี้ที่ดีแทคเราลดความเป็นลำดับชั้นลงพอสมควร สร้างความเท่าเทียมและความหลากหลายมากขึ้น คนที่ดีแทคจะรู้ว่าเขาพูดสิ่งที่คิดและรับฟังกันได้

มอง อเล็กซานดรา ไรช์ อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

อะไรคือหลักการทำงานของคุณ และคิดว่าคุณจะสร้างประวัติศาสตร์อะไรที่ดีแทค

หลักการของฉันเกี่ยวข้องกันกับสิ่งที่ดีแทคเป็น นั่นคือฉันใส่ใจลูกค้ามาก ฉันเชื่อว่าถ้าเราทำสิ่งที่ดีเพื่อลูกค้า รับฟังพวกเขา ก็เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรรวมทั้งตัวผู้ถือหุ้นเองด้วย นอกจากนั้น เราควรจะท้าทายตัวเองอยู่เสมอ มันคือการมองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง 

ล่าสุดเราทำเรื่องปลุกยักษ์ในตัวคนทุกคน พนักงานที่นี่ทำงานหนัก ทุ่มเทเพื่อองค์กรอยู่แล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข้อจำกัดหลายอย่างอาจจะทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองลดลงและไม่กล้าพูดความคิดของตัวเองออกมา เราจึงสร้างวัฒนธรรมให้ผู้คนมั่นใจ กล้าพูดสิ่งที่อยากจะทำ โครงการที่อยากจะมีบทบาท นั่นคือจุดเปลี่ยนใหญ่เลย ที่ผ่านมาพนักงานถูกบอกว่าต้องทำอะไร ตอนนี้เราอยากให้พวกเขาคิด ลองล้มเหลวและตัดสินใจด้วยตนเองดูบ้าง

ส่วนการสร้างประวัติศาสตร์หรืออะไรที่น่าจดจำนั้น ฉันไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ 

เพราะอะไร

ตอนมาที่ดีแทคใหม่ มีพนักงานมาถามเยอะมากว่า จะอยู่ตรงนี้ไปอีกนานหรือไม่ ทุกคนต่างกังวลเวลาเปลี่ยนนายใหม่ มาแล้วจะอยู่ได้นานหรือเปล่า คือฉันอยากจะทำงานในที่ที่คนในองค์กรไม่ต้องมองว่าฉันเป็นซีอีโอ อยากให้ทุกคนมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองทำ มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ฉันหวังว่าการที่ฉันอยู่ตรงนี้จะไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก เพราะทุกคนได้พัฒนาตนเอง มีความเป็นเจ้าของในองค์กรนี้ร่วมกัน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน  คุณต้องเชื่อในตัวเอง ใช้จุดแข็งที่มี รับฟังคนอื่น อย่างระบบการศึกษา แทนที่ครูจะสอนอย่างเดียว ก็ควรฝึกเด็กให้ตั้งคำถามเพื่อคิดและค้นพบองค์ความรู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง นั่นคือสิ่งที่ฉันอยากนำมาปรับใช้กับดีแทค ทำให้คนในองค์กรคิด เข้าใจการเชื่อมโยง และร่วมมือกัน

เรื่องนี้สำคัญกับคุณอย่างไร

ฉันอยากเป็นคนที่ช่วยคนอื่นให้พัฒนาตัวเอง ให้พลังแก่พวกเขา เปลี่ยนวัฒนธรรมให้เกิดแนวคิด ‘Unboss’ คือคุณไม่ต้องการหัวหน้า แต่คุณต้องการโค้ชที่ดี อยากให้คนคิดว่าฉันเก่งเพราะฉันทำให้พวกเขาเก่งและทำงานเพื่อบริษัทมากกว่า

มอง Alexandra Reich อย่างที่เธอเป็น CEO ที่ฝันว่าสักวัน DTAC จะไม่ต้องมี CEO

10 Questions answered by Chief Executive Officer of DTAC

  1. คุณตื่นนอนกี่โมง : หกโมงเช้าค่ะ แต่บางวันที่ต้องอบรมจะตื่นตอน 05.30 น. ฉันชอบตื่นเช้าและมาออฟฟิศเร็วหน่อยประมาณ 07.15 น. ฉันชอบเห็นพระอาทิตย์ขึ้น ได้ทบทวนแนวคิดก่อนเริ่มทำงาน
  2. เมนูสิ้นคิดที่คุณเลือกกินบนโต๊ะทำงานเวลาเร่งรีบ : เวลารีบฉันกินได้ทุกอย่างเลย ไม่ได้มีเมนูโปรดค่ะ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ (ลูกสาว : แม่กินสลัดค่ะ) ใช่ๆ ฉันชอบสลัด ซูชิ ต้มข่าไก่ มันไม่ค่อยเผ็ด ชอบเมนูซุปค่ะ 
  3. แล้วอาหารที่คุณเกลียดล่ะ : (ลูกสาว : อะไรก็ตามที่หวานและไขมันเยอะค่ะ) อเล็กซานดราได้แต่หัวเราะ 
  4. คุณชอบใส่รองเท้าส้นสูงหรือแบบไม่มีส้น : ถ้าขึ้นรถไฟฟ้าก็แบบไม่มีส้นค่ะ แต่ฉันชอบใส่รองเท้าส้นสูง สามีฉันก็รู้นะว่าฉันชอบ มันเป็นอะไรที่ผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ แต่ผู้หญิงด้วยกันจะรู้ ไม่ได้มีแบรนด์โปรดหรือต้องใช้แบรนด์แพงๆ เลย ฉันจะซื้อคู่ที่ฉันชอบ
  5. เกี่ยวกับเจ้านายคนแรกของคุณ : Rosi (โรซี่) เขาเป็นวาณิชธนากร (Investment Banker : IB) ค่ะ เป็นคนเข้มงวดมากแบบนายแบงก์ดั้งเดิมเลย พยายามสอนให้ฉันทำอย่างโน้นอย่างนี้อย่างที่เขาคิดว่าฉันสมควรจะเป็น เขาเป็นนายที่ดีนะคะ แต่คาดหวังสูงมาก นั่นคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ฉันก้าวออกมาจากอุตสาหกรรมการเงิน เพราะมันไม่เข้ากับตัวฉันเลย ตอนนั้นฉันอายุยี่สิบเอ็ดยี่สิบสองปี อยากเป็นตัวของตัวเอง อยากจะทำงานแบบที่อยากทำ ไม่ใช่มานั่งคิดว่าต้องแต่งตัวยังไงมาทำงาน
  6. สิ่งที่พลาดที่สุดในการทำงาน : ฉันคิดว่าความผิดพลาดคือการเรียนรู้นะคะ ก่อนหน้านี้ฉันเคยมีบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง แต่เมื่อฉันตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตตัวเองโดยย้ายไปทำงานที่เวียนนา ฉันส่งต่อให้คนอื่นมาบริหารงานแทนและคิดว่าคงจะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้ แต่สุดท้ายมันก็ปิดตัวลงหลังจากที่ฉันออกมาไม่นาน คงเพราะที่ผ่านมาฉันทำทุกอย่างเองหมด พอออกมาก็ไม่มีคนทำได้แบบที่ฉันทำ ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ฉันต้องออกไปจากองค์กรไหน ฉันจะต้องมั่นใจก่อนว่ามีทีมที่ดีที่จะมาทำงานแทนฉันได้แล้ว 
  7. อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพกติดตัวตลอดและขาดไม่ได้เลย : มือถือค่ะ ถ้าไม่เอาไปด้วยจะออกจากบ้านไม่ได้ ฉันเป็นซีอีโอของดีแทคและเป็นแม่ของลูกสองคนที่ต้องคอยติดตามว่าลูกเป็นยังไงบ้าง นอกจากนั้นก็คือหูฟังค่ะ เวลาอยู่บนรถหรือขึ้นรถไฟฟ้าก็เสียบฟังเพลงและสิ่งที่อยากจะฟัง สองอย่างนี้ล่ะที่ขาดไม่ได้เลย
  8. คุณเลี้ยงสัตว์หรือไม่ : ฉันรักสัตว์ของฉันค่ะ มาประเทศไทยอาทิตย์แรกก็ไปเจอเพจ Bangkok Pet Lovers ฉันเลยเริ่มรับแมวมาเลี้ยง อีกอาทิตย์ต่อมาก็รับหมาอีกตัวมาเลี้ยง มันเข้ากันได้ดีเลย ตอนนี้ก็มีหมาสองตัวและแมวหนึ่งตัว ก็อยากจะเลี้ยงเพิ่มนะคะ แต่คนในครอบครัวบอกว่าพอแล้ว พวกมันชอบวิ่งไปรอบบ้าน ฉันก็ชอบออกไปวิ่งเล่นกับมันค่ะ 
  9. สิ่งที่ไม่เคยบอกลูกสาว : (อเล็กซานดราหันไปมองลูกสาว) ไม่มีอะไรที่ฉันบอกเธอไม่ได้หรอกค่ะ แต่ก็ใช่ว่าลูกสาวจะอยากฟังทุกเรื่องนะคะ บางทีเธอก็เบื่อ แต่เราก็พยายามแชร์กันตลอดในทุกๆ เรื่อง
  10. คุณเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติหรือโชคดวงหรือไม่ : มีบ้างนะคะ ฉันพบว่าฮวงจุ้ยเป็นเรื่องสำคัญ มีเรื่องพลังงานมาเกี่ยวข้อง หรือความเชื่อบางอย่าง เช่นสีของชุดทำงานเองก็ตามที ฉันมีตารางที่ลูกน้องส่งมาให้ เป็นปฏิทินเลยค่ะ บอกว่าวันไหนควรใส่สีไหน อย่างวันศุกร์ฉันก็จะรู้ว่าไม่ควรใส่เสื้อสีดำ ก็ถือว่าเสริมกำลังใจให้ทีมได้นะ

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล