5 กุมภาพันธ์ 2022
2 K

The Cloud x BRAND’S Suntory x EEC

ว่ากันว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธรรมชาติฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างท้องทะเลทางตอนใต้ของประเทศไทย และหนึ่งในนั้นคือเกาะภูเก็ต

อย่างที่คนกรุงส่วนใหญ่ได้รับรู้มาว่า สัตว์ทะเลหายากเริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ แต่สิ่งที่ข่าวสารเหล่านั้นไม่สามารถถ่ายทอดได้คือ ‘ความรู้สึก’ ของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ที่เราไม่มีทางจินตนาการออก หากไม่ได้มาสัมผัสน้ำทะเลสีฟ้าครามใสแจ๋วด้วยตัวเอง

ตามไปเรียนรู้วิชาคุณค่าของทรัพยากรน้ำในห้องเรียนธรรมชาติ ที่บอกเราว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

เมื่อมีโอกาสได้รับคำเชิญให้ตามมาร่วมสังเกตการณ์ห้องเรียนวิชาทรัพยากรน้ำของเยาวชนในพื้นที่ เราจึงไม่รีรอ รีบเก็บกระเป๋าออกเดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ตในทันที แต่นอกจากความสวยงามของธรรมชาติที่ค่อย ๆ ฟื้นฟูกลับมาแล้ว สิ่งที่ทำให้ทริปนี้ตราตรึงใจเรายิ่งกว่าการไปทะเลครั้งไหน ๆ ก็คือการได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติใต้ทะเล 

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทริปนี้พาเราไปมองเห็นทะเลภูเก็ตในมุมใหม่ ด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม

การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นจากการจับมือกันของโครงการรักษ์น้ำ “มิตซุยกุ” (Mizuiku) โดยแบรนด์ ซันโทรี่ (ประเทศไทย) ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา #กอดป่ากอดทะเล จากองค์กร Environmental Education Centre Thailand (EEC Thailand) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย อเล็กซ์ เรนเดลล์ คุณครูประจำทริปนี้นั่นเอง

การผนึกกำลังกันในครั้งนี้เกิดจากแบรนด์ ซันโทรี่ (ประเทศไทย) เห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ‘น้ำ’ และต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อคำมั่นสัญญา ‘มิซุ โตะ อิคิรุ’ (Mizu To Ikiru) หรือการมีชีวิตอยู่ร่วมกับน้ำ ตลอดจนการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างผู้คนและธรรมชาติ โดยหนึ่งในโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเหล่านี้ ก็คือ โครงการมิตซุยกุ โครงการรักษ์น้ำที่เน้นส่งเสริมให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอนุรักษ์น้ำและการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเด็ก ๆ ทั้งในแง่ของทฤษฎีและการลงมือปฏิบัติจริง

เช่นเดียวกับโครงการ #กอดป่ากอดทะเล ที่เกิดจากความตั้งใจที่อยากให้ทุกคนมาร่วมกอดทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด ‘มนุษย์และธรรมชาติคือสิ่งเดียวกัน’ ด้วยความหวังเพื่อรักษาและส่งต่อธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่คนรุ่นต่อไป

อีกสิ่งที่ยึดโยงโครงการฯทั้งสองเข้าด้วยกันและดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่น ก็คือ ความเชื่อมั่นใน ‘พลังของคนรุ่นใหม่’ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต่างก็เชื่อว่าจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้ นั่นเองจึงเป็นที่มาของการตัดสินใจเชิญเด็ก ๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้มาเข้าร่วมกิจกรรม ในฐานะสมาชิกหลักของห้องเรียนเฉพาะกิจแห่งนี้ 

คาบเรียนที่ 1

ขยะที่เราอาจมองไม่เห็น

เป็นเวลาสายของวันเสาร์ เรานัดพบกันบริเวณร่มไม้ในอุทยานแห่งชาติสิรินาถ ริมหาดในยาง เด็ก ๆ กว่า 20 ชีวิตได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากท้องฟ้าปลอดโปร่ง น้ำทะเลสวยใส และหาดทรายขาวสะอาดตา 

แต่เมื่อคาบเรียนวิชาแรกเริ่มต้นขึ้น เราจึงได้รู้ว่าบนหาดทรายและใต้ทะเลนั้นไม่ได้สะอาดหรืออุดมสมบูรณ์อย่างที่ตาเห็น ยังมีปัญหาและภัยคุกคามอีกหลายข้อที่ซุกซ่อนอยู่ และไม่สามารถฟื้นฟูได้เองในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว อย่างขยะชิ้นเล็กใหญ่ที่สะสมอยู่ทั้งบนหาดและในท้องทะเล

ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดล้วนเป็นขยะที่เกิดขึ้นจากการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเรา ๆ

ตามไปเรียนรู้วิชาคุณค่าของทรัพยากรน้ำในห้องเรียนธรรมชาติ ที่บอกเราว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

“เชื่อไหมว่าพลาสติกชิ้นหนึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 450 ปีในการย่อยสลาย นั่นแปลว่าพลาสติกชิ้นแรกที่ถูกคิดค้นขึ้นบนโลกก็ยังอยู่กับเราไม่หายไปไหน” เป็นจริงดังคำบอก พลาสติกหรือโพลิเมอร์สังเคราะห์ชิ้นแรกเกิดขึ้นบนโลกใน ค.ศ.1907 หรือเมื่อ 114 ปีที่แล้ว

เอาเข้าจริง มันยังเดินทางไปไม่ถึงครึ่งทางของการย่อยสลายเสียด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าพลาสติกทั้งหมดนี้จะยังไม่ย่อยสลายหายไปไหน แต่หลายครั้งเราก็อาจจะมองไม่เห็นพลาสติกเหล่านี้ที่ซุกซ่อนอยู่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปจนขยะพลาสติกได้สัมผัสกับแสงแดด สายลม หรือน้ำทะเล พวกมันก็อาจจะแตก ผุ กร่อน สลายกลายเป็นเศษพลาสติกชิ้นจิ๋วขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ทำให้สังเกตเห็นได้ยากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นพวกมันก็ยังคงอยู่รอบตัวเรา

เราเรียกพลาสติกชิ้นจิ๋วเหล่านั้นว่า ไมโครพลาสติก ซึ่งวนเวียนอยู่รอบตัวเรา ทั้งในสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน หรือแม้กระทั่งอาหารที่เรากินเข้าไปในแต่ละวัน ถึงขั้นที่มีการศึกษาว่าในแต่ละสัปดาห์ มนุษย์เราบริโภคไมโครพลาสติกเฉลี่ย 5 กรัมต่อสัปดาห์ หรือเทียบเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบเลยทีเดียว

คาบเรียนที่ 2

ทำความเข้าใจขยะทะเล (ภาคปฏิบัติ)

เวลาล่วงเลยไปจนถึงช่วงบ่าย เด็ก ๆ จึงได้เริ่มทำกิจกรรมด้วยการแบ่งกลุ่มกันออกไปเก็บขยะบริเวณชายหาด โดยแบ่งออกเป็นทีมที่เก็บขยะชิ้นใหญ่ กับทีมที่จะใช้ตะแกรงร่อนทรายเพื่อตามหาไมโครพลาสติก

ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เราก็ได้ขยะกองโตพร้อมขวดบรรจุเศษพลาสติกชิ้นเล็กอีกนับไม่ถ้วนมากองรวมกัน ในจำนวนนั้นประกอบไปด้วยกล่องโฟม ไฟแช็ก ถุงพลาสติก สังกะสี เชือก เสื้อผ้า และอีกสารพัด ซึ่งนั่นก็ทำให้เราตกใจมากขึ้นไปอีก เมื่อได้รู้ว่าขยะที่เรามองเห็นนับเป็นแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ของขยะทะเลทั้งหมดเท่านั้นเอง มีท้องทะเลลึกหลายจุดที่มนุษย์ลงไปไม่ถึง แต่พลาสติกและขยะทะเลจมลงไปถึงตรงนั้นได้

ตามไปเรียนรู้วิชาคุณค่าของทรัพยากรน้ำในห้องเรียนธรรมชาติ ที่บอกเราว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้
ตามไปเรียนรู้วิชาคุณค่าของทรัพยากรน้ำในห้องเรียนธรรมชาติ ที่บอกเราว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

เมื่อได้ลองพิจารณากองขยะตรงหน้า และอีกมากมายหลายชิ้นที่คงซุกซ่อนตัวอยู่ทั้งบนหาดทรายและใต้ทะเลนี้ เราจึงไม่แปลกใจเมื่อได้รู้ว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ในฐานะประเทศที่มีขยะทะเลมากที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกัน กว่าร้อยละ 80 ของนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้ามายังประเทศไทย ต่างก็ตั้งใจจะมาชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ โดยเฉพาะทะเลและชายหาดอันอุดมสมบูรณ์ 

มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราทุกคนควรตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะทะเล ในฐานะคนที่มีส่วนในการสร้างขยะให้แก่โลกใบนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

คาบเรียนที่ 3

ป่าชายเลนตรงนี้ กำลังเลี้ยงฉลามวาฬตรงนั้น

เมื่อได้ลองเดินสำรวจพื้นที่โดยรอบของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เราพบว่าลึกเข้ามาจากชายหาดเพียงไม่กี่สิบเมตร คือลำคลองและป่าชายเลนที่มีรากอากาศ หรือรากหายใจของต้นไม้แทงขึ้นมาเหนือพื้นดินมากมายเต็มไปหมด 

“เพราะป่าชายเลนตรงนี้ กำลังเลี้ยงฉลามวาฬที่อยู่ตรงนั้น” ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าชายเลนแห่งนี้มีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลภูเก็ต ในฐานะแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก และสิ่งมีชีวิตประเภทแพลงก์ตอน อาหารสำคัญของแทบทุกชีวิตในท้องทะเล

ตามไปเรียนรู้วิชาคุณค่าของทรัพยากรน้ำในห้องเรียนธรรมชาติ ที่บอกเราว่าทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้

เล่ามาถึงตรงนี้ เราอดไม่ได้ที่จะนึกไปถึงรหัสปรบมือที่ทีมงาน EEC สอนให้กับเด็ก ๆ

ปรบมือ 1 ครั้ง-ภูเขา

ปรบมือ 2 ครั้ง-ป่าชายเลน

ปรบมือ 3 ครั้ง-ทะเล

ปรบมือ 4 ครั้ง-ปะการัง

อาจฟังดูเหมือนกับรหัสที่ใช้เพื่อกิจกรรมสันทนาการทั่วไป แต่เมื่อได้ไตร่ตรองดูดี ๆ เราจึงเข้าใจที่มาที่ไปของถ้อยคำทั้ง 4 ที่สัมพันธ์กันอย่างไม่น่าเชื่อ โดยมี ‘น้ำ’ เป็นสิ่งที่ยึดโยงองค์ประกอบทั้ง 4 เข้าหากัน

จากตาน้ำบนภูเขาสูงที่เป็นแหล่งกำเนิดของน้ำจืดตามกระบวนการทางธรรมชาติ ไหลผ่านลำธาร คูคลอง แม่น้ำน้อยใหญ่ กระทั่งมาถึงป่าชายเลน แหล่งน้ำกร่อยที่เป็นรอยต่อระหว่างทะเลและแม่น้ำ เป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าสัตว์น้ำตัวน้อย ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตอีกมากมายในท้องทะเล และเมื่อพ้นจากปากแม่น้ำออกไป ก็จะกลายเป็นเขตมหาสมุทรที่หล่อเลี้ยงปะการังและชีวิตอีกมากมายในระบบนิเวศใต้น้ำ

หากพูดว่าวันหนึ่งโลกนี้จะไม่มีน้ำ มันอาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากมาก ๆ แต่ถ้าหากเราบอกว่า วันหนึ่งโลกนี้จะไม่มีน้ำสะอาดให้เราใช้อุปโภคหรือบริโภคเลย นั่นคือสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง ๆ ภัยธรรมชาตินี้ก่อให้เกิดความจำเป็นในการรักษาทรัพยากรน้ำ เพราะในเมื่อน้ำบนโลกนี้ต่างก็เชื่อมโยงถึงกัน จากภูเขา สู่ป่าชายเลน ทะเล และปะการัง หากมีแหล่งน้ำใดที่ไม่ได้รับการดูแล นั่นจึงแปลว่าทรัพยากรน้ำทั้งหมดจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแน่นอน

คาบเรียนที่ 4

โลกใต้น้ำ ห้องเรียนภาคสนามที่ยิ่งใหญ่

เช้าวันที่สองของการเดินทาง หลังจากที่ได้พักผ่อนชาร์จพลังกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว เราทุกคนมุ่งหน้าไปยังท่าเรืออ่าวฉลองตั้งแต่เช้า เพื่อออกเดินทางตามเด็ก ๆ ไปเข้าห้องเรียนวิชาใต้ทะเลเพื่อทำความรู้จักโลกใต้ผิวน้ำ ซึ่งคาบเรียนภายใต้ห้องเรียนธรรมชาตินี้มาจากแนวคิดของโครงการมิตซุยกุที่อยากให้เด็ก ๆ ได้รับประสบการณ์จริง การเรียนรู้ในภาคสนามจะช่วยให้ซึมซับความรู้ที่ถ่ายทอดออกไปได้ดีกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียน ซึ่งในวันนี้พวกเขาจะได้สัมผัสท้องทะเลอย่างใกล้ชิดขึ้นกว่าเมื่อวานผ่านการดำน้ำแบบสน็อกเกิล และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านความสัมพันธ์ของผืนน้ำกับสิ่งมีชีวิตที่เชื่อมโยงถึงกัน

และเพื่อใช้เวลาทุกนาทีให้เกิดประโยชน์สูงสุด คาบเรียนในวันนี้จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่บนเรือ โดยมีหัวข้อแรกคือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ทะเลชนิดต่าง ๆ และสัญญาณมือที่จำเป็นต้องใช้เมื่อเราดำลงไปอยู่ใต้น้ำ

อากาศและคลื่นลมในวันนี้ค่อนข้างเป็นใจให้วิชาเรียนที่รออยู่ เพราะนอกจากท้องฟ้าจะสดใสไร้เงาของเมฆฝนแล้ว คลื่นลมในทะเลก็ยังสงบนิ่ง ทำให้เราเดินทางถึงจุดหมายแรกอย่างเกาะเฮได้ในเวลาไม่นาน

ก่อนไปถึงกิจกรรมดำน้ำที่เด็ก ๆ รอคอย การสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องราวความสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้เกิดขึ้น ท่ามกลางห้องเรียนธรรมชาติบนเกาะเฮ เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของผืนน้ำที่เชื่อมโยงถึงกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำและสิ่งมีชีวิต ได้ทำความเข้าใจถึงภัยคุกคามใต้ท้องทะเลที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ เด็ก ๆ ได้ลงมือระดมความคิดในเรื่องการดูแลรักษาน้ำผ่านมุมมองเล็ก ๆ ของพวกเขาที่เชื่อมโยงกับการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ ก่อนที่เด็ก ๆ จะได้สัมผัสความสวยงามของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลของจริง

“การดำน้ำในวันนี้เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งในการทำความรู้จักธรรมชาติแบบใกล้ชิดมากขึ้น เพื่อให้ได้สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตในโลกใต้ทะเล ได้เห็นถึงความเกี่ยวโยงกันของทรัพยากรน้ำและมนุษย์” อเล็กซ์ย้ำชัดถึงเป้าหมายของการออกสำรวจโลกใต้น้ำในวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงจากกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้วเมื่อวาน 

กอดทะเลด้วยความเข้าใจ ตามไปสังเกตการณ์ห้องเรียนวิชาทรัพยากรน้ำกับ อเล็กซ์ เรนเดลล์

หลังจากที่ได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับอุปกรณ์และขั้นตอนการดำน้ำในเบื้องต้นแล้ว เด็ก ๆ ก็ทยอยกันไปเปลี่ยนชุด ก่อนมุ่งหน้าไปยังชายหาดเพื่อทดลองดำน้ำจริง ๆ เป็นครั้งแรก โดยไดฟ์แรกนี้เริ่มต้นจากการเกาะห่วงยางและลอยตัวในพื้นที่น้ำตื้นระดับที่ทุกคนยืนถึงได้แบบสบาย ๆ เพื่อให้เหล่านักดำน้ำมือใหม่รู้สึกผ่อนคลายและไม่เป็นกังวลมากจนเกินไป

ส่วนสนามจริงที่พวกเขาจะได้เห็นบรรดาสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้ทะเลนั้นคือการดำน้ำไดฟ์ที่ 2 ในช่วงบ่าย ซึ่งเราย้ายห้องเรียนไปอยู่บริเวณเกาะราชา คราวนี้เด็ก ๆ จะได้หย่อนตัวลงจากเรือ ต่างจากไดฟ์แรกที่เป็นการเดินออกไปจากชายหาด

ในคาบเรียนนี้มีแขกรับเชิญพิเศษคือฝูงปลาตะกรับ (Sergeant Major Fish) ซึ่งสังเกตเห็นได้ง่ายด้วยแถบลายสีขาวดำคาดเหลือง มักจะว่ายมาโชว์ตัวกันเป็นหมู่คณะ นอกจากนี้ยังมีหอยเม่น (Sea Urchin) ซึ่งเด็ก ๆ จำเป็นต้องสังเกตให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นอาจถูกตำโดยหนามแหลมรอบตัว

กอดทะเลด้วยความเข้าใจ ตามไปสังเกตการณ์ห้องเรียนวิชาทรัพยากรน้ำกับ อเล็กซ์ เรนเดลล์

สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่เราเห็นล้วนมีค่า แต่ในเมื่อปลา หอย และสัตว์น้อยใหญ่ในทะเลเหล่านี้ไม่สามารถพูดบอกเราได้เมื่อเกิดภัยคุกคามทางธรรมชาติ จึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยสื่อสารเพื่อทุกชีวิตในมหาสมุทร ต้องดูแลรักษาทรัพยากรน้ำที่โอบอุ้มสรรพชีวิตมหาศาล ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติในการดำรงชีวิต นี่เป็นบทเรียนแสนสำคัญจากห้องเรียนกลางทะเลที่ติดตรึงอยู่ในใจเรา และเราก็เชื่อว่าประสบการณ์ในวันนี้จะถูกจดจำไว้ในใจของเด็ก ๆ ทุกคนไปอีกเนิ่นนานเช่นกัน

คาบเรียนที่ 5

เพราะโลกนี้เชื่อมต่อกันด้วยผืนน้ำเดียว

เหลือเวลาอีกไม่มากก่อนที่การเดินทางในทริปนี้จะสิ้นสุดลง เมื่อดวงอาทิตย์เริ่มลดระดับลงใกล้ผิวน้ำ แสงสีส้มสดอาบไปทั่วทั้งท้องฟ้าและน้ำทะเล เราทุกคนนั่งอยู่บนกราบเรือ ปล่อยให้ร่างกายปะทะกับแรงลมยามที่มุ่งหน้ากลับเข้าสู่ท่าเรืออ่าวฉลอง

“ผมคิดว่าน้ำคือตัวเชื่อมระหว่างโลก เพราะโลกนี้มีทะเลแค่ผืนเดียว หลายประเทศเชื่อมต่อกันด้วยทะเลผืนนี้ ดังนั้น ประเด็นเรื่องทรัพยากรน้ำจึงไม่ใช่สิ่งที่เป็นแค่ปัญหาเฉพาะจุด แต่นี่คือเป็นปัญหาระดับโลก” เราเห็นด้วยกับประโยคนี้ของอเล็กซ์ทุกประการ 

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของการเดินทางครั้งนี้ที่เจ้าภาพของงานเชื่อมั่นและยึดถือ นั่นคือ ‘พลังของคนรุ่นใหม่’ หลายคนอาจนึกไม่ออกว่ากิจกรรมและการเรียนรู้สั้น ๆ ในช่วงเวลา 2 วันที่ผ่านมาจะสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรน้ำบนโลกใบนี้ได้อย่างไร 

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นอาจพิสูจน์ได้ยาก แต่ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนชัดอยู่ในสายตาของเด็ก ๆ ขณะนี้

“หน้าที่รักษาน้ำไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติและน้ำ แบรนด์ซันโทรี่ เราได้รับการปลูกฝังค่านิยมจากบริษัทซันโทรี่ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นให้เห็นความสำคัญของน้ำ เราสนับสนุนการอยู่ร่วมกันกับน้ำ สร้างความกลมเกลียวระหว่างผู้คนกับธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำ อย่างยั่งยืน” มธุวลี สถิตยุทธการ ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท แบรนด์ ซันโทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เอ่ยตบท้าย

“ทุกคนต่างก็มีวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันไป แต่สำหรับผม ผมคิดว่าวิธีแก้ของเราเริ่มต้นจากภายในจิตใจและความคิดของคน” อเล็กซ์เกริ่นก่อนอธิบายต่อ “เพราะต่อให้เราเก็บขยะอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าคนไม่หยุดทิ้งขยะ อย่างไรเราก็ไม่มีวันเก็บหมด ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำให้เขาเข้าใจว่าพฤติกรรมเช่นนี้มันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ”

อย่างที่เรารู้กันดี การเริ่มต้นปลูกฝังจากเยาวชนเช่นนี้คือภารกิจระยะยาว แต่ในเมื่อวันนี้เราได้เห็นกับตาแล้วว่า พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจึงเชื่อมั่นเหลือเกินว่า ห้องเรียนเฉพาะกิจในทริปนี้ จะช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งน้ำมากยิ่งขึ้น พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจในการดูแลรักษาน้ำไปยังคนรอบตัว เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมต่อไป

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

Avatar

ทยาวีร์ สุพันธ์

ช่างภาพอิสระ บ้านอยู่ภูเก็ต หลงรักการดื่มกาแฟ ขับรถเที่ยว ชมธรรมชาติ การถ่ายรูปทะเลและผู้คน ชอบดนตรี ตีกลองเป็นงานอดิเรก