22 ตุลาคม 2024
2 K

‘อาเลแล’ แปลว่า ‘สวัสดี’

เป็นคำทักทายของชาวมละบริ ชนเผ่าพื้นเมืองของไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่และน่าน

ชาวมละบริมีวิถีชีวิตผูกพันแนบแน่นกับผืนป่ามาเนิ่นนาน จนอาจกล่าวได้ว่าป่าเปรียบเสมือนซูเปอร์มาร์เก็ต ตู้ยาสามัญประจำบ้าน สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือแม้แต่ร้านจิปาถะที่เพียบพร้อมด้วยวัสดุสำหรับสรรสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ‘ญอก’ กระเป๋าถักจากเถาวัลย์ป่าของใช้คู่กายพี่น้องมละบริ และยังเป็นถึงผลิตภัณฑ์ของดีประจำจังหวัดน่านที่ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication หรือ GI) เลยทีเดียว

คอลัมน์ Creative Local อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จัก ‘อาเลแล’ กับ ติ๊ก-อรัญวา ชาวพนาไพร ชาวมละบริคนแรกที่ได้รับเชิดชูเป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และหญิงแกร่งโต้โผหลักผลักดันแบรนด์งานฝีมือ มุ่งมั่นสืบสานภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่น บอกเล่าตัวตนเพื่อลบอคติทางชาติพันธุ์ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวมละบริภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ด้วยต้นทุนและศักยภาพของตัวเอง

ร่างเส้นทาง

เปรียบเป็นเด็กก็คงอยู่ในวัยหัดเดิน เพราะอาเลแลเพิ่งจะเริ่มได้ไม่ถึง 2 ปีดีนัก ด้วยความต้องการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ที่เด่นชัด เข้าถึงง่าย และเท่าทันยุคสมัย ทว่าถ้านับกันตั้งแต่แรกรวมตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเถาวัลย์ป่านั้นดำเนินมาแล้วกว่า 8 ปี จากความตั้งใจของติ๊กที่มีแนวคิดอยากหารายได้หลักให้กับกลุ่มแม่บ้าน ต่อลมหายใจภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ รวมถึงพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนโดยชุมชนเป็นผู้กำหนดเส้นทาง

“ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานพยายามเข้ามาสนับสนุนให้ทำการเกษตร เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ หรือส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยตอบโจทย์ชุมชน เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวมละบริอาศัยหาพืชผักจากป่า อีกทั้งค่อนข้างขี้อายและไม่กล้าแสดงออก พอหมดโครงการชาวบ้านก็ทำต่อไม่ได้ 

“เราเลยมีความคิดอยากให้ชุมชนมีโอกาสได้เลือกเส้นทางการพัฒนา จึงทบทวนว่ามละบริมีอัตลักษณ์หรือของดีอะไรบ้าง เราเห็นว่าญอกน่านำมาพัฒนาต่อ เพื่อให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้และไม่เป็นภาระของหน่วยงาน”

กระนั้น คำตอบแรกที่เธอได้รับเมื่อนำเสนอไอเดียดังกล่าว คือ “ทำไม่ได้หรอก” และ “เดี๋ยวมีคนดูถูก”

ตั้งกำแพงปฏิเสธเพราะไม่กล้าเสี่ยงยังเข้าใจได้ แต่จะดูถูกได้ยังไง เรื่องอะไร นี่สิที่เราสงสัย

“เดิมผู้หญิงมละบริมักถูกมองว่าไม่มีการศึกษา ถูกค่อนว่าไม่เก่ง เขาจึงกลัวว่างานจะออกมาไม่สวยและมีคนดูถูกฝีมือ”

ติ๊กตอบ ประกอบกับภาพลักษณ์เด็กไม่เอาไหนในวันก่อน ก็คงมีส่วนไม่น้อยให้เธอจำต้องใช้เวลาพิสูจน์อยู่พอสมควร

ในวัย 17 หยก ๆ กับประสบการณ์พูดอ่านเขียนไทยได้นิด ๆ ติ๊กตัดสินใจออกจากบ้านเกิดที่ชุมชนมละบริ (บ้านบุญยืน) จังหวัดแพร่ เดินทางลำพังมายังตัวเมืองน่าน ทิ้งคำครหาว่าเหลวไหลไว้ข้างหลัง แลกความหวังอาชีพการงานมั่นคง กระทั่งมีงานและที่พักเป็นหลักแหล่ง จึงชักชวนน้องสาวตามมาพร้อมส่งเสียร่ำเรียนจนจบชั้นมัธยมเป็นคนแรกของหมู่บ้าน ก่อนผละจากเมืองตามคำชวนร่วมงานวิจัยชาติพันธุ์มละบริของอาจารย์ท่านหนึ่ง เธอ น้องสาว และเยาวชนมละบริอีก 8 คนที่อยากขีดเขียนเรื่องราวชีวิตบทใหม่ จึงพากันมาอาศัยที่ตำบลภูฟ้า แน่นอนว่าพ่อแม่ของเด็ก ๆ หลายคนกังวลใจ หากก็ไม่มีลูกคนไหนถอนตัวกลับ ท้ายสุดก็จำยอมย้ายมาอยู่ด้วยกัน เกิดเป็นชุมชนมละบริภูฟ้าที่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 76 คน 17 ครอบครัว

“อาจารย์ที่พามาอยากให้มละบลิบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง แต่ตอนนั้นเราก็ตอบไม่ได้นะว่ามละบริเป็นใคร มาจากไหน รู้แค่ว่าคนอื่นเรียก ‘ผีตองเหลือง’ เขาเรียกผี เราก็ยอมรับว่าผี เพราะยังไม่รู้ภาษาไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นคำที่แฝงอคติชาติพันธุ์ ดูถูก และเป็นการเข้าใจผิดด้วยนะที่ว่ามละบริใช้ใบตองมุง พอใบตองเหลืองก็ย้าย เพราะการสร้างเพิงพักใช้ใบอะไรก็ได้ไม่ใช่แค่ใบตอง ส่วนที่ย้ายเพราะมีคนภายนอกพบเห็นและไม่มีแหล่งอาหาร”

ติ๊กเสริมต่อว่า จากการร่วมงานวิจัยชิ้นนี้ทำให้เธอได้มีโอกาสศึกษารากเหง้ามละบริ รวมถึงจุดประกายความเข้าใจในวัฒนธรรม และมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาติพันธุ์ของตัวเอง

ติ๊กไม่จำนนในคำตอบ พลันขอฝากตัวเป็นศิษย์เอกของคุณยาย คุณป้า เก็บเกี่ยววิชาทำญอก จนสำเร็จทุกกระบวนการ แล้วจึงถ่ายทอดให้เหล่าแม่บ้านที่สนใจอยากร่วมฝันไปด้วยกันในยุคตั้งไข่ที่สมาชิกกลุ่มมีไม่ถึงครึ่งโหล 

ตัวตนบนญอก

‘มละ’ แปลว่า คน ‘บริ’ แปลว่า ป่า เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ติ๊กรู้ว่าบรรพบุรุษของเธอผูกพันกับป่ามากเพียงใด ติ๊กยังกล่าวอีกว่า ตราบทุกวันนี้ชาวมละบริภูฟ้ายังคงไว้ซึ่งวิถีการเข้าป่าตามฤดูกาล เช่น ในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ชายชาวมละบริจะนิยมเข้าป่าเก็บน้ำผึ้ง ส่วนฤดูฝนจะกลับมาพร้อมเห็ดก้านอวบ ดอกสวย รวมทั้ง ‘ทะแปต’ เถาวัลย์ป่าที่จะงอกงามเฉพาะช่วงป่าชื่นฉ่ำฝน

“เถาวัลย์ที่มละบริใช้มีอยู่ 2 ชนิด คือ ‘ทะแปตเฆลอะ’ กับ ‘ทะแปตดี’ ซึ่งจะหาได้ในหน้าฝนเท่านั้น เราเลือกเฉพาะเถาวัลย์ที่เลื้อยบนพื้นดิน และต้องสังเกตด้วยว่าเป็นต้นที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ส่วนเถาวัลย์ที่เลื้อยบนต้นไม้คือต้นที่เส้นใยขาดง่าย ใช้งานไม่ได้”

ติ๊กเล่าให้ฟังต่อว่า เส้นใยของทะแปตมีความเหนียว ยืดหยุ่น และปลอดภัย ชาวมละบริจึงมักใช้มัดผูกสายสะดือยามทำคลอด อีกทั้งคุณสมบัติทนแดด ทนฝน แม่บ้านมละบริจึงนิยมนำมาถักญอกสำหรับใส่สิ่งของจำเป็นติดตัวเข้าป่าหรือหยูกยาอาหารให้สามีสะพายไปทำงาน 

“เนื่องจากเราไม่มีชุดแต่งกายประจำชนเผ่า เลยคิดว่าญอกนี่แหละที่สะท้อนอัตลักษณ์และตัวตนของมละบริได้ชัดเจนที่สุด” ติ๊กพูด “ถ้าจะมีอะไรสักอย่างที่ต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของมละบริ เราเชื่อมั่นนะว่าญอกคือต้นทุนที่เหมาะสมและจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเราให้ดีขึ้นได้”

จุดเปลี่ยนมาถึง พ.ศ. 2551 เมื่อติ๊กถวายผลงานญอกใบแรกจากฝีมือของเธอให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรที่ตำบลภูฟ้า ภาพเจ้าฟ้ารับญอกมละบริกลายเป็นพลังชุบชูใจให้กลุ่มแม่บ้านตั้งใจพัฒนาฝีมือ สร้างสรรค์ผลงานจนเป็นที่ยอมรับและชื่นชม พลันจากกลุ่มแม่บ้านเล็ก ๆ ก็ขยายใหญ่ขึ้นเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพมละบริ อำเภอบ่อเกลือ 

งานอุตสาหะ

“ตามธรรมเนียมของมละบริ ผู้หญิงมีหน้าที่ดูแลครอบครัว เวลามีผู้หญิงมละบริไปรับจ้างข้างนอกจึงมักถูกมองไม่ค่อยดี เราเลยมีเป้าหมายอยากสร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มแม่บ้านด้วยงานหัตถกรรมญอก”

เป้าหมายของติ๊กขยับใกล้มาอีกขั้น เมื่อปลาย พ.ศ. 2553 ญอกมละบริได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication หรือ GI) ประจำจังหวัดน่าน กอปรกับรางวัลล่าสุดที่เธอได้รับยกย่องเชิดชูให้เป็นทายาทศิลปหัตถกรรม ประเภทเครื่องจักสาน โดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ก็ช่วยสร้างชื่อเสียงและจุดประกายแรงบันดาลใจให้ทางกลุ่มมองเห็นความเป็นไปได้จากการสร้างรายได้ด้วยวิถีนายตัวเอง 

ญอกในวิถีใหม่ยังช่วยเชื่อมสายใยครอบครัวให้บรรดาแม่ ๆ ตื่นตัวกับการศึกษาภูมิปัญญาและถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ตลอดจนสานสัมพันธ์ชุมชนให้มีความสนิทสนมกลมเกลียวและเข้มแข็งยิ่งขึ้น

เพราะกว่าจะเป็นญอก 1 ใบนั้นมีกระบวนการทำหลายขั้นตอน ทุกคนต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้และคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เริ่มตั้งแต่คัดสรรเถาวัลย์ป่ามาลิดใบขูดก้านจนได้เส้นใยบางขาว จากนั้นนำไปตากแห้งก่อนนำมาเพิ่มสีสันด้วยการย้อมสีธรรมชาติจากใบทรอมที่ให้สีฟ้า ขมิ้นสีเหลือง รากยอป่าสีส้ม ใบสักสีเทา หรือเมล็ดผักปลังสีม่วง เสร็จสรรพต่อด้วยการฟั่นเส้นใยแบบเส้นต่อเส้นจนได้เชือกเกลียวสายยาว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานานและทักษะชำนาญสูง เนื่องจากวิธีการฟั่นอาศัยใช้แค่มือกับหน้าแข้ง ไร้อุปกรณ์ทุ่นแรงใด ๆ 

แล้วก็ถึงเวลาของการถัก โดยชาวมละบริจะใช้เครื่องมือดั้งเดิม อย่างซาบหรือจวก ถักจากส่วนก้นค่อย ๆ วนขึ้นเป็นวงและจบงานที่สายกระเป๋า เรียบร้อยจึงได้ญอกสวย ๆ ที่ ณ เวลานี้ผลิตได้ไม่เกิน 70 ใบต่อปีจากช่างฝีมือ 22 คน ด้วยต้องอาศัยความประณีต อดทน ประกอบกับข้อจำกัดของทะแปตที่มีให้เก็บเกี่ยวเฉพาะช่วงฤดูฝน แถมแต่ละครั้งก็เก็บได้มากสุด 5 – 6 กิโลกรัมต่อคนเท่านั้น

“อย่างถ้าเป็นกระเป๋าขนาด 4 x 7 นิ้ว รวมสาย ใช้ปล้องเถาวัลย์ประมาณ 300 – 500 ปล้อง ระยะเวลาการทำเฉลี่ย 1 สัปดาห์ คนที่เก่งสุดอาจใช้ 4 วัน แต่ต้องนั่งทำทั้งวันนะ” ติ๊กยกตัวอย่าง

“แล้วตอนนี้ผลิตภัณฑ์มีทั้งหมดกี่ขนาดเหรอครับ”

“4 ขนาดค่ะ มีรุ่นเล็ก รุ่นกลาง 2 แบบ แล้วก็รุ่นใหญ่ ซึ่งรุ่นที่เรายกตัวอย่างเมื่อกี้ คือรุ่นเล็กทำเป็นกระเป๋าใส่มือถือ”

“ห้ะ แค่กระเป๋าใส่มือถือเองเหรอครับเนี่ย” เราเผลออุทาน เมื่อประมวลได้ว่านี่คือกระเป๋าใบจิ๋วที่ต้องทุ่มทุนสร้างขนาดไหน 

“ใช่ค่ะ” ติ้กยิ้มขัน “ถ้าเป็นรุ่นกลางขนาด 12 x 12 นิ้ว ใช้ปล้องเถาวัลย์พันปล้องขึ้นไป นั่งทำจริงจังก็น่าจะราว 5 สัปดาห์ งานถักญอกผู้หญิงคนไหนไม่มีความอุตสาหะ ทำไม่ได้หรอกค่ะ”

พัฒนาอย่างสง่างาม

‘Mlabri’ และ ‘ญอกมละบริน่าน’ คือชื่อเรียกเวอร์ชันมาตรฐานของผลิตภัณฑ์กระเป๋าถักจากเถาวัลย์ป่าฝีมือชาวมละบริภูฟ้า ก่อนจะพัฒนาสู่แบรนด์อาเลแล ซึ่งมีเยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมปลุกปั้น ออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย พร้อมส่งเสริมการขายด้วยการตลาดออนไลน์

“ตอนแรกเราทำแค่กระเป๋าถัก แต่พอมีเด็ก ๆ เข้ามาร่วมพัฒนาเลยทำให้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่าง สร้อยข้อมือ ต่างหู หรือกระเป๋าใส่มือถือที่ขายดีมาก ๆ ก็เกิดจากความคิดของพวกเขาเช่นกัน”

ไม่เพียงเท่านั้น ติ๊กบอกว่าทางกลุ่มยังได้รับโอกาสจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ที่เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด รวมถึงคำแนะนำจากลูกค้าที่ทางกลุ่มตั้งใจรับฟังและนำมาปรับปรุงสม่ำเสมอเพื่อสร้างความพึงพอใจ จนของใช้ในชีวิตประจำวันของชาวมละบริชิ้นนี้กลายสินค้าที่หากอยากครอบครองต้องต่อคิวจองกันข้ามปี

“ช่วงนี้เรามีออกงานบ่อย เลยมักหยิบญอกติดตัวไปด้วยครั้งละ 4 – 5 ใบ คนก็อุดหนุนหมดเกลี้ยงตลอด ซึ่งใบที่เอาไปจะเป็นใบที่แม่ ๆ ทำกันตามอำเภอใจ ส่วนใครอยากเลือกสี เลือกขนาด ก็สั่งผลิตได้ แต่อาจต้องรอคิวสักหน่อย อย่างเราเองก็มีลูกค้าจองไว้ 5 ใบ ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะทำได้เท่านี้ ดังนั้น ถ้าอยากได้ญอกฝีมือเราต้องรออีกทีปีหน้าเลยค่ะ” 

ติ๊กเล่าแต้มระบายยิ้ม ก่อนเสริมว่าทุกวันนี้เงินรายได้จากการขายสินค้าของอาเลแลไม่เพียงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของกลุ่มแม่บ้าน และส่งเสริมให้เด็ก ๆ มละบริภูฟ้ามีโอกาสเรียนหนังสือ ทว่า 10% ของรายได้ยังหักเข้ากองทุนหมู่บ้านสำหรับใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาชุมชนเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

“ครั้งหนึ่งเคยมีผู้อาวุโสจากรัฐสภามาสำรวจชุมชนมละบริ 5 แห่ง เขาบอกกับเราว่าชุมชนมละบริภูฟ้าอยู่ในระดับเทียบเท่ากับชุมชนคนภายนอกแล้ว เด็กของเราจากเดิมเรียนหนังสือได้อันดับรั้งท้ายก็ขึ้นมาอยู่อันดับ 1 อันดับ 2 ของห้อง บ้างเป็นนักกีฬาของโรงเรียน ส่วนผู้ใหญ่ก็มีความสามารถบรรจุเป็นพนักงานเงินเดือน” 

เธอเอ่ยด้วยความอิ่มเอมใจและดีใจที่คนภายนอกยอมรับในมละบริมากขึ้น เหนืออื่นใดคือภาคภูมิใจที่แบรนด์อาเลแลรวมใจผู้คนเป็นหนึ่งเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาบรรพบุรุษให้คงอยู่ต่อไป รวมถึงพัฒนาชุมชนบนเป้าหมายของการพึ่งพาตนเองได้อย่างสง่างาม

สนับสนุนสินค้าจากอาเลแล ได้ที่ Facebook : Mlabri กระเป๋าถัก ทำมือ จากน่าน

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

พัชรินทร์ กะรัตน์

พัชรินทร์ กะรัตน์

ออกไปเจอโลกกว้าง บันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย เรียนรู้และเติบโต ออกแบบชีวิตของเราเอง