ในปี 2018 อัตราเด็กเกิดใหม่ในประเทศญี่ปุ่นต่ำสุดในประวัติศาสตร์

ตั้งแต่มีการทำทะเบียนเด็กแรกเกิดเมื่อปี 1899 มีเพียง 3 ปีเท่านั้นที่มีเด็กเกิดใหม่ไม่ถึง 1 ล้านคน และปีที่แล้วมีทารกเกิดใหม่เพียงราวๆ 921,000 คนเท่านั้น

จำนวนเด็กที่น้อยลงไปทุกทีทำให้ประชากรญี่ปุ่นลดลง และผลักดินแดนอาทิตย์อุทัยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วขึ้น

หากอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนมากมาย เราอาจไม่ค่อยสังเกตเห็นปัญหานี้ แต่ในเมืองชนบทที่มีประชากรไม่มากนัก จะเห็นได้ว่ามีคนแก่เต็มไปหมด และผู้สูงอายุเหล่านี้แหละที่ยังทำงานอยู่แม้เลยวัยเกษียณ

เราได้โอกาสไปเยี่ยมชมสถาบันการศึกษาในเมืองอุโกะ (Ugo) เมืองเล็กๆ ในจังหวัดอะคิตะ (Akita) ที่มีประชากรเพียง 15,000 คน และมีบ้านราว 5,000 หลังเท่านั้น ทั้งโรงเรียนประถมศึกษาทาคาเสะ (Takase) โรงเรียนมัธยมศึกษาประจำเมืองอุโกะ รวมถึงมหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ (Akita International University) ที่เหล่านี้กำลังประสบปัญหาเดียวกัน คือมีนักเรียนนักศึกษาชาวญี่ปุ่นน้อยมาก

ในโรงเรียนประถมศึกษาทาคาเสะแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนราว 5 – 12 คนเท่านั้น บางชั้นเรียนมีเด็กเพียงห้องเดียว ห้องเรียนหลายห้องปิดไว้เฉยๆ เพราะมีนักเรียนไม่มากพอ

แต่ อาเบะ ยูอิจิ (Abe Youichi) ครูใหญ่ของโรงเรียนบอกว่า เขามองวิกฤตเป็นโอกาส ยิ่งมีนักเรียนน้อย ยิ่งหมายความว่าครูมีเวลาใส่ใจนักเรียนแต่ละคนอย่างเต็มที่มากขึ้น ห้องเรียนเด็กเล็กๆ มีครูอย่างน้อย 2 คนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ให้เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมอย่างทั่วถึง

เราประทับใจคุณภาพการศึกษาของประเทศโลกที่ 1 เมื่อได้มาเห็นด้วยตาตัวเอง แล็บวิทยาศาสตร์หรือห้องเรียนดนตรีใหญ่โต มีอุปกรณ์พรั่งพร้อมไม่แพ้โรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร ผลงานประดิษฐ์ของนักเรียนติดอยู่ที่หลังห้องและรอบห้องเรียนอย่างสร้างสรรค์ หลังห้องมีป้ายชื่อและภาพถ่ายของสมาชิกทุกคนในห้องเรียนติดอยู่ชัดเจน เมื่อเทียบกับหลายโรงเรียนในเมืองไทยที่ห้องเรียนหนึ่งมีนักเรียนมากถึง 50 – 60 คน บรรยากาศการเรียนที่นี่ทั่วถึงกว่ากันมาก

ถัดมาคือโรงเรียนมัธยมปลาย นอกจากเข้าไปดูการเรียนการสอนในห้องเรียน น้องๆ ยังแสดงระบำบงโอโดริ การเต้นเคารพวิญญาณบรรพบุรุษให้เราชมด้วย เด็กผู้หญิงเต้นรำ ส่วนเด็กผู้ชายเล่นดนตรี และยังสอนเทคนิคการรำและตีกลองให้ด้วย

น้องๆ พูดภาษาอังกฤษไม่เก่งมาก แต่ว่าไม่ใช่เด็กขี้อาย ต่างสุภาพและต้อนรับแขกต่างชาติอย่างไม่เคอะเขิน ต่างจากหลายๆ เมืองที่เด็กไม่ค่อยกล้าสนทนากับคนต่างภาษา

“เด็กๆ คุ้นเคยกับคนต่างชาติเพราะนักเรียนและนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะมาเรียนรู้วัฒนธรรมในเมืองนี้ พวกเขายินดีต้อนรับคนแปลกหน้า ไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นคนนอก และทำให้คนที่มาได้รู้จักญี่ปุ่นจริงๆ”

ฮิโรชิ ซุซะกิ (Hiroshi Susaki) เจ้าหน้าที่จากโครงการ UGO ABROAD ที่สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติมาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่นี่เล่าให้ฟัง หลายปีมานี้อุโกะเปิดประตูต้อนรับเยาวชนจากที่อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาประชากรตามโลกภายนอกให้ทัน โดยปี 2019 นี้เป็นปีแรกที่เปิดโครงการแลกเปลี่ยนให้นักเรียนจากไทยไปเรียนที่นี่ 1 ปีเต็ม

“อุโกะเป็นเหมือนเมืองเล็กทั่วๆ ไปแหละครับ ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว สิ่งที่ทำให้ที่นี่แตกต่างคือชุมชนแข็งแรงมาก หลายๆ เมืองคนน้อยลงเลยต้องมารวมตัวกัน แต่ไม่ได้สนิทกันแล้ว ที่อุโกะทุกคนรู้จักกันหมด และเด็กๆ ที่นี่ก็กระตือรือร้นต่อสิ่งใหม่ๆ เหมือนรุ่นพ่อแม่ รุ่นปู่ย่าตายาย ของพวกเขา”

ปิดท้ายเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติอะคิตะ สิ่งแรกที่เราประทับใจคือมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นด้าน International Liberal Arts นี้สวยมาก ทั้งล้อมรอบด้วยหุบเขาแสนสงบ และสถาปัตยกรรมที่นี่ก็งดงาม มีห้องสมุดที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเปิดให้คนภายนอกเข้าใช้บริการได้ด้วย

ห้องสมุดนะคะจิมะ (Nakajima) สร้างด้วยไม้สนซีดาร์ท้องถิ่นของอะคิตะ ออกแบบเป็นวงกลมลดหลั่นเป็นชั้นๆ เหมือนโคลีเซียมหนังสือ นอกจากสวยเด็ดขาดจนได้รับรางวัลด้านการออกแบบมากมาย สถาปนิกยังตั้งใจทำให้ผู้อ่านหนังสือมีสมาธิกับการอ่าน โดยหนังสือกว่า 7,700 เล่มที่นี่เป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งหมด

จุดเด่นของห้องสมุดนี้คือไม่เคยปิด เปิด 24 ชั่วโมง ตลอด 365 วัน สำหรับนักศึกษา ส่วนคนภายนอกเข้ามาใช้งานได้เฉพาะช่วงเวลากลางวัน วันที่เราเข้าไปเยี่ยม ที่นี่เงียบมาก แม้จะเต็มไปด้วยนักศึกษาหลากหลายเชื้อชาติ
“ถึงแม้ว่าที่นี่จะมีนักศึกษาชาวอะคิตะน้อย แต่ ดร.มิเนโอะ นะคะจิมะ (Mineo Nakajima) อธิการบดีมหาวิทยาลัยคนแรกของที่นี่ตั้งใจสร้างมหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่ใช่มหาวิทยาลัยระดับจังหวัด ทุกคลาสเรียนจึงสอนเป็นภาษาอังกฤษ มีกฎว่านักศึกษาทุกคนต้องไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ และนักศึกษาชั้นปี 1 มีหน้าที่ดูแลนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากต่างประเทศครับ”

ฮิโรชิซังซึ่งเป็นศิษย์เก่าของที่นี่เล่าอย่างภูมิใจ การดูแลคุณภาพการศึกษาและการเปิดสถาบันการศึกษาต้อนรับชาวต่างชาติให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมสม่ำเสมอ เป็นตัวอย่างการปรับตัวของเมืองชนบทที่ทำให้เรามั่นใจว่าต่อให้เด็กญี่ปุ่นมีจำนวนน้อย แต่ก็จะเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาที่ญี่ปุ่นเพิ่มเติมได้ที่

https://jeducation.com/main/

https://www.facebook.com/jeducationfan

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง