13 กุมภาพันธ์ 2020
13 K

อากิระ ซากาโนะ (Akira Sakano) คือเรี่ยวแรงหลักที่เปลี่ยนเมืองคามิคัตสึ ในจังหวัดโทคุชิมะ เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราว 1,500 คน ซึ่งกว่าครึ่งมีอายุเกินกว่า 65 ปี ให้กลายเป็นเมืองที่มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในประเทศญี่ปุ่น 

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบง่ายๆ ก็คือ เมืองนี้แยกขยะด้วยระบบ 45 ถัง!

แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องก็ควรบอกว่า บ้านเรือนในเมืองนี้แยกขยะแบบตามใจ แยกยังไงก็ได้ อาจจะใช้แค่ถังเดียวก็ได้ แต่สุดท้ายทุกคนต้องขับรถเอาขยะของตัวเองไปทิ้งและไปแยกที่ภูเขานอกเมือง

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

โดยเฉลี่ยแล้วขยะทั่วประเทศญี่ปุ่นถูกนำไปรีไซเคิลเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่เมืองนี้มีอัตราการรีไซเคิลอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ยังประกาศว่าปี 2020 ที่นี่จะเป็นเมืองปลอดขยะแห่งแรกของญี่ปุ่น 

พวกเขามีวิธีลดขยะไอเดียบรรเจิดมากมาย จนคนทำงานด้านเมืองจากทั่วโลกต้องขอเดินทางมาดูงาน

อากิระเป็นประธานองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชื่อ ‘Zero Waste Academy’ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการลดขยะทั้งหมดของเมือง ผลงานของหญิงสาววัย 31 ปีคนนี้โดดเด่นจนเธอได้รับเชิญให้เป็นประธานร่วมของการประชุม World Economic Forum ที่สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปีที่แล้ว

ปลายปี 2019 อากิระเดินทางมาเป็นวิทยากรพิเศษเรื่องการจัดการขยะที่งานเวิร์กช็อป Set Zero จัดโดย Big Trees ครีเอทีฟเอเจนซี่ ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ Japan Foundation

เราเลยได้โอกาสนั่งคุยกับเธอว่า เธอเปลี่ยนเมืองเล็กๆ แห่งนี้ได้ยังไง

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งการจัดการขยะ…จริงหรือ

หากใครเคยไปญี่ปุ่นคงสังเกตเห็นระบบถังขยะที่แยกประเภทอย่างเคร่งครัด จนคิดว่าที่นี่เป็นประเทศต้นแบบของการแยกขยะและจัดการขยะ

“ขยะทั่วไปในญี่ปุ่นถูกนำไปรีไซเคิลแค่ยี่สิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีกแปดสิบเปอร์เซ็นต์ถูกส่งไปเผา นั่นคือความจริง” อากิระเริ่มต้นบทสนทนาด้วยข้อมูลที่น่าประหลาดใจ 

อากิระย้อนประวัติศาสตร์การจัดการขยะของญี่ปุ่นให้ฟังว่า เมื่อก่อนทั่วประเทศใช้ระบบฝังกลบ ซึ่งมีปัญหาเรื่องแมลงวันและการแพร่เชื้อโรค จนกระทั่งมีเหตุการณ์ฝูงแมลงวันจากหลุมขยะใกล้ๆ โตเกียวบินเข้าไปสร้างปัญหาในเมืองหลวง เทศบาลจึงยกเลิกการทิ้งขยะลงหลุมฝังกลบ เปลี่ยนมาเป็นการเผาแทน แล้วค่อยนำสิ่งที่เหลือจากการเผามาทิ้งในหลุมฝังกลบ ขยะในหลุมจึงไม่มีแมลงวันตอม และไม่มีปัญหาด้านสุขอนามัย นอกจากนี้ยังช่วยลดปริมาณขยะในหลุมด้วย เพราะญี่ปุ่นไม่ได้มีที่ดินมากมายให้ทำหลุมฝังขยะ ขยะบางส่วนที่ได้จากการเผาก็นำไปถมทะเลเพื่อสร้างเป็นแผ่นดินใหม่

“ด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยและพื้นที่ ญี่ปุ่นจึงเน้นกำจัดขยะด้วยการเผา เมื่อก่อนแต่ละเมืองมีเตาเผาขยะของตัวเอง ฉันจำได้ว่าโรงเรียนประถมของฉันก็มีเตาเผาขยะเล็กๆ เด็กนักเรียนญี่ปุ่นต้องทำความสะอาดโรงเรียนเอง ทำเสร็จแล้วเราก็จะเอาขยะไปใส่เตาแล้วเผา” อากิระเล่าเรื่องการจัดการขยะเมื่อครั้งเธอยังเยาว์

แต่เรื่องนี้ไม่ได้จบแฮปปี้เอ็นดิ้งด้วยการโยนขยะลงในเตาเผา เพราะเตาเผาแบบง่ายๆ ที่ใช้ทั่วประเทศต่างปล่อยสารไดออกซินออกมาจากการเผาขยะ ในที่สุดก็มีการออกกฎหมายควบคุมว่า ถ้าจะสร้างเตาเผาขยะต้องเป็นเตาที่ใช้ความร้อนสูง และมีตัวกรองมลพิษป้องกันการปล่อยไดออกซินออกมา แน่นอนว่าต้นทุนในการสร้างเตาเผาไฮเทคแบบนี้สูงขึ้นมาก ทำให้หลายเมืองจ่ายเงินค่าสร้างไม่ไหว

“รัฐบาลกลางช่วยประสานงานให้เทศบาลหลายๆ แห่งลงทุนสร้างเตาเผาขนาดใหญ่ร่วมกัน” อากิระบอกทางแก้

เหมือนว่าปัญหาขยะจะจบลงอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งแล้ว แต่ยัง

“ระบบการกำจัดขยะด้วยการเผานี้ มีประสิทธิภาพสูงมาก ขยะแปดสิบเปอร์เซ็นต์ในญี่ปุ่นถึงถูกเผาทิ้งแทนที่จะนำไปรีไซเคิล เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าและจัดการง่ายกว่าเยอะ นี่คือปัญหา” อากิระหัวเราะให้กับปัญหาที่ตามมา

รีไซเคิลมันยากตรงไหน

เชื่อว่าหลายคนคงยังสงสัยว่า ก็ในเมื่อพี่น้องชาวญี่ปุ่นพร้อมใจกันแยกขยะอย่างดี มีรถมาเก็บขยะแต่ละชนิดแยกตามวัน แล้วทำไมถึงรีไซเคิลได้แค่นี้

“ขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียมถูกนำไปรีไซเคิล แต่ขยะส่วนใหญ่ซึ่งหนักกว่าไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น ขวดพลาสติกที่ไม่ได้แยกทุกชิ้นส่วนออกจากกันนำไปรีไซเคิลยาก แต่เหตุผลสำคัญคือ ถ้าคุณอยากรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติก คุณต้องมีระบบแยกขยะที่ดี มีโรงงานรีไซเคิล และมีความต้องการพลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิล ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกตอนนี้ คือราคาวัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิลราคาแพงกว่าวัตถุดิบใหม่ ทำให้รีไซเคิลมาแล้วขายไม่ได้ ก็เลยไม่มีคนอยากลงทุนเรื่องรีไซเคิล มันจึงง่ายกว่าถ้าเราจะจัดการขยะด้วยการเผา เพราะมีระบบรองรับอยู่แล้ว หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีระบบเตาเผาขยะ ก็ไม่มีแรงบันดาลใจในการลดปริมาณขยะ” อากิระอธิบาย

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น
Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

กองขยะท้าทายกว่าการเรียนต่อต่างประเทศ 

อากิระเป็นชาวเมืองนิชิโนะมิยะ จังหวัดเฮียวโงะ หลังจากเรียนจบด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม เธอก็ทำงานกับองค์กรอาสาสมัครเยาวชนชื่อ AIESEC ที่มองโกเลีย แล้วเปลี่ยนมาทำงานกับ DHL Global Forwarding ที่ฟิลิปปินส์ 2 ปี เพื่อเรียนรู้ว่าองค์กรใหญ่ๆ ทำงานอย่างไร จากนั้นเธอก็ลาออกเพื่อเตรียมไปเรียนต่อด้านการสร้างสันติภาพผ่านนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ต่างประเทศ

ปี 2015 พอรู้ข่าวว่าเพื่อนสนิทกลับมาเปิดคาเฟ่ที่บ้านเกิดในเมืองคามิคัตสึ อากิระก็ขอตามมาช่วยเพื่อน ทีแรกเธอตั้งใจว่าจะอยู่แค่ 6 เดือน แต่เมื่อได้เห็นการทำงานเรื่องขยะขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ Zero Waste Academy ซึ่งประกาศเจตนารมย์ตั้งแต่ปี 2003 ว่า ภายในปี 2020 เมืองคามิคัตสึจะเป็นเมืองปลอดขยะ จะไม่มีขยะให้ฝังกลบหรือเผาอีกต่อไป เป็นเมืองแรกในญี่ปุ่นที่ตั้งเป้าหมายเรื่องขยะอย่างจริงจังเช่นนี้ อากิระก็สนใจอยากร่วมงานด้วย และเธอก็ได้รับตำแหน่งประธานขององค์กรในปีนั้นเอง

เมืองเล็กๆ ซึ่งเดินทางแสนจะลำบากแห่งนี้มีอะไรดี ถึงทำให้หญิงสาวคนหนึ่งทิ้งแผนเดินทางไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วเปลี่ยนมาทำงานกับกองขยะแทน

มีเงินน้อย ก็ได้ใช้สมองเยอะ

คามิคัตสึเป็นเมืองเล็กที่มีงบประมาณน้อยจึงไม่สามารถขนเงินไปลงทุนทำเตาเผาขยะร่วมกับเทศบาลเมืองข้างเคียงได้ เพราะสร้างเตาเผาขยะไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีกำจัดขยะแบบอื่น

“เมื่อก่อนที่นี่ใช้วิธีให้คนขับรถเอาขยะของตัวเองไปทิ้งที่หลุมฝังกลบซึ่งอยู่ในภูเขานอกเมือง โดยไม่มีการแยกขยะใดๆ” อากิระเล่าถึงไอเดียแรกที่เทศบาลนี้คิดได้

เมืองนี้ไม่มีรถไปเก็บขยะตามบ้าน เพราะมันต้องใช้เงินบริหารจัดการซึ่งเทศบาลแห่งนี้ไม่มี ก็เลยใช้วิธีง่ายๆ ให้แต่ละบ้านดูแลขยะของตัวเองด้วยการขับรถเอาขยะไปทิ้งเอง เนื่องจากหลุมฝังกลบอยู่ค่อนข้างไกล บางบ้านต้องขับรถไป 40 นาที แต่ละบ้านจึงกำหนดระบบและความถี่ในการไปทิ้งขยะที่เหมาะกับตัวเอง

แต่ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เทศบาลเริ่มคิดหาทางลดปริมาณขยะในหลุมฝังกลบด้วยวิธีต่างๆ และเป็นการคิดที่ครบวงจร

มาบริหารสมองกันสักหน่อย ถ้าคุณเป็นผู้บริหารเมือง คุณจะชวนชาวเมืองราว 1,500 คน ซึ่งกว่าครึ่งมีอายุเกิน 65 ปี ให้ช่วยกันลดปริมาณขยะยังไง

แล้วมาดูกันว่าโครงการที่เกิดขึ้นในเมืองนี้เหนือความคาดหมายของคุณไหม

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

การแยกขยะเป็นหน้าที่ใคร

คำถามในบรรทัดบน ไม่ได้ถามกันแค่พี่น้องชาวไทยเท่านั้น แต่ชาวเมืองคามิคัตสึก็สงสัย

การลดปริมาณขยะนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ทำงานร่วมกับชาวเมือง ที่นี่จึงเริ่มต้นจากการทำวิจัยหาข้อมูลว่า ชาวเมืองผลิตขยะอะไรบ้าง คำตอบที่ได้คือ ขยะ 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นขยะย่อยสลายได้ ที่เหลือนำไปรีไซเคิลได้ เป้าหมายก็คือ ต้องรีไซเคิลขยะในส่วนนี้ให้ได้

“หลักสูตรการเรียนการสอนทั่วไปของญี่ปุ่น เด็กจะได้เรียนเรื่องการแยกขยะตอนปอสี่ ซึ่งจะสอนให้แยกประเภทตามแนวทางการจัดการของแต่ละเทศบาล บางครั้งก็เชิญเจ้าหน้าที่จากเทศบาลมาสอน บางครั้งก็พาเด็กไปดูงานที่สถานที่กำจัดขยะ” อากิระพูดถึงการปลูกฝังเรื่องการแยกขยะในระดับเยาวชน

ถ้าว่ากันตามทฤษฎี ชาวญี่ปุ่นรู้ว่าต้องแยกขยะยังไงตั้งแต่อยู่ ป.4

แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่แบบนั้น

“เมื่อขอให้ชาวเมืองช่วยกันแยกขยะ เขาก็ถามกลับว่า การจัดการขยะเป็นหน้าที่ของเทศบาล ทำไมต้องให้ชาวเมืองทำ โดยเฉพาะที่นี่ซึ่งมีคนแก่เยอะ เหมือนโยนภาระให้คนแก่ ซึ่งไม่ดีเลย” อากิระเว้นจังหวะ

“แต่เมืองไม่มีทางเลือกอื่น เราเปลี่ยนทั้งระบบไม่ได้ ก็ต้องค่อยๆ เปลี่ยน เริ่มจากการตั้งคอนเทนเนอร์สำหรับแยกขยะไว้ที่จุดทิ้งขยะของเมือง ทุกคนต้องเอาขยะมาทิ้งที่นี่อยู่แล้ว ก็แยกขยะกันตรงนี้เลย แทนที่จะทิ้งทุกอย่างลงในหลุมเดียวกันหมด เป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ เป็นการแยะขยะด้วยคน”

ในวันนั้น เทศบาลชวนคนแยกขยะออกเป็น 9 ประเภท ฟังดูเหมือนจะวุ่นวาย แต่ก็ไม่มากนัก อากิระบอกว่า แต่ละบ้านไม่จำเป็นต้องมีถังขยะ 9 ใบ เพราะสิ่งที่แต่ละบ้านบริโภคต่างกัน บ้านที่มีกระป๋องอะลูมิเนียมเยอะก็แยกกระป๋อง ถ้าไม่มีขวดแก้วก็ไม่ต้องแยกขวดแก้ว สุดท้ายแล้วขยะของแต่ละบ้านจะมีแค่ไม่กี่ประเภทเท่านั้น จะแยกให้เสร็จมาจากบ้านก็ได้ หรือจะมาแยกแบบละเอียดตรงจุดคัดแยกขยะก็ได้

แล้วอะไรทำให้คนยอมคุ้ยขยะ แยกขยะเป็นประเภทต่างๆ แทนที่จะโยนทั้งถุงทิ้งลงหลุมแบบเดิมก็ได้

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น
Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่สุดในเมือง

คุณคิดว่าคนญี่ปุ่นอินเรื่องการแยกขยะแค่ไหน 

“คนที่อยากแยกขยะมีแค่สิบถึงยี่สิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น นี่คือกลุ่มบนสุด” อากิระเฉลย “ส่วนกลุ่มล่างสุดยี่สิบเปอร์เซ็นต์คือพวกชอบบ่น ไม่ลงมือทำอะไรเลย และคนส่วนใหญ่หกสิบเปอร์เซ็นต์อยู่ตรงกลาง ไม่ได้ตระหนัก ไม่สนใจแยกขยะ” 

ตอนนี้เมืองคามิคัตสึแยกขยะได้ถึง 45 ประเภท เพราะคนตรงกลางซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ยอมทำตามคนกลุ่มบน 

“มีปัจจัยหลายอย่าง แต่เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือแรงกดดันของชุมชน ถ้าคนรอบตัวคุณทำอย่างหนึ่งแล้วคุณไม่ทำ คุณจะรู้สึกถึงแรงกดดัน ในที่สุดคุณจะยอมทำตาม” 

ประชากร 20 เปอร์เซ็นต์กลุ่มบนที่อยากลดขยะ อยากรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม คือกลุ่มคุณป้าผู้คิดถึงลูกหลานในอนาคต ก็เลยยินดีเข้าร่วมโครงการ ซึ่งพวกเธอเป็นคนที่ได้รับความเคารพจากคนในชุมชน

“คนทั่วไปอาจไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่พอกลุ่มคุณป้าพูดว่าเราต้องทำ มันก็มีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ ” อากิระพูดถึง Influencer ตัวจริง

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างที่ได้จากการสำรวจ คือการที่ผู้สูงวัยเดินทางมาที่ศูนย์แยกขยะ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้พบปะพูดคุยกับคนอื่น นั่นเป็นอีกเหตุผลที่คนวัยเกษียณชอบออกจากบ้านมาแยกขยะ 

ข้อมูลบอกอีกว่า คน 60 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าการแยกขยะคือการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชุมชน ชาวเมืองอยากทำอะไรเพื่อเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่รู้ว่าควรจะทำอะไร ตอนนี้พวกเขาพบแล้วว่า การแยกขยะคือสิ่งที่เมืองต้องการ

นี่แค่จุดเริ่มต้น ยังมีโครงการสนุกๆ อีกเพียบ

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น
Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

ยืดอายุให้กลายเป็นขยะช้าที่สุด

ถ้าเราใช้งานของที่อยู่ในมือให้นานขึ้น ขยะก็จะน้อยลง

ที่นี่จึงเปิดร้าน Kuru-Kuru Reuse Shop ตรงจุดคัดแยกขยะ หลักการของร้านนี้ง่ายมาก คือใครมีของอะไรที่ยังใช้งานได้แต่ไม่ต้องการแล้ว ก็เอาไปวางในร้าน ใครชอบใจชิ้นไหนก็หยิบไปใช้ต่อได้ คล้ายกับร้านขายของมือสอง เพียงแต่ไม่มีการซื้อขาย ให้และรับกันฟรีๆ แทนที่ของชิ้นนั้นจะโดนโยนลงหลุม ก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของคนที่จะนำมันกลับไปใช้ต่อ

แล้วก็มีการเปิดอีกร้านชื่อ Kuru-Kuru Upcycling Craft Center มีเหล่าคุณป้ารับหน้าที่ช่วยซ่อมเสื้อผ้าไปจนถึงเอาเสื้อผ้าเก่าหรือว่าวปลาคาร์ฟมาดัดแปลงให้กลายเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่ดีไซน์เฉียบ เป็นการช่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าให้กลายเป็นเสื้อผ้าใหม่ แทนที่จะกลายเป็นขยะ

เด็กที่เกิดในเมืองนี้ทุกคนจะได้รับชุดผ้าอ้อมแบบใช้ซ้ำเป็นของขวัญจากเทศบาล พร้อมกับคำแนะนำในการใช้ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะจากผ้าอ้อมแบบใช้แล้วทิ้ง

แล้วก็ยังมีถ้วยจานชามให้ยืมใช้สำหรับจัดเทศกาลต่างๆ จะได้ไม่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้ง
แค่นี้ก็ลดขยะไปได้อีกตั้งเยอะ

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

คิดนอกกล่อง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์มากโดยเฉพาะอาหาร

อากิระบอกว่า ด้วยสภาพอากาศที่ชื้นทำให้อาหารเสียง่าย ญี่ปุ่นจึงจริงจังเรื่องบรรจุภัณฑ์อาหารมาก ดังนั้นถ้าจะทำโครงการขายวัตถุดิบอาหารแห้งแบบไร้บรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเอาภาชนะไปใส่เองจากร้านแบบโลกตะวันตก ดูจะเป็นไปได้ยาก ใครจะไปเปลี่ยนระบบค้าปลีกอาหารของญี่ปุ่นได้

เมืองคามิคัตสึทำได้

“เราร่วมมือกับร้านอาหารและคาเฟ่ พวกเขาต้องซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้ในปริมาณมากอยู่แล้ว การซื้อในปริมาณมากเช่นนี้ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยกว่าที่ผู้บริโภคทั่วไปซื้อไปใช้ในครัวเรือน เราจึงขอให้แต่ละร้านทำลิสต์ว่าร้านของเขามีสต็อกอะไรบ้าง เช่น น้ำมัน น้ำตาลทราย ข้าวสาร ลูกค้าก็จะไม่ได้มาแค่กินอาหาร แต่ยังสั่งซื้อวัตถุดิบแล้วใส่ภาชนะของตัวเองกลับไป ร้านไม่ได้ขายทุกอย่างที่คุณอยากซื้อ แต่คุณจะมีทางเลือกในการซื้อของแบบไม่มีบรรจุภัณฑ์จากร้านในชุมชนใกล้บ้านได้”

อากิระให้เหตุผลถึงแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารยอมร่วมโครงการ

“มันเป็นโอกาสที่ดีของร้านที่จะทำให้คนเห็นว่า ร้านของเขาใช้วัตถุดิบอะไร ดีแค่ไหน บางร้านโดดเด่นเรื่องการใช้วัตถุดิบออร์แกนิก แต่มันยากที่จะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ นี่คือโอกาสโชว์ให้ลูกค้าเห็นว่าร้านเขาใช้ของพวกนี้นะ เรายังเปลี่ยนทั้งระบบไม่ได้ แต่ก็พยายามเปลี่ยนบางส่วน เป็นงานสเกลเล็กๆ ที่นำไปขยายผลต่อได้”

Akira Sakano ผู้ทำงานกับกองขยะจนเปลี่ยนเมืองคามิคัตสึให้มีระบบจัดการขยะดีที่สุดในญี่ปุ่น

ต้องลดขยะในใจ

โครงการทั้งหมดที่เล่ามา ดำเนินงานโดย Zero Waste Academy โดยใช้งบประมาณสนับสนุนจากเทศบาล งานวิจัยและวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ที่ได้มานั้นแสนจะคุ้มค่าเพราะเอาไปขยายผลต่อในเมืองอื่นๆ ได้ทันที

Zero Waste Academy ไม่ได้รับเงินจากเทศบาลอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทำงานกับองค์กรธุรกิจ ให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการขยะด้วย

ปีนี้ 2020 แล้ว คามิคัตสึต้องรีบหาทางจัดการขยะอีก 20 เปอร์เซ็นต์ที่ยังรีไซเคิลไม่ได้ ถ้าอยากจะทำให้ได้ตามเป้าที่ประกาศไว้ อากิระบอกว่าไม่ง่ายนัก เพราะของหลายอย่างทำจากวัตถุดิบที่รีไซเคิลไม่ได้ หรือแยกชิ้นส่วนประเภทต่างๆ ออกจากกันไม่ได้ ในส่วนนี้ถ้าจะทำให้สำเร็จก็ต้องการความช่วยเหลือในด้านการออกแบบตั้งแต่แรกจากบริษัทผู้ผลิตสินค้าด้วย

แต่ถึงจะยังทำไม่ได้ตามเป้า คามิคัตสึก็ถือเป็นเมืองต้นแบบของการจัดการขยะที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น และดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อถามถึงเหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองเล็กๆ แห่งนี้ไปไกลได้ถึงจุดนั้น อากิระตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า

“เพราะเมืองนี้ไม่มีเงินสร้างเตาเผาขยะไง”

เมื่อคนจากโลกตะวันตกมาดูงานที่นี่ พวกเขาพูดวิเคราะห์จุดเด่นของที่นี่ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

“พวกเขาบอกว่า เมืองในยุโรปหรืออเมริกา มีรถเก็บขยะที่มารับถึงบ้าน ชาวเมืองไม่ต้องทำอะไรมาก แค่แยกขยะที่ย่อยสลายได้ ขยะรีไซเคิล และขยะอื่นๆ สามถัง ขยะรีไซเคิลก็ส่งไปที่ระบบแยกขยะขนาดใหญ่ มีการจ้างคนมาแยก เขาว่าช่วยจ้างงานคนไปในตัว คนในเมืองก็ไม่ต้องทำอะไรมาก ระบบแบบนี้มันก็ดี แต่เขาว่ามันไม่ได้เปลี่ยนความคิดของคน เพราะคนไม่ต้องคิดอะไร ก็เลยไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การลดการสร้างขยะ

“เมืองเราทำงานกับชาวเมืองเยอะ ทำให้เขาเห็นว่าเขาผลิตขยะอะไรบ้าง เยอะแค่ไหน แล้วเขามีทางเลือกในการลดขยะยังไง ทำให้เขาตระหนักมากขึ้น เพราะรู้ว่าตัวเองสร้างขยะอะไร”

สุดท้ายการลดปริมาณขยะไม่ได้ลดที่หลุมฝังกลบ แต่ต้องลดในใจคนให้ได้

เมื่อถามถึงโครงการในอนาคต อากิระตอบว่า ระบบต่างๆ ของเมืองคามิคัตสึดำเนินไปได้ด้วยดีแล้ว ตอนนี้เธอกำลังจะเดินทางไปจัดการปัญหาขยะในเมืองอื่นต่อ

ภาพ : Zero Waste Academy.Japan

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ