ชาวไทยในโตเกียวเฮลั่น Akha Ama แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมคุณภาพสูงจากไทยเปิดตัวในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ

นั่นคือข้อความที่แวบเข้ามาในหัวพร้อมตั้งสเตตัสทันทีที่ได้ยินข่าวว่า Akha Ama Coffee JAPAN กำหนดวันเปิดร้านในโตเกียวได้แล้วหลังเจอภัย COVID-19 บีบให้เลื่อนมาหลายครั้ง แม้ว่าเราอาจจะไม่สะดวกไปตั้งแต่วัน Soft Opening เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ชาวไทยในโตเกียวจำนวนมากแวะเวียนไปอุดหนุน จนทำให้ นัตซึสะ ยามาชิตะ (Natsusa Yamashita) และ จุนเป อิชิคาวะ (Jumpei Ichikawa) สองสามีภรรยาหุ้นส่วนของ ลี-อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง และ เจนนี่-จันทร์จิรา หยกรุจิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Akha Ama รู้สึกแปลกใจ

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

ส่วนสิ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือชาวไทยไม่ได้เฮอยู่ชาติเดียว ชาวญี่ปุ่นก็เฮ!

ปรากฏว่ากาแฟอาข่า อ่ามา มีฐานแฟนคลับชาวญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย พวกเขาเหล่านั้นคือนักท่องเที่ยวที่ไปเชียงใหม่และติดใจความอร่อยของกาแฟไทย เมื่อรู้ว่าร้านที่พวกเขารักมาเปิดที่โตเกียว จึงพากันมาด้วยความยินดี เหล่าแฟนอาข่า อ่ามา ทั้งไทยและญี่ปุ่นจึงมารวมตัวกันจนแน่นร้านโดยไม่ได้นัดหมาย

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN
ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

สำหรับคนที่ไปไม่ได้อย่างเรา จึงต้องขอนัดพูดคุยถึงที่มาที่ไปและหมุดหมายแห่งการเดินทางจากเชียงใหม่สู่โตเกียวของ Akha Ama กับนัตสึซะและจุนเปในช่วงวันหยุดของร้านก่อนเปิด Grand Opening ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้

นัตซึสะและจุนเปชอบเมืองไทยมาก ไปเที่ยวมากว่าสิบครั้ง พูดภาษาไทยได้นิดหน่อย และดูเหมือนว่าคำในภาษาไทยที่พวกเขาพูดได้ จะช่วยเล่าเรื่องราวของ Akha Ama Coffee JAPAN ได้ดีทีเดียว

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10

​สิ่งแรกที่ทุกคนน่าจะอยากรู้คือ โปรเจกนี้เริ่มต้นได้อย่างไร

อย่างที่เกริ่นไว้ นัตซึสะและจุนเปชอบเมืองไทยมาก ประมาณ 7 ปีที่แล้วพวกเขาไปเที่ยวที่เชียงใหม่ แวะไปคาเฟ่ของคนญี่ปุ่นแล้วเกิดติดใจกาแฟที่ร้าน เลยถามว่าใช้กาแฟที่ไหน คนที่ร้านแนะนำกาแฟอาข่า อ่ามา ให้รู้จัก ซึ่งพอทั้งสองได้ไปที่ร้านอาข่า อ่ามา ก็ตื่นเต้น “กาแฟที่นี่อร่อยมาก” 

“ตอนนั้นพวกเราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องกาแฟเท่าไหร่ รู้แค่ว่ากาแฟแก้วนี้อร่อยมาก ซึ่งตอนนั้นลีเป็นคนชงให้กินเองด้วย เจนนี่ก็อยู่ พอติดใจกาแฟที่นี่หลังจากนั้นเลยแวะไปบ่อยๆ ประจวบกับตอนนั้นเริ่มคิดอยากทำคาเฟ่ เลยบอกลีว่า อยากใช้กาแฟของอาข่า อ่ามา ที่ร้านเลยให้เขาส่งอีเอ็มเอสมาให้ที่โตเกียว” นัตสึซะเล่าถึงที่มาของการนำกาแฟอาข่า อ่ามา มาขายครั้งแรกในโตเกียวที่ Chikyu wo Tabisuru คาเฟ่ร้านแรกของเธอกับจุนเปซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน

ต่อมาทั้งสองได้มีโอกาสไป Coffee Journey ซึ่งลีพาไปเรียนรู้ภูมิปัญญาในการปลูกและรักษาคุณภาพของกาแฟโดยตรงจากชาวอาข่าถึงหมู่บ้านแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับกาแฟ สองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นยังประทับใจวิถีชีวิตชาวอาข่า ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และความพยายามในการพัฒนากาแฟเพื่อกลับมาพัฒนาชุมชน

“ตอนที่ได้ไปหมู่บ้านเป็นครั้งแรก ฉันรู้สึกประทับใจมากที่ชาวอาข่าปลูกกาแฟเองบนเขา กลายเป็นร้านกาแฟที่ยอดเยี่ยมและอร่อยในเชียงใหม่โดยชาวอาข่าเอง เรื่องแบบนี้ไม่มีที่ญี่ปุ่นหรอกค่ะ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ตาเป็นประกาย

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

​และเมื่อคาเฟ่ของนัตซึสะและจุนเปเข้าสู่ปีที่ 6 ทั้งสองวางทริปท่องเที่ยวยาว 3 เดือนโดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย ตอนที่ได้เจอกันในเชียงใหม่ ลีถามพวกเขาเกี่ยวกับแผนขยายร้านที่ญี่ปุ่น เขาขยายร้านสาขา 2 ที่เชียงใหม่ตอนเข้าสู่ปีที่ 6 เหมือนกัน จึงอยากชักชวนลูกค้าที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิททำร้านกาแฟด้วยกัน คุยไปคุยมาร้านเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แต่ตอนนั้นทั้งสองต้องเดินทางไปที่อื่นต่อ จึงเก็บไอเดียนี้ไปตกตะกอนระหว่างเดินทาง

​“ระหว่างไปเที่ยวที่เนปาล โมร็อกโก และยุโรป เราสองคนคุยกันตลอดว่าอยากทำจริงๆ สุดท้ายเลยติดต่อลีกลับไปว่าอยากทำจริงจัง เดี๋ยวจะกลับไปคุยด้วยอีกรอบที่เชียงใหม่นะ รอก่อน” (หัวเราะ)

​สุดท้าย ลี เจนนี่ นัตซึสะ และจุนเป ก็นั่งประชุมกัน 4 คนเรื่องร้านทุกวันเป็นเวลา 10 วันที่เชียงใหม่

​จาก 1 ก็ถึง 10 ให้ Akha Ama Coffee JAPAN เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้วด้วยประการฉะนี้

ใช่ๆ

​ตอนแรกลีมองว่าจะทำคาเฟ่แบบ Collaboration ร่วมกัน แต่นัตซึสะกับจุนเปที่ประทับใจทั้งรสกาแฟและเรื่องราวของอาข่า อ่ามา คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำเป็นร้านกาแฟจริงจังไปเลยดีกว่า เพราะอยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักอาข่า อ่ามา แบบที่พวกเขาได้รู้จัก

​“เมื่อประมาณตุลาคมปีที่แล้ว เราพาลีกับเจนนี่พาไปย่านต่างๆ และร้านกาแฟทั้งหลายในโตเกียว ก็สรุปกันว่าทีมญี่ปุ่นเดินหน้าหาโลเคชันได้เลย

“​ตอนแรกก็อยากให้ร้านอยู่ในย่านที่ดังเรื่องกาแฟอย่าง Kiyosumi-shirakawa ย่านชิบูย่า แต่อีกใจก็อยากให้ร้านแรกของอาข่า อ่ามา เจแปนเป็นร้านที่คนในชุมชนชื่นชอบและค่อยๆ ดังไปข้างนอก เหมือนกับอาข่า อ่ามา สาขาแรกที่สันติธรรม คืออยู่ในย่านชิคนะ แต่อยู่ในมุมที่สงบ” นัตซึสะเริ่มเล่า

​ดังนั้น ย่านที่ ‘ใช่’ สำหรับพวกเขาจึงกลายเป็นคากุระซากะ (Kagurazaka) ย่านสุดชิคเก๋และ Sophisticated ของโตเกียว

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

​คากุระซากะอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยว ที่นี่มีความเป็นเมืองเก๋ๆ สำหรับผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย จะบอกว่าเก๋แบบเรียบๆ และเงียบสงบก็ว่าได้ เพราะเป็นย่านชุมชน (คนมีเงิน) ที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวมากกว่าห้องเดี่ยว อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งแฮงก์เอาต์ที่ดึงดูดวัยรุ่นเท่าไหร่ ไม่มีร้านอิซะกะยะราคาย่อมเยาที่เหมาะกับการโหวกเหวก แต่เต็มไปด้วยร้านไวน์และสาเกชั้นดี และที่เหมาะเจาะมากคือยังไม่มีร้านกาแฟจริงจังในย่านนี้เลย

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

​“พอเริ่มหาก็พบว่า ค่าเช่าแถวนี้แพงมาก หาไม่ได้เลย จนมาเจอที่นี่ ซึ่งจริงๆ เป็นอพาร์ตเมนต์สำหรับอยู่อาศัย มีครัวและอะไรทุกอย่างครบหมดเลย โชคดีที่เจ้าของบ้านยินดีให้ทำคาเฟ่และรื้อตกแต่งภายในใหม่ได้ตามใจชอบ ราคาค่าเช่าไม่แพงด้วย ทุกอย่างเลยลงตัวมาก เพราะที่นี่อยู่ใกล้สถานีรถไฟก็จริง แต่อยู่ห่างจากถนนใหญ่และใกล้สวนสาธารณะ ตรงตามความตั้งใจที่อยากเป็นร้านดังในซอยเล็กๆ ของย่านเก๋”

​ได้ที่ชอบในย่านที่ใช่สำหรับผู้สร้างแล้ว สเต็ปต่อไปคือเนรมิตร้านให้ ‘ใช่’ สำหรับลูกค้าด้วย

​แม้จะเป็นร้านกาแฟสัญชาติไทยแท้ แต่ผู้เชี่ยวชาญวงการคาเฟ่ญี่ปุ่นทั้งสองมองว่า ร้านไม่จำเป็นต้องไทยจ๋าขนาดนั้น ไม่ต้องญี่ปุ่นด้วย นำของดีจากหลายประเทศมาผสมผสานได้เลย

​“คนยังไม่ค่อยรู้จักกาแฟไทย เลยอยากเชิญชวนให้คนเข้ามาด้วยความเป็นร้านกาแฟเก๋ๆ ที่คนญี่ปุ่นน่าจะชอบก่อน อ๊ะ ร้านกาแฟเก๋ๆ พอเขาเข้ามาก็จะได้ตื่นเต้น อ๊ะ กาแฟไทย พอได้ชิมก็แบบอ๊ะ อร่อยด้วย ฉันเชื่อว่าใครได้ลองชิมของอร่อยแล้วจะชอบเอง เลยทำให้ร้านสวยๆ ก่อน พอเขาเข้ามาชิมจะได้รู้จักความอร่อยของกาแฟไทย”

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN
ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

​คอนเซปต์การแต่งร้านหลักๆ จึงเป็นดีไซน์เรียบเก๋และการใช้ไม้กับสีดำเหมือนร้านที่ประเทศไทย แล้วใส่ความเป็นไทยตามจุดต่างๆ แบบไม่ยัดเยียด เช่น เสื้อผ้าชาวอาข่าที่ประดับอยู่บนผนัง รูปไร่กาแฟตอนไป Coffee Jouney ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจากลายผ้าเก่าแก่ของชาวอาข่าบริเวณประตูและป้ายชื่อร้าน และนางกวักขนาดกำลังดีที่เพื่อนคนไทยซื้อมาให้ ส่วนแพ็กเกจเมล็ดกาแฟทั้งสามชนิด ผลไม้ กลางๆ และเข้มข้น ได้ Illustrator ชาวญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์ลวดลายผ้าของชาวอาข่าด้วยลายเส้นที่คนญี่ปุ่นน่าจะชื่นชอบ

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN
ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

เมื่อตำแหน่งที่ตั้งและรูปแบบการตกแต่งร้านน่าจะเป็นทางที่ใช่แล้ว เพราะตั้งแต่สองสามีภรรยาเปิดหน้าร้าน เปิดไฟให้เราถ่ายรูป คนที่อาศัยอยู่แถวนั้นก็แวะเวียนมาถามไถ่ขอซื้อกาแฟอยู่เรื่อยๆ จนประโยค “ร้านเริ่มเปิดวันที่ 1 ค่ะ” เป็นประโยคที่ปรากฏขึ้นมาบ่อยที่สุดระหว่างสนทนา

สู้ๆ

​ด้วยสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน คำนี้น่าจะเป็นคำที่ 4 ผู้ก่อตั้งได้ใช้บ่อยทีเดียว

​นัตซึสะกับจุนเปเจอร้านในฝันช่วงเดือนมกราคม จึงรีบเซ็นสัญญาทันที โดยนัดแนะกับลีและเจนนี่ไว้เสร็จสรรพว่า ถ้าแต่งร้านเสร็จแล้วจะให้ทั้งสองมาช่วยเซ็ตอัปร้านที่โตเกียว

​และแล้ว COVID-19 ก็ระบาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ทีมไทยเดินทางมาไม่ได้ แต่เซ็นสัญญาเช่าร้านไปแล้ว ยังไงก็ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น

​“ฉันกับจุนเปไม่เคยทำร้านกาแฟมาก่อน เลยไม่รู้ว่าต้องซื้ออะไร ยี่ห้อไหนบ้าง ลีกับเจนนี่ต้องช่วยพวกเราเลือกของเข้าร้านผ่านการคุยออนไลน์ทั้งหมด” นัตซึสะเล่าพลางชี้ให้ดูอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนจะเสริมว่า “อย่างที่ดริปนี่ของจากร้าน Gallery Drip Coffee ที่ไทยนะ”

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN
ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

​นอกจากนี้ ทั้งสองยังไปเรียนรู้เรื่องการทำกาแฟที่ไทยไม่ได้ด้วย ความฝันที่จะทำเมนูยอดฮิตอย่างมานีมานะและยกระดับลาเต้ของ Akha Ama Coffee JAPAN ให้ดีเท่าสาขาที่ไทยจึงต้องพับไปก่อน

​โชคดีที่งานตกแต่งภายในผ่านไปได้อย่างราบรื่น เพราะช่างไม้ทำงานได้ตามกำหนดการ อีกทั้งร้าน Chikyu wo Tabisuru ของทั้งสองก็ต้องปิดเป็นเวลา 1 เดือนครึ่งพอดี พวกเขาเลยใช้เวลานั้นในการเตรียมทุกอย่างที่นี่ให้พร้อม

​จะขาดก็แค่พระเอกสำคัญอย่าง ‘เครื่องคั่วกาแฟ’

“จริงๆ เราอยากนำกาแฟที่ส่งตรงจากไร่มาคั่วที่นี่ เพราะเราสองคนประทับใจความสัมพันธ์ที่ของไร่กับร้านกาแฟที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีร้านกาแฟที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฟาร์มที่ปลูกกาแฟอย่างเหนียวแน่นแบบนั้น นอกจากนี้ร้านอื่นจะมีกาแฟจากหลายๆ ประเทศ เช่น เอธิโอเปีย แต่ของเราเป็นกาแฟจากประเทศไทยอย่างเดียว เป็นกาแฟที่แม่ของลี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพวกเราเป็นคนปลูก มันถึงเป็นความรู้สึกพิเศษที่อยากให้คนที่มาร้านนี้ได้สัมผัสประสบการณ์ของความสัมพันธ์แบบนั้นโดยตรง ผ่านการชิมกาแฟที่ส่งตรงจากไร่ที่ชาวอาข่าปลูก มาคั่วให้เห็น ได้กลิ่น และดริปให้กินตรงหน้า” หญิงเก่งผู้ทำขนมในร้านทั้งหมดเองด้วยแจกแจง

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

เธอชี้ให้เราดูจุดที่ควรเป็นที่ตั้งของเครื่องคั่ว เรื่องนี้ทางญี่ปุ่นทำอะไรยังไม่ได้ ต้องรอให้ลีและเจนนี่เดินทางมาญี่ปุ่นก่อน ความฝันที่จะได้นำเมล็ดกาแฟชนิดอื่นๆ ของอาข่า อ่ามา มาโตเกียวถึงจะเป็นจริง

“อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้การคั่วเมล็ดกาแฟขายที่นี่สำคัญมาก คือเราสองคนอยากสานต่อเจตนารมณ์ของแบรนด์อาข่า อ่ามา มาไว้ที่ญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นการขายเมล็ดได้จึงสำคัญ เพราะมันจะกลับไปพัฒนาชุมชนที่หมู่บ้าน”

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

โคตรดี

​คำว่า ‘โคตรดี’ นี้ จุนเปบอกว่าเจนนี่เป็นคนสอนให้ เราทึกทักเอาเองว่า น่าจะสอนให้พูดเวลาได้กินกาแฟอร่อย

​แต่พอได้ฟังเรื่องราวจุดเริ่มต้นร้าน Akha Ama Coffee JAPAN ก็เริ่มคิดว่า เขาอาจจะหมายถึงการที่พวกเขาทั้ง 4 คนได้มาเจอกัน

​“ตอนลีชวนทำร้านด้วยกัน ฉันดีใจมาก เพราะคิดว่าน่าจะมีชาวต่างชาติมากมายชวนลีไปลงทุน รวมไปถึงชวนมาทำที่ญี่ปุ่นด้วย แต่ลีบอกว่าอยากทำกับคนที่มีแนวคิดคล้ายกัน ให้ความสำคัญกับแก่นของอาข่า อ่ามา ซึ่งพวกเราเองก็ประทับใจเรื่องราวกาแฟอาข่า อ่ามา และสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ อีกทั้งยังอยากเผยแพร่ให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ด้วย”

ความดีใจที่ได้รับความเชื่อใจจากลีและความยินดีที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเขารัก ทำให้นัตซึสะและจุนเปอยากทำให้ร้านนี้ประสบความสำเร็จให้ได้ อยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักความอร่อยของกาแฟไทย จึงใส่ใจในทุกรายละเอียดตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น

“ตอนที่ลองเปิด Soft Opening คนที่ไม่รู้จักกาแฟไทยมาก่อนยังกินแล้วบอกว่าอร่อย ฉันว่าร้านเราดังแน่ๆ ค่ะ” (หัวเราะ) หญิงสาวผู้โปรดปรานเมนูมานีมานะเป็นพิเศษเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม

“อย่างที่บอกไปค่ะ พวกเราอยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักความอร่อยของกาแฟไทย พอชอบกาแฟอาข่า อ่ามา แล้วก็หันไปชอบเมืองไทยด้วย ลีเองก็ตั้งเป้าว่าอยากเปิดหลายๆ ร้าน ดังนั้นหน้าที่ของร้านแรกร้านนี้ คือทำให้คนรู้จักความอร่อยของกาแฟอาข่า อ่ามา ทำให้คนรู้จักแบรนด์ และได้รับรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคม การพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่ลีทำ นี่คือก้าวแรกที่สำคัญค่ะ”

สำหรับเราคำว่า ‘โคตรดี’ หมายถึงกาแฟคั่วอ่อนดริปเย็นที่นัตซึสะชงให้และสิ่งที่พวกเขากำลังตั้งใจทำ

ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN
ไปคาเฟ่ Akha Ama สาขาโตเกียว คุยกับคู่รักญี่ปุ่นที่พากาแฟเผ่าอาข่าไปถึงแดนอาทิตย์อุทัย, Akha Ama Coffee JAPAN

AKHA AMA COFFEE ROASTERS TOKYO

เวลาเปิด-ปิด 

อังคาร-ศุกร์ เวลา 08.00 – 19.00 น.

วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ 10.00 – 19.00 น.

หยุดทุกวันจันทร์

Facebook : akhaamacoffee.japan

Writer & Photographer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ