25 กุมภาพันธ์ 2020
22 K

น้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่ทุกคนคุ้นเคย มันทั้งหวาน สดชื่น หาซื้อง่าย ราคาถูก แม้หลังๆ มานี้จะถูกโจมตีว่าเป็นผู้ร้ายทำลายสุขภาพ แต่อย่าปฏิเสธเลยว่าเราก็ยังแอบดื่มน้ำอัดลมในวันที่รู้สึกแย่ๆ กันทุกคนนั่นแหละ

เมื่อน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่หาได้ทั่วไป และไม่มีใครคิดว่าจะต้องทำความรู้จักกับมันไปมากกว่ารู้ชื่อยี่ห้อเท่าไหร่

ก็น้ำอัดลมไง หยิบออกจากตู้เย็น จ่ายเงิน เทใส่น้ำแข็ง แล้วก็ดื่มเพื่อดับอะไรก็ตามที่มันคุกรุ่นอยู่ให้หมดไป เราต้องรู้อะไรเกี่ยวกับมันมากกว่านี้อีกหรือ 

แต่คนอยู่ไม่สุขอย่างกิฟ ไม่คิดอย่างนั้น 

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

กิฟ-ณัฐธิดา วงศ์มหาศิริ เรียกตัวเองว่า นักปรุงคราฟต์โคล่า 

“เราชอบกินน้ำอัดลมมาตั้งแต่เด็กๆ วันหนึ่งไปเจอหนังสือที่มีสูตรต้มโคล่ากินเองก็เลยลองทำดู อยากมีสูตรโคล่าเป็นของตัวเอง” 

นี่คือกิฟ ผู้ไม่ยอมหยุดแค่การซื้อน้ำอัดลมเย็นเฉียบจากตู้แช่

“คนส่วนใหญ่ทำหน้ายังไง เวลาคุณเล่าถึงคราฟต์โคล่า” เราถาม 

“บางคนก็ไม่รู้จัก แต่ให้เราเล่าได้อีกนะ เล่าได้ไม่เคยเบื่อเลย” กิฟยิ้มกว้างก่อนเล่าต่อ 

โคล่า คือน้ำอัดลมน้ำดำที่คนคุ้นเคย และคราฟต์โคล่า คือเครื่องดื่มที่ทำเองทุกขั้นตอน เสิร์ฟแบบสดๆ เหมือนกาแฟสด ซึ่งกิฟย้ำว่า โคล่าของเธอจะอร่อยที่สุดใน 7 นาทีแรกหลังจากเสิร์ฟถึงมือ

ก่อนคุยเรื่องเบื้องหลังวิธีคิดทำแบรนด์คราฟต์โคล่า กิฟให้เราลองทายวัตถุดิบที่อยู่ในโคล่า ที่มาของรสซ่าๆ สดชื่น และกลิ่มหอมนวลๆ

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

“เริ่มจากไซรัปของโคล่า เราทำมาจากผิวมะนาวต้มในคาราเมล และแทนที่จะใช้ถั่วโคล่าตามสูตรทั่วไป กิฟก็ใช้กาแฟที่เราคั่วเองเพื่อให้สีน้ำตาลแก่น้ำโคล่า จากนั้นใส่อบเชยและวานิลลาลงไปเพื่อให้กลิ่น ปรุงรสด้วยเลม่อน มะกรูด และน้ำมะนาว ให้รสเปรี้ยว สดชื่น จากนั้นบ่มไซรัปไว้สักพักเพื่อความอร่อย เหมือนทำพะโล้เหมือนกันนะ พอได้ที่แล้วก็จะผสม อัดแก๊สแล้วก็เสิร์ฟให้ดื่มทันที” 

ทันทีที่ได้รู้ว่าโคล่าแก้วตรงหน้าประกอบด้วย สมุนไพร พืช ผลไม้อะไร ผ่านการเคี่ยวบ่มมานานแค่ไหน โลกของน้ำอัดลมเราก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

น้ำรสซ่าหน้าตาคุ้นกลับมีรสชาติที่ต่างออกไป ใช่! นั่นกลิ่นวานิลลา นี่กลิ่นอบเชย น้ำรสหวานๆ มีรสเลม่อนที่ปลายลิ้น ทำให้สดชื่นอย่างบอกไม่ถูกต่างจากการดื่มผ่านกระป๋อง

ไม่ใช่แค่ความตั้งใจที่ใส่ในคราฟต์โคล่าจนเต็มแก้ว กับธุรกิจ กิฟก็คราฟต์มากเช่นกัน

มาพบกับหัวใจที่ทำแบรนด์เล็กๆ ขึ้นมาประดับตลาดเครื่องดื่มทางเลือกได้น่ารักน่าหลง และยังเติบโตมาได้ 2 ปีแล้วท่ามกลางคาเฟ่และเมนูเครื่องดื่มที่เกิดใหม่ไม่เว้นวัน

ขออภัยล่วงหน้า หากเสียงดูดโคล่าของเราจะรบกวนการสนทนาไปบ้าง แต่ฟังกิฟเล่าแล้วมันอดใจนั่งนิ่งๆ ไม่ได้จริงๆ 

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

ธุรกิจที่เหมาะกับตัวเอง

คราฟต์โคล่าของกิฟเกิดจากการตั้งคำถามว่า คนอย่างฉันเหมาะที่จะทำธุรกิจแบบไหน ซึ่งคงไม่ต่างกับใครหลายคนที่จุดเปลี่ยนของชีวิตทำให้อยากค้นหาตัวตนว่า อะไรคือสิ่งที่ฉันชอบ ทำได้ดี และความเป็นฉันนั้นคืออะไร 

เพราะเป็นนักออกแบบที่วาดรูปไม่เก่งเท่าเพื่อน แถมยังมีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อจึงทำให้นั่งทำงานนานๆ ไม่ได้ อาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์แบบฟูลไทม์ จึงไม่ใช่ทางเลือกหลักสำหรับกิฟอีกต่อไป ถ้าใครเคยผ่านความรู้สึกที่อธิบายกับใครไม่ได้ว่า ‘ฉันคือใคร’ จะรู้ว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก กิฟจึงอนุญาตให้ตัวเองได้ใช้เวลา หาคำตอบให้กับเรื่องนี้อย่างจริงจังและไม่จำกัด

แรงบันดาลใจใกล้ตัวของกิฟ คือสามีผู้มีเป้าหมายและมีความสุขกับงานที่เขาทำ จนเธอบอกว่าเห็นแล้วอิจฉา และอยากจะหาอะไรทำเป็นของตัวเองบ้าง 

“อยากจะทำธุรกิจแบบที่ทำให้เรามีความสุข” กิฟตั้งเป้าหมายให้ตัวเองแบบนั้น

แล้ววันหนึ่งกิฟก็เจอคำตอบ วันที่ได้ปลดล็อกตัวเองว่า ‘ฉันมีดีอะไร’

“เราเคยรู้สึกแย่มากๆ กับการทำบางอย่างได้ไม่ดี จนได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง เขาบอกว่า มันไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปพยายามทำเรื่องที่เราไม่เก่งให้เก่งขึ้น แต่เราควรเอาเวลาไปทุ่มเทกับเรื่องที่เราถนัด หรือสิ่งที่เราชอบมากๆ ให้ดีขึ้นไปอีกได้ เพราะคนที่เขาเก่งเรื่องที่เราไม่เก่ง เวลาผ่านไปเขาก็มีแต่จะเก่งขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องไปสู้กับเขาในสิ่งที่เราไม่ถนัด และเวลาของทุกคนก็มีจำกัด เอาเวลาไปทำสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุขดีกว่า” กิฟเล่าถึงช่วงเวลาที่หนังสือปลดล็อกตัวเธอ

“ตอนนั้นก็เลยโทรไปหาเพื่อนสนิทที่โตมาด้วยกัน คุยกับแม่ คุยกับสามี แล้วก็คิดทบทวนตัวเอง ว่าอะไรที่เราชอบทำ อะไรที่ทำให้เรามีความสุข แล้วก็ได้รู้ว่า เราเป็นคนชอบคิดคอนเซปต์ ชอบคิดเรื่องราวให้กับสิ่งต่างๆ เราเก่งเรื่องนี้ ฉะนั้นเราจะทำเรื่องนี้”

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

Kofi Cola since 2017 

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2017 ร้านกาแฟ Roastology ที่กิฟเปิดร่วมกับสามีต้องการเมนูเครื่องดื่มใหม่ที่ไม่ใช่กาแฟ กิฟคิดถึงคราฟต์โคล่าของเธอ ซึ่งเคยลองทำแล้วเมื่อช่วงปี 2013 แต่ไม่สำเร็จและยังคาใจ 

ไม่ใช่เพราะคิดว่าคราฟต์โคล่าน่าจะขายดี แต่เพราะเชื่อว่านี่คือเครื่องดื่มที่มีเรื่องราว เธอรวบรวมข้อมูลและพละกำลังที่มี ส่งต่อเรื่องเล่าให้คนจดจำ เพื่อสร้างสินค้าให้คนติดใจ

ปัญหาก็คือ กิฟไม่ใช่เชฟ เธอยอมรับทันทีว่ามีทักษะด้านนี้ไม่มากเท่าเชฟมืออาชีพจริงๆ แต่เมื่อตั้งธงมาแล้วก็ต้องทำให้ได้ เธอเชื่อว่าความเชี่ยวชาญเกิดขึ้นได้จากการเพียรทำซ้ำๆ เป็นผลให้ร้าน Roastology มีคราฟต์โคล่าเป็นเมนูใหม่ โดยช่วงทดลองขายมีชื่อว่า Kofi Cola 

“มาจากการที่เราใช้เมล็ดกาแฟแทนโคล่านัทตามสูตร ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ให้รสขม มีคาเฟอีนและทำให้น้ำโคล่ามีสีน้ำตาลธรรมชาติ โดยกาแฟทั้งหมดมาจากโรงคั่วของเราเอง เป็นกาแฟที่ปลูกในประเทศ ดีต่อการควบคุมคุณภาพและต้นทุนการผลิต”

Kofi Cola ได้รับเสียงตอบรับจากลูกค้าดีเกินคาด มีทั้งคนกลับมาดื่มซ้ำ และแนะนำกันแบบปากต่อปาก 

“เสน่ห์ของคราฟต์โคล่าอยู่ตรงที่ คนเหมือนจะรู้แต่ก็ไม่ได้รู้แน่ชัดว่าคราฟต์โคล่าคืออะไร แต่พอลองชิมแล้วก็ติดใจไปหลายคน” 

คำขอบคุณและชื่นชมทำให้กิฟยิ้มแก้มปริที่ได้รู้ว่า สิ่งที่ตั้งใจทำนั้นสร้างความสุขให้กับคนอื่น แต่เธอก็ไม่ลืมที่จะบอกตัวเองอยู่เสมอว่า อย่าปล่อยใจให้ฟูลอยเหมือนฟองอากาศที่ผสมในโคล่าจนมากเกินไป

‘รู้สึกดีจังเลยน้า’ คือความรู้สึกอิ่มเอมที่เกิดขึ้น กิฟตัดสินใจอยากจะให้สิ่งนี้เป็นมากกว่าเครื่องดื่มที่ประดับในเมนูของร้าน จึงลงมือสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง

ความสำคัญของการต่อยอดเมนูชั่วคราวเป็นแบรนด์สักแบรนด์ หรือธุรกิจสักธุรกิจ คือความทุ่มเทที่จะสร้างสัมพันธ์กับสิ่งสิ่งนั้น บ่อยครั้งที่ธุรกิจที่เกิดจากความหลงใหลและถูกกล่าวหา บ้างว่าไม่ยั่งยืน บ้างก็เป็นอารมณ์ชั่ววูบ เมื่อหมดความหวือหวาก็ถูกพับล้มไปง่ายๆ 

“เราเริ่มเล็กๆ ใช้เวลาลองผิดลองถูก นับวันก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจ และเมื่อวันเวลาผ่านไปสามสิบถึงสี่สิบปี เราอยากแปะป้ายหน้าร้านว่าโคล่าร้านนี้เป็นเจ้าเก่า อย่างน้อยที่สุดเราก็เป็นคุณยายกิฟคนคิดสูตรโคล่าประจำตระกูลให้ลูกให้หลานไว้อวดเพื่อน เราว่ามันเท่ดี” ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโคล่าหรือบทสนทนาที่ทำให้บรรยากาศตรงนี้สดใส

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

Crafting ‘aircraft’ 

กิฟอยากให้ธุรกิจนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่นิยามตัวเธอ เธอเริ่มจากตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘aircraft’ 

air ที่แปลว่า อากาศ และ craft ที่แปลว่า ความประณีต 

รวมกันเป็นฟองอากาศในเครื่องดื่มอัดลมที่ทำขึ้นมาอย่างประณีต แล้วยังพ้องกับคำว่า aircraft ที่แปลว่า อากาศยาน ซึ่งทำให้คิดถึงน้ำอัดลมจรวดที่เจอได้ตามงานวัดสมัยเด็กๆ

aircraft มีสินค้าหลักคือคราฟต์โคล่า โดยกิฟบอกว่า เธออยากจะเป็นผู้เชี่ยวชาญและลงลึกเรื่องโคล่า ไม่ใช่แค่สร้างเรื่องราวให้คนสนใจและจากไป 

กิฟปรุงโคล่าเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เลือกซื้อวัตถุดิบ ฝานเปลือกมะนาวและเลม่อน (ที่เราเห็นแล้วนับถือ มันทำได้ทีละน้อยแล้วก็ต้องใช้ความเชี่ยวชาญมาก) เคี่ยวคาราเมลจากเมล็ดกาแฟ ต้มน้ำเชื่อมโคล่าไปจนถึงการผสม อัดแก๊ส และเสิร์ฟถึงมือคนดื่มด้วยตัวเอง ก่อนจะได้สูตรนี้ เธอทำโคล่าเป็นสิบๆ แบบเพื่อให้คนทดลองและช่วยตัดสินใจว่าแบบไหนจะถูกใจตลาดมากที่สุด แต่เธอก็สารภาพว่าทุกวันนี้ก็ยังแอบปรับนิดเปลี่ยนหน่อยแทบทุกวัน ตามประสานักปรุงที่ชอบทดลองและหยอดกิมมิกแบบที่ไม่ต้องมีใครรู้ก็ได้

การทดลองพวกนี้กิฟลองเล่นได้อย่างเชี่ยวชาญ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่นักฟิสิกส์ เคมี แต่กิฟชอบหาความรู้เอาจากหนังสือ เพื่อทำความเข้าใจกับส่วนประกอบต่างๆ ในโคล่าไปถึงโครงสร้างและความลับที่ซ่อนอยู่ในฟองอากาศซ่าๆ ฟองอากาศเหล่านี้เกิดจากอะไรและแปลผกผันกับอะไร ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อรสชาติของโคล่า 

กิฟเล่าตัวอย่างความรู้ใหม่ที่เธอค้นพบ เช่น กรดที่เยอะขึ้นไม่ว่าจะมาจากมะนาวหรือเลม่อน ก็จะยิ่งทำให้รู้สึกซ่ามากขึ้น น้ำที่เย็นจะทำให้แก๊สหดตัวอยู่ในน้ำ ทำให้ตราบใดที่อุณภูมิยังต่ำอยู่ โซดาก็จะยังคงความซ่าไว้เสมอ เป็นต้น

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

อบเชย วานิลลา คาราเมล

ใครๆ ก็รู้ว่าการทำธุรกิจคาเฟ่หรือเครื่องดื่มทางเลือกทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในแต่ละวันมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นเยอะและลูกค้าชอบลองของใหม่ๆ ข้อได้เปรียบของกิฟ คือเธออยู่ในธุรกิจเครื่องดื่มอยู่แล้ว มีทรัพยากรและแหล่งข้อมูลพร้อม มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจด้านนี้ มีบุคลากร มีหน้าร้านที่มีลูกค้าแวะเวียนมา แต่คราฟต์โคล่าของกิฟมีความพิเศษอะไรที่ทำให้มีราคาสูงกว่าน้ำอัดลมในท้องตลาดถึง 10 เท่า

ทั้งๆ ที่หน้าตาดูคล้ายกันมาก แต่รสชาติกลับต่างออกไป นั่นเพราะความหลากหลายของวัตถุดิบธรรมชาติที่กิฟชั่งตวงวัดตามสูตร ส่งให้มีกลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์มีทั้งอบเชย วานิลลา คาราเมล

ข่าวดีก็คือ เราหาข้ออ้างให้ตัวเองดื่มคราฟต์โคล่าได้บ่อยกว่าน้ำอัดลมปกติ เพราะสมุนไพรที่ใช้ มีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อบเชยช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร วานิลลาที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และมะนาวดีๆ ก็ทำให้สดชื่นด้วยนะ

“ถึงอย่างนั้น คราฟต์โคล่าก็ไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนะ เพราะมีน้ำตาล ซึ่งในขณะเดียวกันน้ำตาลก็ให้พลังงานแก่ร่างกาย เราทำคราฟต์โคล่าอย่างผู้ที่ตั้งใจเลือกวัตถุดิบ เพราะเราอยากกินเองทุกวัน ที่เน้นคุณภาพก็เพราะเราอยากทำให้เพื่อนและคนรอบตัวที่เรารักได้กิน นี่จึงไม่ใช่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพกายเหมือนน้ำผัก แต่มันดีกับสุขภาพใจแน่นอน” กิฟยิ้มตาม

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

อยากรักก็ต้องเสี่ยง

ท่ามกลางทุกสิ่งที่อย่างที่กิฟทำได้เชี่ยวชาญเหมือนจับวาง ก็มีเรื่องอุณหภูมิและสภาพอากาศนี่แหละที่ไม่มีใครควบคุมได้เลย และก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เสียด้วย 

“เราอยากไปออกร้านตามงาน เพราะถ้าเราเลือกจะขายแต่ในร้าน ค่อยๆ ทำเสิร์ฟแบบสบายๆ คนก็จะรู้จักคราฟต์โคล่าของเราในวงแคบๆ แต่การไปออกร้านมีความเสี่ยงเยอะ ทั้งเรื่องวัตถุดิบที่ต้องเตรียม ไม่รู้ว่าจะเหลือมั้ย หรือจะเพียงพอหรือเปล่า แล้วก็ยังมีเรื่องสภาพอากาศที่มีผลต่อโคล่ามากๆ ด้วย แต่เพราะอยากทำจริงจังก็เลยต้องขอเสี่ยง” กิฟเล่าถึงความเสี่ยงที่ต้องแลกกับการทำธุรกิจด้วยความสุข

ครั้งแรกที่กิฟพา aircraft Cola ไปขายในตลาด Bangkok Design Week เมื่อปี 2018 เธอไม่มั่นใจเลย กลัวความร้อนจะทำให้โคล่าไม่ซ่า กลัวลูกค้าต้องมารอ กลัวทำโคล่าที่ไม่อร่อยให้เขากิน 

“ตอนนั้นสามีบอกว่า ขอให้ทำเต็มที่ แค่มีคนรู้จัก aircraft เพิ่มอีกแค่หนึ่งคนก็ถือว่าเราก้าวไปข้างหน้าแล้ว ก็เลยคลายกังวลไปได้หน่อยนึง” กิฟเล่าถึงผู้ที่เป็นทั้งแรงและกำลังเบื้องหลังความสุขของเธอ

โชคดีที่การออกตลาดครั้งแรกนั้นทำให้ aircraft Cola มีคนรู้จักและชื่นชอบมากกว่า 1 คน และใน Bangkok Design Week 2020 ที่ผ่านมา เราได้เห็นปรากฏการณ์คนยืนต่อแถวที่หน้าบูท aircraft อย่างล้นหลาม ทำให้คิดถึงคำพูดที่กิฟบอกว่า “ทำธุรกิจน่ะ ไม่บ้าก็ไม่ได้ทำ” 

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า
aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

เราใช้ความสุขมาทำธุรกิจได้จริงใช่ไหม

“โคล่าคือสนามเด็กเล่นสำหรับเรา ถ้าใครได้กินประจำก็จะรู้ว่ามันไม่เหมือนกันเลย เพราะเรามักจะต้มให้ไม่เหมือนกัน เติมนั่นนิดนี่หน่อย เป็นความซน บางทีคนก็อาจจะไม่ได้สังเกต แต่ว่าเราสนุกที่จะทำ”

ความสุขของการทำคราฟต์โคล่าสำหรับกิฟ คือความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองและได้ทำในสิ่งที่เป็นตัวของตัวเอง กล้าบอกคนอื่นว่าเธอเป็นคนแบบนี้ ซึ่งเป็นสิ่งมีค่ามากกว่าอะไรทั้งหมด 

“การไม่รู้จักตัวเองมันเป็นเรื่องน่าเศร้า เศร้ากว่าการไม่ได้เงินเดือนอีก” กิฟเล่า

การจะเริ่มทำธุรกิจจากความชอบหรือความสุขนั้นง่าย เพราะแรงมันมี ใจมันมา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำแล้วจะประสบความสำเร็จ สำหรับกิฟ ความสุขกับธุรกิจนั้นมีจุดเชื่อมร่วมกัน 

“ความสุขที่ใช้หาเงินไม่ได้ก็ควรจะเก็บมันไว้เป็นความสุขส่วนตัวเฉยๆ โชคดีที่ความสุขนี้หาเงินได้ หลักการสำคัญคือเราต้องทำธุรกิจที่เชื่อว่าจะมีคนยอมจ่ายเงินเพื่อมัน ตอนทำงานบริษัทออกแบบมีงานหลากหลายและเป็นงานที่มีคนยอมจ่ายเงินแน่ๆ แต่ก็มีทั้งโจทย์ที่เราอยากทำและไม่อยากทำ การทำ aircraft คือการอยู่กับโจทย์นี้ โจทย์เดียวที่อยากทำตลอดไป ได้แก่ การทำรสชาติโคล่าที่ถูกใจและทำให้ลูกค้าอยากกลับมากินซ้ำ

“สิ่งที่ชอบมากๆ คือเวลาต้มโคล่า ห้องจะมีกลิ่นโคล่าแบบนั้นติดอยู่ไปอีกสองวัน เป็นกลิ่นที่ผ่อนคลายมาก เพราะมีกลิ่นของซีตรัส อบเชย วานิลลา คาราเมล และการที่ร่างกายได้ผ่อนคลายไปกับกลิ่นหอมๆ ก็ทำให้เราอยากตื่นมาต้มโคล่าทุกวัน” กิฟเล่า เธอบอกว่า ความสุขของคนที่ดื่มโคล่าของเธอก็คือความสุขของเธอด้วย

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า
aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

คุณจะไม่มีวันเดินเดียวดาย

“aircraft ทำให้เรียนรู้ว่าเมื่อเราหมกมุ่นและตั้งใจทำอะไรจริงๆ จะมีความช่วยเหลือจากทุกคนเดินทางมาหาเรา กลิ่นหอมของคนที่ทำอะไรที่ตัวเองชอบมากๆ มักดึงดูดคนให้เข้ามาใกล้ๆ” 

กิฟเล่าว่า ตั้งแต่มี aircraft นอกจากลูกค้าจำนวนมากที่สนับสนุน ก็ยังมีผู้คนอีกมากมายเต็มใจมาอยู่ร่วมเป็นเบื้องหลังสำคัญที่ช่วยสร้างธุรกิจนี้

ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ ที่คอยช่วยส่งข่าวเวลาเจออะไรที่เกี่ยวกับโคล่า แม่ที่มาช่วยเป็นพริตตี้เชียร์ขายและคอยเล่าเรื่องของคราฟต์โคล่าให้ลูกค้าฟังระหว่างรอ รวมไปถึงทีมที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์ กิฟย้ำเสมอว่า เธอโชคดีที่ได้เจอคนที่เข้าใจ

“เรารู้สึกว่าการสนับสนุนจากคนรอบตัวนี้มีความหมายมากกว่าการขายโคล่าได้เยอะๆ อีก ซึ่งตอนที่ทำธุรกิจอื่นก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีเรื่องราวแบบนี้”

หลายปีก่อนหน้านี้เธอเคยรับน้ำผึ้งขม (Bitter Honey) มาขายในตลาดฟาร์เมอร์มาร์เก็ต เพราะว่าเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ตอนนั้นตลาดฟาร์เมอร์มาร์เก็ตกำลังได้รับความนิยมมาก มีคนมาเดินหาซื้อวัตถุดิบแปลกๆ เต็มไปหมด แต่แล้วพอตลาดซาไป ธุรกิจก็เลยซบเซาไปด้วย

“ตอนนั้นแม่ยังบอกว่าเราดูทรมานมากกับการต้องขายน้ำผึ้งขม” กิฟที่หัวเราะได้ตอนนี้บอกเลยว่าตอนนั้นเธอก็หัวเราะไม่ค่อยออก

และก่อนหน้าน้ำผึ้งขม เธอก็เคยมีประสบการณ์ขมๆ กับการ์ดป๊อปอัพ “ตอนนั้นคิดว่ามันสวย คนน่าจะชอบ น่าจะขายได้ ก็เลยซื้อมาเยอะเลย แต่เอาเข้าจริงก็ขายได้น้อยมาก เพราะคนไทยไม่ได้มีวัฒนธรรมเขียนการ์ดเหมือนยุโรป ก็เลยไม่มีคนซื้อ เขาไม่รู้จะซื้อไปทำไม” การ์ดป๊อปอัพกองโตกลายเป็นบทเรียนที่ยังถูกเก็บไว้ข้างตู้อยู่จนถึงทุกวันนี้

aircraft แบรนด์ของนักปรุงคราฟต์โคล่าที่จริงจังจนขายได้ราคาสูงกว่าน้ำอัดลมธรรมดา 10 เท่า

จากสองธุรกิจที่เล่ามา การทำ aircraft ของกิฟแตกต่างตรงที่เธอไม่ได้เลือกทำด้วยเหตุผลเพราะอยากหาเงินมาใส่กระเป๋า แต่เป็นเหตุผลที่อยากหาอะไรมาเติมใจ แล้วมันก็ทำให้เธอพบว่า เมื่อคนเราตั้งใจจะทำอะไรอย่างหมดจิตหมดใจ ก็มีคนรอจะสนับสนุนอยู่เต็มไปหมด แค่เพียงเราต้องเปิดรับพวกเขาเข้ามาร่วมวงด้วย

การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำด้วยตัวคนเดียว หรือเชื่อความคิดของตัวเองไปเสียทั้งหมด และการทำตามแบบที่เคยมีคนทำสำเร็จมาแล้วก็ไม่ใช่ทางออกเช่นกัน

“การเปิดรับคำแนะนำหรือความคิดเห็นจากคนอื่นไม่ใช่ว่าจะทำให้ธุรกิจที่เราตั้งใจเปลี่ยนไป แต่มันจะทำให้เรารอบคอบมากขึ้น เห็นปัญหาและโอกาสมากขึ้น เพราะสุดท้าย ก็ต้องเป็นเราเองนี่แหละที่ตัดสินใจว่าเราอยากจะทำแบบไหน”

“เราเคยเจอคนที่เข้าใจว่าคราฟต์โคล่าคือน้ำโซดาธรรมดาๆ ตอนนั้นฟังแล้วท้อ แต่เราก็ไม่หยุดนะ เพราะเรารู้ว่าคราฟต์โคล่ามันไม่ใช่น้ำโซดาธรรมดา โชคดีที่ในที่สุดได้มาเจอคนที่เข้าใจ” กิฟแนะนำให้เรารู้จักกับเดีย-ธนัฏฐา โกสีหเดช และแก้ม-ภิรญา รวงผึ้งทอง จาก The Contextual ลูกค้าคราฟต์โคล่ารุ่นบุกเบิกและที่ปรึกษาในโครงการของ TCDC 

“เราไม่ใช่เชฟ ไม่ใช่นักการตลาด ไม่มีประสบการณ์ทั้งเรื่องทำสูตรและเรื่องทำธุรกิจ แต่เดียและพี่แก้มเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า ช่วยคิดเรื่องการตลาด ทั้งให้การบ้าน ให้กำลังใจ ช่วยติดตามผล มันช่วยได้มากๆ สำหรับคนที่จับต้นชนปลายไม่ถูก ทำให้เราได้ธุรกิจแบบที่เราอยากจะได้จริงๆ ไม่จำเป็นต้องไปทำตามๆ ใคร แต่เจอวิธีที่จะเหมาะกับเรามากที่สุด”

ความชื่นใจจากน้ำอัดลมกระป๋องนั้นเร็วทันใจและดีงาม 

แต่ถ้าจะให้หาความชื่นใจจากงานคราฟต์มันคงจะต้องรอสักหน่อย 

คราฟต์โคล่ากว่าจะอร่อยต้องบ่มให้ได้ที่ ต้องทำทีละแก้ว ชิมแล้วได้ความชื่นใจหายเหนื่อยไปเต็มๆ คำ จะเรียกว่าเวลาและการรอคอยเป็นส่วนประกอบหนึ่งของความชื่นใจก็คงไม่ผิดนัก แต่ถ้ากรอบของเวลาเราตั้งไว้ที่ความสัมพันธ์แบบถาวร การจะหาความสำเร็จให้ aircraft มันก็คงไม่ได้จะต้องรีบร้อนอะไร 

อยากลองดื่ม aircraft Cola กันแล้วใช่ไหม ไปโดนเครื่องดื่มสุดคราฟต์นี้กันได้เลย ที่ร้าน Roastology ศาลาแดงซอย 1 นะ 


Lesson Learned

  1. เมื่อคิดได้แล้วก็ลองทำเลย ถ้ามัวแต่รอมันจะไม่ได้ทำ
  2. แม้เราเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ จงหาตัวช่วยที่เข้าใจ อาจจะใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาหรือหน่วยงานที่มีบริการนี้ แต่ที่ปรึกษาธุรกิจทุกเจ้าก็ไม่ได้เหมาะกับธุรกิจเรา ต้องหาคนที่เหมาะให้เจอและอย่าท้อแท้ไปเสียก่อน
  3. การจะเปลี่ยนสิ่งที่รักมาเป็นธุรกิจ เราต้องสร้างคุณค่าของสิ่งนั้นจนมั่นใจว่าจะมีคนมายอมจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งนี้
  4. สินค้าที่ดีสำคัญมากพอๆ กับเรื่องเล่า อย่ามัวแต่สนใจสร้างเรื่องเล่าให้แบรนด์ จนเบียดบังเวลาและทรัพยากรที่ควรจะเอาไปพัฒนาตัวสินค้าให้ดี
  5. ถ้ารู้ว่าทำอะไรไม่เก่ง ก็จงเพียรทำซ้ำๆ เรียนรู้จากความผิดพลาดแล้วเปลี่ยนให้เป็นความเชี่ยวชาญ

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2