15 กุมภาพันธ์ 2022
23 K

เรียนหมอ 1 คืนมันเป็นยังไง 

เรื่องเล่าห้องผ่าอาจารย์ใหญ่คณะแพทย์ 

เรื่องเล่าสุดยอดวิชาท่องจำในคณะแพทย์ 

เรื่องเล่าท้าชาวอินเดียแข่งชีวะครั้งแรก 

นี่คือความลับของน้องคะแนนที่ 1 ประเทศชีวะ 2 ปีซ้อน 

เบื้องต้นคือส่วนหนึ่งของชื่อคลิปในแชนแนล aimmuno โดย เอม-ธนรัชต์ ปฏิญญาศักดิกุล นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้แบ่งเวลาจากตารางเรียนที่แน่นไม่แพ้คณะใดแน่นมาเป็นครีเอเตอร์ ตั้งกล้องไลฟ์ทุกสัปดาห์ แบ่งปันความรู้ทางชีววิทยาและประสบการณ์การเรียนทั้งตอน ม.ปลาย และในคณะแพทย์ จากนั้นว่าที่คุณหมอก็จะคัดสรรคลิปวิดีโอซึ่งได้ ‘คุณค่า’ ตามมาตรฐานของตนขึ้นไปอยู่บนยูทูบ ซึ่งแชนแนลของเขาเพิ่งฉลองแสน Subscribers ไปหมาด ๆ

ต่อจากนี้คือบันทึกบทสนทนาระหว่างเรากับอดีตเด็ก ม.ปลาย ที่เคยไปเป็นผู้แทนศูนย์ชีวะโอลิมปิกระดับชาติ อีกทั้งครองรางวัลในการแข่งขันตอบปัญหาทางวิชาการของมหาวิทยาลัยชื่อดังมาแล้วหลายรายการ 

เพราะเคยสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นดั่งฝันของเด็กสายวิทย์มาก่อน เขาจึงเลือกนำเรื่องราวเหล่านั้นมา ‘ส่งต่อ’ เพื่อให้น้อง ๆ รุ่นหลังได้เข้าใกล้ความฝันยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกัน ก็ยังเลือกหยิบบาดแผลทางการศึกษาที่ตกสะเก็ดจนหายดีแล้วมาเผยแบบหมดเปลือก ด้วยความหวังว่าจะไม่มีใครต้องช้ำใจเพราะเรื่องเช่นนั้นอีก

เป็นการสนทนาเกือบ 1 ชั่วโมงที่เราได้ยินคำว่า ส่งต่อ คุณค่า และเป็นประโยชน์ รวมกันเกินหลายสิบครั้ง จนมั่นใจว่านี่คือชุดคำที่สะท้อนความตั้งใจจริงของนักศึกษาแพทย์พ่วงตำแหน่งครีเอเตอร์คนนี้ 

aimmuno แชนแนลของ นศ.แพทย์ ที่เล่าเรื่องหมอ ๆ ให้สนุก-ง่าย ไม่ใช่เด็กวิทย์ก็ฟังได้

จากเด็กชายสู่นายเอม เปลี่ยนวิถีชีวิตเพราะสอบไม่ติดเตรียมอุดมฯ 

หากย้อนกลับไปไกลกว่าจุดที่ประวัติการศึกษาของเอมจะสวยงามตามครรลอง ในสมัย ม.ต้น เขาคือคนที่ใช้เวลากว่า 2,500 ชั่วโมงใน 1 ปีไปกับการเล่นเกม ไม่ต้องอธิบายละเอียดก็พอจะเดาได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่แฮปปี้ขนาดไหน 

แต่เมื่อถึงคราวต้องใช้ทักษะทางวิชาการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียน ม.ปลาย นายเอมจึงตระหนักได้ว่าอาวุธที่ตนมีเป็นรองคู่ต่อสู้อยู่หลายขุม แม้จะผิดหวังเพราะต้องโบกมือลาโรงเรียนในฝันอย่างเตรียมอุดมศึกษาไป แต่นั่นกลับเป็นจุดที่ทำให้เขาได้ปะติดปะต่อความคิดใหม่ขึ้นมาในสมอง 

“ผมสอบเตรียมอุดมไม่ติดครับ ตอนนั้นเฟลเลยนะ แต่มันเป็นความเฟลที่ผมสมควรได้รับ ชีวิตตอน ม.ต้น ของผมไม่ได้ออกแบบมาให้เป็นคนขยันหรือมีศักยภาพมากพอสำหรับสอบติดโรงเรียนนั้น ถ้าผมเข้าไปได้ต่างหากล่ะครับ มันจะเป็นสิ่งที่ผิดมหันต์และไม่ยุติธรรมกับคนที่เขาเตรียมตัวมาดีกว่าเรา” เอมเล่าถึงความผิดหวังครั้งนั้น

“แล้วผมก็กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า หลังจากนี้เป็นต้นไป ถ้าจะลองขยันสุดชีวิต Max Potential ที่เราทำได้จะเป็นยังไง และอีกอย่างหนึ่งคือ ผมเชื่อว่าถ้าเราอยากจะเป็นคนกลุ่มไหน ให้เข้าไปอยู่ใกล้กับคนกลุ่มนั้น” 

ซึ่งกลุ่มคนที่เอมเลือกอยากจะไปอยู่ด้วย คือกลุ่มนักเรียนชีววิทยาในค่ายโอลิมปิกนั่นเอง

aimmuno แชนแนลของ นศ.แพทย์ ที่เล่าเรื่องหมอ ๆ ให้สนุก-ง่าย ไม่ใช่เด็กวิทย์ก็ฟังได้

ชีววิทยา-แพทย์ วิชาและอาชีพที่ส่งต่อบางสิ่งให้ผู้อื่นได้มาก 

เราถามเอมว่าทำไมถึงตกลงปลงใจให้กับชีววิทยา หนึ่งในวิชาที่อดีตเด็กสายวิทย์อย่างเราทราบถึงกิตติศัพท์ว่าบรรจุเนื้อหาไว้มากมายไม่รู้จบ เขาจึงถามกลับมาว่า “พี่เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมนอนเยอะแต่ก็ยังง่วง ทำไมนั่งในห้องหนาว ๆ แล้วถึงปวดฉี่บ่อยขึ้น เหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางชีววิทยาทั้งหมด เป็นวิชาที่เรียนแล้วตอบคำถามหลาย ๆ อย่างในชีวิตของเราได้ ยิ่งเรียนแล้วเหมือนเราได้รู้เรื่องรอบตัวมากขึ้น ซึ่งวิชาอื่นก็ตอบได้นะ แต่ชีววิทยาตอบได้ชัดที่สุด ผมก็เลยเลือกสิ่งนี้โดยไม่ลังเลครับ” 

เมื่อถึงคราวต้องเลือกเส้นทางอาชีพ เอมเอาความแน่วแน่และความรู้ทางชีววิทยาเป็นตัวตั้ง แล้วประมวลผลหาอาชีพที่จะตอบโจทย์ในชีวิตของเขาได้ชัดเจนที่สุด นั่นคืออาชีพที่ส่งต่อบางสิ่งไปสู่คนหมู่มาก ผลลัพธ์ที่ได้จึงสรุปที่คณะแพทยศาสตร์ แม้ว่านั่นจะไม่ใช่ความฝันตั้งต้นของเขาก็ตาม 

“ตอนเด็ก ๆ ผมอยากเป็นนักบินครับ ผมอยากขับเครื่องบิน F16 ด้วย เริ่มอยากเป็นมาตั้งแต่อนุบาล จริงจังถึงขนาดโหลดโปรแกรม Simulator มาศึกษาเรื่องเครื่องบินพาณิชย์จริงจังตั้งแต่ทฤษฎีจนถึงวิธี Take-off ขอพ่อแม่ซื้อ Joystick อันใหญ่ ๆ มาไว้ที่บ้านก็มี” อดีตเด็กชายผู้ฝันอยากบินได้เล่าความแน่วแน่ตั้งแต่วัยอนุบาลให้ฟัง พร้อมทำท่าและยกตัวอย่างบทสนทนาจริงที่ฝึกฝนจนคล่องแคล่ว 

“แต่พอมา ม.ปลาย ผมรู้สึกเสียดายความรู้ชีวะที่เรียนมา เรามีโอกาสได้เจอกับคนเก่ง ๆ เจออาจารย์อันดับต้น ๆ ของประเทศ และอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาจะทำอะไร ผมมักมองว่าสิ่งนั้นจะสร้างอิมแพคให้กับคนได้กว้างแค่ไหน ถ้าเป็นนักบินจะทำได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเป็นแพทย์ สิ่งที่ผมมีสามารถส่งต่อไปถึงรุ่นน้องหรือคนรุ่นหลังได้มากกว่า ก็เลยเลือกเรียนแพทย์ครับ” 

aimmuno แชนแนลของ นศ.แพทย์ ที่เล่าเรื่องหมอ ๆ ให้สนุก-ง่าย ไม่ใช่เด็กวิทย์ก็ฟังได้

โปรดเรียกฉันด้วย aka จากคำศัพท์ชีวะ 

ด้านหนึ่ง เอมคือนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 ผู้กำลังขะมักเขม้นกับอยู่กับการเรียนทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในคณะแพทยศาสตร์ที่ขึ้นชื่อว่าหนักหนาไม่แพ้ใคร แต่ความพิเศษของชายคนนี้ก็คือ เขาจัดสรรตารางชีวิตแสนยุ่งเหยิงมาเป็นครีเอเตอร์ ทำคอนเทนต์แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตที่ตนเคยประสบทั้งร้าย-ดี สุข-ทุกข์ สมหวัง-ผิดหวัง ผ่านแชนแนลที่ชื่อว่า ‘aimmuno’ ซึ่งถ้าคุณเคยได้เปิดอ่านตำราชีววิทยาสักครั้ง คงจะเผลอร้องอ๋อให้กับชื่อนี้โดยที่ไม่รู้ตัว 

“ชื่อนี้ได้มาจากตอนเข้าค่าย สอวน. ครับ ทุกคนที่นั่นจะมี aka ของตัวเอง ซึ่งตั้งโดยเพื่อนหรือรุ่นพี่ในค่าย เป็นการนำชื่อไปบวกกับศัพท์ชีวะคำใดคำหนึ่ง เช่น ชื่อนาย A นำไปจับกับกระดูก Astragalus จะได้ชื่อในค่ายว่า A-tragalus หรือชื่อแคนกับกระดูก Calcaneus กลายเป็น Can-caneus ตอนนั้นผมอยู่ในโมเมนต์ที่เห้ย ทำไงดี กูยังไม่มี aka เป็นของตัวเอง ก็เลยมีเพื่อนคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า เอมเหรอ Aim-munoglobulin ยังไงล่ะ ผมชอบมากและใช้ชื่อนี้มาตลอด พอมาเป็นชื่อช่องก็อยากให้สั้นและจำง่ายขึ้น เลยตัดเหลือว่า aimmuno” 

เจ้าของแชนแนลเล่าย้อนที่มาของชื่อให้ฟัง และฝากอธิบายมายังผู้อ่านที่อยู่ห่างไกลวงการนี้ว่า คำว่า aimmuno ออกเสียงคล้ายกับคำว่า Immunoglobulin ซึ่งเป็นชื่อทางการของคำว่า Antibody หรือสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมนั่นเอง 

และนี่คือหนึ่งประสบการณ์ล้ำ ๆ ที่แม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นเด็กค่ายฯ ก็รู้เรื่องอินไซต์เช่นนี้ได้จากปากชายคนนี้ 

ครีเอเตอร์ผู้ตั้งใจกระจายคำว่า ‘โอลิมปิก’ ไปสู่ทุกภูมิภาค

เพราะมีปณิธานแน่วแน่ว่าอยากส่งต่อสิ่งต่อสิ่งที่ดีสู่ผู้อื่น ประกอบกับแรงสนับสนุนจากพี่ชายร่วมสายเลือดอย่าง นายอาร์ม CastBy9Arm แคสเตอร์อารมณ์ดีผู้โด่งดังในโลกเกมและไอที ช่วงแรกเอมจึงเปิดช่องและอัปโหลดคอนเทนต์สอนชีวะ ม.ปลาย ด้วยคอนเซ็ปต์ดี ๆ อย่าง Free for All 

“จริง ๆ ช่องนี้เริ่มต้นทำมาหลายปีแล้วครับ เริ่มจากการอัปคลิปสอนชีวะฟรี ตอนนั้นผมอยู่ ม.6 หัวเกรียน ๆ หน้ามัน ๆ ตั้งใจแค่ว่าเรามีบางอย่างที่อยากส่งต่อสู่คนอื่น ก็เลยหยิบเนื้อหาชีวะที่เข้าใจยากที่สุดใน ม.ปลาย เอามาย่อยอธิบายเป็นคลิปละ 2 – 3 ชั่วโมง ด้วยเป้าหมายว่า ถ้าดูคลิปพวกนี้จบจะเข้าใจ หมดข้อสงสัย ซึ่งจุดเริ่มต้นเลยของการทำคลิปสอนฟรีแบบนี้ เพราะผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่เก่งมาก แต่เขาไม่มีโอกาสได้เรียนพิเศษหรือติวเพิ่ม และไม่มีโอกาสได้ดึงศักยภาพของตัวเองออกมามากเท่าที่ควร ผมก็เลยตั้งใจทำคลิปประเภทนี้ขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงเนื้อหายาก ๆ นี้ได้ง่ายขึ้น” น้องชายนายอามบอกเราอย่างนั้น 

ส่วนคอนเทนต์ประเภทเรื่องเล่า เอมเพิ่งมาเริ่มอัปโหลดจริงจังได้เมื่อราว 7 เดือนก่อน สืบเนื่องมาจากมองเห็นจุดอับบางประการของวงการการศึกษาไทย ซึ่งเขาคิดว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ตนมี จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้ชมได้ไม่มากก็น้อย

“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหามาตลอดสำหรับการสอบคัดเลือกเข้าค่าย สอวน. คือมีคนสอบติดน้อยมาก บางคนก็ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวยังไง ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าสนามสอบโอลิมปิกมีความเป็น Centralize มีเด็กที่มีความรู้ มีความพร้อม และมีคอนเนกชันที่จะเข้าถึงเยอะ แต่ส่วนมากมักเป็นเด็กภาคกลาง ภาคเหนือกับใต้รองลงมา แต่สำหรับภาคอีสาน แหล่งความรู้ การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ยังนับว่าน้อย เรายังไม่รู้ว่าจะต้องคุยกับใคร รุ่นพี่มีใครบ้าง 

“ผมก็เลยอยากเป็นคนที่ช่วยหยุดความยากลำบากตรงนี้ ทำให้คำว่าโอลิมปิกมันกระจายตู้ม พูดคำนี้แล้วไปทั่วเลย เด็ก ๆ ที่สนใจสนามนี้ไม่ต้องมานั่งเครียดว่าจะหารุ่นพี่จากไหน ต้องถามใครดี ผมอยากเป็นตัวกลางระหว่างพวกเขา อยากเปลี่ยนวิธีเข้าถึงให้มันง่ายขึ้น เหมือนว่าถ้านึกถึงโอลิมปิก ก็มีพี่เอมเป็นตัวเชื่อมให้ เด็กทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเนื้อหา ประสบการณ์ และวิธีการเตรียมตัวได้อย่างเท่าเทียมกัน” ครีเอเตอร์ผู้ตั้งตนเป็นเสาสัญญาณกระจายประสบการณ์เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังเกินวัย 20 ต้น ๆ ไปไกล 

เรื่องเล่าไว้ฟังตอนกินข้าวเย็น

จากคอนเทนต์สอนชีวะฟรีให้น้อง ม.ปลาย เติบโตสู่คลิปไลฟ์เล่าประสบการณ์ในค่ายโอลิมปิกลุกลามใหญ่โตไปจนถึงความตั้งใจอยากให้เรื่องเล่าของตนสามารถเปิดคลอฟังไปในระหว่างกินข้าวเย็น ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ยินได้ฟังทั้งประสบการณ์การเรียนคณะแพทย์ รวมถึงความรู้ชีววิทยารอบตัวที่ย่อยและปรุงให้ง่ายแต่ยังได้สาระครบ ที่สำคัญ ทุกคลิปในแชนแนลนี้ต้องผ่านมาตรฐานที่ว่า

“ทุกสิ่งที่จะขึ้นไปอยู่บนช่องผมได้ ต้องเป็นสิ่งที่มีคุณค่า คนดูแล้วต้องได้อะไร วิธีการคือ เราจะไลฟ์คุยกันผ่านเพจ It’s aimmunoglobulin ทุกคืนวันเสาร์ เสร็จแล้วก็จะเลือกตัดบางคลิปเพื่ออัปขึ้นยูทูบ แต่ก็มีหลายคลิปที่ทำแล้วแต่ไม่ได้อัป เพราะพอกลับมาพิจารณาคุณค่าของมัน เราตั้งคำถามว่า Key Message ของคลิปนี้คืออะไร คนดูแล้วจะได้อะไร มันเป็นประโยชน์ไหม หรือเอาฮาอย่างเดียว ถ้าไม่ตอบโจทย์เหล่านี้ คลิปนั้นก็ไม่สมควรอยู่บนช่องของผม แต่ถ้าครบถ้วนแล้วก็ปล่อยเลย ไม่ได้มาสนใจมอนิเตอร์ว่าได้กี่วิวแล้ว” เราในฐานะผู้ที่กดติดตามพร้อมสั่นกระดิ่งให้ช่องนี้เห็นด้วย!

ไม่ว่าจะเป็นคลิปเรียนหมอ 1 คืนมันเป็นยังไง ซึ่งทำสถิติมีผู้ชมสูงถึง 7.4 แสน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565) เรื่องเล่าห้องผ่าอาจารย์ใหญ่คณะแพทย์ เรื่องเล่าท้าชาวอินเดียแข่งชีวะครั้งแรก หรือแม้แต่คลิปที่ดูจะเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างการเรียนขับรถครั้งแรก ทั้งหมดล้วนมีคำสำคัญโดดเด่นออกมา นั่นคือคุณค่าและประโยชน์ ทั้งประสบการณ์ที่คนนอกวงการอย่างเราไม่เคยรู้ ไปจนถึงความรู้สึกของการมีส่วนร่วม ว่าครั้งหนึ่งในวัยนั้น ทั้งคุณ เรา หรือเขา ต่างก็ต้องเคยผ่านมันมาก่อน 

ตั้งใจขนาดนี้ มีคลิปที่ไม่เป็นตามที่หวังไหม-เราถาม

“มีสิครับ (ยิ้ม) คลิปเรื่องเล่าห้องผ่าอาจารย์ใหญ่คณะแพทย์ คือคลิปที่ตอนปล่อยไปในแรก ๆ ได้ไม่กี่พันวิว แต่ผมไม่รู้สึกแย่เลยนะ เพราะเราเชื่อว่ามันมีคุณค่าจริง ๆ และคุณค่าจะค่อย ๆ เผยออกมาให้คนเห็นต่อไป ผมก็ปล่อยมันไว้เลย ถึงตอนนี้ก็มีคนดูประมาณ 3 แสนแล้วครับ” 

อ่านมาถึงตรงนี้ หากใครกำลังจะเปิดยูทูบเสิร์ชหาช่องของเอม แต่กลัวจะต้องเจอกับสารพัดศัพท์เทคนิคหรือเรื่องชวนขมวดคิ้ว ขอบอกว่าพับความกังวลทั้งหมดไปได้ เพราะทักษะการใช้ภาษาและลีลาการพูดของเอมถือว่าเด็ดขาด ประหนึ่งว่าถ้าเขาไม่เป็นหมอ ก็เบนสายไปเป็นพิธีกรหรือนักพูดได้สบาย ๆ ส่วนเรื่องศัพท์เทคนิค เป็นความตั้งใจของเขาเองที่จะหยิบยกออกไปให้ไกลจากเรื่องเล่า เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เหมือนเป็นพี่ที่เล่าเรื่องให้น้องฟัง 

ความสำเร็จสูงสุด คือการส่งให้คนฟังไปได้ไกลกว่า

แม้ว่าช่อง aimmuno จะเป็นเพียงปลาตัวน้อยที่ค่อย ๆ ในเติบโตท่ามกลางมหาสมุทรคอนเทนต์

แต่เราว่าก็คงไม่เร็วเกินไป หากจะเอ่ยถามถึงจุดสูงสุดที่เขามองไว้ให้กับสิ่งที่ปลุกปั้นมาด้วยหนึ่งสมองและสองมือ 

เริ่มแรกเขาว่ายังไม่ได้มองไกลถึงขั้นนั้น แต่หลังจากค่อย ๆ กลั่นกรองความเชื่อบวกความตั้งใจของตน ผลลัพธ์จึงเริ่มเริ่มชัดขึ้นถนัดตา 

“ผมเชื่อว่าคนเราเวลาเรียนรู้อะไรสักอย่าง สิ่งที่เรียนรู้ได้ดีกว่าการทำผิดเอง คือการเรียนรู้จากสิ่งที่คนอื่นทำผิดมาแล้ว ด้วยเหตุนี้ ผมจึงไม่ได้เล่าแค่ด้านดีของตัวเอง แต่ความผิดพลาดก็เป็นสิ่งที่เราเลือกนำมาเล่าด้วย เช่น ตอนนั้นกูสะกดผิดว่ะ แม่งพลาดคะแนนไปเลย หรือแม้กระทั่งการสอบเตรียมฯ ไม่ติด ไม่รู้ว่าจะมีใครบ้าเล่าเรื่องผิดพลาดของตัวเองให้คนอื่นฟังไหมนะ (หัวเราะ) แต่สำหรับผมมันเหมือนการเอามากางให้เขาดูว่า คุณก็เรียนรู้และก้าวผ่านมันไปได้เหมือนกัน 

“ผมอยากให้เขาฟังเรื่องของผมแล้วเก่งกว่า ไปได้ไกลกว่า ซึ่งมีบางคนกลับมาบอกว่าเขาทำได้แล้ว จริง ๆ มีคนบอกว่าคลิปผมช่วยทำให้เขากลับมาขยัน มีกำลังใจมากขึ้น ไม่ใช่แค่กับการเรียน แต่รวมถึงการทำงานด้วย 

“เวลาได้อ่านคอมเมนต์ว่า ผมสอบติดทุนต่างประเทศแล้วครับพี่เอม หรือหนูอยู่สถาปัตย์นะ แต่ก็ฟังเรื่องโอลิมปิกชีวะของพี่ได้ คนทำงานบัญชีมาบอกว่า อ๋อ หมอเขาเรียนกันแบบนี้เหรอ มันทำให้เรารู้สึกว่าได้ส่งต่อแล้ว ความตั้งใจของเราไปถึงคนหลากหลายกลุ่มตามที่หวังแล้ว 

“นั่นอาจจะเรียกว่าเป็นความสำเร็จแล้วก็ได้นะครับ” ครีเอเตอร์ตรงหน้าเล่าด้วยสีหน้าและแววตาเปี่ยมสุข ซึ่งเป็นรอยยิ้มที่กว้างกว่าตอนเราแสดงความยินดีที่เขาเพิ่งได้โล่เงินมาครองเสียอีก

เรื่องเล่าของนักศึกษาแพทย์และอดีตเด็กโอลิมปิกวิชาการ ผู้พาเราเข้าถึงโลกการเรียนหมอและชีวะด้วยทักษะการเล่าที่สนุก

อยากเป็นที่จดจำด้วยคำว่า ‘รุ่นพี่’

คำถามสุดท้ายก่อนที่เราจะปล่อยให้เอมกลับไปจัดการตารางชีวิตในช่วงนี้ที่เขายอมรับว่าหนักหนาเอาเรื่อง เราถามว่าที่นายแพทย์ตรงหน้าว่า หากเลือกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่จะขึ้นมาคู่กับ ธนรัชต์ ปฏิญญาศักดิกุล อันเป็นชื่อ-นามสกุล ในยามเสิร์ชบนกูเกิล เขาอยากให้คำนั้นคืออะไร 

‘นายแพทย์ เด็กค่ายโอลิมปิก ครีเอเตอร์ ยูทูบเบอร์ aimmuno เทพชีวะ’ และอีกมากมายในหัวที่เราคาดเดาเอาไว้ระหว่างรอคำตอบ 

“รุ่นพี่ครับ” เขาตอบกลับเราด้วยน้ำเสียงแน่วแน่เช่นเคย 

“อยากเป็นรุ่นพี่คนหนึ่งที่ส่งต่อเรื่องราวให้กับรุ่นน้อง ผมคิดว่ามันปรับเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะนักศึกษาแพทย์ตอนนี้ หรือตอนเป็นผู้ใหญ่ ผมก็ยังอยากจะทำหน้าที่นี้ต่อไปครับ” นายเอมตอบคำถามสุดท้ายด้วยสายตามุ่งมั่น พร้อมกับฉากหลังเป็นกระดานไวท์บอร์ดที่ร่างสคริปต์คอนเทนต์เตรียมไลฟ์ในค่ำนี้ 

เรื่องเล่าของนักศึกษาแพทย์และอดีตเด็กโอลิมปิกวิชาการ ผู้พาเราเข้าถึงโลกการเรียนหมอและชีวะด้วยทักษะการเล่าที่สนุก

One Day with aimmuno

  1. เวลาตื่น-เข้านอน : ตื่น 9 โมง เข้านอนตี 2 – 3 
  1. ช่วงเวลาอ่านหนังสือ : 3 ทุ่มจนถึงตี 3 นอกนั้นจะเรียนและทำงาน 
  1. คิดคอนเทนต์ตอนไหน : ใน 1 วัน จะมีเวลาว่าง 1 ชั่วโมงให้ตัวเอง บางทีก็นั่งเฉย ๆ บางทีนั่งหน้ากระดานไวท์บอร์ด ถ้าคิดคอนเทนต์ได้ก็จะรีบจดไว้ 
  1. ขอตัวอย่างวันที่ตารางชีวิตพังสุด ๆ : (หัวเราะนานมาก) ช่วงนี้เลยครับ กำลังเตรียมสอบ NL (National Licensing Examination) บวกกับวางแผนโปรเจกต์สตาร์ทอัพ และต้องราวน์วอร์ดด้วย 
  1. วันที่พังนี่ถึงขนาดไหน : มีวันที่เหนื่อยมากถึงขั้นทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากตื่นมาแล้วอยู่บนเตียง เปิดยูทูบ เปิด Netflix แล้วก็เปิดยูทูบ แล้วก็แฮปปี้ แค่นี้จนหมดวัน รู้สึกผิดนะ แต่กูก็ทำอะไรไม่ได้เพราะกูไม่ไหวแล้ว และก็นึกไปถึงคาถาจากคุณแม่ว่า บางทีก็ต้องรู้จักให้อภัยตัวเองและขอบคุณตัวเองบ้าง โอเค พรุ่งนี้เริ่มใหม่ รู้สึกผิดต่อตัวเองได้แต่อย่านาน

Writer

สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี

สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี

นักพิสูจน์อักษรวัยเตาะแตะที่มักจะหลงรักพระรองในซีรีส์เกาหลี และอยู่ระหว่างรักษาระยะห่างจากชานมไข่มุก