26 กุมภาพันธ์ 2020
5 K

‘เชื้อนี้ท่านได้แต่ใดมา’ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโคลงศรีปราชญ์แต่อย่างใด แต่เป็นชื่อเพจเฟซบุ๊กที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อโรครอบตัวที่เหมือนไกลตัวให้เป็นเรื่องใกล้ตัว

‘เราไม่เสิร์ฟหมูมีเดียมแรร์นะครับ เชฟขอไม่ชิม’

‘ตะปูตำแนะนำให้มาพบแพทย์นะครับ’

‘กินไข่ได้ตัวอ่อน กินตัวอ่อนได้ตัวแก่’

‘ปูน้ำจืดกินดิบไม่ได้’

‘อย่าปล่อยให้คนท้องไปเล่นกับแมวเยอะนะครับ’

‘Introduction to โคโรน่าไวรัส’

หัวข้อเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาในเพจที่แอดมินพาเราไปทำความรู้จัก เข้าใจ พร้อมเรียนรู้วิธีการป้องกันนานาโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากเชื้อโรคเบื้องต้น ด้วยภาษาที่ง่ายแบบไม่ต้องเรียนแพทย์ก็เข้าใจได้

กัน-กษิดิศ ป้องขันธ์ นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิยามเพจของตัวเองว่าเป็นเพจให้ความรู้เรื่องเชื้อโรคแก่เพื่อนนิสิตแพทย์ โดยนิสิตแพทย์ที่เผอิญยังไม่เป็นโรคซึมเศร้า เขามองเห็นความสำคัญและความอันตรายของเชื้อโรครอบตัว จึงตัดสินใจสร้างเพจนี้เพื่อให้ความรู้จนมีคนติดตามกว่า 30,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน และส่วนใหญ่เป็นคนทั่วไปมากกว่าเพื่อนนิสิตแพทย์อย่างที่ตั้งใจไว้ตอนแรกด้วยซ้ำ

กัน-กษิดิษ ป้องขันธ์

วงจรชีวิตของเชื้อไวรัสที่เป็นข่าวใหญ่ของสื่อทุกสำนักในตอนนี้นำพาเรามารู้จักเพจของกษิดิศ เราเจอกับเขาในเย็นวันหนึ่ง คุยกันเรื่องเพจ ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อโรครอบตัวที่เราไม่เคยได้ยินชื่อ ไปจนถึงเชื้อที่ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านคุ้นหูคุ้นเคยมาโดยตลอด เพียงแต่เราอาจไม่เคยตั้งคำถามหรือสงสัยเกี่ยวกับเชื้อโรคเหล่านี้ว่าเกิดจากอะไร เป็นเชื้อโรคประเภทไหน ส่งผลอย่างไรบ้าง และคำถามสำคัญที่กษิดิศคิดไว้ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้ชื่อเพจในวันนั้นว่า ‘เชื้อเหล่านี้นั้นได้แต่ใดมา’

เพจนี้ท่านได้แต่ใดมา

เพจ ‘เชื้อนี้ท่านได้แต่ใดมา’ เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการเรียนของเหล่านิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 5 ที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด ความกังวล และอาจนำมาสู่โรคซึมเศร้าได้ นิสิตหลายคนหันมาเปิดเพจโรคซึมเศร้าเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่เพื่อนนิสิตแพทย์และบุคคลทั่วไป แต่กษิดิศกลับมีความสนใจที่ต่างออกไป เขาสนใจเรื่องเชื้อโรครอบตัวที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจนัก

“ยิ่งผมเรียนอยู่ปีที่สูงขึ้น ผมก็ได้คุยกับคนข้างนอกมากขึ้น จึงเกิดคำถามว่าเราจะอธิบายรูปแบบความคิดต่างๆ แบบแพทย์ให้คนที่ไม่ได้เรียนแพทย์เข้าใจได้อย่างไร เพราะเราเรียนตำราภาษาอังกฤษ เวลาคุยก็คุยภาษาไทยคำอังกฤษคำ พอมาพูดให้คนทั่วไปฟัง คนไข้มักจะบอกว่าขอภาษาไทยค่ะคุณหมอ (หัวเราะ) ผมเลยอยากถ่ายทอดความรู้ในภาษาที่คนเข้าใจง่าย และเมื่อเห็นเพจของเพื่อนเลยคิดว่ามันน่าสนใจจัง ตัวเราเองมีความชื่นชอบในเรื่องเชื้อโรคที่ไม่ค่อยเป็นที่สนใจ เลยคิดว่าลองมาเปิดเพจสู้กับเพื่อนมั่งดีกว่า (หัวเราะ)

“ส่วนที่มาของชื่อเพจมันเริ่มต้นในห้องน้ำ วันนั้นเอาโทรศัพท์ไปไถๆ ในห้องน้ำและสร้างเพจหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า ‘เชื้อนี้ท่านได้แต่ใดมา’ ชื่อนี้คือได้มาเดี๋ยวนั้นเลย มันเหมือนกับบทหนึ่งในโคลงของศรีปราชญ์ ‘แหวนนี้ท่านได้แต่ใดมา เจ้าพิภพโลกา ท่านให้’ ก็เลยเอาอันนี้มาเปลี่ยนเป็นคำว่า เชื้อ แทนแล้วกัน (หัวเราะ)”

กัน-กษิดิษ ป้องขันธ์

(เผย) แพร่เชื้อโรค

เพจนี้ไม่ใช่เพจให้ความรู้ทั่วไป แต่เป็นเพจที่ตั้งใจรวบรวมเชื้อโรคที่เจอในห้องเรียนมาอธิบายให้นิสิตนักศึกษาสำหรับการอ่านเตรียมตัวสอบ และให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปด้วยในเวลาเดียวกัน กษิดิศออกแบบเนื้อหาแต่ละบทความให้มีหลายส่วน ทั้งส่วนสำหรับคนทั่วไปที่ใช้คำพูดคำศัพท์ที่เข้าใจง่าย และสำหรับนักศึกษาแพทย์ นอกจากนี้แต่ละบทความยังมีสรุปทั้งสั้นและยาว พร้อมเสริมเกร็ดสาระความรู้ ให้ทุกคนเลือกอ่าน เลือกดูได้ตามชอบตามถนัดอีกด้วย

“แรกๆ ผมก็บังคับให้พวกรุ่นน้องมากดไลก์เพจ (หัวเราะ) แต่พวกเขาก็ไม่ได้มาไลก์เท่าไหร่ กลายเป็นว่าคนธรรมดาทั่วไปชอบเพจเรามากกว่า เลยหันมาให้ความรู้ทั่วไปด้วย

“ผมแบ่งเชื้อโรคภายในเพจออกเป็นสามประเภท หนึ่ง เชื้อโรคที่เจอในข้อสอบ เพื่อเป็นการเตรียมตัวสอบให้กับน้องๆ และเป็นข้อมูลที่คนทั่วไปนำไปใช้ได้ สอง เชื้อโรคที่เราเจอจากคนไข้ในโรงพยาบาล และสาม เชื้อโรคที่มีความน่าสนใจในขณะนั้น อย่างเช่น เรื่องหอยนางรม ตอนนั้นตึกผู้ป่วยมีคนติดเชื้อนี้ มันมาจากหอยนนางรม เมื่อติดแล้วขาเขามีปัญหา และยังเป็นเชื้อที่ติดต่อในคนที่เป็นโรคตับ ผมเลยนำข้อมูลเหล่านี้มาขยี้รวมๆ กัน เขียนด้วยภาษาของผมเอง ซึ่งเพื่อนบอกว่ามันตรงและเข้าใจง่ายดี”

เขาเล่าว่า เชื้อโรคแบบที่ถูกจริตถูกใจลูกเพจมากที่สุดหนีไม่พ้นเรื่องอาหารการกิน ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัว ยกตัวอย่างเช่น หมูดิบ Streptococcus suis ที่ตอบความสงสัยให้เหล่าสาวกซกเล็ก ลาบเลือดได้เป็นอย่างดีว่าทำไมเราทานเนื้อวัวดิบๆ ได้ แต่ทำไมเราถึงทานเนื้อหมูดิบไม่ได้ และเรื่องที่ได้รับความสนใจอันดับสอง คือเรื่องเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส และหนองใน

“ยังมีเชื้อโรคยอดฮิตที่คนมักทักมาถามหลังไมค์ด้วยครับ หลักๆ เป็นปัญหาสุขภาพ บางคนถ่ายรูปส่งมาให้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อรา แผลที่ผิว ช่องปาก คอแดง แล้วถามว่า หมอๆ อันนี้เป็นอะไร จะซื้อยามากินเอง เลยตอบกลับไปว่าผมวินิจฉัยโรคผ่านทางรูปภาพไม่ได้และผมยังเป็นนิสิตแพทย์อยู่ ไม่มีใบอะไรไปรับผิดชอบชีวิตเขา ก็จะแนะนำให้ไปโรงพยาบาลและพบแพทย์แทน ต่อมาก็เป็นคำถามเกี่ยวกับความรู้ทั่วไป คำถามแบบนี้ผมก็พอตอบได้ เช่น ไก่มีเชื้ออะไรทำไมถึงกินดิบไม่ได้ หรือล่าสุดส่งของมาจากจีนจะติดโคโรน่าไหม”

“แล้วติดไหม”

“ไม่ติดครับ อันนี้เป็น Fake News ผมก็พอจะตอบได้”

กัน-กษิดิษ ป้องขันธ์

เพจนี้ไม่รับโฆษณา 

“ขอขอบคุณสำหรับข้อความนะครับ ข้อความนี้เป็นข้อความอัตโนมัติ แอดมินจะกลับมาอ่านอีกทีเมื่อว่างนะครับ เนื่องจากแอดมินยังเป็นนักเรียนแพทย์อยู่ จึงขออนุญาตไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโรคนะครับ ไม่รับงานโฆษณาครับ”

ด้านบนคือข้อความตอบกลับอัตโนมัติจากเพจของนิสิตแพทยศาสตร์ปีที่ 5 ผู้ที่ง่วนอยู่กับการเรียนและการขึ้นวอร์ดตึกผู้ป่วยคนนี้ เพราะอะไรเขาถึงเลือกเป็นแอดมินเพจให้ความรู้เรื่องเชื้อโรคแทนการไปเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง กินข้าว หรืองานอดิเรกสักอย่างที่คนส่วนใหญ่เลือกทำ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้เลยว่า เมื่อเป้าหมายของการทำเพจไม่ใช่เงินจากโฆษณา แล้วเป้าหมายจริงๆ ของการทำเพจนี้คืออะไร

“ตอนแรกมีคนติดต่อมาให้ผมขายครีมอะไรสักอย่าง แต่ผมก็ไม่ได้รับ มันเป็นจริยธรรมของนิสิตแพทย์ที่จะไม่เอาวิชาชีพเราไปทำธุรกิจ”

“แปลว่าทำเพจนี้เพราะอยากทำล้วนๆ” เราถามเขา

“ตอบสนองความต้องการของตัวเองอย่างเดียวเลยครับ แรกๆ ต้องการจะสอนน้องๆ ที่ตอนนี้เริ่มมากดไลก์กันบ้างแล้วหลังจากที่ตอนแรกไปรัดคอมาให้ช่วยไลก์ (หัวเราะ) เลยรู้สึกว่าความตั้งใจแรกเราสัมฤทธิ์ผล ส่วนต่อมาเริ่มมีอาจารย์มาทัก มาช่วยแนะนำว่าเขียนเรื่องนี้ด้วยสิ เราก็ดีใจที่อาจารย์รู้จักเรา และเป็นการเพิ่มความมั่นใจในตัวเองว่าอนาคตเราจะเรียนต่อด้านไหน

“หากพูดถึงภาพรวมในอนาคต ผมก็ยังจะทำเพจแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกสนุกในการสอนและให้ความรู้คนอื่นต่อไป ผมมองว่าเพจเป็นสิ่งที่ไม่ผูกมัด เป็นงานอดิเรกที่เราจะทำในเวลาว่างและเราอยากที่จะทำมันจริงๆ เพราะมันดีต่อทั้งคนไข้และตัวหมอเอง อย่างแรกเลยคนไข้จะมีความรู้พื้นฐานมากขึ้น รู้สิทธิ์ในการตัดสินใจและสิทธิ์ในการรักษาก็จะเป็นของคนไข้มากขึ้น ส่วนต่อมาคนไข้จะมีภูมิคุ้มกันต่อ Fake News และสุดท้ายได้สร้างความเข้าใจระหว่างหมอกับคนไข้ เวลาหมอให้ความรู้ก็จะเข้าใจมากขึ้นเหมือนเราคุยเรื่องเดียวกัน”

เชื้อนี้ท่านได้แต่ใดมา เพจข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ไม่ต้องเรียนหมอก็เข้าใจได้

3 บทเรียนเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ต้องรู้

เมื่อวงจรชีวิตของเชื้อเหล่านี้ได้นำเรามาบรรจบพบกับกษิดิศ ก่อนจากกันในเย็นวันนั้น เราถือโอกาสถามเกี่ยวกับเชื้อโรคที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปเต็มประตู ได้ความเป็นบทเรียนเบื้องต้น 3 ข้อเกี่ยวกับเชื้อโรคส่งท้าย

Lesson 1 การใส่หน้ากากอนามัยพื้นฐาน 101

“อุปกรณ์ป้องกันมันมีหลายอย่างมากครับ หน้ากากอนามัยก็จะมีหน้ากาก N95 หน้ากากอนามัยปกติ หรืออะไรที่มันพิสดารมากกว่านั้น เช่น ชุดสีฟ้าที่ทางการแพทย์เขาใช้กัน ผมขอยกตัวอย่างการทำงานของหน้ากากอนามัยไว้ดังนี้ครับ ถ้าเราเป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย เมื่อใส่หน้ากากอนามัยเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้ติดไวรัสอยู่ หน้ากากอนามัยจะป้องกันไวรัสได้เพียงสิบถึงสามสิบเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับงานวิจัยแต่ละที่ แต่หากเราเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสแล้ว การใส่หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันเชื้อโรคที่จะแพร่ไปสู่คนอื่นได้ถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์

“ส่วนมากในต่างประเทศนิยมแจกหน้ากากอนามัยให้ผู้ป่วยก่อน เพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของคนป่วยเอง สิ่งที่เราควรทำเบื้องต้น คือการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และเมื่อสัมผัสสิ่งของสาธารณะก็อย่านำมือนั้นมาขยี้ตา ขยี้จมูก”

Lesson 2 ยาปฏิชีวนะต้องทานให้หมด

“ยาปฏิชีวนะ หรือ Amoxy ที่คนไข้มักซื้อมากินเองหรือแพทย์จ่ายยาให้ แต่พอหายก็เลิกกิน ตรงนี้คือสิ่งที่เกือบทุกโรงพยาบาลไทยหรือทั่วโลกเลยดีกว่าที่เจอปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยา สิ่งที่ควรทำเวลาแพทย์จ่ายยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะให้ คือเราต้องให้กินให้หมดแผง แต่คนส่วนมากจะเข้าใจผิดว่าพอหายก็หยุดยาได้ไม่ต้องกินต่อ

“สมมติว่าเชื้อโรคในตัวเรามีอยู่หนึ่งร้อยตัว เรากินยาไปสองวันเชื้อตายไปเก้าสิบห้าตัว เหลืออีกห้าตัวที่มันไม่ก่อโรคให้เราเจ็บหรือป่วย แต่เป็นห้าตัวที่ดำรงชีวิตในร่างกายทนต่อยาที่เรากินไปสองวันนั้น แล้วสักวันหนึ่งห้าตัวนี้ก็จะขยายเผ่าพันธุ์เป็นสิบ ยี่สิบ จนมันครบร้อยตัว เราก็จะได้เชื้อโรคใหม่ร้อยตัวที่แข็งแรงขึ้น“ครั้งนี้ยาสองวันก็จะฆ่าไม่ได้แล้ว ต้องใช้ยาที่แรงขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่เราจัดการห้าตัวนี้ได้โดยการกินยาต่อไปจนจบตั้งแต่แรก และถ้าหากเรายังทำตัวเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ สุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของเชื้อตัวนี้ก็จะเป็นเชื้อโรคที่ไม่มียาที่ไหนรักษาได้เลย”

Lesson 3 กินดิบก่อนแล้วถ่ายพยาธิทีหลัง

“กินดิบไปก่อนแล้วถ่ายพยาธิทีหลัง เป็นอีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่บอกกัน เรากินแล้วพยาธิจะเข้าไปในลำไส้ แต่มันไม่ได้อยู่แค่ในลำไส้ อย่างหนอนพยาธิบางชนิดก็เข้าไปอยู่ในตับหรือออกมาอยู่ตามกล้ามเนื้อ

“แน่นอนว่ายาถ่ายพยาธิไม่ได้เข้าไปถึงตรงนั้น ต้องมารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นยาฉีด ซึ่งบางทียาฉีดก็รักษาได้แค่ในช่วงแรก หากผ่านไปนานๆ ก็อาจจะช่วยไม่ได้ หรือถ้ามันไปสร้างรังในร่างกายเราได้แล้ว ก็อาจเกิดปัญหาขึ้นภายหลัง เช่น พยาธิตัวจี๊ดขึ้นสมอง พยาธิตัวตืดขึ้นสมอง เมื่อขึ้นไปในสมองแล้วก็ช่วยอะไรไม่ได้

“ผมคิดว่าถ้าเราเลิกกินไม่ได้ เราก็ต้องหาวิธีให้มั่นใจในวัตถุดิบที่เรากิน ผมเลยเขียนเกี่ยวกับวิธีการกำจัดเชื้อโรคก่อนที่จะเอามากิน ถ้าเรายังยืนยันว่าอยากจะกินแบบนี้ เช่น พยาธิตัวนี้ถ้าเราเอาไปแช่ช่องฟรีซไว้เวลาเท่านี้ มันจะไม่โต และผมจะแนบสถิติให้เขาว่าป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ ให้ผู้อ่านไปชั่งน้ำหนักความเสี่ยงเอาเอง หรือจะกินแบบสุกก็จบเลย ปลอดภัย”

ส่งท้ายด้วยการให้สัญญากับตัวเองว่าจะเลิกสร้างเชื้อโรคที่แข็งแรงด้วยการทานยาปฏิชีวนะที่คุณหมอสั่งให้ครบ ละทิ้งอุดมการณ์ในการกินปลาดิบและปูไข่ดองที่มีอยู่ และมาทายกันว่า เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทความนี้และได้ลองไถหน้าฟีดเพจ ‘เชื้อนี้ท่านได้แต่ใดมา’ ของกษิดิศพอสังเขปแล้ว จะมีพฤติกรรมใดเปลี่ยนแปลงไปอย่างผู้เขียนบ้างไหม

เชื้อนี้ท่านได้แต่ใดมา เพจข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ไม่ต้องเรียนหมอก็เข้าใจได้

Writer

Avatar

พาฝัน หน่อแก้ว

เด็กวารสารศาสตร์ ผู้ใช้ชีวิตไปกับการเดินทางตามจังหวะเสียงเพลงโฟล์คซองและ R&B จุดอ่อนแพ้ทางของเซลล์ทุกชนิด

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan