ก่อนหน้าที่จะมากำกับ After Yang และล่าสุดซีรีส์ Pachinko ของช่อง Apple TV+ ผู้กำกับชาวเกาหลี-อเมริกันที่ชื่อ Kogonada โด่งดังมาจาก Video Essay ที่เขานำหนังและซีรีส์มาวิเคราะห์ชำแหละจนเห็นถึงความสวยงาม แก่น และสุนทรียศาสตร์ของคำว่า ‘Story’ และ ‘Cinema’ ตั้งแต่ซีรีส์ Breaking Bad จนถึงหนังผู้กำกับ Stanley Kubrick, Quentin Tarantino, Wes Anderson, Darren Aronofsky และอีกมากมาย ต่อมาเขาก็ได้ผันตัวจากนักวิเคราะห์และนักเฝ้ามองตัวยง มาเป็นผู้กำกับหนังเรื่อง Columbus (2017) ที่ได้รับคำชมมากมาย จนได้จับงานที่สเกลใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

After Yang : หนังไซไฟเล่าการดับสูญของหุ่นยนต์ ที่ตั้งคำถามการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

หนังที่หยิบยกมาพูดถึงนี้ ผมได้มีโอกาสชมในเทศกาลหนังออนไลน์ Sundance เมื่อปีที่แล้ว พอได้ยินว่าจะนำมาฉายที่ไทยก็รู้สึกดีใจมาก ๆ ครับที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงอีกรอบ (สักที) After Yang เป็นหนังแนวไซไฟ-ดราม่าของค่าย A24 นำแสดงโดย Colin Farrell และดัดแปลงจากเรื่องสั้นเรื่อง Saying Goodbye to Yang ในหนังสือ Children of the New World ของผู้เขียน Alexander WeinStein บอกเล่าเรื่องราวในโลกอนาคตเกี่ยวกับครอบครัวแห่งความหลากหลาย ที่มีพ่อผิวขาว ภรรยาผิวดำ ลูกสาวเป็นคนเอเชีย และลูกชายคนโตเป็นแอนดรอยด์ แต่แล้ววันหนึ่งแอนดรอยด์ Yang กลับพังและหยุดทำงาน กำลังจะย่อยสลายในไม่ช้า หนังเรื่องนี้จึงเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ราวกับมีชื่อที่แท้จริงว่า ‘After Yang Death’

การตายของหยางบอกอะไร ทิ้งอะไรเอาไว้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ การรื้อค้นความทรงจำของหยางจะทำให้ครอบครัวนี้ค้นพบอะไร นำไปสู่อะไร สิ่งเหล่านี้คือคำถามที่เราต้องถามไปพร้อมกับตัวละคร จนถึงหนังจบ และแม้กระทั่งดูจบไปพักใหญ่แล้วก็ตาม

หนังไซไฟ-ดราม่าจากความสงสัยใคร่รู้ของผู้กำกับ Kogonada ชวนคนดูตั้งคำถามถึงการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

คำว่า Love, Death + Robots ในชื่อแอนิเมชันซีรีส์ชื่อดังของ Netflix เป็นชื่อที่ผมอยากหยิบยืมมาใช้นิยาม After Yang เพราะหนังเกี่ยวข้องกับ 3 สิ่งนี้อย่างตรงไปตรงมา ความรักที่ครอบครัวนี้ (โดยเฉพาะคนลูกสาวอย่าง Mika มีให้กับ Yang) ความตายของ Yang ที่นำไปสู่การได้ทบทวน สังเกต และขบคิดเสมือนเป็นอุบัติการณ์ Thought-provoking (กระตุ้นความคิด) และความหมายของการเป็นมนุษย์และหุ่นยนต์ อะไรคือความแตกต่าง และอะไรคือสิ่งที่ทำให้ Being (สิ่งมีชีวิต) เป็น Being ได้

After Yang เป็นหนังที่ดูได้ 2 เลเยอร์ คือเลเยอร์บนในแง่ความบันเทิง ด้วยความเป็นหนังดราม่าที่มีพล็อตน่าสนใจและความยาวไม่มากไม่น้อยเกินไป กับเมื่อปอกเปลือกไปเรื่อย ๆ เลเยอร์ล่างคือในแง่อภิปรัชญา

เพราะหนังถือกำเนิดจากธรรมชาติแห่งความสงสัยใคร่รู้ของตัวผู้กำกับ Kogonada ที่ค่อนข้างจะเป็นคนสาย Philosophical หรือเจ้าปรัชญา/นักตั้งคำถามเกี่ยวกับสรรพสิ่งตัวยง เขานำความสงสัยในการอยู่ระหว่างกลางของความเป็นเอเชียและอเมริกัน – ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเป็นอะไรกันแน่ และอะไรคือความเป็นเอเชียและอเมริกัน หรือที่เขานิยามว่าคือความรู้สึกแปลกแยกและเป็นคนต่างถิ่นตลอดเวลา มาใช้ตั้งคำถามผ่านหนังเรื่องนี้ 

ด้วยการดัดแปลงจากบทพ่อแม่คนขาวสองคน ให้เป็นคนหนึ่งผิวขาว คนหนึ่งผิวดำ จากนั้นก็นำตัวละครลูกชาวเอเชียอย่าง Mika กับหุ่นยนต์แอนดรอยด์ชาวเอเชียอย่าง Yang จากเรื่องดั้งเดิมที่ต้องมาทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ ‘Chinese Fun Facts’ และให้ความรู้เกี่ยวกับ Asian-ness และถิ่นกำเนิดรวมถึงชาติพันธุ์ให้กับเด็กน้อย มาตั้งคำถามต่อว่า “แล้วอะไรคือความเอเชีย อะไรคือความจริงแท้กันล่ะ” หรือ “ถ้าหุ่นยนต์ถูกโปรแกรมให้เป็นเอเชีย ถ้าอย่างนั้นแล้วคนจะต่างอะไรกัน”

นี่เป็นแค่หนึ่งในนั้น เพราะหนังยังมีคำถามเหล่านี้อีกมากมาย แบบที่ดูแล้วต่อให้ไม่ได้อ่านบทความนี้ ก็สัมผัสได้ผ่านบทสนทนาในเรื่องว่า ผู้กำกับคนนี้ต้องสนใจเรื่องปรัชญาเป็นพิเศษแน่ ๆ เขาแม้กระทั่งนำเรื่องการ Grafting หรือตัดต่อกิ่งแม้ข้ามสายพันธุ์ มาพูดถึงประเด็นที่ทางและความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างผู้เกี่ยวข้องทางพันธุกรรมกับผู้ที่ถูกรับเลี้ยง หรือนำความชอบเรื่องชาไปให้ตัวละครตั้งคำถามต่อให้ว่า อะไรคือชา มันดียังไง และทำไมตัวละครพ่ออย่าง Jake ที่รับบทโดย Colin Farrell ถึงหมกมุ่นกับมัน จนไม่นึกไม่ฝันเหมือนกันว่าเรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นเสมือน Soft Power เอเชียกลาย ๆ สะท้อนกระจายวงกว้างแบบคลื่นบนผิวน้ำไปถึงคำถามของการเป็นมนุษย์เลยทีเดียว ซึ่งคำตอบนั้นก็คือ ‘เรื่องราว’ และ ‘ความทรงจำอันประกอบขึ้นมา (Collective Memories)’ นั่นคือสาเหตุที่ผู้กำกับให้คำอธิบายสั้น ๆ กับหนัง “เราทุกคนคือ Yang” ครับ เราทุกคนคือ Hardware ที่มี Software และ File กับ Folder เป็นของตัวเอง

After Yang : หนังไซไฟเล่าการดับสูญของหุ่นยนต์ ที่ตั้งคำถามการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าพอมานึกดูอีกที หนังเรื่องนี้เล่าโดยที่ Yang ไม่ได้อยู่แล้ว แต่เป็นการ Revisit Memories ของ Yang ราวกับไปเยี่ยมงานศพของเขา (แต่ในเรื่องสั้นจะเล่าผ่านความทรงจำ Jake) นี่คืองานศพที่มีพินัยกรรมเป็นไฟล์ของผู้เฝ้ามองที่เห็นอะไร ๆ มาโดยตลอด และมีแง่มุมในการมองเห็นที่แตกต่าง เหมือนที่หนังจะนำเสนอบทพูดและเปลี่ยนมุมกล้องเป็นในมุมมองของ Jake และ Yang ติด ๆ กัน ซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ อยู่เสมอ เพราะแต่ละมุมมองนั้นไม่ใช่มุมกล้อง ไม่ใช่แค่ไฟล์เสียง แต่คืออีกหนึ่งชีวิตที่ทั้งมีความสำคัญ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงความทรงจำของคนรักที่ล่วงลับไปแล้วได้อย่างนี้

ดู After Yang แล้วจึงทำให้ผมอดนึกถึงหนังเรื่อง 36 (2012) หนังแจ้งเกิดของ เต๋อ-นวพล ธำรงค์รัตนฤทธิ์ ไม่ได้เลยครับ ตัดความไซไฟของหนังเรื่องนี้ออกไป หนังสองเรื่องพูดประเด็นเดียวกัน คือการบันทึกภาพความทรงจำเอาไว้ ไม่ใช่ทั้งหมด แต่เลือกช็อตที่ดีที่สุด (ทั้งการถ่ายภาพและตัวหนัง 36 เองที่ทั้งเรื่องเล่าด้วย 36 ช็อต/36 คัท) เพื่อให้เป็นเหมือนจุดต่าง ๆ ที่พอลากไปแล้ว เราเห็นภาพรวมที่มีชื่อเรียกว่า ‘เรื่องราว’ หรือ ‘ชีวิต’ โดยสิ่งนี้เองทำให้ปัญญาประดิษฐ์หรืออุปกรณ์ประเภทกล้องถ่ายรูป วิดีโอ และมนุษย์ ทำงานคล้ายกันอย่างแปลกประหลาด คือมีหน้าที่เก็บความทรงจำ และดึงมาใช้เมื่อต้องการหรือจำเป็น

After Yang : หนังไซไฟเล่าการดับสูญของหุ่นยนต์ ที่ตั้งคำถามการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

จะว่าไปแล้ว หนังที่แจ้งเกิดให้กับเขาอย่าง Columbus ก็พูดถึงเรื่องเหล่านี้เหมือนกันครับ ประเด็นเกี่ยวกับศาสนา ตัวตน ปรัชญา ผ่านตัวละครสองตัวที่ชื่อ Jin ชายเอเชียผู้ห่างเหินกับพ่อ กับ Casey หญิงสาวผิวขาวที่สนิทกับแม่ และเลือกไม่ไปไหนเพราะต้องดูแลแม่ที่ต้องการจะเลิกยาเสพติด ทั้งสองพูดคุยเรื่องสถาปัตยกรรม งานศิลปะ สิ่งรอบตัว จนสะท้อนมาถึงตัวเอง และเกิดเป็นความเข้าอกเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง (แถมหนังทั้งสองเรื่องนี้ยังมีฉากเปิดที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอย่างมากอีกด้วย)

พอหันกลับมามอง After Yang นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้กำกับคนนี้หรือการทำหนังของเขาสะท้อนถึงทัศนคติในการมองโลกที่ซาบซึ้งต่อสิ่งรอบ ๆ ตัว ผมเคยอ่านเจอว่า เพราะพ่อเขาเป็นคนแบบนี้และเคยบอกให้เขามองกิ่งไม้กับก้อนหินเฉย ๆ แล้วหาความหมายจากมันด้วย นี่น่าจะเป็นเหตุให้เนื้อหาของ Kogonada เกี่ยวข้องกับ ‘การสังเกต’ ว่าเราเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัวมาก-น้อยแค่ไหน หรือไม่เห็นเลย 

เพราะใน After Yang คนที่เป็นพ่อแม่มอง Yang เป็นสมาชิกครอบครัวก็จริง แต่ก็เป็นในฐานะพี่ชายที่ช่วยดูแล Mika ในขณะที่กับ Mika เขาเป็นมากกว่านั้น และการสำรวจความทรงจำของ Yang ที่ Jake (คนพ่อขุดคุ้ยเจอ) เขายังพบว่าแอนดรอยด์ตัวนี้สังเกตและบันทึกอะไรไว้มากกว่าที่คิด สิ่งที่อาจดูธรรมดาในสายตามนุษย์จึงเป็นสิ่งที่พิเศษไปเลย เราเจออะไรเหล่านั้นจนชินชา จนมันกลายเป็นความถี่ที่ไม่ได้ยิน หรือวอลเปเปอร์ด้านหลังที่ไม่เห็นอีกต่อไปแล้ว

จึงกลายเป็นว่าคำถามของ Yang ตอนเขายังมีชีวิตอยู่ กับการตายของ Yang ที่ Jake พยายามหักล้างด้วยการพยายามซ่อมหรือปลุกเขาด้วยการศึกษาความทรงจำ ทั้งสองอย่างทำหน้าที่กับ Jake มากกว่ากับ Yang คำถามเรื่องชา คนที่ได้คำตอบคือ Jake และการได้เรียนรู้จากความทรงจำของแอนดรอยด์ก็ไม่ใช่เพื่อเข้าใจในตัวเขา แต่ Jake เข้าใจความหมายว่า การมีชีวิตนั้นคืออะไรกันแน่ จากการสำรวจไฟล์ความทรงจำของสิ่งสังเคราะห์เหล่านั้น

After Yang : หนังไซไฟเล่าการดับสูญของหุ่นยนต์ ที่ตั้งคำถามการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

นอกจากนี้ หนังยังทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันในครอบครัวของคนหลากหลายชาติพันธุ์ หรือแม้กระทั่งทำให้การที่แอนดรอยด์มาใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์ ไม่ใช่เพราะผิดปกติหรือน่าตื่นเต้นอะไร และไม่ได้เล่นประเด็นน่าสนใจ แม้ว่าโดยส่วนใหญ่คนทำหนังไซไฟจะไม่พลาดโอกาสสำรวจตรงนี้ อย่าง ‘A.I. อยากเป็นมนุษย์’ แต่กลับเป็นเล่าไปให้เห็นถึงอนาคตที่ A.I. ไม่ต่างจากมนุษย์ แถมยังถูกเรียกว่า Techno-sapien จึงเป็นเรื่องน่าค้นหาว่า แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น การตายหรือมุมมองของมนุษย์-แอนดรอยด์ แตกต่างกันอย่างไรมากกว่า

และหนังยังพูดถึงประเด็นการเหยียดชนชาติ หรือไม่ชอบผู้ที่มาจากต่างถิ่น (Xenophobia/Racism) บ้าง การหรือบอกใบ้ถึงสถานการณ์ที่ดูจะไม่สู้ดีของจีนบ้าง แต่ After Yang ก็เลือกที่จะไม่เน้นหรือลงดีเทลตรงนั้น อันที่จริงเลือกที่จะเล่าแบบผิวเผิน แล้วปล่อยให้เราเก็บดีเทลที่ใส่เข้ามาเพื่อคิดต่อยอดเอาเอง แล้วเลือกโฟกัสไปที่เรื่องราวของมนุษย์ จิตวิญญาณ และครอบครัวอย่างแน่วแน่แทน หนังจึงค่อนข้างที่จะไปสุดทางทางด้านนี้ ด้านการตั้งคำถามให้คนดูไปคิดต่อ หรือการโต้ตอบกันระหว่างสองตัวละครที่ทำให้เรานำไปคิดต่อด้วยเช่นกัน 

ทั้งหมดของหนังขับเน้นด้วยมุมกล้องกับการนำเสนอที่ไม่หวือหวา ตัวบทเองก็เน้นความธรรมดาของสมาชิกครอบครัวนี้ ไดอะล็อกก็ดูจะเรียล ๆ แบบที่คนธรรมดาพูดกัน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวเสริมให้หนังเต็มไปด้วยความธรรมดาอย่างที่ผู้กำกับตั้งใจครับ ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งพิเศษที่เราสังเกตเห็นได้เองผ่านความธรรมดา

After Yang : หนังไซไฟเล่าการดับสูญของหุ่นยนต์ ที่ตั้งคำถามการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

นอกจากด้านเนื้อหาและประเด็นแล้ว ความพิเศษของ After Yang อยู่ที่ Setting (พื้นหลัง) โทน บรรยากาศ และสถาปัตยกรรมครับ อย่างที่ได้กล่าวไปว่าผู้กำกับ Kogonada มีธรรมชาติของการสนใจธรรมชาติเป็นพิเศษ

โลกอนาคตในแบบของเขาจะไม่ได้มีความ Futuristic แบบตึกทันสมัย หลังจากอุปกรณ์ไฮเทค โชว์อะไรล้ำ ๆ ความไซเบอร์พังก์ หรือมีลักษณะเป็นโลหะมันวาว (จริง ๆ คือแทบไม่มีเลย) ตรงกันข้าม เป็นแนวโมเดิร์นผสมมินิมอล หรือด้วยนี่คือโลกอนาคตที่เขาใฝ่ฝันถึง ในหนังจึงเต็มไปด้วยต้นไม้และสีเขียว เพราะภาพที่ Kogonada วาดไว้ไม่ใช่อนาคตที่คิดว่าจะเป็น แต่ ‘ควรจะเป็น’ และโลกที่ควรจะเป็นในสายตาเขา คือโลกที่ทุกคนตระหนักว่าควรให้ความสนใจกับปัญหาโลกร้อน และให้ความสำคัญกับต้นไม้มากกว่านี้ ผลคือเราได้เห็นต้นไม้ทั้งแต่บริเวณสวน ในตึก ในอุโมงค์ แม้กระทั่งในรถยนต์ ทำให้หนังออกมาค่อนข้างมีความออร์แกนิกิดูแล้วสบายสายตาเหมือนสูดออกซิเจนเข้าทางลูกตายังไงอย่างงั้น

ส่วนสถาปัตยกรรมในเรื่อง ตัวบ้านก็มีความเป็นเอเชียสูงมาก ๆ หากจะให้นิยามแบบดิบ ๆ คงจะเป็น ‘Asian-Modern’ แต่ถ้าเป็นทางการที่ข้อมูลในหนังระบุไว้ บ้านในหนังเรื่องนี้เป็นบ้านประเภท ‘California-Modern’ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าแถบแคลิฟอร์เนียมีประชากรเชื้อสายเอเชียจำนวนมาก หนังเรื่องนี้ที่แสดงถึงอนาคตและขับเน้นความหลากหลายกับความรู้สึก Belong แต่ไม่ Belong จึงเลือกใช้ตัวบ้านสไตล์นี้ที่โปร่ง เน้นวัสดุไม้ ไฟซ่อน ทำให้ดูทันสมัย และเฟอร์นิเจอร์กับของตกแต่งบ้านที่คุมโทนและดูแตกต่าง แต่เข้ากันอย่างบอกไม่ถูกในเวลาเดียวกัน

After Yang : หนังไซไฟเล่าการดับสูญของหุ่นยนต์ ที่ตั้งคำถามการมีชีวิตและตัวตนของมนุษย์

ดูเหมือนว่าความรู้ที่สั่งสมมาจากการสังเกตวิเคราะห์ของผู้กำกับคนนี้จะผลิดอกออกผลอย่างสวยงามครับ จากเป็นคนทำ Video Essay ตอนนี้มีคนนำหนังทั้งสองเรื่องของเขาไปวิเคราะห์และทำ Video Essay เช่นเดียวกับที่เขาเคยทำกับผลงานของคนอื่น ๆ บทและโปรดักชันของหนังเรื่องนี้คือ Collective Memories  ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ และสั่งสมความชอบเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ด้านภาพยนตร์ สถาปัตยกรรม และปรัชญา เข้าไว้ด้วยกัน การเป็นคนขี้สงสัยเองก็มีส่วนอย่างมากในการชวนให้คนอื่นดูแล้วต้องมาคิดต่อ

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะใช่สำหรับทุกคนมั้ย แต่ถ้าเป็นแฟนหนังไซไฟ หรือเป็นคนชอบดูอะไรอย่างซีรีส์ Westworld หรือหนังเรื่อง Ex Machina เพราะสนใจประเด็นคำถามเกี่ยวกับชีวิตและตัวตนแล้วล่ะก็ หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นสิ่งที่กำลังตามหาอยู่ครับ

รับชมภาพยนตร์ After Yang ในโรงภาพยนตร์ได้ในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ