เดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงเวลาที่พระศาสนจักรคาทอลิกจัดการรำลึกถึงวิญญาณของผู้ตายที่ได้ล่วงลับไปก่อน แม้แต่ชาวต่างศาสนิกก็ยังรับรู้ถึงธรรมเนียมนี้ผ่านทางการเฉลิมฉลองวันฮัลโลวีน (ซึ่งตามรูปศัพท์แปลว่าวันอันศักดิ์สิทธิ์) ในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี แม้ว่าเทศกาลแบบอเมริกันนี้จะถูกกลืนกลายให้เป็นการจัดงานแต่งตัวแฟนซี ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผีๆ สางๆ กันแล้ว แต่รากเหง้าของการระลึกถึงความตายก็ยังหลงเหลืออยู่ 

ถัดจากวันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน พระศาสนจักรประกาศให้ฉลอง ‘นักบุญทั้งหลาย’ (All Saints’ Day) ซึ่งหมายรวมถึงวิญญาณของคนดีมีธรรมทั้งหลายที่เข้าสู่สวรรค์ไปแล้วจำนวนมาก แม้ว่าจะไม่เป็นที่รู้จักหรือได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการก็ตาม 

ส่วนวันถัดมาคือวันที่ 2 พฤศจิกายนก็จะตรงกับวันระลึกถึง ‘วิญญาณทั้งหลาย’ (All Souls’ Day) ซึ่งในที่นี้หมายถึงวิญญาณของผู้ที่สิ้นใจแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่สวรรค์เพราะต้องรับชำระโทษเสียก่อน พวกเขาทำได้เพียงอย่างเดียว คือ รอคอยคำภาวนาของผู้ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น 

ดังนั้น เดือนนี้ทั้งเดือนจึงเป็นเสมือนมรณานุสติ (Memento Mori) ประจำปี บรรดาชาวคริสต์จึงมักไปร่วมพิธีเสกป่าช้าหรือร่วมมิสซาในสุสาน คงคล้ายๆ กับพิธีเช็งเม้งของชาวจีนที่จัดขึ้นทุกปี โดยมีรากฐานจากความกตัญญูเป็นที่ตั้ง แต่ข้อคิดหลักของการไปเยี่ยมหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ คือการเชิญชวนให้บรรดาคริสตชนระลึกถึง 4 สิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะต้องประสบพบเจอ คือ ‘ความตาย การพิพากษา นรก และสวรรค์’ อันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย 

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
สุสานของวัดพระวิสุทธิวงศ์ ลำไทร เป็นชุมชนชาวคริสต์เชื้อสายจีน จึงมีการใช้ศิลปะจีนปะปนกับศิลปะตะวันตก 
มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
พิธีเสกสุสานประจำปีที่สุสานศานติคาม สามพราน
ภาพ : พิสุทธิ์ จรินทิพย์พิทักษ์

ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา : มีอะไรในแดนมรณา

ในศาสนายิวซึ่งเป็นรากฐานของคริสต์ศาสนา คัมภีร์โตราห์ (Torah) หรือที่ส่วนหนึ่งกลายเป็นคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมของศาสนาคริสต์ ไม่ได้กล่าวอย่างละเอียดนักว่ามนุษย์ประสบพบเจอกับอะไรหลังความตาย นรกและสวรรค์ดูคลุมเครือไม่ชัดเจนมากนัก รางวัลของคนดีมีธรรมมักได้รับกันในโลกมนุษย์เลยคือการมีชีวิตยืนยาว เราจึงพบว่า บรรดาบุคคลในพระคัมภีร์มีชีวิตยืนยาวเกินมนุษย์สามัญทั่วไป เช่น อายุ 400 ปี 900 ปี เป็นภาษาของพระคัมภีร์ที่พยายามสื่อสารว่า ผู้ที่ดำเนินชีวิตตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าย่อมได้รับพระพรให้มีชีวิตยืนยาว 

และหากพิจารณาถึงช่วงเวลาราวๆ 5,000 – 6,000 ปีก่อน มนุษย์ยุคเหล็กที่มีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป โดยไม่ตายจากโรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาติ สัตว์ร้ายกัดตายหรืออุบัติเหตุ ย่อมมีน้อยแสนน้อย การมีชีวิตที่ยืนยาวย่อมเป็นที่ปรารถนาของทุกคน การได้เห็นลูกหลานมากมายจึงเป็นเสมือนรางวัลของพระเจ้า ที่ตอกย้ำไว้ในพระสัญญากับอับราฮัมว่าจะให้เขามีลูกหลานมากมายเหมือนดวงดาว สะท้อนความต้องการลึกๆ ของมนุษย์โบราณที่อยากสืบทอดเผ่าพันธุ์ของตน ท่ามกลางชีวิตที่ลำบากยากแค้นไว้ให้นานและมากที่สุด

ส่วนชีวิตหลังความตายในพันธสัญญาเดิมที่ระบุว่า มนุษย์เราตายแล้วไปไหน มีการลงโทษหรือให้รางวัลไหม ลักษณะคลุมเครือ บ่อยครั้งใช้คำว่า Sheol ซึ่งหมายถึง ‘หลุมฝังศพ’ หรือ ‘โลกใต้พื้นดิน’ ซึ่งกล่าวถึงอย่างคร่าวๆ ว่าเป็นสถานที่อาศัยของคนบาปที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีพรรณนาโวหารถึงการลงโทษในสถานที่หรือสภาวะนี้ ส่วนสวรรค์นั้น ก็กล่าวไว้คร่าวๆ ว่า เป็นที่ประทับของพระเจ้าท่ามกลางวิญญาณของผู้ชอบธรรม อย่างไรก็ดี ชาวคริสต์ในยุคหลังที่ต่อยอดจักรวาลวิทยาจากชาวยิว จะพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับโลกหลังความตายให้รายละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
แผนภาพจักรวาลวิทยาตามแบบยิว-คริสต์ จะเห็นว่า Sheol อยู่ใต้พื้นแผ่นดินโลก
ภาพ : https://hebrewsisraelitesvsthereds.wordpress.com/

นรกและสวรรค์ในพันธสัญญาใหม่

พระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระบุตรของพระเจ้าทรงเผยแสดงแน่ชัดว่า มีชีวิตหลังความตาย มีการลงโทษสำหรับคนบาป และมีรางวัลนิรันดรสำหรับคนดี กระนั้นพระองค์ไม่ได้ตรัสถึงรายละเอียดของนรกและสวรรค์มากมายนัก ทรงกล่าวเพียงว่า นรกนั้นเป็นที่ที่มี “หนอนไม่รู้ตายและไฟไม่รู้ดับ” ส่วนสวรรค์นั้นเป็นเสมือนบ้านของพระบิดา คนดีทุกคนจะได้รับความสุขตลอดนิรันดรที่นั่น 

มีจุดน่าสนใจว่า พระองค์ทรงคืนความยุติธรรมให้กับคนยากจนด้วย ทรงยกตัวอย่างลาซารัส คนขอทานยากไร้ที่เข้าสู่สวรรค์และอยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม ส่วนเศรษฐีใจดำนั้นต้องทรมานในนรก มีเหวลึกกั้นกลางระหว่างสองพื้นที่นั้น คงเป็นการเผยแสดงเรื่องนรก-สวรรค์อย่างสั้นๆ จากพระวาจาของพระคริสต์โดยตรง 

ส่วนศัพท์ที่ใช้เรียกนรกในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่นั้น เนื่องจากเป็นหนังสือที่แต่งโดยใช้ภาษากรีก จึงใช้คำกรีกแทนคำฮีบรูบางคำ คือคำว่า Hades และยังใช้คำว่า Tartarus อันเป็นนรกขุมลึกแบบกรีกปะปนเข้ามาอีกด้วย นอกจากนั้นยังใช้คำว่า Gehenna อันเป็นสถานที่ทิ้งขยะของเน่าเสียนอกกำแพงเมือง เป็นที่อาศัยของคนโรคเรื้อนและคนทุพพลภาพที่ถูกทอดทิ้ง จึงเป็นอุปลักษณ์ของนรกอันเป็นสถานที่ที่มนุษย์ผู้มีเสรีภาพในการเลือกทำดีและชั่ว เลือกที่จะดำรงตนออกห่างจากพระเจ้า พวกเขาจึงถูกทอดทิ้งอยู่อย่างโศกเศร้าโดดเดี่ยว นรกในพันธสัญญาใหม่จึงให้ภาพเหมือนสถานที่มืด มีแต่เสียงร้องไห้ และขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน

ส่วนรายละเอียดของสวรรค์นั้นปรากฏอยู่มากในพระคัมภีร์วิวรณ์ ซึ่งทำนายเรื่องราวในยุคสุดท้าย หน้าตาของสวรรค์เหมือนกับกรุงเยรูซาเล็มสว่างไสว เพราะพระเป็นเจ้าทรงเป็นเสมือนดวงอาทิตย์ภายในเมืองนั้น (หากสนใจรายละเอียดอันมีมากมาย อ่านได้ในพระคัมภีร์หนังสือวิวรณ์ ซึ่งกวีดันเตก็ได้พรรณนาเพิ่มเติมจนภาพลักษณ์ของสวรรค์จากนิยาย Divina Commedia ของเขากลายเป็นที่จดจำกันในยุคกลางลงมา ภาพลักษณ์ของสวรรค์ในโลกตะวันตกจึงมีรายละเอียดมากมายเพิ่มเติมจากวรรณกรรมเล่มนี้) วิวรณ์ยังให้รายละเอียดเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลก ทั้งแผ่นดินไหว สงคราม และโรคระบาด Antichrist หรือผู้ต่อต้านพระคริสต์ และการพิพากษาครั้งสุดท้าย

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
โคมไฟ Hezilo chandelier สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 12 แสดงสัญลักษณ์ของกรุงเยรูซาเล็มใหม่ที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า หรือสวรรค์ตามที่บรรยายไว้ในพระคัมภีร์วิวรณ์ โคมไฟนี้ออกแบบให้มีประตูจำลอง 12 ประตู ซึ่งแต่ละประตูเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงอัครสาวก 12 ท่าน 
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Hezilo_chandelier

ก่อนจะไปนรก-สวรรค์ มีการพิพากษา

ชาวคริสต์เชื่อตามพระคัมภีร์ว่ามนุษย์เกิดและตายเพียงครั้งเดียว ดังนั้นจึงไม่มีแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด (ซึ่งก็มีการแทรกแนวคิดอยู่บ้างจากอิทธิพลของกรีก) หลังความตายมนุษย์ทุกคนจะถูกพิพากษาตามความดีและความชั่วของตน แนวคิดเรื่องการพิพากษาปรากฏในศาสนาโบราณจำนวนมาก เช่น ศาสนาในอียิปต์โบราณ 

ส่วนศาสนาคริสต์ พระเยซูทรงตรัสเรื่องนี้อย่างละเอียดโดยพระองค์เอง ว่าวันสุดท้ายจะมาถึงอย่างไม่คาดฝันเหมือนขโมย (ความตายก็เช่นกัน) ในเวลานั้น พระคริสต์จะประทับนั่งบนบัลลังก์ จะทรงแยกคนดีและคนชั่วออกจากกัน คนดีจะได้รับรางวัลในสวรรค์ ส่วนคนชั่วจะรับการลงทัณฑ์ในนรก 

การพิพากษานั้นแบ่งเป็น 2 ช่วง คือหลังความตายของมนุษย์ทุกคน และวันพิพากษาครั้งสุดท้ายในวันสิ้นโลก (The Last Judgement) ซึ่งไม่มีบาปใดของมนุษย์ที่จะถูกปิดบังเป็นความลับได้อีกต่อไป ทุกสิ่งจะเปิดเผยออกมาทั้งสิ้นทั้งความดีและความชั่ว

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
ภาพหน้าบันประตูโบสถ์ Church of St. Foy, Conques, France สร้างในศตวรรษที่ 12 แสดงภาพการพิพากษาครั้งสุดท้าย
ภาพ : www.christianiconography.info/conques/tympanum.html

วันพิพากษาดูจะเป็นวันที่น่ากลัวมากสำหรับผู้คนในยุคกลาง จนเรียกกันว่า ‘วันแห่งพระพิโรธ’ มีคำทำนายเหลวไหลออกมามากมายว่าวันแห่งพระพิโรธนี้จะเกิดขึ้นในปีนั้นปีนี้ โดยเฉพาะปีที่ครบพันปี หรือห้าร้อยปี ชาวบ้านก็แตกตื่นแห่ออกไปจำศีลภาวนาตามป่าเขากันสักที พอเรื่องแผ่ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็กลับเข้าเมืองมากันอีก 

ความตาย สงคราม โรคระบาด ความอดอยาก และอากาศหนาวทารุณในยุคกลาง ดูจะเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ความเชื่อเรื่องวันพิพากษาดูสมจริงสมจังมากยิ่งขึ้น เรื่องราวของการพิพากษาจึงถูกถ่ายทอดออกมาเป็นคริสตศิลป์จำนวนมาก ภาพพระคริสต์ประทับบนบัลลังก์กลางฟ้า พระพักตร์ดุดัน ด้านข้างมีผู้เป็นทนายแก้ต่างให้มนุษย์ (Deësis-ผู้ภาวนาต่อพระเจ้า) คือพระนางมารีย์พระมารดา และนักบุญจอห์น บัปติสต์ คอยบรรเทาพระพิโรธ บรรดาเทวดาต่างเป่าแตรปลุกผู้ตายขึ้นมาจากหลุมศพเพื่อรับการพิพากษา 

เชื่อกันว่าทุกคนจะกลับคืนชีพในช่วงอายุเท่าๆ กันคือ 33 ปี เท่ากับอายุของพระคริสต์เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ จากนั้น อัครเทวดามีคาแอลจะถือตาชั่งคอยชั่งบุญและบาปของมนุษย์ ผู้ชอบธรรมจะถูกแยกไปทางขวาของพระเป็นเจ้า ส่วนคนบาปถูกแยกออกไปทางซ้าย เหมือนสำนวนในพระคัมภีร์ว่า “ทรงแยกแพะออกจากแกะ”

ในยุคกลาง ภาพพระบุตรในฐานะผู้พิพากษาโลกมักประดับไว้บริเวณเหนือประตูกลางทางเข้าโบสถ์ เพื่อตักเตือนสัตบุรุษว่า หากจะเข้าสู่สวรรค์ (แทนด้วยตัวอาคารของโบสถ์) มนุษย์จะต้องรับการชำระพิพากษาเสียก่อน เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงความชั่วที่ตัวเองเคยทำมาก่อนด้วย

ในศาสนาอิสลามเองก็พัฒนาแนวคิดเรื่องของวันพิพากษา (วันกิยามัต) โดยปรากฏเป็น 1 ใน 6 ของหลักศรัทธาของอิสลาม และมีรายละเอียดมากกว่าในศาสนาคริสต์เสียอีก เช่น การชำระความกันระหว่างสัตว์ต่างๆ ที่เคยพิพาทกันในโลก แต่สุดท้ายสัตว์ที่ไม่มีวิญญาณเหล่านั้นก็จะกลับเป็นดินตามเดิม

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
พระคริสต์กำลังพิพากษาโลก มีอัครเทวดามีคาแอลกำลังถือตาชั่ง บรรดาเทวดากำลังเป่าแตรปลุกผู้ตายขึ้นจากหลุมศพ พระคริสต์ประทับเหนือรุ้งที่วนเหนือลูกโลก อันเป็นสัญลักษณ์ของพระเมตตาที่พระเจ้าประทานให้โนอาห์หลังน้ำท่วมโลก (หมายถึงหลังความยุติธรรม พระเจ้าจะสำแดงพระเมตตาเสมอ) ด้านขวาของพระองค์มีดอกลิลลี่ปรากฏ หมายถึงคำอวยพรผู้ชอบธรรม ซึ่งแสดงด้วยการหงายพระหัตถ์ขึ้น และด้านซ้ายปรากฏดาบ หมายถึงคำสาปแช่ง ซึ่งเน้นย้ำด้วยการคว่ำพระหัตถ์ลง จากแผ่นไม้ประดับพระแท่น Beaune Altarpiece โดยศิลปิน Rogier van der Weyden วาดในช่วง ค.ศ. 1445 – 1450
ภาพ : en.wikipedia.org/wiki/Beaune_Altarpiece
มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
ภาพเหตุการณ์การพิพากษาครั้งสุดท้าย จำลองจากภาพของมีเกลันเจโลในวิหารน้อยซีสทีน อยู่ที่โบสถ์พระวิสุทธิวงศ์ ลำไทร ปทุมธานี

Limbo แดนผู้ตายในตำนาน : การรอคอยในแดนมรณา

ชาวคริสต์ในยุคโบราณพัฒนาความเชื่อต่อไปว่า ก่อนพระเยซูคริสต์จะถูกตรึงกางเขนเพื่อไถ่บาปให้มนุษย์ ไม่มีใครได้ไปสวรรค์เลยตั้งแต่ยุคของอาดัมและเอวา ทั้งสองทำผิดพระบัญชาของพระเจ้าโดยการกินผลไม้ต้องห้าม มนุษย์ทั้งปวงจึงถูกสาปให้ตายและถูกกักขังไว้ใน ‘แดนมรณา’ หรือ ‘ลิมโบ’ โดยบรรดาซาตานและพรรคพวก
ส่วนในสวรรค์นั้นว่างเปล่า มีคนเพียง 2 – 3 คนเท่านั้น ในพระคัมภีร์ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพระเจ้าทรงรับเขาขึ้นสวรรค์โดยตรง เช่น ประกาศกเอลียาห์ซึ่งพระเจ้ารับเขาขึ้นสวรรค์โดยรถม้าเพลิง และไม่มีใครได้เห็นเขาอีกเลย และเอโนค ผู้ที่พระคัมภีร์กล่าวไว้สั้นๆ ว่า “เขาเดินไปพร้อมกับพระเจ้า”

การสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปมนุษย์ของพระเยซูคริสต์ เท่ากับเป็นการเปิดทางเข้าสู่สวรรค์ของบรรดาผู้ที่ตายไปตั้งแต่สมัยปฐมกาล ในยุคกลางเชื่อกันว่าหลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ไปเป็นเวลา 3 วัน พระองค์เสด็จลงไปยังดินแดนมรณา-ที่อยู่ของบรรดาปีศาจ เจ้าแห่งโลกนี้ (Prince of The World) ซาตานและสมุนพยายามป้องกันประตูเหล็กไม่ให้พระองค์เสด็จเข้าไป แต่พระคริสต์ทรงใช้ไม้กางเขนตีไปที่ประตูจนโซ่ตรวนนั้นหักลง ทรงฉุดบรรดาผู้ตายตั้งแต่ยุคแรก คืออดัมกับเอวาขึ้นจากแดนมรณา และเหล่าผู้ชอบธรรมอย่างอับราฮัม กษัตริย์ดาวิด บรรดาประกาศ และพาไปสู่สวรรค์ 

ความเชื่อนี้ปัจจุบันไม่ได้รับการกล่าวถึงนัก แต่ก็ปรากฏเป็นภาพคริสต์ศิลป์ที่ชวนตื่นเต้นหวือหวามาก โดยเฉพาะตอนพระคริสต์ทรงทำลายประตูนรก ส่วนบางความเชื่อกลับแตกต่างออกไป คือบรรดาผู้ชอบธรรมในยุคพันธสัญญาเดิม อาศัยอยู่ในลิมโบอย่างผาสุก รอคอยการเสด็จมาของพระคริสต์อย่างสงบ

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
ภาพไอค่อน พระคริสต์เสด็จลงไปรับวิญญาณของผู้ชอบธรรมในแดนมรณา ในภาพจะเห็นว่าทรงทำลายกลอนประตูนรกและเหยียบไว้ใต้ฝ่าพระบาท ทรงฉุดอดัมและเอวา มนุษย์คู่แรกขึ้นจากแดนผู้ตาย ล้อมรอบด้วยบรรดากษัตริย์ ประกาศกและผู้ชอบธรรมจากยุคโบราณ
ภาพ : upload.wikimedia.org

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดปลีกย่อยเป็นตำนานในยุคกลางออกไปอีกว่า ในขณะที่พระคริสต์ทรงถูกตรึงกางเขนพร้อมโจรสองคน โจรคนหนึ่งได้ขออภัยบาปต่อพระองค์ด้วยใจสำนึกจริงๆ พระองค์จึงทรงสัญญาว่าเขาจะได้ไปสวรรค์ในวันนี้ เมื่อเขาตายลงเพราะความทรมาน ก็พบว่าตัวเองแบกไม้กางเขนอยู่ เขาจึงแสดงไม้กางเขนนี้ให้เทวดาเฝ้าประตูเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ที่พระคริสต์ทรงสัญญาว่าจะให้เขาเข้าสวรรค์ แต่เทวดาบอกให้เขารออยู่ก่อน จนกระทั่งพระคริสต์นำบรรดาวิญญาณในยุคโบราณขึ้นจากแดนมรณาแล้ว จึงจะได้เข้าไปพร้อมๆ กัน

ลิมโบยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือเป็นดินแดนของผู้ตายที่ค่อนข้างคลุมเครือ บางตำนานก็ว่าเป็นแดนของคนที่ตายโดยไม่ได้รับศีลล้างบาป อย่างบรรดาเด็กๆ ที่ตายโดยไร้เดียงสา ไม่ได้ทำบาป แต่ก็ไม่ทันได้รับศีลล้างบาป รวมทั้งคนชอบธรรมที่ไม่ได้ทำบาปหนัก แต่ตายโดยไม่รู้จักพระเจ้า พวกเขายังคงติดอยู่ในแดนลิมโบของผู้ไร้เดียงสา (limbus Infantum) และมีชีวิตอย่างมีความสุข จนกว่าจะถึงวันพิพากษาจึงจะได้ไปสวรรค์ 

ดังนั้นพิธีล้างบาปจึงเป็นพิธีกรรมสำคัญมากต่อความเชื่อของผู้คนในยุคกลาง มนุษย์จะรอดไปสวรรค์หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการชำระบาปกำเนิดด้วยพิธีบัปติศมานี้ และเป็นแรงขับดันสำคัญที่ทำให้พระศาสนจักรส่งบรรดามิชชันนารีไปยังดินแดนที่พระคริสต์ยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อโปรดศีลล้างบาปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประโยชน์ของวิญญาณเหล่านั้นหลังความตายนั่นเอง ความเชื่อเรื่องลิมโบเช่นนี้ไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากพระศาสนจักรปัจจุบัน

ไฟชำระ Purgatory สถานที่ที่คนบาปรอคอยพระเป็นเจ้า

ในศาสนาคริสต์บางนิกาย โดยเฉพาะคาทอลิก มีความเชื่อที่ไม่เหมือนนิกายอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องดินแดนแห่งการชำระ หรือเรียกว่าไฟชำระ เรื่องนี้เกิดจากการตีความพระคัมภีร์ว่า

“ท่านจะไม่ได้รับการปล่อยตัวออกมาจนกว่าจะได้ชำระทุกบาททุกสตางค์” (ลูกา 12 : 59) 

มนุษย์บางส่วนที่ทำบาปแต่ไม่มีโทษหนักถึงนรก เพราะมีจิตใจรักและศรัทธาในพระเป็นเจ้ามาโดยตลอด และตายลงโดยยังรักษาความสัมพันธ์ของเขากับพระเป็นเจ้าไว้ได้ เขาจะต้องชำระมลทินให้หมดไปในไฟชำระ ซึ่งระยะเวลารับโทษก็แล้วแต่ความผิดบาปที่ได้กระทำ เหมือนการชดใช้หนี้ให้หมดก่อนได้เดินทางไปยังสวรรค์ พวกเขาจะแตกต่างจากชาวนรก คือยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เห็นพระพักตร์พระเจ้า แต่เพราะมลทินในบาปที่ติดตัวมา พวกเขาจะเข้าไปพบพระองค์ทั้งที่ยังไม่พร้อมไม่ได้ 

อย่างไรก็ดี คริสต์ศาสนาหลายนิกายปฏิเสธแนวคิดนี้เพราะไม่ได้เขียนไว้โดยตรงในพระคัมภีร์ และมักถูกโจมตีว่า การประกอบพิธีมิสซาอุทิศให้ผู้ตาย เป็นประเพณีที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อหาเงินของบรรดาบาทหลวงในยุคกลาง แต่เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์แล้ว ชาวคริสต์เองก็มีธรรมเนียมการสวดภาวนาเพื่อผู้ตายมาตั้งแต่ยุคต้นๆ ในศตวรรษที่ 2 – 3 พวกเขาเชื่อว่าคำภาวนาจะช่วยปลดปล่อยวิญญาณเหล่านั้นไปสู่สวรรค์ได้

มีอะไรใน Limbo ไขข้อสงสัยเรื่องความตายในจักรวาลวิทยาของคริสตศาสนา, ชีวิตหลังความตายในคริสต์ศาสนา
ภาพกระจกสีแสดงวิญญาณในไฟชำระ บางส่วนถูกเทวดาพาขึ้นไปยังสวรรค์ หลังจากรับโทษจนหมดมลทินแล้ว
ภาพ : upload.wikimedia.org/wikipedia/

ส่งท้าย

ศาสนาต่างๆ พยายามตอบคำถามความอยากใคร่รู้ว่ามีอะไรอยู่หลังความตายของมนุษย์ คริสตศาสนาเองก็ตอบคำถามเหล่านี้เอาไว้ 2,000 ปีแล้วตามจักรวาลวิทยาที่มีรากฐานของศาสนายิว และพัฒนาขึ้นตามคำสอนของพระเยซูคริสต์ 

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่จำเป็นต้องรอคอยสวรรค์ในโลกหน้าหลังความตาย พระคริสต์ทรงสอนให้เราภาวนาว่า “ขอให้พระอาณาจักรของพระบิดามาตั้งในโลกนี้” คือทรงประสงค์ให้มนุษย์สร้างอาณาจักรของพระเจ้าบนโลก ผ่านทางความรักซึ่งกันและกัน ไม่ใช่รอคอยวันพิพากษาด้วยความหวาดกลัว เพราะสิ่งที่เราเริ่มทำในโลกนี้โดยการสร้างสันติภาพและความเมตตากรุณาต่อกันและกัน ก็เท่ากับการสร้างสวรรค์ขึ้นมาบนโลกแล้ว

Writer & Photographer

Avatar

ปติสร เพ็ญสุต

เป็นนักรื้อค้นหอจดหมายเหตุ ชอบเดินตรอกบ้านเก่าและชุมชนโบราณ สนใจงานศิลปะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเภท รวมทั้งคริสตศิลป์ด้วย ปัจจุบันกำลังติดตามธรรมาสน์ศิลปะอยุธยาและเครื่องไม้จำหลักศิลปะอยุธยา เคยคิดจะเป็นนักบวช แต่ไม่ได้บวช