ต้นหน (น.) ผู้ควบคุมทิศทางและตำแหน่งในการเดินเรือทะเลหรือเดินอากาศยาน

ร้อยเอกภัทรพล จันทร์วงศ์ หรือ พล คือ นายทหารต้นหนถ่ายภาพทางอากาศ สังกัดกรมแผนที่ทหาร ผู้วางแผนการบิน และรับหน้าที่ถ่ายภาพเพื่อทำ ‘แผนที่’ ให้ผู้ต้องการนำไปใช้ต่อ

“ใครขึ้นศาลเรื่องที่ดิน มีข้อพิพาทเรื่องการบุกรุกป่า ศาลจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นเหล่านั้น” พลเริ่มเล่า ขณะที่เรากวาดสายตาสำรวจห้องทำงานของเหล่าต้นหนในชุดบินสีเขียว

แผนที่กระดาษ แผนการบิน และเอกสารอื่น ๆ ถูกวางแผ่ไว้พร้อมใช้งาน หน้าจอคอมพิวเตอร์ปรากฏภาพโปรแกรมไม่คุ้นตา แต่ทั้งหมดคือสิ่งที่จะถูกประมวลออกมาเป็นแผนที่ประเทศไทย

และเพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ ไร้ข้อผิดพลาดและข้อกังขา ช่างภาพคนนี้จะลั่นชัตเตอร์ตามใจตัวเองไม่ได้เด็ดขาด

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

พลจบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สาขาวิศวกรรมสำรวจ สาขาเดียวที่นำทางสู่การเป็นนายทหารต้นหนถ่ายภาพทางอากาศ หลังเรียนจบหลักสูตรและทำงานภาคพื้นดินมาระยะหนึ่ง ชีวิตบนฟ้าของเขาก็เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2562 ขึ้นบินครั้งละ 4 – 5 ชั่วโมง ยาวนานที่สุด 8 ชั่วโมงต่อวัน รวมแล้วกว่า 7 เดือน หรือ 200 วันต่อปี บนความสูง 23,000 ฟุต

ต่อจากนี้คือเรื่องราวของต้นหนผู้มีโต๊ะทำงานอยู่บนฟ้า และคุณค่าที่เขาค้นพบ

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

พลเริ่มเล่าจากจำนวนสมาชิกบนเครื่องบินที่ส่วนใหญ่มีประมาณ 4 – 5 คน แบ่งเป็นนักบิน 2 คน ช่างเครื่อง 1 คน และต้นหนถ่ายภาพ 1 – 2 คน ขึ้นอยู่กับภารกิจว่าต้องมีการเปลี่ยนมือไหม

แต่ขึ้นชื่อว่าปฏิบัติการบนน่านฟ้า จะขึ้นเพียง 10 นาทีแล้วลงก็คงไม่ได้ พลและทีมใช้เวลาราว 4 – 5 ชั่วโมงอยู่บนอากาศ และลงจอดบนภาคพื้นเมื่อต้องการเติมน้ำมัน หากภารกิจยังไม่เสร็จก็ต้องขึ้นบินต่อ

“ส่วนใหญ่เราจะไม่ทานข้าวบนเครื่อง เพราะกินไปทำงานไปไม่สะดวก ที่สำคัญคือไม่มีห้องน้ำ แม้กล้องจะทำงานอัตโนมัติตามที่ตั้งค่าไว้ แต่ผมก็ละสายตาไม่ได้ เพราะถ้าพลาด หมายถึงเราต้องมีค่าใช้จ่ายในการบินซ่อมเพิ่ม” พลเล่า

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้
200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

ตัวเขาเองไม่ได้มองว่าการใช้ชีวิตบนเครื่องบินเป็นเรื่องราวสุดพิเศษ แต่เรื่องเล่าและจุดสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ละลานตาเวลามองจากฟ้าลงมาสู่ดิน คือเรื่องราวที่น่าสนใจและเล่าต่อยังไงก็สนุก

“รู้ไหมว่าจุดสังเกตที่ชัดที่สุดเวลามองจากข้างบนคืออะไร” เขาชี้ไปที่รูป ส่วนเราได้แต่ส่ายหน้า

“ดอยสุเทพครับ แต่เชียงใหม่ยังมีอีกอย่างที่ทำให้เรารู้ว่าถึงเชียงใหม่แล้ว คือสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เพราะในบรรดาจังหวัดทางภาคเหนือ สนามกีฬาใหญ่ขนาดนี้มีแค่เชียงใหม่ที่เดียว

“อีกสิ่งสำคัญที่ผมเลือกรูปนี้มา เพราะมันมาจากกล้องรุ่นเก่าเรียกว่า DMC (Digital Mapping Camera) เวอร์ชัน 1 ปัจจุบันใช้เวอร์ชัน 3 ความละเอียดถ้าเทียบกันต่อไปจะเห็นความแตกต่าง”

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

นับจากวันที่พลเรียนจบแล้วเริ่มทำงานภาคพื้น ภารกิจช่วงแรกของเขาคือการขี่มอเตอร์ไซค์สำรวจสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงสนาม I-Mobile Stadium ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สนามช้างอารีนา สนามฟุตบอลไม่มีลู่วิ่ง และมีสนามแข่งรถมาตรฐานอยู่ในบริเวณเดียวกัน

“สมัยก่อนมนุษย์ทำแผนที่ด้วยการเดินสำรวจ ต่อมาเทคโนโลยีมีการพัฒนา การสำรวจทางอากาศจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่เทียบกับการเดิน เครื่องบินสำรวจพื้นที่ได้กว้างกว่าและใช้เวลาน้อยกว่า” 

กล้อง DMC ในตู้ควบคุมความชื้น

งานของเขาเป็นผลลัพธ์จากการพัฒนาเทคโนโลยี 2 อย่าง คือกล้องถ่ายภาพและอากาศยาน

พ.ศ. 2401 การถ่ายภาพทางอากาศเกิดขึ้นครั้งแรกบนบอลลูนในประเทศฝรั่งเศส แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้วิธีนี้ลดความนิยมลง กระทั่ง พ.ศ. 2446 เครื่องบินลำแรกของโลกก็ขึ้นบินสำเร็จด้วยฝีมือของพี่น้องตระกูลไรต์ แต่ยังไม่ใช่เพื่อการบันทึกภาพ

พ.ศ. 2452 มีการถ่ายภาพจากเครื่องบินครั้งแรกที่ประเทศอิตาลี แต่ก็ไม่ได้นำมาใช้ทำแผนที่เช่นเดิม

ช่วงเวลาที่เร่งให้การถ่ายภาพทางอากาศมีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ท่ามกลางไฟสงครามอันร้อนระอุ ภาพถ่ายจากฟากฟ้าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทางการทหาร

หลังสงครามสงบ นักประดิษฐ์ไม่ยอมหยุดพัฒนา ฐานข้อมูลจากแผนที่ทางอากาศขยายประโยชน์ไปยังหลายสาขาที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นด้านภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ หรือโบราณคดี รวมไปถึงใช้เป็นหลักฐานในการขึ้นศาลและการวางระบบโครงข่ายต่าง ๆ ในประเทศ – ฟังดูยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

“สมัยก่อนระบบนำหนทางไม่ได้นำสมัยมาก เลยต้องมีต้นหนคอยกำหนดแผนการบินว่าต้องไปทางไหน พื้นที่งานอยู่ตรงไหนบ้าง จะกลับลำตรงไหน พร้อมกับมีช่างภาพอีกคน แต่พอจีพีเอสมา บทบาทของต้นหนก็ลดลง เขาเลยเอาต้นหนไปถ่ายรูปด้วย” 

ผลลัพธ์คือวันนี้เรามีต้นหนถ่ายภาพทางอากาศรุ่น 11 มาร่วมแชร์ประสบการณ์ให้ฟังแบบเอกซ์คลูซีฟ

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

มาถึงผลงานถัดไป เขาบอกชัดเจนว่าถ่ายบ้านตัวเองขณะบินผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์

พลเป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี ชีวิตสมัยเด็กของเขาเรียบง่าย และไม่รู้จักตำแหน่งที่เรียกว่า ต้นหน มาก่อน กระทั่งเพื่อนชักชวนให้สมัครเรียนเตรียมทหารด้วยกัน เท้าของเขาก็เริ่มไม่แตะพื้น จนได้ขึ้นทำภารกิจบนฟ้าที่ทั้งอันตราย เสี่ยงตาย แต่สนุกและมีประโยชน์ต่อผู้อื่น

“สิ่งนี้เป็นเรื่องเฉพาะทางและมีข้อกำหนดเยอะมากครับ หนึ่ง ต้องจบโรงเรียนเตรียมทหาร เหล่าทหารบก ต้องเรียนต่อโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า สาขาวิศวกรรมสำรวจ จบแล้วต้องทำงานกรมแผนที่ เพราะตำแหน่งนี้มีที่เดียว แถมยังต้องตามข่าวว่าเปิดสอบเมื่อไหร่ เพราะในรอบ 5 ปีจะมีเปิดรับสักครั้งและขึ้นอยู่กับความขาดแคลน สอบเสร็จเรียนต่ออีก 6 เดือน พอผ่านถึงได้ตำแหน่งนี้มา” 

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้
200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้
พลและทีมขณะปฏิบัติงาน

พลบอกเราว่า เป๋เพียงนิดชีวิตเปลี่ยน เพราะสาขาที่เขาเรียนเป็นเพียงสาขาเดียวที่นำมาสู่ปลายทางคือตำแหน่งต้นหนถ่ายภาพ ถึงแม้หลายหน่วยงานจะมีเครื่องบินเป็นของตนเอง แต่การถ่ายภาพทางอากาศต้องอาศัยผู้มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง ทั้งบางแห่งยังเป็นพื้นที่หวงห้าม ความรับผิดชอบนี้จึงเป็นของกรมแผนที่ทหาร

ย้อนกลับไปตอนเรียนวิศวกรรมสำรวจ เจ้าตัวบอกว่าข้อดีของสาขานี้คือการมีรุ่นพี่จากกรมแผนที่ทหารเป็นอาจารย์สอนโดยตรง ทำให้เขาในตอนนั้นซึมซับวัฒนธรรมและรู้จักสถานที่ทำงาน (ในอนาคต) เป็นอย่างดี

การเรียนมีทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ พร้อมด้วยชื่อวิชาที่คนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคยนัก ยกตัวอย่าง วิชาการแผนที่ เช่น วิชาการถ่ายภาพทางอากาศ วิชาภูมิศาสตร์และสารสนเทศ หรือวิชาการเดินอากาศ เช่น วิชาอุตุนิยมวิทยา วิชาการจราจรทางอากาศ และวิชาเครื่องวัดประกอบการบิน เป็นต้น

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

“ดูออกไหมครับว่าที่ไหน” พลถามเราขณะมีเสียงเครื่องบินโดยสารผงาดขึ้นฟ้าจากสนามบินดอนเมืองดังขึ้นเป็นครั้งที่ 10 

“สุวรรณภูมิค่ะ” เราคาดคะเนจากความใหญ่ของลานจอด และคำตอบนั้นก็ถูกต้อง

หากพูดถึงแลนด์มาร์กในการบินคงหนีไม่พ้นสนามบินแห่งนี้ และอีก 2 แห่งคือสนามบินสมุยและสนามบินภูเก็ตที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยและความน่าประทับใจเมื่อมองลงมา

“แต่ความสวยของผมกับความสวยที่คนทั่วไปถ่ายอาจไม่เหมือนกัน งานนี้ลืมการถ่ายรูปแบบปกติไปได้เลย การเป็นต้นหนคือต้องเรียนใหม่ทั้งหมด” อีกฝ่ายเปรยให้ฟัง

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

“บนพื้นเครื่องบินจะมีช่องหนึ่งที่เอาไว้วางกล้องตัวใหญ่สำหรับถ่ายรูปแนวดิ่ง มุมที่เราเห็น ถ้าไม่ใช่มองออกนอกหน้าต่างเห็นเมฆและความว่างเปล่า เราก็จะเห็นผืนดิน ผืนป่า ผืนน้ำ หลังคาบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นแนวดิ่งแบบก้มหน้าลงไป 90 องศา” เขาทำท่าให้ดู แต่ในความจริงไม่ได้ก้มหน้าลงไปอย่างนั้น เพราะบนเครื่องมีจอมอนิเตอร์ติดตั้งอยู่

ส่วนสิ่งที่เขาและทีมกังวลที่สุดมักหนีไม่พ้นเรื่องเมฆและสภาพอากาศที่อยู่เหนือการควบคุม

“เราต้องดูพยากรณ์อากาศก่อน อย่างวันนี้ฝุ่นเยอะ ขึ้นไปก็ถ่ายรูปไม่ชัด ส่วนใหญ่เลยบินเช้า เพราะอากาศสดใส ความสูงของการบินขึ้นอยู่กับว่าต้องการความคมชัดเท่าไหร่ อย่างที่ใช้ตอนนี้คือซูมเข้าไปได้ในระยะ 30 เซนติเมตร ถ้าซูมอีกจะไม่ชัดแล้ว แบบนี้อาจต้องบินให้ต่ำตั้งแต่แรก”

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้
200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้
ช่องสำหรับติดตั้งกล้อง DMC เพื่อถ่ายภาพแนวดิ่ง

เครื่องบินโดยสารมักบินให้พ้นเมฆชั้นที่ 2 เพราะอากาศนิ่ง แต่พวกเขาเลือกบินระหว่างเมฆชั้นที่ 1 และ 2 ด้วยเครื่องบินลำเล็กกว่า และอีกเหตุผลคือเมฆชั้นที่ 1 เป็นเพียงหมอกบาง ทำให้ยังเห็นพื้นดิน ส่วนตอนเช้าเมฆยังไม่ลอยขึ้น นั่นจึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด

“บินสายก็มีปัญหาเรื่องหมอกแดด ลักษณะเหมือนฝ้า มี Sun Spot ที่อาจบังพื้นที่สำคัญ พอรูปออกมา อ้าว! เมืองหายไปเพราะโดนก้อนเมฆบัง แบบนี้เราต้องเขียนมาร์กเอาไว้แล้วกลับมาบินซ่อม ผมถึงบอกว่าละสายตาจากงานไม่ได้เลย”

รูปที่ผ่านมาตรฐานต้องมีสิ่งบดบังไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ และต้องไม่ใช่จุดสำคัญ พลเล่าต่อว่าเขามีเพียงความกลัวเดียวเวลาอยู่บนฟ้า นั่นคือกลัวทำงานไม่สำเร็จ

“ผมกลัวพลาด เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย เสียเวลาด้วย ผมไม่ได้กลัวความสูงหรือกลัวตายนะ เพราะบนฟ้ามี Safety First แต่ก็มีบางทีที่ตรวจงานบนเครื่องแล้ว พอลงมาก็ยังเจอจุดพลาด หรือแม้กระทั่งสภาพอากาศเปลี่ยนจนต้องหยุดบิน แบบนั้นเราควบคุมไม่ได้ แต่ก็ไม่ค่อยเกิดขึ้น”

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

“นี่เป็นอีก 1 รูปที่มีความสำคัญทางโบราณคดี เพราะส่วนใหญ่จะเห็นรูปนี้แค่ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย พอมีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้เราเห็นหน้าตาของเมืองอยุธยาได้อย่างชัดเจน

“การถ่ายภาพทางอากาศไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้เพื่อทำแผนที่อย่างเดียว กรมที่ดินนำไปตรวจสอบงานใช้ประโยชน์จากที่ดินก็ได้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตใช้ในการวางแผนเดินสายไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ต่าง ๆ กรมป่าไม้อาจดูการบุกรุกพื้นที่ป่า กรมโยธานำไปพัฒนาเมืองต่อ ทุกคนต้องการแผนที่เพื่อวางแผน และต้องเป็นแผนที่จริง ๆ ที่เห็นจากมุมสูง ถ้าข้อมูลมาจากกรมแผนที่ การันตีว่าเชื่อถือได้”

200 วันบนฟ้าเพื่อทำแผนที่ของ ภัทรพล จันทร์วงศ์ ต้นหนถ่ายภาพทางอากาศผู้ทำตามใจไม่ได้

พลลองเปิดเอกสารฉบับหนึ่งให้ดู บอกเลยว่าอ่านแล้วไม่เข้าใจแม้แต่บรรทัดเดียว กระทั่งเขาเฉลยว่า นี่คือแผนที่การบิน

“จุดสีแดงคือจำนวนการลั่นชัตเตอร์ จะเห็นว่ามีหลายร้อยรูปแล้วแต่ขนาดพื้นที่ ทุกอย่างเป็นระบบอัตโนมัติ โดยเรากรอกข้อมูลที่คำนวณเอาไว้ตั้งแต่บนพื้นดิน พอขึ้นบินก็คอยดูให้กล้องทำงานตามนั้น”

“แล้วภารกิจของต้นหนมีอะไรบ้าง” เราถามกลับ

“งานจรคือการทำแผนที่ในบริเวณนั้น ๆ งานประจำคือการอัปเดตแผนที่ประเทศไทยทุก 5 ปี ปีแรกทำภาคกลาง ปีที่ 2 ภาคเหนือ ปีที่ 3 ภาคอีสานตอนบน ปีที่ 4 ภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่าง ปีที่ 5 คือภาคใต้” เขาไล่เลียงอย่างชำนาญ และเสริมว่าสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี คือรูปที่ใหม่ที่สุดจากภารกิจทำแผนที่ภาคเหนือหลังต้องหยุดบินไปหลายปีในช่วงโควิด-19

ภาพนี้คือตัวอย่างความเป็นธรรมชาติและความธรรมดาที่เขาเห็นอยู่ทุกครั้ง เมื่อบินอยู่ในเมืองไทย อะไรจะโดดเด่นกว่าไร่นาและพื้นที่เกษตรกรรม

“แล้วพี่พลเคยเจออะไรน่าหวาดเสียวระหว่างทำงานข้างบนบ้างไหม” เราถามต่อ อีกฝ่ายตอบทันทีว่า ไม่เคย เพราะทุกอย่างถูกวางแผนมาเป็นอย่างดี หากจะมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นก็มักเกิดเมื่อนำรูปออกมาประมวลเป็นแผนที่แล้ว

“สมมติเจอหลังคาสีแดงกลางป่าสีเขียว ต้องให้ทีมภาคพื้นออกไปสำรวจอีกทีว่านั่นคืออะไร มันจะต่างจาก Google Map ที่มีชื่อสถานที่พร้อม พวกเรามองพื้นโลกด้วยสายตาของคนที่ไม่รู้อะไรเลยจริง ๆ การใส่ชื่อสถานที่เกิดหลังจากมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจและนำข้อมูลนั้นกลับมาคีย์ลงระบบ” 

“ถ้าอย่างนั้นต้องไปถึงขั้นตอนไหนจึงจะถือว่าเสร็จภารกิจแล้ว” เราพลิกแผนการบินดูแม้จะไม่เข้าใจ

“หลังจากที่เรานำแผนที่ไปพิมพ์และเก็บเข้าคลัง รอผู้ที่ต้องการมาขอใช้บริการไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน หรือประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งแบบที่มีและไม่มีค่าใช้จ่าย” เขาตอบ

เอาล่ะ ใครที่ต้องการขอใช้ภาพถ่ายทางอากาศก็ลองติดต่อกรมแผนที่ทหารดู

“อันนี้คือพระปฐมเจดีย์ เป็นแลนด์มาร์กเหมือนดอยสุเทพ หรือแม้กระทั่งวงเวียนใหญ่ในกรุงเทพฯ เพราะเป็นจุดที่สังเกตได้ง่ายจากบนฟ้า ตัดกับทุ่งนาหรือตึกที่หน้าตาเหมือนกันหมด”

ในยุคที่มี Google Map ให้บริการอย่างสะดวกสบาย หลายคนคงตั้งคำถามว่า ทำไมการใช้แรงงานมนุษย์ขึ้นไปเสี่ยงอันตรายเพื่อทำแผนที่จึงยังจำเป็นอยู่ ทั้งหมดตอบได้อย่างง่ายดายว่า Google Map เป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาเป็นหลักฐานทางราชการไม่ได้

นอกจากนี้ ภาพถ่ายดาวเทียมยังมีความโค้งตามรูปทรงของโลก ไม่ได้ถ่ายแนวดิ่ง มีการเหลื่อมกันของรูปที่ถ่ายไว้คนละปี สีป่า 2 ฝั่งอาจไม่เท่ากัน หรืออาคารบางแห่งอาจเบี้ยวหรือต่อกันไม่เนียน

“อีกอย่างคือพิกัดสถานที่ รูปเราเป็น Top View แนวดิ่งของจริง ขณะที่ภาพดาวเทียมจะแอบเอียง เห็นฐานหรือด้านข้างของอาคารด้วย ซึ่งปัญหานี้จะเกิดเมื่อเรานำรูปมาเข้าโปรแกรมระบุพิกัด 

“รูปถ่ายดาวเทียมกับระบบพิกัดทำงานแยกกัน พิกัดที่แท้จริงคือการมองจากมุมบน สมมติเห็นตึกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซ้ายบนคือพิกัด A ซ้ายล่างคือ B ขวาบนคือ C และขวาล่างคือ D แต่ใน Google Map ที่เห็นข้างตึกเอียง ๆ จะระบุว่าฐานมุมซ้ายบนไม่ใช่พิกัด A แต่กลายเป็นพิกัด F ทั้งที่เมื่อเอาตารางพิกัดมาวางบนรูป ตัวฐานกับหลังคาคือที่เดียวกันจึงต้องเป็นพิกัดเดียวกัน”

ดังนั้นด้วยความเฉพาะทางของงาน การจัดทำแผนที่ความละเอียดสูงจึงยังเป็นงานที่ขาดผู้เชี่ยวชาญไปไม่ได้

“ผมบินภาคกลางบ่อยที่สุด แต่ภาคใต้ก็สวยมาก ปกติเราทำแผนที่เฉพาะที่มีพื้นดิน ถ้าจะถ่ายติดพื้นน้ำมาก็อาจเพราะต้องบินผ่านเพื่อกลับตัว ส่วนเกาะนับเป็นพื้นดินเลยมีการทำแผนที่ด้วย

“ที่ชอบที่สุดคืออ่าวมาหยา แต่เสียดายว่ารูปไม่ชัด” พลส่ายหน้าขณะมองเกาะพีพีบนหน้าจอ ด้วยความที่เป็นกล้องเก่า และภาคใต้ฝนตกชุกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไหร่ที่มีโอกาสจึงจำเป็นต้องบินทันที ไม่ต้องรอให้ฟ้าโปร่งเหมือนภาคอื่น

งานที่ต่อยอดจากแผนที่ของพวกเขามีตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงสังคมและประเทศ การแบกรับความรับผิดชอบต่อผู้คนที่อยู่ข้างหลังต้องอาศัยความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อเข้าสู่พื้นที่ทำงาน ระบบอัตโนมัติถูกตั้งค่าให้ตื่นมาทำหน้าที่ เช่นเดียวกับความผิดพลาดซึ่งหาทางปรากฏให้เห็นทุกครั้งที่มันมีโอกาส

“ความรู้ของพวกผมต้องพร้อม งานบนฟ้าเสร็จต้องลงมาจัดการภาคพื้นให้ครบกระบวนการ ความพร้อมด้านจิตใจต้องมี ทุกอย่างแข่งกับเวลาและสภาพอากาศ ความพร้อมทางร่างกายยิ่งขาดไม่ได้ และที่สำคัญคือข้างบนมีความเสี่ยงสูงกว่าอยู่ข้างล่าง แม้จะเป็นสิ่งที่เลือกด้วยความตั้งใจ แต่ก็มีบางอย่างที่ต้องเสียสละเช่นกัน” หนึ่งในนั้นคือเวลากินข้าว เราเอ่ย อีกฝ่ายหัวเราะแล้วตอบกลับว่า ก็ใช่

ผู้ที่เห็นว่าเครื่องบินอยู่ที่ไหน ภายนอกเป็นอย่างไร ความสูงเท่าไหร่ คือนักบิน

ส่วนพลที่นั่งประจำการอยู่หลังนักบิน มีเพียงหน้าจอประจำตัวที่เห็นแค่ทิวทัศน์แนวดิ่งดังรูปที่ถ่ายมา การจะรู้ว่าตนเองบินถึงจุดหมายหรือยัง ต้องอาศัยแลนด์มาร์กเหมือนที่เขากล่าวข้างต้น และแหลมฉบังก็คือหนึ่งในนั้น 

โดยรวมแล้วเขาเลือกรูปโดยคำนึงจากสิ่งสำคัญ คือการมองเห็นและความสวยงามเท่าที่ตัวเองจะเฟ้นหาได้ในฐานะช่างภาพผู้เลือกกดชัตเตอร์ตามใจไม่ได้

“แต่อีกความประทับใจของผมคือเกาะสมุย ไม่ได้แนบรูปมาด้วย ครั้งนั้นเราใช้เครื่องบินสองที่นั่ง บินต่ำประมาณ 600 เมตร จนแทบเห็นตัวคน การบินต่ำขนาดนี้ทำให้เห็นความสวยของเกาะสมุยแบบสุด ๆ

“เมื่อก่อนเราไม่มีทางเห็นวิวพวกนี้เลย แต่พอมีโดรนก็หาชมความงามเหล่านี้ได้อยู่” พลเล่าด้วยความสนุก แต่เราเชื่อว่าภาพถ่ายด้วยโดรนกับสิ่งที่เขาเห็นบนความสูง 23,000 ฟุต คงเป็นความงามที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง และมีเพียงไม่กี่คนบนโลกเท่านั้นที่จะมีโอกาสเห็นในสิ่งที่เขาเห็น

“ช่างภาพปกติอาจเลือกมุมสวยที่ต้องการได้แต่ผมเลือกถ่ายตามใจไม่ได้ เพราะมันคือฐานข้อมูลที่ต้องให้คนอื่นเอาไปใช้ต่อแบบไร้ข้อผิดพลาด”

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล