ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับโลกระเบิดแข้งขึ้นเมื่อใด ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บรรยายเกมหรือที่เราเรียกว่า ‘นักพากย์’ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้รับชมการแข่งขันได้มีอรรถรส เพราะเขาคือผู้เติมสีสันจากสิ่งที่เห็นบนหน้าจอ ช่วยเพิ่มรสชาติของเกมลูกหนังให้ถูกปากคอบอลชาวไทย
แม้ปัจจุบันมีนักพากย์ฝีมือดีเกิดขึ้นมากมาย แต่คนหนึ่งที่แฟน ๆ ยังคิดถึงเสมอทั้งที่ว่างเว้นจากการพากย์ไปแล้วหลายปี คือ หนุ่ย-เอกราช เก่งทุกทาง เจ้าของเสียงนุ่มน่าฟัง สำนวนลีลาการพากย์แบบสบาย ๆ กระชับพอดี ไม่มีเอนเอียงทีมไหน พร้อมสอดแทรกเกร็ดความรู้และอารมณ์ขันอยู่ตลอด
ใครที่เคยรับชมฟุตบอลลีกยุโรป หรือฟุตบอลโลกช่วง ปี 1994 – 2010 คงประจักษ์ผลงานของเอกราชได้เป็นอย่างดี บางช่วงมีคนยกให้เขาเป็นนักพากย์ฟุตบอลมือหนึ่งของวงการ เพราะไม่เพียงฝีมือการบรรยายเกม แต่รวมถึงความเป็นมืออาชีพในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นอีกคนที่สร้างมาตรฐานให้นักพากย์รุ่นหลังเจริญรอยตาม
มีหลายเสียงเรียกร้องให้กลับไปจับไมค์อีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าเอกราชยังคงพอใจกับหน้าที่คนเล่าข่าวกีฬาในรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ที่ทำต่อเนื่องมากว่า 10 ปี บทบาทนี้ยังพิสูจน์ว่างานพากย์ฟุตบอลไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขาทำได้ดี ไม่นานนี้ก็เพิ่งได้รับรางวัลพิธีกรข่าวกีฬายอดเยี่ยม จากเวที MAYA TV AWARDS 2023
ล่าสุดคนโลว์เทคฯ ที่พิมพ์ดีดไม่เป็นอย่างเขา ก้าวสู่การเป็นยูทูบเบอร์เต็มตัว ในฐานะเจ้าของช่อง เอกราช เต็มหนุ่ย เพื่อขยายเวลาการเล่าเรื่องฟุตบอลและกีฬาต่าง ๆ มอบความสุขให้แฟนคลับหายคิดถึง
เนื่องในโอกาสที่ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป EURO 2024 เปิดฉาก ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงอยากชักชวนไปพูดคุยกับเอกราชถึงความหลงใหลในโลกฟุตบอล ตลอดจนแนวคิดเบื้องหลังการทำงานที่ผ่านมา ผู้ชายคนนี้มักถ่อมตัวอยู่เสมอว่าไม่ได้เก่งทุกทางเหมือนกับนามสกุล แค่เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี เพียงเท่านั้นเอง
จดหมายรักถึงโลกฟุตบอล
ถ้ามีใครสักคนนั่งไทม์แมชชีนไปโผล่ที่ห้องของเด็กชายเอกราช สิ่งที่เขาจะพบคือหนังสือและการ์ตูนญี่ปุ่นมากมายเรียงอยู่บนชั้น หนึ่งในนั้นมีนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ ปึ๊งใหญ่วางอยู่ด้วย
นิตยสารฟุตบอลเล่มนี้เองคือรักแรกของเขาที่มีต่อเกมลูกหนัง และอาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่อาชีพผู้ประกาศข่าวกีฬาในวันนี้
“ตอนนั้น 10 กว่าขวบได้มั้ง เดินผ่านแผงหนังสือแล้วเห็นหน้าปก ฟรานซ์ เบคเคนบาวเออร์ สมัยเล่นให้บาเยิร์น มิวนิก ดูเท่มาก เลยซื้อมาอ่าน พออ่านแล้วชอบคอลัมน์ ย. โย่ง ตะลุยลอนดอนดูฟุตบอลอังกฤษ พี่โย่ง-เอกชัย นพจินดา เป็นคนเขียนหนังสือสนุก อ่านคอลัมน์แกแล้วสนุกเว้ยเฮ้ย ก็เลยติด ซื้อ สตาร์ซอคเก้อร์ มาทุกเล่ม” เขาย้อนความหลัง
หนุ่ยเป็นลูกชายของ สมเกียรติ เก่งทุกทาง หรือ ก.เก่งทุกทาง ที่แฟนละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ทางช่อง 7 มักผ่านตาในฐานะตัวประกอบ และมือทำเทคนิคพิเศษของบริษัทดาราวิดีโอ แต่ด้วยความที่คุณพ่อและคุณแม่ของเขาแยกทางกัน จึงพาหนุ่ยมาฝากไว้ให้คุณอาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรม
ชีวิตวัยเด็กของเขาค่อนข้างมีโลกส่วนตัวสูง ชอบฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนังดูการ์ตูน เคยคลั่งไคล้การ์ตูน หน้ากากเสือ ถึงขั้นขอเงินแม่ไปซื้อแผ่นเสียงตั้งแต่ไม่ถึง 10 ขวบ จนกระทั่งวันหนึ่งในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น นิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ จึงเข้ามาเติมเต็มความสนใจ และทำให้เขาเริ่มต้นดูฟุตบอลอย่างจริงจัง
ความบ้าบอลของเด็กชายเอกราช มีมากจนถึงขนาดจับเอาตุ๊กตุ่นไอ้มดแดง อุลตร้าแมนมาเล่นฟุตบอลกัน ตั้งกล่องดินสอเก่า ๆ เป็นเสาประตู แล้วสวมบทพากย์เป็นนักเตะในจินตนาการ บางวันก็เอานิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ มากางให้เห็นหน้ากลางที่เป็นรูปทีมฟุตบอล แล้วจับวางเรียงต่อกัน 10 เล่ม 20 เล่ม จนเต็มบ้าน ยิ่งวันไหนที่มีถ่ายทอดฟุตบอลทางโทรทัศน์ เขาก็จะกางภาพของทั้ง 2 ทีมที่กำลังแข่งกันวางข้างจอ เพื่อสร้างบรรยากาศ ดูบอลไป มองภาพไป ยิ่งได้อารมณ์
“สมัยเป็นเด็กก็คือตื่นเต้นเวลาดูบอลในทีวี สตาร์ซอคเก้อร์ หน้ากลางมันจะเป็นรูปทีมอังกฤษ เราก็เอามากางหน้าทีวี บิวด์ ๆ สนุกแบบเด็ก ๆ แล้วปีหนึ่งทางทีวีเขาซื้อลิขสิทธิ์มาไม่กี่คู่ เอามาฉายวน มีทีมอยู่ไม่กี่ทีม อย่างแอสตันวิลลา, วูล์ฟแฮมป์ตัน, ดาร์บีเคาน์ตี เราก็จำได้แหละว่าผลเป็นไง แต่เราก็ดูซ้ำ ๆ
“ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดูง่าย มีเสน่ห์ เมื่อก่อนพอพี่โย่งมาพากษ์ด้วยก็ยิ่งสนุกไง เราก็เลยชอบ”
ถึงจะเป็นนักดูบอล แต่โชคชะตาไม่ได้ลิขิตให้เอกราชเป็นนักฟุตบอลอาชีพ เพราะสภาพร่างกายไม่แข็งแรงนัก เขาเคยแขนหักทั้ง 2 ข้าง เคยโดนเพื่อนกระโดดเตะบอลพลาดมาอัดโดนหน้าผากจนเป็นรอยบุ๋มเล็ก ๆ เกือบต้องทำศัลยกรรม เด็กหนุ่มจึงขอเล่นฟุตบอลโกลรูหนูกับเพื่อนก็พอใจแล้ว
พอโตขึ้นอีกหน่อย เขาเริ่มฟังรายงานผลฟุตบอลจากวิทยุคลื่นสั้นของ BBC ที่จูนไปเจอโดยบังเอิญ ฟังภาษาอังกฤษออกบ้างไม่ออกบ้าง แต่ก็พอรู้เรื่อง ได้ลุ้นว่าเกิดอะไรขึ้นบนสนาม ทุกอย่างเกิดจากความสนุก เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากิจกรรมอดิเรกนี้จะมีประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต
ด้วยความที่เป็นคนชอบศิลปะและสื่อบันเทิง จึงอยากเรียนนิเทศศาสตร์ แม้สุดท้ายสอบติดที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งไม่ตรงกับความสนใจเสียทีเดียว แต่นับเป็นอีกช่วงชีวิตที่มีสีสันมาก เขามีโอกาสเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลของคณะ และพาทีมคว้าแชมป์ในการแข่งขัน 5 คณะ โดยระหว่างนั้นเลือกเรียนวิชาโทด้านนิเทศศาสตร์ควบคู่ไปด้วย
“ผมเป็นคนโชคดีอย่างหนึ่ง คือรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เราสนใจอยู่ 2 อย่าง คือเรื่องบันเทิง อยากทำงานเบื้องหลัง อยากเขียนบท อยากเป็นผู้กำกับ อีกอย่างหนึ่งคือเป็นนักข่าวกีฬา เพราะตอนนั้นมี สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน แล้ว ก็ซื้อทุกวัน พอเขาให้เลือกเรียนวิชาโท เราก็ลงศิลปนิเทศ ที่เหมือนกับนิเทศศาสตร์ เรียนเขียนบท เขียนข่าว ตัดต่อ ทำให้มีพื้นฐาน พอเรียนจบมาก็เล็งงานไว้แค่นี้ ถ้าไม่งานบันเทิงก็กีฬา อย่างอื่นไม่ได้ดูเลย”
สมัยนั้นวงการหนังไทยยังไม่เฟื่องฟูเหมือนในปัจจุบัน หลังเรียนจบใหม่ ๆ เอกราชเคยไปตามกองถ่าย ไปคุยกับบริษัทจัดหานักแสดงเพื่อสำรวจตลาดและศึกษางาน แต่เขามองว่าตัวเองน่าจะไปได้ยากบนเส้นทางสายนั้น จึงตัดสินใจเบนเข็มมาทางนักข่าวกีฬาแทน
ชื่อแรกที่นึกถึงคงเป็นที่ไหนไม่ได้ นอกจากสยามกีฬา เจ้าของนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์ เอกราชไม่อยากเดินไปสมัครงานมือเปล่า จึงลองเขียนบทความฟุตบอลไปเสนอ โดยอาศัยช่วงที่สโมสรลิเวอร์พูลกำลังรุ่งโรจน์ เดินหน้าคว้าแชมป์ เขียนวิเคราะห์วิจารณ์การเล่นของทีมร่ายยาวถึง 2 หน้ากระดาษ แต่แทนที่จะนำต้นฉบับไปส่งที่โรงพิมพ์ เขากลับทำเรื่องที่แปลกสุดขั้ว ด้วยการนำไปยื่นให้กับพี่ยามที่หน้าร้านสตาร์ซอคเก้อร์ สาขาพันธุ์ทิพย์พลาซ่า!
“ที่พันธุ์ทิพย์ฯ มีร้านสตาร์ซอคเก้อร์ เราจำได้ว่า พี่อู๊ด-สมลักษณ์ โหลทอง แฟนของ พี่วิ-ระวิ โหลทอง เจ้าของสยามกีฬา แกดูแลร้านอยู่ บางทีพี่อู๊ดก็เข้าร้าน เราเลยเขียนคอลัมน์ด้วยลายมือใส่กระดาษ A4 แล้วไปฝากยามไว้ เพราะคิดว่าไม่มีอะไรเสียหายนี่หว่า ไม่ได้เจอพี่อู๊ด ไม่ได้เจอผู้บริหารอะไรเลยนะ” หนุ่ยเล่าแล้วขำตัวเองในวันนั้น
โชคดีที่ต้นฉบับของเขาไม่ถูกขยำลงถังหรือกลายไปเป็นกระดาษพับถุงกล้วยแขก พี่ รปภ. ผู้มีจิตใจอารีได้ส่งต่อไปจนถึงมือของคนในสยามกีฬา จังหวะปะเหมาะกับที่มีนักข่าวฝ่ายต่างประเทศลาออกพอดี ไม่นานนักกองบรรณาธิการจึงโทรศัพท์มาตามตัวเอกราชให้เข้าไปสัมภาษณ์งาน
ในที่สุดชายหนุ่มผู้บ้าฟุตบอลก็ได้เริ่มต้นอาชีพนักข่าวกีฬาสมดังความตั้งใจ การทำงานที่สยามกีฬานี่เองที่ช่วยบ่มเพาะประสบการณ์ เปิดประตูแห่งโอกาสให้ได้สัมผัสกับการเป็นนักพากย์มืออาชีพ และนับแต่นั้น ชีวิตของเขาก็ไม่เคยไกลห่างจากโลกของกีฬาอีกเลย
จากนักข่าว สู่ผู้บรรยายเกมฟุตบอล
ครั้งหนึ่งเอกราชเคยพูดว่าตัวเองมีบางอย่างคล้ายกับตัวละคร ฟอร์เรส กัมป์ คือเป็นคนที่ไหลไปตามชีวิต ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็แค่ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุด
เขาก้าวเข้ามาในสยามกีฬาช่วงหลังฟุตบอลยูโร 1988 ที่เนเธอร์แลนด์คว้าแชมป์ โดยรับหน้าที่แปลข่าวซึ่งส่งข้ามประเทศมาที่เครื่องเทเล็กซ์ ในคืนวันเสาร์ที่มีการแข่งขันฟุตบอล ก็ต้องคอยฟังวิทยุคลื่นสั้นเพื่อรายงานว่าสกอร์เป็นเท่าไร ใครเป็นคนยิงประตู แต่ด้วยความที่ฟังมาบ่อยตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน จึงทำได้โดยไม่ยาก แค่เปลี่ยนจากกิจกรรมอดิเรกมาเป็นงาน
สิ่งที่ยากคือการปรับเวลาชีวิต เพราะงานนักข่าวกีฬาต่างประเทศ กว่าจะปิดข่าวเสร็จก็ราวเที่ยงคืน เข้างานอีกครั้งตอนบ่าย แถม พี่น้องหนู-ธราวุธ นพจินดา น้องชายของ ย. โย่ง ยังเรียกให้ไปช่วยทำนิตยสาร สตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ ด้วย จึงมีงานต้องทำตลอด แทบไม่ได้หยุด
“ทำงานทุกวัน เข้าบ่ายทำถึงดึก ปิดข่าวเสร็จเขียนต้นฉบับ สตาร์ซอคเก้อร์ ต่อ บางทีก็ง่วง แปลไปมือเขียนอะไรออกมาไม่รู้เรื่องเลย ต้องมาเขียนต่อตอนเช้า” เขาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
การทำงานในโรงพิมพ์สยามกีฬายังทำให้เอกราชได้เจอกับรุ่นพี่ที่เขาติดตามอ่านผลงานใน สตาร์ซอคเก้อร์ มาก่อน เช่น บิ๊กจ๊ะ-สาธิต กรีกุล, ยอด-ยอดชาย ขันธะชวนะ, หมู-นพนันท์ ศรีศร รวมทั้งสองพี่น้องตระกูลนพจินดา ย. โย่ง และน้องหนู ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ล้ำค่าของชีวิต
“พี่โย่งตอนนั้นพากย์บอลแล้ว แกจะเข้ามาตอบจดหมายวันศุกร์ เจอไม่บ่อยหรอก แต่พี่โย่งเป็นคนที่เป็นกันเอง เข้ามาก็ชวนน้อง ๆ คุยแบบสบาย ๆ เรายังเคยเกาพุงพี่โย่งเล่นมาแล้ว ส่วนพี่หมูนี่สนิทกัน แกชอบฟังเพลง บางทีเราแอบไปเอาเทปแกมาเปิดฟัง หรือบางคืนอยู่ปิดข่าวเสร็จ เราจะต่อเก้าอี้นอน นอนแบบไอ้เข้ขวางคลองเลย โต๊ะพี่หมูอยู่ข้างในแกก็ต้องข้ามเราไป ไม่มีใครถือสากัน”
เวลานั้นนักข่าวสยามกีฬามักได้รับการติดต่อให้ไปบรรยายเกมฟุตบอลทางโทรทัศน์ ซึ่งจะมีธรรมเนียมดึงรุ่นน้องเข้าไปช่วย อย่างตอนที่สาธิตเข้ามาพากย์ใหม่ ๆ ก็ชวนเขาไปเป็นลูกมือคอยจดข้อมูลส่งให้ แลกกับการประกาศขอบคุณตอนท้าย แม้ไม่ได้ทำอะไรมากมาย แต่ก็เหมือนได้ชิมลางงานสายนี้
เอกราชได้พากย์ฟุตบอลอย่างจริงจังผ่านหน้าจอครั้งแรก เมื่อ ตุ่ม-เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ นักพากย์รุ่นพี่ชวนไปทำหน้าที่ผู้บรรยายร่วม ในช่วงที่ช่อง 9 อสมท ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอล FA CUP ฤดูกาล 1991 – 1992 หน้าที่ของผู้บรรยายร่วมคือคอยสอดแทรกข้อมูลที่น่าสนใจรวมถึงวิเคราะห์เกมการเล่น ซึ่งต้องรู้จังหวะ ความพอเหมาะพอดี โดยไม่ไปรบกวนการบรรยายหลัก
“ไปพากย์ครั้งแรกเราก็ตื่นเต้น จะพูดอีกทีคิดแล้วคิดอีก อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ จังหวะไม่ค่อยดี แถมยังพูดไม่เต็มเสียง พี่ตุ่มก็แนะนำให้พูดให้เต็มเสียง ให้เป็นธรรมชาติ เรียนรู้สักพักถึงรู้จังหวะมากขึ้น”
ประสบการณ์จากการบรรยายฟุตบอล FA CUP ทำให้เมื่อ IBC เคเบิลทีวีรายแรกของเมืองไทยถือกำเนิด เอกราชจึงนำเทปที่เคยพากย์ไปให้ทางบริษัทพิจารณา และได้รับโอกาสให้พากย์เป็นผู้บรรยายหลักเต็มตัว เริ่มจากแมตช์เล็ก ๆ ก่อน เช่น ฟุตบอลลีกบราซิล ฟุตบอลลีกเนเธอร์แลนด์ พอทำไปสักระยะถึงขยับมาบรรยายฟุตบอลลีกใหญ่อย่างอิตาลีและอังกฤษ
ระหว่างนั้นเขาอยากให้เวลากับครอบครัวมากขึ้น จึงตัดสินใจปิดฉากอาชีพนักข่าวกีฬาที่ทำมาเกือบ 3 ปี เนื่องจากต้องการปรับเวลาให้กลับมาเป็นมนุษย์กลางวัน โดยย้ายมาเป็นบรรณาธิการบทความที่นิตยสาร GM ขณะเดียวกันก็ยังรับงานพากย์ทางเคเบิลทีวีอย่างต่อเนื่อง
ฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐอเมริกา คือทัวร์นาเมนต์ที่เอกราชได้ทำงานร่วมกับ ย. โย่ง บุคคลที่เขายึดถือเป็นต้นแบบอย่างใกล้ชิด จากเด็กน้อยที่เคยฟังเสียงจากหน้าจอทีวี สู่หน้าที่ผู้บรรยายร่วมที่คอยเสริมข้อมูลระหว่างเกม ซึ่งทำให้เขาเห็นความเป็นมืออาชีพของนักพากย์รุ่นพี่คนนี้ได้ชัดเจน โดยเฉพาะการส่งอารมณ์ร่วมไปถึงคนดูทางบ้าน อย่างเวลาฟุตบอลเข้าประตู ย. โย่ง จะไม่เพียงพูดว่า “เข้าไปแล้วครับ” แต่จะโยกหัวส่ง พร้อมกับเน้นเสียงให้มีน้ำหนักฟังดูตื่นเต้นไปด้วย
“พี่โย่งเป็นคนที่มีพรสวรรค์ แกพากย์อะไรก็สนุก แล้วความรู้เยอะ อย่างเวลาซีเกมส์ โอลิมปิก พี่โย่งไปพากย์ยูโดยังสนุกเลย ทั้งที่เป็นกีฬาที่ไม่น่าสนุก แล้วไม่ได้แกล้งนะ แกสนุกของแกจริง ๆ เพราะฉะนั้นถ่ายทอดออกมามันก็เลยสนุกไง
“เราซึมซับมาจากพี่โย่ง เพราะว่าดูแกเยอะ แล้วพี่โย่งเป็นคนที่ถ้าอะไรมันผิด แกก็แก้ พี่หนูก็เหมือนกัน อย่างชื่อนักฟุตบอล แฟรงค์ ไรจ์การ์ด เมื่อก่อนเรียก แฟรงค์ ริดจ์การ์ด เพราะเราแปลอย่างเดียว หรือสมัยก่อนเรียกสโมสรเอฟเวอร์ตันว่า อีเวอร์ตัน ตอนหลังได้ฟังซาวนด์ ได้รู้แล้วก็เปลี่ยน เราต้องกล้าเปลี่ยนเพื่อความถูกต้อง”
น่าเสียดายที่อีก 3 ปีหลังจากฟุตบอลโลกครั้งนั้น ย. โย่ง จากไปอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2540 คอกีฬาทั่วประเทศต่างเศร้าโศกเสียใจ ซึ่งในฐานะของนักพากย์ฟุตบอลรุ่นน้อง เอกราชตั้งใจที่จะสานต่อมาตรฐานการทำงานที่ ย. โย่ง วางเอาไว้ดีแล้วให้เดินหน้าต่อไปอย่างดีที่สุด
ผู้บรรยายกีฬาอีกคนหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจและมีอิทธิพลในการทำงานของเขาคือ เปี๊ยก-ศุภพร มาพึ่งพงศ์ นักพากย์อเมริกันเกมผู้ล่วงลับ ด้วยความที่ชอบดูอเมริกันฟุตบอลเป็นทุนเดิม เอกราชจึงได้ฟังอยู่เป็นประจำ
สไตล์การพากย์ของศุภพรจะสบาย ๆ ซึ่งเป็นพิมพ์นิยมของผู้บรรยายฝั่งสหรัฐอเมริกา เนื่องจากกีฬาประเทศนี้ส่วนมากใช้เวลานาน บางเกมยาวถึง 3 ชั่วโมง คนพากย์ไม่จำเป็นต้องอยู่กับเกมในสนามตลอด บางทีคุยกันเองหรือหัวเราะก็ได้ ทำให้บรรยากาศในการรับชมผ่อนคลายไปอีกแบบ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ลืมใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้คนดู
“ครั้งหนึ่งเจอกับพี่เปี๊ยก แล้วแกพูดกับเราว่า เฮ้ย! พยายามยกระดับคนดู แกไม่ได้หมายถึงว่าคนดูไม่รู้อะไรเลยนะ แต่คือการวิเคราะห์เกม หรือว่าเสริมอะไรที่ทำให้คนดูรู้จักเกมมากขึ้น อินกับเกมมากขึ้น เข้าใจลึกซึ้งขึ้น อันนี้คือหน้าที่ของผู้บรรยายที่ดี” เขาเล่าถึงคำสอนของรุ่นพี่ที่เคารพ
เมื่อสไตล์การพากย์แบบอารมณ์ร่วมสูงของ ย. โย่ง ซึมซับผสมผสานกันกับสไตล์การพากย์สบาย ๆ แบบอเมริกันเกมของศุภพร บวกกับการทุ่มเททำงานหนักและชั่วโมงบินที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดเอกราชก็ค้นพบสไตล์การบรรยายเกมของตัวเองที่ใครหลายคนยกให้มีความพอดิบพอดีทั้งจังหวะการพูด การใช้คำ อารมณ์ร่วม ความเป็นกันเอง รวมทั้งการสอดแทรกข้อมูลและอารมณ์ขัน
ทั้งหมดนี้ทำให้ชื่อของเขาโดดเด่นขึ้นมาและเริ่มได้รับการยอมรับจากแฟนฟุตบอลมากขึ้นเรื่อย ๆ
ผู้สร้างความสุขให้ผู้ชมกีฬา
ความฝันที่แท้จริงของเอกราชคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่น่าเสียดายว่าเส้นทางชีวิตไม่ได้พาเขาไปเฉียดใกล้เลย แถมยังหักเลี้ยวมาในสายอาชีพนักพากย์ฟุตบอล ชายหนุ่มรู้ตัวว่าเป็นสิ่งที่เขาทำได้จึงเดินหน้าต่อ อย่างน้อยที่สุดทั้ง 2 งานก็มีจุดร่วมเดียวกัน คือสร้างความสุข ความบันเทิงให้กับผู้ชม
หลังจากทำงานที่นิตยสาร GM ควบคู่กับการพากย์ฟุตบอลอยู่ราว 4 ปี เอกราชก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำมารับงานบรรยายเกมฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เพราะอยากทุ่มเทกับงานนี้ให้เต็มที่ โดยเลือกเป็นนักพากย์อิสระ ไม่มีสังกัด ใช้ผลงานพิสูจน์ ซึ่งสมัยนั้นต้องถือว่ากล้าและบ้าบิ่นมาก
“คือเราไม่ชอบทำอะไรหลายอย่าง รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีหรอก ก็พากย์อย่างเดียวไปเลย แล้วเป็นฟรีแลนซ์นี่เสี่ยงนะ ถ้าทำไม่ดีก็อยู่ไม่ได้ เขาก็ไม่ให้พากย์ เราต้องรับผิดชอบตัวเอง มันก็สนุกตรงที่ท้าทาย ถ้าอยู่ในสังกัดมันก็ยังอุ่นใจ แต่เราไม่มีเลย สู้คนเดียว”
อีกเหตุผลหนึ่งยังเป็นการเดิมพันว่าต้องอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ เพราะเขาเชื่อว่าคนเราต้องทำอะไรให้ได้ดีสักอย่าง ดังนั้น อยากให้คนจดจำชื่อ ‘เอกราช เก่งทุกทาง’ ในฐานะคนพากย์ฟุตบอลที่มีฝีมือ
การพากย์ฟุตบอลเป็นงานที่หนัก ความกดดันสูง เต็มไปด้วยความคาดหวังจากผู้ชม สิ่งที่ช่วยให้รักษามาตรฐานได้คือต้องอุทิศตัว ทุ่มเทเวลาแรงกายแรงใจกับงาน มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ซึ่งหมายถึงรับผิดชอบต่อคนดูที่ติดตามชมด้วย
วันไหนที่ต้องพากย์ฟุตบอล เขาจะนอนพักให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น สมองปลอดโปร่ง ซึ่งช่วยทำให้มีสมาธิอยู่กับเกม หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม น้ำเย็น ไอศกรีม ที่อาจส่งผลต่อเสียง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ตลอดในช่วง 90 นาที
‘เข้าห้องพากย์มือเปล่าไม่ได้’ คือคติที่เอกราชยึดถือมาตลอด หมายถึงก่อนเกมต้องหาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งรายชื่อ 11 ผู้เล่นตัวจริง ตัวสำรอง และผู้จัดการทีม ไปจนถึงข่าวสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ที่ทีมเผชิญอยู่ อันดับตารางคะแนน นักเตะตัวเก่ง นักเตะที่ลงสนามไม่ได้ ไปจนถึงสถิติต่าง ๆ ซึ่งทำให้เข้าใจมากขึ้นและสอดแทรกข้อมูลเหล่านี้ลงไประหว่างเกมได้
ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เขาต้องไปไล่เปิดหาตามหนังสือพิมพ์ นิตยสารฟุตบอลต่างประเทศอย่าง World Soccer หรือ FourFourTwo ยิ่งเป็นทีมเล็กหรือลีกรองยิ่งหาข้อมูลยาก แต่ก็ต้องรวบรวมไว้ในมือให้มากที่สุด พอเข้าสู่ยุคออนไลน์ที่ข้อมูลล้นทะลัก ก็ต้องรู้วิธีเสาะหาเลือกมาใช้
เมื่อการแข่งขันเริ่มต้น นักพากย์ต้องมีสมาธิอยู่กับเกมตลอด เพราะไม่มีทางรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นตรงหน้า นอกจากนี้ไม่ใช่ว่าอยากพูดอะไรก็พูด แต่ต้องรู้จังหวะ การใช้คำที่เหมาะสม
“อาชีพนักพากย์ก็เหมือนกับนักแสดง ต้องรู้หน้าที่ว่าเราคือคนที่ให้ความสุขประชาชน เวลาเขาเปิดดูบอล ควรเป็นช่วงเวลาที่เขาแฮปปี้ ฟุตบอลคือความบันเทิง จะไปเอาอะไรกับมันนักหนา ไม่ควรใส่ข้อมูลจนหนัก แต่เป็นการสอดแทรกให้สนุก สิ่งที่สนุกกว่านั้นคือเราต้องดึงอะไรบางอย่างของเกมออกมา เช่นจุดเปลี่ยนในเกมเราต้องอ่านออก ต้องอ่านให้เป็น อย่างบอลอิตาลี เล่นกันน่าเบื่อ แต่จริง ๆ มีความลึกอยู่นะ”
บางอย่างที่คนดูเห็นในจออยู่แล้ว อาจไม่ต้องพูดก็ได้ หรือถ้าไม่มั่นใจก็ยังไม่ควรพูดออกไป
ถ้าเกมนั้นสนุกอยู่แล้ว 2 ทีมเล่นกันเร็ว โต้ไปโต้มา เขาจะปล่อยไหล ไม่จำเป็นต้องหยิบข้อมูลขึ้นมาใช้ให้รกหูเลยก็ได้ แต่ถ้าเกมช้า 2 ทีมเล่นแบบดูเชิง เน้นแท็กติก ลงไปตั้งรับ พานทำให้คนดูจะหลับ เอกราชก็จะใส่ข้อมูล วิเคราะห์เกม เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและน่าติดตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ฝืนหรือบิดให้ผิดธรรมชาติ
“เกมมันก็เป็นตัวของมันนี่แหละ เราทำให้มันสนุกเกินจากความเป็นจริงไม่ได้ สมมติเกมช้า แล้วไปเร่งจังหวะเร็ว มันก็ดูเป็นลิเก แต่เราทำได้แค่ทำให้น่าสนใจขึ้นไง สนุกไม่สนุกแล้วแต่คนดู พากย์บอลนี่ย้อมแมวไม่ได้
“แล้วแต่ความสำคัญของแมตช์ด้วย ถ้าเป็นเกมใหญ่ระดับบอลโลก นัดชิงบอลถ้วย หรือทีมใหญ่เจอกัน เราจะไม่เล่นมาก แต่ถ้าเป็นแบบลีกอิตาลี เกมมันช้า น่าเบื่อ พากย์กับพี่หมู นพนันท์ เราก็เล่นได้ ใส่มุก ใส่อะไรไปบ้าง แต่ต้องมีความพอดี ไม่ใช่เลยเถิด มันจะเละไง ทุกอย่างต้องปรับให้พอดีทั้งนั้น”
ในรายการแข่งขันที่ไม่คุ้นเคย เช่น งานพากย์ฟุตบอลซีเกมส์ ชื่อของนักเตะเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไม่คุ้นปาก หรือพากย์ทีมจากทวีปแอฟริกาที่นักเตะรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน เขาจะใช้เทคนิคพิเศษคือจำลองเกมขึ้นมาในหัวแล้วลองพากย์แบบสมมติ เหมือนเล่นซิมูเลเตอร์ ซึ่งจะช่วยจดจำตำแหน่งและสร้างความคุ้นเคยในการออกเสียง ทำให้ลดความผิดพลาดเมื่อทำงานจริง
การพัฒนาตัวเองก็สำคัญ ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบสไตล์การพากย์ของเอกราชตั้งแต่วันแรก อย่างในช่วงฟุตบอลยูโร 1996 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ เขาพากย์แบบอารมณ์ดีเพราะอยากให้เกมมีหลายรสชาติ มีการเล่นมุก หัวเราะกับผู้บรรยายร่วม ซึ่งคนดูบอลเวลานั้นอาจยังไม่คุ้นเคย วันต่อมาจึงโดนหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเขียนวิจารณ์เผ็ดร้อนว่าพากย์เลอะเทอะ พูดไปเรื่อย ซึ่งเขาน้อมรับฟัง และนำมาปรับปรุงเพื่อหาสมดุลในการนำเสนอ พร้อมกับประเมินตัวเองและพยายามพัฒนาวิธีการบรรยายเกมอยู่ตลอด
ทัวร์นาเมนต์ที่ทำให้คนดูบอลทั้งประเทศรู้จักกับ เอกราช เก่งทุกทาง คือฟุตบอลโลก 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่งเปรียบเสมือนฟุตบอลสนามใหญ่ มีสปอตไลต์ส่องมาจากทุกทาง
เวลานั้น บริษัท ทศภาค จำกัด เข้ามารับหน้าที่ถ่ายทอดสดแทนโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยหรือทีวีพูลซึ่งเป็นเจ้าประจำ และยังนำเสนอจุดขายว่าเป็นการถ่ายทอดฟุตบอลโลกครั้งแรกของเมืองไทยโดยไม่มีโฆษณาคั่น ทางทศภาคจึงพยายามคัดเลือกนักพากย์ฝีมือดีเข้ามาร่วมงาน พร้อมกับจัดการอบรมให้ความรู้และสร้างสตูดิโอแห่งใหม่ที่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
เอกราชได้รับโอกาสให้เป็นนักพากย์ตัวหลัก รับผิดชอบเกมสำคัญตั้งแต่นัดเปิดสนามไปจนถึงนัดชิงชนะเลิศ รวมทั้งเป็นพิธีกรรายการไฮไลต์การแข่งขันทุกคู่ จึงไม่อาจหลีกหนีความกดดันที่จะต้องเค้นฝีมือออกมาเต็มที่ โดยไม่ทำให้เจ้าของงานเสียชื่อ
นอกจากการบรรยายสดแล้ว เอกราชยังต้องกลับเข้ามาที่สตูดิโอเพื่อทำไฮไลต์สรุปผลทุกคืนตลอด 1 เดือน ซึ่งนับว่าเป็นงานสุดหิน เพราะต้องดูเกมทุกคู่ รู้จักนักเตะทุกคน เพื่อพากย์ไฮไลต์ แม้จะเหนื่อยมากแต่ก็เป็นอีกช่วงที่สนุกที่สุดในชีวิตการทำงาน
การจับคู่ที่ลงตัวกันของเขากับ หมู นพนันท์ ผู้บรรยายร่วมรุ่นพี่ที่มองตาก็รู้ใจมาตั้งแต่พากย์เคเบิลทีวี บวกกับมาตรฐานและความทุ่มเทในการพากย์ที่เสมอต้นเสมอปลาย รวมทั้งการดูแลอย่างใส่ใจของเจ้าของงาน ก็ทำให้ฟุตบอลโลกครั้งนั้นผ่านไปได้อย่างน่าจดจำ และแน่นอนว่าทำให้ผลงานของเอกราชโดดเด่นขึ้นมาในสายตาของแฟนบอลจำนวนมาก จนบางคนยกให้เป็นนักพากย์อันดับ 1 ของประเทศ
“อย่างที่บอกว่าหน้าที่ของเราคือการให้ความบันเทิงกับผู้ชม ผมไม่ได้มองในแง่ของชื่อเสียงหรือการจัดอันดับอะไรเลย ก็คือทำหน้าที่ของเราไป ถ้าคนดูมีความสุขกับมัน ก็ถือว่าเราได้ทำงานสำเร็จแล้ว”
หนึ่งคนที่สะดุดกับผลงานของเอกราชเข้าอย่างจัง คือ สรยุทธ สุทัศนะจินดา เพราะหลังจากเชิญไปออกรายการ คม ชัด ลึก ทาง Nation Channel ช่วงฟุตบอลโลก 2002 อยู่ 2 ครั้ง พอถึงฟุตบอลยูโร 2004 และโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ สรยุทธมาเปิดรายการใหม่ของตัวเองแล้ว คือ เรื่องเล่าเช้านี้ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 กรรมกรข่าวรายนี้จึงชักชวนเอกราชให้มาช่วยอ่านข่าวกีฬาในรายการ
ครั้งแรกเอกราชนึกว่าคงพักเดียว เมื่อฟุตบอลจบแล้วก็แยกย้าย แต่กลายเป็นว่าสรยุทธกลับทาบทามให้เป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาประจำต่อเนื่องไปเลย
“งานพิธีกรไม่ใช่สิ่งที่เราถนัดหรอก เพราะเราไม่ใช่คนพูดเก่ง แต่ในรายการไม่ใช่มานั่งตัวแข็งอ่านข่าวเหมือนสมัยก่อน แค่เป็นตัวของเราเอง เหมือนนั่งคุยกันตามสบาย เลยคิดว่าพอจะทำได้อยู่ มาทำเราก็เป็นตัวเองเต็มที่” เอกราชอธิบายเหตุผลที่ตอบตกลง
ปฏิเสธไม่ได้ว่างานผู้ประกาศข่าวกีฬาในช่วงเช้าตรู่ส่งผลต่องานพากย์ฟุตบอลที่มักแข่งขันในช่วงค่ำหรือดึกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอกราชจึงรับงานบรรยายเกมน้อยลง จนหลังจากฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้แล้ว คนดูแทบไม่เห็นเขาพากย์ฟุตบอลอีกเลย
“คิดเหมือนตอนลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ คือไม่ชอบทำมั่วไปหมด ชอบทำอะไรให้ดีไปสักอย่าง ตอนนี้ชีวิตเดินหน้าไปแล้ว ผ่านรุ่นของเราไปแล้ว เหมือนส่งไม้ต่อไป และเก็บเป็นความทรงจำดี ๆ ไว้ ไม่นึกเสียดายแม้แต่นิดเดียว” เขายืนยันหนักแน่น
พิธีกรข่าวกีฬาทีมสรยุทธ
จากผู้ชายที่มีคนรู้จักเฉพาะแฟนฟุตบอล แต่เมื่อเอกราชปรากฏตัวขึ้นเคียงข้างพิธีกรชายที่โด่งดังลำดับต้น ๆ ของประเทศ ก็ทำให้ชาวบ้าน แม่ค้า คนดูข่าว จำชื่อได้ เดินไปที่ไหนก็มีคนรู้จัก
ภาพที่ทุกคนคุ้นเคย คือพอรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ถึงช่วงข่าวกีฬา เอกราชจะออกมาเล่าข่าวแบบสบาย ๆ มีโยนมุกโต้ตอบกับสรยุทธบ้างพอเป็นสีสัน บรรยากาศเฮฮาเหมือนเพื่อนคุยกัน อย่างวันไหนลิเวอร์พูลทีมโปรดชนะ สรยุทธทำท่าจะคุยโวกว่าปกติ เอกราชก็จะคอยขัด แกล้ง ให้ผู้ชมหัวเราะไปด้วย
“ตอนที่เข้ามาทำ ยุทธบอกว่า ผมมีโยนมานะ เราก็บอกว่า เออ งั้นผมยิงกลับนะ เหมือนเราค่อนข้างรู้สไตล์กันอยู่ พอจะจูนเข้ากันได้ แต่ไม่เคยมีการเตี๊ยมกันมาก่อนเลย ไม่เคยมีสคริปต์ ไม่เคยรู้ล่วงหน้า คิวยังไม่มีเลย บางทียุทธโยนสด ๆ รับได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไหลไป เป็นธรรมชาติเรา”
โจทย์ของรายการคือ ‘ทำให้กีฬาเป็นเรื่องชาวบ้าน’ หมายถึงนำเสนอข่าวกีฬาที่เข้าใจง่าย เหมือนเป็นการคุยมากกว่ารายงานผล แม้แต่แม่บ้านหรือคนที่ไม่ดูกีฬาก็มีส่วนร่วมด้วยได้ โดยไม่กดรีโมตเปลี่ยนช่องไป
ช่วงแรกคนที่คุ้นชินกับการพากย์ฟุตบอลมานานอย่างเขา จึงต้องปรับตัว ทั้งลดความเข้มข้นจริงจังของข้อมูลลง ไม่ใช้ศัพท์แสงเฉพาะทางที่เข้าใจยาก เน้นสรุปสั้น ๆ เนื้อ ๆ ถ้าผู้ชมสนใจไปหาอ่านเพิ่มเติมได้ตามอัธยาศัย
เป็นเรื่องปกติที่รายการโทรทัศน์ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับรสนิยมของผู้ชมแต่ละยุคสมัย จากการเล่าข่าวกีฬาอย่างเดียว เอกราชได้รับมอบหมายให้นำเสนอข่าวที่มีสีสัน สนุกสนาน เบาสมองแปลก ๆ ฮา ๆ เพิ่มเติมเข้ามา โดยมีเป้าหมายคือเรียกรอยยิ้มของผู้ชม และทำให้รายการผ่อนคลายลง
ถึงแม้ว่าข่าวเหล่านี้จะไม่ได้ขัดกับความเป็นตัวเอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าทำให้ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะต้องหาข่าวที่ตรงสเปกภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งเป็นความท้าทายในทุกวัน
“ช่วงกีฬามีแค่ 4 – 5 นาที แต่ใช้เวลาเตรียมตัวหาข่าวค่อนข้างเยอะ บางที 4 – 5 ชั่วโมง เพราะเราต้องเลือกข่าว บางวันมีข่าวกีฬาแต่ไม่เหมาะกับรายการเรา อย่างข่าวกอล์ฟ ข่าวเทนนิส อาจเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่มเกินไป ก็ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นฟุตบอล คนดูอยู่แล้ว เล่นได้ไม่มีปัญหา แต่ละวันอาจมีข่าวปิดที่เป็นข่าวเบา ๆ เป็นข่าวสีสัน เช่นจระเข้ขึ้นมาคลานบนสนามกอล์ฟ มันต้องมีข่าวพวกนี้เข้ามาแทรก เพื่อให้บางทีคนที่เขาไม่อยากดูกีฬา พอดูได้สนุก ๆ มันต้องมีน้ำจิ้มพวกนี้คอยเสริมอยู่ แต่ว่าไม่ได้หาได้ง่าย ๆ มันยากตรงนี้”
ทุกวันนี้เอกราชยังคงรับผิดชอบงานในส่วนของเขาเองทั้งหมด ตั้งแต่หาข่าว คัดเลือกข่าว เขียนสคริปต์ แจ้งทีมงานให้เตรียมภาพประกอบ บางคืนที่มีฟุตบอลเตะดึก เขาก็จะนอนก่อนแล้วตื่นมาดู เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของเกม ซึ่งถ้าดูเฉพาะไฮไลต์อย่างเดียวอาจไม่เข้าใจ พอฟุตบอลจบราวตี 4 – 5 ก็จะรีบบึ่งรถจากสมุทรสาคร ผ่านถนนพระราม 2 เพื่อมาให้ทันเข้ารายการประมาณ 06.10 น.
ถ้ามีเวลาเหลือก็จะเช็กข่าวอีกเล็กน้อย พอจบรายการแล้วบางวันอาจมีการอัดรายการ หนุ่ยคุยออนไลน์ ทางยูทูบเรื่องเล่าเช้านี้ต่อเพิ่มเติม ก่อนกลับไปนอนพักและตื่นมาเช็กข่าวประมาณ 5 โมงเย็น บางทีกว่าจะได้นอนอีกครั้งก็เกือบเที่ยงคืน ชีวิตวนเป็นลูปเดิมเกือบทุกวัน
สิ่งที่ช่วยยืนยันว่าความทุ่มเทของเอกราชไม่สูญเปล่า คือเสียงจากผู้ชมหลายคนที่ส่งมาว่า ตั้งแต่เขามาเล่าข่าวก็ทำให้หันมาสนใจข่าวกีฬามากขึ้น รวมไปถึงรางวัลต่าง ๆ ที่ช่วยการันตีถึงการทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีไม่แพ้การพากย์ฟุตบอล อย่างไม่นานนี้เขาเพิ่งได้รับรางวัลพิธีกรข่าวกีฬายอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลเกียรติยศ MAYA TV AWARDS 2023 โดยเอกราชกล่าวบนเวทีว่าแรงขับเคลื่อนของเขาก็คือผู้ชม
“ผมทำรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ มาเกือบ 20 ปี ไม่เคยรู้สึกว่านานเลย เพราะชีวิตต้องมองไปข้างหน้า ชีวิตอยู่กับข่าวตลอดเวลา ทุกวันนี้ยอมรับว่าเหนื่อยมาก ไม่รู้ว่ามีคนดูแค่ไหนใน 4 – 5 นาทีนี้ แต่นั่นไม่สำคัญ เพราะถึงจะมีคนดูเรา 20 คน 200 คน หรือ 2,000 คน เราก็ทำเต็มที่เต็มร้อยทุกวัน”
อีกหนึ่งภารกิจที่เพิ่มเข้ามาในช่วงหลังคือการทำช่องยูทูบ เอกราช เต็มหนุ่ย – Aekarach TemNui ซึ่งเป็นโครงการส่วนตัวเขาที่คิดจะทำมาตั้งนานแล้ว ก่อนค่อย ๆ คลำทางมาเรื่อย ๆ จนเปิดช่องเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ปัจจุบันมีผู้ติดตามแล้วกว่า 1.7 แสนราย
“เอกราช เต็มหนุ่ย คือความเป็นตัวเรา อย่างน้อยได้สื่อสารกับกลุ่มคนดูของเรา อยากทำอะไรเราทำไง พูดได้เต็มที่ สื่อสารกันโดยตรงได้มากที่สุด สไตล์เราจะไม่ได้เล่นมุกแรง ๆ หรือใช้คำที่หวือหวา เน้นเรื่องการเปิดประเด็น ให้ข้อมูล นำเสนอในแง่เหมือนกับเป็นกึ่งข่าว แล้วก็มีวิเคราะห์เพิ่มเติม มันก็ค่อนข้างจะเรียบ ๆ สนุกพอประมาณ ไม่โฉ่งฉ่าง แต่เราก็พอใจให้มันเป็นแบบนี้นะ”
เขาถ่ายทำด้วยโทรศัพท์มือถือแบบง่าย ๆ ใช้พื้นที่ห้องเล็ก ๆ ขนาดไม่กี่ตารางเมตร มุมหนึ่งของโต๊ะทำงานที่ช่องเป็นสตูดิโอ บางทีก็เปลี่ยนห้องหรือถ่ายทำที่บ้านบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยหนีไปจากมุมเดิม ๆ
ถึงจะกินเวลาชีวิตเพิ่มขึ้นมานิดหน่อยจากงานที่รัดตัว เหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ก็นับเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขดี เพราะเหมือนกับดูฟุตบอลเสร็จแล้วก็ได้มีเรื่องมาเล่าให้กับแฟน ๆ ที่ติดตาม
จากนักพากย์ฟุตบอลผู้อยู่แถวหน้าของวงการ เปลี่ยนบทบาทมาสู่พิธีกรข่าวกีฬาหน้าจอโทรทัศน์ และยูทูบเบอร์มือใหม่บนโลกออนไลน์ แต่สิ่งหนึ่งที่เอกราชยังคงเหมือนเดิมตลอดไป คือความตั้งใจที่จะมอบความสุขและสอดแทรกความรู้เรื่องกีฬาให้กับผู้ชมของเขาทุกคน ทำทุกหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ
เพราะนี่คือชีวิตที่เขาได้เลือกแล้ว
ขอบคุณภาพประกอบเพิ่มเติมจาก
Facebook : เรื่องเล่าเช้านี้ และ เอกราช เต็มหนุ่ย
ข้อมูลประกอบการเรียบเรียง
- บทสัมภาษณ์คุณเอกราช เก่งทุกทาง วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567
- หนังสือเอ็กซ์กะราช โดย เอกราช เก่งทุกทาง
- เสาร์สวัสดี หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2548
- นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 524 วันที่ 17-23 มิถุนายน พ.ศ. 2545
- นิตยสาร SUMMER ฉบับที่ 27 พ.ศ. 2545
- นิตยสาร ขวัญเรือน ปีที่ 36 ฉบับที่ 786 ปักษ์หลัง เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547
- นิตยสาร a day ฉบับ 100 IDOLS
- รายการ THE IDOL คนบันดาลใจ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ทางสถานีโทรทัศน์ Modern Nine TV