เรารู้จักเธอครั้งแรกจากการอ่านพาดหัวข่าวว่า “หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกำลังจะมีผู้อำนวยการคนใหม่” นักข่าวเขียนขยี้ด้วยว่า “เธอลงนามปกป้องเสรีภาพของนักศึกษาวิจิตรศิลป์”

เราเจอเธอตัวเป็น ๆ ครั้งแรกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อเธอเดินขึ้นไปเล่าเกี่ยวกับหอศิลปฯ บนเวที PechaKucha: meet (urban) nice people ในงาน Bangkok Design Week 2023 ด้วยความฉะฉาน

เธอเป็นใครกันนะ?

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

ถึงไม่ควรทำให้เป็นเรื่องแปลกแม้แต่น้อย แต่ก็ต้องยอมรับว่าผู้หญิงที่ได้ขึ้นเป็นผู้นำนั้นมีไม่เยอะเลยจริง ๆ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมปีนี้ ชื่อของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล จึงผุดขึ้นมาในหัวเป็นชื่อแรก

โชคดีที่ฟ้าฝนเป็นใจ ติดต่อไปได้ไม่กี่อึดใจเธอก็ติดต่อกลับ (ขอบคุณพี่คิมสำหรับความใส่ใจมา ณ ที่นี้ด้วย) ในที่สุดเราจึงได้นั่งคุยกับเธอยาว ๆ ตั้งแต่เรื่องความชอบผจญภัยในวัยเด็ก ความสนใจในศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเป็นคิวเรเตอร์รักงาน ไปจนถึงการเป็นผู้หญิงอายุน้อยที่รับตำแหน่งสูงสุดใน BACC

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC
หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

ฝันผจญภัย

“ตอนเด็ก ๆ อยากเป็น อินเดียนา โจนส์”

พวกเราขึ้นลิฟต์มาจนถึงชั้น 6 ชั้นสำนักงานที่คงไม่มีโอกาสได้เข้ามาเหยียบ ถ้าวันนี้เราไม่ได้นัดคุยกับผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปฯ​ ซึ่งใฝ่ฝันอยากเป็น อินเดียนา โจนส์ ตรงข้ามกับตำแหน่งในสังคม เธอมาในลุคสบาย ๆ ไม่แต่งหน้า กับท่าทีที่ต้อนรับเราอย่างดี

“ไม่รู้สิ ดูแล้วรู้สึกถึงการผจญภัยบวกกับเรื่องวัฒนธรรม ถ้าได้เป็น คงได้เห็นในสิ่งที่คนไม่ค่อยได้เห็นกัน ภาคที่ชอบที่สุดเลยคือ Crystal Skulls มันติดตามาก ช็อตที่แบบ ตึด ตือ ดือ ดื๊อ” ผอ.หอศิลปฯ เล่าไปหัวเราะไป นอกจาก อินเดียนา โจนส์ แล้ว อีกอย่างที่เธอใฝ่ฝันอยากเป็นก็คือ ลิตเติลเมอร์เมด เวลาไปดำน้ำเธอก็ชอบว่ายเข้าหาเรือที่จมอยู่ แล้วมโนเองว่าจะเจอขุมทรัพย์

“เป็นคนชอบเรียนรู้ อยากรู้อยากเห็นอะไรตลอด เห็นห้องมืด ๆ ก็อยากเดินเข้าไปดู เอ๊ะ มีอะไรวะ” เธอพยายามอธิบายความเป็นตัวเองให้เราฟัง

คิม อดุลญา เติบโตมากับพหุวัฒนธรรม เธอเรียนในโรงเรียนฝรั่งเศสของรัฐบาลฝรั่งเศสตั้งแต่เล็กจนถึงอายุ 13 ปี โดยย้ายไปย้ายมาระหว่างโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ลอนดอน และปารีส ตามแต่ว่าพ่อจะไปทำธุรกิจที่ไหน ซึ่งก็เป็นพ่อนี่แหละที่ขับรถพาทั้งครอบครัวไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เจอวัด เจอถ้ำ เจอภูเขา ก็จอดรถลงไปดู นี่คงเป็นอีกที่มาสำคัญของความฝันในการเป็น อินเดียนา โจนส์ ของคิม

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC
หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

ถึงจะชอบเล่าเกี่ยวกับฝันผจญภัยในวัยเด็ก แต่จริง ๆ แล้ว ตอนนั้นเธอไม่ได้เห็นภาพ ‘อาชีพ’ ในอนาคตของตัวเองชัดเจนนัก จนกระทั่งย้ายไปเป็นนักเรียนโรงเรียนประจำที่ลอนดอน

“จำได้ว่าตอนอายุ 15 เรียนประวัติศาสตร์ แล้วได้การบ้านให้ไปเขียนเกี่ยวกับ Henry Tudor พี่เห็น Painting ในหนังสือ พี่ก็ไปเขียนเกี่ยวกับ Painting อันนั้น อธิบายไปว่าเฮนรีกำลังใส่อะไรอยู่ ในภาพมีอะไรวางไว้บ้าง สาเหตุที่มีสิ่งนี้คืออะไร จำได้ว่าครูประวัติศาสตร์บอกว่า เอ่อ อันนี้ไม่ใช่การบ้านที่ฉันขอให้เธอทำนะ (หัวเราะ) แต่ว่าอันนี้เขาเรียกว่า Art History เธอโตไปก็อาจจะไปเรียนในมหาวิทยาลัยได้”

มากไปกว่าการไม่ก่นด่าเพราะไม่ทำตามโจทย์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากคิมเรียนโรงเรียนไทย (แซว) คือคิมในวันนั้นได้ไอเดียขึ้นมาว่า เธออาจเกิดมาเพื่อเรียน Art History และตัดสินใจเรียน Art History and Music ที่ SOAS ในระดับปริญญาตรีจริง ๆ

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

สุดท้ายแล้ว จากประวัติศาสตร์ศิลปะกว้าง ๆ ความเชี่ยวชาญของเธอก็เจาะจงลงไปเป็นประวัติศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเธอเรียนในระดับที่สูงขึ้น เมื่อเราถามว่าทำไมถึงสนใจศาสตร์นี้ เธอก็เล่าถึง ‘ความใหม่’ ของศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับทางยุโรปที่มีมาหลายร้อยปี

คิมบอกว่า การพัฒนาของความเป็นศิลปะนั้นไม่เหมือนกันเลย ไทยเราเพิ่งมีเครื่องถ่ายรูปเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 เพิ่งมีอิทธิพลเรื่อง Aesthetics ที่เปลี่ยนจากวัฒนธรรมของไทย แล้วก็เพิ่งมีการเรียนการสอนศิลปะในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเมื่อ 70 – 80 ปีนี้เอง

“พอเรายังเด็กมาก พี่เลยมองว่ามีโอกาสน่าสนใจที่เราจะปั้น ‘ความเป็นศิลปะร่วมสมัย’ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไทยให้แตกต่างได้”

คิดให้ไกลเข้าไว้ นี่เป็นความเห็นที่อาจนำพาอะไรใหม่ ๆ มาสู่ภูมิภาคของเราได้เลย

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

ตบตีกับงานศิลปะ

จาก 4 – 5 ทางให้เลือกเดิน สำหรับคนเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ ‘ภัณฑารักษ์’ หรือ ‘คิวเรเตอร์’ ในแกลเลอรี เป็นอาชีพหลักที่คิมเลือก ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนจบจาก SOAS และปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปฯ กรุงเทพฯ เธอก็ยังคงเรียนปริญญาเอกสาขาศิลปะและภัณฑารักษศึกษา ที่ Tokyo University of Arts ไปด้วย

“งานแรกเรียกว่าตื่นเต้น มันเป็นงานที่เราอยากทำมานาน พอได้ทำก็รู้สึกภูมิใจตัวเองและอยากให้ออกมาดี พอเราได้จับงานจริง ได้เห็นงานศิลปะที่เคยเรียนในหนังสืออยู่ต่อหน้า มันเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง” เธอเล่าถึงงานแรกในแกลเลอรีที่ลอนดอน เกี่ยวกับหน้ากากไม้ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเธอเรียกตำแหน่งผู้ช่วยในตอนนั้นว่า ‘ตำแหน่งสุดท้าย’ ก็ต้องรับหน้าที่ทำทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยเงินค่าจ้างชั่วโมงละ 5.50 ปอนด์

สำหรับคิม การเป็นคิวเรเตอร์คือการนำงานของศิลปินมาเล่าเรื่องต่อ โดยวิเคราะห์งานของศิลปินจากประวัติ ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม และเป็นการทำงานร่วมกันกับศิลปิน (หรือครอบครัวของศิลปิน หากศิลปินไม่อยู่แล้ว) โดยสิ่งสำคัญที่สุดของอาชีพนี้ คือต้องวิจัยให้แน่นก่อนจะสื่อสารออกไป

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

“แพสชันในการ Curate ของพี่ก็คือ Storytelling พี่ชอบนำเสนอเรื่องราวผ่านงานนิทรรศการ มันไม่ได้เป็นการอธิบายว่า ‘นี่คือสิ่งที่คุณควรรู้ บอกต่อ ๆ กันไปตามที่ฉันบอก’ แต่คือการเชิญชวนให้คนมาคิด มา Critique มาตั้งคำถามกับตัวเองแล้วตอบเอง” อดุลญาตั้งใจเล่า

“ถ้าเพื่อนอยู่ข้าง ๆ อาจจะมองไม่ตรงกัน แต่นี่คือสิ่งที่สำคัญ เพราะเราต้องพูดคุยกันได้แม้ความคิดเห็นไม่ตรงกัน และถึงคิวเรเตอร์จะมีแนวทางการเล่าเรื่องชัดเจน คนดูก็อาจจะมองเห็นในสิ่งที่คิวเรเตอร์มองไม่เห็นก็ได้” 

หากคุณไปเสิร์ชชื่อ ‘Adulaya Hoontrakul’ ก็จะพบว่าเธอทำงานมาเยอะมาก แค่ไล่สายตาอ่านก็พอจะรู้ว่าเธอ ‘เมามัน’ แค่ไหน

นอกจากเป็นคิวเรเตอร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ เธอยังผ่านการทำงานอีกหลายตำแหน่ง ตั้งแต่ฝ่ายซื้อขายแกลเลอรี ไปจนถึงจัด Conference ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง Haiijaii Project ซึ่งเป็นนิทรรศการสัญจรศิลปะจัดวางในพื้นที่เฉพาะเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้วย เรียกได้ว่าอยู่มาหลายฝ่ายและลงไปคลุกคลีกับหลายด้านของศิลปะ ทั้งโบราณคดีและร่วมสมัย

“ทำงานกับศิลปะเหมือนทำงานกับคนรัก” เธอบอกเรา “เราจะทะเลาะกับเขาตลอด เราจะเห็นไม่ตรงกันตลอด แต่เราอยู่เพราะเรารักมัน เราต้องทำมันให้สำเร็จ มันเป็นอะไรที่พลิกไปพลิกมาได้ตลอด ฉะนั้น ต้องรักและเชื่อในความสำคัญของศิลปะจริง ๆ”

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC
หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

หญิงผู้นำ

แล้วอะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาสมัครเป็นผู้อำนวยการ BACC ในช่วงวัย 30

“เรียกว่าเป็นการคว้าโอกาส” เธอตอบทันที

คิมบอกว่าการเป็นผู้อำนวยการในองค์กรศิลปะสักแห่งเป็นหนึ่งในแผนของชีวิตอยู่แล้ว หากแต่ยังไม่ใช่ ณ ตอนที่ตัดสินใจยื่นใบสมัคร ตอนนั้นเธอคิดเพียงว่า “นี่จะเป็นการแนะนำตัวกับผู้ใหญ่ในวงการ เราไป Say hello” หากไม่ได้ เธอก็ไม่มีอะไรจะเสีย แต่สุดท้ายความสามารถและชะตาชีวิตก็พาเธอมานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการในที่สุด

“ตอนนั้นมีสัมภาษณ์หลายรอบมาก แต่ละรอบเราก็แนะนำตัวเองไปเรื่อย ๆ แต่พอมาถึงรอบที่ 4 เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย อยากทำให้มันดีจังเลย” คิมเล่าถึงวินาทีไฟติดพร้อมหัวเราะ

สิ่งที่เธอพูดในการสัมภาษณ์รอบที่ 4 คือการอ้างอิงถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนที่เธอเล่าให้เราฟังในตอนแรก ด้วยความที่ BACC ไม่มีคอลเลกชันศิลปะของตัวเอง เธอนิยามที่นี่เป็น ‘พื้นที่สร้างคน’ แล้วตั้งคำถามว่า ‘ที่นี่สร้างใคร’ บนเวทีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีบทบาทยังไงในภูมิภาค

หนังชีวิต ‘อดุลญา’ เมื่อเด็กที่อยากเป็น อินเดียนา โจนส์ รับบทผู้นำหญิงอายุน้อยแห่ง BACC

ในวันที่ประกาศผลว่า คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ได้เป็นผู้อำนวยการคนใหม่ของ BACC ซึ่งจะทำหน้าที่ไปอีก 4 ปี สื่อต่าง ๆ ก็พากันให้ความสนใจ และชูเรื่องที่เธอลงนามปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากประวัติการทำงานคิวเรเตอร์ยาวเหยียดที่ผู้คนได้อ่าน นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักเธอ ซึ่งเธอยินดีที่จะเปิดเผย เพราะเธอเชื่อใน Freedom of Speech โดยเฉพาะในโลกศิลปะ

ในฐานะที่เป็นผู้นำหญิงคนหนึ่ง คิดยังไงกับโลกที่ผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำได้ยากกว่า – เราถาม

“จริง มันยากจริง ความจริงคือโลกนี้ไม่เท่าเทียม ทั้งเรื่องเพศ สัญชาติ สีผิว หรือชนชั้นทางสังคม คนบางกลุ่มมีความได้เปรียบมากกว่าบางกลุ่ม”

“คงอีกนานเลย” เธอถอนหายใจ “จำได้เลย ตอนที่โอบามาได้ขึ้น มีคนพูดว่า อเมริกาจะเห็นนายกที่เป็นคนผิวดำก่อนเห็นคนที่เป็นผู้หญิงแน่นอน บางทีเหมือนว่าตัดสินง่ายไป เพราะว่าเป็นผู้หญิงหรือเพราะเป็นผู้ชาย แต่สิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในโลก คนเขาตัดสินกันง่ายขนาดนั้น มันเป็น System ใหญ่ ๆ ที่ถ้าเราไม่พยายามเปลี่ยนหรือทำอะไรที่แตกต่าง มันก็จะอยู่เหมือนเดิม

“บางคนคิดว่าไม่ต้องทำอะไรหรอก มันคงไม่มีวันเปลี่ยน พี่ก็แบบ ทำไมมมม!!!” อดุลญาเร่งวอลุมขึ้นมากะทันหัน “ต้องลองสิ มันต้องพยายาม ถึงจะยังไม่สำเร็จในตอนนี้ แต่ก็เป็นการก้าวอีก 1 ก้าว”

ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ
ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ

แล้วคิดยังไงกับคำพูดที่ว่า ผู้หญิงไม่ควรเป็นผู้นำ เพราะเป็นเพศที่ใช้อารมณ์ในการตัดสินมากกว่าตรรกะ – เราถามต่อ

“เริ่มมีอารมณ์ละ” อดุลญาหายใจยาวก่อนพูดต่อ หัวเราะตัวเองดังลั่นที่เริ่มใช้อารมณ์ตอบขึ้นมาจริง ๆ “ถ้าไปโฟกัสในแง่ลบ ก็จะดูเหมือนว่าผู้หญิงใช้อารมณ์ตัดสิน เธอเป็นเมนส์เหรอถึงได้เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าคิดกลับกันอีกที (หยุดคิด) ถ้าตอนนั้นใช้อารมณ์ตัดสินแล้วมันออกมาดีสำหรับทุกคน มันก็ไม่มีการพูดถึงถูกไหม แล้วสำหรับผู้ชายก็มีการใช้อารมณ์ตัดสินเหมือนกัน แค่แบบ อารมณ์ส่วนไหนจากร่างกาย (หัวเราะ) มันเป็นความคิดที่แคบมาก ๆ”

เมื่อถามว่า อยู่ดี ๆ ทำไมถึงอินขึ้นมาแบบนั้น เธอเล่าให้เราฟังถึงประสบการณ์การทำงานในยุโรปที่โดนปฏิบัติไม่ดี เพราะความเป็นผู้หญิงเอเชียและเป็นคนไทยที่มักถูก Over-sexualize อยู่เสมอ ในขณะที่คิมเป็นแค่คนที่อยากทำงานให้ดี แต่หัวหน้างานก็มักถามในทำนองว่า “When are you going to cook me thai food?” ทำให้เธอต้องหาทางควบคุมสถานการณ์อยู่บ่อย ๆ

“ถ้าเป็นผู้ชาย ก็คงอยู่ยุโรปได้นานกว่านี้ พี่เจอมาเยอะมาก เป็น Trauma อย่างหนึ่งเลย” 

อย่างไรก็ตาม เธอบอกว่าการทำงานในประเทศไทยทำให้สบายใจกว่ามาก ๆ ในเรื่องนี้ ตอนข่าวออกไปว่าผู้หญิงอายุน้อยอย่างเธอรับตำแหน่งผู้อำนวยการหอศิลปฯ ก็ไม่มีความเห็นในทางไม่ดีลอยมาให้เสียความรู้สึกเลย

ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ

หอศิลปฯ ในความหวัง

ภารกิจหลักที่เธอต้องดูแลโดยอัตโนมัติเมื่อได้เป็นผู้อำนวยการคือการบูรณะอาคารหอศิลปฯ แต่อย่างที่เธอพูดกับกรรมการตอนยื่นใบสมัคร หาก BACC อยากมีบทบาทสร้างคนในเวทีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่านั้น หากคิดว่าศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสามารถ ‘ปั้น’ ได้อีกเยอะ คิมคงต้องทำงานมากมายในช่วงเวลาเกือบ 4 ปีที่เธอยังอยู่ในตำแหน่ง

ไม่เพียงแต่เธอคาดหวังในตัวเอง ด้วยความเป็นหอศิลปฯ ประจำกรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ ผู้คนที่ติดตามวงการศิลปะเองก็คงคาดหวังกับทิศทางของ BACC ไม่น้อยไปกว่ากัน ทุกคนรอดูว่าผู้อำนวยการคนนี้จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่อะไรได้บ้าง และที่สำคัญ จะรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ยังไง

ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ
ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ

จากกรณีร้านหนังสือ Bookmoby ที่สู้ค่าเช่าไม่ไหวจนประกาศออกมาว่า อาจต้องปิดร้านภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เราก็ได้ถามเธอเช่นเดียวกันว่า จะทำยังไงให้ร้านที่มีประโยชน์ต่อผู้คน ต่อเมือง อยู่ในหอศิลปฯ ได้ ไม่ต้องปล่อยให้เป็นร้านแฟรนไชส์ คอมเมอเชียลหนัก ๆ ไปเสียหมด

“ที่เราชะลอขึ้นค่าเช่า มันเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แต่จริง ๆ เราอยากวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวให้กลายเป็นนโยบาย ในฐานะหอศิลปฯ เราพูดคุยกับคุยกับองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เป็นตัวริเริ่มได้” ผู้อำนวยการตอบ “เราสนับสนุนศิลปิน สนับสนุนคนทำงานศิลปะ ถ้าเรามาช่วยตรงนี้ได้ด้วยมันก็ดี”

ถึงจะยังไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายฝ่าย แต่อดุลญาผู้เป็นต้นหนของ BACC ในปัจจุบันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และตั้งใจจะดำเนินการบางอย่างในอนาคต เธออยากให้ BACC กลายเป็นคอมมูนิตี้หนึ่ง หากลงมาจากชั้นนิทรรศการก็อยากให้ผู้คนได้แวะช็อปที่น่าสนใจและหาไม่ได้จากที่อื่น

ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ

กว่า 13 ปีที่ผ่านมา BACC เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทั้งศิลปะแขนงต่าง ๆ ที่ได้จัดแสดง (แม้แต่การแต่ง Drag ที่อดุลญาชอบก็เกิดขึ้นที่นี่) ทั้งเป็นพื้นที่แสดงออกของผู้คนหลากขั้วการเมือง สำหรับเราเอง ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ม.ต้น จนถึงตอนนี้ มีโอกาสได้รู้ ได้เปิดหูเปิดตาตัวเองในหลาย ๆ ประเด็นสำคัญก็เพราะมาเดินหอศิลปฯ นี่แหละ

BACC เป็นพื้นที่ที่ดีแล้วสำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่จะดีกว่านี้อีกหากมีโอกาสได้พัฒนา ขยับขยายบทบาทไปตามยุคสมัย เป็นเหตุผลว่าทำไมตำแหน่งผู้นำถึงสำคัญ ไม่ใช่ใครก็ทำได้

พื้นที่แห่งความคิดสร้างสรรค์มีอะไรให้ฝันอีกไกล

“ต่อไปก็อยากจะให้ Art Appreciation ไปได้กว้างไกลกว่านี้” คิมตอบ เมื่อเราถามถึงสิ่งที่ฝัน “ถ้าคุณป้าที่เขาทำงานขายของตามถนนยังมองว่าหอศิลปฯ กรุงเทพฯ ไม่ใช่พื้นที่ที่เขาอยากจะเดินเข้ามา อันนั้นเรียกว่าทำงานไม่สำเร็จแล้ว

“ไม่ได้จำเป็นถึงกับต้องรู้จักศิลปินคนนู้นคนนี้ แค่เดินเข้ามาแล้ว อ๋อ สวยดี แล้วเดินออก นั่นก็โอเคแล้ว การเสพศิลปะมีหลายเลเวลมาก แค่คุณชอบเพราะสวย ศิลปะก็ทำหน้าที่ของมันแล้ว อยากให้ Art Appreciation ไปได้กว้างกว่าที่เป็น”

เราบอกลากันที่ชั้นล่างของหอศิลปฯ เด็กหญิง อินเดียนา โจนส์ คนนั้นหันหลังให้เราแล้วเดินกลับไปยังสำนักงาน ไม่รู้เหมือนกันว่าอนาคตของหอศิลปฯ จะเป็นยังไง หรือศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีทิศทางอย่างไรต่อ แต่ขอให้โชคชะตาอยู่ข้างอดุลญา ให้คนมีแพสชันอย่างเธอได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจอย่างเต็มที่ทีเถิด

ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ
ทำความรู้จักชีวิตและความคิดของ คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการคนล่าสุดของหอศิลปกรุงเทพฯ

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์