ถ้าคุณสายตาผิดปกติ หรือมีคนรอบตัวเจอปัญหานี้ คุณคงเคยเจอหรือได้ยินเหตุการณ์เพ่งจนปวดตา มองสิ่งที่ครูเขียนไม่เห็น หรือเดินออกจากบ้านแล้วทุกอย่างเบลอไปหมด

ในบ้านเรา ปัญหาเหล่านี้อาจถูกปัดเป่าง่ายดายด้วยการเดินเข้าร้านตัดแว่นมาใส่ แต่ในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา ปัญหาสายตาถือเป็นปัญหาใหญ่ของคนในประเทศ สาเหตุไม่ใช่การขาดแคลนแว่นตา แต่เป็นการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการวัดสายตา (Optometrist)

ในแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า หมอสายตา 1 คนต้องดูแลผู้มีปัญหาสายตาถึง 1 ล้านคน

มากกว่านั้น ถ้ามองเผินๆ เราอาจมองว่าปัญหาทางสายตาเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ แต่ลึกลงไป สายตาที่ผิดปกติยังนำไปสู่การขาดโอกาสทางการศึกษา การทำงาน จนถึงการใช้ชีวิตในแต่ละวัน สถิติขององค์การอนามัยโลกระบุว่า มีคนมากกว่า 1.3 พันล้านคนที่ชีวิตดีกว่านี้ได้ถ้ามีแว่นตาใส่ แต่พวกเขาในตอนนี้ไม่มีโอกาสสวมมัน

จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลย เมื่อมีคนกล่าวว่า ปัญหาสายตาเป็น 1 ในปัญหาใหญ่ที่สุดของโลก

และนี่คือปัญหาที่งานออกแบบชิ้นหนึ่งตั้งใจเข้าไปแก้ไข

ชื่อของมันคือ แว่นตา ADSPECS

ADSPECS การออกแบบแว่นที่ตั้งใจแก้ปัญหาสายตาให้คนด้อยโอกาส 1 พันล้านคน

แว่นแนวใหม่ที่แก้ปัญหาใหญ่ตรงจุด

แว่นตา ADSPECS คิดค้นโดย ศาสตราจารย์โจชัว ซิลเวอร์ (Joshua Silver) นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

อธิบายอย่างง่าย มันคือแว่นตาที่ช่วยให้คนใส่ปรับเลนส์ได้แบบ DIY จากการปรับปริมาณของเหลวที่อยู่ในเลนส์จนได้ความชัดที่ต้องการ ปรับเสร็จก็ถอดอุปกรณ์ปรับออก แปลงโฉมแว่นให้กลายเป็นแว่นปกติในไม่กี่นาที

ADSPECS การออกแบบแว่นที่ตั้งใจแก้ปัญหาสายตาให้คนด้อยโอกาส 1 พันล้านคน

อธิบายอย่างง่ายจากอีกมุม นี่คือแว่นที่แก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดสายตาได้ชะงัด เพราะมันตัดกระบวนการ ‘คนกลาง’ ทิ้งเรียบร้อย

นอกจากนี้ ยังมีผลการทดสอบกับเด็กๆ ในประเทศจีนระบุว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ร่วมทดสอบรู้สึกว่าปัญหาสายตาได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ พวกเขายังพบว่าแว่นตานี้ใช้ง่ายอีกด้วย

เจ้าแว่นตาชิ้นนี้จึงเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาใหญ่ของโลกที่มีศักยภาพสูง

แต่เรื่องราวไม่ได้จบเท่านี้ เพราะการแก้ปัญหาใหญ่ให้ได้ผลจริง ต้องคิดและลงมือทำในเรื่องอื่นอีกมาก

แว่นที่ไม่ได้จบแค่แว่น

สิ่งแรกที่น่าสนใจคือ เราจะจัดส่งแว่นนี้ไปถึงมือและตากลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

คำตอบคือ ศาสตราจารย์โจชัวพาแว่นของเขาไปทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีหลากหลาย แว่นตา ADSPECS ถูกกระจายไปในเหล่าประเทศกำลังพัฒนา ผ่านช่องทางอย่างองค์กรที่ทำงานด้านมนุษยธรรม เช่น United States Africa Command (AFRICOM) และ United States Europian Command (EUCOM)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์โจชัวยังร่วมกับ Dow Corning Corporation บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับซิลิโคน ก่อตั้ง Child Vision โปรเจกต์ที่มุ่งแจกจ่ายแว่นตาปรับเลนส์เองได้ให้เยาวชนอายุ 12 – 18 ปีที่มีภาวะสายตาผิดปกติในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีการประเมินว่าเด็กกว่า 100 ล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญปัญหาสายตาสั้น

แว่นที่แจกนี้เป็นเวอร์ชันพัฒนาจากโมเดลแรกให้เล็ก น้ำหนักเบา และสวย รวมถึงไม่พังง่าย และโครงการนี้ก็คิดค้นโมเดลการแจกจ่ายแบบใหม่ นั่นคือการเข้าไปสอนวิธีใช้แว่นให้กับครูในโรงเรียน เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อแก่เด็กๆ เพราะแว่นปรับเองได้นี้ไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการสอน

อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือเรื่องราคา ที่นับเป็น ‘ข้อจำกัด’ ชิ้นใหญ่ของปัญหา

ADSPECS การออกแบบแว่นที่ตั้งใจแก้ปัญหาสายตาให้คนด้อยโอกาส 1 พันล้านคน
ADSPECS การออกแบบแว่นที่ตั้งใจแก้ปัญหาสายตาให้คนด้อยโอกาส 1 พันล้านคน

มีคนกว่า 1 พันล้านคนที่ต้องใช้ชีวิตด้วยเงินต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ฯ ต่อวัน แว่นที่พวกเขาซื้อจึงต้องมีราคาจับต้องได้ สำหรับศาสตราจารย์โจชัวร์ เป้าหมายสูงสุดคือการทำแว่นในราคาราว 1 ดอลลาร์ฯ โดยเขาเล่าว่า ได้ไปตั้งโจทย์ท้าทายเพื่อนซึ่งทำงานในบริษัทผลิตแว่นใหญ่ที่สุดในโลกว่าให้ผลิตแว่นนี้ในราคา 3 ดอลลาร์ฯ แม้ทุกอย่างยังอยู่ในช่วงต้องก้าวต่อไป แต่ต้นทุนของแว่น DIY นี้ก็ต่ำลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าต้นทุนที่คนในประเทศกำลังพัฒนาต้องจ่ายเพื่อไปหาผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาให้ได้บ่อยครั้ง

อีกประเด็นที่โดดเด่น คือการแก้ปัญหาของศาสตราจารย์โจชัวร์นั้นไม่ใช่เพียงวางแผนแล้วเดินหน้าไปเรื่อยๆ แต่มีแรงสนับสนุนสำคัญคือ ‘งานวิจัย’

ศาสตราจารย์โจชัวร์ให้ความสำคัญกับงานวิจัยมาก ถึงขั้นตั้งศูนย์ที่ชื่อ Centre for Vision in The Developing World ขึ้น โดยศูนย์นี้ที่มีหนึ่งในงานสำคัญ คือการทำวิจัยเพื่อตอบคำถามมากมายที่อยู่รายรอบแว่นตา

ตัวอย่างเช่น อะไรคือวิธีสอนใช้แว่นที่ดีที่สุดสำหรับสอนคนใช้ซึ่งอ่านไม่ออก และคนสอนก็พูดภาษาเขาไม่ได้

ADSPECS การออกแบบแว่นที่ตั้งใจแก้ปัญหาสายตาให้คนด้อยโอกาส 1 พันล้านคน

หรือจะทำอย่างไรให้รัฐบาลท้องถิ่นเห็นว่าคุ้มค่าที่จะแก้ปัญหานี้ ในสถานการณ์ที่เขายังให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ด้วยซ้ำ

พูดอีกอย่างคือ แว่นตาปรับเลนส์ได้นี้เป็นงานออกแบบที่ตั้งอยู่บนฐานงานวิจัยเข้มข้น และขณะเดียวกันก็เป็นการออกแบบที่สะท้อนว่า งานวิจัยเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาสังคมได้เช่นกัน

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่บอกเราว่า การจะทำให้งานออกแบบ 1 ชิ้นกลายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหา ต้องอาศัยอีกหลายเรื่องที่ลึกและกว้างไปกว่าการออกแบบผลงาน

แว่นที่เห็นภาพอนาคต

เวลาเราพูดเรื่องทางออกของปัญหา นอกจากวิธีคิดและจัดการ อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือผลลัพธ์ที่ทางออกนั้นมองเห็นและมอบให้

บทความเกี่ยวกับแว่นตานี้ในช่วงปี 2015 ระบุว่า นับจากลืมตาดูโลกในปี 1985 แว่น ADSPECS มากกว่า 60,000 อันถูกกระจายไปสู่ 20 ประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่นับจำนวนแว่นจากโมเดลที่แจกจ่ายในโครงการ Child Vision (ในตอนนั้น ทีมของโครงการผลิตแว่นได้ถึง 1 ล้านชิ้นต่อปีแล้ว)

ศาสตราจารย์โจชัวร์เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2020 เขาหวังให้คน 1 พันล้านคนที่มีปัญหาสายตาในประเทศกำลังพัฒนามีแว่นใส่

แม้พวกเราในปีนี้จะรู้แล้วว่า เป้าหมายสุดทะเยอทะยานนี้ไม่อาจสำเร็จในเงื่อนไขเวลาที่ตั้งไว้ แต่นั่นก็สะท้อนว่า งานออกแบบชิ้นนี้ตั้งใจทำหน้าที่เป็นทางแก้ปัญหาอย่างแท้จริง

อีกมุมหนึ่ง หากย้อนดูเส้นทางที่แว่นตา ADSPECS เดินมา เราอาจวิเคราะห์และสรุปบทเรียนได้มากมาย

ที่สำคัญ แว่นตาจากศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์คนนี้บอกเราว่า งานออกแบบไม่ใช่แค่สวยเก๋ อัดแน่นด้วยพลังสร้างสรรค์ แต่ยังมีศักยภาพเต็มเปี่ยมในการเป็นทางออกให้เหล่าปัญหาใหญ่ของสังคม

เมื่อเรามองไปให้ไกลกว่าชิ้นงาน และกล้าลองออกเดิน

ADSPECS การออกแบบแว่นที่ตั้งใจแก้ปัญหาสายตาให้คนด้อยโอกาส 1 พันล้านคน

ข้อมูลอ้างอิง

cvdw.org

www.vdwoxford.org/childvision

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S