“สร้างบ้านหลังหนึ่ง ฉันจนไปเลย”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ทรงปรารภขึ้นเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นค่าก่อสร้าง ‘บ้าน’ หลังใหม่ของพระองค์ท่านที่สูงถึง 60,000 บาท ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเหลือเกินในสมัยนั้น แต่บ้านหลังนี้ได้กลายเป็นบ้านที่พระองค์ท่านประทับอย่างอบอุ่นและสำราญพระทัยต่อมาอีกนานถึง 24 ปี แวดล้อมด้วยพระญาติในสกุลไกรฤกษ์

ปัจจุบัน บ้านหลังนี้ยังคงเป็นที่พำนักของทายาทสกุลไกรฤกษ์อยู่ โดยได้รับการดูแลรักษาอย่างดีเยี่ยม เพื่อให้สถาปัตยกรรมรูปแบบ Tudor Revival ที่มีปรากฏอยู่เพียงไม่กี่แห่งบนแผ่นดินไทย ยังคงงดงามโดดเด่นตลอดไป

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

ด้วยความกรุณาของ หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์ ธิดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ภรรยาท่านทูตศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ผู้อาศัยและดูแลรักษาบ้านหลังนี้ The Cloud จึงได้รับอนุญาตให้พาผู้อ่านไปร่วมชมและศึกษาประวัติความเป็นมา พร้อมรับฟังเกร็ดเล่าขานอันเกี่ยวเนื่องกับพระจริยวัตรของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’ ที่ร่วมถ่ายทอดโดย ท่านผู้หญิงกุณฑี ไกรฤกษ์ ผู้เคยเฝ้าและถวายการดูแลจวบจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา มีพระชนม์ยืนถึง 5 แผ่นดิน ทรงผ่านสุขทุกข์มากมายด้วยพระขันติธรรมและเมตตาธรรม จนสิ้นพระชนม์ลงอย่างสงบเมื่อ พ.ศ. 2501 สิริพระชันษาได้ 69 ปี ในบ้านของพระองค์หลังนี้ ที่มีนามว่า ‘ตำหนักทิพย์’

 เสด็จพระองค์อาทร

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่มในสกุลไกรฤกษ์ ผู้เป็นธิดาของพระมงคลรัตนราชมนตรีกับขรัวยายไข่ และเป็นหลานสาวของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน ไกรฤกษ์) และคุณหญิงพุก ไกรฤกษ์

“กุลสตรีที่รับราชการเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้นมาจากหลายสกุล เช่น จากสกุลบุนนาคซึ่งก็มีอยู่หลายท่าน อย่างเช่นเจ้าจอมก๊กออ แต่เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นเพียงผู้เดียวที่มาจากสกุลไกรฤกษ์ ภาพที่เห็นอยู่นี้คือภาพท่านอยู่ในชุดแต่งกายแบบตะวันตก 

“เมื่อคราวตามเสด็จรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินี เสด็จฯ เยือนสิงคโปร์และชวาอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2414 ในฐานะนางสนองพระโอษฐ์ หรือ Lady in Waiting ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงถือได้ว่าท่านเป็นนางสนองพระโอษฐ์คนแรกของราชสำนักสยาม” หม่อมราชวงศ์เบญจาภาชวนชมภาพสำคัญ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา หรือที่ชาววังขนานพระนามอย่างลำลองว่า ‘เสด็จพระองค์อาทร’ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2432 ในพระบรมมหาราชวัง มีพระขนิษฐาร่วมครรโภทรพระนามว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี หรือเสด็จพระองค์เล็ก

พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 5 สวรรคต ในปีต่อมาเจ้าจอมมารดาชุ่มก็ถึงแก่อนิจกรรม นับเป็นความโทมนัสครั้งใหญ่ขณะทรงเจริญพระชนมายุได้เพียง 21 ชันษา ก่อนที่พระขนิษฐาเพียงพระองค์เดียวจะสิ้นพระชนม์ตามไปใน พ.ศ. 2462 ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งระบาดร้ายแรงในขณะนั้น เหลือเพียงเสด็จพระองค์อาทรดำรงพระชนม์ต่อมาเพียงลำพัง

“หลังจากรัชกาลที่ 5 สวรรคต ตามมาด้วยเจ้าจอมมารดาชุ่มถึงแก่อนิจกรรม เสด็จพระองค์อาทรก็ทรงย้ายจากพระบรมมหาราชวังมาประทับที่พระราชวังดุสิตในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อเสด็จพระองค์เล็กสิ้นพระชนม์ และล่วงเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 7 เสด็จพระองค์อาทรได้ตามเสด็จพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ ไปประทับที่วังสวนสุนันทาพร้อมพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 อีกหลายพระองค์ บุคคลผู้หนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือเจ้าจอมอาบในสายสกุลบุนนาค ผู้ที่มีฝีมือเล่นจะเข้ได้อย่างเยี่ยมยอด และได้เคยร่วมเล่นกับเสด็จพระองค์อาทรด้วย 

“เจ้าจอมอาบมีเรือนพำนักอยู่ในวังสวนสุนันทา ไม่ไกลจากตำหนักของเสด็จพระองค์อาทรนัก ต่อมาจึงได้กลายมาเป็นพระสหายที่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ เนื่องด้วยมีความรักในดนตรีไทยเหมือนกัน ทั้งสองท่านได้ร่วมกันจัดตั้งวงมโหรีหญิงวงแรก รวมทั้งคณะละครรำขึ้นในวังสวนสุนันทา นอกจากนั้น ยังได้ทรงอุปถัมภ์คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ บุตรพระยาประเสริฐศุภกิจไว้ด้วย”   

พระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม ไกรฤกษ์) เป็นน้องชายแท้ๆ ของเจ้าจอมมารดาชุ่ม จึงมีศักดิ์เป็น ‘น้า’ ของเสด็จพระองค์อาทร ส่วนบุตรชาย คุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ นั้นก็มีศักดิ์เป็นดั่ง ‘ลูกพี่ลูกน้อง’ แต่ด้วยวัยที่ต่างถึง 33 ปี เสด็จพระองค์อาทรจึงทรงอุปถัมภ์คุณพูนเพิ่มดั่งพระโอรสบุญธรรมตั้งแต่อายุได้เพียง 3 เดือน

หม่อมราชวงศ์เบญจาภาเคยเขียนถึงเหตุการณ์นี้ไว้ในหนังสือ แลวังหลังตำหนัก ความว่า 

“คุณพูนเพิ่มเป็นคนเดียวที่ทรงเลี้ยงด้วยพระองค์เอง ยามใดที่คุณหมู (คุณพูนเพิ่ม) นอนหลับนานเกินไป ก็จะทรงตกพระทัยนึกว่าหยุดหายใจไปเสียแล้ว เมื่อทรงเริ่มเลี้ยงคุณหมูใหม่ๆ จึงทรงผ่ายผอมไปอย่างผิดตา” 

“เสด็จพระองค์อาทรทรงมีพระเมตตา ทรงชุบเลี้ยงคนไว้มากมาย ไม่เพียงแต่คนในสกุลไกรฤกษ์เท่านั้น แต่ยังทรงนับญาติกับสกุลต่างๆ ที่เกี่ยวดองกับไกรฤกษ์อีกด้วย ตั้งแต่เกิดมา ดิฉันได้รับพระกรุณาเพราะท่านประทานค่าเล่าเรียนมาโดยตลอด ทุกเดือน ดิฉันต้องมาค้างที่ตำหนักเพื่อรับทุนประทาน ท่านพระทัยดี ไม่เคยดุ ไม่เคยกริ้วใคร” ท่านผู้หญิงกุณฑี ไกรฤกษ์ ภรรยาคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ผู้ถือกำเนิดมาในสกุลสุจริตกุล ซึ่งเป็นสกุลที่เกี่ยวเนื่องกับสกุลไกรฤกษ์ทางมารดา ร่วมรำลึกถึงความหลัง

ชีวิตในวังสวนสุนันทามีแต่ความสุขสงบจนวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อคณะราษฎรได้เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระบรมวงศานุวงศ์ล้วนแตกกระสานซ่านเซ็น ต้องเสด็จย้ายไปประทับตามที่ต่างๆ รวมทั้งเสด็จพระองค์อาทรด้วย

หม่อมราชวงศ์เบญจาภาได้สรุปพระคุณลักษณะสำคัญของพระองค์ท่านไว้ว่า “ตลอดพระชนม์ชีพ จะเห็นว่าเสด็จพระองค์อาทรทรงเผชิญทั้งสุข ทุกข์ ความสูญเสีย และการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ทรงเป็นผู้ที่ฝักใฝ่ทางธรรม ไม่ได้เพียงแต่สดับเท่านั้น ทรงใช้ธรรมะอย่างเป็นประโยชน์ในการนำพาพระชนม์ชีพ จึงทรงผ่านทั้งสุขและทุกข์ไปได้อย่างมีพระสติ ไม่ทรงตีโพยตีพาย ไม่ทรงยินดียินร้าย ทรงวางเฉยได้ดีไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร”

ในที่สุดได้ตัดสินพระทัยเลือกที่ดินมรดกที่ทรงได้รับจากเจ้าจอมมารดาชุ่ม ริมถนนราชวิถี เป็นที่สร้าง ‘บ้าน’ หลังใหม่ อยู่ใกล้กับพระประยูรญาติ ด้วยทรงคาดหวังว่าจะเป็นบ้านหลังสุดท้าย โดยมีเจ้าจอมอาบ พระสหายคนสนิท ตามเสด็จมาอาศัยอยู่ด้วย

สถาปัตยกรรมประยุกต์รูปแบบ Tudor Revival

วันอาทิตย์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 เวลา 9.34 น. เสด็จพระองค์อาทรโปรดให้พระยาประเสริฐศุภกิจ หรือน้าเพิ่ม ที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังติดๆ กัน เป็นผู้ประกอบพิธีก่ออิฐวางศิลาฤกษ์ตำหนักหลังใหม่แทนพระองค์ ซึ่งต่อมาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ประทานนามว่า ‘ตำหนักทิพย์’

“เสด็จพระองค์อาทรทรงเลือกให้นายเอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ (Edward Healey) เป็นผู้ออกแบบถวาย โดยรับสั่งว่าโปรดให้ตำหนักทิพย์มีลักษณะคล้ายบ้านมนังคศิลา ที่พำนักของพระยาอุดมราชภักดี (โถ สุจริตกุล) แต่ไม่จำเป็นต้องมีสองปีกใหญ่โตเช่นนั้น เพราะรับสั่งว่าฉันอยู่ตัวคนเดียว” หม่อมราชวงศ์เบญจาภากล่าวถึงที่มาของการออกแบบครั้งสำคัญ

เอ็ดเวิร์ด ฮีลีย์ เป็นสถาปนิกที่เข้ามารับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการ เช่นเดียวกับสถาปนิกหรือศิลปินชาวยุโรปในสมัยนั้น ที่มักจะเข้ามารับราชการอยู่ตามกระทรวงต่างๆ นอกจากรับราชการแล้ว ฮีลีย์ยังเปิดสำนักงานออกแบบเป็นธุรกิจส่วนตัวอีกด้วย ผลงานของฮีลีย์มีปรากฏอยู่มากมายบนแผ่นดินไทย เช่น ตึกเทวาลัย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ และพระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เขตพระราชวังสนามจันทร์ เป็นต้น

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

สถาปัตยกรรมทิวดอร์ต้นฉบับนั้นถือกำเนิดขึ้นในอังกฤษมาตั้งแต่สมัยทิวดอร์ ระหว่าง ค.ศ. 1485 – 1603 ต่อมาในศตวรรษที่ 19 ได้เกิดปรากฏการณ์ความนิยมในการนำสถาปัตยกรรมที่รุ่งเรืองในอดีตกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเรียกว่าเป็นสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟู (Revival) และมีด้วยกันอยู่หลายรูปแบบ รวมทั้งทิวดอร์ด้วย จึงทำให้ทิวดอร์แบบดั้งเดิมได้รับการพัฒนาเป็นทิวดอร์แบบฟื้นฟู (Tudor Revival) ฮีลีย์เป็นชาวอังกฤษ จึงมีความชำนาญในสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของอังกฤษ และเป็นผู้นำสถาปัตยกรรมแขนงนี้มาเผยแผ่ในประเทศไทย รวมทั้งสถาปัตยกรรมแขนงอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม การออกแบบตำหนักทิพย์จัดได้ว่าเป็นทิวดอร์แบบประยุกต์ กล่าวคือไม่ได้ดำเนินตามกฎเกณฑ์ดั้งเดิมไปเสียทุกประการ ตัวอย่างเช่นการนำโครงไม้ผสมปูนแบบที่เรียกว่า Half Timbering อันเป็นเอกลักษณ์ของทิวดอร์มาใช้ตกแต่งอาคารเพียงเฉพาะมุขหน้าบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้ใช้ทั่วอาคารทั้งหลังอย่างบ้านมนังคศิลา 

เป็นการประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะภูมิอากาศร้อนชื้นของเมืองไทย ที่ต้องการพื้นที่ระบายอากาศมากเป็นพิเศษ จึงลดพื้นที่สำหรับตกแต่งอาคารลง แล้วแทนที่ด้วยหน้าต่างขนาดใหญ่ รวมทั้งประตูยาวจรดพื้น เพื่อให้ทำให้อาคารโปร่งโล่งขึ้นและระบายความร้อนได้ดี รวมทั้งยังเพิ่มกันสาดเพื่อกันแดดและฝนเข้าไปด้วย

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

สิ่งที่ยังคงความเป็นทิวดอร์อย่างเหนียวแน่น คือหลังคาจั่วสูงเหมือนบ้านแบบทิวดอร์ในชนบทอังกฤษสมัยก่อน ที่มักจะเป็นหลังคาสูงชันมุงด้วยจาก (Thatch Roof) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำฝนค้างอยู่บนหลังคา ด้วยความที่อังกฤษเป็นดินแดนที่มีฝนตกอยู่เสมอ แม้หลังคาของตำหนักทิพย์จะไม่ได้มุงด้วยจากตามต้นฉบับ แต่ก็ยังคงรักษาความสูงชันไว้อยู่

สำหรับวัสดุที่ใช้มุงหลังคาตำหนักทิพย์นั้น เดิมสถาปนิกเลือกใช้แป้นเกล็ดหรือกระเบื้องไม้ที่ทำจากไม้สักมุงหลังคาทั้งหลัง เมื่อเวลาผ่านไป แป้นเกล็ดเกิดเสื่อมสภาพลง ในการบูรณะครั้งต่อๆ มา ทางสถาปนิกได้เลือกใช้กระเบื้องแผ่นเรียบที่ทำจากซีเมนต์มายึดกับตะปูเกลียว เพื่อมุงหลังคาแทนวัสดุเดิม โดยพยายามทาสีให้ใกล้เคียงต้นฉบับ

ตรงเฉลียงด้านหน้าอาคารประดับด้วยเสาหินขัดกลมมน ช่วยทำให้อาคารดูงามสง่าและมีมิติ นอกจากนี้ยังเป็นเฉลียงที่ปราศจากลูกกรงกั้นตลอดแนว สถาปนิกได้ประยุกต์ใช้ม้านั่งหินขัดทรงโค้ง (Bench) เข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความงามให้อาคารแล้ว ยังเกิดประโยชน์ใช้สอยสำหรับนั่งรับลม เป็นที่พบปะสนทนาระหว่างกันได้ 

นอกจากหลังคาแล้ว ความเป็นทิวดอร์ดั้งเดิมยังสังเกตได้จากซุ้มโค้งแหลมป้าน ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง รวมทั้งหน้าต่างที่ปรากฏไม้ท่อนหนายื่นออกมาจากอาคาร หน้าต่างแบบนี้เรียกว่า Bay Window และใต้หน้าต่างนี้ยังปรากฏตราพระนามของเสด็จพระองค์อาทร ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบประทานให้

ห้องรับแขก ห้องเสวย ห้องทำบุญ

เมื่อก้าวเข้ามาภายในบริเวณชั้นล่างของตำหนัก ปรากฏตู้ไม้โบราณหลังงามซึ่งเป็นตู้ไม้เดิมที่เจ้าจอมมารดาชุ่มได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 ภายในบรรจุเครื่องกระเบื้องพร้อมนาม ‘ชุ่ม’ ปรากฏบนภาชนะทุกชิ้น เมื่อเลี้ยวซ้ายต่อมาจะผ่านห้องรับแขกที่ปรากฏกระจกสีประกอบกันเป็นภาพหมีใหญ่ ในหนังสือ เรื่องเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ที่จัดพิมพ์ขึ้นในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ได้อธิบายที่มาของภาพนี้เอาไว้ว่า

“คำว่าฤกษ์นั้น ภาษาสันสกฤต ออกสียงว่าริกษะ อาจแปลได้ว่าหมี ส่วนคำว่าไกร เป็นคำไทยแปลว่าใหญ่ เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน จึงอาจแปลได้ว่าหมีใหญ่หรือ Great Bear ซึ่งพ้องกับกลุ่มดาวเจ็ดดวงรูปร่างเหมือนคันไถ มีปลายศรชี้ไปยังดาวเหนือ”

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

นามสกุลไกรฤกษ์ เป็นหนึ่งใน 6,432 นามสกุลที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นสกุลลำดับที่ 5 ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งนี้ภาพกระจกสีรูปหมีใหญ่ดังกล่าวประกอบขึ้นภายหลังโดยท่านทูตศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ทายาทรุ่นปัจจุบัน ไม่ได้ปรากฏอยู่ในช่วงที่เสด็จพระองค์อาทรยังมีพระชนม์ชีพ

“ส่วนมากเสด็จพระองค์อาทรทรงรับแขกที่เฉลียงหน้าตำหนัก โดยประทับราบกับพื้นหรือบนบันได หรือไม่ก็ที่ห้องโถงหน้าห้องพระบนชั้นสอง ส่วนห้องรับแขกที่เห็นในปัจจุบันก็ทรงตกแต่งไว้ แต่ส่วนมากจะทรงใช้รับเสด็จเจ้านายระดับสูง เช่น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พะองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นต้น” หม่อมราชวงศ์เบญจาภาอธิบาย

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

เมื่อเดินเลยห้องรับแขกไป จะเข้าสู่บริเวณที่เรียกกันว่าห้องเสวยหรือห้องทำบุญ ปัจจุบันนี้มีโต๊ะไม้งามขนาดยาวตั้งเด่นเป็นสง่า บนผนังปรากฏพระรูปเสด็จพระองค์อาทรทอดพระเนตรลงมาอย่างอ่อนโยน

“ความจริงเสด็จพระองค์อาทรโปรดเสวยพระกระยาหารแบบประทับราบกับพื้นที่ห้องหน้ามุขชั้นล่าง ไม่ได้เสวยบนโต๊ะ เหมือนคนไทยสมัยก่อนที่นั่งทานข้าวกันบนพื้น นอกจากนี้ บางทีก็ทรงย้ายไปเสวยที่เฉลียงด้านบนบ้าง โถงหน้าห้องพระบนชั้นสองบ้าง แล้วแต่ว่าเสวยกับใคร และโปรดจะประทับเสวยที่ไหน” ท่านผู้หญิงกุณฑีกรุณาเล่าถึงพระจริยวัตร

“แล้วเสด็จพระองค์อาทรโปรดเสวยอะไรครับ” ผมถามท่านผู้หญิง

“โปรดข้าวแช่ค่ะ ดิฉันเคยถูกเสด็จกริ้วว่าทานข้าวแช่ไม่เป็น ตอนนั้นเป็นช่วงปลายพระชนม์ชีพ กำลังประชวรถึงขั้นไม่ลุก ดิฉันกับพี่วีณา หังสสูต ที่เสด็จทรงเลี้ยงมา ทำหน้าที่ป้อนพระกระยาหารถวาย 

ตอนนั้นเราก็ตักกะปิทีละก้อน พริกทีละคำป้อนถวาย ท่านก็รับสั่งว่าไม่ถูก หากจะทานข้าวแช่ให้ได้รส แต่ละคำต้องมีกับครบทั้งสามอย่าง คือกะปิ พริกหยวก และหอมแดง ทั้งหมดต้องหั่นออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมารวมกันในช้อนเดียว ส่วนผักแนมอย่างกระชายหรือมะม่วงดิบหั่นชิ้นเล็กๆ จะทรงหยิบเสวยด้วยพระหัตถ์ แล้วเสวยพร้อมข้าว ท่านโปรดข้าวแช่ถึงขั้นเสวยทุกวันจนสิ้นพระชนม์ปลายเดือนมีนาคม ตอนนั้นเข้าฤดูร้อน และเป็นฤดูข้าวแช่แล้ว” ท่านผู้หญิงรำลึกเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

ปัจจุบันทายาทสกุลไกรฤกษ์ยังคงทานข้าวแช่สูตรดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาเป็นประจำทุกปี โดยจะมีพิธีทำบุญพระอัฐิในห้องเดียวกันนี้ในวันอาทิตย์ เดือนมีนาคม อันเป็นเดือนที่สิ้นพระชนม์ เมื่อทำบุญเสร็จก็จะร่วมกันไปประกอบพิธีบังสุกุลถวายพระอัฐิ ณ สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรมหาวิหาร ก่อนกลับมาทานข้าวแช่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ซึ่งถือว่าเป็นการประเดิมฤดูกาลข้าวแช่ของสมาชิกสกุลไกรฤกษ์เป็นครั้งแรกในปีนั้นๆ

“เสด็จพระองค์อาทรดำรงพระองค์อยู่ในธรรมะ โปรดฟังพระธรรมเทศนา และมักจะเสด็จไปวัดบวรนิเวศวิหารเป็นประจำ ในช่วงหลังเมื่อเสด็จไม่ได้ ก็โปรดให้นิมนต์พระมาถวายพระธรรมเทศนาที่ห้องนี้ล่ะค่ะ” หม่อมราชวงศ์เบญจาภาเล่าเสริม

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเกร็ดเล็กๆ และน่าสนใจก็คือ พ.ศ. 2489 ประเทศไทยเพิ่งมีสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘โทรทัศน์’ จำหน่ายเป็นครั้งแรก เสด็จพระองค์อาทรทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกๆ ที่มีโทรทัศน์ ดังนั้น จึงโปรดให้กราบทูลเชิญเสด็จพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ที่ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ให้เสด็จมาทอดพระเนตรโทรทัศน์รวมกันที่ห้องนี้เสมอ และหนึ่งในละครโทรทัศน์ที่โปรดคือเรื่อง ซูสีไทเฮา ออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม นำแสดงโดยคุณสุพรรณ บูรณพิมพ์

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

และหากเรามองออกไปยังด้านหลังของตำหนักทิพย์ ก็จะเห็นเสาไฟฟ้าโบราณที่เป็นเสาไฟฟ้ารุ่นแรกๆ เดินสายไฟเข้ามายังห้องใต้หลังคา เพื่อกระจายพลังงานไฟฟ้า นำความสำราญพระทัยมาถวายเจ้านายทุกพระองค์

ก่อนออกจากห้องเสวย หม่อมราชวงศ์เบญจาภาได้กรุณานำเครื่องกระเบื้องที่ทรงใช้มาให้ชม เป็นเครื่องกระเบื้องสีบานเย็นสลักตราพระนาม ‘อท’ ใต้พระมงกุฎ ซึ่งจะพบได้บนชุดเครื่องมีดช้อนส้อมเงินเช่นเดียวกัน ความจริงแล้วเสด็จพระองค์อาทรประสูติวันอาทิตย์ แต่ไม่ทรงเลือกใช้สีแดงเป็นสีประจำพระองค์ด้วยเป็นสีที่แรงเกินไป โปรดสีบานเย็นเช่นนี้มากกว่า

ห้องพระ สร้างไว้อย่างมีนัย

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

จากชั้นล่าง หม่อมราชวงศ์เบญจาภาได้พาผมขึ้นไปยังชั้นสอง ที่มีการตกแต่งอย่างประณีตงดงามไม่ต่างจากด้านล่าง สำหรับผู้ที่รับหน้าที่ตกแต่งภายในตำหนักทิพย์ทั้งหมดนั้น เสด็จพระองค์อาทรทรงเลือกอาจารย์ศิววงศ์ กุญชร ณ อยุธยา ให้เป็นผู้รับผิดชอบ 

ผลงานการตกแต่งของอาจารย์ศิววงศ์นับว่าเป็นงานระดับปรมาจารย์ เนื่องด้วยอาจารย์เป็นผู้มากด้วยความสามารถ และเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่สำเร็จการศึกษาด้านนี้มาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาช่วยสานต่อภารกิจของอาจารย์นารถ โพธิประสาท ในการก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จลุล่วงได้ใน พ.ศ. 2482 อาจารย์ศิววงศ์ยังเป็นผู้บุกเบิกศาสตร์การออกแบบเครื่องเรือนและการตกแต่งภายในบนแผ่นดินไทย รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ

ห้องสำคัญบนชั้นสองคือห้องพระ ตั้งอยู่เหนือมุขเทียบรถยนต์ที่นั่ง สิ่งนี้นับเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติเสมอเมื่อสร้างที่ประทับถวายเจ้านาย ห้องพระถือว่าเป็นสถานที่มงคล การสร้างห้องพระเหนือมุขเทียบรถยนต์ที่นั่ง จึงเป็นดั่งการถวายพระพรเวลาเสด็จออกจากหรือเสด็จกลับยังพระตำหนัก

ตำหนักทิพย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบทิวดอร์ ซึ่งจะมีลักษณะเด่นคือการใช้ไม้ฉลุลาย ซ้อนด้วยกระจกสี (Stained Glass) ซึ่งการตกแต่งอย่างวิจิตร โดยจะปรากฏให้เห็นเฉพาะห้องพระเพียงเท่านั้น เป็นนัยสื่อว่าเจ้าของให้ความสำคัญกับห้องพระเป็นอย่างมาก

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

“ถ้าสังเกตดีๆ จะพบตู้ไม้เล็กๆ สองตู้ รูปร่างเหมือนโบสถ์คริสต์ ตั้งอยู่ใต้กระจกสี ทั้งด้านซ้ายและขวาเหนือฐานเบญจา ในตู้ทั้งสองนี้เสด็จพระองค์อาทรทรงตั้งพระทัยให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิและเส้นพระเจ้า (เส้นผม) ของรัชกาลที่ 5 ผู้ทรงเป็นพระบรมชนกนาถ และต่อมาก็ได้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระองค์เองด้วย สันนิษฐานว่าน่าจะทรงปรารภกับทั้งสถาปนิกและผู้ตกแต่งภายในเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ตอนสร้างตำหนัก”

ฐานเบญจา เป็นฐานแท่นลดหลั่น 5 ชั้น มักใช้เป็นที่ตั้งพระบรมอัฐิหรือพระอัฐิ แต่ที่ตำหนักทิพย์ใช้เป็นฐานประดิษฐานพระพุทธรูป 

“ฐานเบญจาจบด้วยฐานบัวกลมนี้ สันนิษฐานว่าในอดีตน่าจะใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร นั่นคือพระวันอาทิตย์ เพราะท่านประสูติวันอาทิตย์ พระวันอาทิตย์เป็นพระปางถวายเนตร มีพุทธลักษณะอยู่ในพระอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ด้างหน้า พระหัตถ์ห้อยลงมาประสานอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) เมื่อเป็นพระยืน หากประดิษฐานบนฐานเบญจานี้ พระเศียรจะอยู่ตรงตำแหน่งกระจกสีที่แสงลอดผ่านเข้ามาพอดี ก่อให้เกิดความน่าเลื่อมใสศรัทธา และทำให้ห้องพระดูสงบงาม แต่พระที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าขณะนี้คือพระพุทธรูปเก่าปางมารวิชัย มิใช่พระวันอาทิตย์”

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ออกแบบ ที่จะต้องขบคิดกันตั้งแต่แรกเริ่มเลย ก็คือการจัดการเรื่องงานพระศพ ในสมัยก่อน หากเจ้านายพระองค์ใดสิ้นพระชนม์ลง จะทรงได้รับพระราชทานพระโกศบรรจุพระศพตามฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ และตั้งพระศพไว้ในที่ประทับ สถานที่ตั้งพระศพมักเป็นห้องพระ เพราะเป็นห้องสำคัญที่สุดและอยู่สูงสมพระเกียรติ จึงต้องมีการออกแบบให้เปิดฝ้าเพดานได้ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรองรับยอดพระโกศ เมื่อเสร็จสิ้นงานพระศพและเชิญพระโกศออกไปแล้ว จะต้องรีบปิดเสียให้เรียบร้อย ไม่เปิดทิ้งไว้ด้วยถือว่าไม่เป็นมงคล

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

หม่อมราชวงศ์เบญจาภาได้เขียนเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ แลวังหลังตำหนัก ความว่า 

“เรื่องนี้เสด็จพระองค์อาทรได้ทรงเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยโปรดให้เจาะเพดานเอาไว้ ทำให้สามารถถอดออกเป็นช่อง เพื่อให้ยอดพระโกศผ่านทะลุขึ้นไปได้ พระองค์ภาณุฯ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล) ได้เสด็จมาช่วยคุณพูนเพิ่มตกแต่งหน้าพระโกศ โดยทรงซื้อผ้าต่วนสีครีมนำมาทำเป็นกระโจมจีบ ตกแต่งยอดพระโกศจากห้องใต้หลังคาลงมาถึงขอบฝ้าเพดาน ทำให้ยอดพระโกศดูเด่นเป็นรัศมีสวยงาม”  

เสด็จพระองค์อาทรสิ้นพระชนม์ในวันอาทิตย์ ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2501 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินยังตำหนักทิพย์เพื่อพระราชทานน้ำสรงพระศพ บำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน และโปรดเกล้าฯ ให้มีการไว้ทุกข์ในพระราชสำนักทั้งสิ้นเป็นเวลา 7 วัน

โถงหน้าห้องพระ บันไดหลัก บันไดรอง

         โถงหน้าห้องพระเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่เสด็จพระองค์อาทรทรงใช้เสมอ เพราะอยู่ไม่ไกลจากห้องบรรทม ทรงใช้เป็นที่ประทับรับแขกคนสนิท ทรงพระอักษร หรือทรงเอนเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถ รวมทั้งโปรดให้ลาดผ้าถวายเพื่อประทับราบเสวยพระกระยาหารเป็นบางครั้ง สมัยนั้นไม่มีเครื่องปรับอากาศ บริเวณนี้จึงต้องออกแบบให้ระบายอากาศร้อนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งต้องมีปริมาณแสงที่เหมาะสม โดยมีทั้งประตูใหญ่ 2 บานที่รับแสงและลมจากเฉลียงด้านทิศเหนือ รวมทั้งหน้าต่างที่เปิดเรียงรายอยู่หลายบาน คอยทำหน้าที่นี้อยู่

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

หน้าต่างของตำหนักทิพย์เป็นทั้งบานเปิดและบานกระทุ้ง ความพิเศษคือมีการใช้ขอสับปรับระยะ เพื่อเปิดออกให้แสงและลมผ่านเข้ามาในปริมาณที่ต้องการได้ ซึ่งหน้าต่างลักษณะนี้ไม่สามารถพบเห็นที่ไหนอีกแล้วในปัจจุบัน เหนือหน้าต่างมีช่องรับแสงแบบกระดกได้ พร้อมใส่ตะแกรงไว้ป้องกันไม่ให้นกบินเข้ามาสร้างความสกปรก ส่วนกระจกที่ใช้ก็เป็นกระจกพิมพ์ลายดาวกระจาย (Star Burst) ซึ่งพบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมยุคเดียวกัน

สิ่งที่ตั้งเรียงรายอยู่ในโถงหน้าห้องพระคือตู้เกลียว เป็นตู้สไตล์ยุโรปที่ฮิตกันมากในสมัยรัชกาลที่ 5 ตำหนักเจ้านายหรือบ้านขุนนางจะมีตู้เกลียวกันเป็นแฟชั่น เดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ต่อมามหาเสวกเอก จางวางเอก เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัง ได้ริเริ่มธุรกิจสร้างตู้เกลียว เครื่องเรือน และโต๊ะเครื่องแป้ง เพื่อจำหน่ายโดยเฉพาะ ตู้เกลียวจึงกลายมาเป็นสินค้า Made in Thailand ที่ขายดีมากๆ

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

อีกสิ่งที่ควรสังเกต คือบันไดที่เชื่อมโถงหน้าห้องพระกับชั้นล่าง บันไดที่ตำหนักทิพย์มีราวบันไดอันเป็นเอกลักษณ์ จุดสังเกตคือความต่อเนื่อง หากเอามือรูดไปตามราวจะไม่มีหัวบันไดหรือเสาใดๆ มากั้นเลย นอกจากนั้น บัวฐานผนังจะยกให้สูงขึ้น แล้วเดินลายไปทั่วบริเวณ เป็นการเสริมความงามให้กับพื้นที่ บันไดด้านหน้าเรียกว่าเป็นบันไดหลัก สงวนไว้ให้เจ้านายทรงใช้ร่วมกับพระประยูรญาติหรือแขกที่มาเฝ้า ส่วนข้าหลวงและเจ้าพนักงานจะเลี่ยงไปใช้บันไดรอง ด้านหลังที่เชื่อมตั้งแต่ชั้นล่างไปจนถึงห้องใต้หลังคาจั่วสูง มีพื้นที่สำหรับใช้เก็บของได้มากมาย ส่วนดีไซน์ของบันไดรองจะเรียบง่าย ไม่มีรายละเอียดเช่นบันไดหลัก

ระเบียงโค้ง

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

ระเบียงโค้ง ถือเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของตำหนักทิพย์ ด้วยเป็นมุขระเบียงโค้งซ้อนกัน 2 ชั้น เสาระเบียงก็เป็นเกลียวแบบที่พบได้ทั่วไปในยุโรป แตกต่างกันที่วิธีการสร้างและการเลือกใช้วัสดุ กล่าวคือ ในยุโรปเป็นการสกัดหินเนื้อแข็ง อย่างหินแกรนิต หินปูน หรือหินอ่อน นำมาเซาะให้เกิดเป็นเกลียว แต่ที่ตำหนักทิพย์นั้น จะนำหินขัดหรือหินเทอราซโซมาใช้ หินขัดจัดเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างที่เผยแผ่เข้ามายังประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยอยู่ในลักษณะเป็นแผ่นเหลี่ยมที่นำมาตัดแต่งหรือเจียนให้ได้รูปตามต้องการ 

ฝีมือของช่างผู้ก่อสร้างตำหนักทิพย์นั้นถือว่าเยี่ยมยอด โดยมีข้อสังเกตหลายประการ ประการแรกคือความสามารถในการเลือกสีหินขัดที่เข้ากันหมดทั้งระเบียง ทำให้ได้สีสม่ำเสมอ ไม่กระดำกระด่าง ประเด็นต่อมาคือความสามารถในการตัดแต่งหินขัดทรงสี่เหลี่ยมให้เกิดเป็นเป็นเกลียว โค้ง หรือบัวที่งดงาม ได้สัดส่วน และประเด็นสุดท้าย คือความสามารถในการเชื่อมหินขัดแต่ละชิ้นได้อย่างแนบสนิทแบบไร้รอยต่อ จนดูเหมือนสกัดจากหินก้อนเดียวกัน

“มุขระเบียงก็เป็นที่สำราญพระอิริยาบถอีกที่หนึ่ง เป็นที่ลมโกรกทั้งชั้นบนชั้นล่าง บางเช้าก็โปรดให้ลาดผ้าประทับเสวยพระกระยาหาร บางเวลาก็ทรงใช้รับแขกด้วย” หม่อมราชวงศ์เบญจาภากล่าวถึงพื้นที่โปรดอีกแห่งของเสด็จพระองค์อาทร

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’
ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

พระรูปเสด็จพระองค์อาทร

            ทุกวันนี้ หน้าตำหนักทิพย์เป็นที่ประดิษฐานพระรูปเสด็จพระองค์อาทร ซึ่งเป็นฝีมือปั้นและหล่อโดยอาจารย์สันติ พิเชฐชัยกุล ศิลปินไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ที่ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ให้ทำหน้าที่ปั้นและหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประดิษฐานบนปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เคียงข้างบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้ารัชกาลก่อน ๆ

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

            “จุดเริ่มต้นคือ ท่านทูตศักดิ์ทิพย์ปรารภว่าจะเป็นการดีหากมีพระรูปเสด็จพระองค์อาทรประดิษฐานไว้ที่หน้าตำหนักท่าน จึงได้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้ทราบฝ่าละอองพระบาท ซึ่งทรงเห็นด้วย

            “ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นผู้แนะนำว่าควรเป็นอาจารย์สันติ และส่งผลงานของอาจารย์ที่ปั้นอินเดียนแดงอันมีชื่อเสียงมาให้ดู จากจุดนั้น เราก็ตัดสินใจว่าต้องเป็นอาจารย์สันติ ซึ่งปกติจะอยู่ต่างประเทศ แต่โชคดีมากที่ท่านมาแสดงงานที่เมืองไทยพอดี และเราก็รีบไปพบทันที ทุกอย่างลงตัวแบบไม่น่าเชื่อ”

            อาจารย์สันติตัดสินใจรับงานสำคัญทันทีที่ทราบว่าทายาทสกุลไกรฤกษ์กำลังต้องการให้ปั้นพระรูปเสด็จพระองค์อาทร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 5

“วิธีการปั้นของอาจารย์สันตินั้นเป็นวิธีที่ละเอียดประณีต อาจารย์ไม่ใช่แค่ปั้นตามรูปที่เห็น แต่พยายามทำความรู้จักและสื่อสารกับแบบที่จะปั้นให้ได้ อาจารย์สันติเล่าว่าได้จุดธูปกราบทูลขอประทานพระอนุญาต ขอให้ได้รับแรงบันดาลใจ แล้วอาจารย์ก็ได้ฝันถึงเสด็จพระองค์อาทรด้วย ก็เป็นเรื่องที่แปลก”

ทั้งศิลปินและทายาทต่างต้องการมากกว่าการปั้นที่จำลองพระพักตร์ให้สมจริง หากแต่ต้องการสื่อถึงพระคุณลักษณะภายในพระองค์ด้วย เช่น ความอ่อนโยนของผู้ที่มีเมตตา ผู้ที่ยึดมั่นในพระศาสนา พระลักษณะของผู้มีบารมีอันควรแก่การเคารพ ผู้ปั้นจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจแบบอย่างลึกซึ้ง ซึ่งอาจารย์สันติเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด นอกจากนี้พระรูปยังได้รับการหล่อให้พระภูษาทรง (เสื้อ) มีเฉดสีแตกต่างจากพระฉวี (ผิวพรรณ) และเสริมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นพระโอษฐ์ ที่เจือสีแดงบางๆ เพื่อให้ดูมีชีวิตชีวา จึงทำให้พระรูปเสด็จพระองค์อาทรงามสมบูรณ์แบบทุกประการ

“เมื่อปั้นใกล้จะเสร็จ ก็เชิญพระรูปมาให้ท่านผู้หญิงกุณฑีดูเพียงครั้งเดียว เมื่อท่านผู้หญิงเห็นก็ก้มลงกราบ และบอกว่ามี Expression แบบเสด็จพระองค์อาทรตามที่ท่านผู้หญิงได้เคยเฝ้า ไม่ใช่แค่พระพักตร์เหมือนนะคะ แต่ Expression นี่สำคัญ เพราะเราต้องการ Expression แบบพระองค์ท่าน” หม่อมราชวงศ์เบญจาภาขยายความ

ทุกวันนี้พระรูปเสด็จพระองค์อาทรประดิษฐานอย่างงดงามอยู่หน้าตำหนักทิพย์ วังที่พระองค์ท่านประทับอยู่อย่างสงบสุขจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ วังที่ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมทิวดอร์อันงดงาม และมีเพียงไม่กี่แห่งบนผืนแผ่นดินไทย วังที่ได้รับการดูแลอย่างดีจากทายาทสกุลไกรฤกษ์รุ่นสู่รุ่น

“คิดว่ารุ่นลูกรุ่นหลานก็จะดูแลต่อไปเหมือนรุ่นก่อนเราและรุ่นเรา การดูแลไม่ใช่แค่ตัวอาคาร แต่หมายถึงข้าวของทุกชิ้น ประวัติความเป็นมาทั้งหมด เมื่อสมาชิกบ้านไกรฤกษ์ได้รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับข้าวของทุกชิ้น รวมทั้งความเป็นมาทั้งหมด ก็ย่อมจะเกิดความรักและผูกพัน อันเป็นหัวใจสำคัญที่จะร่วมกันดูแลตำหนักทิพย์ต่อไป”

            ผมขอเอาใจช่วยสมาชิกบ้านไกรฤกษ์ทุกท่านให้ร่วมกันทำหน้าที่สำคัญนี้ เพื่อให้มรดกอันล้ำค่าของชาติยังยืนยงคงอยู่ตลอดไป พร้อมกับเรื่องราวอันทรงคุณค่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา ราชนารีผู้ดำรงพระชนม์ด้วยพระขันติธรรม พระเมตตาธรรม ตลอด 69 ปีแห่งพระชนม์ชีพ

ตำหนักทิพย์ : บ้านสไตล์ Tudor Revival อายุ 87 ปีของ ‘เสด็จพระองค์อาทร’

ขอขอบพระคุณ

  • ท่านผู้หญิงกุณฑี ไกรฤกษ์
  • ท่านทูตศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์
  • หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์
  • คุณวทัญญู เทพหัตถี

เอกสารอ้างอิง

  • แลวังหลังตำหนัก เรียบเรียงโดย หม่อมราชวงศ์เบญจาภา ไกรฤกษ์

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล