21 พฤศจิกายน 2020
2 K

“Where those memories go.”

นี่คือจดหมายรักต่อนิวยอร์ก และต่อความทรงจำมากมาย ณ ที่แห่งนั้น 

“เวลาคุณนั่งบนม้านั่งที่ Central Park คุณไม่ได้นั่งบนไม้ แต่คุณนั่งบนความทรงจำ” เราเพิ่งอ่านข้อความนี้มาจากบทความใน The New York Times และพบว่ามันจริงที่สุด ที่ Central Park ถ้าสังเกตเราจะพบว่าบนม้านั่งทุกตัวมีแผ่นทองเหลืองสลักข้อความติดอยู่-ข้อความเล่าเรื่องราวชีวิตและความทรงจำ

ตอนไป Central Park เก้าอี้ตัวแรกที่ฉันนั่งเขียนว่า “Born in the Bronx Feb 22 1934, Roger B. Friedlander Turned 75 and need a place to sit down.” 

ตอนนั้นเป็นปลายธันวาคม ฉันนั่งอยู่บนเนินหนึ่งของ Central Park กับแฟนของฉัน อากาศเย็น เสียงกระดิ่งซานตาคลอสแว่วมาจากสักแห่ง แต่ฉันกลับไม่ได้อยู่ที่นี่ ในหัวฉันเห็นคุณตาคนหนึ่งชื่อ Roger B. Friedlander เขานั่งตรงที่ฉันนั่ง ในหัวของฉันสร้างเรื่องราวชีวิตเขาขึ้นมาในเสี้ยววินาที 

คุณ Friedlander เกิดที่นิวยอร์ก เขต Bronx ในครอบครัวชั้นแรงงาน เป็นเด็กตั้งใจเรียนที่ต่อมาได้ทุนเรียนทนายความ และทำงานจนซื้อบ้านกลางแมนฮัตตันที่อยู่ปัจจุบันได้ เขาอายุ 75 ปีแล้ว ลูกๆ ออกจากบ้านไปหมด ภรรยาไปเล่นไพ่บ้านเพื่อน เขานั่งที่นี่ดูคนจ๊อกกิ้งผ่านไปมา พลางคิดว่าจะเดินไปซื้อเบอร์เกอร์ล็อบสเตอร์ห้างใกล้ๆ มากินเป็นมื้อเที่ยง 

แน่นอน มันไม่มีทางเป็นความจริง แต่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรารับร่องรอยความทรงจำของใครสักคนมา เราต่างสร้างเรื่องราวของคนคนหนึ่งขึ้นมาในหัว และปล่อยให้เขาโลดแล่นอยู่

จากเก้าอี้ตัวแรก Central Park เราเปลี่ยนจากเดินเล่นในสวนเป็นเดินอ่านข้อความบนม้านั่งแทบในทันที ฉันที่สนใจการแง้มดูเสี้ยวหนึ่งในชีวิตคน และปูเป้ที่เพิ่งสังเกตเห็นข้อความเหล่านี้ครั้งแรกหลังอยู่นิวยอร์กมา 3 ปี พวกเราต่างตื่นเต้นกับเรื่องราวที่เราพบเจอ เรื่องราวไล่เรียงยาวเหยียด ทั้งสุนัขที่จากไป คุณพ่อนักวิ่งมาราธอน เด็กที่โตมาใกล้ Central Park มากจนคิดว่านี่คือสวนหลังบ้าน คุณยายที่มาอ่านหนังสือให้หลานฟังริมน้ำพุ ชายที่พาคนรักมานั่งที่ม้านั่งเพื่อคนรักจะได้เห็นว่าบนม้านั่งคือคำขอแต่งงาน หรือสามีภรรยาที่เดิน Central Park ด้วยกันมา 30 ปี 

เราเห็นสายสัมพันธ์ของผู้คนได้จากข้อความที่พวกเขาเขียนไว้ และเราบอกถึงความสำคัญของมันได้จากการสลักบนสิ่งถาวรอย่างม้านั่งสวนสาธารณะ

ปูเป้แนะนำให้เราเปลี่ยนจากอ่านเฉยๆ มาเป็นถ่ายรูป เราเริ่มชินสายตาแปลกๆ ที่คนมองเราเวลาอ่านม้านั่ง เมื่อจบวัน เราพบว่าตัวเองเดินไปได้เพียงเศษ 1 ส่วน 5 ของสวนเท่านั้น การเดินให้ครบทั้งสวนเราคงต้องใช้เป็นเวลาเป็นอาทิตย์ ฉันมาค้นทีหลังจึงรู้ว่าใน Central Park มีม้านั่งกว่า 9,000 ตัว และมีพื้นที่ถึง 843 เอเคอร์

ข้อความเหล่านี้ไม่ได้มาจากการมือบอน แต่เป็นโครงการของ Central Park ชื่อว่า Adopt-A-Bench ที่ให้ผู้คนรับม้านั่งบุญธรรมของตัวเองแล้วเขียนข้อความลงไปได้ แลกกับการบริจาคเงินให้องค์กร The Central Park Conservancy โดยองค์กร The Central Park Conservancy เป็นองค์กรที่ทำหน้าจัดการดูแลและบูรณะ Central Park โดยเน้นที่ชุมชนเป็นหลัก 

หมายความว่าพวกเขาทำงานอยู่บนการคิดถึงสุขภาพกายใจของชาว New Yorker เป็นหลัก และมองผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นเรื่องรอง จึงเป็นเหตุผลที่ในประวัติศาสตร์ 150 ปีของ Central Park แม้จะเป็นสวนสาธารณะขนาดมหึมากลางเมืองในย่านที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่เคยถูกตัดแบ่งไปทำตึกหรืออาคารพาณิชย์เลย และเราจะไม่เห็นม้านั่งโฆษณาใน Central Park เพราะ ‘ห้ามใช้เชิงโฆษณา’ เป็นหนึ่งในข้อห้ามของ Adopt-A-Bench 

ค่า Adopt-A-Bench อยู่ที่ตัวละ 10,000 ดอลลาร์ฯ อาจฟังดูแพง แต่ถ้าเทียบกับงบประมาณที่จำเป็นต้องใช้แต่ละปีถือว่าไม่มากเลย เพราะพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่และความตั้งใจขององค์กรที่จะ ‘เก็บอดีตและสร้างอนาคต’ ค่าบำรุงรักษาแต่ละปีจึงสูงถึง 74 ล้านดอลลาร์ฯ นั่นรวมตั้งแต่ค่าใช้จ่ายจิปาถะอย่างคนสวน คนดูแลม้านั่ง คนตัดหญ้า หรือค่าดอกไม้ตามฤดูกาล ค่าดูแลต้นไม้ใหญ่ ค่าดูแลสนามเด็กเล่น ไล่ไปจนถึงค่าใช้จ่ายหนักๆ อย่างการบูรณะน้ำพุ สะพาน หรือซุ้มต่างๆ ซึ่งหลายที่อยู่มาตั้งแต่ ค.ศ. 1858 ที่เริ่มสร้างสวน 

พวกเราใช้เวลาใน Central Park ไปทั้งหมด 3 วัน การเดินอ่านทำให้ Central Park สำหรับฉันไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน ขณะที่เราอ่านข้อความ รอบๆ ตัวก็มีคนมาเดินเล่น ขี่ม้า กินข้าว วาดรูป นั่งคุย จูงหมา กิจกรรมสัพเพเหระเกิดขึ้นที่นี่ มันคือพื้นที่ในเมืองใหญ่ที่ให้คนได้หายใจและใช้ชีวิต เรื่องราวของผู้คนเหล่านั้นจึงหล่อเลี้ยง Central Park และตัว Central Park เองก็หล่อเลี้ยงคนรุ่นต่อๆ มานั่นเอง เราจึงมีความทรงจำมากมายหมุนเวียนอยู่ที่นี่ และข้อความบนม้านั่งก็เป็นจดหมายรักถึงความทรงจำเหล่านั้น

‘Where those memories go.’ ที่เป็นชื่อโปรเจกต์สำหรับฉันจึงมีความหมาย 2 ทาง คือ หนึ่ง ฉันพูดถึง Central Park ในฐานะสถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของความทรงจำ(Central Park is where those memories go.) ผู้คนสลักมันลงบนเก้าอี้เพื่อให้ความทรงจำดำรงอยู่ แม้วันหนึ่งตัวเขาจะไม่อยู่แล้ว และสอง มันเป็นคำถามต่อตัวเอง (Where those memories go?) ว่าเมื่อคนเราได้รับรู้เรื่องราวเศษเสี้ยวของคนอื่น เราสร้างเรื่องราวของพวกเขาขึ้นมาอย่างไร พวกเขามีชีวิตอยู่ในความคิดเราอย่างไร ความทรงจำหนึ่งจะถูกสร้างใหม่ขึ้นมาเป็นร้อยๆ แบบในหัวของคนมากมาย และมันจะไปไกลกว่าความจริงได้มากแค่ไหน

และสุดท้าย อย่างที่บอกไว้ตอนต้น โปรเจกต์นี้เป็นจดหมายรักต่อนิวยอร์ก และต่อความทรงจำมากมาย ณ ที่แห่งนั้น

ฉันพูดประโยคนี้ทั้งสำหรับข้อความบนม้านั่งที่เป็นจดหมายรักต่อความทรงจำในนิวยอร์กที่คนคนนั้นได้พบเจอ และสำหรับตัวฉันเองที่โปรเจกต์นี้เป็นจดหมายรักของฉันต่อเมืองนี้เช่นกัน ฉันอยากพูดถึงนิวยอร์กในมุมที่ฉันรัก นิวยอร์กแบบที่ฉันเดินไปบนถนนและรู้สึกว่ามันช่างเต็มไปด้วยชีวิต ความรู้สึก ความฝัน ความหวัง ความเศร้า ความผิดหวัง ความสุข และมวลของทุกๆ ความรู้สึกเหล่านั้นรวมกัน 

ฉันอยากส่งต่อข้อความบนม้านั่งเหล่านี้ให้กลายเป็นเรื่องราวในความคิดคนอื่นๆ ดำรงอยู่ โลดแล่น และถูกสร้างใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า

Write on The Cloud

Photo Essay

ถ้าคุณมีเซ็ตภาพถ่ายที่อยากมาอวดในคอลัมน์นี้ ช่วยส่งเซ็ตภาพพร้อมคำบรรยาย(แบบไม่ยาวมาก) รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Photo Essay

ถ้าเซ็ตรูปของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินี ประมูลวงศ์

ภาสินีอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก เธอทำงานในทีมการศึกษาที่ Alice Austen House พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับภาพถ่าย LGBTQIA+ กิจกรรมและคลาสของเธอพูดถึงเพศสภาพ อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และการเรียนรู้ตัวเองผ่านสิ่งเหล่านั้น ในเวลาว่าง ภาสินีจะทำงานที่หอจดหมายเหตุประชาชน Lesbian Herstory Archives ซึ่งเธอเป็นผู้ดูแลหลักของคอลเลกชันโปสการ์ดและสติกเกอร์

Photographer

Avatar

จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต

ปูเป้มีความสนใจด้านศิลปะการถ่ายภาพ และด้วยความสนใจนั้น จึงลาออกจากงานประจำไปเรียนต่อที่ International Center of Photography ที่นิวยอร์ก ปัจจุบันปูเป้ยังคงอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก โดยประกอบอาชีพเป็นช่างภาพอิสระ(เพื่อหาเงิน) ทำ personal project ในเวลาว่าง(ซึ่งจริงๆ เป็นงานหลัก) และขยายขอบเขตความสนใจเผื่อแผ่ไปถึงงานศิลปะแขนงอื่นๆ ด้วย