ฟ่าว ฟ่าว ชวนหมู่มาขี่เวสป้าไปเบิ่งศิลปะ-วัฒนธรรมฉบับขอนแจ่นนำกันเด้

Walk with The Cloud : บึ่งแก่นนคร เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ Local Economic Forum KHON KAEN 2022 งานสัมมนาและเทศกาลส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยความคิดสร้างสรรค์ ที่ The Cloud ร่วมกับ จังหวัดขอนแก่น, หอการค้าจังหวัดขอนแก่น, กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการ ผ่านเวทีสัมมนา หลักสูตรอบรม การเดินทางดูงาน และการนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาต่อยอดด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนกลายเป็นสินค้าและอาหารที่ทุกคนเข้าถึงได้ 

The Cloud ร่วมบึ่งขอนแก่นกับ Vespa จัดทริปสกูตเตอร์ชมศิลปวัฒนธรรม ชวนพลพรรคคาราวานเวสป้าขี่เลาะเมืองขอนแก่น อวดโฉมสีสันคัลเลอร์ฟูลของเวสป้าสารพัดรุ่น ไปทำความรู้จักวรรณคดีและศิลปะพื้นบ้านฉบับลุ่มแม่น้ำโขง ม่วนกันต่อกับการชมตึกโมเดิร์นทรอปิคัลของมอดินแดง สวย เก๋ คลาสสิก แถมฟังก์ชันสุด ๆ พร้อมฟังเรื่องราวที่มาที่ไปของตึกเก่าสุดล้ำในบริบทเมืองร้อน และโสเหล่ เดินดูนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่ห้องภาพใหม่อีหลี

เรารับหมู่ทั้งหมด 15 คัน (มีผู้ติดตามได้คันละ 1 คน) ทริปนี้รับประกันความจ๊วด!

เส้นทางกิจกรรม

1 โฮงสินไซ 

เราเริ่มบิดสกูตเตอร์ออกจากจุดนัดพบไปยังจุดหมายแรกที่ ‘โฮงสินไซ’ บ้านสวนกลางเมืองจังหวัดขอนแก่น พื้นที่ขนาดย่อมที่เปิดกว้างด้านการเรียนรู้ หยิบวรรณคดีพื้นบ้าน ภูมิปัญญา บูรณาการกับธรรมชาติ วัฒนธรรม และศิลปะ

โฮงสินไซเปิดบ้านชวนคนรักเวสป้ามาล้อมวงเว้านำกัน ปูพื้นฐานวรรณคดี ‘สินไซ’ ฉบับย่อ ชวนทำความเข้าใจถึงความเชื่อมโยงระหว่างสินไซกับการพัฒนาขอนแก่น กับ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้ก่อตั้งโฮงสินไซ นำชมร่วมกับวิทยากรเด็กพิเศษ บอกเลยม่วนอีหลี! แถวเดินทัวร์ทั่วบ้านตั้งแต่ชั้นล่างยันชั้นบน มีของแรร์ไอเทมเพียบ

ทั้งภาพเขียนสีน้ำที่เจ้าบ้านวาดขึ้นเองจากการพบสินไซตอนต่าง ๆ ตามจิตรกรรมฝาผนังของวัดในภาคอีสาน หนังสือวรรณคดีสินไซในหลากหลายภาษา เช่น ลาว เกาหลี เวียดนาม ล้านนา จนถึงฉบับขอนแก่นก็มี 

กระซิบว่า ผศ.ดร.ทรงวิทย์ ถนัดดริปกาแฟเป็นงานอดิเรก มีบาร์ส่วนตัวให้ชนแก้ว (กาแฟ) กันด้วย

วิทยากร ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้ก่อตั้งโฮงสินไซ นำชมร่วมกับวิทยากรเด็กพิเศษ

2 มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หลังจากอิ่มอร่อยกับไก่ย่างรสเด็ดและอาหารอีสานรสแซ่บที่ ไก่ย่างปรีชา อุทยานเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราชวนพลพรรคนักขี่ในชุดสีสันคัลเลอร์ฟูล เลาะผ่านเส้นทางเลียบข้างด้วยต้นสักสูงใหญ่ ข้ามสะพานขาว แลนด์มาร์กของมอดินแดง มุ่งหน้าสู่การชมตึกโมเดิร์นทรอปิคัล ที่สะท้อนมุมมองก้าวหน้า ทันสมัย ผ่านงานสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายประเทศขยายความเจริญด้านการศึกษา แถมยุคนั้นก็เกิดมหาวิทยาลัยภูมิภาคขึ้นอีกหลายแห่ง

‘มหาวิทยาลัยขอนแก่น’ ที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานก็เป็นหนึ่งนั้น โดยมีสถาปนิกหัวสมัยใหม่ เช่น อมร ศรีวงศ์, ธิติ เฮงรัศมี มาสร้างตึกแปลกตา ทว่าใช้ประโยชน์ได้จริง ตอบสนองบริบทและสภาพอากาศเมืองร้อนของขอนแก่น

ถ้าพร้อมแล้ว มาขี่เวสป้าดูตึก ตึก ตึก นำกันเด้อ

ตึกกลม (คณะวิทยาศาสตร์)

เราเริ่มต้นตึกแรกที่ ‘ตึกกลม’ อาคารเรียนรวมที่นักศึกษาปี 1 จากหลายคณะมาเรียนวิชาพื้นฐานด้วยกัน, ถ้ามองจากด้านบนเห็นเป็นชิ้นพิซซ่าสามเหลี่ยม 3 ชิ้นวางต่อกัน นั่นคือห้องบรรยายทั้งหมด 3 ห้อง มีที่นั่งเป็นขั้นบันไดเหมือนอัฒจันทร์ บริเวณตึกสะท้อนการออกแบบแบบทรอปิคัลด้วยบล็อกช่องลมสีขาวสะอาดตา ช่วยนำแสงและลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาในอาคาร หากเบิ่งดี ๆ จะเห็นแผ่นกระจกวางเหลื่อมกัน เกิดช่องว่างจิ๋วให้ลมระบายอากาศ

ตึกหลอด (คณะวิทยาศาสตร์)

ถอยออกมานิดจากตึกกลม มองเห็น ‘ตึกหลอด’ แท่งยาวชะลูด เป็นอาคารแล็บของคณะวิทยาศาสตร์ ออกแบบเส้นนอนเพื่อเอาแสงสะท้อนเข้าไปด้านใน ทำให้พื้นที่ในอาคารสว่าง เป็นเทคนิคประหยัดพลังงานแถมอยู่สบายสุด ๆ

ตึกภาควิชาเคมี (คณะวิทยาศาสตร์)

ขยับตัวจากตึก ตึก ก่อนหน้า หมุนตัวเดินมาขวามือ ปรากฏตึก ‘ภาควิชาเคมี’ ตึกที่นักเรียนสถาปัตย์เห็นแล้วต้องอุทาน ‘นี่มัน Le Corbusier!’ ตัวอาคารเป็นผนังคอนกรีต สะท้อนความหยาบนิด ดิบหน่อยของวัสดุ ลองถอยออกมามองไกลหน่อย จะเห็นการเล่นเส้นเล็ก-เส้นใหญ่บนตัวอาคาร ถือเป็นกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบเลอกอร์บูซีเย

โถงโล่งใต้อาคารก็สนุก ไม่มีเสาคานตรงกลาง แต่ดันอยู่ด้านข้าง ห่างกันถี่ ๆ และถ้าแหงนหน้ามองเพดาน จะเห็นโครงสร้างตาข่ายที่ตั้งใจให้สอดคล้องกับการออกแบบพื้นที่ห้องแล็บเคมีด้านบนอาคาร 

ห้องปฏิบัติการกลางเป่าแก้ว (คณะวิทยาศาสตร์)

ถัดจากตึกภาควิชาเคมีจิ๊ดเดียว ใต้ร่มเงาไม้มี ‘ห้องปฏิบัติการกลางเป่าแก้ว’ ตึกโครงสร้างโค้งหยัก เป็นโครงสร้างแบบ Hyperbolic Paraboloid ใช้คอนกรีตหล่อให้โค้งเป็นรูปทรงเรขาคณิตครึ่งวงกลม ถือเป็นการทดลองสนุก ๆ ของสถาปนิกเมื่อ 50 ปีก่อนนู้น

ตึกนี้เป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากคอนกรีตจนถึงศักยภาพของวัสดุ ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นตรงอย่างเดียว ดัดได้ ปั้นได้ โค้งได้ ซึ่งการยื่นคานออกจากแนวเสา ก็ถือเป็นการใช้ประสิทธิภาพของโครงสร้างให้ได้มากที่สุดด้วย 

ตึก AG 01 (คณะเกษตรศาสตร์)

เลาะกันต่อที่ ‘ตึก AG 01’ ตึกแรกของคณะเกษตรศาสตร์ วางขนานกับตึก AG 02 ด้านหลัง นอกจากสีเขียวประจำคณะที่ทำให้ตึกหน้าตาน่ารัก ยังเห็นแพตเทิร์นแผ่นสี่เหลี่ยมซ้ำ ๆ บนตัวอาคาร ข้อดีคือกันแดดและเป็นราวกันตก แถมการวางตัวอาคารเป็นแนวยาว (มาก) ข้อดีคือรับลมเย็นสบาย แต่ไม่รับแดดร้อน ๆ ของเมืองร้อน

ที่น่าสนใจอีกอย่าง ตึกนี้สะท้อนถึงความโมเดิร์นควบคู่กับระบบอุตสาหกรรม เพราะมีการหล่อชิ้นงานจากโรงงานมาติดตั้งบริเวณขอบนอกของอาคารจนกลายเป็นแพตเพิร์น เป็นความงามที่มาพร้อมกับประโยชน์ใช้สอย

ตึกโครงเหล็ก CB (คณะวิศวกรรมศาสตร์)

ตึกนี้เด็กวิศวะรักมาก, ‘ตึกโครงเหล็ก CB’ เป็นอาคารเรียนรวมและห้องซ้อมเชียร์ มองจากด้านนอกเป็นห้องสโลปบรรยายพร้อมอัฒจันทร์ โครงสร้างท่อเหล็กสีส้มทำหน้าที่ซัพพอร์ตโครงสร้างด้านใน ตัวอาคารไม่มีคานตรงกลาง แต่คานใหญ่โตอยู่ริมนอกแทน และโครงเหล็กสีจี๊ดจ๊าดก็เป็นสัญลักษณ์ของยุคโมเดิร์น (ยุคหลัง) ที่นำเหล็กมาใช้ในงานออกแบบเยอะขึ้น 

ตึกภาควิชาวิศวกรรมโยธา (คณะวิศวกรรมศาสตร์)

ตึกทรงเท่หลังนี้ตั้งใจให้นักศึกษาวิศวะมาเรียนรู้จริง คำนวณโครงสร้างและวิธีการรับแรงกันจริง ๆ มีเสาซัพพอร์ตอยู่ริมสองข้าง หลังคาโครงสร้างเหล็ก บนเสามีคานพาด เป็นโครงสร้างเหล็กที่ยื่นปลายออกมาสองข้าง เด่นด้วยการหิ้วโครงสร้างที่มีแรงกระทำในแนวดิ่งและแรงกระทำกลับคืนขึ้นไป คล้ายโครงสร้างการหิ้วของสะพาน

เดินโฉบด้านในอีกนิด ไปดูบันไดแบบ Freestanding Structure ที่มีจุดบรรจบเพียง 2 จุด คือ จุดต้นและจุดปลาย บริเวณชานพักไม่มีเสาแต่ลอยตัว! เป็นความเก๋าของนักออกแบบที่ผสานหลักวิศวกรรมได้เจ๋งแจ๋ว

นี่งานออกแบบเมื่อ 50 กว่าปีก่อนนะ 

หอพักนักศึกษาหญิงที่ 2

ขี่เวสป้าเพลิน ๆ จอดแวะดู ‘หอพักนักศึกษาหญิงที่ 2’ รูปร่างเหมือนชิ้นส่วนเลโก้วางต่อกัน เป็นกล่องสี่เหลี่ยมยาว ๆ ดันออกมาจากโครงสร้าง มีช่องว่างสี่เหลี่ยมเกิดขึ้นระหว่างกล่อง ข้อดีคือเป็นช่องรับแสง รับลม ระบายอากาศได้ยอดเยี่ยม ลมพัดไหลเวียนทั้งบน ล่าง ซ้าย ขวา, ส่วนโถงใต้อาคารก็โล่งโปร่ง พ่วงด้วยแรมป์ด้านข้าง

ว่ากันว่าสมัยช่วงตั้งมหาวิทยาลัยแรก ๆ หอพักยังไม่มีน้ำ ต้องขนน้ำขึ้นแรมป์ด้านข้าง

หอพักนักศึกษาหญิงที่ 3 และ 4

ไม่ไกลจากหอพักนักศึกษาหญิงที่ 2 ก็เจอะ ‘หอพักนักศึกษาหญิงที่ 3 และ 4’ ที่สะท้อนตึกยุคโมเดิร์นทรอปิคัลและระบบอุตสาหกรรมได้ดียิ่ง ทั้งชิ้นส่วนที่หล่อจากโรงงานวางเป็นแพตเทิร์นติดกับตัวอาคาร ตัวผนังระบายอากาศใช้แทนหน้าต่าง แถมเป็นส่วนตัวกว่า และมีระเบียงยื่นออกมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยที่คนสถาปัตย์เห็นแล้วร้องอ๋อ ‘กลิ่นอาย Bauhaus นี่นา’ ซึ่งสถาปนิกโมเดิร์นยุคแรกอาจได้อิทธิพลบางอย่างจากสถาบันสอนออกแบบชื่อดังจากเยอรมนี

ตึกนี้ก็ตรงคอนเซ็ปต์ Form Follows Function อย่างไม่ต้องสงสัย 

วิทยากร รศ.ดร.นพดล ตั้งสกุล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3 ใหม่อีหลี

ชวนพลพรรคเวสป้าพักเติมพลังที่คาเฟ่ขนาดกะทัดรัดใน ‘ใหม่อีหลี’ พื้นที่แสดงงานศิลปะข้างบึงแก่นนครของ เอริค บุนนาค บูทซ์ ผู้ก่อตั้งใหม่เอี่ยมและใหม่อีหลี ที่ตั้งใจจัดแสดงศิลปะร่วมสมัย สนับสนุนการมีส่วนร่วมทางสังคมและการตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์ เป็นเวทีชุมนุมสาธารณะ พร้อมเปิดกว้างและสนับสนุนเสรีภาพในทุกการแสดงออก 

หลังจากจิบเครื่องดื่มพอหอมปากหอมคอ ชวนเดินดูนิทรรศการ ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ภาคสอง (A Minor History Part II: Beautiful Things)’ โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล นำเสนอผ่านภาพถ่ายและวิดีโอจัดวาง ภายในนิทรรศการมีหนังสือและของที่ระลึกจำหน่ายด้วย แฟนอภิชาติพงศ์ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง 

เราจะจบกิจกรรมสุดสนุกกันที่นี่ พร้อมรับของที่ระลึกสุดพิเศษจากเวสป้าที่ทำขึ้นเพื่อคนรักเวสป้า

Walk with The Cloud

บึ่งแก่นนคร

วัน-เวลา

เวลา 09.00 - 16.00 น.

สถานที่

จังหวัดขอนแก่น

จำนวนผู้เข้าร่วม

30 คน

ค่าใช้จ่าย

550 บาท

วิธีการสมัคร

  1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีเวสป้ารับ 15 คัน รวมผู้ติดตาม 1 คน (ไม่จำกัดรุ่น) 
  2. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่มีเวสป้ารับ 15 คน (ทางผู้จัดทริปจะเตรียมรถตู้ให้)
  3. กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 
  4. ทีมงานจะแจ้งผลการสมัคร รายละเอียดการชำระเงิน และการเตรียมตัว ให้ทุกท่านทราบผ่านทางอีเมล
  5. ผู้จัดขอสงวนสิทธิ์ในการคืนเงินให้แก่ผู้ที่ชำระเงินแล้ว แต่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้

สมัครเข้าร่วมกิจกรรม