โรงภาษีร้อยชักสามหรือศุลกสถาน ผ่านบทบาทหน้าที่มาหลายอย่างตามยุคสมัย
อดีตที่ทำการของกรมศุลกากรริมแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย โยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลีที่ออกแบบอาคารสำคัญมากมายในเมืองสยาม เป็นผู้ออกแบบอาคาร 3 ชั้นแบบนีโอ-คลาสสิกซึ่ง ใช้เป็นที่ทำการภาษีข้าวและไปรษณีย์ต่างประเทศ รวมถึงเป็นที่ทำการเก็บภาษีสินค้าขาเข้า และเป็นที่จัดเลี้ยง งานเต้นรำของเชื้อพระวงศ์และชาวต่างชาติ
เมื่อกรมศุลกากรย้ายที่ทำการ อาคารเก่าแก่นี้เปลี่ยนบทบาทเป็นที่ทำการตำรวจน้ำ และกลายเป็นที่ทำการของสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก ก่อนจะปิดตัวลงในที่สุด
ในช่วง Bangkok Design Week 2020 โรงภาษีร้อยชักสามกลับมาเปิดประตูรับผู้มาเยือนอีกครั้ง ในฐานะสถานที่จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย Hundred Years Between ของท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ซึ่งเดินทางตามรอยเสด็จประพาสของรัชกาลที่ 5 ที่นอร์เวย์ โดยเปิดให้เข้าชมระหว่างระหว่างวันที่ 1 – 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
สำหรับคนที่พลาดเข้าชมนิทรรศการและอาคารโบราณ Walk with The Cloud 25 : The Custom House (สะกดตามชื่อที่ถูกต้องของอาคารซึ่งมาจากตัวหนังสือดั้งเดิมบนอาคาร) เป็นโอกาสเดียวที่จะได้เข้าชมโรงภาษีร้อยชักสามเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากนั้นอาคารเก่าแก่นี้จะปิดปรับปรุงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และจะใช้เวลาดำเนินการราว 6 ปี เพื่อบูรณะอาคารทั้งหมดและเปิดตัวสู่สาธารณชนราว พ.ศ. 2568
กิจกรรม
- ชมภายในโรงภาษีร้อยชักสาม
- ฟังการบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและการอนุรักษ์โรงภาษีร้อยชักสาม
วิทยากร
- ผศ. ดร.พีรศรี โพวาทอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาคารโบราณ
- ลีนวัตร ธีรพงศ์รามกุล ผู้เชี่ยวชาญและทำงานอนุรักษ์อาคารโรงภาษีร้อยชักสาม จากบานาน่า สตูดิโอ