พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ และทรงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบ้านเมืองให้ทัดเทียมอารยประเทศตั้งแต่เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งสยามมกุฎราชกุมาร

ท่ามกลางการการแข่งขันเข้าสู่โลกยุคสมัยใหม่ของประเทศต่างๆ และความผันผวนของยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าทรงเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ที่สนพระราชหฤทัยเรื่องการศึกษาและวรรณกรรมอย่างยิ่งยวด
Walk with The Cloud ครั้งนี้จะพาผู้ร่วมทริปไปสำรวจแนวพระราชดำริในการสร้างคนของรัชกาลที่ 6 ที่ ‘หอวชิราวุธานุสรณ์‘ อาคารที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรัชกาลที่ 6 ไว้ทั้งหมด ความพิเศษคือเราจะเดินชมแบบ Curatorial Walk คือไม่เพียงชมนิทรรศการพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ แต่ภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรศการต่างๆ จะเป็นผู้นำชมและให้ข้อมูลเบื้องหลังการค้นคว้าและออกแบบเพื่อสร้างนิทรรศการที่สมบูรณ์
หลังจากนั้นเราจะเข้าวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนที่รัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนา เพื่อเข้าไปเรียนรู้การศึกษาและสถาปัตยกรรมของอดีตโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยผู้บังคับการ ศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน จะร่วมเป็นวิทยากรเล่าประวัติโรงเรียนเรียนประจำเก่าแก่อายุ 109 ปี



กิจกรรม
1. ชมพระบรมราชะประทรรศนีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พบกันที่หอวชิราวุธานุสรณ์ หอสมุดแห่งชาติ ชมนิทรรศการถาวรพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แบ่งตามพระราชกรณียกิจสำคัญ พร้อมฟังเบื้องหลังการจัดแสดงของภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบที่นี่

2. ชมนิทรรศการสถานธีรนิทรรศน์ และนิทรรศการ 100 ปี ดุสิตธานี
เป็นคนกลุ่มแรกที่ได้ชมดุสิตธานี เมืองจำลองในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งปิดซ่อมไปนานกว่า 6 ปี และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองจิ๋วอายุ 100 ปีแห่งนี้


3. เยี่ยมห้องสมุดรามจิตติ
ทำความเข้าใจแนวพระราชดำริจากห้องจำลองห้องสมุดของรัชกาลที่ 6 ที่มีตู้หนังสือส่วนพระองค์

4. รับประทานอาหารกลางวันตำรับวังรื่นฤดี
รับประทานสำรับคาวหวานโบราณ ฝีมือห้องเครื่องวังรื่นฤดี อดีตที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6
5. ชมอาคารนวมภูมินทร์ อาคารในวชิราวุธวิทยาลัยที่ออกแบบโดย A49
เดินทางไปวชิราวุธวิทยาลัย ชมอาคารอเนกประสงค์ทรงไทยประยุกต์ โดย นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49 ศิษย์เก่าของโรงเรียนและผู้ออกแบบอาคารนี้เป็นผู้นำชมด้วยตัวเอง

6. ชมสถาปัตยกรรมยุคต้นรัชกาลที่ 6 ที่สมบูรณ์ที่สุด
เยี่ยมอาคารต่างๆ ในโรงเรียน เช่น หอสวด อาคารวชิรมงกุฎ และอาคารที่พักของนักเรียนซึ่งแบ่งเป็นคณะต่างๆ โดยนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัยจะเล่าประวัติความเป็นมา และชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียนให้ฟัง

7. เรียนรู้การออกแบบการศึกษาแบบ Character Education
ทำความรู้จักการเรียนการสอนของวชิราวุธวิทยาลัย ซึ่งรับอิทธิพลมาจาก Eton College และพัฒนาจนเป็นโรงเรียนชั้นนำของเมืองไทย

วิทยากร (ตามลำดับการปรากฏตัว)
- เชื้อพร รังค วร เลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัชพล ไชยพร รองเลขาธิการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
จิตติ เกษมกิจวัฒนา ภัณฑารักษ์ และหัวหน้าฝ่ายบริหารทรัพยากรวัฒนธรรม
สุจิรา ศิริไปล์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปฏิวัติ สุขประกอบ นักวิชาการเผยแพร่ คณะทำงานพระบรมราชะประทรรศนีย์
นิธินาฏ ปุโรทกานนท์ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ฝ่ายข้อมูลเผยแพร่ - กิตติธร เกษมกิจวัฒนา ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ และฝ่ายศิลปกรรม
- นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจ และคอลัมนิสต์ The Cloud
- ผศ.สุรวุธ กิจกุศล ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
- นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทสถาปนิก 49
- ธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกประจำสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร
- กลุ่มนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
ป.ล. ใครอดมาไม่ต้องเสียใจ รอติดตามสรุปกิจกรรมครั้งนี้ได้ในคอลัมน์ Walk with The Cloud บนเว็บไซต์ readthecloud.co หลังกิจกรรมจบนะ