ยุคนี้ที่ใคร ๆ ต่างหันมาสนใจเรื่องคุณภาพชีวิตกันมากขึ้น ประเด็นการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองที่ ‘อยู่ได้’ และ ‘อยู่ดี’ มี ‘สุขภาวะ’ เป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหยิบขึ้นมาพูดเป็นประจำ เพราะปัญหาของเมืองไม่เคยอยู่ไกลตัว และส่งผลกระทบโดยตรงกับเราเสมอ

แล้วพื้นที่แบบไหนที่ทำให้คนในเมืองอยู่ดีมีสุขได้

คำตอบคงมีหลากหลาย แต่ในครั้งนี้ เราอยากจะพูดถึง ‘Public Space’ หรือ ‘พื้นที่สาธารณะ’ 

แท้จริงแล้ว พื้นที่สาธารณะคืออะไร

การมีพื้นที่สาธารณะดี ๆ ใกล้บ้าน จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นอย่างไร

พื้นที่สาธารณะในรูปแบบใดบ้างที่ผู้คนต้องการ

แล้วเราจะทำให้พื้นที่สาธารณะในฝันเกิดขึ้นได้อย่างไร

The Cloud ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันอาศรมศิลป์ ร่วมกันจัดงาน ‘Talk of The Cloud 08 : Public Space Age’ ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.00 – 15.30 น. 

เพื่อเล่าถึงพื้นที่สาธารณะในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวของ 7 โครงการ โดยสถาปนิกทั้ง 10 ท่าน จะเล่าตั้งแต่โจทย์ที่ได้รับ การสำรวจบริบทของปัญหา กระบวนการพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้อง สู่การออกแบบและผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริง ปิดท้ายด้วยสิ่งที่แต่ละโครงการได้สร้างความเปลี่ยนแปลง
งานนี้เราจะได้ฟังเรื่องราวของ 

  1. โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 โดย คุณวิลาสินี ยมสาร และ คุณทิพยสุดา ใจเป็นใหญ่ สถาบันอาศรมศิลป์
  2. โรงพยาบาลราชพฤกษ์ โดย คุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาบันอาศรมศิลป์
  3. ห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม โดย คุณอิสริยา ปุณโณปถัมภ์ และ คุณนฤมล พลดงนอก สถาบันอาศรมศิลป์
  4. สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ โดย คุณยศพล บุญสม we!park
  5. เพชรบุรี โดย คุณรชา ถาวระ สถาบันอาศรมศิลป์
  6. สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ โดย คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร ใจบ้านสตูดิโอ
  7. สวนเบญจกิติ โดย อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ และ คุณชัชนิล ซัง สถาบันอาศรมศิลป์

ดำเนินรายการโดย แก๊ป-ธนเวทย์ สิริวัฒน์ธนกุล พิธีกรรายการทางช่องยูทูบ Gapthanavate และ คุ้ง-ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์ สถาปนิก สถาบันอาศรมศิลป์

เสวนาครั้งนี้จะจัดแบบ Live ในเฟซบุ๊ก The Cloud และเปิดให้ถกถามข้อสงสัยกันแบบเรียลไทม์ 

7 โครงการ 10 นักออกแบบ

โรงพยาบาลบางบัวทอง 2

เจ้าของโครงการ : สถาบันอาศรมศิลป์

วิทยากร : คุณวิลาสินี ยมสาร สถาปนิกชุมชน

เมื่อชุมชนโดยรอบขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ ไม่มีที่ให้ชาวบ้านยืดเส้นยืดสาย ไร้ที่ทำกิจกรรมชุมชน โรงพยาบาลบางบัวทอง 2 ที่กำลังจะขยายเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพของจังหวัดนนทบุรี จึงรับหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะให้ชุมชน

วิลาสินี ยมสาร สถาปนิกชุมชนจากสถาบันอาศรมศิลป์ จะย้อนเล่าให้ฟังตั้งแต่บริบทดั้งเดิม ที่ชุมชนกับโรงพยาบาลยัง ‘ไม่สนิท’ กันเท่าไหร่ มาจนถึงจุดที่โรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านรู้สึกสบายใจที่จะเข้ามาใช้เหมือนเป็นบ้านของตัวเอง

สมชื่อ ‘โรงพยาบ้าน’ ที่ทุกคนเรียก

โรงพยาบาลราชพฤกษ์

เจ้าของโครงการ : สถาบันอาศรมศิลป์

วิทยากร : คุณนันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ สถาปนิกชุมชน

โรงพยาบาลราชพฤกษ์เปิดให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2536 โดยมี นายแพทย์ธีระวัฒน์ ศรีนัครินทร์ เป็นผู้ก่อตั้ง วันเวลาผ่านไป 55 เตียงก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนไข้ยุคใหม่ จึงได้มีการย้ายไปสร้างใหม่ที่อื่น

จะออกแบบใหม่ทั้งที คุณหมอธีรวัฒน์ก็คิดว่าราชพฤกษ์จะต้องพิเศษ เป็นโรงพยาบาลในฝันของทุกคน ซึ่งข้อธรรมของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป. อ. ปยุตฺโต ‘ถึงกายป่วย แต่ใจไม่ป่วย’ ที่ติดไว้บนผนังอาคารหลังเก่า ก็ถูกนักออกแบบตีความออกมาเป็นกายภาพของโรงพยาบาลแห่งใหม่

นันทพงศ์ เลิศมณีทวีทรัพย์ จากสถาบันอาศรมศิลป์ จะมาเล่ากระบวนการทำงาน ทั้งการศึกษาบริบทวัฒนธรรมเดิม ศึกษาการพัดของลมในภูมิภาค และการออกแบบที่ทำให้โรงพยาบาลกลายเป็นที่ที่ร่มรื่นไปด้วยธรรมชาติ อยู่แล้วสุขใจ

ห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้าท่าฉลอม

เจ้าของโครงการ : สถาบันอาศรมศิลป์

วิทยากร : คุณอิสริยา ปุณโณปถัมภ์ และ คุณนฤมล พลดงนอก สถาปนิกชุมชน

‘ท่าฉลอม’ เมืองประมงแห่งสมุทรสาครได้เปลี่ยนไป กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่แม้แต่ลูกหลานก็ไม่รู้จักที่มา ทั้งยังประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สาธารณะให้ชาวเมืองใช้ทำกิจกรรมทางกาย

ด้วยโอกาสอันดีที่ สสส. นำ ‘โครงการลานกีฬาวัฒนธรรม’ มาต่อยอดอีกครั้งในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง ท่าฉลอมจึงเป็น 1 ใน 8 พื้นที่ที่ได้รับเลือกมาพัฒนา

ในทอล์กนี้ อิสริยา ปุณโณปถัมภ์ และ นฤมล พลดงนอก จากสถาบันอาศรมศิลป์ จะเล่าถึงกระบวนการปรับปรุงพื้นที่ในสถานีอนามัยขนาด 2 ไร่ ให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประสิทธิภาพ และรีโนเวตหอเก็บน้ำเก่าสมัย ร.5 ให้เป็นห้องสมุดเก๋งเรือลอยฟ้า แลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่บอกเล่าเรื่องราวของท่าฉลอมให้ลูกหลานฟัง

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์

เจ้าของโครงการ : we!park

วิทยากร : คุณยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกและกรรมการผู้จัดการบริษัท Shma

เมื่อ ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกจาก Shma ได้รู้ว่า เหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะดี ๆ เกิดขึ้น คือไม่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ-ภาคเอกชน-นักออกแบบ ต่างฝ่ายต่างทำงาน ไอเดียในการก่อตั้ง we!park จึงเกิดขึ้น

we!park คือแพลตฟอร์มที่เชื่อมแต่ละภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของคนเมือง โดยยึดหลัก Win-Win Solution หรือการทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ถ้วนหน้า

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ หรือ ‘สวนข้างบ้าน’ ของผู้คนในชุมชนหลังวัดหัวลำโพง ก็เป็นอีกหนึ่ง we!park ที่บริจาคพื้นที่โดยประชาชน สวนนี้ได้ออกแบบผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเต็มที่ จากเดิมที่ขาดแคลนพื้นที่สาธารณะในย่าน ผู้คนก็ได้มีสวนสำหรับพักผ่อนกายใจ และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

ยศจะมาแชร์แนวคิดเกี่ยวกับ we!park และสวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ พื้นที่สาธารณะเล็ก ๆ กลางเมืองนี้

เพชรบุรี

เจ้าของโครงการ : สถาบันอาศรมศิลป์

วิทยากร : คุณรชา ถาวระ สถาปนิกชุมชน

จากโจทย์ที่ สสส. ให้ นั่นคือการสร้างสุขภาวะด้วยต้นทุนวัฒนธรรมในพื้นที่ รชา ถาวระ จากสถาบันอาศรมศิลป์ เริ่มต้นจากการลงสำรวจเพชรบุรีร่วมกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ มองหา ‘คุณค่าใกล้ตัว’ ที่คนเพชรไม่ได้สังเกตเห็นแล้วเก็บรวมรวมไว้

ตลอดระยะเวลาร่วม 10 ปีที่ดิวใช้เวลากับเพชรบุรี เขาทดลองใช้หลากหลายเครื่องมือในการทำความรู้จักเมือง และลงมือจัดหลากหลายกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนเพชรบุรีไปไม่น้อย ทุกวันนี้เมืองที่เงียบเหงากลับดูมีชีวิตชีวาขึ้น ผู้คนในเมืองต่างก็เริ่มเห็นคุณค่าของสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ใกล้ตัว และรู้จักนำมาต่อยอดในแบบของตัวเอง

รชาทำอะไรกับเมืองเพชรบุรีบ้าง มาฟังเขาเล่าเต็ม ๆ ได้ที่นี่

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่

เจ้าของโครงการ : ใจบ้านสตูดิโอ

วิทยากร : คุณศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกและผู้ร่วมก่อตั้งใจบ้านสตูดิโอ

สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ เกิดจากกลุ่ม ‘คณะผู้ก่อการ’ โดยมีสถาปนิกจากใจบ้านสตูดิโอ เครือข่ายภาคประชาชน และภาครัฐ เป็นทีมงาน

ด้วยปัญหาความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ไอเดีย Urban Farm ปลูกผักเลี้ยงไก่ในสเกลเล็ก ๆ จึงถูกนำมาใช้ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องอาหารได้ ให้ความรู้ด้านเกษตรกรรมกับคนเมืองได้ ยังทำให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนที่ดินที่รกร้างอยู่ก็ได้ใช้ประโยชน์ กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนที่ไม่ว่าจะมีสถานะทางสังคมแบบไหนก็เข้ามาใช้ได้โดยเท่าเทียมกัน

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร จากใจบ้านสตูดิโอ พร้อมแล้วที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้จากโปรเจกต์นี้ให้ทุกคนฟัง

สวนเบญจกิติ

เจ้าของโครงการ : สถาบันอาศรมศิลป์

วิทยากร : อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ อาจารย์พิเศษสถาบันอาศรมศิลป์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณชัชนิล ซัง ภูมิสถาปนิก

จากพื้นที่เดิมของสวนเบญจกิติทั้งหมด 130 ไร่ มาขยายต่อในส่วนพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม เป็น ‘สวนป่า’ ระยะที่ 2 และ 3 โดยผู้ออกแบบตั้งใจว่าที่นี่จะไม่ใช่แค่สวนที่คนเข้าไปวิ่ง แต่เป็นสวนที่ให้อะไรกับคนกรุงเทพฯ มากกว่านั้น อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ และ ชัชนิล ซัง จากสถาบันอาศรมศิลป์ ทีมออกแบบของโปรเจกต์นี้ จะมาเล่าถึงบทบาทของสวนเบญจกิติระยะใหม่ ในการเป็น Biological Infrastructure ให้กับเมือง อธิบายแนวคิดในการออกแบบสวน หรือสิ่งที่สวนนี้ให้เมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นพื้นที่รับน้ำเมื่อมีน้ำท่วม การบำบัดน้ำ การผลิตออกซิเจน ผลิตอาหารให้สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมไปถึงอธิบายหน้าที่ของสกายวอล์กเชื่อมสวนลุมพินีเข้ามาที่อาคารพิพิธภัณฑ์ ที่รีโนเวตมาจากอาคารเก่าของโรงงานยาสูบด้วย

Talk of The Cloud 08

Public Space Age

วัน-เวลา

เวลา 13.00 - 15.30 น.

สถานที่

Facebook Live ที่เพจ The Cloud